รีวิวกีตาร์ PRS SE Custom 24-08

จากการเป็นแอดมินกลุ่ม PRS Thailand มา ผมสังเกตว่าช่วงหลังๆ นี้ ดูคนจะสนใจกีตาร์ PRS รุ่น SE Custom 24-08 กันเยอะ ไม่ว่าจะทั้งจากการพูดคุยกันในกลุ่ม หรือจากจำนวนคนที่ inbox มาสอบถามผมหลังไมค์

ผมเองแม้โดยส่วนตัวจะไม่ชอบ PRS ตระกูล Custom เท่าไหร่นัก และจะไม่ค่อยหยิบมาลองเวลาไปร้านตัวแทนจำหน่าย แต่เนื่องจากดูแล้วรุ่นนี้อยู่ในความสนใจของเพื่อนๆ หลายคน จึงคิดว่าเขียนรีวิวเป็นข้อมูลไว้ให้อ่านกันหน่อยดีกว่า

PRS SE Custom 24 ก็พอรู้จักอยู่ แต่ 24-08 นี่มันอะไร?

ตอบง่ายๆ ว่ามันคือเลขจำนวนเสียงทั้ง 8 ที่เราสามารถผสมกันได้จากกีตาร์รุ่นนี้ มันถอดแบบมาจากรุ่นอเมริกาต้นฉบับ Custom 24-08 ซึ่ง Custom 24-08 ก็ได้รับอิทธิพลมาจากรุ่น 408 ส่วนรุ่น 408 ก็ได้รับถ่ายทอดวงจรแบบนี้มาจาก Signature Limited… เฮ้ย ใครอยากรู้วะเนี่ยยยย!!

PRS Custom 24-08 10 Top
(Photo credit: andertons.co.uk)

จะว่าไปแล้ว SE CU24-08 มันก็เหมือน SE Custom 24 35th Anniversary เลยแหละ แต่คราวนี้มาในรูปแบบ mass production ที่ไม่มีแปะโลโก้พิเศษ ไม่มีสีลิมิเต็ดใดๆ

SE Custom 24 35th Anniversary Limited
(Photo credit: fivestarguitars.com)

สเปคเป็นยังไง ต่างจาก SE Custom 24 ตัวปกติยังไงบ้าง

  • Model: SE Custom 24-08 (2022)
  • Body : Mahogany, multi piece
  • Top : bevelled maple with flamed maple veneer, new Shallow Violin carve
  • Neck : maple, 3 pieces
  • Neck profile : Wide thin
  • Headstock decal : Paul Reed Smith SE signature
  • Truss rod cover text : Custom
  • Fingerboard : Rosewood
  • Fingerboard inlays : Old school birds, plastic
  • No. of frets : 24
  • Scale length : 25″
  • Tuners : PRS designed
  • Nut : PRS designed
  • Bridge : PRS designed tremolo
  • Pickups : PRS TCI ‘S’ (zebra bobbins)
  • Controls : 1 vol, 1 tone, 3 way toggle switch, 2 mini toggle switches
  • Manufacturer : Cor-Tek, Indonesia

บอดี้ทำจากไม้มาฮอกกานีต่อกัน 3 ชิ้น แปะท็อปด้วยไม้เมเปิล (plain maple ไม่มีลายเฟลม) อีก 3 แปะหน้าด้วยวีเนียร์เมเปิลลายเฟลมงามๆ สำหรับ SE CU24-08 เป็นกีตาร์ SE ปีใหม่ ทางโรงงานมีการอัพเกรดปรับส่วนโค้งของไม้ท็อปให้มีส่วนโค้งที่เนียนตามากกว่า SE Custom ปีเก่าๆ PRS เรียกสิ่งนี้ว่า Shallow Violin Carve ทั้งนี้ความหนาของไม้ยังเท่าดกิมนะครับ แค่ปรับเหลี่ยมมุมเดิมให้ดูโค้งมนมากขึ้นเท่านั้น กีตาร์ตัวนี้มาในสี Eriza Verde (เอริซ่า เวอร์ดิ) เป็นสีเขียวอ่อนแซมเหลืองสดใจ ด้านหลัง คอ และ headstock โชว์ลายไม้ ไม่ทำสี

