PRS SE Custom : จากวันนั้นถึงวันนี้

เครื่องดนตรียี่ห้อ Paul Reed Smith มีหลายระดับราคาแบ่งเป็นสายการผลิต (ผมชอบเรียกว่า ไลน์ผลิต) สำหรับไลน์ผลิตที่ราคาประหยัดที่สุดที่มีราคาขายตั้งแต่หมื่นต้นๆ ไปถึงแถวๆ สามหมื่นบาทนั้นมีชื่อว่า SE ซึ่งย่อมาจาก Student Edition

Paul Reed Smith ไลน์ Student Edition เริ่มมีครั้งแรกในปี 2001 ซึ่งกว่าจะมาก็ใช้เวลาถึง 15 ปีเต็มนับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์เมื่อปี 1985 แต่สำหรับรุ่น SE Custom เริ่มต้นช้ากว่านั้น วันนี้ผมอยากสรุป time line ของกีตาร์ PRS SE จากปีแรกถึงปัจจุบันว่า 19 ปีผ่านไป กีตาร์ PRS ไลน์ประหยัดนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีรุ่นอะไรออกมาบ้าง ผมจะแบ่งเป็นช่วงปีเพื่อให้เพื่อนๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆนะครับ

2001 : PRS SE รุ่นแรก

คงต้องย้อนไปสมัยปี ค.ศ. 2000 ขณะนั้นจะว่าไปก็เป็นช่วงที่แบรนด์ PRS เป็นที่รู้จักในเรื่องความสุดของงาน ความสวยของไม้ และแน่นอน ความแพง ซึ่งกีตาร์ราคาแสนกว่าบาทเมื่อสมัย 20 ปีที่แล้วนั้น เป็นอะไรที่ไกลเกินฝันสำหรับคนทั่วไปจริงๆ ถ้าไม่ใช่ศิลปินดัง ก็ต้องเป็นคนที่มีรายได้สูงๆ คนรายได้ปานกลางธรรมดา มนุษย์เงินเดือน นักเรียนนักศึกษาไม่ต้องพูดถึง และแม้ PRS จะออกรุ่นผลิตอเมริการาคาถูกลง อย่าง CE 24, CE 22, EG มาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ราคาแถวๆ พันกว่าดอลลาร์ก็ยังไม่ใช่อะไรที่คนจะเข้าถึงทุกกลุ่มลูกค้าได้

จนในวันหนึ่ง ลุง Santana มือกีตาร์ลาตินร็อกชื่อดัง ผู้มีบุญคุณใหญ่หลวงต่อลุง Paul Reed Smith มาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ตั้งเป็นบริษัท เข้ามาพูดคุยกับลุงพอลว่า อยากให้แบรนด์ PRS มีกีตาร์ราคาประหยัดที่ลูกค้าทุกคนสามารถซื้อได้แม้แต่นักเรียน ลุงพอลจึงเอาไอเดียนี้ไปทำให้เกิดกีตาร์ PRS ราคาประหยัดขึ้น โดยใช้วิธีการจ้างโรงงาน World Musical Instruments ผู้ผลิตเจ้าดังที่เกาหลีจัดการผลิตให้ภายใต้การออกแบบของ PRS ที่อเมริกา PRS ใช้เวลา 1 ปี เพื่อออกแบบและทดสอบสเปคต่างๆ จนหาจุดลงตัวกับระดับราคาที่จะขาย แล้วจึงมีการเปิดตัว PRS Student Edition (SE) รุ่นแรก นั่นก็คือ SE Santana รุ่นปี 2001 ซึ่งที่มาของคำว่า Student Edition ที่แปลว่า “ทำมาเพื่อนักเรียน” นั้น ก็มาจากแนวคิดของลุง Santana นั่นเอง

PRS SE ตัวแรกเมื่อปี 2001 เกิดขึ้นได้เพราะลุง Santana นี่เอง
ด้านหน้าไม่มีท็อป และไม่ปาด arm rest contour

SE Santana ปี 2001 คือก้าวแรกของกีตาร์ SE เป็นรุ่นบุกเบิกถางรกถางพงแบบที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไรบ้าง สเปคติดตัวมาก็ดูเรียบง่ายเหลือเกิน บอดี้มาฮอกกานีล้วนๆ ไม่มีท็อปเมเปิล ไม่มีการเกลาท็อป ไม่มีเส้นบายดิ้ง ไม่มีแม้แต่การปาดมุมท็อปเพื่อเป็นที่พักแขนขวา ไม้คอเป็นมาฮอกกานีต่อกัน 3 ชิ้นตามแนวยาว โปรไฟล์คอแบบอ้วนหรือ wide fat ฟิงเกอร์บอร์ดโรสวูด

จากนั้นไลน์ SE ก็ค่อยๆเติบโตมาจนถึงปี 2005 ก็ได้เวลาที่จะเพิ่มกีตาร์รุ่นใหม่ๆ หลายรุ่น หนึ่งในนั้นคือ SE Custom

