PRS Anniversary Guitars ตอนที่ 5: 35th Anniversary (2020) รุ่น 35 ปี รอบนี้เน้นตัดคอยล์

ผมเคยเล่าเกี่ยวกับกีตาร์ที่ PRS ผลิตขึ้นเพื่อฉลองครบรอบการก่อตั้งแบรนด์ไปตั้งแต่ครั้งแรก (10th Anniversary) จนถึงปีที่ 30 ซึ่งหากนับตั้งแต่รุ่นฉลอง 20 ปีเป็นต้นมา (เมื่อปี 2005) PRS จะทิ้งช่วงระยะห่างการฉลองครบรอบช่วงละ 5 ปี ทุกรุ่น anniversary ก็จะมีรูปลักษณ์หรือสเปคที่แตกต่างจากตัวปกติ

วันนี้ผมจะขอนำเสนอรุ่นฉลอง 35 ปีนะครับ

จากวันวานสู่วันนี้ ปีที่ 35

ผมเองรู้จักแบรนด์นี้มานาน ผมมองปีที่ 35 เป็นเสมือนการครบรอบ 10 ปีของ PRS ยุคใหม่ เพราะผมมองว่า PRS มาถึงจุดเปลี่ยนในช่วงราวๆ ปี 2010 หลายสิ่งที่ผมเคยรู้จักเกี่ยวกับแบรนด์นี้ในช่วงปี 90s-2000s ถูกเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นสุ้มเสียง งานอินเลย์ ระบบไฟฟ้า การเคลือบ ฯลฯ ผมขอสรุปความเปลี่ยนแปลงของ PRS ในปีที่ 35 เป็นประเด็นๆ ตามมุมมองของผมตามนี้นะครับ:

โทนเสียง

ถ้าให้พูดคร่าวๆ คือคาแรคเตอร์เสียงกีตาร์ร็อคกีตาร์วัยรุ่น เป็นกีตาร์โทนวินเทจนิ่มนวลดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น สิบปีที่ผ่านมานับจากปี 2010 แทบไม่มีกีตาร์รุ่นใดที่สร้างมาเพื่อตอบสนองแนวดนตรีแบบเมทัลดุดัน เข้าปีที่ 35 ก็ยังอยู่ในทิศทางสไตล์วินเทจไม่เปลี่ยนแปลง ปิคอัพโทนเสียงวินเทจ เอาท์พุทกลาง-ต่ำ ที่ตั้งชื่อรุ่นด้วยตัวเลข ค.ศ. นับตั้งแต่ 57/08, 59/09, 53/10 จนมาถึง 58/15, 85/15 ที่เปิดตัวเมื่อปี 2015 จนบัดนี้ก็ยังใช้อยู่ และยังคงเอกลักษณ์ปิคอัพ “ฟิตเต็มช่อง” สำหรับรุ่นที่ไม่มีฝาครอบ

นับจากปี 2010 กีตาร์ที่เรียกได้ว่า “แรง” มีเพียงรุ่น Tremonti และ Floyd Custom 24 เท่านั้น ในปี 2015 มีการเปิดตัวรุ่น Mark Holcomb limited และมีเวอร์ชัน SE ในปีต่อมา ตามมาด้วยรุ่น CE 24 Dustie Waring ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเล็กน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับกีตาร์หลายสิบรุ่นที่เกิดขึ้นตลอดสิบปีที่ผ่านมา ชัดเจนว่าแบรนด์นี้ไม่คิดจะทำตลาดแนวเพลงสไตล์เมทัลสายปั่นสายดรอปเท่าไหร่นัก

Mark Holcomb กับกีตาร์ PRS SE รุ่นลายเซ็นของตัวเอง

กีตาร์ในไลน์ผลิตล่างๆ อย่าง SE และ S2 ก็มีการอัพเดทปิคอัพตามเกรด core แต่เป็นปิคอัพที่ผลิตในเกาหลี

