PRS SE Signature Models – PRS SE รุ่นไหน ของใครบ้าง? (ตอนที่ 2)

จากตอนที่แล้วที่ผมได้ไล่เรียงกีตาร์ PRS SE signature models สารพัดกีตาร์รุ่นลายเซ็นราคาประหยัดของ PRS นับตั้งแต่รุ่นแรกคือ SE Santana เมื่อปี 2001 จนถึง SE Orianthi ไปแล้ว วันนี้กลับมาว่ากันต่อในตอนที่ 2 ซึ่งผมจะเริ่มที่รุ่นที่เปิดตัวราวๆปี 2010 นะครับ

สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 คลิกที่นี่เพื่ออ่านครับ

ปี 2010 : ช่วงเปลี่ยนผ่านของ PRS SE

ช่วงปีนั้น PRS กำลังฉลองครบรอบ 25 ปีการก่อตั้งแบรนด์ ซึ่งก็มีการฉลองโดยใส่งานประดับสไตล์ 25th Anniversary กีตาร์ระดับ core USA นับสิบๆรุ่น ที่พวกเราอาจจะเคยเห็นผ่านตากันบ้างก็คือ Custom 24 25th Anniversary ที่มีโลโก้นกอินทรีตัวใหญ่ๆ คล้ายๆโลโก้ Private Stock Eagle บนหัวกีตาร์

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับกีตาร์ PRS ในกลุ่ม SE signature? ก็เพราะผมสังเกตว่าในช่วงปีนั้น ไม่ใช่เพียง core USA ที่ได้ปรับสเปคตามแคมเปญฉลอง 25 ปี แต่ไลน์ SE ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ที่ชัดๆคือเป็นปีแรกที่ SE Custom 24 มีอินเลย์นก มีการเปิดตัว SE Santana v. 3 ตามมาด้วย SE 245 และ SE Tremonti Custom ในปีถัดมา และก็มีการเปิดตัวกีตาร์ SE signature models หลายคนพร้อมกัน

PRS SE Custom 24 25th Anniversary ปีแรกที่มีอินเลยนก มาพร้อมลายควิลท์
PRS SE signature models เปิดตัวใหม่หลายรุ่น สำหรับรุ่นที่ผลิตอยู่แล้วเช่น SE Allender ก็ได้อัพเกรดสเปค

ผมจึงมองว่าช่วงปี 2010 – 2011 ชื่อช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของไลน์ SE ทั้งรุ่นธรรมดาและรุ่นลายเซ็น และคงไม่แปลกอะไรถ้าแฟนๆ กีตาร์ PRS รุ่นหลังๆ ไปเห็น SE ปีเก่ากว่า 2010 แล้วงงว่าทำไม PRS ตัวนั้นดูแปลกตาไม่เหมือนรุ่นปัจจุบัน

PRS SE signature models ตอนที่ 2 มีรุ่นลายเซ็นของใครบ้าง ไปดูกันเลย

  • SE Mikael Åkerfeldt (Opeth) (2010 – 2014)
  • SE Fredrik Åkesson (Opeth) (2011 – 2014)
  • SE Tim Mahoney (311) (2011 – 2014)
  • SE Nick Catanese (Black Label Society) (2011 – 2014)
  • SE Zach Myers (Shinedown) (2010 – ปัจจุบัน)
  • SE Dave Navarro (Jane’s Addiction) (2012 – 2016)

PRS SE Mikael Åkerfeldt (Opeth)
(2010 – 2014)

ทรง Singlecut 24 เฟรทกับโลโก้ Opeth บนท็อป คือเอกลักษณ์ของ SE Akerfeldt ครับ
โลโก้วง Opeth บนท็อป เป็นงานสกรีนนะครับ ไม่ใช่อินเลย์
อะไหล่ทอง headstock แปลวีเนียร์ลายเฟลม บอร์ด ebony ถือว่างานดีมากครับรุ่นนี้
คอเมเปิลเคลือบด้าน ช่วยให้ลื่นมือ เล่นสนุก
  • Body : mahogany, Singlecut shape with extra deep cutaway
  • Top : beveled maple top with flamed maple veneer and screened Opeth “O” logo
  • Neck : maple
  • Neck profile : wide fat, satin finished
  • Scale length : 25″
  • No. of frets : 24
  • Fingerboard : ebony
  • Fingerboard inlay : birds, synthetic
  • Fingerboard binding : none
  • Headstock veneer : quilted maple
  • Headstock text : SE Mikael Åkerfeldt
  • Truss rod cover text : PRS
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : SE tremolo
  • Pickups : SE HFS (bridge) and SE Vintage Bass (Neck)
  • Electronics : 3 way toggle, 1 vol, 1 tone
  • Hardware : gold
  • Accessories : gig bag
  • Colors : tortoise shell

Mikael Åkerfeldt นักร้องนำและมือกีตาร์วง Opeth ซึ่งเป็นวงแนว progressive rock สัญชาติสวีเดนเข้าร่วมเป็นครอบครัว PRS SE ในปี 2010 โดยเปิดตัวในงาน NAMM ต้นปีนั้น ร่วมกับศิลปินอีกหลายคน จะว่าไปช่วงปีนั้นคงเป็นช่วงที่มีศิลปินในสังกัดมากที่สุดของ PRS ก็ว่าได้

