โมดิฟาย ทำสี PRS SE SVN ตอนที่ 1 สิ่งที่ต้องรู้ เครื่องมือที่ใช้ และการเตรียมชิ้นงาน

ผมซื้อ PRS SE SVN (SVN อ่านว่า เซเว่น) กีตาร์ SE เจ็ดสายสเกลยาว 26.5 นิ้วของ PRS ด้วยความชอบในเสียงที่เล่นได้กว้างและอยากมีกีตาร์แนว extended range ไว้สักตัวเพื่อเปิดโลกทัศน์เรียนรู้อะไรใหม่ๆดู ซึ่งผมก็แฮปปี้กับมัน เพราะแตกต่างจากกีตาร์หลายๆ ตัวที่มีโดยรวมผมว่าผมคงชอบกีตาร์ที่เล่นง่ายและให้โทนสว่างๆ

Specs PRS SE SVN (เดิมๆ)

  • Model: SE SVN
  • Number of strings: 7
  • Body : Mahogany, 3 pieces
  • Top : bevelled maple with flamed maple veneer
  • Neck : maple, 3 pieces longitudinally joint
  • Neck profile : Wide thin 7 string
  • Headstock veneer : none
  • Headstock decal : Paul Reed Smith SE signature
  • Truss rod cover text : SVN logo (ของผมใส่ฝาผิดรุ่นเป็น Custom)
  • Fingerboard : Rosewood
  • Fingerboard inlays : SE Old school birds, plastic
  • Fingerboard radius : 10″
  • No. of frets : 24
  • Scale length : 26.5″
  • Tuners : PRS designed
  • Nut : plastic
  • Bridge : PRS plate style fixed bridge
  • Pickups : PRS 85/15 ‘S’ (zebra bobbins)
  • Controls : 1 vol, 1 push/pull tone, 3 way blade switch
  • Manufacturer : World Musical Instruments, Korea
  • ราคา : ประมาณ 30000 บาท

จากสเปคเดิมที่ SE ตัวนี้จัดให้มา โดยรวมผมถือว่าคุ้มค่า กว้าง และดีพอสำหรับการนำไปใช้งานทั่วไปนะครับ และด้วยความที่ผมชอบเสียงและฟีลของมันอยู่แล้ว ผมจึงแพลนจะโมดิฟายอะไหล่ต่างๆ เพื่ออัพเกรดกีตาร์ที่ดีอยู่แล้ว ให้ดีขึ้นไปอีก โดยจะเปลี่ยนอะไหล่ที่ช่วยเรื่อง tuning stability รวมถึงเปลี่ยนชิ้นส่วนระบบไฟฟ้า

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เพื่อนๆ จะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นการแชร์ประสบการณ์การโมดิฟายกีตาร์ของผมรวมถึงการทำสี ซึ่งผมหาข้อมูลเองบ้าง สอบถามผู้รู้บ้างในบางประเด็น แต่ไม่ได้เป็นความรู้อย่างเป็นระบบเป๊ะๆ เพราะผมไม่ได้ไปลงคอร์สเรียนทำกีตาร์เป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด ขอให้เพื่อนๆ อ่านเพื่อเป็นแนวทาง เป็นหลักการคร่าวๆว่าควรต้องทำอะไร ไม่ควรทำอะไร และถ้าเพื่อนๆ มีเครื่องมือหรือรู้วิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าที่ผมทำ ก็ให้ปรับใช้ตามแนวทางของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องตามผมทุกสเต็ปนะครับ

ผมจะเขียนในลักษณะเหมือนเป็น blog เล่าตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปตามหลักการคือทำงานโครงสร้างก่อนแล้วค่อยไปงานสีงานเคลือบ แต่บางสเต็ปเป็นไอเดียที่ผมผุดขึ้นมาระหว่างยังทำขั้นตอนปกติไม่เสร็จ ก็มี

