โมดิฟาย ทำสี PRS SE SVN ตอนที่ 4 ติดปิคอัพแบบ Direct Mount ให้เจ้า PRS

4.ติดปิคอัพแบบ direct mount ให้เจ้า PRS

กลับมาว่ากันต่อในตอนที่ 4 ของซีรีส์บทความโมดิฟายยกเครื่องใหญ่กีตาร์ PRS SE SVN ของผมกันนะครับ สำหรับคนที่ยังไม่เคยอ่าน 3 ตอนแรก สามารถอ่านได้ตาม link ด้านล่างนี้ครับ

ตอนที่ 1 การเตรียมงาน วัสดุอุปกรณ์

ตอนที่ 2 การติดวีเนียร์ลายเฟลม

ตอนที่ 3 การทำสี

ตอนนี้ก็ถึงเวลาเฉลยแล้วนะครับว่าทำไมผมจึงไม่เจาะรูติดกรอบปิคอัพ (pickup mounting rings) ใช่แล้วครับ ผมจะลองติดปิคอัพแบบ direct mount (ไดเรคท์ เมาท์) ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่เคยมีในกีตาร์ PRS มาก่อนเลย (ยกเว้นพวก Private Stock บางตัวที่ลูกค้าสั่งทำ) เนื่องจาก PRS ใช้วิธีติดตั้งปิคอัพบนกรอบปิคอัพ (คล้ายยี่ห้อ Gibson) มาโดยตลอด

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า กรอบปิคอัพ นะครับ

สำหรับผมแล้ว ระหว่าง มี กับ ไม่มีกรอบปิคอัพ ลุคต่างกันมากมายนะครับ ลองดูนี่

4.1การติดตั้งปิคอัพด้วยวิธี Direct Mount คืออะไร และทำไมผมต้องใช้วิธีนี้?

แปลตรงตัวเลย มันก็คือติดตั้งลงไปตรงๆ บนตัวกีตาร์ ไม่มีวัสดุตัวกลางอย่างกรอบปิคอัพ มาเป็นตัวคั่น ลองนึกถึงพวก Ibanez RG หลายๆรุ่นดูก็ได้ครับ สังเกตไหมว่ากีตาร์แนวนั้นจะไม่มีกรอบปิคอัพ

สังเกตไหม ว่ากีตาร์แนวเมทัลจริงๆจังๆ เขาไม่ใช้กรอบปิคอัพกันหรอก

ถ้าถามว่า แล้วผมจะทะลึ่งเปลี่ยนวิธียึดปิคอัพจากการยึดไว้กับกรอบมาเป็น direct mount ให้มันยาก เพื่ออะไร?

  • อย่างแรก ก็ตอบแบบซื่อๆ ง่ายๆ เลยครับ ว่า แค่คิดว่ามันดูเท่ดี และเป็นความท้าทายของสายโมที่น่าจะลองทำเพื่อเป็นประสบการณ์ไว้คุยต่อได้ 555
  • ผมรู้สึกของผมเองว่า PRS 7 สาย ซึ่งสร้างเพื่อแนวเมทัล PRS ไม่ควรเล่นง่ายเพียงแค่เอารุ่น 6 สายหน้าตาค่อนไปทางผู้ใหญ่ๆ มาเพิ่มสายบนแล้วยืดสเกลออก มันควรปรับโฉมให้ดูทันสมัยกว่านี้ การไม่มีกรอบปิคอัพน่าจะช่วยให้ลุคดูแตกต่างปราดเปรียวขึ้นไม่มากก็น้อย
  • ว่ากันว่าการติดปิคอัพแบบ direct mount ช่วยเพิ่มซัสเทน แต่ส่วนตัวผมไม่ค่อยเชื่ออย่างนั้น ผมแค่หวังผลตามข้อที่กล่าวมาเท่านั้น

4.2Direct Mount แบบไหนไม่เสี่ยงบอดี้ทะลุ?