นอกจากนี้ PRS ก็มีการออกแบบปิคอัพหน้าตาแปลกๆ ซึ่งใช้ในกีตาร์กลุ่ม specialty อย่าง Signature Limited, Paul’s Guitar, 408 ซึ่งปิคอัพพวกนี้ได้รับการออกแบบรูปทรงใหม่หมด โดยมีสองขนาด ขนาดเล็กเรียกว่า Narrow 408 ติดตั้งที่ตำแหน่ง neck (สำหรับกีตาร์รุ่น Paul’s Guitar ใช้ Narrow ทั้งสองตำแหน่ง) มีหน้าปิคอัพแคบกว่า humbucker ปกติเพื่อลดปัญหาย่านต่ำ-กลาง บวม ส่วนตำแหน่งบริดจ์ออกแบบให้มีหน้ากว้างขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่รับการสั่นของสาย ให้ได้เสียงที่เต็มกว่า humbucker ขนาดปกติ ปิคอัพพวกนี้จะมากับระบบตัดคอยล์แบบเฉพาะ ซึ่งผมจะขอพูดในส่วนถัดไป

PRS 408 Artist Package สี Blue Fade สังเกตขนาดและรูปทรงของปิคอัพทั้งสองตำแหน่งนะครับ

ระบบไฟฟ้า

PRS มีแนวคิดเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เริ่มจาก pickup selector แบบหมุน ที่เรียกว่า Rotary ที่ลุงพอลได้ไอเดียมาจากซีเลคเตอร์ของเบสและเริ่มใช้ตั้งแต่ก่อนก่อตั้งแบรนด์ในปี 1985 และมีใช้ในรุ่น Custom 24 25th Anniversary (ปี 2010) เป็นรุ่นสุดท้าย

จากนั้นมาเพื่อนๆ ก็จะเห็นรุ่น Custom ตัวอเมริกามากับ PU selector แบบ blade 5 ทางคล้ายๆกีตาร์ Fender (แต่เดินวงจรไม่เหมือนกันนะครับ) ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2011 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสาวกรุ่นเก๋าบางคนก็บอกว่าดูไม่สวย ไม่ค่อยมีเอกลักษณ์อย่างสมัยเป็น Rotary แต่สำหรับผมเองซึ่งเคยมี CU24 ปี 2013 มาก่อน อยากบอกว่า สวิทช์ใบมีด 5 ทางบ้านๆ นี่แหละ แสนจะใช้ง่าย ใช้สะดวก สับเปลี่ยนตำแหน่งได้ไวเหมือนเล่น Fender โดยไม่ต้องมะงุมมะงาหรากับการจับ Rotary knob แล้วลื่นหลุดมือ และไม่ต้องไว้เล็บเพื่อเกี่ยว Push/pull tone knob อีกด้วย ใครจะมองยังไงก็แล้วแต่ แต่ผมว่า 5 way blade selector คือสุดยอดของความสะดวกแล้ว แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนนะว่า 5 way blde เดินสายไม่เหมือน Rotary หรือพูดอีกอย่างว่า การผสมคอยล์แบบแก๊ก 2-4 ของโรตารี่หายไปจากการใช้สวิทช์แบบใหม่นี้

ในช่วงที่ PRS เปิดตัวสวิทช์แบบห้าทางบ้านๆ ให้กับรุ่น Custom นั้น ก็ได้เปิดตัวซีเลคเตอร์แนวคิดใหม่สำหรับกีตาร์กลุ่ม specialty ทั้งหลาย (specialty เป็นคำเรียกกีตาร์แนวคิดใหม่ของ PRS เช่น 513, Paul’ Guitar, 408, 509 ฯลฯ) ที่นำเสนอระบบตัดคอยล์แบบใหม่ใช้สวิทช์ mini toggle อันเล็กๆสองอันไว้ตัดคอยล์ humbucker แยกอิสระทั้งตัวหน้าและหลัง มีการเพิ่ม coil อีก 1500 รอบไว้ในวงจร ซึ่งเมื่อเราสับสวิทช์ตัดคอยล์ก็จะมีการเรียกใช้ output จากขดลวด 1500 รอบนี้เพื่อชดเชย output ที่หายไปจากการตัดคอยล์ ทำให้ระดับความดังไม่ลดลงไปแต่ยังได้เสียง single coil PRS ใช้ระบบไฟฟ้าแบบบนี้ตั้งแต่ปี 2010 ในรุ่น Private Stock Signature และเริ่มขยายไปสู่อีกหลายรุ่นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเกรด core อย่าง 408, Paul’s Guitar, 509 หรือแม้แต่เกรด SE อย่าง SE Paul’s Guitar จนมาถึงรุ่นฉลอง 35 ปีทั้งหลายก็ยังชูจุดขายเป็นสวิทช์แบบนี้ ทุกตัว

คลิกอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสวิทช์แบบต่างๆ ของกีตาร์ PRS ได้ที่นี่ครับ

สารเคลือบผิว (finish)

PRS รุ่นผลิตอเมริกา มีปัญหาโลกแตกในเรื่องชั้นเคลือบ polyester ที่พ่นทับด้วย acrylic lacquer ที่มักมีอาการขึ้นฝ้าซึ่งเกิดกับกีตาร์ปีเก่าๆ ช่วงก่อนปี 2011 นั้น เมื่อ PRS เปลี่ยนสูตรการพ่นเคลือบเป็น V12 ปัญหานั้นก็หายไป แต่ก็เลิกใช้ราวๆช่วงปี 2016-2017

ในปี 2020 ก็ได้อัพเดทการเคลือบใหม่อีกครั้ง โดยจะทยอยเปลี่ยนการพ่นเคลือบกีตาร์ในเกรด core เป็นไนโตร (nitro over cellulose: CAB) ให้ครบทุกรุ่นภายในปี 2020 ซึ่งการเคลือบเช่นนี้จะส่งผลอย่างไร แตกต่างจากที่ผ่านๆ มาอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป เท่าที่ผมอ่านรีวิวจากต่างประเทศที่ได้ซื้อ PRS สูตรเคลือบใหม่นั้น สรุปได้ว่าการเคลือบแบบใหม่มีความเงาสะท้อนแสงมากกว่า ดีดเสียงเปล่าๆ (ไม่เสียบแอมป์) ดังกังวานมากขึ้น และอาจจะทำให้กีตาร์เบาลงด้วยเมื่อเทียบกับกีตาร์รุ่นเดียวกัน สเปคไม้เดียวกันของปีก่อนๆ แต่ข้อหลังนี้ผมไม่แน่ใจว่ามันจะมีผลขนาดนั้นมากไปกว่าไม้มั้ยนะครับ

PRS 35th Anniversary มีรุ่นอะไรบ้าง

  1. SE 35th Anniversary Custom 24
  2. S2 35th Anniversary Custom 24
  3. 35th Anniversary Custom 24
  4. Private Stock 35th Anniversary Dragon

CU24 รุ่นฉลอง 35 ปี มีตั้งแต่เกรดล่างสุดคือ SE จนถึง core นะครับ รายละเอียดก็แตกต่างกันไปตามเกรดกีตาร์ ส่วนมังกร 35 ปีมาใน Private Stock grade กีตาร์ที่ผลิตฉลอง 35 ปีทุกรุ่น ผลิตจำนวนจำกัดครับ

SE 35th Anniversary Custom 24

SE 35th Anniversary สี Black Gold Burst
ฝาปิดที่ขันคอสกรีนโลโก้ 35 ปี
แน่นอนว่า ปี 2020 PRS SE ไม่ได้ผลิตที่เกาหลีแล้ว สำหรับรุ่น 35 ปีนี้ผลิตที่โรงงาน Cort สาขาอินโดนีเซีย
สี Faded Blue Burst
  • Model: 35th Anniversary Custom 24
  • Body : Mahogany, multi piece
  • Top : bevelled maple with quilted maple veneer
  • Neck : maple, 3 pieces
  • Neck profile : Wide thin
  • Headstock veneer : none
  • Headstock decal : Paul Reed Smith SE signature
  • Truss rod cover text : screened 35th Anniversary logo
  • Fingerboard : Rosewood
  • Fingerboard inlays : Old school birds, SE abalone
  • No. of frets : 24
  • Scale length : 25″
  • Tuners : PRS designed
  • Nut : plastic
  • Bridge : PRS designed tremolo
  • Pickups : PRS TCI ‘S’ (black bobbins)
  • Controls : 1 vol, 1 tone, 3 way toggle switch, 2 mini toggle switches
  • Available colors: Black Gold Burst (3,500 produced), Faded Blue Burst (3,000 produced)
  • Manufacturer : Cor-Tek, Indonesia
  • ราคา : 31,430 บาท