เป้าหมายของโปรเจคท์โมดิฟาย PRS SE SVN

สำหรับการโมดิฟาย prs SE SVN ของผมจะ เป็นการ เปลี่ยน ฮาร์ดแวร์ ที่มีผลต่อเสียง รวมถึง ฮาร์ดแวร์ ที่ช่วยเรื่องความสะดวกในการใช้งานกีตาร์ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงระบบไฟฟ้านิดหน่อย ให้ตรงความต้องการของผมมากขึ้น รายการอะไหล่ที่ผมแพลนจะเปลี่ยนในตอนแรกที่เริ่มโปรเจคท์ ได้แก่

  • ลูกบิด อัพเกรดเป็น ลูกบิดล็อกสาย
  • นัท ปลี่ยนจากนัทพลาสติกของเดิม เป็นนัทกราไฟท์
  • Volume pot เปลี่ยนจากของเดิมยี่ห้อ Alpha เป็น CTS
  • blade selector เปลี่ยนจากแบบ สามทางดึงปุ่ม tone เพื่อตัดคอยล์ เปลี่ยนเป็น 5 ทาง หรือรูปแบบอื่นใดที่ให้ออพชันในการ wiring เยอะๆ
  • ตัด Tone ออกจากวงจร
  • เปลี่ยนอะไหล่เบ็ดเตล็ดอื่นๆ เช่น knobs

ซึ่งการโมดิฟายทำนองนี้ผมเชื่อว่า มีเพื่อนๆหลายคนทำอยู่แล้ว ก็คงไม่ได้แปลกใหม่อะไรสำหรับผู้มีประสบการณ์ แต่ผมจะไม่หยุดแค่นั้นครับ ผมอยากลองเปลี่ยนสีสันและงานเคลือบของกีต้าร์ด้วย ผมอยากรู้ว่า ถ้ากีต้าร์ PRS SE มีการเคลือบที่บางลงกว่าที่ มาจากโรงงาน เสียงจะดีขึ้นหรือเล่นดีขึ้น? หรือจะมีความเปลี่ยนแปลงไปทางอื่นใดที่นอกเหนือการคาดเดาของผม?

แต่ จากตอนแรกที่แพลนไว้แค่จะอัพอะไหล่ ก็ลามไปงานสี จากงานสี ก็ลามไปงานอื่นๆ ที่พิสดารนอกตำรา PRS และไม่น่าเชื่อว่าผมจะไปไกลกว่านั้นมาก จนได้ SE SVN โฉมใหม่ แบบนี้

รู้ไว้สักนิดก่อนคิดโมดิฟาย

แต่ ก่อนที่เพื่อนๆ จะตัดสินใจ modify กีต้าร์ของเพื่อนๆ ผมอยากให้พิจารณาประเด็นเหล่านี้ก่อนครับ

  • เราโมดิฟายกีตาร์เพื่อรีดเอาประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุดของมันออกมา ให้ตรงตามความต้องการส่วนตัวของเรามากที่สุด เพื่อความสุขส่วนตัวของเราโดยแท้ คนที่กล้าโม คือคนที่หลุดจากค่านิยม “เดิมคือดี” ไปแล้ว
  • การโมดิฟายกีต้าร์ ถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขการรับประกันของตัวแทนจำหน่าย เมื่อทำแล้วจะไม่สามารถเคลมการรับประกันได้
  • กีตาร์ที่ถูกโมดิฟายแล้ว ราคาขายต่อจะตกฮวบเสมอไม่ว่ามันจะถูกทำให้ดีขึ้นเพียงใด
  • การโมบางอย่างสามารถแก้ไขกลับคืนให้ดูเหมือนสภาพเดิมจากโรงงานได้ (เช่น การเปลี่ยนอะไหล่) แต่บางอย่างถ้าทำลงไปแล้ว มันจะเปลี่ยนสภาพแบบถาวร ไม่มีทางย้อนกลับคืน ดังนั้นจงถามใจตัวเองให้แน่ใจก่อนลงมือ
  • สำหรับมือสมัครเล่นทั่วไปที่อยากโมดิฟายกีตาร์ PRS SE ผมแนะนำว่าเอาแค่เปลี่ยนอะไหล่ก็พอครับ หลักๆที่นิยมเปลี่ยนกันก็ได้แก่ ลูกบิดล็อกสาย ฝาวอลุ่ม/โทนแบบ Lampshade USA นัทกราฟเทค และปิคอัพ (ถ้าไม่ชอบเสียงปิคอัพSE) แต่งานสี งานเปลี่ยนโฉม มันงานช้าง ทั้งใช้เงินเยอะมาก ใช้แรงกาย แรงใจ ต้องมีสถานที่ที่เหมาะสม และต้องเวลานานนับเดือนหรือถึงปี ถ้าไม่พร้อมจริงๆ อย่าริอ่านทำงานพวกนี้ แต่ถ้าไม่มั่นใจก็อ่านบทความของผมให้จบตลอด series แล้วทบทวนดูอีกที

