โมดิฟาย ทำสี PRS SE SVN ตอนที่ 5 ติด side dot เรืองแสง

หลังจากห่างหายการเขียน blog ไปหลายเดือนก็ขอกลับมาว่ากันต่อสำหรับ series งานโมดิฟายแบบ ยกเครื่อง กีตาร์ PRS SE SVN 7 สายของผม สำหรับตอนที่ 5 นี้ว่ากันด้วยการติด side dots เรืองแสง

สำหรับคนที่ยังไม่เคยอ่าน 4 ตอนแรก ผมรวม link ไว้ให้ดังนี้นะครับ

ตอนที่ 1 การเตรียมงาน วัสดุอุปกรณ์

ตอนที่ 2 การติดวีเนียร์ลายเฟลม

ตอนที่ 3 การทำสี

ตอนที่ 4 การติดตั้งปิคอัพแบบ direct mount

คือระหว่างขั้นตอนการทำสีและพ่นเคลือบนั้น ผมเกิดปิ๊งไอเดียว่า ช่วงที่กีตาร์แขวนผึ่งลมไว้เฉยๆเนี่ย น่าจะลองเพิ่มงาน DIY เก๋ๆ ดูอีกสักอย่าง คือเปลี่ยนจุดอินเลย์ข้างฟิงเกอร์บอร์ด (side dots) จากพลาสติกสีขาวๆ ให้เป็นวัสดุเรืองแสง ซึ่งเป็นไอเดียที่เราจะพบเห็นได้จากกีตาร์สไตล์โมเดิร์นที่ออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้งานยุคใหม่เป็นสำคัญมากกว่า tradition โบราณๆ แบรนด์กีตาร์ที่มีการใช้วัสดุเรืองแสงมาทำ side dot (บางรุ่น) ก็เช่น Mayones, Jackson HT, Kiesel ฯลฯ

จุดประสงค์ของ side dots เรืองแสงพวกนี้ก็เพื่อความสะดวกในการมองตำแหน่งของเฟรทในที่ที่มีแสงน้อย เช่น บนเวทีคอนเสิร์ตสลัวๆ หรือในร้านเหล้าตอนกลางคืน ส่วนผมแค่อยากลองติดเองเล่นๆ เป็นประสบการณ์เฉยๆ

เท่าที่ผมทราบ วิธีทำจุดเรืองแสงมีอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่ 1) ทำเองด้วยการผสมผงเรืองแสงโดยมีตัวประสานที่เป็นของเหลวระเหยได้ กับ2) ใช้วัสดุสำเร็จรูป ที่นิยมใช้กันในระดับอุตสาหกรรมก็มักจะเป็นวัสดุเรืองแสงสำเร็จรูปยี่ห้อ Luminlays ซึ่งมีหลายแบบหลายขนาดให้เลือก แต่ด้วยราคาของ Luminlays ซึ่งค่อนข้างสูง (ราคารวมส่งประมาณ 800 บาทสำหรับกีตาร์ 2-3 ตัว) อีกทั้ง ณ วันที่ผมกำลังโมดิฟาย SE SVN ตัวนี้ เจ้าวัสดุชิ้นนี้ยังไม่มีขายในไทย ผมจึงลองหาวัสดุที่มีราคาต่ำกว่าและหาได้ง่ายในบ้านเรา ผมจึงเริ่มทดลองใช้วิธีแรกดูก่อน เผื่อรอดจะได้เซฟงบได้บ้าง ทำอย่างไรนั้น ตามมาครับ

โปรดทราบ!

