โมดิฟาย ทำสี PRS SE SVN ตอนที่ 3 ทำสีโชว์ลายไม้ สไตล์ PRS

3.การทำสี (staining)

ก่อนอื่นเลย เพื่อนๆต้องเลือกก่อนว่าจะทำสีแบบไหน ถ้าทำสีทึบก็ง่ายหน่อย แค่หาสีมาพ่น แต่ถ้าจะติดวีเนียร์ลายไม้สไตล์ PRS ละก็ ต้องหาแผ่นวีเนียร์มาติด ก็จะมีขั้นตอนการติดวีเนียร์ตามที่ผมได้นำเสนอไปแล้วในตอนที่ 2

คลิกอ่านตอนที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ตอนที่ 1 เครื่องมือที่ต้องใช้ และการเตรียมชิ้นงาน

ตอนที่ 2 การติดวีเนียร์ไม้เมเปิลลายเฟลม

ผมเคยทำสีทึบอยู่นะ ทำง่ายมาก หลังจากเตรียมพื้นผิวเสร็จก็ซื้อสีกระป๋องมาพ่น เสร็จแล้วพ่นเคลือบใสปิดงาน จบละ ไม่รู้ทำไมกีตาร์งานสีทึบบางรุ่นจึงแพง ทั้งๆที่งานแสนจะง่ายไม่มีอะไรเลย

SE SVN ตอนที่ผมทำสีทึบ หน้าตาเป็นแบบนี้ครับ

แต่ภายในเวลาไม่กี่เดือน ผมกลับรู้สึกว่าสีทึบเรียบๆ ไม่ค่อยเหมาะกับ PRS เท่าไหร่ โดยเฉพาะสีขาวยิ่งดูน่าเบื่อ เลยเปลี่ยนแผน ล้างสีขาวทิ้ง แล้วกลับมาแนวโชว์ลายไม้ ก็ต้องวุ่นวายคิดค้นวิธีติดวีเนียร์อย่างที่เล่าไปนั่นแหละครับ ที่จริงถ้าแค่พ่นสีทึบ ผมเขียนบทความ 3 ตอนก็จบแล้ว

3.1การทำสีแนวย้อมไม้ (wood staining) ของ PRS

หลักของการ stain หรือการทำสีแบบย้อมไม้ คือการใช้สีที่มีความโปร่ง โชว์ลายไม้ เทคนิคการย้อมไม้สไตล์ PRS หลายๆ สีที่คนชอบๆกันนั้น นั้น แท้จริงไม่ใช่แค่เอาสีมาทาย้อมแล้วพ่นเคลือบ หากแต่ต้องมีการ “ขัดสีทิ้ง” ด้วยกระดาษทรายเบอร์ละเอียดเพื่อสร้างลุคเซอๆ ถลอกๆ แล้วลงสีใหม่ ขัดอีกครั้ง แล้วลงสีใหม่ซึ่งอาจเป็นสีเดิมหรือสีต่างเฉดกัน บางครั้งก็ใช้หลายสีไล่โทนกันไปบนกีตาร์ตัวเดียวกัน สาเหตุที่ต้องวุ่นวายทำอะไรให้มันยาก ไม่ยอมทำแค่เอาสีสเปรย์มาพ่นๆ แบบค่ายอื่น ก็เพื่อสร้างสรรค์สีแปลกๆ ใหม่ๆ เป็นสูตรเฉพาะตัวที่ผู้ผลิตรายอื่นไม่อาจเลียนแบบได้ นั่นเอง

ตัวอย่างการทำสีโชว์ลายไม้สไตล์ PRS

PRS Modern Eagle Quatro สี Faded Blue Burst
PRS Private Stock Graveyard II Limited สี Raven’s Heart
PRS Private Stock Modern Eagle V สี aqua violet smokeburst
PRS Al Di Miola Prism

คลิปแสดงการทำสีของ PRS ซึ่งแม้ว่าเราจะพอเห็นภาพว่าเขาทาสียังไง แต่สีในขวดผสมจากอะไร อัตราส่วนเท่าไหร่ สั่งผลิตจากไหน ราคาเท่าไหร่ เราสั่งบ้างได้ไหม ฯลฯ นั้น เราไม่มีทางทราบได้เลย