ถ้าเพื่อนๆทำความเข้าใจกับเงื่อนไขข้างต้นนี้ได้ และเปิดใจยอมรับ ผมก็ขอต้อนรับเพื่อนๆเข้าสู่ โลกของการเปลี่ยนกีต้าร์ธรรมดาๆ ให้กลายเป็นกีตาร์ตัวใหม่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเรา ชนิดที่ไม่สามารถหาซื้อได้ที่ไหนในโลก

เริ่มโปรเจคท์โมดิฟายกีตาร์ PRS SE SVN กันเลย

ก่อนอื่นขออนุญาตเท้าความก่อนสักนิด ผมเคยโมดิฟาย PRS SE SVN ตัวนี้มาแล้ว 2 ครั้ง (ผมนับตามจำนวนครั้งที่เปลี่ยนสี) ครั้งแรกทำสีชมพู แต่งานเริ่มเหลวตั้งแต่ขั้นตอนการติดวีเนียร์ แล้วก็ขัดทุกอย่างทิ้งหมดแล้วทำสีขาวมุกแทน (สีทึบ) แต่สักพักผมเริ่มรู้สึกว่าสีขาวนั้นแรกๆแม้จะดูดี แต่ไม่นานเท่าไหร่ก็รู้สึกเบื่อหน่าย มันสะอาดจนจืดชืด จึงตัดสินใจเปลี่ยนมาทำสี/เปลี่ยนอะไหล่อีกทีเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งผมกำลังจะเล่าต่อไปนี้

ลำดับขั้นตอนคร่าวๆ ของทั้งโปรเจคท์ เป็นดังนี้ครับ

  • งานเคลียร์พื้นที่ เตรียมชิ้นงาน
    • การแกะอะไหล่เดิมออก
    • การลอกสีเดิม
  • งานโครงสร้าง
    • การติดวีเนียร์
  • การทำสี
  • การพ่นเคลือบและปัดเงา (finishing)
  • งานติดตั้งอะไหล่และ setup

อุปกรณ์ที่ผมใช้ ทั้งโปรเจคท์

แนะนำว่าสำหรับมือสมัครเล่นที่ไม่ได้แพลนว่าจะเอาดีทางนี้ยาวๆ เป็นอาชีพ แต่ต้องซื้อเครื่องมือช่าง ก็ไม่ต้องใช้เครื่องมือแบรนด์ท็อปๆก็ได้นะครับ มันเปลือง ของพวกนี้แบรนด์จีนตามลาซาด้ามีขายเกลื่อน ทำงานได้เหมือนกัน เลือกร้านที่คะแนนรีวิวดีๆ หน่อยก็พอครับ

อุปกรณ์ทุกอย่างผมเลือกแบบมือใหม่นะครับ ดูตามยูทูบแล้วก็ซื้อตาม แต่มันอาจจะไม่ได้ถูกต้องที่สุดเสมอไป ต่อไปนี้คือรายงานเครื่องมือและวัสดุต่างๆ ที่ผมใช้ในการทำสี (ไม่รวมรายการอะไหล่ใหม่ที่ซื้อมาอัพเกรดแทนของเดิม) เอาเท่าที่นึกออกครับ

