Gibson ปลดพนักงาน Custom Shop, ขายบริษัทลูก – ความหวังริบหรี่หนี “ล้มละลาย”

 

ถ้าไม่นับเรื่อง PRS Silver Sky แล้ว เรื่องอื่นๆ ในแวดวงกีตาร์ที่ผมสนใจในช่วงนี้ เห็นทีจะหนีไม่พ้นเรื่องสภาวะทางการเงินของกิบสันที่ย่ำแย่สาหัสใกล้ล้มละลายที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อเดือนที่แล้ว

กิบสันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

เล่าแบบสรุปบ้านๆ กิบสันกู้เงินจากธนาคารและขายตราสารหนี้หรือหุ้นกู้เพื่อระดมเงินมาลงทุน ซึ่งการหาเงินลงทุนด้วยวิธีนี้ก็จะมีการชักชวนโดยโฆษณาแผนการลงทุนต่างๆนาๆ ใครที่สนใจร่วมลงทุนก็จะซื้อหุ้นกู้นี้แล้วรอรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามที่โฆษณาไว้  การระดมทุนแบบนี้กิบสันก็มีสถานะเป็นลูกหนี้ และต้องนำเงินที่นักลงทุนเขาไว้วางใจให้มานั้นไปลงทุนทำธุรกิจต่างๆ ตามแผนการลงทุนที่ประกาศไว้ตอนขายหุ้นกู้ เพื่อให้เกิดกำไรงอกเงยและมีเงินมาใช้หนี้ + จ่ายผลตอบแทนให้นักลงทุนภายในเวลาที่กำหนด

แต่ถึงตอนนี้ เพื่อนๆ คงเดาออกแล้วใช่ไหมครับ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร? ใช่ครับ กิบสันเอาเงินไปลงทุนแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จครับ ก็เลยไม่มีเงินพอใช้หนี้ที่ยืมมาจากนักลงทุน ซึ่งหนี้สินของกิบสันมีจำนวนสูงถึง 522 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 16,400 ล้านบาท!! โดยเป็นเงินกู้จากธนาคาร 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งมีกำหนดชำระคือวันที่ 23 กรกฎาคม 2018 และตราสารหนี้อีก 377 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ต้องชำระช่วงต้นเดือนสิงหาคมปีนี้เช่นกัน หรือนับจากวันนี้ก็เหลือเวลาอีกประมาณ 4 เดือนที่จะต้องหาเงินมาใช้หนี้ให้ทัน

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้านการลงทุนชื่อดัง 2 สำนัก เริ่มจาก S&P (Standard and Poor) ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของ Gibson ให้อยู่ในเรตติ้ง CCC-minus ซึ่งหมายความสถานะทางการเงินอยู่ในขั้นใกล้ล้มละลาย รวมถึง Moody’s Investor Services ก็ดาวน์เกรดความน่าเชื่อทางการเงินของกิบสันลงไปอยู่ระดับ Caa3 ซึ่งก็ย่ำแย่ไม่ต่างกัน

Kevin Cassidy นักวิเคราะห์อาวุโสด้านการลงทุนของมูดดีส์ให้ความเห็นว่า กิบสันต้องเร่งลดภาระต้นทุนอย่างเร่งด่วนควบคู่ไปกับการเพิ่มผลกำไรอย่างต่อเนื่อง หากเรื่องนี้จบลงด้วยการประกาศล้มละลาย ก็เท่ากับว่า เขา (CEO ของกิบสัน Henry Juszkiewicz) ต้องเสียทั้งบริษัทไป กิบสันต้องเร่งปรับโครงสร้างอะไรบางอย่างเพื่อความอยู่รอด ที่จริงธุรกิจหลัก (เครื่องดนตรีแบรนด์ Gibson) ของบริษัทฯ เป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงและยั่งยืนอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีการแก้ปัญหางบดุล (balance sheet problem) และปัญหาการปฏิบัติงาน (operational problem) ให้ได้

 

https://www.moodys.com/research/Moodys-downgrades-Gibsons-CFR-to-Caa3-outlook-negative–PR_371298

การลงทุนที่ผ่านมา

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กิบสันนำเงินไปลงทุนซื้อกิจการต่างๆ ในกลุ่มธุรกิจเครื่องเสียง สรุปได้ดังต่อไปนี้ครับ

