PRS SE Signature Models – PRS SE รุ่นไหน ของใครบ้าง? (ตอนที่ 1)

ก่อนจะมี PRS SE signature models

แม้ Paul Reed Smith เป็นแบรนด์กีตาร์ที่สร้างตัวขึ้นจากการสร้างกีตาร์ทำมือตามสั่งและทำให้ศิลปินดังๆ ในยุค 80 ใช้เป็นคราวๆ ไป แต่บริษัทฯ ก็ไม่เคยมีสายการผลิตกีตาร์แบบ signature models หรือรุ่นลายเซ็นแบบ mass production จริงๆจังๆอยู่สิบกว่ากว่าปีกว่าจะมีรุ่น Santana signature ตัวแรกเมื่อปี 1995 ส่วนรุ่นราคาประหยัดอย่าง SE ไม่ต้องพูดถึง เพราะตอนนั้นไลน์ SE ยังไม่เกิด

ในช่วงยุคก่อนปี 2000 กีตาร์ PRS จึงเป็นกีตาร์หรูหราสุดไฮโซที่ช่างอยู่ไกลเกินเอื้อมของคนมากมาย ที่จริงในยุคก่อนปี 2000 นั้น PRS ก็เคยพยายามผลิตกีตาร์รุ่นที่ราคา “ถูกลงกว่า Custom” ออกมาขายอยู่บ้าง เช่น EG และ CE แต่ด้วยความที่เป็นแบรนด์ที่มุ่งผลิตแต่กีตาร์คุณภาพสูง ไม่ยอมลดเกรดตัวเองง่ายๆ คำว่าราคาถูกลงในพจนานุกรมของ PRS ยุคก่อนปี 2000 ก็ยังเป็นกีตาร์ที่แพงอยู่ดีเมื่อเทียบกับอีกหลายแบรนด์

จนในปี 2000 Carlos Santana มือกีตาร์ลาตินร็อคผู้โด่งดังแห่งยุค และเป็นผู้สนุบสนุนให้แบรนด์ PRS มีจุดยืนจนมั่นคงในปัจจุบัน ได้พูดคุยกับลุง Paul Reed Smith ว่า แบรนด์ PRS น่าจะมีกีตาร์ที่ราคาถูกกว่าที่ทำอยู่ ต้องถูกลงมากขนาดที่ว่าเด็กนักเรียนก็ยังพอครอบครองได้ ลุงพอลและทีมงานจึงกลับไปคิด วางแผน ออกแบบ กีตาร์ที่ลุงซานต้าให้แนวคิดว่าไว้ ว่าหน้าตาควรเป็นอย่างไร สเปคอย่างไร ราคาประมาณไหน และ “ต้องมีระยะห่างจากรุ่นผลิต USA มากเพียงใด” เพราะพนักงานของ PRS ในตอนนั้นต่างก็เป็นกังวลกันว่า ถ้าผลิตกีตาร์ราคาถูกออกมาแล้วจะทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์เสื่อมเสีย

จนกระทั่งปี 2001 SE รุ่นแรกก็ถือกำเนิดขึ้นโดย PRS ไปจ้างโรงงาน World Musical Instruments ที่เกาหลีใต้ให้ผลิตตามแบบและสเปคที่ได้กำหนดไว้ กีตาร์ SE รุ่นแรกนี้ยังเป็น PRS SE signature รุ่นแรกด้วย เพราะมันคือ SE Santana ของลุงซานต้านั่นเอง นับจากนั้น PRS ไลน์ SE ก็ค่อยๆ แตกหน่อออกผลออกดอกงอกรุ่นย่อยต่างๆมากมายหลายรุ่น เช่น SE Custom, SE Singlecut, SE มีการพัฒนาสเปคไปตามยุคสมัย และมีการจ้างโรงงานอื่นๆ นอกเหนือจากโรงงาน WMI ให้ร่วมผลิตด้วย แล้วแต่รุ่นของกีตาร์

แบรนด์ PRS กับศิลปินในสังกัด

ตัว endorser หรือศิลปินที่เข้ามามีสัญญาผลิต signature model มีมากหน้าหลายตา แต่ศิลปินที่มีรุ่นลายเซ็นอยู่กับแบรนด์นี้มานานแตะ 2 ทศวรรษมีเพียง 2 คนเท่านั้น คือลุง Carlos Santana และเฮีย Mark Tremonti ที่เหลือก็ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ละคนมีสัญญาโดยเฉลี่ยแค่ราวๆ 5 ปี

ผมมองว่า เครื่องดนตรีแบรนด์ PRS ไม่ใช่แบรนด์ที่มีศิลปินระดับรุ่นเก่ารุ่นตำนานมาเป็น endorser ความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับศิลปินจึงมักเป็นไปในลักษณะ “ตามยุคสมัย” กล่าวคือมักจะมีสัญญาผลิตรุ่นลายเซ็นในช่วงขาขึ้นของศิลปินคนนั้น เมื่อกระแสซาลงหรือศิลปินอยากย้ายค่าย ก็ต่างคนต่างไป แล้วก็รับศิลปินดาวรุ่งใหม่ๆ เข้ามา แต่ไม่ค่อยมีระดับ “ดาวค้างฟ้า” มาช่วยขายได้ตลอดอย่างแบรนด์ Fender หรือ Gibson แต่ผมกลับมองมุมบวก ว่า การที่ไม่มีศิลปินมาช่วยขาย มันทำให้กีตาร์แบรนด์นี้ต้องตั้งใจทำ ต้องพัฒนาสินค้าอยู่ตลอดเวลา เพราะความอยู่รอดของแบรนด์ขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้าของแบรนด์เองล้วนๆ ทำอะไรมักง่ายไม่ได้

