รีวิวกีตาร์ PRS Paul’s Guitar V.2

ในบรรดากีตาร์แบรนด์ PRS สมัยใหม่ยุคสิบปีหลัง รุ่นที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดรุ่นหนึ่งก็คือ Paul’s Guitar นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกจนถึงวันนี้ก็ครบสิบขวบพอดี มีโปรดักชันออกมา 2 เวอร์ชัน ผมเคยลองเวอร์ชันแรกแล้ว และนี่เป็นครั้งแรกที่จะได้ทดสอบพร้อมเขียนรีวิว Paul’s Guitar เวอร์ชันล่าสุดสักทีหลังจากที่รอมานาน

มันคืออะไร

กีตาร์ Paul Reed Smith รุ่น Paul’s Guitar (พอลส์ กีตาร์) เปิดตัวครั้งแรกในปี 2013 มันเป็นกีตาร์แนว specialty หรือกีตาร์ที่มีลูกเล่นแปลกใหม่เฉพาะตัว พัฒนาต่อยอดมาจากรุ่น Signature Limited และ 408 แต่ปรับสเปคในบางจุดให้ใกล้เคียงกับกีตาร์ตัวที่ลุงพอลสั่งผลิตใช้เองในช่วงนั้น จึงเป็นที่มาของชื่อรุ่น Paul’s Guitar (แปลว่า “กีตาร์ของพอล”) นั่นเอง จะว่า PRS รุ่นนี้คือรุ่นซิกเนเจอร์ของผู้ก่อตั้งบริษัท ก็ว่าได้

กีตาร์ที่ Mr. Paul Reed Smith สั่งผลิตใช้เอง ก่อนจะมาเป็นรุ่น Paul’s Guitar ที่ทำขายในปัจจุบัน (รูปจาก prsguitars.com)

พูดถึงกีตาร์แนว specialty จากค่าย PRS หลายคนที่ใหม่กับแบรนด์นี้อาจยังงงๆ ว่ามันมีรุ่นไหนบ้าง ถ้าย้อนไปรุ่นบุกเบิกเลยก็เช่นรุ่น 513 ที่มีปิคอัพ 5 อันผสมได้ 13 เสียง, 509 ที่ต่อยอดจาก 513 แต่เปลี่ยนวงจรใหม่ ผสมได้ 9 เสียง, 408 ที่มี 4 ปิคอัพ 8 เสียง เป็นต้น

PRS 513
PRS 408

สเปคเป็นไง ต่างจากรุ่นแรกตรงไหนบ้าง

  • Model: Paul’s Guitar (Version 2, 2022 model year)
  • Body: Mahogany, McCarty thickness, 1 piece
  • Top: Figured maple
  • Body-neck construction: Set-in
  • Neck: Mahogany, 1 piece
  • Neck profile: Pattern
  • Fingerboard: Honduran rosewood, 10″ radius
  • Fingerboard inlay: Brushstroke, full size
  • Fingerboard inlay material: Ivoroid
  • Number of frets: 22
  • Electronics: Tuned Capacitance and Inductance (TCI), 1 three-way main toggle, 2 mini toggles for coil split, 1 volume, 1 tone
  • Tuners: Phase 3 locking with faux bone buttons
  • Nut: Bone
  • Bridge:
    • PRS Stoptail with brass inserts
    • PRS Tremolo, Gen 3
  • Finish: PRS CAB Nitrocellulose
  • Case/bag: Hard shell case

