Guitar Center จ่อล้มละลาย สังเวยขาลงของวงการกีตาร์

พักนี้มีเหตุการณ์ทำนองนี้เยอะนะครับ ยักษ์ใหญ่ในวงการกีตาร์ไม่ได้มีแค่ Gibson รายเดียวที่กำลังแย่ ยังมีเจ้าอื่นๆอีก คราวนี้เป็นเรื่องราวของ Guitar Center ผู้ค้าปลีกเครื่องดนตรีรายใหญ่ที่สุดของอเมริกาที่กำลังข้าตาจน จ่อล้มละลายอีกบริษัท

 

เกิดอะไรขึ้นกับ Guitar Center?

http://www.businessinsider.com/bankruptcies-expected-this-year-2018-4#guitar-center-17

Guitar Center หรือที่ฝรั่งนิยมเรียกสั้นๆว่า GC เป็นเครือร้านขายเครื่องดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีสาขามากมายกว่า 280 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา กำลังมีปัญหาทางการเงินอย่างหนัก เนื่องจากมีหนี้สินมูลค่าสูงถึง 615 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราวๆ 19,145 ล้านบาท) ซึ่งเป็นหนี้จากการขายหุ้นกู้มีประกัน (secured notes) เพื่อระดมทุน ซึ่งจะครบกำหนดจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนให้นักลงทุนหรือเจ้าหนี้ในเดือนนี้ แต่ปรากฏว่าไม่มีเงินใช้หนี้ เนื่องจากไม่สามารถบริหารเงินที่กู้มาให้เกิดกำไร จึงกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่คงจ่ายเจ้าหนี้ไม่ทันกำหนด ซึ่งสถานการณ์แบบนี้เข้าข่ายคล้ายกิบสัน แต่หนี้ของ GC นั้นสูงกว่าประมาณสามพันล้านบาท

GC แก้ไขสถานการณ์โดยยื่นข้อเสนอกับนักลงทุน (เจ้าหนี้) ด้วยหุ้นกู้ชุดใหม่รวมมูลค่า 635 ล้านเหรียญสหรัฐพร้อมเสนอผลประโยชน์ยั่วใจด้วยการให้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าหนี้ก้อนเดิมพร้อมขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีกสามปี (ถึงปี 2021) เพื่อแลกกับการรีไฟแนนซ์หนี้ก้อนเดิม GC หวังว่าหาก deal นี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องของบริษัทและซื้อเวลาต่อไปอีกสามปี บางทีถึงตอนนั้นอะไรๆอาจจะดีขึ้น

เว็บไซต์ข่าวสารวงการค้าปลีก retaildive.com รายงานว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินรายใหญ่อย่าง Standard & Poor (S&P) ก็จัดการลดอันดับความน่าเชื่อถือด้านการลงทุนของ GC จากเดิมเกรด CC ที่ถือว่าติดลบอยู่แล้วให้ต่ำลงไปอีก เป็นเกรด CCC- แสดงถึงความย่ำแย่ทางการเงินอย่างหนักใกล้ล้มละลายของ GC หากไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สินดังกล่าวได้ทันการณ์

สรุปว่าดีลนี้ได้ผลเป็นยังไงนั้น ผมเองก็ยังไม่เห็นข่าวคราว ถ้ามีอะไรอัพเดทผมจะมาเล่าให้เพื่อนๆฟังอีกทีนะครับ

 

อุตสาหกรรมกีตาร์ “ขาลง” สาเหตุหนึ่งของ GC จ่อล้มละลาย

Kevin Smith คอลัมนิสต์ของเว็บไซต์ dailynews.com นำเสนอมุมมองของคุณ George Gruhn เจ้าของร้านกีตาร์ร้านดัง Gruhn Guitar Shop ร้านกีตาร์เก่าแก่ของเมือง Nashville ที่เครดิตดีถึงขนาดมือกีตาร์ดังๆ หลายท่านอย่าง Eric Clapton ยังมาซื้อจากร้านนี้ คุณปู่กรุนในวัย 71 ปีผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวในยุทธจักรกีตาร์มายาวนานกว่าห้าทศวรรษ วิเคราะห์ถึงสาเหตุของความย่ำแย่ของ GC รวมถึงสภาวะของตลาดกีตาร์ไว้น่าสนใจหลายประเด็น ดังนี้ครับ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (demographic shifting)