การทำสีเลียนแบบ PRS โดยคนนอกโรงงาน PRS

ผมอยากเขียนเนื้อหาสั้นๆ เกี่ยวกับการจ้างช่างไทย refinish สักหน่อย เพราะเชื่อว่าหลายคนเจอปัญหากีตาร์ PRS ปีเก่าๆ มีอาการขึ้นฝ้าขาว เชื่อว่าหลายคนน่าจะคิดเรื่องการทำสีใหม่โดยการจ้างช่างทำสีในไทย เพราะสะดวกกว่าการส่งกลับไปทำสีใหม่ที่โรงงานที่อเมริกา

สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ วิธีการทำสีแต่ละสี, สูตรสีที่ใช้, กรรมวิธีการ stain ของแต่ละสี, ซัพพลายเออร์ที่ผลิตสีให้ PRS, สูตรสารพ่นเคลือบ, ความหนาของชั้นเคลือบ ฯลฯ เป็นความลับภายในบริษัท และเมื่อความจริงคือไม่มีบุคคลภายนอกล่วงรู้สูตรการทำสีของ PRS ได้ เราเองก็ไม่ควรคาดหวังว่าการจ้างช่างทำสีในไทยนั้นจะเนียนได้เหมือนโรงงานทำ 100% หลายต่อหลายครั้งที่ผมเห็นผลงานของช่างทำสีกีตาร์เก่งๆ ของไทยที่ทำงานสี refinish แก้ฝ้าให้กีตาร์ PRS แล้วได้เฉดสีที่แค่ “ใกล้เคียง แต่ไม่เหมือน” บางเจ้ามีเฉดที่ทำกี่ตัวๆ ก็ error แบบเดียวกันหมดจนผมบอกได้ว่า PRS ตัวนั้นๆ ถูกทำสีมาและทำโดยใคร

แต่เรื่องนี้ผมเห็นว่าเราไม่ควรไปโทษช่างไทยนะครับ เพราะอย่างที่บอก ไม่มีใครหรอกครับที่จะทำได้เหมือนโรงงาน ในเมื่อ PRS ใช้เทคนิคเฉพาะตัว ใช้สีที่สั่งกำหนดสเปคเอง ทุกอย่างเป็นความลับที่แม้แต่ช่างทำสีของโรงงานเองก็อาจจะไม่รู้ที่มาของสีที่ตัวเองทาอยู่ รู้แต่เพียงว่าทำสีไหนต้องจุ่มสีจากขวดไหนบ้าง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ช่างไทยๆ จะไปรู้สูตรของเขาเป๊ะๆ อย่างเก่งก็ผสมเอาเองให้ได้โทนที่ดูแล้วใกล้เคียงที่สุด แต่ในส่วนของคุณภาพการทำงาน ก็ต้องบอกว่าช่างไทยเก่งๆ มีอยู่หลายคน ทำแล้วลายไม้ขึ้นชัด ปัดเงาใสกริ๊บ

ดังนั้น การจะจ้างช่างไทยทำสีกีตาร์ PRS นั้น ก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่ามันจะมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้างไม่มากก็น้อยทั้งเฉดสีและสุ้มเสียง ถ้ากลัวสีใหม่เพี้ยนจนรับไม่ได้ หรือกลัวเสียงจะเปลี่ยน (ซึ่งมันต้องเปลี่ยนบ้างแน่ๆ เพราะชั้นเคลือบไม่เหมือนเดิม) และต้องการความเป๊ะ 100% มีทางออกเดียวคือ ส่งกลับไปทำที่โรงงานที่อเมริกา ซึ่งค่าใช้จ่ายก็อาจจะพอๆกับการซื้อ PRS มือสองตัวหนึ่งเลยทีเดียว

กลับมาว่ากันต่อกับโปรเจคท์ของผม ด้วยมุมมองแบบเข้าใจโลกตามข้างต้น เป้าหมายของผมในการทำสีย้อมไม้วีเนียร์ให้ SE SVN จึงไม่เคยว่าต้องเหมือนโรงงานอยู่แล้วตั้งแต่แรก ผมแค่อยากทำสีในเฉดที่ตัวเองชอบ ให้ลายไม้ขึ้นชัดๆ ด้วยทรัพยากรเท่าที่ตัวเองหาได้ ก็พอ

