รีวิว PRS McCarty Hollowbody Spruce

McCarty Hollowbody Spruce? มันคืออะไร

กีตาร์ PRS รุ่นนี้เป็นกีตาร์เป็นรุ่นย่อยรุ่นหนึ่งของกีตาร์ PRS ตระกูล McCarty ซึ่งเป็นไลน์ผลิตของ PRS ที่เน้นโทนเสียงสไตล์วินเทจซึ่งเริ่มมีครั้งแรกตั้งแต่ปี 1994 ภายใต้คำแนะนำของ Ted McCarty อดีตประธานบริษัท Gibson ในยุคทอง กีตาร์ตระกูล McCarty มีความแตกต่างจากตระกูล Custom หลายอย่าง สำหรับผมแล้วมอง McCarty ว่าเป็น PRS ที่มีตัวตนชัดเจน บ่งบอกชัดเจนว่าผู้ใช้งานเจาะจงเลือกด้วยโทนเสียงและสัมผัสในอีกลักษณะหนึ่งที่ต่างออกไปจากตระกูล Custom และต้องรู้จักแบรนด์ PRS มาประมาณนึง จึงก้าวข้ามรุ่นตลาดอย่าง Custom มาได้

สำหรับคนที่ไม่รู้จักว่า PRS ซีรีส์ McCarty มีความเป็นมายังไง มีรุ่นอะไรบ้าง ผมเขียนเล่าประวัติและไล่รายการรุ่นกีตาร์ไว้หมดแล้ว มีหลายตอน สามารถคลิกอ่านได้ที่นี่ครับ

McCarty Rosewood ปี 1999

PRS McCarty มีหลายรุ่นย่อย ทั้งตัวตันปิคอัพ humbucker ตัวตันปิคอัพ P90 รวมถึงรุ่นตัวกลวงคล้ายๆแบบของผมซึ่งก็มีอีกหลายแบบ เช่น ท็อปเฟลม หลังเฟลม (McCarty Hollowbody II), ท็อปเฟลมหลังมาฮอกกานี (McCarty Hollowbody I), รวมถึงท็อปสปรูซหลังมาฮอกกานีเช่นรุ่น McCarty Hollowbody Spruce ของผม

PRS McCarty Hollowbody II 10 top (2003) ด้านหน้า
PRS McCarty Hollowbody II 10 top (2003) ด้านหลัง

ศิลปินที่เคยใช้ PRS ตัวกลวงท็อปสปรูซที่ผมนึกออกก็มี Mike Einziger แห่งวง Incubus แต่ของเค้าที่ใช้ตอนนั้นจะเป็นรุ่น McCarty Archtop Spruce บอดี้ลึกกว่า Hollowbody Spruce หนึ่งนิ้ว แล้วก็ Emil Werstler แห่งวง Daath ที่ปัจจุบันก็ยังใช้ HB Spruce อยู่

ผมตั้งสมมติฐานว่า สำหรับ HB Spruce เสียงคงออกกลมๆ นวลๆ คงต่างจาก HB II ที่ติดย่านแหลมแต่ขาดย่านต่ำ แต่ที่ผมไม่แน่ใจมาตลอดเกี่ยวกับ HB Spruce คือ ความนวลของมัน จะทำให้เล่นเสียงแตกแล้วบวม เบลอ ทู่ ไหม? มันดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น แต่ทำไมมีศิลปินอย่าง Emil เอาไปปั่นได้? มันเป็นคำถามค้างคาใจผมมานานหลายปี เพราะ PRS รุ่นนี้หายาก หาของจริงลองไม่ได้สักที ก็โชคดีที่ผมได้กีตาร์ตัวนี้มาจากสมาชิกท่านหนึ่งในกลุ่ม PRS Thailand ก็เลยได้สัมผัสตัวเป็นๆ ได้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วอะไรเป็นอะไร และเนื่องจากผมเห็นว่าในเว็บไม่ค่อยมีข้อมูลลึกๆ เกี่ยวกับมันมากนัก ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม PRS Thailand ก็เลยอยากเขียนไว้เป็นข้อมูลให้ได้อ่านกัน