อาจฟังดูวิชาการๆ แต่ถอธิบายได้ง่ายๆว่าคือการเปลี่ยนช่วงวัยครับ คือ กลุ่มลูกค้าที่เคยเป็นนักช็อปกีตาร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นเก๋าที่เติบโตมากับยุคบลูส์ครองเมืองช่วง 60s – 70s คลาสสิคร็อก, กีตาร์ฮีโร่ ทุกวันนี้ต่างก็มีอายุอานามกันพอสมควรแล้ว คนในวัยนี้จะเริ่มไม่ค่อยจับจ่ายซื้อหากีตาร์ผลิตใหม่เหมือนสมัยที่ยังอยู่ในวัยทำงานที่ตอนนั้นยังมีไฟและมีรายได้ประจำ ส่วนลูกค้ารุ่นใหม่ก็กลับเติบโตมาในยุคที่สิ่งแวดล้อมด้านดนตรีเปลี่ยนไปอย่างมากเมื่อเทียบกับยุคของคุณพ่อ-คุณลุง หากเราสังเกตเพลงฮิตติดชาร์ทอันดับต้นๆ ของยุคเด็กรุ่นใหม่เราจะเห็นว่า เพลงที่กีตาร์เป็นพระเอกอย่างยุค Paul McCartney, Eric Clapton ยัน Billy Gibons อย่างสมัยของคุณพ่อนั้นไม่มีหรอก ตรงนี้ผมคิดว่าถ้าจะพอเพลงยุคนี้ที่มีกีตาร์ออกโรงบ้าง ก็จะเป็นการใช้กีตาร์เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการขายไอเดียของเพลงมากกว่า แต่ไม่ได้รับบทเด่นแบบปั่นกีตาร์โชว์ ลองนึกถึง Green Day, Ed Sheeran, Taylor Swift อะไรพวกนี้ ถามว่ากีตาร์มีไหม ก็ตอบว่ามี แต่ไม่ได้ชูจุดขายในเรื่องการเล่นกีตาร์ที่ซับซ้อนอะไร

เรื่องลูกค้าชั้นดีท่ีกำลังกลายเป็นลูกค้าสูงวัยนั้น Richard Ash ซีอีโอแห่งร้านกีตาร์เจ้าดัง Sam Ash ก็ออกมาให้ความเห็นในลักษณะเดียวกับ Gruhn เขาบอกว่าลูกค้าของเขากำลังแก่ตัวลงไปทุกที และพวกเขาก็จะหายไปในที่สุด

ยุคกีตาร์ฮีโร่มันจบไปแล้ว

จากเรื่องของช่วงวัยที่เปลี่ยนไป เพื่อนๆอาจพอเห็นภาพว่าสิ่งสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจสร้างลูกค้าชั้นเยี่ยมให้ร้านกีตาร์ก็คือ “กีตาร์ฮีโร่” นั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้คุณ Gruhn มองว่านี่เป็นปัญหา เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ แต่กลับไม่มีฮีโร่คนใหม่ที่จะมาสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นหลังหันมาสนใจเล่นกีตาร์หรือซื้อกีตาร์อย่างจริงจังอย่างรุ่นพ่อของพวกเขา

Gruhn ให้ความเห็นว่า ยุคนี้คนเก่งๆ ที่เห็นก็มี Joe Bonamassa (คนนี้ขวัญใจผมเลย) แต่ถึงแม้จะดูเด่นแค่ไหนในวงการ เขาก็ไม่ได้ช่วยสร้างยอดขายกีตาร์ได้อย่างมือกีตาร์ดังๆ ในอดีต และสำหรับฮีโร่คนเก่าคนแก่อย่างท่านเซอร์ Eric Clapton ณ ตอนนี้ด้วยสังขารไม่อำนวยท่านก็เริ่มเล่นกีตาร์ลำบากขึ้น ออกทัวร์น้อยลง อีกคนนึงที่ผมแอบห่วงอยู่ห่างๆ ก็คือปู่ Angus Young แห่งวง AC/DC ที่ปีนี้ไม่ young (หนุ่ม) เพราะตอนนี้ปู่ก็อายุ 63 แล้วนะ