ทีแรกผมแพลนไว้ว่าจะติดปิคอัพโดยใช้วิธียอดฮิต คือกะจะใช้สกรูปลายแหลม (เกลียวปล่อย) ขันแทงก้นหลุมยึดปิคอัพลงไปตรงๆ เลย ซึ่งจากที่ผมศึกษาวิธีโมดิฟายติดปิคอัพแบบ direct mount ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะง่าย แค่หาสกรูปลายแหลมมาใช้ขันเจาะยึดปิคอัพเข้ากับบอดี้กีตาร์แทนที่น็อตที่แถมมากับปิคอัพ แต่การจะทำเช่นนั้นเราต้องคว้านขยายรูที่ขาปิคอัพออกเพื่อเปิดทางใส่สกรูตัวใหม่เพราะสกรูปลายแหลมที่ขายตามท้องตลาดไม่มีไซส์ 2.4 มิลลิเมตรเท่าสกรูปิคอัพ เท่ากับว่าวิธีนี้ทำลายโครงสร้างของปิคอัพโดยตรง ซึ่งสำหรับผมมองว่าเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์อย่างยิ่งสำหรับปิคอัพราคาแพงอย่าง Bare Knuckle ที่ผมสั่งผลิตส่งตรงมาจากอังกฤษ

นอกจากนี้ ผมก็ยังไม่รู้ว่าต้องเจาะลึกแค่ไหนจึงจะไม่ทะลุบอดี้ (เพราะถ้าพลาดนี่ สยองนะครับ) ครั้นจะหาทางยึดปิคอัพโดยใช้สกรูชุดเดิม ผมก็ยิ่งไม่รู้จะไปหานอตเกลียวหนอนที่ไหนที่มันรองรับขนาดเล็กพิเศษของนอตปิคอัพ ไหนจะต้องหานอตใหม่ที่ยาวกว่าเดิมอีกหลายเซนติเมตรเพราะต้องแทงลึกลงไปต่ำกว่าก้นหลุมปิคอัพ

ผมประเมินแต่ละทางข้างต้นนั้น แทบเป็นไปไม่ได้ ทั้งหาอะไหล่ไม่ได้ ทั้งเสี่ยงสร้างความเสียหาย ดังนั้น ทางออกที่ผมคิดว่าดีที่สุดคือผมต้องสร้างแท่นวางปิคอัพขึ้นมาวางก้นหลุม pickup cavity แล้วติดตั้งปิคอัพบนนั้นแทนด้วยชุดนอตของเดิมที่ติดมากับปิคอัพ ถ้าทำได้แบบนี้ผมก็ไม่ต้องไปแตะต้องปิคอัพไฮโซให้มันเสียของ กับไม่ต้องหาอะไหล่แปลกๆ อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการเจาะบอดี้ลึกเกินจนทะลุหลังบอดี้อีกด้วย

SIDE NOTE ข้อมูลเพิ่มเติมหลังจบโปรเจคท์ : หลังจากผ่านขั้นตอนนี้และโปรเจคท์ดำเนินต่อไปจนถึงขั้นตอนการติดตั้งอะไหล่เพื่อจบงาน ผมเพิ่งมารู้ว่า ที่จริงมันมีนอตขาปิคอัพขายนะ และไซส์สำหรับปิคอัพ BKP ของผม ก็มีขายในบ้านเรานี่แหละ หาซื้อง่ายๆเลย ปัดโธ่ ดังนั้นขอแก้ไขว่า ที่จริงแล้ว นอตยึดปิคอัพหาไม่ยากนะครับ ดังนั้นการหานอตไม่ได้ จึงไม่ใช่เหตุผลหลักที่ต้องทำแท่นวาง direct mount

ถ้าใครสามารถวัดความหนาของบอดี้ส่วนที่อยู่ใต้ปลายนอตได้จนกะความลึกที่จะเจาะลงไปได้อย่างแม่นยำแล้วละก็ จะเลือกใช้วิธีเจาะรูขันนอตยึดปิคอัพตรงๆ ไปเลย ก็ย่อมได้ ไม่ต้องทำแท่นวางแบบผมก็ได้ครับ ผมทำแท่นวางก็เพราะไม่มั่นใจที่จะเจาะบริเวณนั้น ก็เท่านั้นเอง

ไอเดียสร้างฐานรองปิคอัพนี้ ผมได้มาจากระบบ PMS ของ Fu Tone ซึ่งเขาคิดค้นใช้แท่งทองเหลืองมาทำเป็นฐานยึดปิคอัพ ใครสนใจลองคลิกเข้าไปดูและสั่งซื้อได้ที่นี่ แต่เนื่องจากเขามีเฉพาะสำหรับกีตาร์ 6 สาย ผมจึงต้องดัดแปลงทำฐานรองปิคอัพใช้เองด้วยวัสดุที่ผมสามารถหาได้เองไม่ยาก

