Gibson ฮึดสู้อีกยก! เคลียร์หนี้-หนีตาย

ก่อนหน้านี้ผมเคยเล่าความเป็นมาของ Gibson ก่อนจะมีหนี้สะสมมากกว่า 16,000 ล้านบาท ใกล้สภาวะใกล้ล้มละลายดังเช่นปัจจุบัน จนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา CEO ของกิบสัน คุณ Henry Juszkiewicz (เฮนรี่ จัสคูวิซ) ออกมายอมรับพร้อมทั้งปลอบขวัญแฟนๆว่า มีแผนหลายอย่างในการลดมูลหนี้ เพื่อให้สามารถขอความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินในการ refinance หนึ่งในนั้นคือการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ซึ่งภาษาชาวบ้านก็คือการขายสมบัติหาเงินใช้หนี้นั่นแหละ ซึ่งผมก็ได้รวบรวมรายการขายทอดตลาดที่เป็นข่าวดังหลายรายการ ตั้งแต่โรงงานผลิตยันแบรนด์ลูกบางแบรนด์ไปแล้ว

สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านบทความมหากาพย์ Gibson คลิกที่นี่ครับ

เผื่อใครยังไม่ทราบ ตึกโรงงานทำกีตาร์ ES ที่เมมฟิสก็ขายไปแล้วเรียบร้อย รายละเอียดอ่านได้ที่นี่ครับ

http://www.notreble.com/buzz/2017/10/27/gibson-to-sell-downtown-memphis-factory/

การเจรจากับเจ้าหนี้

ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้ เว็บไซท์ bizjournals.com เผยแพร่ข่าว Gibson ออกแถลงการณ์รายงานสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับความพยายามในการเจรจากับบริษัท KKR Credit Advisor ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลงทุน (จะเรียกว่า “เจ้าหนี้” ก็ได้) หลายรายที่ซื้อหุ้นกู้ของกิบสันเมื่อครั้งที่กิบสันขายหุ้นกู้เพื่อระดมทุนมหาศาลเพื่อไปลงทุนซื้อแบรนด์ต่างๆ นอกธุรกิจกีตาร์ตามที่ผมได้เคยเล่ารายะเอียดไปในบทความก่อนๆ

รายละเอียดการเจรจา คือ กิบสันขอใช้วิธี “แปลงหนี้สินเป็นทรัพย์สิน” หรือ debt-to-equity conversion กล่าวคือ กิบสันเสนอขายหนี้คืนให้ KKR ซึ่งหากดีลนี้สำเร็จ KKR จะมีสัดส่วนเป็นผู้ถือหุ้นที่มากขึ้น (มีเปอร์เซ็นต์ในบริษัทมากขึ้น) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการควบคุมบริษัท (change of control) และสิ่งที่กิบสันจะได้รับหากเจรจาสำเร็จก็อาจเป็นเงินสด หรือใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในการซื้อหุ้นสามัญ (warrant) ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาขาดกระแสเงินสดของบริษัทที่กำลังสาหัสสากรรจ์อยู่ในตอนนี้ได้

 

ผลการเจรจา

ล้มเหลว

กิบสันรายงานผลการเจรจาว่าเป็นภาษาทางธุรกิจ ว่า ผู้ลงทุน (ซึ่งก็ประกอบด้วยสมาชิกบอร์ดหลายคน) มีความเห็นต่อข้อเสนอของกิบสันที่หลากหลายอย่างมาก (significantly divergent in their views regarding the appropriate consideration for the various parties involved) คือกรรมการเสียงแตก ไม่เป็นเอกฉันท์ ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันในสัดส่วนที่มากพอต่อการตัดสินใจรับข้อเสนอ ซึ่งถ้าให้ผมแปลเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ดีลนี้ไม่ได้รับการอนุมัติ และกิบสันต้องล้มพับแผนการนี้ไป สำนักข่าวรอยเตอร์สรุปผลการเจรจาไว้สั้นๆง่ายๆ คลิกอ่านได้ที่นี่ครับ

ผมไม่รู้ว่าเจ้าหนี้รายนี้มีเหตุผลอะไรบ้างที่ไม่เอาด้วย บางทีเขาอาจมองว่าเป็นเจ้าหนี้แบบนี้ยังดีกว่ามีส่วนเป็นเจ้าของบริษัทลูกหนี้ ที่กำลังจะเจ๊งมิเจ๊งแหล่รึเปล่าก็ไม่แน่ใจนะครับ หรือบางทีเขาอาจมองไปถึงวันล้มละลายอย่างเป็นทางการแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไปก็ได้มั้ง เรื่องนี้ถ้าเพื่อนๆมีความคิดเห็นประการใดก็ลองคอมเมนท์แชร์ความเห็นกันได้นะครับ