และในเมื่อแบรนด์ PRS กับศิลปินมาเจอกันแบบ เก่าไป-ใหม่มา สี่ซ้าห้าปีก็จากไป จึงไม่แปลกอะไรที่กีตาร์รุ่นลายเซ็นหลายๆ รุ่นของค่ายนี้ไม่ทันเป็นที่จดจำ หรือคนที่จำได้ก็จะเป็นคนที่ติดตามกีตาร์ PRS หรือเป็นแฟนคลับศิลปินคนนั้นๆ อยู่แล้วซะมากกว่า เนิ่นนานผ่านไปกีตาร์ดีๆ พวกนี้ก็เลือนหายไปตามกาลเวลา ดังนั้น ผมเลยอยากรวบรวมกีตาร์ PRS SE signature รุ่นลายเซ็นศิลปินตั้งแต่รุ่นแรกถึงรุ่นล่าสุดให้เพื่อนๆ ได้ดูครบจบในเว็บเดียว ไล่ตามลำดับปีที่ศิลปินมาเข้าร่วมครอบครัว PRS ครบทุกคนตั้งแต่ SE signature ตัวแรกจนถึงปัจจุบันอย่างที่ไม่เคยมีที่ไหนทำ แม้แต่เว็บของ PRS

อ้อ ส่วนคนที่สงสัยว่าผมรู้ปีที่ผลิตกีตาร์ PRS SE ได้ยังไง สามารถศึกษาวิธีเช็กได้ที่นี่ ที่เดียวในโลกครับ

เอาล่ะ PRS SE signature ตอนนี่ 1 นี้ มีรุ่นของใครบ้าง ไปดูกันเลย

  • SE Santana (2001 – ปัจจุบัน)
  • SE Mark Tremonti (Creed, Alter Bridge) (2003 – ปัจจุบัน)
  • SE Billy Martin (Good Charlotte) (2004 – 2008)
  • SE Paul Allender (Cradle of Filth) (2008 – 2015)
  • SE Mike Mushok (Staind) (2009 – 2014)
  • SE Orianthi (2010 – 2014)

PRS SE Santana (2001 – ปัจจุบัน)

ลุง Santana กับกีตาร์ PRS SE รุ่นแรกของค่าย SE Santana ปี 2001
ตัวนี้ Santana USA ปี 2001 ครับ เทียบกับเวอร์ชัน SE แล้วแทบไม่เชื่อว่าเจ้าของลายเซ็นคนเดียวกัน
PRS SE Santana รุ่นแรกสุดคลาสสิค บิดาแห่ง PRS SE ทั้งปวง
PRS SE Santana เวอร์ชัน 2 เพิ่มปิคการ์ด แกะฝาครอบปิคอัพ
SE Santana เวอร์ชัน 3 กลับมาคราวนี้เปลี่ยนเป็นทรงซานตาน่า มีท็อปเมเปิล
SE Santana โมเดลล่าสุด 2017 ดูใกล้เคียงเวอร์ชัยอเมริกามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
  • Body
    • 2001 : all mahogany, non-contoured
    • 2002 – 2008 : contoured all-mahogany with black pick guard
    • 2011 – present : mahogany back, Santana shaped
  • Top
    • 2001 – 2008 : none
    • 2011 – present : maple with flamed maple veneer
  • Neck : mahogany
  • Neck profile : wide fat
  • Scale length
    • 2001 – 2008 : 25″
    • 2011 – present : 24.5″
  • Fingerboard : rosewood
  • Number of frets
    • 2001 – 2016 : 22
    • 2017 – present : 24
  • Fingerboard inlay
    • 2001 – 2008 : Diagonal stripe, pearloid
    • 2011 – present : synthetic old school birds
  • Fingerboard binding
    • 2001 : none
    • 2002 – 2008 : cream
    • 2011 – 2016 : none
    • 2017 – present : none
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text
    • 2001 – 2008 : Santana
    • 2011 – 2016 : SE Santana Model
    • 2017 – present : Paul Reed Smith SE Signature
  • Truss rod cover text
    • 2001 – 2008 : none
    • 2011 – 2016 : PRS
    • 2017 – present : Santana
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge
    • 2001 – 2008 : PRS SE Stoptail, tremolo optional
    • 2011 – present : PRS SE tremolo
  • Pickups
    • 2001 – 2008 : PRS designed
    • 2011 – 2016 : SE 245
    • 2017 – present : Santana “S”
  • Electronics : 3 way toggle, 1 vol, 1 tone
  • Hardware : nickel
  • Accessories : gig bag

PRS SE Santana คือกีตาร์รุ่นแรกของไลน์ SE ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ลุงซานต้าเสนอไอเดียกับลุงพอลราวๆปี 2000 ว่า แบรนด์ PRS น่าจะมีกีตาร์คุณภาพดีราคาประหยัดให้ลูกค้าที่รายได้ไม่สูงมากนักได้ซื้อหาหรือแม้แต่เด็กนักเรียนก็มีโอกาสครอบครองได้ ลุงพอลกับทีมงานก็ไปออกแบบกีตาร์ PRS ที่ราคาประหยัด พร้อมทั้งหาโรงงานที่จะมาผลิตตามแบบให้ เนื่องจากโจทย์ของลุงซานต้านั้น เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะผลิตในอเมริกา หรือถ้าได้ ก็คงต้องตัดทอนคุณภาพจนชื่อเสียงของแบรนด์เสื่อมเสีย

ในปี 2001 SE Santana ก็เปิดตัวด้วยดีไซน์ที่แสนจะเรียบง่าย และถ้าจะว่ากันตรงๆ ก็มีแค่ทรงกีตาร์เท่านั้นที่พอมีเค้าว่าเป็นยี่ห้อ Paul Reed Smith

PRS SE Santana 2001 ว่าแต่ ชื่อยี่ห้อ PRS อยู่ไหนครับ?

กีตาร์ SE เบอร์แรกนี้ บอดี้ทำจากไม้มาฮอกกานีล้วน แต่ไม่มีท็อปเมเปิลใดๆ บอดี้ด้านหน้าก็แบนเรียบสนิท ไม่มีแม้การปาด arm rest คอมาฮอกกานีโปรไฟล์อ้วน wide fat ฟิงเกอร์บอร์ดไม้โรสวูดสเกล 25 นิ้ว ต่างจากกีตาร์ลุงซานต้าของจริงที่สเกลสั้นแค่ 24.5 นิ้ว อินเลย์ฟิงเกอร์บอร์ดก็เป็นเส้นทะแยงมุมเลี่ยมด้วยวัสดุสังเคราะห์เทียมเปลือกหอยมุก (pearloid diagonal stripe) มีเฟรท 22 อัน ผิดจากต้นฉบับที่มี 24 ที่ว่ามานี้ช่างดูไม่เป็น PRS เสียเลย งั้นลองดูที่หัวกีตาร์ซิว่ามันเขียนอะไรไว้บ้าง ปรากฏว่าเราก็จะเจอแค่คำว่า SANTANA ตัวโตๆ และคำว่า SE ตัวเล็กๆ ห้อยอยู่ มองจากด้านหน้าไม่มีตรงไหนที่บอกยี่ห้อกีตาร์ตัวนี้