เช่นเดียวกับที่ผมเคยบอกแล้วในขั้นตอนการทำ direct mount คือการฝังเม็ดเรืองแสงต่อไปนี้ คืองานในส่วนของโครงสร้าง ซึ่งควรต้องทำให้เสร็จก่อนขั้นตอนการลงสี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ ผมทำสีไปแล้วดันเพิ่งมาผุดไอเดียฝังเม็ดเรืองแสง ภาพประกอบในขั้นตอนนี้จึงเป็นภาพเหตุการณ์ที่ผมทำสีท็อปไปแล้ว แต่ผมขอเอาเนื้อหาในส่วน side dots นี้ มาเสนอต่อจากงานแปะวีเนียร์ เพื่อจะได้ลำดับงานที่ถูกต้องอย่างที่มันควรจะเป็น (คืองานโครงสร้างต้องเสร็จก่อนงานสีและงานเคลือบ) ดังนั้นขอให้เพื่อนๆ ที่อ่านมาถึงตรงนี้เข้าในในส่วนนี้ด้วยนะครับจะได้วางแผนการทำงานตามลำดับที่ถูกต้องครับ

5.1ลองทำ Side dots เรืองแสงจากผงเรืองแสง

วัสดุอุปกรณ์ที่ผมใช้

  • ผงเรืองแสงปริมาณ 20 กรัม (สั่งซื้อมาจาก Lazada ราคาร้อยกว่าบาท)
  • น้ำยาเคลือบเล็บขวดเล็กๆ มาจากร้านสะดวกซื้อ
  • สว่านสายอ่อน พร้อมหัวเกลียวเจาะ
  • คัตเตอร์ปลายแหลมๆ หรือมีดแกะสลักคมๆ
  • cutton buds ปลายเล็กๆ
  • แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาล้างเล็บ (acetone)
  • กระบอกเข็มฉีดยาอันเล็กๆ (ไซริงค์)
  • ไม้จิ้มฟัน

วิธีการทำ side dots เรืองแสงแบบบ้านๆ มีดังนี้ครับ

  1. ผมเริ่มจากการเอาหมุดพลาสติกของเดิมออกก่อน หมุดพวกนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มิลลิเมตร และถูกฝังไว้ลึกประมาณ 2-3 มิลลิเมตร วิธีการของผมคือเริ่มจากพยายามแกะออกด้วยมีดแกะสลัก แต่ไม่เป็นผลเพราะหมุดแข็งแถมติดกาวไว้แน่น จึงใช้สว่านใส่ดอก 3 มิลเจาะทำลายหมุดำลาสติก ซึ่งก็ได้ผล แต่ข้อเสียคือ หลุมที่เกิดจากการเจาะทำลายหมุดจะกว้างกว่าขนาดหมุด 1 มิล ซึ่งจะเป็นปัญหาสำหรับเฟรทในๆ เนื่องจากขอบฟิงเกอร์บอร์ดแคบลงเล็กน้อยเพื่อชดเชยการทำมุมของคอที่เอียงเข้าหาตัวผู้เล่น เนื้อไม้ฟิงเกอร์ระหว่างหน้าบอร์ดถึงรูเจาะในช่วงเฟรทในๆ จึงบางมาก จนเกิดการปริแตกเมื่อผมใช้สว่านขนาด 3 มิลลิเมตรในการเจาะ ดังนั้นผมจึงขอแนะนำว่า ถ้าจะใช้วิธีเจาะ ต้องระวังอย่าใช้ดอกสว่านหรือเครื่องมือที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 2 มิลลิเมตรนะครับ
  2. ใช้มีดแกะสลัก หรืออะไรก็ได้ที่เป็นโลหะแข็งๆ ปลายเรียวเล็ก แซะเอาเศษพลาสติกที่ติดอยู่ก้นหลุมออกให้หมด
  3. ใช้ก้านสำลี cutton buds ชุบแอลกอฮอล์หรือ acetone เพื่อเช็ดทำความสะอาดก้นหลุม
  4. ผสมผงเรืองแสงกับน้ำยาเคลือบเล็บ ผมไม่รู้ว่าสัดส่วนเท่าไหร่จึงจะพอดี แต่ใช้วิธีรินน้ำยาแบ่งออกไปพักในแก้ว ให้เหลือน้ำยาประมาณ 2/3 ขวด (เพราะน้ำยาเคลือบเล็บ เดิมๆใส่มาเกือบเต็มขวด จนไม่เหลือพื้นที่ให้ใส่ผงลงไป) แล้วค่อยๆ เทผงเรืองแสงลงในขวดช้าๆ สลับกับการคนด้วยไม้จิ้มฟันหรือไม้จิ้มฟันหรือไม้อะไรเล็กๆ แข็งๆ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆจนเริ่มรู้สึกว่าเนื้อน้ำยาเริ่มข้นเหนียวจึงหยุด ถ้าคิดว่ามันยังจางไปก็เอาน้ำยาเคลือบที่รินออกไว้ในตอนแรก กลับมาเติมในขวดอีกครั้งเพื่อเป็นตัวทำละลาย
  5. ใช้กระบอกฉีดยา ดูดน้ำยาเรืองแสงขึ้นมา ไม่ต้องเยอะ แล้วค่อยๆ หยอดลงในหลุม side dots ที่เราขุดไว้ ช้าๆ ไม่ต้องออกแรงกดเข็มมากเพราะแต่ละหลุม เราใช้ปริมาณไม่ถึงหยดด้วยซ้ำ ใช้ไม้จิ้มฟันแหย่ๆ กวนๆ เบาๆ เพื่อไล่ฟองอากาศที่อาจค้างในหลุม
  6. ทิ้งไว้ให้แห้ง วางกีตาร์ในแนวนอน เอาไว้ในพื้นที่ปลอดภัยไกลมือเด็ก
  7. ใช้ล้างกระบอกฉีดยาดูดน้ำยาล้างเล็บและฉีดออก ทำซ้ำๆ เพื่อล้างทำความสะอาด
  8. เมื่อสารเรืองแสงที่หยอดหลุมไว้ แห้งดีแล้ว กำจัดน้ำยาเรืองแสงส่วนเกิน โดยใช้คัตเตอร์คมๆ ปาดส่วนบน (ถ้ามีเยอะ) แล้วใช้กระดาษทรายเบอร์ 600 ค่อยๆขัด ปรับพื้นผิวขอบบอร์ดทั้งหมด คือทั้งส่วนที่หยอดน้ำยาและพื้นขอบบอร์ดให้เรียบเสมอกัน
เอาหมุด side dots ของเดิมออก
ละลายผงเรืองแสงในน้ำยาเคลือบเล็บ
ผมใช้ไซริงค์ในการหยอดสารเรืองแสงลงหลุม
ผมสั่งผงเรืองแสงสีฟ้ามาลอง เวลาปิดไฟมันจะดูเป็นแบบนี้ครับ

