โมดิฟาย ทำสี PRS SE SVN ตอนที่ 2 การติดวีเนียร์ไม้เมเปิลลายเฟลม

จากตอนที่ 1 ที่ผมเล่าตอนเริ่มโปรเจคท์โมดิฟาย ทำสี PRS SE SVN ไปแล้ว จนได้กีตาร์ PRS SE SVN ที่ไม่มีลาย เหลือเพียงไม้โล้นๆ แบบนี้

ลายไม้เมเปิลแบบ plain มันเป็นแบบนี้นะครับ ส่วนลายเฟลมของ SE ที่เห็นสวยๆนั่นคือวีเนียร์ที่ผมกำลังจะแปะ

ย้ำอีกทีว่า ทั้งหมดที่เกิดในโปรเจคท์นี้ของผม ผมทำเองโดยอาศัยการศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ทบ้าง สอบถามผู้รู้บ้างเป็นบางเรื่อง บางอย่างยังไม่มีใครทำผมก็หาทางของผมเอง ผมไม่ใช่ช่างมืออาชีพ ไม่ได้ไปเรียนซ่อมสร้างกีตาร์มาแต่อย่างใด ดังนั้นโปรดอ่านอย่างใช้วิจารณญาณ บางอย่างดูแล้วโอเคทำตามได้ ก็ทำตามไป แต่ถ้าบางอย่างดูแล้วผมทำไม่ถูก หรือมีทางอื่นที่ใช้ได้ดีกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องตาม นี่คือการแชร์ประสบการณ์ ไม่ใช่การสอนทำกีตาร์ นะครับ

ในตอนที่ 2 ก็กลับมาว่ากันต่อเรื่องการติดวีเนียร์นะครับ

Flamed Maple Veneer คืออะไร? ทำไมผมต้องใช้มัน?

มันคือเยื่อไม้เมเปิลบางๆ ที่หนาไม่เกินครึ่งมิลลิเมตร ซึ่งได้จากการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ “ฝาน” ท่อนซุงไม้เมเปิลด้วยความเร็วสูงจนได้เยื่อไม้บางๆ มีลายเฟลม ออกมา ลองดูคลิปนี้เพื่อความเข้าใจครับ

ที่เค้าทำวีเนียร์ก็เพื่อ

  • สร้างความสวยงามที่ดูแทบไม่ต่างไปจากลายไม้จากแผ่นไม้ท็อปตันๆ แบบกีตาร์ราคาหลักแสน
  • เพื่อลดต้นทุนในการผลิต เพราะไม้เมเปิลลายเฟลมแผ่นตันๆ มีราคาสูง นอกจากนี้วีเนียร์จากไม้ท่อนหนึ่งใช้แปะกีตาร์ได้จำนวนหลายตัว มากกว่าการนำไปทำไม้ท็อปแท้ๆ
  • สามารถทำสีได้ด้วยกรรมวิธีที่ไม่ต่างจากไม้เมเปิลแผ่นตันๆ เพราะถึงเป็นแผ่นบางเฉียบ แต่คุณสมบัติของเนื้อไม้ มันก็คือไม้เมเปิลแท้ๆนี่เอง
  • เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพราะนิยมนำไปใช้เป็นวัสดุปะหน้าเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการลุคเสมือนทำจากไม้ โดยไม่ต้องประกอบขึ้นด้วยไม้จริงๆ

ผมหาวีเนียร์ลายเฟลมจากไหน?