 

ความพยายามครั้งต่อไปของ Gibson

กิบสันจะเจรจาเช่นนี้กับเจ้าหนี้รายอื่นๆต่อไป ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่ากำลังคุยกับใครและผลออกมาเป็นเช่นไร (เรื่องแบบนี้น่าจะเป็นความลับทางธุรกิจนะครับ เผยแพร่ซี้ซั้วโดยที่คู่เจรจาไม่อนุญาตอาจไม่เป็นผลดีต่อการเจรจา) ซึ่งหากผมทราบข่าวประการใดก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปนะครับ

 

ซีอีโอเฮนรี่ยอมเปลี่ยนท่าที?

ถ้าใครติดตามบทความก่อนๆของผม จะทราบว่า CEO Henry ไม่ต้องการเปลี่ยนมือเจ้าของบริษัทแม้จะมีแรงกดดันจากผู้ลงทุนบางราย แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้เขาเริ่มเสียงอ่อนลงแล้วนะครับ จากการเจรจาครั้งนี้ผมอยากให้เพื่อนๆสังเกตคำว่า change of control ที่กิบสันโดยคุณเฮนรี่ เอาไปใช้เป็นข้อเสนอให้ KKR เพราะนั่นสามารถตีความได้ว่า ตอนนี้คุณเฮนรี่แกยอมยกความเป็นเจ้าของบริษัทให้คนอื่น หากมันจะช่วยให้บริษัทไม่ล้มละลาย  ซึ่งก็คงไม่แปลกอะไร ในเมื่อเขาเองก็กำลังเดินเข้าไปใกล้ปากเหวเข้าไปทุกทีๆ

Gibson Brands CEO Mr. Henry Juszkiewicz กับป๋าสแลช

https://www.pollstar.com/article/while-my-guitar-gently-weeps-gibson-guitar-facing-bankruptcy-134620

 

ส่งท้าย

อย่างที่ผมเคยพูดหลายครั้งในบทความก่อนๆ เกี่ยวกับ Gibson ใกล้ล้มละลาย วันนี้ผมก็จะย้ำข้อความเดิม ว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับบริษัทกิบสันยุคที่พวกเราคุ้นเคย พวกเรา ในฐานะผู้บริโภค ไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องตื่นตระหนก” ไม่ต้องรีบซื้อรีบเก็บให้คนขายหลอกฟันหัวแบะ กีตาร์ยี่ห้อนี้โหลจนไปร้านมือสองร้านไหนก็เจอ แล้วมีของใหม่มาเติมสต๊อกตลอด (ขออภัยที่พูดตรงๆครับ) ทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นหรือกำลังเกิิดขึ้นกับแบรนด์นี้มันก็แค่วัฏจักรทางธุรกิจเท่านั้น แบรนด์นี้มันไม่พังหรอกครับ ก็แค่อาจมีการเปลี่ยนมือเจ้าของ

แต่หากคุณเฮนรี่สามารถรักษาบริษัทให้อยู่ภายใต้การบริหารของแกต่อไปได้อีก แกก็ต้องคิดใหม่ ปรับใหม่ ให้หนัก ซึ่งหลังจากวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของแบรนด์ Gibson ผมเชื่อว่าสิ่งที่เจ้าของท่านนั้นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน คือ ใช้บทเรียนจากประวัติศาสตร์ของแบรนด์ในช่วงยุค 70s-80s ที่กลุ่มทุน Norlin เข้ามาเทคโอเวอร์ และบทเรียนของเฮนรี่ในตอนนี้ ว่า อย่าทำอะไรมักง่ายๆแบบกีตาร์กิบสันยุค Norlin และฟังเสียงของลูกค้าระดับกลาง-ล่าง ให้มากกว่าที่เฮนรี่ทำ ซึ่งผมเชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือกีตาร์ยี่ห้อนี้จะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้วยคุณภาพที่ปรับปรุงให้ ‘สมราคา’ กว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้  

ก็ขอให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีนะครับ

 


ผมขอขอบคุณพี่หน่วย อิสระสรรค์ สำหรับความรู้เรื่องการลงทุนในบทความนี้ พี่หน่วยเคยเขียนบทความวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจที่น่าสนใจหลายบทความในเว็บไซต์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) เพื่อนๆที่สนใจลองเข้าไปอ่านได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้นะครับ

https://www.scbeic.com/th/eic_analysis


ติดตามอ่านบทความของผมได้ทาง FB page คลิกที่นี่ครับ

เข้ากลุ่ม FB กีตาร์ PRS คลิกที่นี่ครับ