เครื่องมือช่าง

  • เครื่องเจียร์ (ลูกหนู)
  • เครื่องขัดไม้ ผมใช้แบบ orbital sander ที่ใช้กระดาษทรายขนาด 1/4 ของแผ่น
  • เครื่องมือสำหรับตัดขอบไม้วีเนียร์ส่วนเกิน ผมใช้สว่านเอนกประสงค์ (rotary tool/Dremel tool) เพราะใช้งานได้หลากหลาย ทั้ง ตัด ขัด เจาะรู
  • เครื่องขัดเงาแบบวงกลมติดตีนตุ๊กแก 5 นิ้ว ปรับความเร็วรอบได้ ผมเลือกใช้แบบเอนกประสงค์ที่สามารถเปลี่ยนหัวจากแป้นขัดเป็นสว่านได้ด้วย
  • ไขควงพร้อมชุดหัวเปลี่ยนขนาดต่างๆ สำหรับขันสกรูถอด/ติดตั้งอะไหล่
  • ประแจสำหรับถอด/ใส่ อะไหล่ชิ้นใหญ่ เช่น เบ้าลูกบิด รูแจ๊ค ผมใช้ประแจเลื่อน (ที่จริงไม่ควร 555) เลยไม่รู้ขนาดประแจปากตาย
  • หัวแร้งสำหรับบัดกรีงาน แนะนำใช้แบบปากกา เพราะแหย่จี้จุดแคบๆได้ง่าย ควบคุมทิศทางได้สะดวก อย่าใช้แบบปืนเพราะทำงานลำบากมาก วัตต์ที่ใช้ก็ประมาณ 30-40 วัตต์พอ
  • ลูกกลิ้งทาสีขนาดเล็ก สำหรับใช้ทากาวแปะวีเนียร์
  • ตัวจับชิ้นงานหรือ clamp ใช้หนีบตามจุดที่ต้องทากาวเก็บงานขอบวีเนียร์ที่ติดกาวรอบแรกไม่อยู่ เตรียมไว้หลายๆตัวหน่อย สัก 10 ตัวขึ้นไปก็ดี เพราะยิ่งมีเยอะก็ยิ่งประหยัดเวลาที่ต้องรอวีเนียร์แห้งสนิทจุดละหลายชั่วโมง
  • กาพ่นสีไฟฟ้าสำหรับพ่นเคลือบ หาที่วัตต์ต่ำๆ ไม่ต้องแรงมาก ถ้าไม่มีก็ต้องใช้ยูรีเทนกระป๋องแทน แต่ละอองจะหยาบ
  • เครื่องป้องกันต่างๆ เช่น แว่นป้องกันขณะใช้เครื่องเจียร์ หน้ากากกันแก๊ส ถุงมือยางหนาๆ จุกยางอุดหู เป็นต้น

วัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ

  • น้ำยาลอกสี กับอุปกรณ์ที่ไว้ขูดสีที่ละลายทิ้ง ผมแนะนำว่าให้ใช้ไม้พายหรือตะหลิวอันเล็กๆที่ทำจากไม้ ห้ามใช้เกรียงโป๊วสีเด็ดขาด เพราะจะบาดไม้เป็นรอยได้
  • อะซีโตน ไว้ล้างสีเดิมหากน้ำยาล้างสีกัดออกไม่หมด
  • ใบเจียร์ (น่าจะ 4 นิ้ว) ผมใช้ตั้งแต่เบอร์โคตรหยาบประมาณ 80 เพื่อทำลายชั้น varnish ออกโดยเฉพาะ
  • กระดาษทรายเบอร์หยาบ ผมลองหลายเบอร์ หลายแผ่น จนประเมินต้นทุนไม่ถูก ตั้งแต่หยาบๆอย่างเบอร์ 5 ขึ้นไปถึงงานละเอียดถึงเบอร์ 1000-2000
  • ใบขัดเงาที่เป็นผ้านุ่มหรือผ้าขนสัตว์ (มักแถมมากับเครื่องขัดเงา)
  • ตะกั่วบัดกรี เลือกใช้ตะกั่วที่มีส่วนผสมของเงิน ราคาเริ่มต้นประมาณ 200 กว่าบาทเพราะการนำสัญญาณจะดีกว่าตะกั่วถูกๆตามร้าน 20 บาท
  • (ถ้าเลือกติดลายไม้ท็อป) แผ่นวีเนียร์ไม้เมเปิลขนาดใหญ่สำหรับแปะลายบนท็อป บ้านเราไม่มีขาย ต้องสั่งจากต่างประเทศ มักขายเป็นชุด ชุดนึงรวมส่งก็สองพันกว่าบาท
  • (ออพชัน) แผ่นวีเนียร์ขนาดเล็กสำหรับแปะหัวกีตาร์ ในกรณีที่ไม่ทำสีทึบบนหัว
  • (ถ้าเลือกติดลายไม้ท็อป)กาวติดไม้ (ย้ำว่าต้องเป็น wood glue เท่านั้นนะครับ ไม่ใช่กาวลาเท็กซ์) แนะนำยี่ห้อ Elmer เพราะแห้งช้า ทำงานสะดวก ติดทนทาน อย่าใช้ Titebond ถ้ามือไม่ถึงจริง
  • กระดาษกาวยี่ห้อ 3M ไว้แปะปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้สีหรือละอองสเปรย์โดน ที่ต้องระบุยี่ห้อก็เพราะเป็นของเกรดดี ลอกออกแล้วคราบกาวไม่เหลือติดไม้เยอะเหมือนกระดาษกาวถูกๆ
  • สติกเกอร์โลโก้ PRS แนะนำหาแบบสติกเกอร์โลหะจาก Ebay.com ราคาถึงมือประมาณ 600 บาท จะดูคล้ายรุ่นที่ผลิตอเมริกา แต่ถ้าเป็นสติกเกอร์ปรินท์แปะบ้านๆ สไตล์โลโก้ Fender ทั่วไป จะดูผิดแปลกไปทันทีหากนำมาแปะหัว PRS
  • (ถ้าเลือกติดลายไม้ท็อป) สีสำหรับย้อมลายไม้เฟลมเมเปิล ถ้าให้ง่ายสุดก็ใช้สีผสมอาหารเรานี่แหละ แต่ถ้างบถึง อยากทดลองผสมเองด้วยสีแบบที่โรงงาน PRS ใช้ ก็แนะนำให้ใช้สีแบบ aniline dye บ้านเราไม่มีขาย ต้องสั่งจาก Ebay ถ้าเลือกใช้ dye ต้องศึกษาเทคนิคการผสมสีอีกพอสมควร รวมทั้งต้องซื้อ isopropyl alcohol (IPA) มาใช้เป็นตัวทำละลายด้วย (ไม่แนะนำให้ใช้น้ำเปล่าครับ)
  • สารเคมีสำหรับผสมเป็น finish ซึ่งมีทั้งแบบไนโตรและโพลียูรีเทน ในที่นี้ผมเลือกยูรีเทน
  • ทินเนอร์สำหรับผสมกับยูรีเทน แนะนำว่าให้ซื้อยูรีเทนและทินเนอร์ยี่ห้อเดียวกันที่ผู้ผลิตมักจะระบุไว้ว่า ยูรีเทนเบอร์นี้ ควรใช้คู่กับทินเนอร์เบอร์อะไร เพราะการใช้ของที่ผู้ผลิตออกแบบมาให้ใช้คู่กันแล้ว มันจะมีปัญหาน้อยกว่าเอายี่ห้อ A มาผสมยี่ห้อ B ซึ่งอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ เช่น ยูรีเทนที่ผสมแล้วจับตัวเป็นก้อน เป็นต้น และจะให้ดีควรเลือกทินเนอร์สำหรับโพลียูรีเทนโดยเฉพาะ
  • สำลีก้อน และเศษผ้าสะอาดๆ

ทั้งนี้ เพื่อนๆ ต้องมีพื้นที่ทำงานที่มีความโปร่ง หรือมีระบบระบายอากาศที่ดี รวมถึงควรสวมเครื่องป้องกันต่างๆ ระหว่างทำงานนะครับ (บางทีผมก็มักง่ายไม่สวมเครื่องป้องกัน โปรดอย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างนะครับ ฮ่าๆๆ)