2005 : ปีแรก SE Custom / 20 ปี แบรนด์ PRS

gig bag PRS SE ในปี 2006 ยังเป็นสีดำนะครับ
serial number ขึ้นต้นด้วยตัว G หมายถึงปี 2006
ส่วนรหัส F ของตัวนี้ หมายถึงปี 2005 ครับ
แบบบริดจ์คันโยกก็มีครับ

Specs PRS SE Custom (2005 – 2010)

  • Body : Mahogany, multi piece
  • Top : thin maple with flamed maple veneer, without forearm contour
  • Neck : mahogany
  • Neck profile : Wide Fat
  • Headstock decal : SE Custom
  • Truss rod cover decal : PRS
  • Fingerboard : Rosewood
  • Fingerboard inlays : PRS Moons, synthetic
  • No. of frets : 22
  • Scale length : 25″
  • Tuners : PRS designed
  • Nut : plastic
  • Bridge : PRS designed stoptail or tremolo
  • Pickups : PRS designed
  • Controls : 1 vol, 1 tone, 3 way toggle switch

หลังจากปล่อย SE Santana กีตาร์ไม่มีท็อปออกมาขายได้สองเวอร์ชัน ในปี 2005 ซึ่งเป็นปีฉลองครบรอบอายุ 20 ปีของแบรนด์ PRS ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวกีตาร์ SE ที่ดูเป็น PRSมากขึ้น มันคือ SE Custom

SE Custom ที่เปิดตัวในปีแรกนั้น ไม่ใช่ SE Custom 24 หากแต่เป็นการถอดแบบ Custom 22 มาซะมากกว่า สเปคเริ่มจากบอดี้ไม้หลังมาฮอกกานีที่มีการต่อไม้ประมาณ 2-3 ชิ้น มีไม้ท็อปเมเปิล ไม่ใช่มาฮอกกานีล้วนเหมือนรุ่นบุกเบิกอย่าง SE Santana แต่ไม้เมเปิลที่ SE Custom ได้มานั้น เป็นไม้แผ่นบางๆ เรียบๆ ไม่มีส่วนนูนขึ้นมา แต่ก็ยังอุตส่าห์แปะวีเนียร์ลายเฟลมให้ดูสบายตา

คอทำจากไม้มาฮอกกานีต่อกันตามยาว 3 ชิ้น โปรไฟล์อ้วน (Wide Fat) ฟิงเกอร์บอร์ดโรสวูด แต่อินเลย์ในตอนนั้นยังเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ที่ PRS เรียกว่า Moons inlay ซึ่งมันมีที่มาที่ไปนะครับ Moons ของ PRS ไม่เหมือนจุดกลมๆ ง่ายๆ อย่างยี่ห้ออื่น คลิกอ่านความเป็นมาได้ที่นี่ ส่วนวัสดุที่ใช้เป็นพลาสติกเทียมเปลือกหอยมุก หรือที่เรียกว่า pearloid ไม่ใช่เปลือกหอยอบาโลนแท้อย่างตัว USA

ปิคอัพไม่มีชื่อรุ่นเฉพาะเจาะจง บอกไว้แค่ว่า ‘PRS Designed’ (แปลว่า ออกแบบโดย PRS) ซึ่งจ้างโรงงานที่เกาหลีผลิตให้ ต่างจาก SE Santana ที่ออกมาก่อนหน้านั้นที่จ้างโรงงานในจีนผลิต คอนโทรลก็เรียบง่าย 1 volume 1 tone 3 way toggle ไม่มีตัดคอยล์ใดๆ ลูกบิดเกาหลีปั๊มโลโก้ PRS แบบบล็อค คันโยก PRS เวอร์ชันเกาหลี

2009 : กำเนิด SE Custom 24

อินเลย์พระจันทร์สองดวงตรงเฟรทที่ 24 แบบนี้มีเฉพาะ SE CU24 ปี 2009 นะครับ
serial number ตัว J หมายถึงปี 2009 ครับ
  • Body : Mahogany, multi piece
  • Top : thin maple with flamed maple veneer, without forearm contour
  • Neck : maple, 3 pieces
  • Neck profile : Wide thin
  • Headstock decal : SE Custom
  • Truss rod cover decal : PRS
  • Fingerboard : Rosewood
  • Fingerboard inlays : PRS Moons, synthetic, with double Moon at 24th fret
  • No. of frets : 24
  • Scale length : 25″
  • Tuners : PRS designed
  • Nut : plastic
  • Bridge : PRS designed tremolo
  • Pickups : PRS SE HFS (bridge) and SE Vintage Bass (neck)
  • Controls : 1 vol, 1 tone, 3 way toggle switch