SE Custom 24 รุ่น 35 ปี เป็น SE anniversary รุ่นแรกที่เอาระบบไฟฟ้าสไตล์ Paul’s Guitar มาใช้ กลายเป็น SE CU24 ที่มี 8 เสียง ปิคอัพ TCI ‘S’ และสวิทช์ตัดคอยล์ตัวเล็กๆ 2 ตัว ทำงานร่วมกันให้เสียง single coil ที่ฟังดูเต็ม วอลุ่มดรอปน้อยเพราะมีการชดเชย output ในวงจรเมื่อมีการตัดคอยล์ จากที่ผมทดลองเล่น SE รุ่นนี้ ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นกีตาร์ที่แรงต่ำ เล่นคลีนหรือแตกไม่มากจะเหมาะที่สุด

นอกจากระบบไฟฟ้าที่ต่างจาก SE CU24 ตัวปกติแล้ว ก็ยังได้ฝา TRC สกรีนโลโก้ 35 ปีด้วย ก็สวยงามแปลกตาดี เพราะปกติ anniversary guitar ทุกๆปีที่ผ่านมาไม่เคยเขียนอะไรเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ที่ตัวกีตาร์ นอกจากนี้อินเลย์นกก็อัพเกรดเป็นนกอบาโลนสีรุ้งแบบเดียวกับ SE Paul’s Guitar ด้วย

ในส่วนของไม้ ทุกอย่างก็เหมือน SE Custom ปกตินะครับ บอดี้มาฮอกกานี ท็อปเมเปิลแปะวีเนียร์เฟลม คอเมเปิล บอร์ดโรสวูด

SE 35th ผลิตจำนวนจำกัด เปิดตัวด้วยสี Black Gold Burst จำนวน 3,500 ตัว และในเวลาต่อมาไม่นานก็เปิดตัวสีฟ้า Faded Blue Burst อีก 3,000 ตัว รวม SE35th ที่ผลิตทั้งสิ้น 6,500 ตัว ราคามือหนึ่งในบ้านเรา ร้าน Music Collection (ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของไทย) และ CT Music สนนราคาอยู่ที่ 31,430 บาท

S2 35th Anniversary Custom 24

S2 35th Anniversary CU24 สี Elephant Grey
  • Model: S2 35th Anniversary Custom 24
  • Body : Mahogany, 1 piece
  • Top : bevelled maple
  • Neck : Mahogany, scarf-joint 3 pieces
  • Neck profile : Pattern Regular
  • Headstock decal : PRS signature, metal decal
  • Truss rod cover text : 35th Anniversary logo
  • Fingerboard : Indian Rosewood
  • Fingerboard inlays : Old school birds, S2 synthetic
  • No. of frets : 24
  • Scale length : 25″
  • Tuners : PRS S2 Low-mass Locking, brass shafts
  • Nut : PRS USA composite
  • Bridge : PRS designed tremolo, steel block
  • Pickups : PRS 85/15 ‘S’ set
  • Controls : 1 vol, 1 tone, 3 way toggle switch, 2 mini toggle switches for coil-splitting
  • Control knobs : PRS Lampshade
  • Accessory : S2 gig bag
  • ราคา : 58,000 บาท

CU24 เวอร์ชันฉลอง 35 ปีนั้นมาในไลน์ผลิต S2 ด้วย S2 นั้นเป็นไลน์ผลิตในโรงงาน PRS ที่อเมริกา โนเดียวกันกับที่ผลิตตัวแพงๆ หลักแสนหลักล้านนั่นแหละ แต่มีการปรับสเปคเพื่อให้สามารถขายได้ในราคาเพียง 5-6 หมื่นบาท

แล้ว S2 ปรับเปลี่ยนสเปคยังไง? ต่างจากไลน์ core USA ตรงไหบ้าง? คลิกอ่านได้ที่นี่ครับ