http://www.musiclipse.com/news/acdc-in-the-studio-for-new-album-and-tour-in-2014

เรื่องกีตาร์ฮีโร่ในยุคใหม่นั้น สำหรับผมเองมองเบี่ยงออกไปอีกมุม คือผมมองว่า ยุคนี้ไม่ใช่ว่ามันไม่มีคนเก่งๆ หรือชนชั้นฮีโร่นะ ตรงกันข้าม คนเก่งๆ เกิดใหม่มีเยอะมาก และมีออกมาเรื่อยๆ แถมมีเวทีประกวดให้ปล่อยของกันอยู่เป็นระยะๆ หรือแม้แต่ประกวดข้ามโลกผ่าน youtube.com ก็ยังมี แต่เนื่องจากในวันนี้แนวเพลงมีมากมายหลากหลายเหลือเกิน และจากย่อหน้าที่ผ่านมาเราก็ได้คำตอบแล้วว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในยุคนี้ แทบไม่ได้เลือกที่จะฟังดนตรีร็อกหรืออะไรที่กีตาร์เป็นพระเอก แม้จะมีคนเก่งกีตาร์เทพๆ เกิดใหม่มากมาย  แต่ก็ไม่ได้เป็นจุดสนใจของชาวโลกเหมือนดังแต่ก่อน ดังนั้นสถานะ “ฮีโร่” ในยุคนี้จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะจำนวนผู้ที่ให้ความสนใจหดเล็กลงเหลือเพียงคนเฉพาะกลุ่มนั่นเอง

เรื่องกีตาร์ฮีโร่กับแรงดลใจในการเลือกซื้อกีตาร์นั้น ผมมองตัวเองว่าคงเป็นลูกค้าแปลกๆ ที่การตลาดแบบขายลายเซ็นไอดอลใช้กับผมไม่ได้ อาจจะเพราะผมไม่มีไอดอลในใจจริงจัง ก็ฟังเพลงไปเรื่อยๆ หลากหลายแนว ฟังคนนั้นสามเพลงคนนู้นสี่เพลง ไม่หลงไหลแนวเพลงแนวเดียวหรือมือกีตาร์คนไหนจริงจังถึงขั้นเก็บเงินซื้อกีตาร์รุ่นลายเซ็น การซื้อกีตาร์ของผมจึงเน้นกีตาร์ที่ตอบโจทย์ในเรื่องฟังก์ชันการใช้งาน ความสวยงาม ความคุ้มค่า ผมมีลิสต์กีตาร์ที่อยากได้อยู่เกือบ 20 ตัว แต่มีเพียง 3 ตัวเท่านั้นที่เป็นรุ่นลายเซ็น และที่มีพวกมันอยู่ในลิสต์ก็เพียงเพราะสวย สเปคดี หรือเล่นง่ายเท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวกับลายเซ็น มีใครเป็นอย่างผมบ้างไหมครับ?

การเรียนกีตาร์มันน่าเบื่อ?

Louie Concotilli เจ้าของร้าน Mugzey Music เล่าว่า เด็กสมัยนี้ไม่อยากเข้าคอร์สเรียนกีตาร์จริงจังเนื่องจากต้องใช้เวลาเรียนเป็นเดือนๆ ซึ่งเด็กเดี๋ยวนี้ไม่มีความอดทนขนาดนั้นแล้ว เด็กยุคใหม่ต้องการทางออกที่รวดเร็วทันใจเป็นสำคัญ ดังนั้น วิธีการเรียนที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในสมัยนี้คือการเปิดยูทูป เสิร์ชหาคลิปสอนเฉพาะเทคนิคที่ต้องการ แล้วก็ฝึกเล่นตามนั้นเลย ซึ่ง Concotilli มองว่าวิธีนั้นใช้ฝึกได้ก็จริง แต่ผู้เรียนจะไม่รู้หลักการเรียนการสอนที่ถูกต้อง สิ่งนี้สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่มักไม่ได้มีความสนใจจริงจังกับการเล่นกีตาร์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีแนวโน้มที่จะไม่รักหรือใส่ใจพอที่จะอดทนเก็บเงินซื้อกีตาร์ตัวที่สองที่สาม เป็นสาเหตุหนึ่งของตลาดกีตาร์ขาลงนั่นเอง

หรือที่จริงแล้ว ตลาดกีตาร์มันไม่มั่นคงมาตั้งแต่แรก?