  • ซื้อกิจการบริษัท Cakewalk ในปี 2013 ซึ่งเป็นปีที่กู้เงินธนาคารมา 145 ล้านเหรียญ หรือราวๆ 4,525 ล้านบาท
  • ซื้อกิจการเครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อความบันเทิง Phillips ในปี 2014 ด้วยเงินมากกว่า 135 ล้านเหรียญ
  • ซื้อกิจการเครื่องเสียงระดับโปร ยี่ห้อ TEAC ของญี่ปุ่น
  • ซื้อหุ้นบริษัท Onkyo ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องเสียง Pioneer ด้วย

นอกจากนี้ เว็บไซต์ musicradar ได้สรุปรายชื่อแบรนด์เครื่องเสียงที่กิบสันซื้อกิจการไว้ มี KRK Systems, TASCAM, Cakewalk, Cerwin-Vega!, Stanton, Onkyo, Integra, TEAC, TASCAM Professional Software, และ Esoteric

รวมทั้งมีแบรนด์ต่างๆ ที่เป็นแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องดนตรี เช่น Epiphone, Dobro, Valley Arts, Kramer, Steinberger, Tobias, Slingerland, Maestro, Baldwin, Hamilton, Chickering และ Wurlitzer

สัญญาณเตือน

ก่อนเรื่องกิบสันใกล้ล้มละลายจะกลายเป็นข่าวดังเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ กิบสันก็เริ่มทำอะไรที่ส่อลางไม่ดีมาสักพักแล้ว อย่างในเดือนตุลาคมปี 2017 เว็บไซต์ musicradar รายงานว่า กิบสันประกาศขายโรงงานผลิตกีตาร์ที่ Memphis ซึ่งแฟนๆก็คงรู้กันดีว่าโรงงานแห่งนี้เป็นสถานที่ผลิตกีตาร์ไฟฟ้าตัวกลวงตระกูล ES หลายรุ่นที่แฟนๆต่างปรารถนา โรงงานดังกล่าวกิบสันตั้งราคาขายไว้ที่ 18 ล้านเหรียญ โดยบริษัทจะหาสถานที่แห่งใหม่ที่เล็กกว่าและมีค่าบริหารจัดการที่ถูกกว่า แทนโรงงานเดิม

https://www.musicradar.com/news/gibson-is-selling-its-memphis-factory

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระหว่างที่ผมกำลังติดตามข่าวการเปิดตัวกีตาร์ใหม่ๆ ในงาน NAAM 2018 ก็ได้ทราบข่าวดังข่าวใหญ่ ว่า Gibson ไม่ออกบูธงาน NAAM 2018!! แต่ดันไปออกบูธในงานเครื่องใช้ไฟฟ้า Consumer Electric Show (CES) (?!?!?) ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันที่ลาสเวกัสแทนซะงั้น ซึ่งที่กิบสันแหกม่านประเพณีเช่นนั้นก็คงเพื่อพยายามประกาศตัวตนในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อความบันเทิง ซึ่งตนได้ซื้อกิจการในแวดวงนี้ไว้หลายแบรนด์ หมดเงินไปหลายร้อยล้านดอลลาร์

เพื่อนๆดูรูปพวกนี้แล้วรู้สึกยังไงครับ งงๆ พิลึกๆ เหมือนอะไรๆ มันอยู่ผิดที่ผิดทางหรือเปล่า?

https://www.vguitarforums.com/smf/index.php?topic=22187.0

https://twitter.com/bhaskardk/status/817098915833004032/photo/1

ป๋าสแลชยืนคู่กับ CEO บริษัท Gibson นาย Henry Juszkiewicz ผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายแหล่ของแบรนด์นี้ บุคคลผู้ซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวขานในวงการกีตาร์มากที่สุดคนหนึ่ง และผมว่าเพื่อนๆที่เป็นสาวกกิบสันคงจะจดจำเขาไปอีกนานแสนนานเลยล่ะครับ ส่วนที่ป๋าสแลชแกต้องไปยืนในงานขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบนั้นก็ต้องเข้าใจแกครับ ต้องไปช่วยขายกีตาร์ลายเซ็นของตัวเอง

http://www.zimbio.com/photos/Slash/Henry+Juszkiewicsz/Gibson+Rocks+Opening+CES+2018+Slash/g1NRhQ5Oxsq