PG เป็นกีตาร์โมเดลที่สร้างด้วยพื้นฐานจากรุ่น McCarty คือบอดี้มาฮอกกานีมีความหนากว่าพวกรุ่น Custom ประมาณ 2 มิลกว่าๆ และเป็นไม้ชิ้นเดียว คอเชพ Pattern อวบเต็มมือ และมี 22 เฟรท แต่นั่นคงไม่ใช่สิ่งที่คนจดจำเกี่ยวกับกีตาร์รุ่นนี้ หากแต่เป็นอินเลย์นกพู่กันสะบัดพริ้วไหมบนฟิงเกอร์บอร์ด กับปิคอัพฮัมบัคเกอร์หน้าตาประหลาดคู่นั้นมากกว่า และ new PG 2022 ก็ยังมากับสเปคนี้เหมือนเดิม แม้ PRS จะเคยลดสเปคอินเลย์นกพู่กันโดยปรับขนาดเล็กลงในช่วงระหว่างปี 2018 – 2021 ซึ่งเล็กจนดูแทบไม่รู้ว่าเป็นรูปนก แต่ก็โชคดีที่ปรับมาใช้นกไซส์เดิมในปีนี้ วัสดุทำอินเลย์นกพู่กันไม่ใช่เปลือกหอย หากแต่เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ PRS เรียกว่า Ivoroid

ฟิงเกอร์บอร์ดเป็นไม้โรสวูดฮอนดูรัส (Honduran rosewood) เหมือนตัวออริจินอลที่ออกมาตั้งแต่ปี 2013 และเป็นจุดที่ไม่เคยลดไม่เคยเปลี่ยน ไม้ชนิดนี้มีความแข็งมากกว่าไม้ Indian rosewood ที่ PRS ใช้ทำฟิงเกอร์บอร์ดของ core USA เกือบทุกรุ่น ให้ความคม ชัด บางตัวจะให้ลวดลายโค้งวนใกล้เคียงกับไม้ Brazilian rosewood เป็นอย่างมาก ว่ากันว่าในทางโทนเสียง ไม้โรสวูดฮอนดูรัสมีความใกล้เคียงกับไม้ Brazilian rosewood มากๆ ทีเดียว PRS ใช้ไม้ชนิดนี้ทำฟิงเกอร์บอร์ดสำหรับกีตาร์ไม่กี่รุ่นเท่านั้น นอกจาก PG ก็จะเป็นรุ่นลิมิเตดบางรุ่น หรือรุ่นสูงๆ อย่างพวก Private Stock ไปเลย ยกตัวอย่างก็เช่น P24 Limited กับ Private Stock Paul’s 85 Limited เป็นต้น

control layout ยังคงเดิมด้วย main toggle 3 ทางตัวหลักแบบเดียวกับ PRS McCarty ที่มาพร้อมกับ mini toggle 2 ตัวเล็กๆ ไว้ทำหน้าที่ตัดคอยล์ humbucker แยกอิสระ โดยปัดลงเป็นการเปิดใช้ humbucker และปัดขึ้นเป็นการตัดคอยล์ ทำให้ผสมเสียงได้ 8 แบบ แต่ผมคิดว่าอาวุธหลักของ New PG อยู่ที่ปิคอัพชุดใหม่ ด้วยการเปลี่ยนจาก Narrow 408 set มาเป็นรุ่น TCI หน้าแคบ สีม้าลาย (PG เวอร์ชันแรกสีดำล้วน)

PG v.2 ปี 2019 สังเกตอินเลย์นกพู่กันที่ลดขนาดลง (รูปจาก loviesguitars.com)

เมื่อมองปิคอัพจากด้านท้ายบอดี้ (หรือมองจากฝั่ง headstock) เราจะเห็นว่าหน้าปิคอัพมีความโค้งรับกับเรเดียสฟิงเกอร์บอร์ด เป็นดีไซน์ที่ PRS ใช้กับกีตาร์ระดับ core USA มาตั้งแต่ปี 2013 ข้อสังเกตของผมอีกอย่างคือ neck humbucker ยังคงหันคอยล์ตัวหมุดสกรูไปทางด้านท้ายตามดีไซน์ของเวอร์ชันแรก (neck humbucker ของกีตาร์ปกติหัน neck screw coil ขึ้นไปทางหัวกีตาร์) กรอบปิคอัพทรงโค้งมนดีไซน์รับกับปิคอัพ TCI ซึ่งจะว่าไปนี่ก็คือเอกลักษณ์อย่างนึงของ PG มาตั้งแต่แรกก็ว่าได้