Mikael Åkerfeldt มีกีตาร์รุ่น Singlecut Modern Eagle ที่ PRS ทำให้ตัวหนึ่ง ซึ่งมีความพิเศษไม่เหมือน ME SC Trem ตัวไหนๆเลยคือมันมี 24 เฟรท เมื่อ PRS จะผลิตกีตาร์ SE รุ่นลายเซ็นให้ เจ้าตัวก็ไม่ลังเลที่จะเลือกใช้บอดี้ทรง Singlecut Tremolo ที่เพิ่มเฟรทเข้าไปอีก 2 จากสเปคมาตรฐาน 22 กลายเป็น 24

สเปคมาตรฐานของรุ่น SE Singlecut Tremolo มี 22 เฟรท

นอกจากใช้ทรง SE SC Trem 24 เฟรทแล้ว ก็ยังแอบปาดชายเว้าลึกเข้าไปจนถึงเฟรทสุดท้าย บอดี้ของรุ่นนี้แม้จะเป็นทรง SC แต่ไม่หนาเท่า SE 245 นะครับ

ท็อปเมเปิลแปะวีเนียร์ลายเฟลมงามๆ และมีโลโก้ O ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวง Opeth สกรีนอยู่บนท็อปถัดจากบริดจ์ เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของกีตาร์ SE รุ่นนี้เลยก็ว่าได้ ซึ่งบางคนบอกสวย แต่บางคนไม่ชอบก็มี ส่วนไม้ท็อปของรุ่นนี้เป็นเมเปิลที่ทำนูนขึ้นมาแล้วปาดขอบ ซึ่งตรงกันข้ามกับ SE Custom 24 ในปีนั้นที่ยังเป็นท็อปแบบแบนๆ

คอของรุ่นนี้เป็นไม้เมเปิลเหมือน SE Custom 24 มีการเคลือบด้านเอาไว้ด้วยเพื่อความลื่นในการเล่น พลิกไปดูส่วน headstock ใกล้ๆ เราจะเห็นงานวีเนียร์ไม้เมเปิลลายเฟลมแปะอยู่ ลูกบิดสีทองรวมทั้งอะไหล่โลหะทั้งตัวเป็นสีทองสวยงามได้ใจเกินราคา ฟิงเกอร์บอร์ดของรุ่นนี้เป็นไม้ ebony เกรดดีสีดำสนิท ซึ่งในช่วงปีเก่าแบบนั้นไม้ชนิดนี้ยังสวยและหาไม่ยากในกีตาร์ระดับราคานี้ ส่วนเฟรทของรุ่นนี้มีจำนวน 24 เฟรท ซึ่งเป็นการสร้างตามความต้องการของเจ้าของลายเซ็น ซึ่งเป็น PRS รุ่นแรกที่เป็นทรง Singlecut แต่มี 24 เฟรท อินเลย์นกวัสดุพลาสติกตามเกรด SE ทั่วไป

ภาคไฟฟ้าก็ใช้ตาม SE Custom 24 ในช่วงปีนั่น คือปิคอัพ SE HFS และ SE Vintage Bass ซาวด์โมเดิร์นร็อคดุดัน มีสวิทช์ toggle 3 ทางแต่ไม่มีตัดคอยล์ หมุดปิคอัพก็เป็นสีทองตามสีอะไหล่โลหะส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ก็มีคันโยก PRS designed สีทองด้วย กลายเป็น PRS ทรง Singlecut ที่มี 24 เฟรทแถมมีคันโยกอีกต่างหาก เรียกว่าเป็น SE signature ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร

คู่มือนักล่า : Singlecut สายปั่น เฟรทเยอะ เว้าลึก โยกได้ บอร์ด ebony จัดได้ถ้าไม่เกี่ยงลุค

PRS SE Fredrik Åkesson (Opeth)
(2011 – 2014)

ท็อปลาย quilted maple สีน้ำตาลแก่ frontida brun
บางตัวมากับ knobs แบบ speed สีดำ
  • Body : thick mahogany, Singlecut shape
  • Top : beveled maple top with quilted maple veneer
  • Neck : mahogany
  • Neck profile : wide fat
  • Scale length : 24.5″
  • No. of frets : 22
  • Fingerboard : ebony
  • Fingerboard inlay : birds, synthetic
  • Fingerboard binding : none
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text : SE Fredrik Åkesson
  • Truss rod cover text : PRS
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : TonePros adjustable stoptail
  • Pickups : SE 245 set
  • Electronics : 3 way toggle, 2 vol, 2 tone in inverted layout
  • Control knobs : Top hat or speed
  • Hardware : chrome
  • Accessories : gig bag
  • Colors : Forntida Brun (Swedish for ‘ancient brown’), no top binding

หนึ่งปีหลังจากเพื่อนร่วมวงมีกีตาร์รุ่นลายเซ็นกับ PRS ในปี 2011 Fredrik Åkesson มือกีตาร์วง Opeth ก็มีกีตาร์รุ่นลายเซ็นของตัวเองบ้าง โดยกีตาร์ของเขาก็มาในทรง Singlecut บอดี้มาฮอกกานีมีท็อปเมเปิลแปะวีเนียร์ลาย quilt เช่นเดียวกัน แต่ใช้พื้นฐานของรุ่น SE 245 ซึ่งต่างจากรุ่นของ Mikael อยู่หลายจุด เริ่มจาก