ผมเริ่มหาวีเนียร์โดยสำรวจตลาดในไทย (บางโพ) ปรากฏว่าไม่มีขาย มีพ่อค้าไม้ให้ข้อมูลว่าโรงเลื่อยที่จะผลิตชิ้นงานแบบที่ผมหานั้นน่าจะมีอยู่เพียง 1-2 แห่งในไทย และถึงเขาผลิตได้ เขาก็ผลิตตามออเดอร์ใหญ่ๆ ไม่ขายปลีก

ผมจึงหายคาใจว่าทำไมมันหาไม่ได้เลยในบ้านเรา สุดท้ายก็เลยสั่งผ่านแอป Aliexpress ขายเป็นแพคสามแผ่นราคาประมาณสองพันกว่าบาท และสั่งกาวติดไม้ Elmer มาจากในแอปลาซาด้ามั้ง ต้องใช้กาวสำหรับติดไม้เท่านั้นนะครับ ห้ามใช้กาวลาเท็กซ์

ตอนที่ 2 การติดวีเนียร์ไม้เมเปิลลายเฟลม

การแปะวีเนียร์บนท็อปของกีตาร์ PRS นั้นเป็นงานที่ท้าทายมาก เนื่องจากลักษณะของท็อปที่มีส่วนเอียงลาดลงไปหาขอบ แถมตัวแผ่นวีเนียร์เองก็ค่อนข้างแข็ง ทำให้การนำแผ่นวีเนียร์ไม้เมเปิลกรอบๆ หนา 0.5 มิลมาติดนั้น เป็นไปได้ยาก ผมเคยติดวีเนียร์แล้วเจอปัญหาหลายอย่างจนต้องพับโปรเจคท์ไปแล้วครั้งนึง ครั้งนี้ผมจึงเอาบทเรียนที่ได้มาปรับปรุงคิดค้นเทคนิควิธีการแปะใหม่ นั่นคือการสร้างแม่พิมพ์สำหรับใช้กดวีเนียร์ให้ติดตามส่วนโค้งของท็อป

นี่คือหน้าตาของแผ่นวีเนียร์ลายเฟลม ความหนา 0.5 มิลลิเมตร

2.1สิ่งที่ผมใช้ในการแปะวีเนียร์ให้กีตาร์ PRS SE คือ

  • แผ่นวีเนียร์ขนาดใหญ่ (สั่งจากต่างประเทศ)
  • กาวสำหรับติดไม้ แนะนำยี่ห้อ Elmer
  • ลูกกลิ้งทาสี ขนาดเล็ก
  • แม่พิมพ์สำหรับกด อัด วีเนียร์ให้ติดตามตามส่วนโค้งขอบท็อป (ต้องทำเอง) ซึ่งผมหล่อขึ้นจากปูนปลาสเตอร์
  • คัตเตอร์ที่มีความคมเป็นพิเศษ หรือเครื่องตัดขนาดเล็ก

2.2การทำแม่พิมพ์อัดวีเนียร์

ผมเริ่มจากการสร้าง “แม่พิมพ์อัดวีเนียร์” สำหรับ PRS SE SVN ขึ้นมา

วัสดุที่ผมใช้ทำบล็อกแม่พิมพ์ คือ

  • กระดาษลังชิ้นยาวๆ
  • แผ่นพลาสติกชิ้นใหญ่ๆ หนาๆ เช็กให้ดีว่าไม่มีรูรั่ว หรือไปหาถุงดำใส่ขยะใบใหม่ๆ มาตัดเอาก็ได้ 2-3 แผ่น
  • กระดาษกาว
  • แม็กเย็บกระดาษ
  • ปูนพลาสเตอร์ ปริมาณ 4-6 กิโลกรัม
  • น้ำ