แก้ไขสถานการณ์: เลิกจ้าง – ขายกิจการบางส่วน

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Henry Juszkiewicz ออกมายอมรับว่าบริษัทเหลือเวลาไม่มากนักในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงิน และประกาศว่ากำลังเร่งดำเนินการหลายอย่างตามแผน refinance ที่วางไว้ เพื่อให้กิบสันกลับมาประสบความสำเร็จทางการเงินดังเช่นที่เคยเป็นในอดีต ดังนี้ครับ

“…Gibson Chairman and CEO Henry Juszkiewicz said, “These bonds expire as all fixed income instruments do at the end of their term.  He noted that, as previously disclosed, the company has been working with Jefferies investment bank in a process to manage the refinancing process.

He said that the company continues to streamline and focus its Philips brand consumer audio business on those products that have greater growth potential, as well as eliminating product segments that do not perform to our expectations and have little upside in the future. Gibson expects this strategy will lead to the best financial results the company has seen in its history within the next year, and an ability to pay back the company’s debt in whole within several years.”

อะ รู้นะว่าขี้เกียจแปล ผมสรุปให้ตามนี้ครับ

  • กิบสันอยู่ระหว่างปรึกษากับธนาคารเพื่อการลงทุน Jefferies Investment Bank เกี่ยวกับการ refinance หนี้สินของบริษัท
  • ยืนยันจะเดินหน้าธุรกิจเครื่องเสียงของแบรนด์ Phillips ต่อไป โดยจะเน้นทำตลาดเฉพาะสินค้าที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง
  • ยกเลิกการผลิตสินค้าที่ไม่ทำกำไรหรือทำได้ต่ำกว่าเป้า
  • แปลงสินทรัพย์ต่างๆ ที่ไม่สร้างผลกำไร ให้กลายเป็นทุน (monetize) โดยสินทรัพย์ที่ว่านั้นก็ได้แก่ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และแบรนด์ลูกบางแบรนด์ เพื่อนำเงินที่ได้มาเป็นทุนดำเนินธุรกิจที่ตนเองมีความถนัด
  • แผน refinance นี้คาดว่าจะเริ่มเห็นผลในต้นปีหน้า และอาจใช้เวลาหลายปีจึงจะชำระหนี้สินได้ทั้งหมด

Cassidy นักวิเคราะห์จากมูดดีส์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg เกี่ยวกับแผน refinance ของกิบสันว่า กิบสันหวังว่าหากลดภาระค่าใช้จ่ายและลดภาระหนี้สินได้ในระดับหนึ่ง ก็อาจช่วยเพิ่มโอกาสให้บริษัทสามารถขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อ refinance ได้ แต่ทางมู้ดดี้ส์มองว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าท้ายที่สุดแล้วกิบสันจะทำไม่สำเร็จและผิดนัดชำระ หรือไม่ก็มีการปรับโครงสร้างทางการเงิน  (financial restructuring) อะไรบางอย่าง

ซึ่งแผนการดังกล่าวก็เป็นที่มาของข่าวใหญ่ในอีกสองสามวันถัดมา คือการขายกิจการ Cakewalk ที่กิบสันซื้อมาเมื่อปี 2013 ให้กับบริษัท Bandlab ของสิงคโปร์ ซึ่งดูจะเป็นข่าวดีของคนในวงการห้องอัด เว็บไซต์ musicradar เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “เทศกาลเซลกระหน่ำขายกิจการ เริ่มขึ้นแล้ว”

นอกจาก Cakewalk กิบสันก็ขายตึก Valley Arts โดยตกลงราคาไว้ที่ 11 ล้านเหรียญ แต่จู่ๆกลับไปตกลงขายให้ผู้ซื้ออีกเจ้าหนึ่งในราคา 12 ล้านเหรียญแทน ซึ่งตอนนี้ก็กำลังเป็นคดีความกันอยู่ เนื่องจากผู้ซื้อเจ้าแรกนั้นไม่ยอม

https://www.nashvillepost.com/business/legal/litigation/article/20989736/another-investor-sues-over-stalled-gulch-property-sale

นอกจากนี้ก็ยังมีข่าวลือว่า กิบสันกำลังจะขายกิจการเปียโนแบรนด์ Baldwin ออกไปทั้งยวง แต่ข่าวนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันนะครับ

ล่าสุด เว็บไซท์ Digitalmusicnews รายงานว่า กิบสันเพิ่งปลดพนักงานบางส่วนเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยเริ่มจากลูกจ้างของ Custom Shop มากกว่า 15 คน เป็นลูกจ้างระดับอาวุโสไม่เว้นแม้กระทั่งระดับหัวหน้างานหรือ supervisor และเหลือพนักงานแผนกนี้อีกราว 100 คน การปลดพนักงานครั้งนี้แน่นอนว่าสร้างความตื่นตระหนกไปถึงพนักงานในแผนกอื่นๆ ว่าจะมีการ lay off ระลอกถัดไปเกิดขึ้นตามมาอีกหรือไม่และเมื่อไหร่

พูดถึงประเด็นการปลดคนงาน (โดยเฉพาะในแผนก CS ที่ผลิตกีตาร์ hi-end) คงเป็นตัวบ่งบอกความย่ำแย่ทางการเงินของ Gibson ได้เป็นอย่างดี เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการที่ไหนก็คงทำเพื่อลดต้นทุนตายตัวหรือ fixed cost เช่น ค่าแรงและค่าบริหารจัดการต่างๆ ของสถานที่ ซึ่งนอกจากลดคนงานกิบสันก็ยังประกาศขายโรงงานผลิตกีตาร์ไลน์ ES ที่เมมฟิสด้วยตามที่ผมได้เล่าไป บางทีการลดภาระในสิ่งที่มีเกินจำเป็น มันอาจจะเป็น operational turnaround อย่างหนึ่งที่กิบสันควรจะทำตั้งแต่แรก มากกว่าไปกู้เงินกว้านซื้อกิจการที่ตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญ อย่างนั้นรึเปล่า?

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ยังเป็นเพียงการเริ่มต้นกระบวนการ refinance ตามที่ Henry Juszkiewicz ได้ออกมาประกาศ แต่กิบสันยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกหลายอย่างในอนาคตซึ่งเราคงต้องจับตาดูกันต่อไป และคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะกอบกู้สถานการณ์ได้ตามที่ Henry กล่าว ว่าแต่แกจะอยู่ช่วยกอบกู้ (?) บริษัทได้อีกนานแค่ไหนท่ามกลางแรงเสียดทานจากนักลงทุนที่กำลังรวมกลุ่มกดดันให้แกลาออกอยู่ในขณะนี้

สรุปต้นตอของปัญหา

การลงทุนของกิบสัน

การตัดสินใจของกิบสันที่กระโดดเข้าสู่วงการเครื่องเสียงกับ software ที่ใช้ในห้องอัดนั้น แม้ไม่มีคำนิยามใดจะบอกว่าเป็นสิ่งที่ผิดหรือกระทำมิได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันฟ้องว่าเกิดความผิดพลาดบางอย่าง ซึ่งผมคิดว่าส่วนหนึ่งก็มาจากการที่กิบสันตัดสินใจเสี่ยงในธุรกิจที่ตัวเองไม่มีความเชี่ยวชาญหรือการจัดการเฉพาะสาขาที่ดีพอ อาจเหยียบเรือหลายแคมมากเกินไปจนไม่สามารถโฟกัสทุกแบรนด์ลูกให้พัฒนาแซงคู่แข่งขันในตลาดนั้นๆได้ กิจการที่ซื้อมาจึงกลายเป็นภาระ เงินที่กู้หนี้ยืมสินมาลงทุน แทนที่จะได้กำไรก็กลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่กว่าเดิม

การเป็นแบรนด์ใหญ่ที่กว้านซื้อกิจการอื่นๆมากมายมาอยู่ใต้ปีกของตัวเอง ก็อาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไปเช่นกัน หากไม่สามารถบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพได้ทั้งหมดทุกแบรนด์ในสังกัด แบรนด์ลูกที่ควรจะทำกำไร ก็อาจกลายเป็นเนื้อร้ายที่อาจฉุดให้องคาพยพทุกส่วนติดเชื้อเน่าตามกันไปเป็นลูกโซ่อย่างเครือกิบสันก็เป็นได้

