รีวิวกีตาร์ PRS S2 McCarty 594

พูดถึงกีตาร์แบรนด์ Paul Reed Smith (PRS) หลายๆคนคงนึกถึงกีตาร์รุ่น Custom 24 รุ่นเรือธงสร้างแบรนด์ให้ดังติดอันดับท็อปๆ ของอุตสาหกรรมกีตาร์ไฟฟ้าในปัจจุบัน แต่ที่จริงแล้วค่ายนี้ยังมีกีตาร์อีกหลายรุ่นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ทั้งสไตล์ และเรตราคา

McCarty 594 ก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ กีตาร์ PRS ที่อยู่ภายใต้ชื่อนี้มีรุ่นย่อยๆด้วยกันหลายรุ่น หลายระดับราคา แบ่งไปตามระดับ (ซีรีส์) สำหรับวันนี้ผมจะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับ S2 McCarty 594 กันครับ

มันคืออะไร?

ต้องเริ่มที่คำว่า McCarty ซึ่งค่าย PRS ตั้งชื่อนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ Mr. Thedore McCarty (ในวงการกีตาร์รู้จักกันในนาม Ted McCarty) ประธานฝ่ายผลิตของบริษัท Gibson ในยุค 50s ชายผู้อยู่เบื้องหลังความรุ่งโรจน์ของกิบสันที่ Mr. Paul Reed Smith เชิญมาเป็น “พี่เลี้ยง” ให้คำแนะนำเทคนิคการผลิตกีตาร์สไตล์วินเทจ (สมัยนั้นแบรนด์ PRS มีแต่รุ่น Custom 24 กับรุ่นอื่นๆ ที่เน้นแนวร็อค) จนเกิดเป็นกีตาร์สายวินเทจรุ่นแรกของค่ายนก ‘PRS McCarty’ ในปี 1994 จากนั้นมา คำว่า McCarty ก็กลายเป็นชื่อเรียกกีตาร์ PRS ที่ให้โทนสไตล์วินเทจ แยกจากรุ่น Custom อย่างชัดเจน อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ PRS McCarty ตั้งแต่เริ่มได้ที่นี่ครับ

ปู่ Ted McCarty ได้จากโลกนี้ไปเมื่อเดือนเมษายน ปี 2001 ในวัย 91 ปี ฝากผลงานล้ำค่าไว้กับแบรนด์ Paul Reed Smith และอุตสาหกรรมดนตรีมากมายจวบจนวันนี้

Ted McCarty พี่เลี้ยง และเพื่อนรักของลุงพอล
(Photo credit: prsguitars.com)

สำหรับ McCarty 594 นั้นก็เป็นรุ่นสายวินเทจสายเลือดใหม่ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2016 (Core level) คอนเซพท์ของมันก็คือเป็นการถอดแบบกีตาร์ Gibson Les Paul ปี 1958 แต่ผสมผสานความเป็น PRS เข้าไป ตัวเลข 594 ได้จากความยาวสเกลของกีตาร์กิบสันตัวต้นแบบที่วัดได้ 24.594 นิ้ว (ไม่ใช่ 24.75 อย่างที่ Gibson ใช้อยู่ในปัจจุบัน)

เนื่องจากมันถอดแบบมาจากกีตาร์ Gibson Les Paul หน้าตาของ McCarty 594 จึงดูเป็นลูกผสมระหว่างสองค่ายที่แทบจะเรียกว่าเจอกันคนละครึ่งทางเลยก็ว่าได้ คือรูปทรงรวมๆ คล้าย PRS McCarty แต่บริดจ์ คอนโทรล สวิทช์ต่างๆ ค่อนข้างชัดเจนว่าไปทางค่ายกิบสัน เชพคอก็ออกแบบขึ้นใหม่เป็นเชพของกีตาร์รุ่นนี้โดยเฉพาะ

รูป banner ของกลุ่ม PRS Thailand ที่ผมตั้งขึ้น กีตาร์ตัวกลางคือ McCarty 594 ตัวทางขวาคือ McCarty Singlecut 594

โอเค พอเข้าใจคำว่า McCarty 594 ว่าแต่ S2 หมายถึงอะไร?