S2 35th CU24 ก็มาในบอดี้สไตล์เฉพาะของไลน์นี้ คือบอดี้บางกว่า core USA CU24 ไม้หลังเป็นมาฮอกกานีชิ้นเดียว (SE ต่อ 3 ชิ้น) ไม้ท็อปปาดเหลี่ยมมุมไม่เกลาส่วนโค้ง คอมาฮอกกานีมีการต่อคอแบบ scarf joint ใช้อะไหล่ผสมระหว่างของ SE และของ core USA และแน่นอน มากับปิคอัพและระบบไฟฟ้าตัดคอยล์อิสระแบบเดียวกับ SE 35th รวมผสมเสียงได้ 8 ออพชัน

S2 35th CU24 ใช้ปิคอัพ 85/15 S ซึ่งผมลองเทียบกับ TCI ‘S’ แล้ว พบว่า 85/15 S แรงกว่าเล็กน้อย เล่นเสียงแตกสนุกกว่า ยิ่งได้ไม้บอดี้ชิ้นเดียว รฝคอมาฮอกกานี (SE 35th คอเมเปิล) งานพ่นเคลือบที่บางกว่า รวมถึงการ set up ที่ไว้ใจได้จากโรงงาน PRS USA แล้ว ก็บอกได้ว่า S2 35th ให้ทั้งเสียงและสัมผัสที่เหนือกว่า นอกจากนี้ผมสังเกตว่า S2 35th หลายตัวที่เข้าศูนย์ไทย มักจะมากับลายไม้ที่สวยผิดหูผิดตาแทบจะเป็น 10 top ของไลน์ core USA ได้เลย ทั้งๆที่โดยปกติแล้ว S2 ไม่คัดเกรดลายไม้ จึงกล่าวได้ว่า S2 35th เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากครับ

PRS S2 35th Anniversary Custom 24 ผลิตจำนวนจำกัด 3,500 ตัว ราคาตัวแทนไทย 58,000 บาท

35th Anniversary Custom 24 (core USA)

  • Model : 35th Anniversary Custom 24
  • Body : Mahogany 1 piece
  • Top : Figured maple, 10 top optional
  • Neck : Mahogany
  • Neck profile (s) : Pattern Regular
  • Scale length : 25″
  • Number of frets : 24 medium-jumbo
  • Fingerboard : Indian rosewood
  • Fingerboard inlay : Old school birds, ripple abalone
  • Headstock veneer : Rosewood
  • Headstock inlay : Small Eagle, ripple abalone
  • Truss rod cover text : 35th Anniversary logo
  • Tuners : PRS Phase III locking, faux bone buttons
  • Bridge : PRS Gen III Tremolo
  • Pickups : TCI-tuned 85/15 (with neck pickup reversed)
  • Electronics : 3 way toggle, 2 mini toggle switches, 1 Volume, 1 Tone
  • Hardware :
    • Regular figured top – nickel plated
    • 10 Top – hybrid
  • Finish : Nitro over cellulose (CAB)
  • Accessory : hardshell case

สำหรับไลน์ผลิต core ซึ่งเป็นระดับเรือธงของ PRS นั้น ในเวอร์ชั่นครบรอบ 35 ปีนี้ก็คล้ายๆกับ S2 คือชูจุดขายเรื่องระบบไฟฟ้าตัดคอยล์แยก humbucker (true single coil) แต่ต่างกันที่ตัว core 35th นั้น ปิคอัพดป็น 85/15 USA ที่ผ่านการ “จูนเสียง” ด้วยกระบวนการ TCI (Tuned Capacitance and Inductance) ที่ PRS เคลมว่าเป็นกรรมวิธีที่สามารถปรับเสียงปิคอัพให้ “เป๊ะ” อย่างที่ต้องการ ซึ่งกระบวนการโดยละเอียดทำอย่างไรนั้นก็ไม่เป็นที่เปิดเผย ปิคอัพ humbucker ตัว neck (bass position) กลับแถวหมุดสกรูไว้ด้านในตามสไตล์การวางปิคอัพแบบรุ่น Paul’s Guitar/408 ตัวปิคอัพ (pickup bobbins) หน้าโค้งรับเรเดียสฟิงเกอร์บอร์ด และมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมพอดีโพรง cavity พอดี ไม่สามารถใส่ฝาได้ วิธีใช้งานระบบตัดคอยล์ของ core ก็เหมือนกับ SE,S2 คือสับสวิทช์เล็ก ลง = Humbucker, ขึ้น = Single coil จะว่าไปชุดปิคอัพแบบนี้ ที่ติดตั้งอยู่กับกีตาร์ CU24 แบบนี้ มันก็แทบไม่ต่างอะไรกับกีตาร์รุ่น Custom 24-08 โมเดล 2019 นะครับ 🤔