  • บอดี้ที่หนาเต็มอัตราของ SE ใกล้เคียงกับ Singlecut USA แต่ SE Mikael บอดี้บางกว่า
  • วีเนียร์ของ SE Fredrik เป็นลายควิลท์
  • คอมาฮอกกานี แต่ SE Mikael เป็นไม้เมเปิล
  • เฟรท 22 อัน ไม่ใช่ 24
  • สเกลสั้น 24.5 นิ้ว (เพราะมาจากรุ่น SE 245) ไม่ใช่ 25 นิ้วแบบ SE Mikael
  • บริดจ์ Stoptail ของ TonePros แบบปรับ intonation ได้ ในขณะที่ของ Mikael เป็นคันโยก
  • อินเลย์นกวัสดุ abalone ไม่ใช่พลาสติกสีเทียมมุกอย่าง SE Mikael
  • 2 volume 2 tone แต่ของ Mikael มีอย่างละปุ่ม
  • อะไหล่ชุบนิเกิล ไม่ใช่อะไหล่ทอง
  • ไม่มีโลโก้ Opeth

นอกจากความแตกต่างที่ผมลิสต์ไว้ให้ข้างต้น กีตาร์ลายเซ็นรุ่นนี้ยังมีความพิเศษอีกอย่างที่หลายคนอาจไม่ได้สังเกต คือ ตรงชายเว้ามีการคว้านลึกเข้าไปมากกว่าดีไซน์ปกติของ PRS ทรง SC รุ่นอื่นๆ ลองดูรูปเปรียบเทียบที่ผมทำไว้นี้นะครับ

ด้วยความที่ชายเว้าถูกคว้านลึกเข้าไปกว่าปกติ ส่วน cutaway scoop เอกลักษณ์กีตาร์ PRS จึงหายไปแทบไม่เหลือ

นอกจากนี้ ปุ่ม volume และ tone ถูกต่อวงจรสลับที่กัน หมายความว่า ชุดปุ่มที่ควบคุมปิคอัพตัวบริดจ์อยู่ด้านหน้า ส่วนชุดของปิคอัพตัวเนคย้ายไปไว้ด้านหลัง ที่ทำแบบนี้ก็เพราะเจ้าตัวใช้ Gibson Les Paul มาก่อนซึ่งเรียงปุ่มวอลุ่มของปิคอัพตำแหน่งบริดจ์ไว้ใกล้มือที่สุด พอเปลี่ยนมาใช้ PRS SC ที่วางปุ่มต่างกัน เมื่อต้องการใช้งานลักษณะเดียวกัน PRS จึงต้องต่อวงจรให้ใหม่

นอกจากนี้อะไหล่ส่วนอื่นๆ ก็มีความแตกต่างจาก SE รุ่นอื่นๆ เช่น บริดจ์ Stoptail ของ TonePros แบบปรับ intonation ได้ ปุ่ม knobs เป็นแบบ top hat (คล้ายๆ Gibson Les Paul ปีเก่าๆ และ SG) แต่บางล็อตก็ได้ speed knobs หลงมา แต่สเปคในส่วนอื่นๆ ไม่ต่างกันกับตัวที่มี top hat knobs ครับ

ปิคอัพ SE 245 ให้โทนวินเทจ อิ่มกลาง ไม่ออกแหลมพุ่งแบบ SE Mikael ซึ่งการที่กีตาร์ SE ทั้งสองสไตล์ถูกใช้งานร่วมกันในวงเดียวกัน ผมว่าก็ลงตัวดี ย่านความถี่กีตาร์ไม่ชนกัน

ส่วนสีของ SE Fredrik เป็นสีน้ำตาลแก่ๆที่เรียกว่าสี Forntida Brun เป็นภาษาสวีเดนที่หมายถึง ‘สีน้ำตาลโบราณ’ ซึ่งเป็นสีเฉพาะกีตาร์รุ่นนี้เท่านั้น กีตาร์รุ่นนี้และรุ่น SE Mikael Akerfeldt ของเพื่อนร่วมวง Opeth อยู่ในสายการผลิตจนถึงปี 2014

คู่มือนักล่า : ถ้าชอบสไตล์ SE 245 และอยากได้บอร์ด ebony ก็จัดได้ แต่ขอให้รู้ว่า knobs วางสลับด้าน

PRS SE Tim Mahoney (311)
(2011 – 2014)