ผมดูแล้ว แม้งาน side dots เรืองแสงจากผงเรืองแสงราคาสองร้อยบาทจะเรืองแสงสว่างสดใสตรงตามที่อยากเห็น แต่ก็มีปัญหาแก้ไม่ตกเกี่ยวกับการเก็บงาน คือหลังจากขัดวัสดุเรืองแสงส่วนเกินเพื่อเก็บงานปรับระดับจนเรียบเสมอขอบบอร์ดแล้ว ผมพบว่า สารเรืองแสงถูกเศษฝุ่นผงไม้จากกระดาษทรายติดเป็นคราบดำๆ ดูสกปรก เนื่องจากผงเรืองแสงนั้นมีความหยาบมาก เมื่อถูกขัดเปิดผิว มันจะเกิดหลุมขรุขระเล็กๆในเนื้อของมัน (นึกถึงเวลาเราลูบผิวหน้ากระดาษทรายเบอร์ละเอียด) ทำให้สิ่งสกปรก/ขี้เลื่อยของไม้ที่ถูกขัดไปติดอยู่ในเนื้อหมุดเรืองแสงแบบ DIY นี้ จะเอาสิ่งสกปรกออกก็ไม่ได้ ยิ่งขัดก็ยิ่งเลอะ เอาอะซีโตนเช็ดก็ออกไม่หมดแถมกลายเป็นว่ายิ่งเช็ดยิ่งดำ ผมเจอทางตันของการ DIY side dots เรืองแสงในขั้นตอนเก็บงานนี่เอง 😢

เนื่องจากผลงานตามแผน 1 เสร็จออกมา เละ ไม่ผ่าน ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนไปแผน 2 คือการใช้ Luminlays ครับ

ตัดส่วนเกินออก แล้วขัดปรับความเรียบ สังเกตว่าสารเรืองแสงมีความสกปรกเมื่อผ่านขั้นตอนการขัด และยิ่งขัดก็กลายเป็นยิ่งเลอะ เป็นอันว่าการทำ side dot เรืองแสงด้วยวิธีนี้ ไม่ผ่าน

5.2ติด Side dots ของ Luminlays

Luminlays คืออะไร?

