S2 Custom ต่างจาก Custom มาตรฐาน ยังไงบ้าง

สวัสดีครับ วันนี้จะขอพูดถึงกีตาร์ PRS Custom ในสายการผลิตของ S2 ตามที่เคยสัญญาไว้ไว้ในบทความแรก เรื่องความเป็นมาของกีตาร์ PRS นะครับ

 

ซีรี่ส์ S2 นั้นเริ่มผลิตในปี 2013 เพื่อสร้างสายการผลิตกีตาร์ใน USA ในราคาที่ถูกลงจนอยู่ระหว่างรุ่นเกาหลีกับ USA Core line ในการจะทำเช่นนั้นได้ PRS ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่แทบทั้งหมด เพื่อเซฟวัสดุ แรงงาน ตลอดจนเวลาผลิตที่สั้นลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของ Core จนมี cost efficiency ที่มากพอจนสามารถดัมพ์ราคาได้นั่นเอง

ชื่อ S2 มาจาก Stevensville 2 หมายถึงผลิตในโรงงาน PRS ที่เมือง Stevensville เหมือนพวก Core แพงๆ ทั้งหลายนั่นแหละ แต่แยกไลน์ผลิตออกมา เสมือนเป็นไลน์ที่ 2 ของโรงงานแห่งนี้

PRS S2 มีหลายรุ่นนะครับ
– S2 Custom: S2 Custom 22, S2 Custom 22 Semi-hollow, S2 Custom 24
– S2 Standard: S2 Standard 22, S2 Standard 24
– S2 Singlecut: S2 Singlecut, S2 Singlecut Semi-hollow, S2 Standard
– ทรงอื่นๆ: S2 Starla, S2 Mira, S2 Vela,

 

ผมคงเขียนเกี่ยวกับ S2 Custom เป็นหลักนะครับ เพราะน่าจะเป็นรุ่นที่เพื่อนๆ ให้ความสนใจมากที่สุด แต่จะ S2 ตัวไหนก็ผลิตด้วยกรรมวิธีใหม่นี้เหมือนกัน

กรรมวิธีการผลิตที่ PRS ต้องปรับใหม่สำหรับ S2

มีดังนี้ครับ

BODY/TOP

sweetwater.com

– บอดี้มาฮอกกานี

– ไม้ท็อป อาจเป็นจุดที่สังเกตง่ายที่สุดของซีรี่ส์นี้ เนื่องจากแม้จะยังใช้ไม้มาฮอกานีทำ back  เกรดเดียวกันกับ core models แต่ในส่วนของไม้ท็อปซึ่งเป็นไม้เมเปิลนั้น ใช้ไม้เกรดเดียวกันกับในรุ่น CE ซึ่งไม่เน้นลวดลายสวยงามเท่าไรนัก

– จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือไม้ท็อปจะเป็นแผ่นราบๆ มีความหนาครึ่งนิ้ว (12.7 มิลลิเมตร) หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของท็อปของ Core ซึ่งหนา 1 นิ้วเต็ม (25.4 มิลลิเมตร) ไม่มีส่วนโค้งเว้า โดยจะใช้วิธีการ bevel ปาดมุมเหลี่ยมของท็อป เพื่อช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตทั้งในส่วนของค่าวัสดุ การใช้เครื่อง CNC รวมถึงเวลาที่ต้องใช้ในการขัดกระดาษทรายด้วยมือนั้นก็ลดลงด้วย จากเดิม Core series ที่อาจต้องใช้เวลาขัดกระดาษทรายนานถึงตัวละ 75 นาที ก็จะลดลงเหลือไม่เกิน 20 นาที

– ไม่มีขอบไบดิ้ง (คงไม่รู้จะไปโชว์ขอบตรงไหน ก็เล่นปาดมุมไม้ท็อปทิ้งไปหมดแล้ว)

– ถ้าเป็นพวก S2 Standard บอดี้ก็จะไม่มีท็อปเมเปิ้ล แต่ก็ยังปาดมุมบอดี้ลักษณะเดียวกันอยู่ดี