ระบบไฟฟ้าใช้ปิคอัพที่สั่งผลิตจากประเทศจีนซึ่งออกแบบโดย Rob Turner แห่งบริษัท EMG ปิคอัพรุ่นนี้มากับฝาปิดซึ่งดูเหมือนจะเสียงวินเทจ แต่ความจริงคือมันค่อนข้างแรง เพราะในตอนนั้นทาง PRS กลัวว่าถ้าจ้างฝั่งเกาหลีผลิตให้ อาจจะแรงไม่พอ โทนเสียงไม่ตรงใจ ปิคอัพของ SE Santana รุ่นแรกมากับชุดคอนโทรล 1 volume 1 tone ไม่มีตัดคอยล์ใดๆ ส่วนบริดจ์มีให้เลือกทั้งแบบ Stoptail และคันโยก

ผ่านไปเพียงปีเดียวหลังจากเปิดตัว PRS SE Santana เวอร์ชันแรก ในปี 2002 PRS ก็ประกาศเปิดตัวเวอร์ชัน 2 ทันที ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อย เช่น ปิคอัพรุ่นใหม่ที่ไม่มีฝาถูกออกแบบใหม่และสั่งผลิตในเกาหลี ปิคการ์ดแบบ 3 ชั้น (ดำ-ขาว-ดำ) มีเส้น binding ตั้งแต่ขอบฟิงเกอร์บอร์ดไปถึง headstock สเปคส่วนอื่นๆยังเหมือนรุ่นแรก SE Santana v. 2 เลิกผลิตไปในปี 2008

PRS SE Santana เวอร์ชันสองปี 2002 ที่ผลิตตามหลังเวอร์ชันแรกแค่ปีเดียว

ปลายปี 2010 PRS ประกาศชุบชีวิต SE Santana กลับมาใหม่เป็นโมเดล 2011 คราวนี้เรียกว่ายกเครื่องกันใหม่แบบไม่เหลือเค้าเดิมจากรุ่น 1-2 เพราะมากับรูปทรงที่คล้ายเวอร์ชัน USA คือเขาบนกับล่างสั้นๆ ลำตัวกลมๆ มีท็อปเมเปิลแปะวีเนียร์ลายเฟลม (มาสักที) ความยาวสเกลหดจาก 25 เหลือ 24.5 นิ้วเท่าเวอร์ชันต้นฉบับ แต่มี 22 เฟรท เช่นเดียวกับทรง headstock ที่ก็ยังใช้ทรงเดียวกับ PRS รุ่นอื่นๆ ที่ไม่ใช่หัวของรุ่น Santana USA แต่ถึงอย่างไร SE Santana v. 3 ก็ได้อินเลย์นก (วัสดุสังเคราะห์) ได้ปิคอัพใหม่ SE 245 ซึ่งออกแบบมาเพื่อกีตาร์ SE รุ่นสายวินเทจ และได้คันโยกเป็นบริดจ์มาตรฐาน ไม่มีออพชันอื่น ส่วนโลโก้บน headstock ยังเป็นแบบเก่าคือสกรีนชื่อรุ่น SE Santana ยังไม่มีลายเซ็นลุงพอลนะครับ

PRS SE Santana เวอร์ชัน 3 เปิดตัวปลายปี 2010 มาในทรวดทรงคล้าย PRS Santana core USA
แบบนี้ค่อยดูเป็น Santana หน่อย ว่ามั้ยครับ
เวอร์ชัน 3 ยังไม่มีลายเซ็นลุง Paul Reed Smith นะครับ แต่ก็ต่างจากเวอร์ชัน 1-2 เยอะ

ปลายปี 2016 PRS ก็ได้เปิดตัวสิ่งที่แฟนๆ ลุงซานต้าน่าจะรอคอยมานานแสนนาน นั่นคือ SE Santana โมเดล 2017 รุ่นปรับปรุ่งใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม

SE Santana v. 4
ปุ่มควบคุมถูกย้ายไปอยู่ด้านท้าย ตามแบบรุ่น Santana USA
24 เฟรทแล้วจ้า
ลายเซ็นลุงพอล อันนี้ไม่เหมือน Santana USA แต่ยังไงก็ดูสวยงามกว่าแบบเก่าอยู่ดี
เสียงปิคอัพใหม่ Santana “S” ครับ อ้วนๆ คมๆ

โดยพื้นฐานโครงสร้างยังเหมือนเวอร์ชัน 3 แต่เพิ่มเติมรายละเอียดสำคัญๆ ดังนี้ครับ

  • จำนวนเฟรทซอยเพิ่ม จาก 22 เป็น 24 เท่ากับรุ่นต้นฉบับ
  • ปิคอัพใหม่ Santana “S” ถอดแบบเสียงจากรุ่นต้นฉบับ ไม่แชร์ปิคอัพกับ SE รุ่นอื่นๆ เหมือนที่ผ่านมา
  • ปุ่ม control knobs ต่างๆ ย้ายไปวางไว้ด้านท้ายบอดี้ เหมือนรุ่น USA
  • headstock สกรีนลายเซ็นลุง Paul Reed Smith ส่วนฝา truss rod สกรีนคำว่า Santana ดูดีกว่าเดิมมากมาย

สำหรับ SE Santana v. 4 นี้ มีความใกล้เคียงกับรุ่นอเมริกาจนแทบไม่เหลืออะไรให้บ่นละ ทั้ง สเกล จำนวนเฟรท ลายเซ็น ไม้ อินเลย์นก จะผิดจากต้นฉบับไปก็คงเป็นทรง headstock กับโลโก้ “โอม” บนนั้น แต่พูดกันแฟร์ๆ SE จัดให้ขนาดนี้ผมว่ามันดีมากๆแล้ว และผมว่า v. 4 นี่คือ PRS SE Santana ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาละ

PRS SE Santana Standard (2014 – ปัจจุบัน)