PRS McCarty Hollowbody Spruce เลิกผลิตไปเมื่อปี 2009 ซึ่งสาเหตุก็น่าจะมาจากความนิยมของตลาดที่เทไปทางรุ่น II ซะเป็นส่วนใหญ่ สำหรับ PRS สไตล์กลวงโบ๋แบบนี้ที่ยังผลิตอยู่ในปัจจุบันก็มีรุ่น Hollowbody II Piezo (ไม่เรียกชื่อรุ่นว่า McCarty) กับอีกรุ่น McCarty 594 Hollowbody II

PRS McCarty 594 Hollowbody II 10 top (2021)

สเปค

  • Model : Hollowbody Spruce
  • Top : Carved solid spruce, with 2 f- holes
  • Back : Carved solid mahogany
  • Side : Carved solid mahogany
  • Body depth : 3″
  • Neck : Mahogany
  • Neck profile (s) : Wide Fat
  • Scale length : 25″
  • Number of frets : 22
  • Fingerboard : Indian rosewood
  • Fingerboard radius : 10″
  • Fingerboard inlay : Moons or optional Old school birds in ripple abalone
  • Headstock veneer : –
  • Headstock inlay/logo : –
  • Truss rod cover text : McCarty
  • Tuners : PRS Phase II locking, ebony
  • Bridge : PRS Stoptail with L/R. Baggs Piezo acoustic pickups
  • Pickups : McCarty Archtop
  • Electronics :
    • Magnetic controls : 3 way toggle switch, 1 Master Volume, 1 Tone,
    • Piezo controls : 1 mini toggle switch, 1 Piezo volume,
    • Outputs : 2 separate output jacks for magnetic and piezo signals
  • Hardware : Nickel
  • Finish : polyester base coat with acrylic top coat, high gloss
  • Accessory : Hollowbody hard shell case, truss rod adjustment wrench, others
  • Years in production : 1999 – 2009
ถ้าเข้าใจจุดขายและได้มีโอกาสลองตัวเป็นๆ ก็ไม่ยากที่จะมองข้ามเรื่องความไม่มีเฟลมของมัน

PRS Hollowbody Spruce มากับไม้ท็อปสปรูซที่เลื่อยมาแบบ quarter swan ลายตรงแหน่วสองชิ้นต่อ bookmatch ไม้หลังเป็นไม้มาฮอกกานีชิ้นเดียว ทุกส่วนใช้ไม้แท้ (solid wood) มากัดขึ้นรูปทรงด้วยเครื่องจักร ไม่ใช่ไม้อัดที่ใช้ไม้แผ่นบางๆ เข้าแม่พิมพ์เพื่อขึ้นรูป ต้นทุนและความยากในการผลิตรวมถึงน้ำหนักก็ต่างกัน กีตาร์ตระกูล HB ความลึกของบอดี้จะหนากว่ากีตาร์ทรง doublecut ตัวตัน เนื่องจากด้านหลังมีความนูนปูดออกไปอีก ความลึกโดยรวมวัดที่บริดจ์จึงลึก 3 นิ้วเต็ม

ถึงไม้จะไม่มีเฟลม แต่ลายเกรน quarter sawn solid spruce ตรงๆ ชัดๆ นั้นสวยงามมากมายในแบบของมัน

โครงสร้างภายในกลวงแทบทั้งบอดี้ มีเพียงบล็อกไม้มาฮอกกานีอันเล็กๆ วางอยู่ใต้บริดจ์ ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมแรงสั่นสะเทือนของไม้ท็อปและไม้หลังเข้าด้วยกัน รวมทั้งเพื่อสร้างความแข็งแรงของโครงสร้างด้วย

สังเกตความเป็นไม้แท้ (solid wood) ได้ง่ายๆ จากลายไม้ที่ต่อเนื่องจากด้านหน้า ถึงขอบ ของแบบนี้ทำหลอกกันไม่ได้

คอทำจากไม้มาฮอกกานี quarter sawn ชิ้นเดียว และมีเชพอ้วน Wide Fat เพียงเชพเดียวและมี 22 เฟรท ตามธรรมเนียมปฏิบัติของกีตาร์ในซีรีส์ McCarty ซึ่งเน้นโทนจากเนื้อไม้และฟีลวินเทจ ฟิงเกอร์บอร์ดไม้ Indian rosewood อินเลย์นกเต็มตัวสไตล์ปีเก่าทำจากเปลือกหอย ripple abalone ซึ่งในปีนั้นอินเลย์นกเป็นออพชันที่ต้องจ่ายเพิ่ม ไม่ใช่มาตรฐานอย่างในปัจจุบัน สเกลยาว 25 นิ้วเท่า Custom 24 ลูกบิดเป็นแบบล็อกสายรุ่น Phase 2 (เลิกผลิตแล้ว) ใบลูกบิดทำจากไม้ ebony (ปัจจุบันไม่มีแล้ว)