– บอดี้มาฮอกกานี 3 ชิ้น สำหรับ พ.ศ. นี้ผมมองว่า กีตาร์ราคาแถวๆ 3 หมื่นให้ไม้จำนวนชิ้นเท่านี้ถิอว่าโอเคแล้ว
– Tone block เหล็กสีดำ ต่างจากของ Core USA ที่เป็นสีทอง

คอทำจากไม้เมเปิลต่อกาวตามแนวยาวสามชิ้น เป็นโครงสร้างที่ PRS ทำแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรกับ SE Custom 24 เป็นส่วนโครงสร้างที่ช่วยให้คอแข็งแรง นิ่ง เสถียร เป็น structure ที่ผ่านบทพิสูจน์ของกาลเวลามาแล้วกว่า 20 ปี เชพคอเป็น Wide Thin ค่อนข้างแบน ไม่แบนเท่าคอ Ibanez แต่ก็แบนที่สุดในรังนก ฟิงเกอร์บอร์ดไม้โรสวูด อินเลย์นกวัสดุพลาสติกตามราคา เรเดียส 10 นิ้ว เฟรท medium jumbo วัสดุนิเกิลตามธรรมเนียมของแบรนด์

คอเมเปิล 3 ชิ้น แข็งแรง ไว้ใจได้ สำหรับตัวนี้บังเอิญได้ไม้เฟลมหล่อๆมาชิ้นนึง อุตะ
หัวมีลายเซ็นลุงพอล บ่งบอกว่า SE ตัวนี้ผลิตในปี 2017 หรือใหม่กว่า

ปิคอัพเป็นรุ่น TCI ‘S’ (Tuned Capacitance and Inductance, SE version) ต่างจาก SE CU24 ตัวปกติที่มากับปิคอัพ 85/15 ‘S’ น่าสังเกตว่าแม้ CU24-08 จะถอดแบบมาจากรุ่น 35 ปีแถมใช้ปิคอัพตัวเดียวกันกับ SE Paul’s Guitar เด๊ะๆ แต่ปิคอัพที่ติดตั้งมา ก็ดันเป็นสีม้าลายซะงั้น ระบบไฟฟ้ามี main toggle 3 ทางไว้เลือกตำแหน่งปิคอัพ และมี mini toggle 2 เล็กๆ ตัวไว้ทำหน้าที่ตัดคอยล์ สวิทช์ตัวใกล้กับ neck pickup มีไว้ตัดคอยล์ปิคอัพตัว neck และเช่นกัน สวิทช์ตัวหลังก็ใช้ตัดคอยล์ปิคอัพตัวบริดจ์ วิธีใช้งานคือสับลงเป็นโหมด humbucker สับขึ้นก็ตัดคอยล์ มี Volume กับ Tone อย่างละอัน โดย Tone pot ไม่สามารถดึงขึ้นได้อย่าง SE CU24 ตัวปกติแล้ว เพราะเรามี mini toggle ให้ใช้แทนแล้วนั่นเอง

ตัวเลข 08 เกิดจากตรงนี้แหละ

ลูกบิดเป็น SE designed นัทปรับปรุงใหม่แทนที่นัทแบบเก่าขอบคมๆ ตัวการทำเสียงเพี้ยนง่ายของ SE ผลิตอินโดนีเซียปีแรกๆ ชุดคันโยกแซดเดิลทองเหลืองบล็อคเหล็กตามเกรดของ SE

สัมผัสและสุ้มเสียง

สัมผัส

ด้วยคอเชพบาง, ฟิงเกอร์บอร์ดเรเดียสสิบนิ้ว, บริดจ์คันโยก, เฟรท 24 อัน ฯลฯ สำหรับผมที่จับกีตาร์ยี่ห้อนี้มานับไม่ถ้วน ก็ไม่รู้สึกแปลกอะไรจาก SE Custom 24 ตัวอื่นๆ ที่ผ่านมา แม้กีตาร์ตัวนี้จะเป็นปีใหม่ซึ่งได้อัพเกรดปรับส่วนโค้งหน้าท็อปเล็กน้อยให้ดูสวยงามใกล้เคียงกับซีรีส์ Core USA มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนสัมผัสในการเล่นอย่างมีนัยสำคัญ ในแง่สัมผัสมันก็ยังคงเป็น SE Custom 24 ที่พวกเราคุ้นเคยกันดีนั่นเอง