PRS SE Santana เวอร์ชันแรก ใช้สเปคใกล้เคียงกับ SE Santana v. 3

ปี 2015 PRS เปิดตัว SE Santana Standard หน้าตาก็คล้ายๆกับ SE Santana version 3 – 4 ต่างกันที่บอดี้ทำจากไม้มาฮอกกานีล้วนๆ ทำสีทึบ มี 22 เฟรท ฟิงเกอร์บอร์ดมีเส้น binding ผลิตอินโดนีเซีย และราคาถูกกว่าแบบมีลายเฟลมมาก (ประมาณหมื่นกลางๆ) ซึ่ง SE Santana Standard ส่วนสเปคอื่นๆ เช่น ปิคอัพ โลโก้ มีการอัพเดทไปตาม SE Santana เวอร์ชัน 3-4

ในปี 2019 PRS ก็ยกเลิกไลน์ผลิต SE Santana Standard แล้วเปิดตัวรุ่นใหม่คือ SE Santana Singlecut Tremolo แทน

PRS SE Santana Singlecut Tremolo
(2019 – ปัจจุบัน)

เป็นทรง Singlecut ก็จริง แต่มี 24 เฟรทนะครับ
  • Body : all mahogany, Singlecut Trem shape
  • Neck : mahogany
  • Neck profile : wide fat
  • Scale length : 24.5″
  • Fingerboard : rosewood
  • Number of frets : 24
  • Fingerboard inlay : synthetic old school birds
  • Fingerboard binding : none
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text : Paul Reed Smith SE Signature
  • Truss rod cover text : Santana
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : PRS designed tremolo
  • Pickups : TCI “S”
  • Electronics : 3 way toggle on upper bout, 1 vol, 1 tone
  • Hardware : nickel
  • Accessories : gig bag

PRS เปิดตัว SE Santana ทรงใหม่นี้ในต้นปี 2019 พร้อมๆกับยกเลิกการผลิต SE Santana Standard อย่างเงียบๆ PRS SE Santana เวอร์ชันใหม่ในทรง Singlecut นี้มีที่มาจากกีตาร์ Private Stock ที่ผลิตให้ลุงซานตาน่าใช้เล่นคอนเสิร์ต (ไม่ได้ขายเป็น mass production) และมีการผลิตขึ้นจำนวนจำกัดเพียง 20 ตัวในโปรเจคท์ Guitar of the Month ประจำเดือนกันยายน ปี 2016

PRS Private Stock Santana Singlecut สีทองใช้ทองคำเปลวมาแปะนะครับ

ซึ่งในเวอร์ชัน SE นี้ บอดี้และคอของมันเป็นไม้มาฮอกกานีล้วนๆ ไม่มีเมเปิลปน เมื่อพูดถึงทรง singlecut เพื่อนๆคงนึกถึง รุ่น SE Tremonti และ SE 245 นะครับ แต่ SE Santana SC Trem มีข้อแตกต่างจากสองรุ่นนั้น คือ SE Santana SC Trem บอดี้จะบางกว่าสองรุ่นนั้นนะครับ นอกจากนี้ SE Santana ตัวนี้ยังมากับสเกล 24.5 นิ้วแต่ซอยเฟรทไป 24 ตำแหน่ง อินเลย์นก headstock มีลายเซ็น มีคันโยก สเปคโดยรวมคล้าย SE Santana ปกติ

แต่ที่ต่างไป คือ ระบบไฟฟ้า เพราะเจ้านี่มากับปิคอัพใหม่ รุ่น TCI “S” ที่มาของปิคอัพรุ่นนี้ คือมันถอดแบบมาจากกีตาร์ Paul’s Guitar (USA) เวอร์ชันสอง ที่มากับปิคอัพ TCI ซึ่งลุงซานต้าแกได้ลองแล้วชอบ เลยขอให้ทาง PRS ผลิตปิคอัพรุ่นดังกล่าวในเวอร์ชัน SE และติดตั้งลงในกีตาร์ SE รุ่นใหม่ของแกด้วย ปิคอัพ TCI ให้เสียงที่เน้นความชัดเจน คม ใส และโดยปกติปิคอัพรุ่นนี้จะตัดคอยล์ได้ แต่เวอร์ชันที่ติดมากับ SE Santana SC Trem นี้จะตัดคอยล์ไม่ได้นะครับ ในส่วนของปุ่ม volume และ tone ถูกวางไว้ด้านท้ายบอดี้เหมือน SE Santana v. 4 แต่สวิทช์ toggle นั้นอยู่ด้านบน ซึ่งสำหรับผมที่เห็นกีตาร์แบรนด์นี้มานานจะรู้สึกแปลกตากับการจัดวางองค์ประกอบของกีตาร์รุ่นนี้ มันเหมือนหยิบเอกลักษณ์ของกีตาร์ PRS หลายๆรุ่นมายำรวมกัน คือ knobs วางแบบนึง สวิทช์วางแบบนึง ทรงบอดี้มาแบบนึง จำนวนเฟรทมาอีกแนวนึง ฮ่าๆ แต่ก็ดีครับ แปลกใหม่ดี

นอกจากนี้ความ unique อีกอย่างหนึ่งของรุ่นนี้ก็ยังมี สีทอง Egyptian Gold (สีทองอียิปต์) ซึ่งเป็นการทำสีล้อตาม Private Stock Santana Singlecut limited นั่นเอง แต่สีทองของตัว PS นั้นได้มาจากการเอาแผ่นทองคำเปลวไปแปะบนตัวกีตาร์นะครับ

คลิกอ่านเรื่องราวของ PRS SE Santana Singlecut Tremolo แบบละเอียดๆ ได้ที่นี่ครับ

สำหรับ SE Santana เอาเฉพาะที่เป็น mass production หลักๆก็จะมีประมาณนี้นะครับ อาจจะดูเยอะหน่อย ก็ต้องเข้าใจเค้านิดนึง เค้าอยู่มานาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมากับ PRS เยอะกว่ารุ่นไหนๆ และอยู่มาตั้งแต่ก่อนแบรนด์ PRS จะจดทะเบียนเป็นบริษัทซะอีก มันก็ต้องมีการอัพเดทหลายครั้งเป็นเรื่องธรรมดา ฮ่าๆๆ