คนที่อยู่แวดวงกีตาร์และรู้จักแบรนด์ PRS อยู่บ้าง น่าจะทราบว่ายี่ห้อนี้ก็มีการแบ่งเกรดกีตาร์ออกเป็นหลายระดับราคา แต่ละระดับราคา (ซีรีส์) จะมีชื่อเรียกของมัน แน่นอนว่าซีรีส์ที่ราคาต่ำ สเปคก็จะต่ำกว่าซีรีส์ที่มีราคาสูงกว่า ไล่ระดับราคาของซีรีส์กีตาร์ PRS จากต่ำไปสูงได้อย่างนี้นะครับ

  • SE (Student Edition) ช่วงราคาตั้งแต่หมื่นปลายๆ (SE Standard) ไปถึงราคาราวๆ ห้าหมื่นบาท (SE Hollowbody Piezo) เมื่อก่อนเคยผลิตที่เกาหลี ปัจจุบันย้ายมาผลิตที่อินโดนีเซียเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นรุ่นตัวกลวงและกีตาร์โปร่งที่ผลิตในจีน
  • S2 (Stevensville 2) ไลน์ผลิตที่สองในโรงงาน PRS ที่เมือง Stevensville รัฐ Maryland ช่วงราคาประมาณห้าหมื่นกว่าบาทไปจนถึงเจ็ดหมื่นกว่าบาท
  • Core ไลน์ผลิตหลักของโรงงาน PRS ที่อเมริกา (โรงงานเดียวกับที่ผลิต S2 นั่นแหละ) ราคาเริ่มต้นประมาณแสนกลางๆ หรือคิดเป็นสองเท่าของรุ่นที่แพงที่สุดของซีรีส์ S2 ซีรีส์ Core ยังมีแบ่งย่อยออกเป็นเกรดออพชั่นต่างๆ ตั้งแต่ 10 top, Artist Package จนถึง Wood Library
  • Private Stock หรือก็คือ custom shop ของ PRS นั่นเอง ราคาเริ่มต้นประมาณสี่แสนกว่าบาทและพุ่งได้เกินหนึ่งล้านบาท ขึ้นอยู่กับออพชันที่สั่งผลิต

ดังนั้น คำว่า S2 ที่อยู่หน้าชื่อรุ่นหลัก (McCarty 594) ก็เป็นคำเรียก “ระดับ/ซีรีส์” ของกีตาร์กลุ่มหนึ่งของ PRS นั่นเอง ซีรีส์ S2 ผลิตในโรงงานเดียวกับซีรีส์ Core ก็จริง แต่สามารถทำราคาได้ต่ำประมาณ 40% ของราคา Core series เนื่องจากทางโรงงานปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ใช้ผลิต Core เช่น การใช้ไม้ที่เหลือทิ้งน้อยกว่ามาก, การใช้ไม้ท็อปที่บางกว่าและไม่คัดลาย, การปรับโครงสร้างบางส่วน เช่น คอ ฯลฯ อ่านกรรมวิธีการผลิต PRS S2 Series ว่าต่างจาก Core อย่างไร ได้ที่นี่ครับ ถ้าพอเข้าใจเกี่ยวกับ S2 Series กันแล้ว เราไปกันต่อที่สเปคเลยครับ

Specifications

  • Model: S2 McCarty 594
  • Body : Mahogany, 1 piece
  • Top : bevelled maple
  • Neck : Mahogany, scarf-joint 3 pieces
  • Neck profile : Pattern Vintage
  • Headstock veneer : –
  • Headstock decal : PRS signature, metal decal
  • Truss rod cover text : McCarty 594
  • Fingerboard : Indian Rosewood
  • Fingerboard inlays : Birds, S2 synthetic
  • No. of frets : 22
  • Scale length : 24.594″
  • Tuners : PRS designed vintage tuners
  • Nut : PRS USA composite
  • Bridge : PRS 2 piece bridge
  • Pickups : PRS 58/15 ‘S’
  • Controls : 2 vol, 2 push/pull tone, 3 way blade switch
  • Control knobs : PRS Lampshade
  • Accessory : S2 gig bag
Beveled maple top รูปทรงมันจะไม่โค้งมนแบบ Violin carved top ของพวก Core