ยุคนี้เราเห็นยักษ์เก่าๆ ล้มมานักต่อนักแล้วนะครับ Nokia, Kodak, Go Pro, Sony Vaio ฯลฯ (และกิบสันอาจเป็นยักษ์ตัวต่อไป) โลกธุรกิจทุกวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา วันนี้ใหญ่ วันต่อไปอาจเจ๊งก็เป็นได้ ผมคิดว่า หัวใจของความอยู่รอดทางธุรกิจของวันนี้ไม่ใช่ขนาดอีกต่อไป หากแต่เป็นความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ รู้จักพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคนี้ที่แตกต่างจากสมัยก่อน มากกว่า

ความเข้าใจลูกค้า และปัญหา QC

ส่วนตัวผมมองว่า เหตุผลหนึ่งที่กิบสันทำยอดขายต่ำมากในช่วงหลายปีมานี้ โดยเฉพาะปีที่แล้วที่ยอดขายตกลงไป 35% อาจเพราะบริษัทฯ ล้มเหลวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า 4 – 5 ปีที่ผ่านมาผมเห็นกีตาร์เลสพอลที่ดูขาดๆ เกินๆ เยอะอย่างไม่น่าเชื่อ บายดิ้งไม่หุ้มเฟรทบ้างละ ลูกบิดโรบอท (ที่พังแล้วไม่มีอะไหล่เปลี่ยน) บ้างละ โลโก้ Les Paul 100 ที่หัวเป็นลายมือปู่เลสพอลบ้างละ มุมนึงผมก็ชื่นชมในความกล้าเปลี่ยนแปลงของแบรนด์นี้นะ แต่เท่าที่อ่านคอมเมนท์ผมเห็นว่าสาวกเขาไม่ค่อยชอบอะไรพวกนี้

http://www.mylespaul.com/threads/why-all-the-les-paul-100-headstock-logo-hate.328037/

https://www.gear4music.com/Guitar-and-Bass/DISC-Gibson-Les-Paul-Classic-Sprint-Run-Seafoam-Green/1DW1

นอกจากสเปคที่อาจไม่ตอบโจทย์ ก็ยังมีเรื่องของความคุ้มค่า โดยเฉพาะการขายกีตาร์ Les Paul Standard ในราคาเฉียดแสนทั้งๆที่เทียบกับของมือสองปีเก่าๆตัวละห้าหกหมื่นก็แทบไม่ต่างกันแถมลูกค้าส่วนใหญ่ยังนิยมซาวด์ปีเก่ามากกว่า ดังนั้นก็คงยากที่จะมีใครเต็มใจจ่ายซื้อมือหนึ่งปีใหม่ๆ ยิ่งในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ด้วย นอกจากนี้จากที่ผมเห็นผ่านตาตามเว็บบอร์ดต่างประเทศ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่อง QC ของกิบสันที่ไม่สมราคา เท่าที่จำได้ก็จะมีเรื่องการเก็บงานที่ไม่ค่อยเรียบร้อยกับการใช้ชุดอิเล็กทรอนิกส์เกรดต่ำลงในกีตาร์รุ่นปีหลังๆ อันที่จริง PRS ก็ขายแพงคล้ายๆกัน แต่บริษัทนั้นเขาอยู่ได้เพราะไม่ก้าวพลาดเรื่องการลงทุน กับอีกอย่างนึงผมคิดว่า เพราะกิบสันมือสองสวยๆ มันหาได้ไม่ยากนัก ในบ้านเราก็มีมาเรื่อยๆ

รูปนี้ LP standard HP 2018 เหล่าสาวกดูแล้วรู้สึกยังไงครับ? แต่สำหรับผม การออกแบบเน้นฟังก์ชั่นแบบนี้ผมชอบนะโดยเฉพาะปาดเว้า neck joint ลึกๆแบบนี้ แต่ขอเปลี่ยนลูกบิดเป็นแบบล็อกสายธรรมดา กับขายราคาให้มันถูกกว่านี้หน่อยได้มั้ย 555

http://www.gibson.com/Products/Electric-Guitars/2018/USA/Les-Paul-Standard-HP-2018.aspx

เลสพอลสเปคสมัยใหม่ ถึงใครไม่ชอบแต่ผมชอบนะ ว่าแต่ว่าทำไมมันแพงจุง

https://www.gear4music.com/Guitar-and-Bass/Gibson-Les-Paul-Standard-HP-2018-Left-Handed-Blood-Orange-Fade/227Y