ขั้นตอนการทำบล็อกแม่พิมพ์

  1. หากระดาษลังหนาๆ มาติดซ้อนกัน 2 ชั้นรอบบอดี้กีตาร์ แปะด้วยกระดาษกาว ด้านหน้าติดกระดาษเสมอขอบท็อป แต่ด้านหลังแปะให้เลยระนาบบอดี้ออกไป พักไว้
  2. ใช้กระดาษลังที่ตัดไว้มาต่อเป็นแถวยาวเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้างยาวมากกว่าขนาดบอดี้กีตาร์ประมาณ 1 นิ้ว ใช้แม็กเย็บกระดาษติดกันให้มีความแข็งแรง ลองเอาตัวกีตาร์มาคว่ำหน้าลงว่าขนาดพอดีไหม
  3. ตรงส่วนที่เป็นปลายฟิงเกอร์บอร์ด ใช้คัตเตอร์หรือกรรไกรปาดกระดาษลังให้เป็นส่วนเว้าพอดีขนาดฟิงเกอร์บอร์ด
  4. เอาแผ่นพลาสติก (อย่าลืมเช็กรูรั่วให้ดี) ห่อรอบบอดี้กีตาร์ โดยคลุมจากด้านหน้า (ท็อป) โอบไปด้านหลัง แล้วใช้กระดาษกาวยึดไว้ให้แน่นหนา ดูให้ดีว่าไม่มีช่องให้น้ำเข้าถึงตัวกีตาร์ พักรอไว้
  5. เอาแผ่นพลาสติกปูในกรอบกระดาษ ค่อยๆเทน้ำใส่ สัก 1/3 ของความสูงขอบ
  6. ผสมปูนพลาสเตอร์เทตามไปตามสัดส่วนที่ระบุข้างถุง ในตอนแรกพยายามอย่าให้เนื้อปูนข้นไปเพราะมันจะแข็ง ให้ค่อยๆเพิ่มปูนและน้ำให้ได้สัดส่วนพอเหมาะ จนระดับปูนพลาสเตอร์สูงขึ้นประมาณขอบกระดาษลังที่บากทำร่องฟิงเกอร์บอร์ดเอาไว้
  7. พอระดับความสูงและความข้นได้ที่แล้ว ให้ค่อยๆ วางบอดี้กีตาร์ลงไปโดยคว่ำส่วนท็อปลงและกดให้ตัวกีตาร์จมลงในเนื้อปูน ขั้นตอนนี้ต้องรวดเร็วเพราะถ้าปูนข้นได้ที่แล้ว อีกไม่กี่นาทีมันจะแข็งตัว และถ้ามันแข็งตัวไปก่อนที่เราจะวางกีตาร์ลงไป นั่นก็คือ เจ๊ง ทำอะไรไม่ได้ ต้องเริ่มหล่อพิมพ์ใหม่หมด ควรกดบอดี้ให้ส่วนท็อปจมลงไปให้หมด
  8. ทิ้งไว้อย่างนั้นประมาณ 1 วัน
  9. เอากีตาร์ออก แกะกระดาษที่ติดขอบบอดี้ออก เก็บเศษปูนชิ้นเล็กๆที่ปริแตกในพิมพ์ออก แล้วยกพิมพ์ไปเก็บไว้ เราจะหยิบมาใช้อีกทีเมื่อเสร็จขั้นตอนการแปะวีเนียร์แล้ว
ปูนเริ่มเข้มได้ที่แบบนี้ ต้องรีบเอากีตาร์มาวางนะครับ ต้องเร็ว อย่ามัวช้า เพราะถ้าปูนแข็งตัวไปก่อน เท่ากับงานเสียเลยครับ
กดลงไปลึกๆครับ ระวังเศษปูนกระเด็นเลอะหลังกีตาร์ด้วยครับ
ได้แล้วครับแม่พิมพ์อัดวีเนียร์ ที่ส่วนเว้าโค้งรับกับบอดี้ SE 7 สาย งานหล่อปูนหยาบไปหน่อยแต่ผมก็โอเคนะสำหรับงานแรกและไอเดียที่ตัวเองคิดขึ้นได้