neck humbucker หันคอยล์ตัวหมุดสกรูลงด้านล่าง ตามปกติของกีตาร์รุ่นนี้

หลักการทำงานของปิคอัพและวงจรของ Paul’s Guitar คือเมื่อมีการตัดคอยล์ จะมีการใช้ขดลวดเหนี่ยวนำเพิ่ม output ชดเชยให้กับคอยล์ที่ถูกตัดออกมา เพื่อให้ยังแรงขึ้น และมีความดังใกล้เคียงกับตอนที่ยังจับคู่กับ slug coil เป็น humbucker

ลูกบิดเป็นแบบล็อกสายรุ่นที่ 3 แบบปรับใหม่ (Tweaked Phase 3 Locking Tuners) ที่ออกแบบส่วนก้านหมุนให้เบาแรงบิดมากกว่าลูกบิด Phase 3 เวอร์ชันปกติ ส่วนเสาร้อยสายทำจากทองเหลือง ใบลูกบิดปรับสเปคจากใบโลหะมาเป็นวัสดุกระดูกเทียม ส่วนนัทเปลี่ยนสเปคจากเวอร์ชันก่อนที่ใช้นัทคอมโพสิตสีดำของ PRS มาเป็นกระดูกสัตว์เช่นเดียวกับรุ่น McCarty 594 ดูเข้ากับใบลูกบิด

บริดจ์ของตัวที่ผมลองเป็น PRS Stoptail วัสดุอลูมิเนียมน้ำหนักเบาที่ออกแบบพิเศษโดยมีแท่งทองเหลืองล็กๆ 6 อันตอกอัดลงไปในตัวบริดจ์ ณ ตำแหน่งใต้สายทั้งหก การใช้โลหะทองเหลืองในจุดสัมผัสสายเช่นนี้ก็เป็นไปตามแนวคิดของลุงพอลเองที่ว่า “ส่วนของกีตาร์ที่สัมผัสกับสายคือพระเจ้า” และทองเหลืองคือโลหะที่ลุงพอลโปรดปรานที่สุดในการนำมาผลิตเป็นอะไหล่ต่างๆ ของกีตาร์ PRS made in USA ทั้งนี้บริดจ์ของ PG มีออพชันให้เลือกเป็นแบบคันโยกด้วยนะครับ แต่ดูเหมือนคนจะนิยมบริดจ์แบบ Stoptail มากกว่า เพราะบริดจ์แบบนี้เหมือนเป็นภาพจำของรุ่นนี้ตั้งแต่เปิดตัว ทำให้ลุคกีตาร์ดูคลาสสิค น่าเก็บกว่าคันโยก

บริดจ์ PRS Stoptail with brass inserts สังเกตจุดสีทองๆ หกอันที่ใต้สายนะครับ

สัมผัส

เช่นเดียวกับ PRS made in USA ปีปัจจุบันหลายๆ ตัวที่ผมจับมา คือสิ่งแรกที่รู้สึกทันทีเมื่อหยิบ คือความหนึบๆมือเล็กน้อยอันเนื่องจากการพ่น finish แบบไนโตรสูตรใหม่ของ PRS ที่ใช้กับกีตาร์ที่ผลิตในโรงงานที่อเมริกาทั้งหมด แทนที่ V12 finish ที่เคยใช้ตั้งแต่ราวๆปี 2012 ผิวเคลือบไนโตรแบบใหม่นี้นอกจากหนึบมือเล็กน้อย ยังดูบางกว่าผิวเคลือบแบบเก่า และยังดูใส ไม่เปลี่ยนลุคของ PRS ให้ดูวินเทจอย่างยี่ห้อคู่แข่งแต่อย่างใด