ระบบ PMS ของ Fu Tone

4.3วัสดุอุปกรณ์ในการทำระบบ direct mount แบบบ้านๆ

ก่อนอื่น การจะเจาะรูลึกๆ บนบอดี้กีตาร์ให้แม่นยำไม่พลาดเจาะทะลุนั้น การทราบระยะ ความหนาของส่วนที่จะเจาะเป็นเรื่องสำคัญมาก ผมวัดความหนาของส่วนต่างๆ ได้ตามรูปข้างล่างดังนี้

  • เส้นสีน้ำเงิน ความหนาทั้งหมดของบอดี้ SE SVN 44 มม.
  • เขียว ความหนาบอดี้วัดจากหลังถึงก้นหลุมปิคอัพ 24 มม.
  • เหลือง ความหนาของแท่นวางปิคอัพ 4 มม.
  • แดง ความหนาจากหน้าท็อปลงไปถึงก้นหลุมปิคอัพ 20 มม.

ดังนั้น กรณีของผม ถ้าใช้สกรูที่ยาวไม่เกิน 25 มม. แทงลงไปบนแท่นวางหนา 4 มม. ก็จะเหลือระยะปลอดภัยในเนื้อบอดี้ราวๆ 4 มม. อ้อ สาเหตุที่ผมเลือกทำแท่นวางความหนาประมาณ 4 มม. ก็เพราะได้ทดลองทำแท่นหลายๆ ความหนาดูแล้วพบว่า ที่ความหนา 4 มม. น่าจะเป็นระยะที่ลงตัวที่สุด

ภาพแสดงความหนาของส่วนต่างๆ

ถ้าใครสามารถหาวัสดุขนาดพอดีกับงานได้ ก็ไม่ต้องหา 3 รายการแรกนะครับ ผมต้องเอาไม้ไอติมมาประกอบร่างเอง เพราะหาวัสดุรอบตัวไม่ได้จริงๆ

  • ไม้ไอติมหรือวัสดุแข็งอื่นใดที่มีความหนาไม่เกิน 4 มิลลิเมตร สำหรับผมมีร้านขายของ 20 บาทอยู่ไม่ไกล ผมก็ไปซื้อไม้ไอติมสีๆ ที่เขาเอาไว้ทำงานศิลปะแพคละ 25 บาทมาใช้ ซึ่งมันมีความยาวมากพอสำหรับระยะห่างของขาปิคอัพแบบ 7 สาย แถมความกว้างก็ใช้ได้พอดิบพอดี คือแบบมันโป๊ะเชะมากๆ
  • ในกรณีที่ใช้วัสดุบางๆ และอ่อน อย่างไม้ไอติม ผมก็ต้องใช้กาวต่อไม้เพื่อติดวัสดุเข้าด้วยกันหลายชิ้นเพื่อเสริมความแข็งแรง (ย้ำ ว่าต้องเป็นกาวต่อไม้เท่านั้น เนื่องจากมีแรงยึดเกาะสำหรับไม้สูงมาก)
  • ถ้ามีการติดกาวต่อวัสดุ ก็ควรเตรียมอะไรไว้บีบ หนีบ เพื่ออัดชิ้นงานให้กาวประสานกันมากที่สุด ในกรณีของผมใช้ปากจับงานหรือ clamp ที่เคยใช้ตอนติดวีเนียร์
  • เครื่องเจียสายอ่อน หรือคัตเตอร์ หรือกระดาษทราย หรือเครื่องมืออื่นใดที่ต้องใช้ ตัด ขัด ปรับรูปทรงวัสดุแท่นรองให้มีความยาวและส่วนโค้งที่จะวางในหลุม pickup cavity ได้พอดี รวมถึงขัดทำความสะอาดพื้นผิววัสดุเพื่อให้พร้อมสำหรับการทากาว
  • ดินสอไส้สีเข้มๆ เหลาปลายแหลมๆหน่อย
  • สว่านไฟฟ้าแบบปรับรอบช้า-เร็วได้ ผมใช้เครื่องขัดแป้นวงกลมที่ใช้ขัดชั้นเคลือบนั่นแหละ เพราะมันมีหัวแปลงเป็นสว่านได้ด้วย
  • ดอกสว่านขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มิลลิเมตร (สำหรับเจาะรูติดนอตปิคอัพ) และดอกสว่านอีกดอกที่มีขนาดใกล้เคียงกับสกรูที่จะใช้ยึดแท่นวาง
  • สกรูปลายแหลม (เกลียวปล่อย) สำหรับใช้ยึดแท่นวางเข้ากับบอดี้กีตาร์ ผมใช้ความยาว 25 x 3 มม. จำนวน 4 ตัว (ใช้ 2 ตัวต่อแท่น)
  • ฟองน้ำที่ค่อนข้างแข็งหรือวัสดุจำพวก memory foam เอาไว้รองใต้ปิคอัพ 2 ชิ้น ผมใช้โฟมที่ใส่ลูกบิดล็อกสาย SE มาตัดให้ได้รูปทรงที่พอดีเอา
  • ไขควงสำหรับติดตั้งปิคอัพ