– ถึงแม้การปาดมุมท็อปแบบนี้มันจะดูไม่สวยอย่าง Core หรือแม้แต่ SE แต่ผลดีอย่างหนึ่งคือช่วยให้มีความสบายมากขึ้น เนื่องจากส่วนที่ปาดไปนั้นเอียงทำมุมรับกับแขนมากกว่านั่นเอง (ทีแรกผมไม่คิดว่ามันจะมีผลอะไร แต่อ่านเจอคอมเมนท์จากลูกค้าบางคน เขาก็ชอบแบบนี้เหมือนกันนะครับ)

NECK

– กระบวนการสร้างส่วนนี้น่าสนใจมาก และเป็นกรรมวิธีที่ PRS ไม่เคยใช้มาก่อน กล่าวคือแต่เดิม ไม้คอที่ในซีรี่ส์ผลิตอื่นๆ จะเป็นชิ้นเดียว แต่ใน S2 มีการใช้แผ่นไม้มาฮอกานีความหนา 1.5 กับ 3 นิ้วหลายๆชิ้นมาติดกาวประกบกันตามยาวเพื่อเตรียมทำคอ จากนั้นตัดส่วนปลายให้เฉียงได้องศาที่กำหนด แล้วเอาไม้ส่วนปลายที่ถูกตัดออกไปนั้น มา “หงาย” แล้วทากาวประกบกับส่วนคอตรงรอยตัด เพื่อ “ทำเป็นส่วนหัว (headstock)” ผมอาจจะอธิบายเข้าใจยากสักหน่อย ลองดูภาพประกอบแบบบ้านๆ ในส่วนของการต่อหัวของ S2 นี้ดูครับ

(1) สมมติว่าในรูปนี้คือไม้ที่เตรียมจะทำคอ และมองจากด้านข้างนะครับ (ขออภัยครับ ผมทำกราฟิค 3D สวยๆ ไม่เป็น)

(2) ตัดไม้ชิ้นนี้ลงไป แบบเฉียงๆ กลายเป็นไม้สองชิ้น

(3) พลิกหงายไม้ชิ้นทางขวา แล้วจับเอียงลง แบบนี้

(4) สุดท้ายเอาไม้ชิ้นทางขวาที่เอียงไว้ ไปติดกับชิ้นทางซ้าย โดยทากาวยึดไว้ด้วยกัน ก็จะได้คอกับหัวแบบนี้ครับ
คลิปนี้แสดงวิธีการต่อหัวของ S2 ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ลองดูตรงนาทีที่ 1:32 นะครับ ไม้ชิ้นสั้นๆที่เขาใช้ป้ายกาวแล้วเอามาประกบ นั่นแหละ ส่วนหัวที่ถูกตัดออกมาจากไม้ชิ้นยาวที่เป็นส่วนคอ

อันนี้รูปการต่อหัว S2 ซึ่งทากาวยึดชิ้นงานไว้แล้ว สังเกตรอยต่อหัวบริเวณที่ clamp บีบไว้นะครับ

สำหรับคนที่อาจจะเหวอๆ อยู่ว่าแม่งต่อไม้ง่ายๆแบบนี้แล้วมันจะทนแค่ไหนวะ ทาง PRS ยืนยันว่า ความทนทานจากการทำคอ-ต่อหัวด้วยวิธีนี้ที่เรียกว่า scarf joint โดยเฉพาะตรงหัวนั้นถือว่ามีความทนทานไว้ใจได้ เพราะผ่านการทดสอบจุดต่อหัวด้วยแรงกดขนาด 1200 ปอนด์ต่อตารางนิ้วมาแล้ว เรื่องนี้ Jack Higginbotham ประธานบริษัท PRS กล่าวว่า แรงยึดเกาะของกาวที่ใช้ต่อไม้คอ S2 นั้น แข็งแรงยิ่งกว่าไม้ซะอีก หรือพูดอีกอย่างนึงคือ หากมีแรงกดมาพยายามทำให้คอกีตาร์ S2 หัก ส่วนที่จะหักคือไม้ ไม่ใช่ตรงรอยต่อกาว

ในส่วนของ neck heel ตรงจุดต่อคอกีตาร์นั้น ก็สร้างขึ้นจากไม้ชิ้นเล็กๆ แกะขึ้นรูปให้เหมือน heel ยาวไปจนเป็นลิ่มเข้าคอ แล้วก็ใช้ส่วนนี้แหละทำการเข้าคอแบบ set neck สาเหตุที่ต้องเอาไม้ชิ้นเล็กมาสร้างฐานคอแบบนี้ก็เพื่อเซฟปริมาณการใช้ไม้แผ่นใหญ่ จะได้ลดต้นทุนไม้ลง (ถ้าเป็น Core series คอกับ neck heel เป็นไม้ชิ้นเดียวกันเลย ไม่ทำ heel ขึ้นเองแบบนี้)