คุณ Gruhn ให้ความเห็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก แกบอกว่าอันที่จริงแล้วอุตสาหกรรมการผลิตกีตาร์มันเริ่มต้นแบบฟองสบู่อยู่แล้ว ไม่มีความมั่นคงโดยตัวของมันเองอยู่แล้วตั้งแต่เริ่ม และที่อุตสาหกรรมกีตาร์ดูเหมือนขาลงในตอนนี้ ที่จริงไม่ใช่ขาลง แต่เป็นการปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุลของตัวมันเอง ถ้าสถานการณ์ตอนนี้เป็นจริงอย่างแกว่า ผมว่าก็คงไม่มีใครทำอะไรได้ นอกจากยอมรับและปรับตัวนะครับ ก็เป็นไปตามกลไกตลาดซึ่งทุกแวดวงอุตสาหกรรมเขาเป็นกันหมด สินค้าใดๆที่ไม่ตอบโจทย์ อะไรที่ลูกค้าไม่ต้องการ มันก็จะต้องลดจำนวนการผลิตลงไป

 

เพื่อนร่วมชะตากรรม

ก็คงหนีไม่พ้น Gibson ที่ใกล้เจ๊งมิเจ๊งแหล่อย่างที่ผมได้นำเสนอไปในหลายบทความก่อนหน้านี้ ที่ตอนนี้กำลังพยายามอย่างสุดกำลังในการขอรีไฟแนนซ์หนี้ที่เกิดจากการขายหุ้นกู้มูลค่า 16000 ล้านบาทแล้วไม่มีเงินใช้หนี้ เนื่องจากกิจการเครื่องเสียง hi end ที่เอาเงินไปลงทุนนั้นไม่สร้างผลกำไรอย่างที่คาดการณ์ไว้ เส้นตายครบกำหนดชำระหนี้ของกิบสันคือช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้หรืออีกเพียงราวๆร้อยวัน แต่ความพยายามเจรจากับเจ้าหนี้ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จสักราย ซึ่งตอนนี้ Gibson FC ทั่วโลกต่างก็ลุ้นกันตัวโก่ง บ้างก็ลุ้นให้รอด บ้างก็ลุ้นให้เจ๊งจะได้เปลี่ยนทีมผู้บริหารใหม่เผื่ออะไรๆ มันจะดีกว่านี้ ฮ่าๆ ผมก็ขอเอาใจช่วยนะครับ

คลิกที่นี่เพื่ออ่านบทความย้อนหลังเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการเงินของ Gibson ครับ

http://direstraitsblog.com/guitar-stories/guitar-company-gibson-reportedly-facing-bankruptcy/

 

สถิติยอดขายกีตาร์ในปัจจุบัน

บางคนอาจมองว่าที่ผมพูดไปพูดมามันก็มีแต่ความเห็นและความรู้สึก ไม่มีหลักฐาน งั้นเรามาดูนี่กันหน่อยครับ เป็นกราฟสถิติยอดขายกีตาร์ไฟฟ้าในอเมริกา ตั้งแต่ปี 2005 –  2017  ตัวเลขบนกราฟแท่งมีหน่วยเป็นพันตัวนะครับ

https://www.statista.com/statistics/439911/number-of-electric-guitars-sold-in-the-us/

เราจะเห็นว่ายอดขายกีตาร์ไฟฟ้าในอเมริกา บ้านเกิดของเครื่องดนตรีชนิดนี้ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 1,568,000 ตัวในปี 2005 ในปี 2017 ที่ผ่านมาลดลงเหลือ 1,123,000 ตัว หรือลดลงไปราวๆ 28% และคงจะลดลงไปเรื่อยๆ หากรสนิยมการบริโภคดนตรีของคนยุคนี้ยังเป็น hip hop, pop, R&B อย่างปัจจุบัน ผมไม่ได้บอกว่าแนวเพลงพวกนี้ไม่ดีนะครับ แค่จะบอกว่าแนวเพลงพวกนี้กีตาร์ไม่ค่อยได้เกิดก็เท่านั้นเอง