ไม้หลังมาฮอกกานีชิ้นเดียวไร้รอยต่อ

ในส่วนของปิคอัพเป็นรุ่น McCarty Archtop คอนโทรลมี toggle switch 3 ทาง + 1 volume + 1 tone แต่ปุ่มโทนดึงตัดคอยล์ไม่ได้นะครับ

สำหรับตัวนี้มีออพชั่น piezo (ปิคอัพเลียนเสียงกีตาร์โปร่งไฟฟ้า) ด้วย เป็นระบบที่ทีมงานลุงพอลร่วมกันคิดค้นกับบริษัท L.R. Baggs มี mini toggle switch อันเล็กๆ ไว้สับเปลี่ยนโหมดการทำงานทั้ง 3 แบบ คือ 1) สับลง เพื่อใช้ magnetic pickups อย่างเดียว 2) แก๊กกลางเป็นผสมสองระบบ และ 3) สับขึ้น เปิดใช้ระบบ piezo เพียงอย่างเดียว ซึ่งสามารถปรับความดังของ piezo ได้จาก volume knob อันหลังสุด

เฉพาะรุ่นที่ติด piezo แบบตัวนี้จะมีรู output 2 รู ได้แก่รู MIX/MAG ใช้ส่งสัญญาณทั้งสองระบบ และรู PIEZO ซึ่งใช้เฉพาะส่งสัญญาณกีตาร์โปร่งไฟฟ้าจากปิคอัพ piezo เพียงอย่างเดียว เราสามารถเสียบสายสัญญาณพร้อมกันทั้ง 2 รูเพื่อแยกสัญญาณไปออกทั้งแอมป์ไฟฟ้าและแอมป์กีตาร์โปร่งพร้อมกันเพื่อคุณภาพเสียงเต็มศักยภาพของมัน ในกรณีที่เราใช้งาน output ทั้งสองพร้อมกัน piezo volume knob จะเปลี่ยนจากตัวปรับวอลุ่มของ piezo กลายเป็น Blend control ทำหน้าที่ปรับบาลานซ์ระหว่างสัญญาณทั้งสองแบบ

การทำงานทั้งหมดที่ว่ามานั้นมีวงจร active preamp เป็นตัวควบคุมซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าจากถ่าน 9 โวลท์ preamp จะทำงานทันทีที่มีการเสียบสายสัญญาณเข้ามาไม่ว่าจะเป็นรูใด ดังนั้นหากไม่เล่นแล้ว ต้องดึงสายออกทุกครั้ง ห้ามเสียบคาไว้ เพราะ preamp จะกินไฟฟ้าจากถ่านจนหมด

McCarty Hollowbody Spruce ตัวนี้มาในสี Vintage Natural สำหรับผมมันเป็นกีตาร์ที่สวยมาก มันสวยแบบดูเก่าคลาสสิคเหมือนไวโอลิน มีอาการแลคเกอร์ขึ้นฝ้าบริเวณซอกคอและด้านข้างซึ่งเป็นปัญหาที่พบเจอกันบ่อยสำหรับ PRS ปีเก่ากว่า 2011 ที่แพ้สภาพอากาศในบ้านเรา ส่วนน้ำหนักก็ถือว่าเบามากตามรุ่นด้วยน้ำหนัก 2.4 กิโลกรัมก็ถือว่าหนักกว่ารุ่นเมเปิ้ลหน้าหลัง (Hollowbody II) หลายตัวที่ผมเคยจับมานิดหน่อย ถึงกระนั้นก็ยังจัดว่าเป็นกีตาร์ที่เบาสุดๆ อยู่ดี แต่ถึงตัวจะเบาแต่บาลานซ์ดีนะครับ หัวไม่ตก อุปกรณ์ที่มากับกีตาร์ก็มีเคสแข็งเข้ารูปบอดี้ (ไม่ใช่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างรุ่นลำตัวตัน) ใบนก เหล็กขันคอ และเอกสารอื่นๆ