PRS ตัวฝนรูปนี้เป็น Private Stock นะครับ แต่หน้าตารวมๆ ก็ไม่ต่างจาก SE เท่าไหร่
SE Tim Mahoney เวอร์ชันแรก ท็อปแบน
ตัวนี้เป็นโมเดล 2012 นะครับ สังเกตท็อปนูน
เมื่อบริดจ์เป็น stoptail ด้านหลังจึงมีเพียงฝาปิด control cavity
ลุงทิมกับ Private Stock คู่ใจ
SE Tim Mahoney เวอร์ชันแรก โมเดล 2011 ครับ
  • Body
    • 2011 – 2012 : all mahogany with flat top
    • 2012 – 2014 : all mahogany with bevelled top
  • Neck : maple
  • Neck profile : Wide thin
  • Scale length : 25″
  • No. of frets : 24
  • Fingerboard : rosewood
  • Fingerboard inlay : Birds, synthetic
  • Fingerboard binding : none
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text : SE Tim Mahoney
  • Truss rod cover text : PRS
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : PRS SE stoptail
  • Pickups : SE HFS (bridge) and SE Vintage Bass (Neck) with black rings
  • Electronics
    • 2011 – 2012 : 3 way toggle, 1 vol, 1 tone
    • 2012 – 2014 : 3 way toggle, 1 vol, 1 push-pull tone coil splitting
  • Hardware : nickel
  • Accessories : gig bag
  • Colors : Baby blue

SE Tim Mahoney (ทิม มาฮอนี) กีตาร์รุ่นลายเซ็นของมือกีตาร์วง 311 ที่มาในสีฟ้าอ่อน Baby Blue สดใสสะดุดตา สร้างขึ้นโดยมี PRS Standard 24 ปี 97 ของเจ้าตัวเป็นต้นแบบ ซึ่งคำว่า Standard ในเซนส์ของ PRS นั้นหมายถึงบอดี้ทำจากไม้มาฮอกกานีทั้งตัว และ SE Mahoney ตัวนี้ก็เป็นบอดี้มาฮอกกานีเช่นกัน โดยปีแรกๆของไลน์ผลิตยังเป็นบอดี้แบบหน้าแบน ไม่มีส่วนนูน แต่ในปี 2012 มีการอัพเกรดให้บอดี้ด้านหน้าหนาขึ้นและปาดขอบให้ลาดเอียงลง (bevelled top) เพื่อให้ดูมีความสวยงามมากขึ้น ใกล้เคียงกับบอดี้ของตัวอเมริกามากขึ้น และรับกับสรีระผู้เล่นมากขึ้น

คอของ SE Mahoney เป็นไม้เมเปิล โปรไฟล์บาง wide thin สเกล 25″ มาตรฐาน PRS มี 24 เฟรท มีอินเลย์นกทุกตัว ปิคอัพ SE HFS กับ SE Vintage Bass ถอดแบบมาจากปิคอัพตัวอเมริกาของ Custom 24 USA แต่มาในเวอร์ชันเกาหลีราคาย่อมเยาและใส่ pickup rings สีดำดูกลมกลืน สเปคของภาคไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงด้วยนะครับ คือช่วงปีแรกๆ ที่บอดี้ยังเป็นท็อปแบนจะไม่มีการต่อวงจรตัดคอยล์ที่ปุ่ม Tone ต่อเมื่อมีการอัพเดทสเปคกีตาร์ไลน์ SE หลายรุ่นในปี 2012 จึงมีการเพิ่มวงจรตัดคอยล์ให้ SE Mahoney ตามรุ่นพี่ SE Custom 24 2012 ดังนั้นสำหรับใครที่มองหารุ่นนี้มือสอง ผมแนะนำว่าให้หาตัวที่เป็นปี 2012 หรือใหม่กว่า เลือกตัวที่มีท็อปปาดมุม จะคุ้มค่ากว่าเวอร์ชันท็อปแบนปี 2011 ครับ

สี baby blue อ่อนๆ ทำให้การมองความนูนของท็อป ทำได้ค่อนข้างลำบาก ต้องหามุมเอียง

แต่ที่ผมคิดว่าเป็นฟีเจอร์สุดพิเศษของรุ่นนี้ (สำหรับผม) คือ บริดจ์แบบ SE Stoptail ซึ่งยากมากที่ PRS รุ่น 24 เฟรท จะมีอะไหล่ชนิดนี้หากไม่ใช่รุ่นลายเซ็นหรือรุ่นที่มีการสั่งผลิตพิเศษ การมีบริดจ์ไม่โยกมีส่วนช่วยให้ซัสเทนยาวขึ้น ลดการสูญเสีย string vibration เนื่องจากไม่มีกลไกโลหะอะไรมาวุ่นวาย เมื่อผนวกเข้ากับโครงสร้างบอดี้มาฮอกกานีเพียวๆ ไม่แปะเมเปิล รอยต่อไม้ก็น้อยลง ความเป็น “ผืนเดียวกัน” ของบอดี้ก็มีมากขึ้น ผลพลอยได้อีกอย่างนึงคือลดโอกาสสายเพี้ยนลงมากกว่า SE แบบมีคันโยก เนื่องจากกีตาร์ SE ไม่มีลูกบิดล็อกสาย

ไม่บ่อยนะ ที่จะเจอเจ้านี่มากับ PRS รุ่น 24 เฟรท

ในบรรดา SE รุ่นเก่าๆ หลายรุ่น ผมมองว่า SE Mahoney น่าสนใจเพราะในความเรียบง่ายของมัน มีอะไรที่ “ดีต่อเสียง” หลายอย่าง และเป็นอีกหนึ่ง PRS SE ที่ไม่ควรมองข้าม อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่สนใจผมอยากให้เทสต์เสียงดูสักหน่อย เนื่องจากบอดี้มาฮอกกานีล้วนให้เสียงที่มีเด่นย่านกลางและย่านต่ำ แถมยังมีความ “ห้วน และ กระชับ” กว่าบอดี้ที่มีการผสมไม้ ซึ่งบางคนก็อาจไม่ชอบก็เป็นได้ แต่อย่างไรเสียผมว่าโครงสร้างและหน้าตาของมันก็น่าสนใจอยู่ดี เอามาโมดิฟายเปลี่ยนปิคอัพใหม่ดูท่าทางก็ไม่เลว