นับตั้งแต่ปี 2001 ปีแรกที่ SE รุ่นแรกถือกำเนิดขึ้นจากความช่วยเหลือของลุงซานตาน่า ไม่น่าเชื่อว่า PRS ใช้เวลาถึง 9 ปี กว่าจะยอมเปิดตัว SE Custom 24 ซึ่ง SE CU24 ปีแรกนี้ก็มีหน้าตาละม้ายคล้าย SE Custom (22 เฟรท) ที่ออกมาก่อนหน้า คือท็อปเมเปิลแบนๆ อินเลย์ Moons เรียบๆ แต่ความแตกต่างนั้นซ่อนอยู่ในรายละเอียด เริ่มจากจำนวนเฟรทที่มีมากกว่า (ก็แน่ละสิ ฮ่าๆๆ) คอเป็นไม้เมเปิล เชพ SE Wide Thin ที่บางกว่าเชพ Fat ปิคอัพใหม่รุ่น SE HFS (ย่อมาจาก Hot, Fat, Screams) ที่ตำแหน่ง bridge จับคู่กับ SE Vintage Bass ที่ตำแหน่ง neck ให้โทนโดยรวม พุ่ง แรง มีคาแรคเตอร์ของกีตาร์แนวร็อคชัดเจนตามอย่าง Custom 24 USA ตัวพ่อของมัน ควบคุมความพยศด้วย 1 volume + 1 tone + 3 way toggle นอกจากนี้บริดจ์หรือหย่อง ก็แน่นอนว่าเป็นคันโยกที่ PRS ออกแบบตามดีไซน์ของตัวเอง แล้วสั่งผลิตในเกาหลี ซึ่งความแตกต่างหลักๆระหว่างชุดคันโยก SE กับ USA คือของ SE saddle ทั้งหกอัน รวมถึงบล็อกคันโยก ทำจากเหล็ก แต่ของอเมริกาเป็นทองเหลืองชุบนิเกิล

นอกจากนี้ความแตกต่างระหว่าง Moons ของ SE กับ USA อีกอย่างหนึ่งคือ เฟรทที่ 24 ของตัวอเมริกาจะมีจุดเดียว ในขณะที่ SE มีสองจุด แต่ SE CU24 Moons inlay มีผลิตอยู่เพียง 1 ปีเท่านั้น เนื่องจากในปี 2010 มีการอัพเดทสเปคเกิดขึ้น ซึ่งอินเลย์ฟิงเกอร์บอร์ดก็ถูกเปลี่ยนด้วย เปลี่ยนอย่างไร อ่านต่อไปครับ

2010 : ฉลองครบรอบ 25 ปี PRS

  • Body : Mahogany, multi piece
  • Top : thin, flat maple with quilted maple veneer, without forearm contour
  • Neck : maple, 3 pieces
  • Neck profile : Wide thin
  • Headstock veneer : Quilted maple, matching color with top
  • Headstock decal : SE Custom
  • Truss rod cover text : PRS
  • Fingerboard : Rosewood
  • Fingerboard inlays : Birds, synthetic
  • No. of frets : 24
  • Scale length : 25″
  • Tuners : PRS designed
  • Nut : plastic
  • Bridge : PRS designed tremolo
  • Pickups : PRS SE HFS (bridge) and SE Vintage Bass (neck)
  • Controls : 1 vol, 1 tone, 3 way toggle switch
ในที่สุดมันก็มา… PRS SE ที่มีอินเลย์นก
มาพร้อมวีเนียร์เมเปิลลาย quilt อย่างงาม
และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าที่ headstock มีการแปะวีเนียร์ลาย quilted maple ไว้ด้วยเช่นกัน
รหัส serial number ขึ้นต้นด้วยตัว K หมายถึง ผลิตในปี 2010

นับจากเมื่อปี 2005 ปีแห่งการฉลองครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งแบรนด์ PRS เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปี 2010 ก็ได้เวลาฉลองครบรอบ 25 ปี ซึ่ง SE Custom 24 ก็ได้อานิสงส์ครั้งนี้ด้วย

หนึ่งในการอัพเกรดครั้งสำคัญคือ อินเลย์นก เป็นครั้งแรกของ PRS SE ที่มีอินเลย์นกมาประดับบนฟิงเกอร์บอร์ด ซึ่งเป็นสิ่งที่แฟนๆ PRS SE ต่างเรียกร้องกันมานาน และอินเลย์นกนี้ก็ได้ใช้ใน SE อีกหลายๆ รุ่นนับจากนี้ นอกจากอินเลย์นกบนบอร์ด ก็ยังมีวีเนียร์ลาย quilted maple สวยๆ ให้ทั้งหน้าท็อปและบน headstock ด้วย ซึ่งวีเนียร์ลาย quilted maple นี้เป็นสเปคมาตรฐานของ SE Custom 24 รุ่นฉลอง 25 ปีเท่านั้นนะครับ หลังจากรุ่นนี้ ในปีต่อๆไปก็กลับมาใช้วีเนียร์ลายเฟลมตามปกติ อย่างเช่น SE CU24 สีส้มตัวนี้