PRS รุ่น Custom 24-08

ถัดจากระบบไฟฟ้า ความพิเศษที่มีเฉพาะไลน์ core คือความพรีเมี่ยมของไม้ งานประดับ และการพ่นเคลือบ เริ่มจากคอของ core CU24 35th ที่ทำจากไม้มาฮอกกานีเลื่อยแบบ quarter sawn ชิ้นเดียว (มีการต่อไม้ชิ้นเล็กๆแค่ตรงปีกหัว) ที่หัวกีตาร์มีอินเลย์นกอินทรีตัวเล็ก (Pre-factory small eagle inlay) จำลองดีไซน์กีตาร์ PRS ยุคที่ยังทำมือก่อนตั้งแบรนด์ วัสดุทำจาก ripple abalone ล้อตามสไตล์ปีเก่า ลูกบิด Phase 3 แต่เปลี่ยนใบเป็นกระดูกเทียม

อินเลย์นกเปลี่ยนจาก J. Birds ของ CU24 core มาเป็นนกเต็มตัววัสดุเดียวกับอินเลย์ small eagle ไม้ท็อปมีออพชัน 10 Top ให้เลือก ซึ่งถ้าเป็น 10 Top อะไหล่จะอัพเกรดจากชุบนิเกิล เป็นนิเกิลผสมทอง ที่เรียกว่า hybrid hardware

การเคลือบก็อัพเดทใหม่ เป็นไนโตรสูตรเฉพาะของ PRS เป็นครั้งแรกของยี่ห้อนี้ที่ใช้สูตรเคลือบแบบไนโตรในสายการผลิตแบบ mass production ซึ่ง PRS จะทยอยพ่นเคลือบแบบไนโตรในกีตาร์ทุกรุ่นที่ผลิตในอเมริกาตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป

Private Stock 35th Anniversary Dragon (Dragon 2020)

  • Model : Private Stock 35th Anniversary Dragon (Dragon 2020)
  • Body : African Ribbon Mahogany, 1 piece, McCarty thickness
  • Top : Figured maple, Private Stock grade
  • Neck : Chaltecoco
  • Neck profile (s) : Pattern
  • Scale length : 25″
  • Number of frets : 22
  • Fingerboard : Ziricote
  • Fingerboard inlay : 35th Anniversary Dragon วัสดุ  Green Ripple Abalone, Green Abalone คัดเกรด, Black Mother of Pearl, Stabilized Sand-Shaded Holly, Red with Gold Vein Recon Stone, Raffir Stripes Black, Black and Red Raffir Aluminum Wave, อะคริลิคลายอบาโลน, โคเรียน Nocturne, รวมถึงโอปอลสังเคราะห์หลากสีสัน เช่นสี Blue Pacific, Citrine, และสีเปลวไฟ
  • Headstock veneer : Ziricote
  • Headstock inlay : Outline Private Stock Eagle, วัสดุในตัวนกทำจาก black raffir เส้นขอบทำจาก ripple abalone
  • Truss rod cover material and inlay : Ziricote Dragon Flame
  • Tuners : PRS Tweaked Phase III locking, ziricote buttons
  • Bridge : PRS Stoptail
  • Pickups : TCI
  • Electronics : 3 way toggle, 1 Volume, 1 Push/pull Tone for coil splitting
  • Hardware : Smoke black (รมดำ)
  • Color : Frost Bite Dragon’s Breath
  • Finish : Hi gloss Nitrocellulose
  • Accessory : Private Stock 35th Anniversary hardshell case
  • No. made : 135
  • ราคาในไทย : ประมาณ 610,000 บาท