คู่มือนักล่า : หารุ่นปี 2012 หรือใหม่กว่า เพราะท็อปนูนดูสวยกว่า แถมเล่นสบายกว่า

SE Nick Catanese (Black Label Society)
(2011 – 2014)

COLUMBUS, OH – MAY 22: Zakk Wylde and Nick Catanese of Black Label Society performs during the 2011 Rock On The Range festival at Crew Stadium on May 22, 2011 in Columbus, Ohio. (Photo by Joey Foley/Getty Images)
SE Catanese เวอร์ชันแรก ปี 2010
สัญลักษณ์ ET = Evil Twin หมายถึงฝาแฝดขาโหด ซึ่งก็คือ Nick กับ Zakk Wylde นั่นเอง
สีดำล้วนๆ มีการเน้นสีแดงตัดกันหลายจุดรวมถึงเส้น binding ด้วย
ตัวในรูปนี้เจ้าของโมดิฟายใส่สายสะพายแบบ clip lock และเปลี่ยน toggle switch นะครับ
แตกดุแต่คลีนแข็ง สไตล์ EMG 81/85
SE Catanese v. 2 ปี 2012 มีวีเนียร์ลายเฟลมแปะต่างท็อปให้ด้วย
v. 2 นี้ ไม้คอเปลี่ยนเป็นไม้เมเปิล
SE Catanese v. 2 สวยนะ
  • Body
    • 2011 – 2012 : thick, all mahogany, Singlecut shape with red binding
    • 2012 – 2014 : thick all mahogany topped with flamed maple veneer
  • Neck
    • 2011 – 2012 : mahogany
    • 2012 – 2014 : maple
  • Neck profile : wide fat
  • Scale length : 25″
  • No. of frets : 22 jumbo
  • Fingerboard : ebony
  • Fingerboard inlay : none
  • Fingerboard binding
    • 2011 – 2012 : red plastic
    • 2012 – 2014 : black plastic
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text : SE Nick Catanese
  • Truss rod cover text : PRS
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : TonePros adjustable stoptail
  • Pickups
    • 2011 – 2012 : EMG 81 treble, 85 bass with red pickup rings
    • 2012 – 2014 : EMG 81 treble, 85 bass with optional chrome covers
  • Electronics : 3 way toggle, 1 vol, 1 tone
  • Control knobs : black speed
  • Hardware : chrome
  • Accessories : gig bag
  • Colors
    • 2011 – 2012 : gloss black
    • 2012 – 2014 : scarlet red

Nick Catanese (นิค แคทานีส) อดีตมือกีตาร์คู่กายป๋า Zakk Wylde แห่งวง Black Label Society ด้วยฝีมือการปั่นที่ฉกาจฉกรรจ์ทำให้เข้าตากรรมการป๋าแซค ทั้งคู่เล่นด้วยกันอย่างเข้าขาจนได้ฉายาว่า Evil Twin หรือฝาแฝดตัวร้าย

PRS ออกรุ่นลายเซ็นให้นิคในปี 2011 ซึ่งเป็น SE ทรง Singlecut สายดาร์ค บอดี้มาฮอกกานีล้วนๆ หนาพิเศษ แต่ไม่มีท็อปเมเปิล คอมาฮอกกานีโปรไฟล์อ้วน บอร์ด ebony ดำๆ ไม่มีอินเลย์อะไรเลย แต่มีสกรีนโลโก้ Evil Twin สีขาวอยู่บนบอดี้แทน (บางคนจึงเรียก SE Catanese เวอร์ชันนี้ว่าSE Catanese Evil Twin) กีตาร์ทั้งตัวใช้เส้น binding รวมทั้งกรอบปิคอัพเป็นสีแดงเพื่อให้ตัดกับบอดี้สีดำ นิคเจาะจงเลือกปิคอัพ ENG 81/85 ตามมาตรฐานแนวเพลง heavy metal ของป๋า Wylde แต่มีคอนโทรลเพียงปุ่ม volume tone อย่างละอันเท่านั้น ในส่วนของอะไหล่เป็นสีเงิน บริดจ์เป็นของ tone Pros แบบปรับ intonation ได้