สถิตินี้ผมก็ยังคิดว่ามันเป็นการแสดงตัวเลขก้อนใหญ่ๆ ที่ค่อนข้างหยาบนิดนึง ไม่เห็นรายละเอียดว่า ในจำนวนกีตาร์ไฟฟ้าที่ขายในแต่ละปีนั้น แบ่งเป็นกีตาร์ประเภทไหน ช่วงราคาเท่าไหร่ ยอดขายมากน้อยเพียงใด ซึ่งรายละเอียดพวกนี้ก็สำคัญ เพราะมันจะบ่งบอกพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อกีตาร์ของผู้คนในแต่ละปีได้อีกด้วย

 

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…

สมัยก่อนคนซื้อกีตาร์เพราะมีฮีโร่ฉายแสงเด่นเป็นพระจันทร์อยู่กลางฟ้า แต่สมัยนี้เราไม่มีคืนจันทร์เพ็ญอีกแล้ว เรามีแต่คืนเดือนมืดที่เต็มไปด้วยดาวดวงเล็กดวงน้อยเป็นล้านๆดวงแข่งกันเปล่งแสง และพระจันทร์ดวงเก่าหลายดวงก็กำลังใกล้มอดดับลงตามอายุขัย ดังนั้นอุตสาหกรรมกีตาร์ก็ควรที่จะพัฒนาสินค้าที่เข้าถึง เข้าใจความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ๆ ต้องมองรสนิยมของลูกค้ายุคใหม่ ยุคที่เด็กเริ่มไม่สนใจฮีโร่เก่าๆ ว่าลูกค้าพวกนี้เขามองหาอะไร ต้องปรับตัวยังไงให้แบรนด์มีความยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดยุคนี้ที่รวดเร็วและรุนแรง อย่างเช่น ทำรุ่นราคาประหยัดแถวๆหมื่นสองหมื่นออกมาให้มากขึ้นดีมั้ย? ยอมย้ายฐานการผลิตบางรุ่นไปนอกอเมริกาบ้างเพื่อทำราคาให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นดีมั้ย? นำนวัตกรรมวัสดุทดแทนใหม่ๆ มาใช้ รวมถึงปรับกระบวนการผลิตให้ลดต้นทุนลงดีมั้ย? เน้นระบบขายออนไลน์มากกว่ามีสาขาเยอะๆดีกว่ามั้ย? ฯลฯ ในส่วนของนักดนตรีเองก็ต้องสร้างเอกลักษณ์และปรับตัวให้ทันสมัยเพราะคู่แข่งใหม่ๆ มีเกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่คำแนะนำของผมคือ น่าจะหาอาชีพสำรองหรือสร้างธุรกิจเสริมทำควบคู่ไปด้วยก็จะดีนะครับ โลกเราเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงเกินกว่าเราจะฝากชีวิตไว้กับรายได้เพียงแหล่งเดียว

นอกจากรสนิยมทางดนตรีของคนยุคนี้ที่เปลี่ยนไป ยังมีอีกตัวแปรหนึ่งที่คงส่งผลต่อการซื้อกีตาร์ของคนยุคนี้ไม่มากก็น้อย นั่นก็คือสภาพเศรษฐกิจครับ ด้วยสภาพเศรษฐกิจตกสะเก็ดอย่างในปัจจุบันนี้ สำหรับหลายๆคนแล้ว สินค้าที่ราคาสูงแถมไม่ค่อยจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างกีตาร์ก็คงไม่ใช่สินค้าที่ถูกจัดลำดับความสำคัญลำดับต้นๆของรายการช็อปปิ้ง หรือถ้าจะซื้อ หลายคนก็จะมองที่ตัวเลือกราคาประหยัดแต่คุณภาพดี ซึ่งทุกวันนี้เราจะเห็นว่าตลาดกีตา์ระดับราคาหมื่นสองหมื่นบาทเป็นที่นิยมมากขึ้น ผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง PRS เองก็เพิ่มสินค้ารุ่นใหม่ๆ เพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างผิดหูผิดตา ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้นานแล้วในบทความก่อนๆ

เรื่องอุตสาหกรรมกีตาร์ขาลงนี้เพื่อนๆมองยังไงครับ คิดว่าโลกกีตาร์ของพวกเราอีกห้าปีสิบปีจะเป็นอย่างไร คอมเมนท์แชร์ความเห็นกันได้นะครับ

 


ติดตามอ่านบทความของผมได้ทาง FB page คลิกที่นี่ครับ

เข้ากลุ่ม FB กีตาร์ PRS คลิกที่นี่ครับ