เมื่อวิธีผสมวัสดุเองนั้น ไม่เวิร์ค ผมจึงเปลี่ยนมาใช้แผนสอง คือใช้วัสดุสำเร็จรูปที่เรียกว่า Luminlays (ลูมินเลส์) มันคือชื่อวัสดุเรืองแสงที่ออกแบบมาสำหรับฝังบนฟิงเกอร์บอร์ดกีตาร์เพื่อความสะดวกในการมองตำแหน่งของเฟรทเมื่อต้องเล่นในที่มีแสงน้อย (เช่น บนเวทีในร้านเหล้า หรือคอนเสิร์ตที่ต้องเปิดไฟสลัวๆ เพื่อสร้างบรรยากาศ) ผลิตโดยบริษัท Meister Works ของญี่ปุ่น Luminlays มีรูปทรงเป็นแท่งทรงกระบอกอันเล็กๆ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางให้เลือกหลายขนาดตั้งแต่ 2 มิลลิเมตรไปถึง 7 มิลลิเมตร มีสีให้เลือกสองสี คือสีฟ้า (รหัส SB หมายถึง super Blue Series) และสีเขียว (SG หรือ Super Green Series) ลักษณะการทำงานก็เหมือนวัสดุเรืองแสงทั่วไปคือมันชาร์จแสงที่ส่องใส่ตัวมัน และสว่างเรืองในที่มืด ถ้าชาร์จเต็มที่ มันจะเรืองอยู่ได้นานทั้งคืนเลยแหละ

ชื่อ Luminlays ผมคิดว่าน่าจะเกิดจากการสนธิคำว่า luminescent (เรืองแสงได้) กับ inlays (อินเลย์/วัสดุฝังในพื้นผิว) เข้าด้วยกัน แปลตรงตัวภาษากีตาร์ไทยๆ ได้ว่า วัสดุสำหรับใช้ฝังเป็นอินเลย์กีตาร์ซึ่งเรืองแสงได้ ซึ่งก็เป็นชื่อที่เท่ และสื่อความชัดเจนดี สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ที่เว็บ Luminlays ครับ

วัสดุอุปกรณ์

  • กระดาษกาว 3M
  • วัสดุ Luminlays
  • สว่านสายอ่อน พร้อมดอกสว่านขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าขนาดเม็ด Luminlays ที่จะใช้ หรือวัสดุอื่นใดที่สามารถขุดวัสดุอินเลย์เดิมออกไป
  • หัวขัดไม้สำหรับใช้กับสว่านสายอ่อน
  • ก้านสำลีปั่นหู (cutton buds) หัวขนาดเล็กๆ
  • แอลกอฮอล์ล้างแผล
  • กาวตราช้าง พร้อมหัวต่อเรียวเล็กสำหรับหยอดกาวในที่แคบ
  • แหนบถอนขน

ขั้นตอนการฝัง Luminlays

สิ่งที่ต้องบอกก่อน คือ โดยปกติแล้ว จุด side dots ของกีตาร์จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มิลลิเมตร แต่เนื่องจากผมคว้านรูเดิมเสียกว้างกว่านั้น (เพราะอยากได้จุดเรืองแสงใหญ่กว่าปกติเพื่อความสะใจ เพราะไหนๆ ผมก็เลือกเองได้อยู่แล้ว ก็อยากทดลองอะไรที่มันสุดๆ ไปเลย) ผมจึงต้องสั่งซื้อ Luminlays ไซส์ 3 มิลลิเมตร ซึ่งมันใหญ่กว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะความกว้างของขอบฟิงเกอร์บอร์ดไม่พอรองรับ