ต่อมาในปี 2012 SE Nick Catanese ได้รับการอัพเกรดใหม่ให้เบาความโหดลงแต่ดูสวยขึ้น คือใช้สีแดงสดๆ scarlet red บอดี้ยังคงเป็นมาฮอกกานีล้วนแต่มีการแปะวีเนียร์ลายเฟลมเพื่อความสวยงามโดยยังคงเอกลักษณ์ดทนเสียงเดิมเอาไว้ คอกีตาร์เปลี่ยนเป็นไม้เมเปิลเพื่อความคมพุ่งของเสียงที่มากกว่ามาฮอกกานี งานเส้น binding สีแดงหายไป กลายเป็นเส้นสีดำที่มีเฉพาะบนบอดี้อย่างเดียวแทน ส่วนปิคอัพยังใช้เซ็ทเดิม แต่บางตัวจะมากับฝาครอบสีเงิน จะว่าไป SE Catanese ก็น่าเล่นดีนะครับ ดุ เด่น ชัดเจนในความเป็นตัวตนของตัวเอง ถ้าใครชอบซาวด์ EMG หนาๆ ดุๆ ผมว่าหารุ่นนี้มือสองไว้เล่นขำๆก็เท่ดี

SE Catanese เลิกผลิตไปในปี 2014 เพาระ Nick ลาออกจากวง เนื่องจากถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิง

คู่มือนักล่า : อีแดง สวย แรง น่าโดนกว่าดำ

PRS SE Zach Myers (Shinedown)
(2010 – ปัจจุบัน)

SE Zach Myers สีเปิดตัว Sparkle Silver Burst
3 humbuckers
อินเลย์ Fleur-De-Lis
SE ZM เวอร์ชันแรก ตัวนี้สีน้ำเงิน royal blue สีนี้มีลายเฟลมแต่ไม่มีเส้น binding นะครับ
สังเกตบริดจ์ของ SE ZM รุ่นล่าสุดนะครับ
สี sunburst ปัจจุบันเลิกทำแล้วนะครับ
SE ZM v. 2 ปิคอัพ SE 245 หัวไม่มีลายเซ็น
SE ZM เวอร์ชันล่าสุด โมเดล 2018
  • Body
    • 2010 – 2013 : thick mahogany, Singlecut shape
    • 2014 – present : thick mahogany, semi-hollowbody, Singlecut shape
  • Top
    • 2010 – 2013 : beveled maple with flamed maple veneer on transparent colors
    • 2014 – present : beveled maple with flamed maple veneer and single f-hole
  • Neck
    • 2010 – 2013 : mahogany with gloss finish
    • 2014 – present : mahogany with satin finish
  • Neck profile : wide fat
  • Scale length
    • 2010 – 2013 : 25″
    • 2014 – present : 24.5″
  • No. of frets : 22
  • Fingerboard
    • 2010 – 2013 : ebony
    • 2014 – present : rosewood
  • Fingerboard inlay
    • 2010 – 2013 : Fleur-de-lis sign on 12th fret, pearloid
    • 2014 – present : birds, synthetic
  • Fingerboard binding
    • 2010 – 2013 : white plastic binding on silver sparkling burst color
    • 2014 – present : none
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text
    • 2010 – 2016 : SE Zach Myers
    • 2017 – present : Paul Reed Smith signature
  • Truss rod cover text
    • 2010 – 2013 : ZM logo
    • 2014 – 2016 : PRS
    • 2017 – present : Zach Myers
  • Tuners
    • 2010 – 2013 : PRS SE non-locking
    • 2014 – present : vintage style
  • Bridge
    • 2010 – 2013 : TonePros adjustable stoptail
    • 2014 – present : PRS USA adjustable stoptail with brass saddle and aluminium studs
  • Pickups.
    • 2010 – 2013 : PRS designed treble, middle and bass
    • 2014 – 2017 : SE 245 treble and bass
    • 2018 – present : 245 “S” treble and bass
  • Electronics : 3 way toggle on upper bout, 2 vol, 2 tone
    • 2010 – 2013 : treble volume and treble tone shared between middle and treble humbuckers
    • 2014 – present : dedicated volume and tone controls for each humbucker
  • Control knobs : clear speed
  • Hardware : chrome
  • Accessories : gig bag
  • Colors
    • 2010 – 2013 : Sparkle Silver Burst, Royal Blue
    • 2013 – 2017 : Trampas Green and Vintage Sunburst
    • 2018 – present : Trampas Green

Zack Myer (แซค ไมเออร์) มือกีตาร์วง Shinedown เล่น PRS มานาน และมีรุ่นลายเซ็นของตัวเองเป็นครั้งแรกกับ PRS SE ในปี 2010 ซึ่งมาในทรง Singlecut เพราะเจ้าตัวชอบกีตาร์ทรงนี้ และมี PRS SC 250 กับ Custom 22 อยู่หลายตัว สำหรับกีตาร์ในซีรีส์ SE ZM จะมีอยู่สองโมเดลหลักๆนะครับ คือโมเดล 2010 ที่มี 3 humbucker กับโมเดล 2014 ที่เป็น semi hollow และมีสีเขียวที่พวกเราน่าจะคุ้นตามากกว่า