SE รุ่นนี้เป็นปีใหม่ แน่นอนว่ามันมาจากโรงงาน Cor-Tek ทีอินโดนีเซีย (ปัจจุบันไม่มี PRS SE ที่ผลิตที่โรงงาน WMI ในเกาหลีแล้ว) การ setup ต่างๆ จากโรงงานอินโดนีเซียถือว่าโอเค ไม่พบปัญหา ใช้งานได้ไม่ต่างจากสมัยผลิตเกาหลี

เสียง

ผมเสียบกีตาร์เข้ากับแอมป์ Mesa Rectoverb 25 Combo แชแนล Clean โหมด Pushed (คือเป็นโหมดที่มีการ breakup เล็กน้อย) ความรู้สึกแรกในเสียง full neck humbucker มันเป็นโทนที่ค่อนข้างจะวินเทจนิดนึง คือมีความหวานพอประมาณ ไม่แข็ง แต่ก็มีคาแรคเตอร์อย่างปิคอัพสมัยใหม่ คือระมัดระวังเกี่ยวกับย่านกลาง มันถูกออกแบบมาให้เก็บย่านกลางไว้อย่างพอดีๆ ไม่ถึงกับ scoop แต่ก็ไม่ป่องจนบวม คาแรคเตอร์แบบนี้ผมว่าเล่นสนุกกว่าพวกวินเทจบวมๆ ขุ่นๆ ที่มักจะเจอเป็นปกติในกีตาร์บางยี่ห้อที่ชูจุดขายเรื่องโทนเก่าแก่ คาแรคเตอร์สำคัญอีกอย่างของกีตาร์ PRS รุ่นนี้คือ มันฟังดูโปร่งสบายเสมอต่อให้อยู่ในโหมด humbucker และใช้นิ้วดีดก็ตาม มันไม่กลม ไม่ทู่เลย

ในโหมด full humbucker ที่แก๊กกลางก็ให้เสียงที่บาลานซ์กันดีกับปิคอัพตำแหน่ง bridge คือยังออกโทนคมใสและเต็ม ส่วนแก๊กท้ายทำให้ผมค่อนข้างสะดุดหู เนื่องจากความ breakup ของแอมป์ Mesa Rectoverb 25 ได้เปลี่ยนไปจาก crunch สวยๆ เป็นความก้ำกึ่งระหว่าง crunch กับ distortion กล่าวคือผมสังเกตว่าปิคอัพ TCI ‘S’ นี่ น่าจะแรงกว่า 85/15 ‘S’ ที่มากับ SE cU24 ตัวปกติ เพราะตอนผมใช้ SE CU24 เล่นแอมป์เดียวกัน เซ็ทคล้ายๆกัน เสียงแชแนลคลีนไม่แตกขนาดนี้ อันที่จริงผมก็เอะใจตั้งแต่แก๊ก neck humbucker แล้วหละ แต่ ณ ตำแหน่ง bridge ผมเห็นชัดเจนที่สุด ซึ่งส่วนตัวผมชอบแบบนี้นะ มันใช้งานได้กว้างดี และน่าจะถูกใจคนเล่นร็อคมากขึ้นด้วย