S2 McCarty 594 สร้างจากไม้มาฮอกกานีชิ้นหนาๆ ชิ้นเดียวเป็นไม้บอดี้ ไม้ท็อปต่อ bookmatch เหมือน Core series แต่ไม้ท็อปเมเปิลบางกว่า และไม่มีส่วนโค้งมนไวโอลิน หากแต่เป็นแผ่นท็อปแบนๆ ที่ปรับรูปทรงด้วยการปาดเหลี่ยม (bevel) ออกไปแทน ไม้ท็อปเมเปิลของ S2 594 รวมถึง S2 ทกรุ่นที่มีท็อปเมเปิลนั้น ไม่มีการคัดลายไม้หรือมีออพชันลายสวยให้เลือกอย่าง Core series ก็เป็นมาตรการนึงที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตของซีรีส์นี้นั่นเอง แต่ถึงลายจะไม่สวย เสียงจากไม้เมเปิลกคือเสียงจากไม้เมเปิล ไม่ต่างอะไรกับตัวลายสวยครับ

ไม้คอเป็นไม้มาฮอกกานีที่สร้างขึ้นจากไม้ 3 ชิ้นประกอบกันเป็นคอด้วยกาว ลูกบิดเป็นแบบวินเทจเสาทองเหลือง ซึ่งส่วนตัวผมชอบลูกบิดแบบนี้เวลามันอยู่กับกีตาร์ตระกูลวินเทจมากเป็นพิเศษเพราะให้ความกังวานกับเสียงดีดเปล่าได้ดีกว่าลูกบิดล็อกสาย อันนี้พูดจากประสบการณ์ที่ทดลองเปลี่ยนลูกบิดทั้งสองแบบในกีตาร์ 594 ตัวเดียวกันมาแล้วนะครับ ฟิงเกอร์บอร์ดทำจากไม้ Indian rosewood เรเดียสสิบนิ้วตามปกติของแบรนด์ PRS นัทเป็นของ PRS USA วัสดุคอมโพสิทผสมผงโลหะสูตรเฉพาะของลุงพอล

สำหรับคนที่มี Core series ปีใหม่ๆเมื่อมองหัวกีตาร์ S2 ตัวนี้อาจรู้สึกว่าหัวกีตาร์ตัวนี้ดูแปลกตา ใช่ครับ เพราะหัวกีตาร์ S2 ไม่แปะวีเนียร์ไม้โรสวูดหล่อๆแต่อย่างใด แต่ใช้วิธีเก็บงานด้วยการพ่นสีทึบและแปะสติกเกอร์ลายเซ็นแทน ซึ่งวิธีการแบบนี้ก็เหมือน Core series สมัยสิบกว่าปีก่อนนั่นเอง

อินเลย์นกสีขาวเรียบๆ ทำจากวัสดุสังเคราะห์ไม่ใช่เปลือกหอย แบบเดียวกับรุ่น CE 24 โมเดลปัจจุบัน ซึ่งก็เพราะเหตุผลเดิม – เพื่อลดต้นทุนในส่วนที่ไม่จำเป็นลงนั่นเอง ถ้ามี PRS อินเลย์นกเปลือกหอยอย่างสวยแต่ไม่ค่อยซ้อม ฝีมือการเล่นก็จะแพ้คนใช้รุ่นนกพลาสติกแต่ฝึกประจำ จริงมั้ย? แต่ถึงวัสดุอินเลย์นกจะค่อนข้างธรรมดา แต่ก็มีงานขอบบายดิ้งฟิงเกอร์บอร์ดหล่อๆ มาให้ แบบเดียวกับ Core McCarty 594 นั่นเอง

อินเลย์นกวัสดุสังเคราะห์
ลูกบิดวินเทจ เสาทองเหลือง อาวุธลับกีตาร์เสียงดี

ปิคอัพที่ติดตั้งมาจากโรงงานเป็นรุ่น 58/15 ‘S’ ถอดแบบมาจากปิคอัพรุ่น 58/15 LT ของซีรีส์ Core ให้สุ้มเสียงที่ใกล้เคียงกัน แต่รุ่นมี S ต่อท้าย เป็นเวอร์ชันของ SE ผลิตในโรงงานที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นปกติของ S2 Series อยู่แล้ว