2.3ติดวีเนียร์

เมื่อแม่พิมพ์พร้อมแล้ว ต่อไปเราก็มาติดวีเนียร์บนท็อปกีตาร์กันครับ

ขั้นตอนการแปะวีเนียร์สไตล์ของผม มีดังนี้ครับ

  1. เอาบล็อกแม่พิมพ์ออกมาวางรอไว้ ควรวางในที่ที่ไม่เกะกะกีดขวางผู้อื่น เนื่องจากกีตาร์และพิมพ์จะต้องอยู่ตรงนั้นต่อไปอีกเป็นวัน ทำความสะอาดในเบ้าพิมพ์ให้ดี อย่าให้มีเศษปูนตกค้างอยู่ เสร็จแล้วเอาแผ่นพลาสติกสะอาดๆ มาปูรองในเบ้า พักรอไว้
  2. ตัดแผ่นวีเนียร์ ไม่ต้องให้เสมอขอบพอดีเป๊ะ แต่เหลือไว้นิดหน่อยประมาณไม่เกินความกว้างของแม่พิมพ์ (ซึ่งก็คือความหนาของกระดาษลังที่โอบรอบบอดี้ไว้ตอนทำพิมพ์) พักรอไว้
  3. บีบกาว Elmer กระจายทั่วท็อป แล้วใช้ลูกกลิ้งทาสีกลิ้งทับกาวให้กระจายทั่วผิวท็อปอย่างทั่วถึง
  4. แปะวีเนียร์ลงไปด้วยความระมัดระวัง กดวีเนียร์ให้ติดท็อปให้เต็มแผ่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่อย่าเสียเวลานานเกิน เดี๋ยวกาวแห้ง เพราะเราไม่ได้จะติดวีเนียร์ด้วยการใช้มือกดอยู่แล้วครับ
  5. คว่ำหน้าท็อปกีตาร์ลงในบล็อกที่ทำความสะอาดและวางรอไว้แล้ว ตอนวางก็เล็งให้ดีว่าทุกส่วนลงตรงพิกัดของมัน
  6. หาอะไรหนักๆ มาทับไว้ ทิ้งไว้อย่างนั้นสัก 1 วัน
  7. เมื่อเวลาผ่านไปครบ 1 วันแล้ว ค่อยๆ เอากีตาร์ขึ้นมา ใช้เครื่องมือตัดขอบวีเนียร์ส่วนเกินให้ชิดขอบท็อปที่สุด ระวังเครื่องมือตัดกินขอบไม้ด้วยล่ะ
  8. ถึงเราจะทากาวทั่วแค่ไหน ถึงเราจะมีแม่พิมพ์รับส่วนโค้ง และถึงแม้เราจะใช้น้ำหนักกดทับมากเพียงใด อย่างไรเสีย มันก็มีโอกาสเกิดจุดที่กาวติดไม่สนิทได้ ให้เราเช็กงานดีๆ โดยเฉพาะบริเวณขอบๆ ว่าตรงไหนวีเนียร์ติดไม่สนิทบ้าง เมื่อเจอแล้วให้หาวัสดุแข็งๆ แบนๆ เช่น การ์ดเก่าๆ ป้ายกาวทีละน้อยๆ แล้วสอดกาวเข้าไปแปะข้างใต้วีเนียร์เพื่อซ่อมแซมจุดที่กาวติดไม่สนิท แล้วใช้ปากจับงานหรือ clamp (ใช้แค่แบบพลาสติกตัวเล็กๆก็พอ) มาหนีบตรงที่ทากาวไว้ให้ตลอดแนว อ้อ ในขั้นตอนนี้ควรวางกีตาร์บนโต๊ะตัวเล็กๆที่มีขอบไม่หนา, แท่นรอง, ฯลฯ หรือ platform อื่นใดที่สามารถเป็นที่ให้ clamp จับยึดไว้ได้ด้วยครับ เมื่อหาที่รองหนีบตัวกีตาร์ได้แล้ว ทากาวแล้ว หนีบไว้แล้ว ก็ทิิ้งไว้ ให้เวลาการแปะและหนีบของแต่ละจุดไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง ทั้งนี้ ผมคิดว่า ยิ่งเรามีจำนวน clamp และมีที่รองหนีบที่พอดีขอบตัวกีตาร์มาก งานก็จะยิ่งเสร็จเร็ว เพราะเราซ่อมงานได้ทีละหลายๆจุด ไม่ต้องรอจุดละ 12 ชั่วโมงแบบผมเพราะ clamp มีไม่พอ
  9. เมื่อติดกาวซ่อมทุกจุดจนติดแน่นเรียบร้อยทั้งผืนดีแล้ว ก็ใช้กระดาษทรายความละเอียดประมาณเบอร์ 1-2 ขัดลบขอบวีเนียร์ที่ยังเป็นเหลี่ยมคมจากเครื่องมือตัด และใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียดขึ้นขัดอีกที เพื่อความสมูธ ใช้มือลูบแล้วไม่สะดุด
ลูกกลิ้งทาสีสำคัญมากนะครับ มันช่วยเกลี่ยกาวให้เสมอกันได้แบบเป๊ะเว่อร์
เกลี่ยกาวแล้ว ก็แปะวีเนียร์ครับ
ด้านหลังผมลงแค่เชลแลคย้อมไม้ไว้ เพราะไม่ชอบการทำสีทึบครับ
ดูสิ ว่าต้องลงทุนขนาดไหนกับการแปะวีเนียร์ 555