ไฮไลท์ของรุ่น 24-08 ซึ่งก็คือระบบตัดคอยล์แบบใช้สวิทช์ mini toggles 2 อันแยกตัดคอยล์ ซึ่งผมใช้เวลาทดสอบเรื่องนี้ค่อนข้างนาน และเล่นซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าจะแยกแยะได้ว่ากำลังได้ยินอะไรจากมัน เสียงตัดคอยล์ของ SE CU24-08 มีความคม โปร่ง เด้ง เล่นสนุก เปิด เป็นซาวด์ตัดคอยล์ที่ฟังดูดี ไม่บาง ไม่หลบ จริงอยู่ว่าจะเอามันไปเทียบกับสตรัทแท้ๆ คงไม่ได้ แต่สุ้มเสียงมันก็สามารถใช้งานได้จริง และดีเกินพอที่จะเอาไปใช้เล่นเพลงทั่วๆไป โดยเฉพาะ pop, funk ที่ใช้ซาวด์ single coil ยืนพื้น ความโปร่ง-เด้งของมันก็น้องๆ Silver Sky เหมือนกันนะ แต่กลิ่นไม่เก่าและหัวโน้ตไม่ใหญ่ คือไม่ Mayer tone ขนาดนั้นเท่านั้นเอง ซึ่งอันนี้ก็เข้าใจได้

ข้อสังเกตอย่างนึงจากการทดลองสลับ mini toggle ไปๆมาๆ คือรู้สึกได้ว่าวอลุ่มดรอปลงเมื่อมีการสับสวิทช์ตัดคอยล์ (ผมตีให้ซัก -20%) มันดรอปไม่มากเท่าระบบ push pull ปกติ (-40% หรือวูบกว่า) แต่มันไม่ได้รักษาระดับวอลุ่มตอนตัดคอยล์ได้เนี้ยบเท่าพวก core Paul’s Guitar แน่ๆ (พวกนั้นผมว่าวูบไม่เกิน -5 – 10% ขึ้นอยู่กับว่าเป็น model year ไหน) นอกจากนี้ยังมีช่วงเสียงดับระหว่างที่ตัว toggle กำลังย้ายตำแหน่ง แม้มันจะเป็นเพียงเสี้ยววินาที แต่มันมีอยู่ถ้าตั้งใจฟัง ลองดูในคลิปของผมก็ได้

ไปกันต่อกับเสียงแตก จากอาการที่ฟ้องว่า SE CU24-08 น่าจะแรงกว่า SE CU24 นั้น อะไรๆ ยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อเล่นแชแนล 2 ด้วยเกนที่มาเยอะใช้ได้และเป็นเกนที่มาพร้อมความเคลียร์ชัด ทำให้การเล่นคอร์ดในเสียงแตก สนุก ชัด ไม่เบลอไม่น่ารำคาญ ไดนามิคการตอบสนองต่อปริมาณเกนถือว่าดี เล่น clean up ด้วยวอลุ่มกีตาร์ได้เยี่ยม ยิ่งเสียงตัดคอยล์ยิ่งสนุก เพราะมันแตกกำลังดี ไม่พร่า และถึงแม้ว่ามันจะแอบแรงกว่าเพื่อนร่วมรุ่นอยู่พอตัว แต่ด้วยคอนเซพท์ของ PRS ที่ยังวางตัวปิคอัพ TCI ให้อยู่ในฝั่ง vintage tone มันจึงไม่มีคาแรคเตอร์กระชับแน่นอะไรมากมายอย่างพวกรุ่น SE Mark Holcomb ดังนั้นใครที่แค่อยากเอามันไปเล่นร็อกทั่วไปแต่ไม่ต้องการคาแรคเตอร์การตอบสนองที่สุดโต่งขนาดนั้นก็สบายใจได้ครับ

เทียบกับ SE Custom 24 ต่างกันยังไง?

หลายคน (รวมทั้งผม) ที่ยังไม่เคยลอง SE CU24-08 อาจจะคิดว่า มันก็คงแค่เอา SE CU24 ตัวเก่ามาแก้วงจรต่อ mini toggle สองอันแล้วตั้งชื่อรุ่นใหม่ ความจริงคือ ผิด นะครับ มันไม่ใช่แค่เพิ่มสวิทช์แล้วเปลี่ยนชื่อรุ่น แต่สุ้มเสียงก็ต่างจาก SE CU24 ตัวปกติด้วย กล่าวคือเทียบกันแล้ว ปิคอัพ TCI ‘S’ ของ 24-08 มีเสียงที่คมกว่า เคลียร์กว่า ชัดกว่า 85/15 ‘S’ ของ SE CU24 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงตัดคอยล์ที่คม ใส กระชับ เด้ง เล่นสนุกกว่า แถมวอลุ่มก็ดร็อปไม่มากเท่า SE CU24 ด้วย