 ลองสังเกตตรง neck heel ของรูปข้างล่างนี้ดีๆนะครับ ระหว่างตรง heel กับตรงคอส่วนเหนือ heel ขึ้นไป ลายเสี้ยนไม้ไม่เหมือนกัน นั่นเพราะส่วน heel ถูกสร้างขึ้นจากไม้คนละชิ้นจากส่วนคอ แล้วเขาเอาไปแปะกาวประกบกันอีกทีอย่างที่ผมบอกไป

เพื่อให้เห็นภาพว่า คอของ S2 ช่วยเซฟไม้ได้มากกว่า Core ขนาดไหน เรามาดูขนาดไม้เตรียมทำคอของทั้งสองไลน์เลยครับ ไม้ท่อนทางซ้ายคือไม้คอ S2 ซึ่งมีความหนานิ้วครึ่ง ส่วนท่อนทางขวาคือของ Core หนาสามนิ้ว ที่ไม้คอ S2 ใช้บางขนาดนั้น ก็เพราะส่วนของฐานคอที่ปกติจะยื่นออกมาจากคอนั้น ไม่มีแล้ว เพราะเขาจะหาไม้ชิ้นเล็กๆมาทากาวแปะทำฐานคอแทน ตามที่ผมอธิบายไว้ในย่อหน้าที่แล้ว

– Inlay เป็นนก old school birds ใช้วัสดุพลาสติกเหมือนที่ทำ texture ให้ดูคล้ายเปลือกหอยมุก โดยสำหรับ S2 รุ่นที่ไม่ใช่ Custom กับ SC นั้น อินเลย์ก็จะดาวน์ลงไปเป็น Dot (Dot ไม่ใช่ Moon นะครับ)

 

 
สำหรับ S2 รุ่นที่ไม่มีท็อปเมเปิล ก็จะไม่ได้นก แต่เป็น dot แทน แบบ S2 Vela ตัวนี้

– Scale length กีตาร์ในซีรี่ส์ S2 จะใช้คอที่มีความยาวสเกล 25 นิ้วเท่ากันหมด ไม่ว่าจะถอดแบบมาจากซีรี่ส์ Core ที่มีสเกลต่างกันก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น รุ่น S2 Starla ที่ถูกปรับเป็นเวอร์ชั่นสเกล 25 นิ้ว จากเวอร์ชั่นต้นฉบับที่สเกล 24.5 นิ้ว เหตุผลก็เหมือนเดิม คือเพื่อลดต้นทุนการผลิต การมีคอสเกลเดียวก็จะช่วยลดเวลาในการผลิตได้เยอะ เพราะไม่ต้องแยกไลน์ผลิตย่อยสำหรับสเกลสั้นกับสเกลปกติ ก็แค่ทำแบบเดียวยกล็อตไปเลย จบ

– Neck shape เชพคอของกีตาร์กลุ่มนี้ จะเป็นโปรไฟล์ Pattern Regular ทั้งหมดเช่นกัน คอแบบนี้หนากว่า Pattern Thin แต่ก็บางกว่า Pattern (ชื่อ Pattern เฉยๆ จะเป็นคอหนา หรือที่เมื่อก่อนเรียกว่า Wide Fat) ผมคิดว่าที่เขาใช้โปรไฟล์นี้คงเพราะมันอยู่กลางๆระหว่างคอสำหรับคนมือใหญ่และคนมือเล็ก และเมื่อผลิตคอมาตรฐานโปรไฟล์เดียวกันทุกรุ่น ทั้งไลน์ผลิต ก็ช่วยลดต้นทุนเรื่องระยะเวลาการผลิตได้อีกเยอะ

– Fingerboard ใช้ไม้โรสวูดเกรดทั่วไป ไม่ใช่ Indian rosewood อย่าง Core

HEADSTOCK

ทำสีแมทช์กับบอดี้ ด้านหน้าประดับลายเซ็น Paul Reed Smith สีทอง ดูใกล้เคียงกับ Core line ช่วงก่อนปี 2014 ส่วนฝาปิด truss rod เอามาจาก Core