อะไหล่บนตัวกีตาร์ใช้เกรดเหมือน Core ฝา knobs แบบ Lampshade ฝาแจ๊คสี่เหลี่ยม บริดจ์เป็นแบบ 2 ชิ้นทำจากอลูมิเนียมและสังกะสี เสาสี่แท่งและ saddles ทั้งหกชิ้นทำจากทองเหลือง ออกแบบใหม่เป็นทรงสามเหลี่ยมจากเดิมที่เป็นทรงสี่เหลี่ยม เพื่อการรับแรงสั่นสะเทือนจากสายอย่างมีโฟกัส ให้เรโซแนนซ์ที่คม เคลียร์ กว่าเดิม นอกจากนี้ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าตรง tailpiece ถูกออกแบบเป็นร่องๆ ไว้ 5 ช่อง ไม่เหมือนของ Gibson เหตุผลของดีไซน์ตรงนี้ก็เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเปลี่ยนสาย คือเมื่อเราคลายลูกบิดที่หัวกีตาร์แล้ว สายกีตาร์จะพร้อมให้เรา “ยกออกมา” จากบริดจ์ได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลารูดผ่านรูร้อยสายแต่อย่างใด PRS ยังออกแบบให้เสาของ tailpiece มีหัวหมุดที่ช่วยยึดตัว tailpiece ให้อยู่กับที่ คือมันจะไม่ไหลหลุดออกมาจากเสาระหว่างที่เราเปลี่ยนสาย

ใน่วนของ packaging กีตาร์มากับกระเป๋าอย่างดี (ดูแน่นหนาราคาแพงกว่ากระเป๋าของ SE) และชุดเครื่องมือที่จำเป็น และใบ hang tag S2

บริดจ์ 2 ชิ้นออกแบบใหม่สไตล์ PRS และอะไหล่ชิ้นเล็กชิ้นน้อยอย่าง knobและ jack plate ยกมาจาก Core series

สัมผัส โทนเสียง และความแตกต่างจาก Core McCarty 594

สัมผัส

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าผมมี McCarty 594 ที่เป็น core level อยู่แล้ว และจับ core 594 มาหลายตัวมากๆ สำหรับ S2 นี่จะได้เล่นบ้างก็แค่ตอนแวะไปลองที่ร้านตัวแทนจำหน่ายเท่านั้นเอง ดังนั้นผมจะขออธิบายความรู้สึก พร้อมกับเปรียบเทียบความต่างจากตอนใช้ core 594 ไปด้วยกันเลย

ความรู้สึกแรกเมื่อหยิบ S2 594 คือ น้ำหนักเบา เบามาก เป็นความแปลกแยกจาก Core 594 หลายตัวที่ผมเล่นมาแบบชัดเจน S2 ตัวที่ผมทดสอบน่าจะหนักราวๆ 3.1-3.3 กิโลกรัมเท่านั้น ในขณะที่น้ำหนัก Core 594 doublecut ที่ผมจับๆมา ค่าเฉลี่ยจะอยู่ราวๆ 3.6 กิโลกรัมขึ้นไป เมื่อหยิบ S2 594 มาวางบนตักผมรับรู้ได้ทันทีถึงบอดี้ที่มีความบางกว่า core 594 doublecut ไม่บางจนน่าเกลียดแต่มันบางกว่าแน่นอน ความที่บอดี้มีความ sleek มากขึ้นช่วยให้ตัวกีตาร์แนบกับสีข้างของผมได้กระชับกว่า นอกจากนี้ แผ่นท็อปเมเปิลที่ทั้งบางกว่าและปาดขอบ (beveled) แทนที่จะเกลาให้โค้งแบบตัว Core level กลับช่วยให้วางแขนขวาแนบกับท็อปกีตาร์ได้อย่างพอดิบพอดี ให้ความรู้สึกที่ทั้งเบา ทั้งเข้ากับสรีระ ต้องยอมรับโดยดีว่าในแง่ของความสบายในท่าเล่นนั้น S2 594 ชนะ Core 594 อย่างไม่ต้องสงสัย