4.4ขั้นตอนการทำระบบ direct mount

  1. ผมใช้ไม้ไอติม 4 อันซึ่งมีความกว้างพอดีสำหรับติดตั้งแล้ว มาติดความยาวส่วนเกินออก พร้อมทั้งขัด เจีย ส่วนมุมที่ถูกตัด ให้มีความโค้งมนเพื่อให้สามารถวางก้นหลุม cavity ได้
  2. ผมใช้กระดาษทรายขัดสีที่ชุบไม้ไอติมออก เพราะประสิทธิภาพการยึดเกาะของกาวจะดีที่สุดหากผิวไม้สะอาด ไม่มีสารใดเคลือบอยู่ ตรงนี้ใช้เครื่องเจียใส่ลูกขัดแทนก็ได้นะครับ
  3. ทากาวไม้ไอติมด้านที่ขัดสีออกแล้ว ประกบกัน 2 คู่
  4. เอาไปหนีบไว้ให้แน่นด้วย clamp ทิ้งไว้ 1 คืนเพื่อให้กาวเซ็ทตัว 100% ไม้ไอติมที่ประกบแล้วจะมีความหนาราวๆ 4 มิลลิเมตร และมีความแข็งแรงที่เหลือเชื่อจากประสิทธิภาพของกาวทาไม้
  5. เอาปิคอัพมาทาบแล้วใช้ดินสอทำเครื่องหมายตรงรูใส่นอตที่ขาปิคอัพ เพื่อมาร์คจุดเจาะทั้งสองข้าง
  6. รวมทั้งมาร์ครูตรงกลางแท่น อย่างน้อยอันละ 2 รู เพื่อไว้ติดนอตยึดแท่นปิคอัพ
  7. ใช้สว่านใส่ดอกเบอร์เล็ก ค่อยๆเจาะช้าๆ ขั้นตอนนี้ต้องเล็งดีๆ ถ้าเป็นไปได้ให้หาแท่นยึดจับชิ้นงาน เพราะต้องระวังอย่าเจาะเบี้ยวหรือเอียง สำหรับขนาดของดอกสว่านที่ผมเลือกใช้ดอกที่เบอร์เล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของนอตยึดปิคอัพนั้น ก็เพื่อให้แน่ใจว่ารูที่เจาะได้จะฟิต ไม่หลวมเกินไป เพราะถึงยังไงด้วยส่วนต่างขนาดเพียง 0.4 มิลลิเมตรเราก็สามารถออกแรงขันนอตให้ทะลุผ่านได้อยู่แล้ว แต่ถ้าใช้ดอกที่ขนาดพอดี โอกาสที่รูจะหลวมจะมีสูง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็เท่ากับว่าต้องนับหนึ่งเริ่มแปะกาวกันใหม่
  8. ส่วนการเจาะรูสำหรับติดตั้งนอตยึดแท่นนั้น ดอกสว่านที่ใช้ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใกล้เคียงกับสกรู/ตะปูเกลียว/นอต ที่เราหามายึด หากใช้สว่านดอกเล็กกว่าขนาดสกรูมากไป เวลาขันสกรูยึดแท่นเข้าบอดี้ เราต้องออกแรงมากเพราะรูแคบจนฝืดเกินไป
  9. ติดแท่นวางปิคอัพ เข้ากับตัวปิคอัพ โดยขันนอตเข้าไปนิดเดียว แค่พอติด และไม่ต้องใส่สปริง
