ก่อนจะมาเป็น PRS SE Santana Singlecut Tremolo

จากที่ PRS ประกาศเปิดตัวกีตาร์ SE รุ่นใหม่สามรุ่น (อยากรู้ว่ามีรุ่นอะไรบ้าง คลิกอ่านได้ที่นี่ครับ) ซึ่ง SE Santana เวอร์ชันใหม่ทรง Singlecut ก็เป็นหนึ่งในสามรุ่นนั้น บางคนเห็นแล้วจึงเกิดคำถามว่า กีตาร์รุ่นนี้มายังไง? เพราะปกติเคยเห็นลุงซานต้าแกเล่นแต่ทรง double cut แบบใน MV นี้มาตลอดนี่นา

ผมเลยอยากเล่าที่มาที่ไปของกีตาร์ทรง Singlecut ของลุงซานต้า ก่อนจะมาเป็น SE Santana Singlecut Tremolo 2019 ครับ

เริ่มต้นจาก Private Stock

จุดกำเนิดมาจากกีตาร์ที่แผนก Private Stock (ชื่อ custom shop ของ PRS) ทำให้ลุงซานต้าแกใช้ ซึ่งกีตาร์ตัวนี้ต้นแบบมาจากรุ่น McCarty SC 245 limited (อ่านสเปคของ McCarty SC 245 ltd ได้ที่นี่ครับ)

นอกจากสีทองแล้ว สีชมพูก็มีนะเออ
PRS ทรง Singlecut ที่ใช้ headstock ทรง Santana ไม่ใช่ของใหม่ เพราะเคยผลิตมาแล้ว แต่มีจำนวนไม่มาก เช่น McCarty SC 245 limited ที่ผลิตเมื่อปี 2009

PRS Private Stock 24 Fret McCarty Singlecut Tremolo (Guitar of the Month – September 2016)

ต่อมาในเดือนกันยายน 2016 แผนก Private Stock ได้สร้างกีตาร์ McCarty Singlecut Tremolo ที่มี 24 เฟรทขึ้นภายใต้โปรเจคท์ guitar of the month (GOM) สำหรับเดือนกันยายน โดยใช้กีตาร์ตัวที่ทำให้ลุงซานต้าเป็นต้นแบบและปรับสเปคบางส่วน สเปคมีดังนี้ครับ

Specifications: PRS Private Stock McCarty Singlecut Tremolo

  • บอดี้: African mahogany ชิ้นเดียว มีลายริบบิ้น
  • ท็อป: เมเปิลมีลาย (แต่มองไม่เห็นจากด้านหน้าเพราะทำสีทึบ)
  • คอ: มาฮอกกานีมีลายเฟลม
  • โปรไฟล์คอ: Pattern สเกล 24.5″
  • บอร์ด: Madagascar rosewood มีขอบ binding ทำจากไม้เมเปิลลายเฟลม
  • Headstock Veneer wood: Madagascar rosewood มีขอบ binding ทำจากไม้เมเปิลลายเฟลม
  • อินเลย์ headstock: นก Private Stock eagle วัสดุ Gold mother of pearl มีแถบ banner บรรจุคำว่า “September”
  • อินเลย์บอร์ด: นกเต็มตัว old school วัสดุ Gold mother of pearl
  • ปิคอัพ: 58/15 ปิคอัพตัว bridge พันลวดมากกว่าปกติเล็กน้อย
  • Controls: 2 volume, 2 tone, 3-way toggle
  • คันโยก: PRS Gen 3 tremolo with locking saddles
  • ลูกบิด: PRS phase III ใบลูกบิดทำจากไม้ Madagascar rosewood
  • สี: Gold Leaf
  • เคลือบ: ไนโตรเงา
สังเกตรอยย่นและเส้นสี่เหลี่ยมบนท็อปนะครับ
เวอร์ชัน limited นี้มากับคันโยก จะต่างจากตัวที่ทำให้ลุงซานต้าใช้ ซึ่งเป็น Stoptail