HARDWARES

อะไหล่บางส่วนที่ต้นทุนไม่สูงมากก็จะเอามาจาก core line เลย ส่วนอันไหนที่มีต้นทุนมากหน่อยอย่างบริดจ์ ก็จะยกของ SE มา และก็ยังมีอะไหล่บางอย่างมาเป็นครึ่งเกาหลีครึ่งอเมริกา

– Tuners ใช้ลูกบิดล็อกสายไม่โชว์เฟือง ดีไซน์คล้ายลูกบิดรุ่น Phase II ที่เคยติดตั้งมากับ core models ถึงปี 2010 แต่ลูกบิดล็อกสายของ S2 ผลิตในเกาหลี และใช้แกนพันสาย (shaft) เป็นทองเหลืองเหมือน core models ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทางโรงงานเองก็ให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ ที่มีผลต่อเสียง

– Nut ใช้ของ Core model

– Bridge เป็นของ SE เกาหลี ซึ่งบล็อกใต้คันโยก (tremolo block) เป็นบล็อคเหล็ก (steel block) รวมถึง saddle ด้วย ไม่ใช่ทองเหลืองอย่างของ Core ในส่วนของ S2 Singlecut ก็จะเป็นบริดจ์ PRS Stoptail ชิ้นเดียวเวอร์ชันเกาหลี ซึ่งถ้าเป็นโมเดล 2016 เป็นต้นมา จะมากับแซดเดิลทองเหลืองปรับได้ คล้ายของรุ่น Hollowbody II

– Control knobs ปุ่มควบคุม ยกมาจาก Core line

– แจ๊คเอาท์พุท เอามาจาก Core line

– ฝาปิดช่องคอนโทรลด้านหลัง ไม่ฝังตัว (not recessed) เสมอระนาบผิวบอดี้เหมือนพวก Core แต่จะ “แปะไว้บนผิวบอดี้” ดังนั้นฝาปิดโพรงมันก็จะปูดๆ สูงขึ้นมาจากระนาบของผิวบอดี้ ผมไม่รู้จะอธิบายยังไง ลองดูรูป S2 Custom รูปนี้อีกครั้งนะครับ

เรื่องฝาปิดไม่ฝังเนี่ย ก็น่าสังเกตอยู่อย่างนะครับ ว่า ถ้าเป็น SE Custom ฝาปิดโพรงวงจรมันฝังนะ เหลือตรงฝาปิดโพรงสปริงคันโยกที่ไม่ฝัง ซึ่งถ้าบังเอิญเป็น SE รุ่นที่ไม่มีคันโยก ด้านหลังบอดี้ก็จะเรียบสวยไม่มีแผ่นอะไรปูดออกมาเลย แต่พอเป็น S2 ดันไม่ยอมเก็บงานให้หมดซะงั้น

ELECTRONICS

– Pickups ทำที่เกาหลี โดยใช้ bobbins รูปร่างเหมือนปิคอัพกีตาร์ทั่วไป คือ ไม่เป็นทรงสี่เหลี่ยมฟิตพอดีช่องสไตล์ปิคอัพ core models ยุคใหม่ของ PRS ถ้านึกภาพไม่ออกก็ลองดูรูปนี้นะครับ เทียบระหว่างปิคอัพของ Core เจเนอเรชันล่าสุด กับปิคอัพเกาหลีของ S2

นอกจากนี้ยังมีการตั้งชื่อและดีไซน์คาแรคเตอร์เสียงล้อตามปิคอัพใน Core line เช่น S2 HFS, S2 Vintage Bass, S2 #7 และสำหรับรุ่น S2 Custom ที่ผลิตในปี 2017 นี้ ปิคอัพก็จะเป็น 85/15 “S” (ชื่อคล้ายๆปิคอัพใน core Custom) เป็นต้น

– Pickup selector สำหรับรุ่น S2 Custom ใช้ blade selector 3 ทาง มีปุ่ม Tone ตัดคอยล์ได้ ทำในเกาหลี

– ชุดวงจร ก็มาจากเกาหลีเช่นกัน ติดปิคอัพประกอบมาเสร็จ พร้อมติดตั้ง

 