  10. เริ่มการติดตั้งแท่นวางปิคอัพลงในหลุม pickup cavity โดยก่อนอื่น หากระดาษกาว 3M มาม้วนเป็นวงกลมแล้วแปะลงที่ก้นหลุมเพื่อช่วยยึดแท่นให้อยู่ในตำแหน่งที่พอดี ขั้นตอนนี้อาจดูแปลกแต่ผมคิดว่าจำเป็นต้องทำ เพราะการติดแท่นวางปิคอัพต้องได้ center พอดีเป๊ะ หากวางเคลื่อนหรือเผลอปัดโดนแท่นเขยิบไปนิดเดียวอาจทำให้รูนอตยึดปิคอัพขยับไปชิดขอบข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป เมื่อวางปิคอัพลงไป รูที่ขาปิคอัพก็จะไม่ตรงกับรูบนแท่น ส่งผลให้ไม่สามารถติดตั้งปิคอัพได้
  11. เมื่อแปะเทปที่ก้นหลุมเสร็จแล้วให้ค่อยๆ วางแท่นที่ติดตั้งปิคอัพไว้แล้วลงไป ออกแรงกดบนตัวปิคอัพเล็กน้อยเพื่อให้แน่ใจว่าแท่นวางปิคอัพติดกับกระดาษกาวดีแล้ว
  12. จากนั้นค่อยๆ ถอดปิคอัพออกไป เหลือแท่นที่ยังติดกับกระดาษกาวอยู่ก้นหลุม ระวังอย่าให้แท่นเคลื่อนจากตำแหน่งที่แปะไว
  13. จากนั้นใช้สว่านเจาะบอดี้กีตาร์ทะลุผ่านรูติดตั้งแท่น (2 รูตรงกลางแท่นแต่ละอัน) โดยต้องกะความลึกที่จะเจาะให้ดี อย่าเจาะเพลินจนทะลุบอดี้ ทำเช่นนี้ทั้ง 2 แท่น
  14. เสร็จแล้วยกแท่น แกะกระดาษกาวออก วางแท่นกลับลงไปให้พอดีรูที่เจาะ แล้วขันสกรูยึดแท่นติดลงไป ทั้ง 4 ตัว ถ้าขันสกรูลงไปได้ไม่สุดนั่นหมายความว่าก้นรูยังลึกไม่พอ ให้เจาะซ้ำลงไปอีก ระวังอย่าเจาะลึกเกินด้วย
  15. ทดลองติดตั้งปิคอัพบนแท่น เราต้องใช้ฟองน้ำแข็งๆ รองใต้ปิคอัพ เลือกวัสดุดีๆ อย่าใช้แบบที่มันเปื่อยได้เมื่อเก่า ฟองน้ำอันนี้จะทำหน้าที่เสมือนสปริงที่คอยดันปิคอัพให้อยู่กับที่ ทั้งนี้ เราอาจต้องปรับความหนาของฟองน้ำอีกครั้งเมื่อถึงขั้นตอนการเซ็ทอัพแอคชัน
มาร์คจุดเจาะรูนอตยึดปิคอัพ (ปิคอัพตัวนี้เป็นตัวที่ผมไม่ได้นำมาติดตั้งในขั้นตอนสุดท้ายนะครับ)
เจาะรูตามจุดที่มาร์คไว้ ทั้งรูยึดปิคอัพ (2 รูริม) และรูยึดแท่น (2 รูกลาง)
ติดแท่นวางเข้ากับปิคอัพ
ติดกระดาษกาว เพื่อยึดแท่นให้อยู่กับที่ ป้องกันไม่ให้วางแท่นเหลื่อมก่อนทำการเจาะรูสำหรับใส่สกรูยึดแท่น
เจาะรูเสร็จก็ใส่สกรูยึดแท่น สกรูแบบนี้มีขายเป็นแพคๆ ตามร้าน DIY หรือร้าน 20 บาททั่วไป ของแค่นี้เราไม่จำเป็นต้องซื้อแพงๆ จากร้านขายอะไหล่กีตาร์นะครับ
นี่คือเหตุผลที่ผมเลือกไม้ไอติมสีชมพูครับ 555

อ้อ เผื่อใครงงว่า ตอนที่แล้วแค่ทำสีเฉยๆ ทำไมขั้นตอนต่อมามีการเคลือบบอดี้แล้ว ความจริงก็คือ ผมทำสีและพ่นเคลือบสองครั้ง ครั้งแรกทำเสียแล้วต้องขัดสีทิ้งหมด รูปตอนทำสีคือรูปที่ทำสีในรอบแก้ไข แต่แท่น direct mount นี่ติดตั้งไว้แล้วตั้งแต่ตอนที่ทำสีรอบแรกเสร็จ