สำหรับกีตาร์ PS เวอร์ชันลิมิเต็ดทำขายนี้ ก็มาในทรง SC ความหนาบอดี้เต็มพิกัดมาตรฐาน Singlecut original สเกลสั้นดันสายง่าย คือสั้นแค่ 24.5″ แต่ดันมี 24 เฟรทเหมือนตัวลายเซ็นที่ลุงแกใช้ประจำ แต่ความพิเศษของรุ่นลิมิเต็ดนี้ที่เด่นๆเลย คือ สีทองบนไม้ท็อปซึ่งได้จากการเอาแผ่นทองคำเปลว 23k ลงไปแปะทีละแผ่นๆ กีตาร์ตัวนึงใช้ทองคำเปลวประมาณ 30 แผ่น โดย Paul Miles หัวหน้าแผนก Private Stock จัดการงานส่วนนี้เองทั้งหมด

Paul Miles หัวหน้าแผนก Private Stock ลงมือจัดการงานทองคำเปลวเอง
สังเกตว่าเขาทำสีทอง gold top เป็นสีพื้นไว้อยู่แล้วก่อนแปะทองนะครับ
งวดนี้ถ้าถูกรางวัลที่หนึ่งลูกจะมาแก้บนนะเจ้าขา สาธุๆๆ

พอกีตาร์ทำเสร็จแล้วคุณ Paul Miles ก็ต้องเซ็นชื่อตรงหลัง headstock คู่กับลายเซ็นของลุง Paul Reed Smith ด้วย

แปะเสร็จแล้วก็เก็บงานและเคลือบด้วยแลคเกอร์ไนโตรแบบเงา ส่วนด้านหลังไม่ทำสี โชว์คอมาฮอกกานีมีลาย ไม้หายากที่กั๊กไว้เฉพาะกีตาร์เกรด PS

อินเลย์นกบนบอร์ดและนกอินทรี Private Stock บนหัวกีตาร์ใช้เปลือกหอย gold mother of pearl ซึ่งผมส่องดูแล้วตัดมาจากเปลือกหอยแบบ solid blank ชิ้นใหญ่ ไร้รอยต่อ งานลักษณะคล้ายๆ Private Stock Graveyard ซึ่งงานแบบนี้หาได้เฉพาะ PRS รุ่นสูงมากๆ หรือพวกลิมิเต็ดบางรุ่นเท่านั้น ใบลูกบิดทำจากไม้ Madagascar rosewood เหมือนฟิงเกอร์บอร์ด นัททำจากกระดูกแท้

ส่วน truss rod cover ก็แน่นอนว่าต้องมีสัญลักษณ์ “โอม” ของศาสนาพราหมณ์ตามความเชื่อของลุงซานต้า ดูๆไปแล้วก็เข้ากันกับสีทองคำเปลว น่าเอาไปสักการะบูชานะครับกีตาร์รุ่นนี้ ฮ่าๆ

อินเลย์นก Private Stock Eagle ของรุ่นนี้ก็มีความพิเศษ คือนอกจากวัสดุเปลือกหอยชิ้นใหญ่ชิ้นเดียวอลังการแล้ว ยังมีแถบ banner มีคำว่า September เพื่อแสดงถึงความเป็น Guitar of the Month ของเดือนกันยายน 2016

ส่วนคันโยกถ้าเพื่อนๆสังเกตดีๆ จะเห็นว่า saddle ดูหน้าตาประหลาดๆ นั่นเพราะเป็น saddle แบบล็อกปุ่มปลายสายเอาไว้ ซึ่งเป็นอะไหล่ที่มีให้เฉพาะกีตาร์เกรด PS เช่นกัน

saddles ของกีตาร์รุ่นนี้เป็นแบบล็อกได้นะครับ

ปิคอัพรุ่น 58/15 ให้โทนวินเทจแต่มีปลายเสียงเคลียร์ใส ไม่อ้วนบวมอย่างปิคอัพสไตล์วินเทจทั่วไป ซึ่งสำหรับกีตาร์รุ่นพิเศษนี้ PRS แอบเพิ่มจำนวนรอบการพันลวดนิดหน่อยเพื่อความแรง