คู่มือนักล่า : เล่น version 3 (2011) หรือใหม่กว่า เพราะมีความเป็น Santana มากกว่ารุ่นก่อนๆ งานก็สวยกว่า แต่ถ้าเป็นไปได้ก็หาโมเดลล่าสุดที่หัวมีลายเซ็นลุงพอลไปเลย ครบสุดทั้งรูปทั้งเสียง

PRS SE Mark Tremonti (Creed, Alter Bridge)
(2003 – ปัจจุบัน)

Mark Tremonti อดีตมือกีตาร์วง Creed (คนวัย 30+ อย่างผมที่ทันยุค nu metal จะรู้จักวงนี้ดี) และสมาชิกปัจจุบันของวง Alter Bridge คือศิลปินสมาชิกค่าย PRS คนที่สองที่มีกีตาร์รุ่นลายเซ็นแบบเป็นทางการทั้งเกรด core USA และ SE โดยเปิดตัวในปีเดียวกันทั้งสองไลน์เมื่อปี 2001 นอกจากนี้ยังถือเป็น signature model รุ่นแรกของ PRS ที่มาในทรง Singlecut (หรือก็คือทรงคล้ายๆ Les Paul ของ PRS)

ตัวนี้คือ core Tremonti รุ่นแรก (2001) เป็นรุ่นที่สาวกตัวจริงต่างตามหาครับ

สำหรับ SE Tremonti หน้าตาและสเปคเป็นยังไง ผมสรุปย่อๆ ให้ดังต่อไปนี้ครับ

PRS SE Tremonti (original) (2001 – 2013)

  • Body : mahogany, 45.5mm thick, non-maple top
  • Neck : mahogany
  • Neck profile : wide fat
  • Scale length : 25″
  • Fingerboard : rosewood
  • Fingerboard inlay
    • 2000 – 2010 : dots
    • 2011 – 2013 : synthetic old school birds
  • Fingerboard binding : white plastic on some colors
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text : Tremonti SE
  • Truss rod cover text : PRS
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : SE stoptail
  • Pickups : PRS-designed, uncovered
  • Electronics : 3 way toggle on the upper bout, 2 vol, 2 tone
  • Hardware : nickel
  • Accessories : gig bag

PRS SE Tremonti เจเนอเรชันแรกมากับบอดี้มาฮอกทั้งดุ้น ไม่มีไม้ท็อปเมเปิล แม้จะมีบายดิ้งบนบอดี้แต่ก็เป็นบายดิ้งที่ทำขึ้น ไม่ใช่สีจากเนื้อไม้เมเปิล บอดี้ไม่หนามาก คือราวๆ 45 มิลลิเมตร หรือก็คือความหนาระดับเดียวกับ SE Singlecut นั่นแหละ คอมาฮอกโปรไฟล์หนา Wide fat ฟิงเกอร์บอร์ดโรสวูดมีบายดิ้งสีขาว (แต่บางสีก็ไม่มีบายดิ้ง) อินเลย์เป็นจุด dots แต่ได้รับการอัพเกรดเป็นนกในช่วงปี 2010 – 2011 บริดจ์เป็น PRS stoptail ชิ้นเดียว ที่ headstock สกรีนคำว่า SE Tremonti เพื่อแยกแยะกีตาร์รุ่นนี้ออกจาก SE Singlecut ลูกพี่ลูกน้องของมัน

PRS SE Tremonti (2017 – ปัจจุบัน)

แค่หัวลายเซ็นก็กินขาดแล้ว
  • Body : mahogany, 57 mm thick
  • Top : maple with flamed maple veneer
  • Neck : maple
  • Neck profile : wide thin
  • Scale length : 25″
  • Fingerboard : rosewood
  • Fingerboard inlay : synthetic old school birds
  • Fingerboard binding : none
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text : PRS SE signature
  • Truss rod cover text : Tremonti
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : tremolo with trem-up routing
  • Pickups : Tremonti “S”, uncovered
  • Electronics : 3 way toggle on the upper bout, 2 vol, 2 tone
  • Hardware : nickel
  • Accessories : gig bag

ผมข้ามรุ่นย่อยอื่นๆของ Tremonti ไลน์ SE มาที่โมเดล 2017 ซึ่งเป็นโมเดลล่าสุดเลยนะครับ สำหรับโมเดลนี้เพื่อนๆจะเห็นว่า หน้าตาและสเปคต่างจากเมื่อปี 2001 อย่างมากมาย ที่เห็นชัดๆเลยคือบอดี้หนามาก ใกล้เคียงกับตัวอเมริกา มีไม้ท็อปเมเปิลปาดมุม แปะวีเนียร์ลายเฟลมเจ็บๆ คอเมเปิลโปรไฟล์ Wide Thin บางลงปั่นสนุกขั้น บริดจ์เปลี่ยนจาก PRS Stoptail เป็นคันโยกแบบดึงได้ซึ่งทำงานเหมือนรุ่น USA ทุกประการ (ขาดไปแค่ลูกบิดล็อกสาย) ปิคอัพเปลี่ยนใหม่เป็นรุ่นของตัวเอง Tremonti “S” ซึ่งดุขึ้น แรงขึ้น สะใจกว่า SE Tremonti ทุกรุ่นที่เคยมีตลอด 16 ปี ที่ผ่านมา และจากที่ผมองของจริงมาผมคิดว่านี่แหละ คือ SE Tremonti เวอร์ชันที่ดีที่สุด มีความใกล้เคียงตัวอเมริกามากที่สุดแล้ว

PRS SE Tremonti Standard (2018 – ปัจจุบัน)

ถึง SE Tremonti Standard จะไม่มีไม้ท็อปสวยๆ แต่ก็ได้งาน binding หล่อๆ มาแทนนะครับ

ในปี 2018 PRS เปิดตัว SE Tremonti Standard ซึ่งจะว่าไปมันก็คือ SE Tremonti 2017 เวอร์ชันบอดี้มาฮอกกานีล้วนๆ ไม่มีไม้ท็อปเมเปิล ในส่วนของโครงสร้างก็เหมือนกับ SE Tremonti 2017 คือคอยังเป็นเมเปิลโปรไฟล์บาง และคันโยกแบบดึงได้ อินเลย์นกเหมือนเดิมแต่เพิ่มขอบบายดิ้งสีขาวที่ฟิงเกอร์บอร์ดพร้อมนัทสีครีมดูเข้ากัน คันโยกแบบดึงได้ ของดีจากรุ่นมีลายท็อปก็ถูกยกมาใส่ในเวอร์ชันบอดี้มาฮอกกานีนี้ด้วย