FINISHING

ใช้กรรมวิธีทำสี-เคลือบเงาที่ลดต้นทุนลงมา แตกต่างจาก Core เนื่องจากงานบอดี้ของ S2 ไม่ได้รับการขัดกระดาษทรายที่พิถีพิถันเท่า Core

 

ACCESSORIES

– เคส เป็นกระเป๋าสะพาย (gig bag) แถมให้ ไม่ใช่กล่องแข็ง ซึ่ง gig bag ของ S2 จะต่างจากของ SE นะครับ คือ logo ยี่ห้อบนกระเป๋า S2 จะเป็นลายเซ็น Paul Reed Smith ไม่ใช่โลโก้ SE ตัวโตๆ

 

TONE

clip พี่พีทกับพี่เดี่ยว guitarthai.com อันนี้จะมีเวอร์ชั่นครบรอบ 30 ปี ซึ่งสิ่งที่เพิ่มเข้ามาคืออินเลย์ 30th Anniversary birds in flight แต่อินเลย์ก็ใช้วัสดุอะคริลิคสไตล์ S2 ปกติ เช่นเดียวกับส่วนประกอบอื่นๆที่ยังเป็นมาตรฐาน S2 แต่สำหรับเวอร์ชัน 30 ปี ยังใช้ปิคอัพ HFS + Vintage Bass version S2 นะครับ

แต่สำหรับรุ่นปี 2017 เป็นต้นมา จะเปลี่ยนปิคอัพเป็นรุ่น 85/15 “S” คล้ายรุ่น Core Custom 24 คลิปที่รีวิวปิคอัพใหม่นี้ผมหาไม่ค่อยเจอ (แม้แต่เว็บ PRS เองก็ไม่ทำ ตลกดี) เท่าที่เจอก็คงเป็นคลิปนี้ละครับ


PRICE

เริ่มตั้งแต่ประมาณสี่หมื่นบาทสำหรับ S2 Standard 24 Satin ไปจนถึง 57,000 บาท สำหรับ S2 Vela

 

VERDICT

PRS S2 Series ก็เป็น PRS made in USA ที่พยายามลดราคาขายลงจากระดับ Core โดยปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตต่างๆ และใช้อะไหล่เกาหลีเกือบทั้งหมดเพื่อลดต้นทุน แต่ยังคงมาตรฐานส่วนประกอบสำคัญๆ ที่ส่งผลต่อเสียงและการใช้งานเอาไว้ให้ใกล้เคียงกับรุ่น Core เช่น การใช้ไม้เมเปิลท็อปแท้ๆ (ไม่ใช่ veneer แบบ SE) การใช้ลูกบิดล็อกสายที่แกนทำจากทองเหลือง (แต่เป็นเวอร์ชั่นทำในเกาหลี) รวมถึงการใช้ soft case แทนกล่อง เป็นต้น ซึ่งถ้าใครไม่ตะขิดตะขวงใจเรื่องหน้าตาและมีงบประมาณไม่พอสอย Core line นั้น S2 ก็ถือว่าไม่ควรมองข้ามนะครับ

หรือมีอีกทางหนึ่งที่อยากแนะนำสำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังลังเลว่าจะซื้อ S2 Custom 24 มือหนึ่งดีไหม คือ ลองกัดฟันเก็บเงินเพิ่มอีกสัก 2-3 หมื่น แล้วจัด Core Custom 24 มือสองดูมั้ยครับ ถ้าทำได้ ก็ถือว่าจบเลยครับ ได้ PRS ตัวเรือธงหล่อๆ มาครอบครอง

เป็นยังไงบ้างครับสำหรับเรื่องราวของ PRS S2 ที่เอามาฝาก ถ้าสนใจก็ไปลองกันดูคับ แต่ผมขอแนะนำเพื่อนๆที่จะไปลองที่ร้าน ว่า ให้สังเกตฟีลเวลาจับคอว่าถนัดมั้ย และลองเทียบฟีลกับคอ pattern thin ของ Core Custom 24 ดูก่อน เพราะคอ S2 จะไม่ใช่โปรไฟล์ที่บางที่สุดของ PRS สำหรับคนที่ชอบคอบางๆอย่างผมอาจจะยังไม่ตอบโจทย์มากที่สุดครับ

********************************************

กลุ่ม Facebook แชร์ความรู้ PRS ครับ แอดมากันเลยจ้า 

https://web.facebook.com/groups/346587559155557/