1.การเคลียร์พื้นที่ เตรียมชิ้นงาน

1.1 แกะอะไหล่ออกจากตัวกีตาร์ก่อน

อย่างที่บอก ผมแบ่งการโมดิฟายออกเป็นสองส่วน คือ การเปลี่ยนอะไหล่ และ การทำสี/เคลือบบอดี้ใหม่ แต่เนื่องจากการทำสีใหม่จำเป็นต้องแกะอะไหล่ทุกชิ้นออกจากตัวกีตาร์ให้เรียบร้อยก่อนนะครับ เราต้องแกะชิ้นส่วนเกือบทั้งหมดออก สาย ลูกบิด ปิคอัพ วงจร knobs หมุดสายสะพาย แนะนำว่าให้ถ่ายรูปการต่อวงจรของปิคอัพไว้ด้วย (ในกรณีที่จะใช้ปิคอัพและวงจรเดิม) เพราะไม่มีผัง wiring scheme ของ SE นะครับ (ไม่น่าเชื่อ 555) ส่วนนัท ถ้าคิดจะใช้นัทเดิมต่อ

อะไหล่ที่ถอดไว้ ควรจัดระเบียบให้ดี สกรูตัวไหนต้องอยู่กับอะไหล่ชิ้นไหน ใส่กล่องแยกเก็บไว้ให้เป็นที่เป็นทาง เพราะกว่าจะเอากลับมาใส่อีก ก็อีกนานเป็นเดือนหรือเป็นปี ถ้าเก็บไม่เป็นระเบียบเราอาจกลับมาหาไม่เจอ

1.2 ลอสีและขัดชั้นเคลือบเดิม

ผมเริ่มจากการใช้น้ำยาเคมีลอกสี ทาไปบนตัวกีตาร์ที่ละส่วนๆ แล้วใช้ไม้พายขูดสีทิ้ง (เกรียงปาดสีในรูปนั่น เป็นการเลือกอุปกรณ์ที่ไม่ถูกต้องนะครับ เพราะทำเอาไม้คอของผมเป็นรอยเกรียงเต็มไปหมด ผมเลยไปหาไม้พายมาใช้แทน ซึ่งปลอดภัยกับตัวกีตาร์มากกว่า) แนะนำว่าต้องหาอุปกรณ์ป้องกันมือมาสวมนะครับ เคมีตัวนี้มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง ถ้ากระเด็นโดนมือเข้านี่จะปวดแสบปวดร้อนมากๆ

ชั้นยูรีเทนใสที่เคลือบอยู่นอกสุด และชั้นสีแดง ยุ่ยหลุดร่อนออกมาเป็นเกล็ดๆ
แซะขึ้นมาก็จะเห็นเป็นแบบนี้ครับ
ผมตั้งใจจะอัพความหล่อที่ headstock ด้วย ดังนั้นก็ต้องโละสีและโลโก้เดิมออก เมื่อโลโก้ที่ถูกสกรีนมาจากโรงงานเจอเคมีลอกสีเข้าไป มันก็จะมีสภาพอย่างในรูป

เคมีลอกสีจะไม่สามารถลอกสีกีตาร์จนสะอาดเอี่ยม 100% จะมีบางจุดเหลือสีด่างๆไว้ ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นผมน่าจะใช้อะซีโตน (acetone) หรือน้ำยาล้างเล็บเช็ดออก

ใช้หลังจากลอกสีเดิม (สีแดง) ออกหมดแล้ว เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่ผมเจอใต้ชั้นเคลือบและชั้นสี ไม่ใช่ไม้ หากแต่เป็นชั้นยูรีเทนใสๆ แข็งประดุจแก้ว ซึ่งปิดทับชั้นวีเนียร์ลายเฟลมอยู่ วีเนียร์นี้ถูกย้อมสีเขียวเอาไว้ ขั้นตอนต่อไปเราก็ต้องโละทิ้งให้หมดนะครับ ทั้งยูรีเทนและวีเนียร์เดิม