ทั้งหมดนี้มาในราคาแถวๆ 17500 บาท ซึ่งผมมองว่าโคตรคุ้มสำหรับ PRS ตัวหนึ่งเลย

ที่ผมเล่ามายังเป็นสรุปคร่าวๆนะครับ ยังมีหลายรายละเอียดปลีกย่อยของ SE Tremonti คลิกอ่านรายละเอียดความเป็นมาและพัฒนาการของกีตาร์ PRS Tremonti แบบครบๆ ทั้ง core USA รุ่นแรกจนถึง SE ปี 2019 ได้ที่นี่ครับ

คู่มือนักล่า : หา SE Tremonti โมเดล 2011 (SE Tremonti Custom) หรือใหม่กว่า จุดสังเกตง่ายๆ คือต้องมีคันโยก จะได้บอดี้หนา คอบาง มีท็อปเมเปิล ถ้าเป็นไปได้ให้หาตัวที่หัวมีลายเซ็น จึงจะครบสุด

PRS SE Billy Martin (Good Charlotte)
(2004 – 2008)

  • Body : mahogany, non-maple top
  • Neck : mahogany
  • Neck profile : wide fat
  • Scale length : 25″
  • Fingerboard : rosewood
  • Fingerboard inlay: Day-Glo Spooky Bat, green synthetic
  • Fingerboard binding : none
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text : Billy Martin SE
  • Truss rod cover text : PRS
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : SE stoptail
  • Pickups : PRS-designed, uncovered
  • Electronics : 3 way toggle, 1 vol, 1 tone
  • Hardware : matte black
  • Color : flat black
  • Accessories : gig bag

SE Billy Martin คือรุ่นลายเซ็นของมือกีตาร์วง Good Charlotte วงร็อกจากรัฐ Maryland บ้านเดียวกับลุงพอล กีตาร์รุ่นนี้ออกจำหน่ายในปี 2004 ช่วงเดียวกับที่ SE Custom เกิดขึ้น และเป็นปีที่ไลน์ SE เริ่มแยกรุ่น SE Standard ซึ่งเป็นบอดี้ไม้มาฮอกกานีล้วนๆ ออกจากรุ่น SE Custom ซึ่งมีการประกบไม้เมเปิลเป็นไม้ท็อป

สำหรับ SE Bily Martin นั้น ใช้พื้นฐานของ SE Standard แทบจะทั้งตัว เนื่องจากเป็นบอดี้มาฮอกกานีล้วน คอมาฮอกกานี บริดจ์ Stoptail และปิคอัพ PRS Designed ไม่ต่างอะไรจากกีตาร์ SE รุ่นอื่นๆในเวลานั้น แต่เอกลักษณ์ของรุ่นนี้ก็แน่นอนว่าคืออินเลย์ค้างคาวสีเขียวเก๋ๆ ที่กางปีกอยู่ระหว่างเฟรทที่ 11 – 13 ส่วนเฟรทอื่นๆ เป็น dot กลมๆ สีเขียววัสดุเดียวกัน อะไหล่สีดำด้านทั้งตัว ดูเข้ม ดุดัน

Billy Martin กับกีตาร์ SE ของเค้า สังเกตว่าตัวนี้มี 24 เฟรทนะครับ

คู่มือนักล่า : รุ่นนี้ all mahogany สีดำ อินเลย์เก๋ๆ บริดจ์ stoptail หาราคาหลักพันมาโมดิฟายเล่น ลง Seymour แจ่มๆ ก็น่าสนนะ

PRS SE Paul Allender (Cradle of Filth)
(2008 – 2015)

Paul Allender กับกีตาร์ PRS SE รุ่นลายเซ็นของตัวเอง
สีม่วง purple burst
ปีแรก ไม้ท็อปแบนๆ
Bats in Flight fingerboard inlay
ตัวนี้ปี 2013 ท็อปแผ่นหนามาพร้อมปิคอัพ EMG 81/89 แบบตัดคอยล์ได้
สีแดง scarlet red burst
ตัวนี้สี emerald green burst ปี 2010 ท็อปแบน ลายเฟลม
สี ghost burst
  • Body : mahogany
  • Top
    • 2008 – 2010 : flat maple top and quilted maple veneer
    • 2010 – 2012 : flat maple top and flamed maple veneer
    • 2012 – 2015 : bevelled maple top and flamed maple veneer
  • Neck : maple
  • Neck profile : wide thin
  • Scale length : 25″
  • No. of frets : 24
  • Fingerboard : rosewood
  • Fingerboard inlay : Bats in Flight, pearloid
  • Fingerboard binding : none
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text : Paul Allender SE Model
  • Truss rod cover text : PRS
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : PRS SE tremolo
  • Pickups :
    • 2008 – 2010 : PRS SE HFS (bridge) and SE Vintage Bass (Neck)
    • 2010 – 2015 : EMG 81TW (bridge), EMG 89 (neck)
  • Electronics :
    • 2008 – 2010 – 3 way toggle, 1 vol, 1 tone
    • 2010 – 2015 : 3 way toggle, 1 vol, 1 push-pull tone for EMG coil splitting
  • Hardware
    • 2008 – 2009 : gold
    • 2010 – 2015 : nickel
  • Accessories : gig bag
  • Colors : scarlet red burst, purple burst, emerald green burst, ghost burst
SE Paul Allender เวอร์ชันแรก ท็อปแบน ปิคอัพ SE HFS set

Paul Allender มือกีตาร์วง Cradle of Filth มีกีตาร์ PRS SE ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2008 หรือก็คือช่วงที่ PRS เพิ่งเปิดตัว PRS SE Custom 24 เป็นปีแรกๆ ซึ่ง SE Allender ก็ใช้พื้นฐานจากรุ่น SE CU24 คือบอดี้มาฮอกกานีมีไม้ท็อปเมเปิลแปะวีเนียร์ คอเมเปิล 24 เฟรท บริดจ์คันโยก ในช่วงสองปีแรกของไลน์ผลิตติดตั้งปิคอัพ SE HFS และลายวีเนียร์เป็นลาย quilted maple จนประมาณปี 2010 จึงเปลี่ยนปิคอัพ EMG 81TW/89 ตัดคอยล์ได้ และวีเนียร์ลายเฟลม รวมทั้งเพิ่มสีใหม่อีกสองสี คือ แดง scarlet red และเขียว emerald green burst ต่อมาในปี 2012 มีการปรับสเปคไม้ท็อปเมเปิล จากเดิมแบนเรียบไปเป็นท็อปที่หนาและปาดมุม ซึ่งก็เป็นการอัพเดทตาม SE Custom 24 เวอร์ชันใหม่นั่นเอง