รูปนี้คือเมื่อติดตั้งปิคอัพแล้ว (หลังจากการทำสีและพ่นเคลือบครั้งที่ 2)

SIDE NOTE หมายเหตุเพิ่มเติมหลังจบโปรเจคท์ : หลังจากปิดโปรเจคท์จนผมติดตั้งอะไหล่และปิคอัพจนใช้งานไปสักระยะ ผมต้องการปรับความสูงของปิคอัพและมีการขันนอตยึดปิคอัพขึ้นๆลงๆ อยู่ 2-3 ครั้ง ผลปรากฎว่า รูนอตบนไม้ไอติม เกลียวหวาน ยึดปิคอัพไม่อยู่ เมื่อลองพินิจพิเคราะห์ดูจึงสรุปได้ว่า

  • ไม้ไอติมเป็นไม้ที่เนื้ออ่อนเกินไป ไม่เหมาะในการนำมาทำงานโครงสร้างที่ต้องการความทนทาน ซึ่งอันที่จริงผมก็รับรู้ได้ตั้งแต่ตอนที่เจาะรูเพราะสังเกตว่าไม้มันเปราะ ปริง่าย แต่ผมจำเป็นต้องใช้วัสดุแบบนี้เพราะมันหาง่าย ถ้าใครที่มีตัวเลือกมีเครื่องมือที่ครบกว่า ผมแนะนำสร้างแท่นวางที่เป็นอลูมิเนียมแข็งๆ จะดีกว่าไม้ครับ
  • สุดท้ายผมก็ทำแท่นอันใหม่โดยยังใช้ไม้ไอติมแบบเดิม แต่เพิ่มความหนาอีกชั้น แล้วเอาสปริงออก เพื่อลดแรงเครียดจากแรงดันของสปริงที่กระทำต่อรูนอตในไม้ไอติม ผลปรากฏว่าได้ผลดีครับ ถึงไม่มีสปริงช่วยยัน ปิคอัพก็ไม่ได้โยกไปมาอย่างที่ผมเคยกังวลแต่อย่างใด สิ่งที่เราต้องทำก็เพียงแค่กะความสูงของปิคอัพให้พอดีและถือไว้ในตำแหน่งนั้นในขณะที่ลงมือขันนอตยึดลงไป เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องไปขันนอตพวกนี้ในภายหลังโดยไม่จำเป็นจนทำให้รูนอตของไม้ไอติมเสียหายจนต้องทำแท่นใหม่อีก

ส่งท้าย

งานติดปิคอัพแบบ direct mount ให้กีตาร์ PRS ของผมก็จะมีประมาณนี้นะครับ และผมขอย้ำอย่างที่เคยย้ำเสมอๆ ใน 2 ประเด็น คืออย่างแรก ผมไม่ใช่ช่างมืออาชีพ ไม่เคยเรียนทำกีตาร์ ทุกอย่างที่เห็น ผมทำด้วยการหาข้อมูลเองทั้งหมด ไม่มีครู ดังนั้นเทคนิคต่างๆที่เห็น อาจไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด เพื่อนๆควรอ่านเพียงเพื่อศึกษาเป็นแนวทางไปประยุกต์ใช้ในแบบตัวเองเท่านั้น และประเด็นสุดท้าย คือ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผมใช้ ผมหาเอาตามความสะดวกและประหยัด ใครที่มองดูงานผมแล้วคิดว่าตัวเองยังสามารถหาอะไหล่ได้ดีกว่า ก็หาในแบบตัวเองไปนะครับ ไม่ต้องตามผมเป๊ะๆ เพราะความพร้อมของแต่ละคน ไม่เท่ากันครับ

สำหรับตอนถัดไปผมจะมาเล่าเกี่ยวกับการติด side dots เรืองแสงให้ PRS SE SVN กันครับ เท่นะเออ

ใครอ่านบทความของผมแล้วชักคันๆ อยากสัมผัสอยากรู้จักกีตาร์ PRS ให้มากกว่านี้ เชิญแวะไปที่นี่ครับ กลุ่ม PRS Thailand เรามีสาระดีๆ พร้อมยาแรงมาป้ายกันวันต่อวัน ว่ากันว่า นี่เป็นกลุ่มกีตาร์กลุ่มนึงของไทย ที่ทำคนเสียเงินแบบไม่รู้ตัว มากที่สุด ใครไม่กลัวก็เข้ามาครัช