ถามว่าลูกค้าที่ชื่นชอบความเก่าและมองแต่ระดับ Reissue, Custom Shop ก็มีนี่นา ใช่มั้ย? มันก็ใช่ แต่ลำพังแค่ลูกค้ากลุ่มนี้คงไม่มีกำลังมากพอที่จะสร้างความอยู่รอดให้บริษัทได้ การปลดคนงานของ Custom Shop ออกนั่นผมก็มองว่าบริษัทคงเห็นแล้วว่าที่จริงเอาออกบ้างก็ได้ ให้มันขาดตลาดเสียบ้างจะได้มีคุณค่าหน่อย ไม่ใช่ว่าตัวเป็นแสนแต่หาซื้อร้านมือสองร้านไหนก็มีขาย คนก็เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันจะ rare หรือต้องรีบซื้อเก็บอะไรนักหนา เดี๋ยวมันก็มีมาเรื่อยๆ

ความท้าทายจากโลกภายนอก

อีกประเด็นหนึ่งภาวะเศรษฐกิจทุกวันนี้ก็เป็นความท้าทายที่ผู้ผลิตกีตาร์ต้องรับมือ ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความตอน PRS เปิดตัวกีตาร์โปร่งในไลน์ SE รวดเดียว 6 รุ่น ว่า ปีนี้ PRS ให้ความสำคัญกับการขายในตลาดล่างมากกว่าทุกปีในประวัติศาสตร์การผลิตกีตาร์ของแบรนด์ คือมีการออกรุ่นใหม่ในไลน์ SE มากขึ้น แถมใส่งานประดับเอาใจลูกค้ากลุ่มนี้ผิดหูผิดตา เช่นเดียวกันกับไลน์ผลิตระดับ Private Stock ที่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ทำตามออร์เดอร์อย่างเดียวละ แต่มีทำออกมาเป็นล็อตจำนวนจำกัดออกมาเรื่อยๆ เริ่มไม่ rare item เหมือนเมื่อก่อนละ

ปรากฏการณ์ปากกัดตีนถีบเช่นนี้ของผู้ผลิตกีตาร์ ทำให้เราเห็นว่าตลาดเครื่องดนตรีโดยเฉพาะสินค้ามือหนึ่งทุกวันนี้ซบเซาลงอย่างมาก กีตาร์รุ่นสูงๆ ขายยากขึ้น การปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรู้จักเอาใจตลาดล่าง ต้องมีสินค้าราคาคุ้มค่าที่สเปคและหน้าตายังดูน่าซื้อ

http://www.prsguitars.com/blog/post/meet_the_all_new_2018_se_acoustic_series 

 

ส่งท้ายก่อนจาก

ผมนำเสนอบทความนี้ไปตามข้อเท็จจริงนะครับ ตรงไหนมีลิงค์อ้างอิงผมก็ใส่ลิงค์ไว้ในข้อความ ไม่ได้พูดเกินเลย ถ้าตรงไหนเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมผมก็บอกไว้ว่าผมคิดเอง ส่วนตัวผมเองแม้จะไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้กิบสันแต่ก็ชอบเสียงของกีตาร์ยี่ห้อนี้มากๆ โดยเฉพาะเสียงแตกของ LP Std. ติดปิคอัพ Burst Bucker เบสเน้นๆ แหลมพุ่งๆ ด้วยแล้ว แม่มสะใจเป็นที่สุด ผมเห็นด้วยกับ Cassidy ผู้เชี่ยวชาญของมู้ดดีส์ที่กล่าวไว้ว่า ธุรกิจหลักของกิบสันนั้น แท้จริงแล้วแข็งแกร่งและมีความยั่งยืนในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่กิบสันต้องเร่งแก้ปัญหาการเงิน การบริหารจัดการ ฯลฯ ให้ได้

ก็ขอให้กิบสันสามารถแก้ไขปัญหาจนผ่านพ้นวิกฤติได้ทันเวลานะครับ

**********************************************

ผมยังมีอะไรมาเล่าอีกเรื่อยๆครับ ทั้งกีตาร์ PRS และอัพเดทข่าวสารที่น่าสนใจของวงการกีตาร์

ติดตามได้ทางเพจของผมนะคร้าบบ  https://web.facebook.com/funkyfreemanpage/