PRS McCarty 594 core level ตัวหนากว่า S2 594 นะครับ

ในส่วนของฟีลคอนั้นให้ความรู้สึกเต็มไม้เต็มมือ ด้วยเชพ Pattern Vintage ที่มีลักษณะอสมมาตร คือตรงกลางคอค่อนไปทางฝั่งสายเบสมีความอวบหนา แต่ซีกสายเล็กมีความบางเรียวกว่า ให้ความมั่นคงในการจับเล่น พร้อมๆกับความถนัดในการปั่นในเวลาเดียวกัน นี่เป็นเชพคอที่ผมคิดว่าดีที่สุดจากค่ายนกเลย

การจัดวางคอนโทรลต่างๆ นั้น ใช้งาย intuitive มากๆ ด้วย toggle switch อยู่เขาบน ซึ่งเราสามารถสับได้อย่างรวดเร็วเพราะ toggle อยู่ในสายตาตลอดเวลา ไม่ต้องเหลือบมองไปทางด้านท้าย วอลุ่มและโทนอย่างละคู่คุมแยกปิคอัพทำให้ปรับระดับความดังของปิคอัพทั้งสองตำแหน่งต่างกัน สามารถ vary ผสมโทนออกมาได้มากมาย เมื่อดึง Tone ตัดคอยล์ด้วยแล้ว มันยิ่งทำอะไรได้เยอะ และส่วนตัวผมมองว่า control configuration แบบ 2 volumes + 2 tones นี่แหละ คือความเล่นได้กว้างของจริง มันทำอะไรได้เยอะกว่าแบบเพิ่มจำนวนแก๊กซะอีกนะถ้าลองใช้มันดีๆ

ตรงกลุ่ม knobs ทั้ง 4 อันนั้นแม้ดูเผินๆจะวางเหมือน Gibson แต่ความจริงแล้วของ PRS 594 ถูกวางค่อนมาทางคอกีตาร์มากกว่า ใกล้มือขวามากกว่า ทำให้เราเอื้อมมือไปปรับได้สะดวกกว่า ผมคิดว่าส่วนนึงเพราะ PRS ไม่ต้องเผื่อที่สำหรับติดปิคการ์ด จึงสามารถออกแบบให้มีความยืดหยุ่น เอื้อต่อการใช้งานได้มากกว่านั่นเอง

บริดจ์ 2 ชิ้นสไตล์ Tune o ในแบบฉบับของ PRS

คอที่สั้น จำนวนเฟรท 22 บริดจ์สไตล์ทูน-โอ ยกสูงรับสันมือ นี่คือ format ที่เรียบง่าย คลาสสิค แต่ลงตัวเหลือเกิน

สุ้มเสียง

จากการทดสอบด้วยแอมป์ Mesa Dual Rectifier Rectoverb 25 Combo ทั้งแชแนลคลีนและแตก (ผมเล่นทดสอบอยู่นานเกือบชั่วโมงแต่มีจังหวะอัดคลิปแป๊บเดียว) S2 594 ให้เสียงคลีนที่ใส คม มีคาแรคเตอร์แบบ core 594 ที่ผมคุ้นเคย คือเนื้อเสียงมีความโปร่ง ใส ไม่แน่นชวนอึดอัด ยิ่งตัดคอยล์เสียงยิ่งใสไปอีก จริงอยู่ว่าตัดคอยล์แล้ววอลุ่มมีดรอปลงไปบ้าง ไม่รักษาระดับได้เนียนเท่าพวก Paul’s Guitar, 408 แต่ก็ถือว่ารับได้ ไม่ได้หายวูบวาบ และด้วยความที่ปิคอัพ 58/15 ‘S’ เอาท์พุทไม่แรง เราจึงได้การตอบสนองที่กว้าง มีเฮดรูมสูงมาก กล่าวคือถ้าเรากำลังเล่นอัดเกนเยอะๆ ที่วอลุ่มกีตาร์สิบเต็มอยู่ เมื่อเราลดวอลุ่มลงเสียงจะคลีนขึ้นทันที อันที่จริงมันเริ่มคลีนตั้งแต่แค่ราวๆ 7 เลยด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าเป็น Core 594 ก็มีคาแรคเตอร์แบบนี้เลย