ผมสั่งรุ่น SB30 มา ความหมายคือเป็นสีฟ้า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตรและไม่มีผนังท่อสีดำๆ หุ้มท่อ ที่จริงสีเขียวจะสว่างกว่าเล็กน้อย แต่ผมว่าสีฟ้าดูสวยกว่า เลยเลือกสีนี้ ราคาที่สั่งจากเว็บ Ebay.com SB30 ความยาว 6 เซนติเมตร ราคารวมส่งถึงมือประมาณ 800 บาท ใช้เวลาเพียงประมาณอาทิตย์เดียวก็ได้ของ (ไม่เสียภาษีนำเข้า)

  • แนะนำว่าควรแปะกระดาษกาวบริเวณหลังคอถัดจากขอบฟิงเกอร์บอร์ด เพื่อป้องกันความสกปรกที่จะกระเด็นไปติดจากงานฝังอินเลย์ไว้ก่อนเริ่มงาน แต่ผมมาแปะเอาตอนที่จะหยอดกาวเพื่อป้องกันกาวไหลเลยลงไปโดนคอ (แต่ฟิงเกอร์บอร์ดผมแปะกระดาษกาวไว้อยู่แล้ว)
  • ใช้สว่านสายอ่อนใส่ดอกเจาะขนาด 3 มิลค่อยๆเจาะเอาเนื้อผงเรืองแสงที่ทำไว้รอบที่แล้ว ออกไป ต้องระวังการจับสว่านให้ดีอย่าให้ดิ้นไปมา
  • เสร็จแล้วใช้ cutton buds ชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดก้นหลุม
  • นำแท่ง Luminlays มาตัดเป็นท่อเล็กๆ ความยาวท่อนละประมาณ 3 มิลลิเมตร หรือลองแหย่ก้านลงในหลุม side dots ก่อนก็ได้เพื่อกะความยาวที่จะตัด ต้องกะความยาวให้โผล่พ้นขอบบอร์ดเล็กน้อย อย่าตัดสั้นเกินเพราะจะโผล่ไม่พ้นขอบบอร์ดและกลายเป็นเสียของ แต่ถ้าเหลือยาวไปก็จะเปลือง การตัดนั้นแนะนำว่าอย่าใช้คัตเตอร์ตัดกระดาษทั่วไป เพราะ Luminlays นั้นแข็งเหลือเชื่อ (กว่าจะตัดเสร็จล่อคัตเตอร์ผมใบบิ่นไป 2 อัน) และด้วยความแข็งของมัน ท่อนสั้นเมื่อถูกตัดออกมันจะดีดตัวออกไปอย่างรวดเร็ว จึงควรหาอะไรมาป้องกันท่อน Luminlays ราคาแพงหล่นหาย
  • จัดกีตาร์วางใช้กาวตราช้างสวมหัวต่อสำหรับหยอดกาวในที่แคบ ค่อยๆหยอดกาวลงก้นหลุม หยอดไว้สักครึ่งค่อนหลุม
  • ใช้แหนบคีบเม็ด Luminlays ที่ตัดไว้ ค่อยๆ หย่อนใส่ลงหลุมจนครบทุกหลุม
  • ทิ้งไว้ให้กาวแห้ง เพราะแม้สว่านที่ผมใช้จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับเม็ด Luminlays แต่ในความเป็นจริงหลุมที่เจาะได้จะกว้างกว่าเม็ด Luminlays อีกนิดหน่อยทำให้เม็ด Luminlays จะไม่ฟิตพอดีหลุม พูดง่ายๆคือมันไม่แตะโดนผนังหลุมได้แนบสนิทพอที่กาวจะประสานให้มันติดได้ทันที เพราะกาวตราช้างนั้น ถ้าหากติดกับวัสดุที่ขอบไม่ชนกันแนบสนิทมันจะใช้เวลาแห้งตัวนานกว่าปกติ ดังนั้น เมื่อฝังเมล็ดและหยอดยาวครบทุกหลุมแล้ว ผมจึงวางกีตาร์ไว้ในแนวนอนทิ้งไว้ 1 วันเต็ม เพื่อให้แน่ใจว่ากาวแห้งและแข็งถึงก้นหลุม เหตุผลที่ผมต้องการความแข็งแรงในการยึดเกาะ ก็เพราะเดี๋ยวผมจะใช้เครื่องมือโหดในขั้นตอนถัดไป
  • หลังจากกาวแห้งแข็งดีแล้ว ผมเปลี่ยนหัวสว่านสายอ่อนเป็นหัวขัดกลมๆ ขัดเก็บงานให้เรียบเสมอขอบบอร์ด เช่นเดียวกับที่ทำตอนท้ายของวิธีผสมผงเรืองแสง
  • อาจใช้กระดาษทรายละเอียดขัดเก็บงานอีกทีเพื่อความสมูธ