2.4 ตัดแต่งขอบวีเนียร์ส่วนเกิน และซ่อมจุดที่กาวไม่ติด

หลังจากผ่านไปหนึ่งวัน ผมก็ยกเอาทุ่นน้ำหนักทั้งหลายออกเพื่อแต่งขอบวีเนียร์ส่วนเกินด้วยเครื่องเจียสายอ่อน เครื่องมือเอนกประสงค์ที่ผมใช้บ่อยที่สุดในโปรเจคท์

ผมใช้สว่านเอนกประสงค์ใส่ใบตัดในการตัดขอบวีเนียร์ส่วนเกินครับ

จากนั้นก็เอากระดาษที่เคยมาร์คจุดเจาะรูต่างๆไว้ มาใช้ ผมมาร์ครูสกรูยึดกรอบปิคอัพไว้ด้วยตามปกติ แต่ผมจะไม่เจาะรูกรอบปิคอัพนะ เพราะจะลองติดปิคอัพแบบ direct mount ดู อิๆ

เนื่องจากมีขอบวีเนียร์บางส่วนไม่ติดกับท็อป (ผมคิดว่าน่าจะเกิดจากแม่พิมพ์ที่ผมทำค่อนข้างหยาบ หรือไม่ก็พลาสติกที่หุ้มตัวกีตาร์นั้นหนาและแข็งเกินไปจนทำให้วีเนียร์ไม่ได้รับแรงกดเต็มที่) ผมจึงติดกาวซ่อมแซมจุดที่วีเนียร์ไม่ติดกาวในขั้นตอนการกดแม่พิมพ์ แล้วใช้ clamp พลาสติกที่สั่งซื้อมาจาก Lazada หนีบติดไว้กับขอบโต๊ะ ถ้าใครจะใช้วิธีแบบผม แนะนำให้หาแท่นวางที่ดีกว่าโต๊ะนะครับ ขอบโต๊ะแบบของผมมันทั้งหนา ทั้งไม่โค้งตามสรีระของตัวกีตาร์ จึงทำงานค่อนข้างลำบาก

ขั้นตอนนี้ใช้เวลาถึง 3-4 วัน เป็นการเสียเวลาเกินคาดเพราะนอกจากแท่นวาง (โต๊ะ) ที่ไม่รับกับขอบตัวกีตาร์แล้ว ผมยังมี clamp ไม่มากพอที่จะหนีบซ่อมงานทุกจุดพร้อมๆกันในคราวเดียวได้ ต้องทยอยทำทีละจุด หนีบจุดนึงรอ 1 วัน ถ้าผมมี clamp มากกว่านี้ก็จะทำขั้นตอนนี้ได้เร็วขึ้น เพราะมีหลายจุดที่ต้องติดกาวใหม่ และแต่ละจุดก็ต้องหนีบ clamp แบบเรียงติดกัน ซ่อมจุดนึงใช้แทบหมดสต๊อก 10 ตัว