เมื่อจับมาวางบนตัก คอของ PG ให้ฟีลที่เต็มมือ ด้วยเชพ Pattern ที่ใกลเคียงกับเชพ Wide Fat ในอดีต แต่ไหล่เรียวลงมากกว่า ให้ความสบายในการเล่นมากกว่า คอสเกล 25 นิ้วปกติกับเฟรท 22 ช่องช่วยให้เอื้อมมือใกล้ เล่นสบาย บางคนอาจบอกว่าเล่น 24 ดีกว่า เหลือดีกว่าขาด แต่จากที่ผมใช้งานจริงมามากต่อมาก ผมว่าเล่น 22 ได้อะไรมากกว่า 24 ยิ่งสำหรับยี่ห้อ PRS ด้วยแล้ว เล่นรุ่น 22 ยิ่งได้อะไรเยอะกว่า 24 จนเล่าตรงนี้ไม่หมด ผมจึงไม่มีกีตาร์ PRS รุ่น Custom 24 เลย แม้ผมจะเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม PRS Thailand ก็ตาม

หย่อง Stoptail ทำให้การวางมือขวาลอยอยู่สุงจากหน้าท็อปมากกว่าคันโยก แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการใช้งานไม่ว่าเล่นช้าๆ หรือปั่นไวๆ เพราะคอของ PRS ที่มากับ Stoptail ถูกออกแบบให้มีองศาที่ชดเชยกับความสูงของบริดจ์มาแล้ว รวมทั้งกีตาร์ถูกเซ็ทอัพแอคชันมาโอเคแล้วจากโรงงาน

เสียง

กีตาร์ PRS ส่วนใหญ่ตัดคอยล์ได้ แต่ไม่ใช่ทุกรุ่นที่ตัดคอยล์แล้วเด้งน่าเล่นอย่าง Paul’s Guitar v.2

ผมเสียบ PG v.2 2022 สีฟ้าสุดสวยตัวนี้เข้ากับแอมป์ PRS Sonzera 50 combo EQ และเกนเที่ยง รีเวิร์บ 11 โมง เริ่มทดสอบในแชแนลคลีนโดยใช้โหมด humbucker (mini toggle ปัดลง) ไล่จากตำแหน่ง neck humbucker เสียงที่ได้มีคาแรคเตอร์ที่ เปิด ย่านกลาง-แหลมสดใส ซาวด์โดยรวมค่อนข้างสว่าง แค่เริ่มต้นก็รู้สึกทันทีว่ามันไม่ค่อยเหมือนซาวด์ของ Paul’s Guitar ที่ผมเคยรู้จักซักเท่าไหร่ สำหรับแก๊กถัดๆมาก็ให้โทนไปในทิศทางเดียวกัน คือโปร่ง สว่าง สดใส สนุก เล่นเพลิน

แน่นอนว่าสิ่งที่เป็นที่กล่าวขานเกี่ยวกับ PG และปิคอัพสไตล์ Signature/408 คือระบบตัดคอยล์ ผมเริ่มทดสอบโหมดตัดคอยล์ (mini toggle ปัดขึ้น) จาก neck pickup ก่อน สิ่งแรกที่รู้สึกทันทีคือ PG v.2 ตัดคอยล์แล้วรับรู้ได้ว่าวอลุ่มดรอปลง แม้ไม่มากอย่างระบบตัดคอยล์บ้านๆ แต่ฟังรู้ว่าดรอปลง ฟังรู้ว่าวงจรตัดคอยล์เริ่มทำงาน ผมคิดว่ามันน่าจะดรอปลงไปซัก 10-20% แต่แม้วอลุ่มจะเบาลงไปนิดหน่อย แต่ก็ได้คาแรคเตอร์ของเสียงซิงเกิลคอยล์ที่โปร่ง ใส เด้ง สนุก ยิ่งผสมตัดคอยล์หน้า-หลังด้วยกันยิ่งเริด ไม่ว่าจะเล่นสไตล์ฟังก์หรือฟิงเกอร์สไตล์ หรือแม้แต่พยายามเล่นบลูส์ป๊องๆ แบบที่คนเล่นสตรัทเค้าชอบเล่นกัน ก็ดีงาม นี่ก็เป็นสิ่งใหม่ที่มีใน PG v.2 เช่นกัน ยิ่งเล่นยิ่งรู้ว่ามันไม่เหมือนเดิม