ถามว่า โทน S2 594 ต่างจาก Core 594 ยังไงบ้าง? อืม… ผมรู้สึกว่าสุ้มเสียงของ S2 594 นั้น ให้ย่านที่ค่อนไปทางกลางแหลมมากกว่าตัว core หรืออีกนัยหนึ่งคือ S2 594 มีเนื้อเบสที่น้อยกว่าเวอร์ชัน Core นิดหน่อยแต่ไม่ถึงกับเสียคาแรคเตอร์หลักที่รับถ่ายทอดมาจากตัวแม่ ผมมองว่ามันเป็น variation เล็กๆ ช่วยให้เนื้อเสียงมีความใสเคลียร์มากขึ้นอีกนิด อัดเกนสนุกขึ้นอีกหน่อยเพราะซาวด์เคลียร์กว่า ไม่ได้มองว่ามันเป็นข้อด้อยกว่าปิคอัพเวอร์ชัน USA แต่อย่างใด คือมันเสียงดีเอาเรื่องและตอบสนองอย่างมีชีวิตชีวาแบบตัวแพงเลยแหละ นอกจากนี้ผมยังรู้สึกว่าปิคอัพ 58/15 ‘S’ แรงกว่าปิคอัพ 58/15 LT ที่มากับเวอร์ชัน Core อยู่นิดนึงด้วย

เปิดแชแนลเสียงแตกของแอมป์ Rectoverb ในโหมด Modern ความเคลียร์ใสที่ได้ยินตอนเล่นคลีน เปลี่ยนเป็นเสียงแตกแผดๆ โทนค่อนไปทางไบรท์ มีย่านกลางสวยๆ กำลังดี ไม่บวมไม่ฟังดูแก่เกินไป เสียงแตกจากปิคอัพทั้งสองตำแหน่งมี definition ที่จัดว่าสุดยอด ชัดทุกเม็ดไม่มีบวมเบลอ ซึ่งไม่ใช่ PRS ทุกรุ่นที่จะทำได้อย่างนี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทดสอบกับแอมป์โทนวินเทจที่พร้อมจะบวมอยู่แล้วอย่าง Mesa Rectoverb) ผมลองเล่นทั้ง E standard และ dropped D ก็สนุกพอกัน เป็นกีตาร์ PRS รุ่นราคากลางๆ ที่ให้ความสนุกในการใช้งานเกินราคาไปมากจริงๆ แม้แต่สำหรับผมเองยังรู้สึกว่าชอบลักษณะบางอย่างในโทนของ S2 594 มากกว่าตัวอเมริกาด้วยซ้ำไป

ผมไม่แน่ใจว่า ย่านต่ำ/กลาง ที่ S2 594 เก็บได้ดีกว่ารุ่นพี่ซีรีส์ core นั้น เกิดจากอะไรกันแน่ แต่ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมาจากหลายปัจจัยของ S2 รวมกัน เช่น เพราะบอดี้ที่บางกว่าเล็กน้อย?, ตัวปิคอัพ 58/15 ‘S’ เองที่ถูกจูนมาให้มีคาแรคเตอร์แบบนั้น?, เพราะแซดเดิลแบบใหม่ที่เป็นทรงสามเหลี่ยม?, เพราะลูกบิดวินเทจเสาทองเหลือง? ฯลฯ แต่เอาเป็นว่ามันลงตัวมากๆ และถ้าเราไม่ใช้สายโมชอบทดลองเปลี่ยนอะไหล่ ผมว่าเจ้า S2 594 เดิมๆ นี่ก็ดีเกินพอ ไม่จำเป็นต้องโมดิฟายครับ