3.2วัสดุอุปกรณ์ที่ผมซื้อมาใช้ทดลองสี

แม้เราจะไม่รู้ข้อมูลลึกๆทางเทคนิคเกี่ยวกับสีที่ PRS ใช้ แต่โดยหลักการแล้ว การ stain สีเพื่อย้อมลายไม้นั้น สีที่ใช้คือสีชนิด aniline dye หรือสีแบบ organic ซึ่งมีคุณสมบัติโปร่งใส ไม่ทึบอย่างพวกสีโปสเตอร์สีเคมีต่างๆ ที่เราใช้ทำงานศิลปะทั่วไป ซึ่งสีแนว aniline dye นี้ จากที่ผมสำรวจมานั้นหาไม่เจอเลยในบ้านเรา ผมต้องสั่งสียี่ห้อ Keda มาจากต่างประเทศผ่านเว็บ Ebay.com โดยซื้อมาเป็นแบบผง เนื่องจากราคาถูกกว่าแบบน้ำมาก และได้จำนวนสีมากกว่า

วิธีใช้งานก็ต้องละลายสีผงๆ พวกนี้กับตัวทำละลายซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งน้ำเปล่าและแอลกอฮอล์ชนิด isopropyl alcohol (IPA) แต่ผมใช้ IPA เพราะผู้ผลิตแนะนำว่าจะให้สีสันที่ดีกว่าน้ำเปล่า สีแบบนี้มีความเข้มข้นสูงมาก ผงสีปริมาณเพียงไม่กี่กรัม สามารถผสมกับตัวทำละลายได้นับร้อยมิลลิลิตร การจะผสมผงสีซองเล็กๆ พวกนี้ จึงต้องใช้เครื่องชั่งดิจิตอลที่มีความละเอียดระดับ .xx กรัม ตามลาซาด้ามีขายครับ เครื่องนึงไม่กี่ร้อยบาท

นี่คือสี stain แบบผงที่ผมสั่งมา จะใช้ทีนึงก็ต้องชั่งละเอียดขนาดนี้เลย
ผงสีปริมาณนิดเดียวแต่ทำน้ำสีได้เป็นถ้วยนะครับ เข้มข้นมากๆ

นอกจากนี้ผมก็ซื้อสีผสมอาหารขวดเล็กๆ หลายๆสี มาทดลองด้วย อุปกรณ์อื่นๆ ที่ต้องเตรียมก็มีกระดาษทรายเบอร์ค่อนข้างละเอียด (ผมใช้เบอร์ 1000) และผ้าสะอาดๆ สำหรับการชุบสี

3.3ทดลอง stain ก่อนทาจริง

ผมทดลองทาแต่ละสีลงบนเศษวีเนียร์ที่เหลือจากการตัดไปแปะท็อป สาเหตุที่ต้องใช้วีเนียร์จริงๆ ก็เพื่อจะได้รู้ว่าผลลัพธ์ของสีที่จะทาบนท็อปนั้นจะออกมาเป็นเช่นไร เพราะหากเราใช้วัสดุอื่นในการลองสี เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าลายไม้เฟลมนั้น จะขึ้นชัดแค่ไหน อย่างไร

สีผสมอาหารก็มา

แต่จากที่ทดลองผสมดูหลายๆ เฉด ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่ครึ่งค่อนวัน นั่งลองจนเมากลินแอลกอฮอล์ ก็ไม่ได้เฉดสีที่ต้องการซะที ไปๆมาๆ ชักขี้เกียจ เลยหันไปใช้สูตรเดิมที่ผมเคยใช้ คือน้ำยาอุทัยทิพย์ แทน เนื่องจากเป็นสีจากธรรมชาติที่โชว์เกรนไม้ดี และหาง่ายตามร้านขายยา ราคาก็ไม่แพง ที่สำคัญ ไม่ต้องผสมให้ยุ่งยาก

อันนี้ก็ยอมรับตามตรงว่าความอดทนผมมีไม่มาพอกับการทดลองสุ่มไปเรื่อยๆ ขอออกตัวไว้ก่อนว่าผมไม่ใช่มืออาชีพนะครับ ผมทำเพื่อเป็นประสบการณ์และทำแค่เท่าที่ตัวเองไหว ถ้ามีวิธีไหนที่ทำให้งานจบง่ายขึ้นโดยที่ผลลัพธ์ออกมาไม่ดูแย่เกินไป ผมก็จะเลือกวิธีนั้น