โมเดลแรกนั้นมากับบอดี้มาฮอกกานีหนาๆ มีท็อปเมเปิล คอมาฮอกกานีโปรไฟล์อ้วน บอร์ด ebony ดำๆ ผิวละเอียด เฟรทมี 22 อันตามสไตล์มาตรฐานกีตาร์ทรงนี้ มีอินเลย์รูปดอกลิลลี่ (คล้ายๆ สัญลักษณ์ลูกเสือสามัญ) ที่เฟรท 12 แต่ไม่มีอินเลย์ในเฟรทอื่นๆเลย แต่ที่สะดุดตามากๆนอกเหนือจากอินเลย์ก็คงหนีไม่พ้น pickup configuration แบบฮัมบัคเกอร์ 3 ตัวซึ่งเป็นปิคอัพ PRS SE designed treble 1 ตัว และ SE designed bass อีกสองตัวตรงกลางและตรงเนค ควบคุมด้วยสวิทช์ toggle 3 ทาง โดย hum ตำแหน่งเนคใช้ปุ่ม volume + tone ของตัวเอง แต่สำหรับปิคอัพอีกสองตัวนั้น แชร์ volume + tone ร่วมกัน บริดจ์ใช้ของ TonePros แบบปรับแซดเดิลได้ สำหรับโมเดลแรกนี้มีสองสี คือสีเงินประกายเพชรซึ่งจะไม่มีลายไม้ท็อปแต่มีเส้น binding ทั้งบอดี้จรดหัวกีตาร์ กับอีกสีหนึ่งเป็นสีน้ำเงินครามเข้มๆ Royal Blue ซึ่งอันหลังนี้จะมีลายเฟลมท็อปให้ด้วย

มาถึงช่วงส่งท้ายปีใหม่ 2013 PRS ประกาศเปิดตัว all new SE Zach Myers ที่มากับบอดี้ semi hollowbody เจาะกลวงครึ่งบนและช่วงท้ายบอดี้ มีรู f-hole 1 รูให้รู้ว่าตัวกลวงครึ่งหนึ่ง คอมาฮอกกานีได้รับการอัพเกรดด้วยการเคลือบแบบด้านทำให้ลื่นมือเวลาเล่น เมื่อเรามองไล่จาก headstock จะเห็นว่าลูกบิดเปลี่ยนมาใช้แบบวินเทจ ฟิงเกอร์บอร์ดเปลี่ยนจาก ebony มาเป็น rosewood เหมือน PRS SE รุ่นอื่นๆ อินเลย์ใช้นก old school วัสดุพลาสติกตามมาตรฐาน SE ยุคใหม่ ปิคอัพก็เปลี่ยนมาใช้ของ SE 245 นุุ่มนวลอ่อนหวานกว่าเดิม และที่สำคัญคือมีแค่ 2 humbucker ตามปกติที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาใช้กัน

แซคให้เหตุผลว่า ที่ออกแบบใหม่ให้ดูปกติธรรมดามากขึ้น เพราะอยากให้แฟนๆ PRS SE ที่ไม่ใช่แฟนของวง Shinedown ได้เปิดใจทดลองกีตาร์ดีไซน์ back to basic เวอร์ชันสองนี้ด้วย และการอัพเกรดที่สำคัญมากที่ผมไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลย คือ กีตาร์ SE ZM เวอร์ชันใหม่นี้มากับบริดจ์ PRS Adjustable Stoptail แซดเดิลทองเหลือง ซึ่งยกมาจากอะไหล่ของรุ่นอเมริกากันเลยทีเดียว (เฉพาะตัว tailpiece นะครับ ส่วนเสายังเป็นอลูมิเนียมมาตรฐาน SE) เป็นกีตาร์ SE รุ่นแรกที่บริษัทแม่ที่อเมริกายอมจัดให้ตามคำขอของเจ้าของลายเซ็น เนื่องจากเจ้าตัวชื่นชอบบริดจ์แบบนี้เป็นพิเศษ และเขาให้เหตุผลที่ฟังแล้วรู้สึกน่าประทับใจว่า เขาอยากใส่สิ่งที่ดีที่สุดในกีตาร์รุ่นนี้เพื่อให้มันเป็นกีตาร์สำหรับใช้ออกงานได้จริง ซึ่งเค้าเองก็ใช้กีตาร์ SE มาตรฐานเดียวกันเพื่อเล่นคอนเสิร์ต พูดอีกอย่างว่าตัวเขาใช้อย่างไร ก็อยากให้คนซื้อได้ใช้เหมือนกับเขา แถมยังขายในราคาที่เด็กนักเรียนก็สามารถเป็นเจ้าของได้

ในเวอร์ชัน 2014 นี้ นอกจากโครงสร้างที่เปลี่ยนไปจนแทบไม่เหลือเค้าหน้าเดิมของเวอร์ชันแรกแล้ว สีก็เปลี่ยนหมด โดยมีสีเขียวอ่อน Trampas Green และสี Vintage Sunburst มาให้ ซึ่งสีเขียวแทรมพัสนั้นก็สร้างยอดขายถล่มทลาย กลายเป็นกีตาร์ไลน์ SE ที่ทำยอดขายสูงสุดของ PRS อยู่หลายปี และมีข่าวว่าในปี 2020 อาจจะมีสีใหม่เพิ่มมาอีก

ในปี 2018 SE ZM มีการอัพเดทสเปคเล็กน้อย โดยมีลายเซ็น PRS บน headstock และเปลี่ยนปิคอัพเป็นรุ่น 245 “S” ซึ่งก็เป็นการ update สเปคให้เป็นไปตาม SE 245 โมเดลปัจจุบันนั่นเอง