ลองฟังเสียงดูครับ

Private Stock McCarty Singlecut Trem สีทองคำเปลว ผลิตแค่ 20 ตัว แต่ละตัวมีลายเซ็นจากมือลุงซานตาน่าให้ด้วย สนนราคาตัวละประมาณสี่แสนบาท ซึ่งที่เมืองไทยก็มีคนสอยมาแล้วนะเออ

SE Santana Singlecut Tremolo

Santana Singlecut เวอร์ชัน SE ขวัญใจมหาชนคนธรรมดาอย่างเราๆ

ถ้าตัวละห้าหกแสนมันตึงๆมือไปนิดนึง เราลองมาดูอะไรที่ปุถุชนคนธรรมดาพอจะหามาครอบครองได้กันบ้างดีกว่า มันคือ SE Santana Singlecut Tremolo ครับ ไปดูสเปคกันเลย

Specifications: PRS SE Santana Singlecut Tremolo

  • Body : all mahogany, singlecut shape
  • Neck : mahogany
  • Neck profile : wide fat
  • Scale length : 24.5″
  • Fingerboard : rosewood
  • Number of frets : 24
  • Inlays : birds, synthetic
  • Pickups : TCI “S”, black bobbins
  • Electronics : 3 way toggle switch, 1 vol, 1 tone
  • Hardware: chrome
  • Available color (s) : Egyptian gold only

สำหรับเวอร์ชัน SE มีการเปลี่ยนชื่อรุ่นเล็กน้อยจาก McCarty ของเวอร์ชัน PS มาเป็น Santana เพื่อสื่อให้ชัดเจนว่าเจ้าของรุ่นนี้ตัวจริงคือใคร รูปทรงก็ใช้พื้นฐานของเวอร์ชัน PS คือเป็นทรง Singlecut 24 เฟรท ติดคันโยก คอเป็นโปรไฟล์อ้วน (wide fat) เชื่อมเข้ากับบอดี้ด้วยกาว ใช้ neck joint ดีไซน์ปาดโค้งเหมือนตัว PS ช่วยให้ล้วงเฟรทในได้ง่าย บอดี้และคอทำจากไม้มาฮอกกานีล้วนๆ ไม่มีเมเปิลประกบ ฟิงเกอร์บอร์ดโรสวูด

SE Santana SC Trem บอดี้จะบางกว่า SE รุ่นอื่นๆในทรงเดียวกันนะครับ ไม่ได้หนาถึงสองนิ้วกว่าแบบ SE Tremonti ตรงนี้ก็จะช่วยในเรื่องความสบายในการเล่นและเซฟน้ำหนักลงไปได้อีกหน่อย สังเกตความหนาเมื่อเทียบกับ SE Tremonti (ตัวสีดำ) นะครับ

นอกจากทรงแปลกตากว่า SE Santana ที่เพื่อนๆคุ้นตาแล้ว ความแตกต่างส่วนต่อไปก็คือการใช้ปิคอัพ TCI “S” โดย TCI ย่อมาจาก Tuned Capacitance and Inductance หมายถึงปิคอัพที่ทำงานร่วมกับระบบไฟฟ้าที่ถูกจูนมาเฉพาะรุ่น เช่น ค่าประจุไฟฟ้า (capacitance) และค่าการนำไฟฟ้า (inductance) เพื่อให้ได้สุ้มเสียงผลลัพธ์ที่ผู้ออกแบบต้องการ PRS ใช้แนวคิดในการออกแบบปิคอัพและวงจรไฟฟ้าในกีตาร์รุ่นใหม่ๆหลายรุ่น นับตั้งแต่ Paul’s Guitar 2019 และ Silver Sky ซึ่งเวอร์ชัน S ของ SE Santana SC นี้ควบคุมด้วย togge 3 ทาง 1 volume 1 tone ไม่ตัดคอยล์