เมื่อเสียงคลีนออกไปทางไบรท์ เสียงแตกก็ยิ่งแผด แสบดาก หลายคนอาจไม่ทราบว่า PG เป็นกีตาร์ที่เล่น high gain ได้ดีมาก ผมว่าดีกว่า Custom 24 ตัวปัจจุบันด้วยซ้ำ เนื่องจากดีไซน์ปิคอัพหน้าแคบกับระบบวงจรที่ออกแบบมาให้การตอบสนองมีความกระชับ ผนวกกับบริดจ์ Stoptail with brass inserts แน่นๆ คมๆ ทำให้ PRS รุ่นนี้เป็นอาวุธลับของสายร็อคอย่างที่หลายคนคิดไม่ถึง สำหรับ v.2 นี้ก็ยังให้เสียงแตกที่ชัด แรงพอตัว แต่เพิ่มเติมความเปิด แผด พุ่ง และเมื่อลดวอลุ่มลงเสียงก็คลีนขึ้นกลายเป็น overdriven tone สวยๆ ใสๆ ช่วงไดนามิคของการ clean up ไม่กว้างเท่า McCarty 594 แต่ก็ถือว่าดีเหลือเฟือสำหรับคนชอบใช้วอลุ่มกีตาร์ไล่ระดับเกน หรือคนที่เน้นใช้เสียงแตกจากแอมป์มากกว่าก้อน ผมสังเกตว่าเมื่อตัดคอยล์ในระหว่างเล่นเสียงแตก จะเกิดเสี่ยงจี่เบาๆ ด้วย ให้ลักษณะที่ใกล้เคียงกับ single coil จริงๆ

และด้วยระบบคอนโทรลแบบแยกตัดคอยล์ ช่วยให้ผมสามารถตัดคอยล์ตำแหน่ง neck ทิ้งไว้เพื่อเล่นคอร์ดเกนเบาๆ แล้วสลับไปเล่น power chord อัดเกนที่ตำแหน่ง bridge ในท่อนฮุคได้โดยไม่ต้องเสียจังหวะไปดึง tone pot เพื่อตัดคอยล์แต่อย่างใด

เทียบกับรุ่นแรก (2013) ต่างกันยังไง

Paul’s Guitar ปีแรก สเปคจัดเต็มทุกตัว (รูปจาก https://www.guitars-shop.de)

แน่นอน นี่คงเป็นคำถามสำคัญของคนที่เคยลอง หรือมี PG v.1 ในครอบครอง สำหรับผมซึ่งลองแล้วทั้งสองเวอร์ชัน ก็ต้องตอบว่า PG สองเวอร์ชัน ต่างกันพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิง่ เสียง ผมขอลิสต์เป็นประเด้นๆ เพื่อความชัดเจนดังนี้ครับ