ไม่น่าเชื่อว่ากีตาร์สีแดง แท้จริงแล้วข้างใต้ทำสีเขียวเอาไว้

จากทีแรกที่ผมแพลนไว้ว่า จะพยายามเก็บวีเนียร์เดิมไว้แล้วทำสีใหม่ลงไปแทน แต่เมื่อลองใช้คัตเตอร์แซะชั้นยูรีเทนที่แข็งโป๊กออกจนเผยให้เห็นเนื้อ maple veneer ข้างใต้ ก็ชัดเจนแล้วว่าการจะเก็บวีเนียร์โรงงานไว้แล้วล้างให้สะอาดเพื่อทำสีใหม่ลงไปนั้น “เป็นไปไม่ได้” เพราะชั้นวีเนียร์นี้บางเหลือเชื่อ บางไม่ถึง 0.1-0.2 มิล และสีเขียวที่โรงงานทำมานั้น ก็อาบย้อมทั่วถึงหมด อย่างไรก็ต้องโละทิ้งให้หมดทั้งยูรีเทนและวีเนียร์ แล้วก็ต้องหาวีเนียร์ใหม่มาแปะแทน

และด้วยความแข็งของมัน ผมใช้คัตเตอร์ค่อยๆแซะอยู่เป็นชั่วโมงๆ ก็เหมือนงานไม่คืบหน้าจนน่าพอใจเท่าไหร่ เมื่อความอดทนของผมหมดลง ผมก็หันไปใช้เครื่องมือหนัก คือเครื่องเจียร์ (ลูกหนู) ใส่ใบหยาบ แทน งานจึงเสร็จเร็วขึ้นมาก แต่ก็เหลือริ้วรอยโหดๆ ไว้

หมดเวลาไปตั้งเยอะ มือแทบพัง แต่ได้งานแค่นี้ คือไม่ไหวจริงๆ ต้องเปลี่ยนวิธีโละ
เลยใช้เครื่องเจียร์แทน รวดเร็วทันใจ แต่มือต้องนิ่งมากนะครับ พลาดนิดเดียวมันกินเนื้อไม้เป็นหลุมได้เลย

1.3 อุดรู/ขัดไม้

เสร็จแล้วก็ขัดให้เกลี้ยงครับ จะใช้เครื่องหรือใช้มือก็ตามสะดวก ควรเริ่มจากกระดาษทรายเบอร์หยาบสักเบอร์ 3 ก่อน ค่อยไล่ไป 1 สุดท้ายใช้เบอร์ละเอียด สัก 1000

ผมใช้ครีมโป๊วไม้ อุดรู Tone pot และหลุมร่องลึกที่เกิดจากลูกหนูเอาไว้ สาเหตุที่ผมอุดรู Tone เพราะผมตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่ใช้ Tone เพื่อความสะอาดสูงสุดของสัญญาณจากปิคอัพครับ

หลังจากอุดรูและขัดไม้ท็อปด้วยกระดาษทรายละเอียดจนเรียบกริบแล้ว ผมก็เอากระดาษมาลอกลายมาร์คจุดเจาะรูต่างๆ เพื่อที่จะใช้ทาบเป็นจุดเจาะรูหลังจากเสร็จขั้นตอนการติดวีเนียร์ในตอนถัดไปครับ

ส่วนหัวที่ลอกสี ขัดไม้เสร็จแล้ว

ด้านหลังผมแพลนว่าจะไม่ทำสี เพราะตั้งใจจะโชว์ลายไม้

ในส่วนของคอ ผมขัดออกให้หมด เพราะแพลนว่าจะทำสีคอด้วย ฝุ่นขาวๆนั่นคือฝุ่นของเศษยูรีเทนที่ถูกขัดออกนะครับ ไม่ใช่ฝุ่นไม้ เวลาขัดส่วนนี้ออกจะมีกลิ่นเหม็นเคมีๆ แนะนำให้หาหน้ากากมาสวมด้วยครับ

ส่งท้าย

สำหรับขั้นตอนแรกก็จะประมาณนี้นะครับ ตอนต่อไปผมจะมาเล่าวีรกรรมการติดวีเนียร์ครับ มันเป็นนวัตกรรมที่ผมคิดเองเลย ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ

ผมเป็นแอดมินกลุ่ม PRS Thailand (ไม่ใช่เพจของร้านตัวแทน PRS ของไทย) เรามีความรู้เกี่ยวกับแบรนด์ PRS และมีการซื้อขาย PRS ในกลุ่มนี้อยู่ตลอด ใครที่สนใจคลิกเลยครับ