SE Custom 24 ที่ผลิตช่วงต้นปี 2012 อย่างตัวนี้ เป็นล็อตท้ายๆ ที่ยังใช้ไม้ท็อปแบนๆ กับสวิทช์ toggle 3 ทางนะครับ

ทั้งนี้ ขณะที่ PRS กำลังฉลอง 25 ปีด้วยการอัดสเปครุ่น CU24 แต่สำหรับ SE Custom (22 เฟรท) นั้น ถูกหยุดการผลิตไปชั่วคราว

2012 : ท็อปเมเปิลนูนๆ กับ blade switch

ในปี 2012 PRS SE Custom 24 ได้รับการอัพเดทใหม่อีกครั้ง คราวนี้เป็นการอัพเกรดไม้ท็อปจากเดิมแบบแบนๆ ให้เป็นท็อปเมเปิลที่มีความหนามากขึ้น เมื่อปาดเหลี่ยมมุมออกแล้วก็ดูมีมิติมากขึ้น ซึ่ง PRS เรียกท็อปสไตล์นี้ว่า bevelled maple top ดูคล้ายรุ่น USA มากขึ้น รวมถึงคอนโทรลก็เปลี่ยนจาก toggle 3 ทางมาเป็นสวิทช์แบบ blade 3 ทางและใช้งานร่วมกับปุ่มโทนดึงตัดคอยล์ได้

2014 : การกลับมาของ SE Custom 22 เฟรท

สำหรับ SE Custom (22 เฟรท) ที่หยุดสายการผลิตไปเมื่อปี 2010 นั้น ในปี 2014 ก็ถูกนำกลับมาชุบชีวิตใหม่ในชื่อ SE Custom 22 ชัดเจนเต็มรูปแบบไม่แอบแฝง สเปค 2014 นี้ไฉไลกว่าเก่า ด้วยท็อปนูนกับอินเลย์นกเหมือนรุ่น 24 เฟรท
เชพคอยังอวบกำเต็มมือเหมือนเดิม ติดตั้งปิคอัพรุ่นใหม่ Tone Furnace

ผมเคยลองของจริงมาแล้ว แรง แซบ ดุ ให้อารมณ์คล้ายๆ ปิคอัพ Dragon II ของ Custom 22 USA ปีเก่าๆ ปิคอัพชุดนี้ยังควบคุมด้วย 1 volume 1 tone 3 way toggle ที่ตัดคอยล์ไม่ได้อยู่เหมือนเดิม รวมทั้งบริดจ์ก็ยังเป็น PRS designed Stoptail เหมือนเดิม

SE Custom 22 อินเลย์นก + stoptail แบบนี้ มีผลิตแค่ช่วง 2014 – 2016 เท่านั้นนะครับ

ส่วนตัวผมชอบ SE Custom 22 สเปคนี้นะครับ สวย ดูดี ดูแพง มองๆไปมันแอบคล้าย McCarty เหมือนกันนะ และ SE Custom 22 ลุคแบบนี้มีผลิตระหว่างปี 2014 – 2016 นะครับ จากนั้นก็จะเปลี่ยนสเปคในโมเดล 2017

2014 : ครั้งแรกกับ SE ติดคันโยก Floyd Rose

ในปี 2014 PRS ปิดตัว SE “Floyd” Custom 24 ซึ่งเป็นการเปิดตัวตามเวอร์ชัน core USA แต่มาในสเปคย่อมเยากว่ามาก สเปคของ SE Custom 24 ติดคันโยก Floyd Rose ที่ผลิตระหว่างปี 2014 – 2016 ก็ใช้สเปคคล้าย SE CU24 ที่ผลิตในช่วงเดียวกัน คือหัวกีตาร์ไม่มีลายเซ็น ปิคอัพ SE HFS set ที่เพิ่มเติมมาก็คือชุดคันโยก Floyd Rose series 1000 พร้อม locking nut

โมเดล 2014 ที่ headstock ยังไม่มีลายเซ็นนะครับ

ต่อมาในปี 2017 มีการอัพเดทสเปคใหม่ตาม SE CU24 ก็คือหัวกีตาร์มีลายเซ็น และเปลี่ยนปิคอัพเป็นรุ่น 85/15 “S”

SE Floyd Custom 24 เวอร์ชันโมเดล 2017 มากับลายเซ็นบน headstock และปิคอัพเซ็ทใหม่

2015 : SE Custom 24 รุ่นฉลองครบรอบ 30 ปี PRS

ปี 2015 แบรนด์ PRS เดินทางมาถึงกิโลเมตรที่ 30 ส่วน SE Custom 24 ที่ออกตัวช้ากว่าก็เดินทางมาถึงขวบปีที่ 10 พอดี สำหรับปีนี้ PRS มีการอัพเกรดงานประดับกีตาร์ทุกระดับราคาเนื่องในโอกาสฉลองอายุ 30 ปี ไล่ตั้งแต่กีตาร์เกรด SE ไปถึง Private Stock ด้วยงานอินเลย์นก 30th Anniversary Birds in Flight