3.4 ลงมือ ย้อมไม้

เมื่อเลือกแล้วว่าจะใช้น้ำยาอุทัยทิพย์ ผมก็เริ่มจัดการชุบน้ำยาแล้วทาลงไปบนวีเนียร์ให้ทั่ว ไม่ต้องย้ำความเข้มมากเพราะเราจะทาอีกหลายรอบ เมื่อทาได้รอบนึงก็ทิ้งไว้สักครู่รอให้น้ำยาซึมลงไปให้ผิวแห้ง แล้วจึงจัดการใช้กระดาษทรายที่เตรียมไว้ ขัดเบาๆ พอให้สีชั้นบนหลุดติดกระดาษออกมาเพื่อสร้างลุค “เซอๆ” ควรขัดสีออกอย่างสม่ำเสมออย่าให้โซนใดโซนหนึ่งดูแตกต่างจากส่วนอื่นๆ มากไป เมื่อดูโอเคแล้ว ก็ทาน้ำยาใหม่ รอให้แห้ง แล้วก็ขัดอีก ผมทำซ้ำๆ อยู่อย่างนี้น่าจะประมาณ 3-4 รอบ

ตอนทาครั้งแรกเราอาจจะเหมือนกับว่า เข้มๆก็สวยดีแล้วนี่หว่า จะขัดกระดาษทรายเอามันออกจริงๆเหรอ? แต่เชื่อผมเถอะ สีเข้มๆ ทื่อๆ โมโนโทนๆ มันไม่สวยหรอก มันต้องถลอกหน่อยๆ แบบนี้ ถ้ามันเข้มเสมอกันหมดก็คงไม่ต่างอะไรกับสีกีตาร์แนวสตรัทถูกๆ ตัวนึงเท่านั้นเอง

สีอุทัยทิพย์ที่ทาไม้เมเปิลแล้วถูกขัดออก จะดูถลอกๆ แบบนี้นะครับ

หน้าตาออกมาแบบนี้ครับ

ขัดทิ้ง-ทาซ้ำ อยู่หลายรอบนะครับกว่าจะได้แบบนี้

ในส่วนของคอ ผมก็จัดการย้อมไม้ด้วยสีเดียวกัน แต่ผมคงขัดยูรีเทนของเดิมออกไม่หมด น้ำยาจึงติดไม่สม่ำเสมอ เกิดจุดด่างๆ ที่สีไม่ค่อยติดดีนักอยู่หลายที่ ส่วนใหญ่บริเวณซอกคอ เนื่องจากเป็นจุดอับที่เครื่องขัดเข้าถึงยาก ก็ฝากไว้ด้วยสำหรับใครที่อยากทำสีส่วนคอ ว่าตอนเตรียมผิวงานต้องใจเย็นๆ ต้องมีเวลาเยอะถ้าจะค่อยๆใช้มือขัด ถ้าจะใช้เครื่องมือก็ต้องมีการดัดแปลงหัวขัดให้เข้าถึงซอกมุมบริเวณคอด้วย

ถามว่าผมรู้หลักการไหม ก็รู้นะ แต่ ขี้เกียจอะ แค่ขัดบอดี้ก็หมดแรงละ เพื่อนๆ อย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างนะครับ 555

สำหรับขั้นตอนการทำสีโชว์ลายไม้สไตล์ของผมเองก็มีประมาณนี้นะครับ ผมขอตั้งชื่อสีนี้ว่าสี ‘Uthai Pink’ ก็แล้วกัน สำหรับรูปท้ายๆ เพื่อนๆ อาจสังเกตว่ามีอะไรแปลกๆ ติดอยู่ใน pickups cavity ด้วย ซึ่งผมจะมาเล่าในตอนต่อไปครับ

สำหรับใครที่สนใจกีตาร์ PRS ขอเชิญเข้าร่วมกลุ่ม PRS Thailand ครับ มีอะไรให้ดู มีความรู้ให้เสพ และมีของสวยๆมาปล่อยให้เสียตังค์กันเล่นๆ ว่ากันว่า นี่คือกลุ่มเฟสบุคเครื่องดนตรีที่ทำคนเสียเงินมามากที่สุดกลุ่มนึงของไทย ถ้าภูมิคุ้มกันไม่แข็งพอ… อย่าเข้ามานะครับ