นับจากปี 2010 ปีแรกที่ PRS เปิดตัว SE Zach Myers โมเดลแรก มาปี 2019 นี้ก็นับอายุของรุ่นลายเซ็นนี้ได้ 10 ปีพอดี นับว่าเป็นศิลปินที่มีรุ่นลายเซ็นกับ PRS ยาวนานเป็นอันดับ 3 รองจาก Santana และ Mark Tremonti ส่วนตัวผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากตัวกีตาร์เองที่ทำสเปคออกมาโดนใจลูกค้าไม่ยาก ต่อให้ไม่ใช่แฟนๆ วง Shinedown เลยก็ตาม เป็นการทำตลาดสไตล์ PRS ที่แตกต่างจากวิธีทำตลาดรุ่นลายเซ็นของแบรนด์เก่าแก่ ตรงที่ PRS ไม่ได้มุ่งเน้นขายแต่ความเป็นรุ่นลายเซ็นศิลปิน หากแต่ตัวกีตาร์เองก็ถูกพัฒนาให้ดีพอสำหรับลูกค้าที่ไม่ใช่แฟนคลับของศิลปินด้วย

คู่มือนักล่า : บอดี้ semi ของโมเดลใหม่ไฉไลกว่าแบบเก่า เสียงหวาน ตัวเบา อะไหล่ดี น่าโดน

PRS SE Dave Navarro (Jane’s Addiction)
(2012 – 2016)

PRS ทรง Custom สีขาว jet white อะไหล่ทองแบบนี้ เห็นแต่ไกลก็รู้รุ่นอะไร
อะไหล่ทองมาตรฐาน
สีดำก็มีนะครับ แต่ผลิตน้อย หายาก
เฮียแกท่าจะชอบอยู่สองสีนะครับ
  • Body : mahogany with extra deep cutaway
  • Top : bevelled maple top
  • Neck : maple
  • Neck profile : wide thin
  • Scale length : 25″
  • No. of frets : 24
  • Fingerboard : rosewood
  • Fingerboard inlay : birds, synthetic
  • Fingerboard binding : none
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text : SE Dave Navarro
  • Truss rod cover text : PRS
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : SE tremolo
  • Pickups : SE HFS (bridge) and SE Vintage Bass (Neck)
  • Electronics : 3 way toggle, 1 vol, 1 push-pull tone for coil splitting
  • Hardware : gold
  • Accessories : gig bag
  • Colors : jet white or black

Dave Navarro อดีตมือกีตาร์วง Red Hot Chilli Pepper และ Jane’s Addiction คือศิลปินคนที่ 3 ที่ออกกีตาร์รุ่นลายเซ็นกับ PRS ครบทั้งไลน์ core USA และ SE สเปคของรุ่นนี้ไม่ว่าจะเกรด core หรือ SE นั้น พูดกันตรงๆมันก็คล้ายๆ เอา Custom 24 มาทำสีขาวใส่อะไหล่ทองนั่นแหละ ซึ่งสำหรับเวอร์ชัน SE ก็จะเป็นบอดี้มาฮอกกานีมีท็อปเมเปิลนูนๆ ปาดเหลี่ยมออก คอเมเปิลโปรไฟล์บาง wide thin บอร์ดโรสวูด อินเลย์นก ปิคอัพก็ SE HFS + SE Vintage Bass ตัดคอยล์ได้

ตัวนี้ Navarro USA ครับ อย่าเอาไปวางคู่กับตัว SE ล่ะ เดี๋ยวมีคนหยิบผิด

เอกลักษณ์ของรุ่นนี้คงหนีไม่พ้นสีขาว jet white อะไหล่ทอง สวิทช์แบบ toggle 3 ทางและใช้คอนโทรลแบบนี้ตลอดอายุสายการผลิตโดยไม่เปลี่ยนเป็น blade switch ตาม SE CU24 สำหรับช่วงปีแรกๆ ของการผลิตมีสีดำให้เลือกด้วย แต่หายากเพราะมีไม่เยอะ

สุ้มเสียง SE Navarro ก็สไตล์เดียวกับ SE Custom 24 รุ่นก่อนปี 2017 ที่มีความไบรท์ คม พุ่ง มีคาแรคเตอร์กีตาร์แนวร็อก/ป๊อป/โมเดิร์น ค่อนข้างชัดเจน อัดเกนเล่นริฟฟ์ได้สนุก

คู่มือนักล่า : เช็กสภาพอะไหล่ทองก่อนซื้อ และถ้าโชคดีเจอสีดำ ให้จัดซะ เพราะมันเจ๋ง!

ส่งท้ายตอนที่ 2

สำหรับกีตาร์ PRS SE signature models ตอนที่ 2 ก็มีประมาณนี้นะครับ ในตอนต่อไปผมจะนำเสนอรุ่นอื่นๆ ที่เหลือซึ่งเป็นรุ่นของศิลปินที่ออก SE signature ปีใหม่ๆ ครับ

ผมมีกลุ่ม Facebook PRS Club Thailand ด้วยนะครับ ไว้แชร์ความรู้คู่ความหลอน พูดคุยเกี่ยวกับกีตาร์ PRS ครับ ใครสนใจเข้ามาหลอนด้วยกัน เชิญคลิกครับ

ขอบคุณที่ติดตามครับ

-หมู ภานุวัฒน์-