สำหรับ SE ที่มากับงานอินเลย์นก 30th Anniversary Birds in Flight บินโค้งๆ นั้น (คล้ายของรุ่น 20 ปี แต่ก็ไม่เหมือนซะทีเดียว คลิกอ่านเพื่อเช็กความแตกต่างได้ที่นี่ครับ) กีตาร์ที่ได้อัพเกรดก็มีรุ่น SE Custom 24 กับ SE Floyd Custom 24 limited

อินเลย์นก 30 ปีของ SE CU24 เวอร์ชันไม่ฟลอยด์ จะมีเส้น binding รอบฟิงเกอร์บอร์ดคลุมไปถึง headstock ด้วย วัสดุก็เป็นพลาสติกตามเกรดของกีตาร์ระดับ SE ส่วนระบบไฟฟ้าต่างๆ ยังใช้สเปคเดียวกับ SE CU24 โมเดล 2012 นะครับ

แต่ถ้าเป็นของรุ่นติดฟลอยด์โรส SE Floyd Custom 24 limited รายละเอียดงานจะต่างไป คือวีเนียร์เป็นลาย quilted maple แต่ฟิงเกอร์บอร์ดไม่มีเส้น binding

2017 : ลายเซ็นลุงพอลบนหัวกีตาร์ SE – เหมือน core USA เกินไปไหม?

เมื่อปลายปี 2016 PRS ได้ประกาศว่า กีตาร์ SE โมเดล 2017 เป็นต้นไปจะมีการใส่โลโก้ลายเซ็นลุงพอลใหญ่ๆ ชัดแจ๋วแหววบน headstock แล้วหดคำว่า SE ลงไปเล็กนิดเดียว ซึ่งแน่นอนว่ามาแบบนี้ SE ก็แทบจะดูเหมือนรุ่นระดับ core USA อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ตัวนี้สีเขียว Trampas Green
serial ตัว Q หมายถึงผลิตในปี 2016 แต่ PRS เรียก SE หัวลายเซ็นว่าเป็นโมเดลปี 2017

นอกจากโลโก้ลายเซ็นใหม่เอาใจสาวกแล้ว PRS ยังอัพเกรดปิคอัพของไลน์ SE รุ่นใหม่ๆ ทุกตัว ซึ่งสำหรับ SE Custom 24 ก็ได้ปิคอัพใหม่เป็นรุ่น 85/15 “S” มาแทน SE HFS & SE Vintage Bass ซึ่งปิคอัพชุดใหม่นี้ก็ถอดแบบมาจากเวอร์ชัน core USA ตัวละแสนกว่าบาท แต่มาในเวอร์ชันผลิตในเกาหลีโดยโรงงาน G&B Pickups เจ้าเก่า ซึ่งคาแรคเตอร์เสียงมีหางโน้ตที่นุ่มนวลขึ้น ความแรงลดลง แต่ได้ความเคลียร์ ใส มากขึ้น มีความไพเราะมากขึ้น เล่นได้กว้างขึ้น ไม่เจาะจงแต่แนวร็อคอย่างแต่ก่อน

SE Custom เวอร์ชันอื่นๆ

ผมขอรวบรวม SE Custom เวอร์ชันที่หน้าตาดูแตกต่างจากเวอร์ชันปกตินะครับ สาเหตุที่ผมแยกกีตาร์ SE กลุ่มนี้ออกมาเเนื่องจากเห็นว่าแต่ละรุ่นมันอาจไม่ได้อยู่ในสายการผลิตยาวนานถาวรเหมือน SE Custom 22 / 24 สเปคปกติ ซึ่งบางรุ่นผลิตขายลองตลาดอยู่ไม่กี่ปีก็เลิกผลิตไป บางรุ่นยังผลิตอยู่ บางรุ่นมีขายในบ้านเรา แต่บางรุ่นก็เป็นพวกสั่งทำล็อตพิเศษ (special run) ของดีลเลอร์ใหญ่ๆในต่างประเทศ

SE Custom เวอร์ชันพิเศษมีอะไรน่าสนใจน่าเก็บบ้าง ไปดูกันครับ

SE Custom Semi-Hollowbody

ก็คือ SE Custom ที่มากับบอดี้เซมิฮอลโลว์ ซึ่งบอดี้ถูกคว้านออกไปบางส่วนแล้วเจาะรู f-hole เอาไว้หนึ่งข้าง PRS ผลิตกีตาร์บอดี้กึ่งๆกลวงแบบนี้ในไลน์ SE มาตั้งแต่ปี 2007 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสเปคก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามช่วงปี

SE Custom Semi-Hollowbody (2007 – 2013)

สำหรับรุ่นนี้บางคนอาจคุ้นตาจากโพรง f-hole ทรงทันสมัยแถมมี pick guard ทรงสวยๆติดมาให้ด้วย สเปคก็คล้ายๆ SE Custom 22 อินเลย์พระจันทร์ 22 เฟรทที่ขายอยู่ในเวลานั้น แต่สำหรับล็อตที่ผลิตระหว่างปี 2011 – 2013 อินเลย์จะเปลี่ยนเป็นนกนะครับ