แต่สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตาของรุ่น SE Allender เห็นทีจะไม่พ้นอินเลย์รูปฝูงค้างคาวกำลังบินที่เรียกว่า Bats in Flight ใช้วัดุเทียมมุก (pearloid)

SE Paul Allender อยู่ในไลน์ผลิตมานานประมาณ 7 ปีก็เลิกผลิตไปในปี 2014 เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เจ้าของลายเซ็นลาออกจากวง Cradle of Filth แม้จะมีอายุการผลิตของรุ่นนี้จะไม่ยาวนานเท่าพวก SE Santana และ SE Tremonti แต่ผมคิดว่า SE signature รุ่นนี้มีความโดดเด่นสะดุดตาและเป็นที่จดจำมากที่สุดรุ่นหนึ่งในบรรดา SE รุ่นลายเซ็นทั้งหมด

คู่มือนักล่า : หาโมเดล 2012 หรือใหม่กว่า เพราะได้ท็อปนูน กับ EMG ตัดคอยล์ได้

PRS SE Mike Mushok (Staind)
(2009 – 2014)

SE Mike Mushok เป็นบาริโทนนะครับ สเกลสายยาวเฟื้อย 27.7 นิ้ว
สีนี้เมื่อดูใกล้ๆ จะเห็นว่ามีประกาย metallic ด้วยนะครับ ไม่ใช่สีเทาเรียบๆ นอกจากนี้ knobs ของรุ่นนี้เป็นแบบโลหะ
บอร์ด ebony สีเข้ม ไม่มีอินเลย์ใดๆ
เส้นบายดิ้งสีขาวคลุมตลอดขอบ fingerboard ยาวไปถึง headstock
สีแดง vintage cherry
สี brown burst
  • Body : all mahogany with flat top
  • Body binding : white or cream
  • Neck wood : maple
  • Neck profile : Mike Mushok
  • Scale length : 27.7″
  • No. of frets : 22
  • Fingerboard wood : ebony
  • Fingerboard inlay : none
  • Fingerboard binding : white or cream
  • Headstock veneer : none
  • Headstock binding : white or cream
  • Headstock text : SE Mike Mushok
  • Truss rod cover text : none
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : string-through body stoptail
  • Pickups : PRS Designed with black rings
  • Electronics : 3 way blade, 1 vol, 1 tone
  • Hardware : nickel
  • Accessories : gig bag
  • Colors : silver burst, vintage cherry, brown burst

SE Mike Mushok กีตาร์ PRS รุ่นลายเซ็นของมือกีตาร์วง Staind เป็นกีตาร์ baritone รุ่นแรกของ PRS ที่ผลิตในแบบ mass production จุดเด่นของกีตาร์ประเภทนี้คือการใช้สเกลยาวพิเศษเพื่อรองรับสายขนาดใหญ่พิเศษและจูนสายต่ำมากๆ ผู้เล่นยังจับคอร์ดเหมือนกีตาร์หกสายปกติ เล่นเหมือนกีตาร์ปกติ แต่เสียงที่ออกมาจะเป็นคีย์ต่ำกว่ากีตาร์ปกติ

ความเป็นบาริโทนมาจากสเกลคอที่ยาวเฟื้อย 27.7 นิ้ว รองรับสายชุด .014 – .068 จูนต่ำ B standard มาจากโรงงาน คอทำจากไม้เมเปิลโปรไฟล์เฉพาะของรุ่นนี้ ฟิงเกอร์บอร์ดเป็นไม้ ebony สีดำๆ เสี้ยนไม้ละเอียด ความแข็งของไม้ชนิดนี้ที่มากกว่าไม้ rosewood ช่วยเพิ่มความคมชัดให้กับโน้ตจากสายใหญ่จูนต่ำได้เป็นอย่างดี แต่ฟิงเกอร์บอร์ดของกีตาร์รุ่นนี้ไม่มีลวดลายอินเลย์ใดๆเลย แต่มีงานเดินเส้นขอบบายดิ้งสีขาวลากยาวตลอดขอบฟิงเกอร์บอร์ดไปจนถึง headstock (ถ้าสี brown burst เส้นบายดิ้งจะเป็นสีครีม) ส่วนบอดี้นั้นทำจากไม้มาฮอกกานีล้วนๆ ไม่แปะเมเปิล หน้าท็อปก็เป็นแบบแบนๆ และไม่มีการอัพเดทให้เป็นท็อปนูนอย่าง SE หลายรุ่นในปี 2012 แต่อย่างใด

ปิคอัพของรุ่นนี้เอาท์พุทแรงเอาเรื่อง แม้เปิดคลีนมันก็พยายามจะแตก ระบบควบคุมก็เรียบง่ายมี volume และ tone อย่างละอันกับสวิทช์ bade สามทางไม่ตัดคอยล์

PRS SE Mike Mushok ผลิตถึงปี 2014 ก่อนจะเลิกผลิตไป และมี SE 277 baritone มาแทนที่ในปีต่อมา

คู่มือนักล่า : SE รุ่นนี้มีดีตรงบอร์ด ebony กับความเป็น signature model ถ้าชอบความ exclusive ก็จัดได้ แต่โดยรวมแล้ว ผมว่าเล่น SE 277 จะครบเครื่องกว่า เพราะมีท็อปเมเปิล มีลายเฟลม และอินเลย์นกด้วย

PRS SE Orianthi
(2010 – 2014)