ราคาและความคุ้มค่า

กีตาร์ PRS S2 McCarty 594 ราคาศูนย์ไทย ณ เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 74,900 บาท ถ้าเทียบกับราคาของรุ่นที่สูงกว่านี้หนึ่งระดับอย่างรุ่น CE 24 ที่ราคาแตะหนึ่งแสนบาท หรือเทียบกับ core 594 ที่ราคาศูนย์ไทยขยับไปถึงแสนปลายๆถึงสองแสนต้นๆแล้ว ก็ต้องบอกตามตรงว่า S2 McCarty 594 เป็น PRS made in USA มือหนึ่ง ที่คุ้มค่าที่สุดรุ่นนึงของชั่วโมงนี้เลย มันคือสวรรค์ของคนรักโทนในราคาที่จับต้องได้ และผลิตภายใต้มาตรฐานโรงงาน Paul Reed Smith ที่อเมริกา มาพร้อมกับการใช้งานที่หลากหลาย

กีตาร์ PRS S2 McCarty 594 เหมาะกับใคร?

เหมาะกับ

  • คนชอบโทนค่อนไปทางวินเทจแต่ยังต้องการความ hi definition เคลียร์ ชัด แบบกีตาร์สมัยใหม่ เพราะคำว่า “วินเทจ” ของกีตาร์ PRS ในวันนี้ จะไม่ออกบวมๆ ตุ่ยๆ ถ้าไม่เข้าใจต้องไปลองเองครับ แต่จงรู้ไว้ว่ามันไม่เหมือนกีตาร์ Gibson หรอกครับ
  • คนที่เน้นเสียงคลีนหรือเสียงแตกไม่เยอะ มีสไตล์การเล่นที่ชอบใช้ไดนามิคหนัก-เบาของกีตาร์ ไม่ว่าจะเป็นการไล่ระดับเกนด้วยวอลุ่ม รวมไปถึงการคุมน้ำหนักการดีด
  • คนที่ชอบสัมผัสสไตล์วินเทจ กล่าวคือ คออวบ คอสั้น 22 เฟรท เสียงเรโซแนนซ์ตอนดีดเปล่าเพราะกังวาน
  • คนที่ชอบ control layout สไตล์กีตาร์ Gibson
  • คนที่อยากได้กีตาร์ PRS รุ่นอเมริกา แบบมือหนึ่ง ในงบ 7-8 หมื่น

แล้วถ้า ไม่ใช่แนวตัวเองเป๊ะๆ แต่อยากลองใช้ ต้องทำยังไง?

  • ถ้าเคยเล่นแต่กีตาร์คอบางๆ หรือพวก Custom 24 อาจต้องใช้เวลาเล่น 594 สักพักเพื่อสร้างความคุ้นชิน เมื่อเล่นคุ้นมือแล้ว ฟีลมันจะสุดยอดจนไม่อยากกลับไปเล่นคอบางอีกเลยครับ คอมันหนาแต่เล่นง่าย
  • ถ้าเป็นสาย hi gain ต้องมีก้อนแตกดุๆ หรือมีแอมป์แรงๆช่วยนิดนึงครับ

สรุป

PRS S2 McCarty 594 เป็นกีตาร์ที่น่าสนใจอีกรุ่นหนึ่งจากค่ายนก เป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนที่มองหา PRS mda in USA มือหนึ่งในราคาที่จับต้องได้ มันเป็นอะไรได้มากกว่าที่เห็น และใช้งานที่กว้างมากกว่าแค่วินเทจตามที่มันถูกวางคอนเซพท์เอาไว้ ส่วนตัวผมแนะนำว่าถ้าอยากได้ PRS ตัวอเมริกาในงบไม่เกินแสนบาท เจ้านี่คือตัวเลือกที่น่าทดสอบสักหน่อยก่อนตัดสินใจเล่นรุ่นตลาดอย่างพวก S2 Custom 24 ไม่แน่ว่าเราอาจเหมาะกับ 594 มากกว่าก็เป็นได้นะครับ

ขอบคุณร้าน Music Collection สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ชั้น 3 ที่เอื้อเฟื้อกีตาร์สำหรับทดสอบด้วยครับ

สำหรับใครที่อ่านแล้วอยากหลอนต่อกับแบรนด์นก คลิก เข้ากลุ่มเฟซบุค PRS Thailand ได้ที่นี่ครับ