ตัวนี้ปี 2007
อินเลย์นกมีตั้งแต่ล็อตที่ผลิตปลายปี 2011 ส่วนตัวนี้ปี 2013 เป็นปีสุดท้ายก่อนจะเปลี่ยนสเปค

SE Custom 22 Semi-Hollowbody (2015 – 2017)

SE Custom Semi ถูกนำกลับมาผลิตใหม่ในปี 2012 พร้อมชื่อใหม่ SE Custom 22 Semi มีเลข 22 กำกับ ตามเวอร์ชันตัวตันที่มีการแยกระหว่างรุ่น 22 กับ 24 อย่างชัดเจนแล้วในตอนนั้น พร้อมๆ กับการปรับสเปคใหม่ตาม SE Custom 22 เริ่มจาก

  • คอเป็นไม้เมเปิล เชพบาง Wide Thin มี 22 เฟรท
  • ไม้ท็อปเมเปิลแบบมีความนูนความโค้งและปาดมุม (bevelled maple top) เจาะโพรง f-hole ทรงไวโอลิน
  • แต่ระบบไฟฟ้ายังเป็นปิคอัพ SE Treble และ SE Bass ควบคุมด้วย 1 vol 1 tone กับ toggle 3 ทางไม่มีตัดคอยล์ เหมือนเดิม

SE Custom 22 Semi ผมเคยลองของจริงที่ร้าน Music collection ทั้งรุ่นปี 2016 (หัวไม่มีลายเซ็น stoptail) และ 2018 (หัวมีลายเซ็น คันโยก) สำหรับรุ่น 2016 ถือว่าเป็นกีตาร์ที่มีความแรง ดุ พุ่ง โทนเสียงแตกต่างจากกีตาร์ทรง semi ส่วนใหญ่ เหมาะกับการเอาไปเล่นเพลงป๊อป ร็อก เพลงตลาดทั่วไปมากกว่าแจ๊ซหวานๆ เป็นคาแรคเตอร์ของปิคอัพ SE Treble & Bass ที่ให้ซาวด์ค่อนไปทางโมเดิร์น

PRS SE Custom 22 Semi-Hollow โมเดล 2016

SE Custom 22 Semi-Hollowbody (2018 – ปัจจุบัน)

ส่วนรุ่น 2018 นั้นถูกปรับสเปคตาม SE Custom 22 2018 อย่างชัดเจน คือคอเมเปิล 3 ชิ้นเหมือนกัน มีคันโยกเหมือนกัน ปิคอัพรุ่น 85/15 S เหมือนกัน รวมถึงระบบไฟฟ้าแบบ blade switch 3 ทางดึงปุ่ม tone ตัดคอยล์ได้

ผมลองแล้วแล้วรู้สึกว่า SE Custom 22 รุ่น 2018 นี้ เสียงมีความกลมกล่อม ใสขึ้น เคลียร์ขึ้น และยิ่งถ้าดึงปุ่ม Tone ตัดคอยล์ เสียงที่ได้นั้นกลับมีความเด้ง ฟังดูมีความเป็น Single coil เด้งๆ มากกว่าเสียงจากรุ่นบอดี้ตันปกติเสียอีก เป็น SE semi ที่น่าลองมากๆครับ

PRS SE Custom 22 Semi-Hollow โมเดล 2018 กลมกล่อม เด้งดี มีชีวิตชีวา
PRS ทรง semi ดูสวยไปอีกแบบนะครับ

SE Custom 24 7 String (2013 – 2017) และ SE SVN (2018 – ปัจจุบัน)

ในปี 2013 PRS เปิดตัวกีตาร์ 7 สายครั้งแรกที่ผลิตแบบ mass production เป็นครั้งแรกในไลน์ SE จากเดิมที่มีแต่แบบสั่งผลิตในไลน์ Private Stock ซึ่งสเปคก็คล้ายๆ SE Custom 24 ในปีนั้น คือท็อปนูน อินเลย์นก ปิคอัพ SE HFS set แต่เป็นเวอร์ชัน 7 สาย สเกลยังเป็น 25 นิ้วตามสไตล์ PRS ทั่วไป ส่วนบริดจ์นั้นเป็นแบบ hardtail คือไม่มีคันโยก

SE Custom 24 7 String

SE Custom 24 7 String ผลิตอยู่ถึงประมาณต้นปี 2018 ก็เลิกผลิตไป และถูกแทนที่ด้วย SE SVN (เซเว่น) ซึ่งเจ้าเซเว่นนี้ทำให้รุ่นเจ็ดสายของ SE มีอะไรมากกว่า SE Custom 24 ที่เพิ่มสาย 7 ข้อแตกต่างสำคัญเลยก็คือ SE SVN เพิ่มความยาวสเกลจากเดิม 25 นิ้ว เป็น 26.5 นิ้ว เพื่อรองรับการดรอปสายต่ำพิเศษของดนตรีเมทัลยุคนี้