สาเหตุที่ SE Santana ตัวใหม่นี้ใช้ปิคอัพ TCI เวอร์ชัน “S” (เวอร์ชัน double cut ใช้ปิคอัพรุ่น Santana “S”) เพราะลุงซานต้าแกบังเอิญได้ลอง Paul’s Guitar USA รุ่นล่าสุดแล้วเกิดชอบเสียงปิคอัพ TCI เลยขอให้ทาง PRS ผลิตปิคอัพ TCI เวอร์ชัน SE ให้กีตาร์ทรงใหม่ของแกให้หน่อย ก็เลยเป็นที่มาของปิคอัพ TCI เวอร์ชัน SE ที่ไม่มีระบบตัดคอยล์และมี 1 vol 1 tone วางเลย์เอาท์ไว้ด้านท้าย

ปุ่ม volume และ tone วางไว้ด้านท้ายถัดจากบริดจ์ เหตุผลเพื่อไม่ให้เกะกะเมื่อใช้คันโยก เป็นความชอบเฉพาะของลุงซานต้าซึ่งแกเองก็ชอบโยกแรงอยู่เหมือนกัน
ส่วนสวิทช์ toggle อยู่ด้านบน upper bout ตามดีไซน์ของทรง PRS Singlecut

ส่วนงานประดับก็ตามมาตรฐาน SE ที่มีแต่จะดีวันดีคืนขึ้นทุกปี หายใจรดต้นคอรุ่น USA เข้าไปเรื่อยๆ อย่าง SE Santana Singlecut Trem ตัวนี้ก็มากับหัวมีลายเซ็นลุงพอล อินเลย์นกสิบตัวซึ่งเฟรทสุดท้ายได้นกฮูกด้วยเพราะเป็นรุ่น 24 เฟรท truss rod cover มีชื่อลุงซานตาน่าเอาไว้กันคนไม่รู้ว่านี่รุ่นอะไร และแน่นอน ที่ขาดไม่ได้คือสีทอง แต่สำหรับตัวนี้จะเป็นสีทองอียิปต์ (Egyptian Gold) นะ แหม ก็กีตาร์ราคาสองสามหมื่นจะให้เขามานั่งแปะทองคำเปลวแถมพ่นแลคเกอร์ไนโตรให้ด้วย มันก็จะกระไรๆอยู่นะ ฮ่าๆๆ แต่ถึงจะไม่แปะทองเปลว เจ้า SE ตัวนี้ก็สวยสะดุดตาครับ และเป็นสีที่ SE รุ่นอื่นๆไม่มีในสายการผลิตปกติ ต้องเป็นระดับ S2 ขึ้นไปจึงจะเจอ

สีทองงดงามอร่ามตา
ถ้าใครสงสัยว่า PRS ตัวนี้ของเราคือรุ่นอะไร ก็ให้เขาอ่านตรงนี้นะครับ ฮ่าๆ

แล้ว SE Santana ทรงเดิมล่ะ ยังผลิตต่อมั้ย?

SE Santana เวอร์ชันทรง doublecut ก็ยังผลิตอยู่เหมือนเดิม และน่าจะเป็นทรงที่จะผลิตไปอีกนานนะครับ เพราะเป็นทรงที่เจ้าของลายเซ็นใช้มาตลอด สเปคของทรงดั้งเดิมนี้ก็จะแตกต่างที่ไม้ท็อปซึ่งเป็นไม้เมเปิลแปะวีเนียร์ลายเฟลม ปิคอัพรุ่น Santana “S” ส่วนเชพคอ ความยาวสเกล และจำนวนเฟรท เหมือนกันทุกประการ

ส่งท้าย

มาถึงตรงนี้คิดว่าเพื่อนๆ คงเข้าใจที่มาที่ไปของ PRS SE Santana ทรงใหม่มากขึ้นนะครับ ส่วนอ่านแล้วจะเอาเวอร์ชันไหนอันนี้คงอยู่ที่ใจและงบประมาณ ฮ่าๆ แต่สำหรับเราๆท่านๆ รวมทั้งผมด้วย การมี PRS สีทองหล่อๆ ราคาไม่แรง ไว้ในคลังแสงสักตัวก็น่าสนใจอยู่น้า

สำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังสนใจกีตาร์ PRS ผมตั้งกลุ่ม facebook PRS club Thailand สังคมอุดมความรู้คู่ความหลอนสำหรับกีตาร์คอนก ใครสนใจเชิญเข้าร่วมได้นะครับ คลิกเลย