ในส่วนของการใช้งาน SE CU24-08 ก็มีความยืดหยุ่นกว่าอย่างชัดเจน เราเลือกได้ว่าอยากตัดคอยล์ตำแหน่งไหน และที่สำคัญอีกอย่าง คือ เจ้า 24-08 ไม่มีปัญหาโง่ๆ ที่มากับ push/pull coil tap แบบ SE CU24 เช่น

  • ดึง Tone ไม่ขึ้น (เพราะมือลื่นเหงื่อ, คว้า knob ไม่ถนัด ฯลฯ)
  • เผลอไปหมุน Tone โดยไม่ตั้งใจระหว่างดึง/กด Tone knob
  • ฝา Tone knob หลุดติดมือมา (ในกรณีที่ใช้มานานจนฝาหลวม)

จะว่าไปแล้ว SE CU24-08 เหมือนรวมข้อดีของความสะดวกจากกีตาร์ PRS หลายๆรุ่น การเลือกปิคอัพในแบบ McCarty ที่ง่ายเพียงสะบัดมือตบ main toggle ผสานเข้ากับความยืดหยุ่นในการตัดคอยล์แบบ Paul’s Guitar ควบคู่ไปกับความเล่นง่ายตามสไตล์ Custom 24 ดังนั้น SE Custom 24-08 นี่มันแทบจะเป็นทุกอย่างให้เธอแล้วหละ

สรุป เล่นตัวไหนดี?

เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามนี้ว่า ระหว่าง SE CU24-08 (ราคาศูนย์ ณ เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 29,400 บาท) กับ SE CU24 ตัวปกติ (27,300 บาท) เล่นตัวไหนดี? ถ้าให้สรุปชัดๆ ตรงๆ ตามสไตล์ของผม จะเป็นดังนี้ครับ

SE Custom 24-08 เหมาะกับคนที่…

  • ใช้ซาวด์ตัดคอยล์ค่อนข้างบ่อย และอยากได้ซาวด์ตัดคอยล์ที่เวิร์คจริงๆ คือมีโทนที่เพราะและวอลุ่มไม่วูบมากเมื่อเปิดใช้งาน
  • สไตล์การเล่นหลากหลาย ตั้งแต่หมอลำยัน ฟังก์ ยันร็อค
  • ชอบผสมเสียงหลายๆ แบบ ชอบทดลองอะไรที่ระบบวงจรปกติไม่มีให้
  • ไม่ยึดติดกับลุคว่าต้องดูเหมือน PRS แบบดั้งเดิม
  • ไม่ชอบโมดิฟาย อยากจ่ายแล้วจบ

SE Custom 24 เหมาะกับคนที่…

  • ต้องการรูปลักษณ์แบบ PRS ดั้งเดิมที่คุ้นตา ชอบลุคเรียบง่าย
  • ไม่ค่อยใช้ซาวด์ตัดคอยล์
  • มีแผนจะโมปิคอัพและระบบไฟฟ้าอยู่แล้ว
  • ต้องการเซฟส่วนต่างงบประมาณอีกนิดหน่อย

ส่งท้าย

สำหรับการรีวิว PRS SE Custom 24-08 ของผมก็จะมีประมาณนี้นะครับ หวังว่าที่ผมเล่าไปจะช่วยเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกกีตาร์ให้เพื่อนๆ ได้บ้างไม่มากก็น้อย และสำหรับใครที่อยากรู้จักแบรนด์ Paul Reed Smith ให้มากขึ้นไปอีก สามารถเข้ามา join กลุ่ม PRS Thailand ที่ผมตั้งขึ้น ได้ที่นี่ครับ

ขอบคุณเพื่อนๆที่ติดตามอ่าน และขอบคุณร้าน Music Collection สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ที่เอื้อเฟื้อกีตาร์สำหรับทดสอบด้วยครับ