และแล้วก็มาถึงรุ่นใหญ่สุดของกีตาร์ฉลอง 35 ปี PRS ด้วย Dragon 35th Anniversary กีตาร์มังกรรุ่นที่ 9 จากค่ายลุงพอล ผลงานการสร้างของแผนก Private Stock ที่ปีนี้เล่นใหญ่ใช้ไม้หายาก chaltecoco มาทำคอ ซึ่งเป็นไม้ที่ให้โทนใกล้เคียงกับไม้ pernambuco ไม้สุดแรร์ที่ใช้ทำคันชักไวโอลิน Stradivarius (ปัจจุบัน PRS ไม่มีอออพชันไม้ pernambuco ให้สั่งแล้ว แม้จะเป็น PS ก็ตาม) แล้วใช้ไม้ ziricote ทำฟิงเกอร์บอร์ดและ headstock veneer

เนื่องจากมันใช้พื้นฐานจากรุ่น McCarty บอดี้จึงหนากว่าตระกูล core Custom เล็กน้อย ไม้ท็อปใช้เมเปิลลายเฟลมคัดลายที่ดีที่สุดมาให้ตามเกรดกีตาร์ ทำสีเทาดำที่เรียกว่า Frostbite Dragon’s Breath ซึ่งคำว่า Dragon’s Breath เป็นชื่อเรียกเทคนิคการทำสีที่มีโทนเข้มอยู่ด้านข้าง โทนอ่อนอยู่ด้านในซึ่งจะค่อยๆบานออกทางท้ายบอดี้ ดูคล้ายกับ “มังกรพ่นไฟ” ซึ่งจะว่าไปก็เข้ากับธีมของกีตาร์ดี งานเคลือบของมังกร 35 ปีเป็นไนโตรนะครับ ไม่มีปัญหาฝ้ากินเหมือนมังกรปีเก่าๆ ยุค 2000s

แต่เชื่อว่าหลายคนคงสนใจกับอินเลย์มังกรพ่นไฟบนฟิงเกอร์บอร์ดมากกว่า มันเป็นผลงานการออกแบบของ Jeff Easley เจ้าเก่า เป็นรูปมังกรทอดตัวตามแนวยาวของฟิงเกอร์บอร์ดมีเอฟเฟคท์พ่นไฟที่กินพื้นที่ถึงฝา truss rod cover งานอินเลย์มังกรใช้วัสดุนานาชนิดจากธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นเปลือกหอย อัญมณี รวมถึงวัสดุสังเคราะห์ต่างๆ

ระบบไฟฟ้าของมังกร 35 ปีถือว่าน่าสนใจ เพราะในท่ามกลางรุ่นฉลอง 35 ปีระดับราคารองๆลงไป ต่างมุ่งนำเสนอระบบตัดคอยล์ 8 เสียง แต่เจ้านี่กลับทำตรงกันข้าม คือต่อวงจรแบบรุ่น McCarty ที่ต้องดึง Tone knob เพื่อตัดคอยล์ ให้ control layout ที่คลาสสิคเรียบง่าย ในขณะที่ปิคอัพใช้รุ่น TCI หน้าแคบ เหมือน Paul’s Guitar เป๊ะ

PRS Private Stock 35th Anniversary Dragon ผลิต 135 ตัว ส่งขายทั่วโลก ราคาราวๆหกแสนบาทไทย แต่ถึงมันจะมีราคาสูงและผลิตจำนวนน้อยแค่ร้อยต้นๆ แต่เท่าที่ผมทราบ ประเทศไทยมีเข้ามาราวๆ 10 ตัวเห็นจะได้นะครับ

สำหรับ PRS รุ่นฉลองครบรอบ 35 ปีก็มีรายละเอียดตามนี้ เพื่อนๆ ที่สนใจอยากรู้จักแบรนด์ PRS ให้มากขึ้น สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ของผม หรือเข้าร่วมกลุ่ม PRS Thailand ได้ครับ คลิกเลย