เสียง


เสียงดีดเปล่า เพียงแค่ดีดโน้ตแรกผมรับรู้ได้ทันทีว่าเสียงมันแตกต่างจาก HB II เริ่มจากย่านแหลมที่น้อยกว่าเล็กน้อยแต่ได้ย่านกลางต่ำที่เพิ่มมากขึ้นหรือถ้าให้ผมพูดอีกอย่างก็คือ HB Spruce ให้เสียงที่สมดุลดีทุกย่าน ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ แม้ย่านแหลมจะไม่ใสเป็นประกายเท่า HB II แต่ย่านกลางต่ำที่ได้นั้น มีความไพเราะก้องกังวานและเป็นตัวชัดเจน เก็บตัวดี ไม่บานฟุ้ง ไม่บวมเบลอ โดยรวมผมรู้สึกว่ามันมีเนื้อเสียงที่เต็มกว่า HB II อย่างชัดเจน ไม้ท็อปสปรูซช่วยมาเติมเต็มย่านที่รุ่น HB II ขาดหายไปได้อย่างลงตัว สมบูรณ์แบบ

เสียงคลีนจากปิคอัพ McCarty Archtop หวานละมุนโดยเฉพาะตำแหน่ง neck แม้โทนจะออกไปทางวินเทจ แต่ก็เก็บตัวดีพอประมาณ มีเสียง pick attack นิดๆ ผมรู้สึกว่าปิคอัพตัวนี้ยังคอนโทรลง่ายกว่าปิคอัพปีใหม่ๆบางรุ่นของ PRS ซะด้วยซ้ำ

ส่วนเสียงแตกผมว่าเป็นทีเด็ดที่หลายคนคงคาดไม่ถึง ด้วยเนื้อเสียงแตกที่เป็นลูก เป็นคลื่นๆ มีความหนาพอสมควร ไม่แหลกละเอียดอย่างกีตาร์แนวเมทัล แต่ก็ไม่กลมทู่อย่างกีตาร์แนวแจ๊ส กีตาร์รุ่นนี้เป็นอะไรได้มากกว่าที่หลายคนจะคาดคิดไว้มาก ไม่ว่าดีดเปล่า เล่นคลีน หรือเล่นร็อค เจ้านี่ทำได้ดีเกินคาดทุกอย่าง

ส่วนเสียง piezo ผมไม่ได้ทดสอบให้ฟัง เพราะจากที่ลองดูคร่าวๆ แอมป์ของผมเป็นแอมป์สำหรับกีตาร์ไฟฟ้า ถ่ายทอดเสียงอคูสติคได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เลยไม่พยายามอัดไว้จะดีกว่า

สรุป

แม้โดยรวมผมจะชอบกีตาร์รุ่นนี้มากเพียงใด แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ถ้าจะมีอะไรที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกีตาร์รุ่นนี้ ก็คงเป็น…

  • อาการแลคเกอร์ขึ้นฝ้าซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกของปีเก่าและกีตาร์รุ่นนี้ก็ผลิตและเลิกผลิตในช่วงปีที่มีปัญหาพอดีซึ่งตัวนี้ก็ไม่รอด และต่อให้เราหาตัวที่ยังไม่ฝ้าเข้ามาจากต่างประเทศ พออยู่ในบ้านเราก็อาจจะมีสภาพไม่ต่างกัน
  • เนื่องจากมันเป็นกีตาร์ที่ลำตัวโปร่ง bass impact หรือความตึ้บเวลาเล่น palm mute จะแน่นสู้กีตาร์ตัวตันไม่ได้ ก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของมันในเรื่องนี้ไว้ด้วย ว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ความผิดของกีตาร์

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผมมองว่านี่คือกีตาร์ที่มีความพิเศษอย่างมาก และสำหรับผมแล้วขอยกให้มันเป็นกีตาร์ PRS ที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งที่เคยเล่นมาเลยครับ

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้จักกีตาร์แบรนด์ Paul Reed Smith มากขึ้น เชิญแวะมาที่กลุ่มเฟสบุค PRS Thailand ที่นี่เรามีทั้งความรู้และพื้นที่ซื้อขายของแบรนด์ PRS อยู่ๆไปเดี๋ยวได้เสียตังค์เองครับ ผมรับรอง…