  • PG v.1 ถูกจูนมาให้มีย่านโลว์ที่มากกว่า v.2 อย่างเห็นได้ชัด หัวโน้ตจากปิคอัพ Narrow 408 ของ v.1 จะใหญ่ กระแทก แต่เป็นเม็ด กระชับ ชัดเจน ใหญ่แต่ไม่บาน ในขณะที่ปิคอัพ TCI ของ v.2 ดูจะถูกออกแบบใหม่ให้มีความสว่าง ไบรท์ ใส เน้นย่านกลางกับแหลมมากขึ้น ให้โทนที่เล่นเพลินขึ้น (และสำหรับตัวผมเอง ผมชอบแบบใหม่มากกว่าแบบเก่า) เปิดขึ้นในทุกๆตำแหน่ง ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องเสียงไม่มีถูกผิดนะครับ ไม่มีอันไหนดีกว่าอันไหน ผมแค่จะชี้ว่ามัน “แตกต่างกัน” และโทนสว่างคือทิศทางใหม่ของ PRS รุ่นนี้
  • นอกจากโทนที่ต่างกันแล้ว อย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า v.2 ต่างจาก 1 คือตัวเก่าจะมีคาแรคเตอร์ของการตอบสนองที่แอบคอมเพรสอยู่ระดับนึง กล่าวคือปิคอัพกับระบบไฟฟ้าของมันมีลักษณะของการเก็บย่าน เก็บอาการตอบสนองให้เต็ม กระชับ นิ่ง ใหญ่อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าในโหมด full humbucker หรือ coil tapping ผมอธิบายความรู้สึกนี้ไม่ถูก แต่ทั้ง PG v.1 และ 408 มีลักษณะแบบนี้ ลักษณะที่คล้ายมี compressor อ่อนๆในตัว ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ ไม่เหมือนกีตาร์ไฟฟ้าปกติทั่วไป ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบอาการแบบนี้ แต่นั่นก็เป็นข้อดีต่อผู้เล่นที่ต้องการความ consistency ในการเล่นโดยเฉพาะการเล่นสด หรือการเล่นที่ต้องการความสม่ำเสมอในการตอบสนอง มากกว่าไดนามิคหรือความ open sounding ตามธรรมชาติ แต่ v.2 มีความเปิดมากขึ้นนิดหน่อย กระชับน้อยลงนิดนึง แต่ไม่ถึงกับบานบวมได้ง่ายๆ อย่างเช่นกีตาร์ทั่วไปเนื่องจากยังไงซะนี่ก็ยังเป็น PG ที่มากับดีไซน์ pickup bobbins แบบ Narrow 408 ที่ออกแบบมาเพื่อจำกัดพื้นที่ที่สนามแม่เหล็กกระทำต่อสายกีตาร์อยู่แล้ว พูดง่ายๆ คือ v.2 เป็น PG ที่เสียงใสขึ้น เปิดขึ้น โปร่งขึ้น แตกเหนียวขึ้น และเป็นมิตรกับแนวดนตรีที่หลากหลายมากขึ้นจากคาแรคเตอร์การตอบสนองที่เปลี่ยนไป
  • นอกจากสิ่งที่จับต้องยากที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีความต่างหนึ่งที่ “ชัดเจนว่าต่าง” นั่นก็คือการตัดคอยล์ เพราะ v.1 ตัดคอยล์แล้ววอลุ่มแทบไม่ตกเลย ผมยังจำตอนที่ลองครั้งแรกได้ว่า ตัวเองถึงกับต้องสับ mini toggle กลับไปกลับมาอยู่หลายครั้งเพื่อฟังความต่างว่านี่ตัดคอยล์แล้วจริงๆหรือเปล่า ถ้าให้ผมตีวอลุ่มที่ดรอปเป็นเปอร์เซ็นต์ผมคิดว่าไม่เกิน 5 (ห้า) หรือน้อยกว่า ผมมองว่าเสียงตัดคอยล์ของ v.1 เป็นการตัดคอยล์ในทางเทคนิคแต่ในทางดนตรีมันฟังไม่ค่อยเหมือนตัดคอยล์สักเท่าไหร่ แต่สำหรับ v.2 นั่นคนละเรื่อง คือตัดปุ๊บ วอลุ่มดรอปปั๊บ ฟังรู้ทันที (ดูในคลิปตอนท้ายๆ ก็ได้ครับ) ผมว่าน่าจะซัก 10-20% ซึ่งก็อย่างที่บอก โอเคมันก็อยู่ในระดับที่ยังถือว่าดี ดีกว่ากีตาร์ในท้องตลาดหลายๆรุ่น และดีกว่า PRS McCarty ด้วยซ้ำ แต่ส่วนตัวผมคงพูดได้ไม่เต็มปากแล้วว่า “Paul’s Guitar ตัดคอยล์วอลุ่มไม่ดรอป” แต่มีข้อสังเกตอย่างนึงในการตัดคอยล์เสียงแตกของ v.2 คือมีเสียงจี่ปนออกมาเล็กน้อย ถ้าจำไม่ผิดผมไม่ได้ยินอาการแบบนี้ใน v.1 แฮะ
  • ในแง่ของสเปค เนื่องจาก v.2 เป็นกีตาร์ใหม่ที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2018 สเปคไม้จึงเป็น core level ธรรมดาๆ ไม่เป็น Artist Package เหมือนโมเดล 2013-14 ที่หลายคนชอบหาเก็บกัน แต่ถึงอย่างไรเราก็สามารถหา v.2 ตัวที่เป็น Artist Package หรือขยับไปถึง Wood Library ได้ สำหรับคนที่ใหม่กับ PRS และไม่รู้ว่าออพชันพวกนี้คืออะไร คลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
  • อะไหล่ของทั้งสองรุ่นก็ต่างกัน คือรุ่น 2 ได้อะไหล่ที่สดใหม่กว่า ปรับปรุงประสิทธิภาพมากกว่ารุ่นแรกนิดหน่อย ไม่ว่าจะเป็นลูกบิด Tweaked Phase 3 ที่หมุนลื่นกว่าเบาแรงกว่า ใบลูกบิดแบบ faux bone น้ำหนักเบา นัทกระดูก รวมถึงคันโยก Gen 3 (สำหรับ v.2 ตัวที่มากับบริดจ์คันโยก)