สี red spakle ประกายแดงแบบนี้ มีเฉพาะรุ่นนี้ ปีแรกๆนะครับ
เฟรท 11 – 13 มีอินเลย์สัญลักษณ์ตัวโอท่ามกลางฝูงนก ฝังไว้บนฟิงเกอร์บอร์ด ebony สีเข้มๆ
SE Orianthi เวอร์ชันแรก หัวสีดำนะครับ
รุ่นนี้ความพิเศษอย่างหนึ่งอยู่ตรงบอดี้ที่ทำจากไม้ korina นะครับ แต่ดันทำสีดำประกายๆ ปิดลายไม้ซะได้
เวอร์ชัน 2012 ท็อปนูน ลายเฟลม สี scarlet red แต่ไม่มีเส้น binding นะครับ
  • Body : korina
  • Top
    • 2010 – 2012 : flat maple
    • 2012 – 2014 : bevelled maple
  • Neck : maple
  • Neck profile : Wide thin
  • Scale length : 25″
  • No. of frets : 24
  • Fingerboard : ebony
  • Fingerboard inlay : Birds and ‘O’ symbol on 12th fret, synthetic
  • Fingerboard binding : none
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text : SE Orianthi
  • Truss rod cover text : PRS
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : PRS SE tremolo
  • Pickups : SE HFS (bridge) and SE Vintage Bass (Neck), black bobbins with black rings
  • Electronics
    • 2011 – 2012 : 3 way toggle, 1 vol, 1 tone
    • 2012 – 2014 : 3 way toggle, 1 vol, 1 push-pull tone coil splitting
  • Hardware : nickel
  • Accessories : gig bag
  • Colors
    • 2010 – 2012 : red sparkle
    • 2012 – 2014 : scarlet red

Orianthi Panagari มือกีตาร์ชาวออสซี่คนนี้เป็นมือกีตาร์หญิงคนแรกและคนเดียวของ PRS ที่มีรุ่น signature และมีฝีไม้ลายมือระดับที่ได้แจมหรือมีโปรเจคท์ร่วมกับมือกีตาร์ดังๆมากมาย เช่น Santana, Steve Vai, Richie Sambora

กีตาร์ SE Orianthi ใช้ไม้ korina มาทำบอดี้ ซึ่งเป็น SE signature เพียงรุ่นเดียวที่ใช้ไม้ชนิดนี้ ไม้ korina หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า limba ให้โทนเสียงใกล้เคียงกับมาฮอกกานี แต่มีย่านแหลมที่มากกว่า PRS .ช้ไม้ชนิดนี้ผลิตกีตาร์หลายรุ่น หลายระดับราคา ตั้งแต่ SE ไปจนถึง Private Stock โดยส่วนใหญ่นิยมผลิตบอดี้เปล่าๆ ไม่แปะท็อป แต่ SE Orianthi ไม่ได้ใช้ไม้คอรินาเปล่าๆนะครับ แต่มีแปะไม้ท็อปเป็นเมเปิลด้วย คอก็ไม้เมเปิลโปรไฟล์บางมาตรฐานเดียวกับ SE Custom 24 บอร์ด ebony เงาวับ อินเลย์นก และมีอินเลย์ตัว O ซึ่งเหมือนเป็นโลโก้ประจำตัวของเค้า และโลโก้นี้จะถูกใช้บนกีตาร์ PRS Orianthi signature ตั้งแต่ระดับ SE ไปจนถึง Private Stock limited edition

PRS SE Orianthi มีสองเวอร์ชัน คือโมเดล 2011 (สีแดงประกายเพชร) และโมเดล 2012 (ลายเฟลม) ซึ่งในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยจะต่างกันระหว่างสองเวอร์ชัน (แต่ไม้และลายอินเลย์ยังเหมือนกัน) ขอแยกอธิบายความแตกต่างดังนี้ครับ

  • 2011 สีแดงประกายเพชร แต่ 2012 วีเนียร์ลายเฟลมเหมือน SE Custom
  • 2011 ท็อปเมเปิลแบนๆ แบบเดียวกับ SE Navarro ปีแรกๆ แต่โมเดล 2012 ท็อปเมเปิลนูน ปาดขอบ
  • ทั้งสองโมเดลใช้ปิคอัพเซ็ท SE HFS/Vintage Bass เหมือนกัน แต่โมเดล 2011 มากับ toggle 3 ทางซึ่งไม่ตัดคอยล์ แต่โมเดลใหม่เปลี่ยนสวิทช์เป็นแบบ PRS SE ปีปัจจุบันคือ blade สามทาง และดึงปุ่ม tone ตัดคอยล์ได้
ตัวนี้ที่ Orianthi เล่นอยู่ เป็นเกรด Private Stock นะครับ

สุ้มเสียงของ SE Orianthi ผมคิดว่าออกไปทางแหลมพุ่ง ซึ่งเกิดจาการเจาะจงเลือกใช้ไม้ที่ให้ย่านแหลมโดยเฉพาะ ไล่ตั้งแต่บอดี้ korina ท็อปเมเปิล คอเมเปิลแถมประกบด้วยบอร์ด ebony อีกต่างหาก ก็ไม่ต้องแปลกใจว่ากีตาร์ SE signature ตัวนี้เกิดมาเพื่อเอาใจขาโซโล่หรือขาปั่นโดยตรง

คู่มือนักล่า : เก็บโมเดลแรกที่เป็นสีแดงประกายเพชร เพราะมีเอกลักษณ์เป็นที่จดจำมากกว่าโมเดลสอง อีกอย่างในต่างประเทศก็นิยมตามเก็บโมเดลแรกมากกว่าด้วยครับ เท่กว่าเยอะ

ส่งท้ายตอนที่ 1

สำหรับมหกรรมรวมมิตร PRS SE signature ตอนที่ 1 ผมคัดให้ถึงรุ่นที่เปิดตัวปี 2009 เท่านี้ก่อนนะครับ ยังเหลืออีกเยอะ อัดเนื้อหามากกว่านี้ผมกลัวว่าเพื่อนๆ จะรับไม่ไหว 555

ถ้าชอบหรือเห็นว่าบทความของผมจะเป็นประโยชน์ก็รบกวนกด like กด share ด้วยนะคร้าบ

ผมมีกลุ่ม Facebook PRS Club Thailand ด้วยนะครับ ไว้แชร์ความรู้คู่ความหลอน พูดคุยเกี่ยวกับกีตาร์ PRS ครับ ใครสนใจเข้ามาหลอนด้วยกัน เชิญคลิกครับ

ขอบคุณที่ติดตามครับ
-หมู ภานุวัฒน์-