เมื่อติดกาวซ่อมแซมตามขอบวีเนียร์จนแน่ใจว่าแข็งแรงทุกจุดแล้ว จึงค่อยจัดการขัดแต่งขอบวีเนียร์ส่วนที่ยังคมอยู่ครับ ในรูปนี้ผมเอาขวดน้ำมาพันกระดาษทรายเพื่อขัด cutaway scoop

เสร็จเรียบร้อยแล้วครับสำหรับงานติดวีเนียร์ในสไตล์แอดมินหมู

ติดกาวขอบและขัดแต่งมุมแล้วครับ

นอกจากแปะวีเนียร์ท็อปแล้ว ยังจำที่ผมบอกว่าจะแต่งหัวกีตาร์ด้วยได้มั้ยครับ ผมสั่งวีเนียร์ไม้ Indian rosewood จาก Aliexpress มาแปะด้วย อันนี้แปะไม่ยาก แต่ความยากอยู่ที่วีเนียร์มันเปราะมาก แตกง่าย ต้องค่อยๆตัด ค่อยๆขัด ใช้เครื่องเจียสายอ่อนแต่งขอบเหมือนท็อปเช่นกันครับ

ที่จริงการแปะวีเนียร์ที่ headstock นี่ ผมทำตั้งแต่ตอนเอากีตาร์ไปขัดสีแล้วนะครับ (ถ้าจำไม่ผิด ตอนนั้นวีเนียร์แปะท็อปยังมาไม่ถึง เลยแปะหัวกีตาร์ล่วงหน้าไปก่อน) แต่ผมนำเนื้อหามาไว้ในตอนที่ 2 นี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นงานประเภทเดียวกันครับ

ตัดขอบส่วนเกินออกแบบหยาบๆ เสร็จแล้วก็เปลี่ยนหัวเครื่องเจียสายอ่อนจากใบตัดให้เป็นใบขัดกลมๆ เพื่อขัดเก็บขอบในรูลูกบิด

อันนี้เก็บขอบแบบหยาบๆ แล้ว

นอกจากนี้ด้านหน้า ผมก็ขัดให้กินขอบเข้าไปเล็กน้อย เพื่อให้ดูเหมือนมีขอบบางดิ้งธรรมชาติ นอกจากนี้ ผมเห็นวีเนียร์มันเหลือ เลยเอาไปแปะฝา truss rod cover ด้วย เปลี่ยนจากพลาสติกดำๆ ให้ดูกลมกลืนกับ headstock ก็สวยงามไปอีกแบบนะครับ

เก็บละเอียดต่อ ผมขัดให้กินขอบเข้าไปเล็กน้อย เพื่อให้ดูเหมือนมีขอบบางดิ้งธรรมชาติ

สำหรับขั้นตอนการแปะวีเนียร์ทั้งท็อปและ headstock ก็จะมีประมาณนี้นะครับ สิ่งที่ท้าทายที่สุดของขั้นตอนนี้แน่นอนก็คือการแปะวีเนียร์บนท็อป ผมก็ไม่รู้ตัวเองคิดวิธีนั้นได้ไง แม้งานแม่พิมพ์ออกมาไม่สวยเป๊ะพอดีอย่างงานทำ mold ในระดับอุตสาหกรรม แต่นั่นก็เพียงพอต่อโปรเจคท์นี้ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไอเดียของผมจะช่วยให้โปรเจคท์ของเพื่อนๆ ที่สนใจจะทำบ้าง เป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ต่อยอดสร้างงานของตัวเองต่อไปครับ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจอยากรู้จักกีตาร์ Paul Reed Smith ผมขอเชิญเข้ากลุ่ม PRS Thailand (ไม่ใช่เพจร้านของตัวแทนจำหน่าย) ที่นี่เรามี PRS แจ่มๆ มาโชว์มาขายเพียบ คลิกเลยครับ