PG v.2 เหมาะกับใคร?

จากที่ว่ามาทั้งหมด PG v.2 จึงเหมาะกับ:

  • คนที่ชอบซาวด์ที่เปิด ใส สว่าง มีความ organic และมีความ universal เล่นได้หลายแนวจริงๆ ตั้งแต่ป๊อปใสๆ ยันร็อคแสบดาก
  • คนที่มองหากีตาร์ PRS ที่มีเอกลักษณ์เท่ๆ เฉพาะตัว
  • คนที่เน้นใช้งานมากกว่าสเปค หรือเน้นใช้งานและสเปคสุด โดยมีกำลังทรัพย์เกินสองแสนบาท

แต่ไม่เหมาะกับ:

  • คนที่ชอบคาแรคเตอร์การตอบสนองกระชับๆ หัวโน้ตใหญ่ๆ ของ v.1 มากกว่า
  • คนที่เน้นเล่นแต่รุ่นกระแสหลัก
  • คนที่มอง PG เพื่อการสะสม เพราะยังไงรุ่นปี 13-14 ก็มีความ collectability มากกว่า รวมถึงมีสเปคที่ดีกว่าในราคาต่ำกว่าเพราะเป็นของมือสอง

ส่งท้าย

สำหรับการรีวิว PRS Paul’s Guitar เวอร์ชันสอง ปี 2022 ของผมก็มีเท่านี้ หวังว่าเพื่อนๆ จะได้รับข้อมูลที่ต้องการไปบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ผมขอขอบคุณร้าน Music Collection สาขาเซ็นทรัลบางนา เอื้อเฟื้อกีตาร์ในการรีวิวครั้งนี้ด้วย สำหรับคนที่สนใจกีตาร์ตัวที่ผมใช้รีวิว ค่าตัวอยู่ที่ 182,000 บาทนะครับ (ราคา ณ เดือนกรกฎาคม 2565)

กลุ่ม PRS Thailand ของผม คลิกตามไปหลอนกันต่อได้ที่นี่ครับ