สรุปผลงานฝัง Luminlays

ผลที่ได้นั้นน่าพอใจมาก งานเสร็จแล้วดูมีความเป็นมืออาชีพ คือสะอาด เนี้ยบ ขนาดเท่ากันเป๊ะทุกเม็ด (ถ้าจะมีอะไรไม่เป๊ะก็คงเป็นแนวการเจาะของผมที่เบี้ยวในเฟรทสุดท้ายนี่แหละ) ดังนั้นผมสรุปให้เลยว่า ถ้าจะติดอินเลย์เรืองแสงเอง แนะนำใช้ Luminlays ดีกว่าผสมผงเองครับ อาจดูแพง แต่งานที่ได้นั้นดีกว่า สวยกว่า จบกว่า อีกทั้งความยาว 6 เซนติเมตรที่ได้มานั้น เพียงพอสำหรับการติดขอบบอร์ดกีตาร์ 24 เฟรท ได้ 2 ตัว คิดเสียว่าลงทุนตัวละ 400 บาทได้ใช้ของดีไปตลอดอายุขัยของกีตาร์ มันก็คุ้มเกินคุ้ม

5.3 สรุป


อาจมีคนสงสัยว่า ในแง่ของความสว่างและระยะเวลาของการเรืองแสงเมื่อเทียบกันระหว่างผงเรืองแสงถูกๆ กับ Luminlays แล้ว อย่างไหนมีประสิทธิภาพเหนือกว่า ผมก็ตอบได้เลยว่า ไม่ต่างกัน นะครับ ผมทดสองจากการวางผงเรืองแสงที่ยังเหลือไว้ใกล้ๆกับ Luminlays ที่ติดเสร็จแล้ว ตอนปิดไฟนอนก็เห็นว่าความสว่างของทั้งสองอย่างนั้น แทบไม่ต่างกันเลย (อาจมีความแตกต่างแต่แต่น้อยมากจนผมแยกแยะไม่ออก) และตอนผมตื่นมาฉี่ประมาณตีสี่ ผมก็เห็นว่าทั้งคู่ก็ยังมีความสว่างเพียงพอให้เห็นได้ว่ามีสิ่งเรืองแสงอยู่ตรงนั้น และมีความเข้มของแสงที่ใกล้เคียงกัน

ผมจึงสรุปได้ว่า ทั้งผงเรืองแสงผสมเองและ Luminlays มีประสิทธิภาพการเรืองแสงไม่ต่างกันเลย เพียงแต่ Luminlays ได้เปรียบในแง่ของความสะดวกการติดตั้งมากกว่า ก็เท่านั้นเอง และจากที่ผมทดลองทั้ง 2 วิธี คิดว่าใช้ Luminlays ติดตั้งสะดวกกว่า งานสวยกว่าครับ

สำหรับงานฝังอินเลย์เรืองแสงของผมก็จบลงเท่านี้ครับ หวังว่าเพื่อนๆ น่าจะได้แนวคิดไอเดียจากผมไปบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

ขอแนะนำกลุ่มเฟสบุค PRS Thailand ชุมชนคนรักแบรนด์ Paul Reed Smith ใครสนใจ กดเข้ามา join กันได้ครับ