SE SVN กีตาร์เจ็ดสายที่ทำอะไรได้ “มากกว่า” แค่ไว้เล่นร็อค

SE Custom 24 Zebrawood (2018 – ปัจจุบัน) และ SE Custom 24 Spalted Maple (2018)

สมัยนี้ผมเห็นว่า PRS เดินเกมอัดสเปคกีตาร์ไลน์ SE อย่างหนัก ตั้งแต่หัวมีลายเซ็นคล้ายรุ่นอเมริกาเมื่อปี 2017 จนมาถึงการอัพเกรดลายวีเนียร์สวยๆ หลากหลายลวดลายหลากหลายแบบในปี 2018 ซึ่งก็มีลายไม้ spalted maple ซึ่งได้มาจากไม้เมเปิลที่มีราเจริญอยู่ในเนื้อไม้ เกิดลวดลายเป็นเส้นๆ แปลกตา แล้วก็ยังมีการนำวีเนียร์ไม้ zebra wood ซึ่งเป็นลายเส้นตรงถี่ๆ ดูสวยงามไปอีกแบบ ทั้งสองลายมีแถมงานเดินเส้นขอบ binding สีครีมตลอดฟิงเกอร์บอร์ดยาวจรดไปถึง headstock

ในส่วนของสเปคพื้นฐานก็เป็นไปตาม SE CU24 โมเดลปัจจุบัน คือปิคอัพ 85/15 “S” ใสๆ เคลียร์ๆ วินเทจนิดๆเป็นธรรมชาติ ไม่แรงบาดหู

SE Custom 24 Zebrawood
SE Custom 24 Spalted Maple ปัจจุบันเลิกผลิตแล้วนะครับ
เส้น binding สวยๆ ลากยาวตั้งแต่ fingerboard จรด headstock ดูแพงเกินคำว่า SE ที่เราเคยรู้จัก

SE Custom 24 Ziricote (2019)

ที่ headstock ก็แปะวีเนียร์ ziricote ด้วยนะครับ เดินเส้นบายดิ้งล้อมให้เสร็จสรรพสวยๆงามๆกันไป
ผลิตที่โรงงาน Cort ในอินโดนีเซียนะครับ

เจ้า SE CU24 Ziricote นี้ก็แปะวีเนียร์ลายไม้ ziricote (ซิริโคตี) ทั้งบนท็อปและบน headstock สีน้ำตาลช็อกโกแลตลายวนๆ สวยๆ ดูมีความแอบคล้ายรุ่น Private Stock ตัวละสี่แสน พร้อมด้วยงานเดินเส้นขอบบายดิ้งตลอดขอบฟิงเกอร์บอร์ดจรด headstock พูดง่ายๆคืองานสไตล์เดียวกับพวก Zebrawood นั่นเอง แต่เปลี่ยนลายวีเนียร์

SE Custom 24 Roasted Maple limited (2019)

ปลายปี 2019 PRS เปิดจองกีตาร์ SE ที่มากับคอและบอร์ดไม้เมเปิลอบร้อน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนไม่ว่าจะ SE หรือ USA รุ่นใดๆ กีตาร์รุ่นนี้ผลิตจำนวนจำกัดและได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ ตัวแทนไทยก็สั่งมาขายซึ่งก็ขายดีมากๆ ผมเองได้สัมผัสตัวเป็นๆมาแล้ว ต้องยอมรับว่ามันเป็น SE ที่ดีที่สุด คุ้มที่สุด น่าเล่นที่สุด รุ่นหนึ่งที่เคยมี SE มา 20 ปีเลยก็ว่าได้

คลิกอ่านรายละเอียดของ SE CU24 Roasted Maple limited ได้ที่นี่ครับ

SE Custom 24 สีใหม่ Charcoal Burst (2020)

มีการเพิ่มสีใหม่ Charcoal Burst สีที่ปกติจะอยู่ในไลน์ผลิต core USA มาตั้งแต่ปี 2010 สิบปีผ่านไป มันก็ได้มาสู่ไลน์ SE เท่มากๆ ส่วนสเปคต่างๆ ก็ยังเหมือนของปี 2017 นะครับ

SE Limited Run

นอกจากนี้ก็ยังมี SE CU24 เวอร์ชันพิเศษ limited run ที่ดีลเลอร์บางเจ้าสั่งผลิต แต่ปัจจุบันมีขายในต่างประเทศเท่านั้น เนื่องจากกีตาร์ SE สเปคที่ไม่อยู่ในไลน์ผลิตหลักแบบนี้ ทาง PRS กำหนดจำนวนสั่งผลิตขั้นต่ำไว้ค่อนข้างสูงเกินกว่าปริมาณลูกค้าในตลาดบ้านเรา

ลองชม SE limited run แบบต่างๆ ดูครับ อยากบอกว่าบางตัวนี่ สวยจนตัวอเมริกายังอาย

SE Floyd Custom 24 Ebony limited run

เป็น SE Floyd CU24 ที่ทั้งดูร็อกและหรูในเวลาเดียวกัน ลายไม้สวยๆ ที่เห็นนี้ได้มาจากไม้ macassar ebony ครับ

SE Custom 24 Stealth limited run

PRS SE Custom 24 limited run สีเทาด้านตัวนี้ อยู่ในล็อตที่เรียกว่า Stealth limited run สั่งผลิตขายในตลาดแถบยุโรปเท่านั้น

ตัวนี้ของร้าน Anderton’s ที่อังกฤษ
ความหมายของสเทลธ์ก็คือการพรางตัว ไม่เด่นสะดุดตา แต่ดูมีพลังอย่างเครื่องบินรบ Stealth

SE Custom 24 Maple limited run

ส่วนเซ็ทนี้คือ SE Custom 24 Maple limited run 2017 ที่ฟิงเกอร์บอร์ดเป็นไม้เมเปิลขาวๆ ตัดกับอินเลย์นกวัสดุสังเคราะห์สีดำ คอเคลือบ satin ด้านๆ สเปคแจ่มแท้แลตะลึง แม้แต่คนมีรุ่นอเมริกายังต้องหันมามอง แต่เสียใจด้วย ออเดอร์นี้มีขายแถบยุโรปจ้า

SE limited run ยังมีอีกหลายแบบ หลายรุ่นนะครับ ที่ผมยกมาให้ชมนี่แค่ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ

วิธีเช็กปีเกิด PRS SE

ตัวอย่างเลขซีเรียลของ PRS SE ที่ผลิตโดยโรงงาน World Musical Instruments ที่ประเทศเกาหลี แต่ประเด็นคือ PRS ไม่ได้จ้างดรงงานนี้แห่งเดียว ยังมีอีกหลายโรงงานแบ่งจ๊อบกันไป แยกตาม SE แต่ละซีรีส์ ซึ่งก็ใช้ระบบเลขซีเรียลไม่เหมือนกัน

สำหรับเพื่อนๆ ที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยว่าผมดูยังไงถึงรู้ว่า SE แต่ละตัวผลิตปีไหน ผมเขียนบทความสรุปวิธีดูปีที่ผลิตไว้ให้ในบทความนี้ครับ เช็กดูให้ดีก่อนนะครับว่ากีตาร์ของเพื่อนๆ ผลิตที่โรงงานไหนประเทศไทน เพราะ SE แต่ละซีรี่ส์ แต่ละโรงงาน ใช้ระบบ serial แตกต่างกัน

คลิกที่นี่เพื่อเช็กปีเกิดกีตาร์ PRS SE ทุกซีรีส์ ครับ

ส่งท้าย

เพื่อทบทวนความรู้กันอีกที ผมเลยทำสรุปเป็น infographic เอาไว้คร่าวๆตามนี้ครับ

สำหรับประวัติความเป็นมาของกีตาร์ PRS ไลน์ SE Custom ก็จะมีประมาณนี้นะครับ หวังว่าเพื่อนๆ คงพอเห็นภาพการเติบโตของกีตาร์ซีรีส์นี้ตั้งแต่แบเบาะจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งผมมองว่า ณ ปีนี้ มันโตเป็นผู้ใหญ่ วางคู่กับ PRS เกรด core USA แล้วไม่รู้สึกน้อยหน้าแล้วหละ ก็ในเมื่อพี่ๆมีดีอะไร น้องๆ SE ก็มีแทบไม่ต่างกัน ฮ่าๆ อันนี้แค่ SE Custom นะครับ ที่จริงยังมี SE อีกหลายรุ่นที่น่าสนใจและมีการอัพเดทตามยุคสมัย เพียงแต่ผมไม่หยิบมานำเสนอ เพราะกลัวว่าเดี๋ยวจะเยอะไป เพื่อนๆจะงงกันเปล่าๆ เดี๋ยวแยกเขียนเป็นบทความอื่นๆดีกว่า

สำหรับผมเองคงมองต่อไปข้างหน้าว่า แล้วในอนาคต SE จะมีอะไรมาให้เซอร์ไพรส์กันอีก ในปี 2019 นี้เรามี SE Paul’s Guitar ที่ใช้ระบบไฟฟ้าแบบบใหม่ ใช้บริดจ์ของตัวอเมริกา และปาดหน้าท็อปคล้ายตัวอเมริกาละ จัดหนักอย่างไม่เคยมีมาก่อนขนาดนี้ แล้วปีต่อๆไปจะมีอะไรมาอีก น่าติดตามมากๆ ครับ

สนใจไปหลอนกับ PRS ต่อ เชิญเข้าร่วมกลุ่ม PRS Club Thailand ได้ครับ คลิกเลย