กีตาร์ PRS – ความเป็นมาและกีตาร์แต่ละระดับราคา

ผมไม่ได้เล่นกีตาร์เป็นอาชีพ แต่เคยมีกีตาร์รุ่นสูงๆในครอบครองอยู่บ้าง จากที่เคยเก็บข้อมูลก่อนซื้อไปจนถึงช่วงเวลาที่ใช้งาน ก็ทำให้ได้รู้จักกีตาร์บางรุ่นบางยี่ห้อพอสมควร ผมจึงอยากจะแชร์ประสบการณ์นั้นกับเพื่อนๆ เผื่อจะมีประโยชน์สำหรับคนที่กำลังหาข้อมูลหรือกำลังตัดสินใจเลือกซื้อ ผมจะทยอยเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจของกีตาร์พวกนั้นนะครับ 

ผมขอเริ่มจากแบรนด์กีตาร์ที่ผมชอบมากที่สุดและเคยซื้อหามาเล่นครับ มันคือ Paul Reed Smith หรือที่เพื่อนๆรู้จักกันในชื่อ PRS นั่นเองครับ

PRS ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1985 โดย Mr. Paul Reed Smith ที่เมือง Stevensville รัฐ Maryland สหรัฐอเมริกา เป็นยี่ห้อที่มีดีไซน์และงานตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะ inlay รูป “นก” บนฟิงเกอร์บอร์ด ก่อนจะมาเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์กีตาร์ที่นักกีตาร์ใฝ่ฝันอยากครอบครองมากที่สุดแบรนด์หนึ่งนั้น ลุงพอลสร้างชื่อเสียงจากช่างทำกีตาร์โนเนมด้วยการสร้างกีตาร์แฮนด์เมดงามๆ เอาไปให้ศิลปินดังๆ ของยุค 70s เล่น หนึ่งในนั้นคือ Carlos Santana, Peter Frampton, Howard Leese, Neal Schon ได้เล่น ซึ่งเมื่อผู้คนเห็นกีตาร์ของคุณลุงที่ศิลปินดังเล่น ก็เกิดความสนใจอยากรู้จักและพากันไปสั่งทำบ้าง จนลุงพอลแกผันตัวจากการเป็นช่างทำกีตาร์ตามสั่งมาเป็นแบรนด์ผู้ผลิตจริงจังด้วยการเปิดตัวกีตาร์รุ่น Custom 24 เมื่อปี ค.ศ. 1985 จึงมีเงินทุนสำหรับขยายกิจการตั้งโรงงานผลิตเล็กๆ จากนั้นกิจการโตวันโตคืน จนในปี 1995 แบรนด์ PRS ก็มีโรงงานแห่งใหม่ขนาดใหญ่ที่มีเครื่องจักรทันสมัย ผลิตกีตาร์ PRS USA สวยๆมาให้คนรักกีตาร์น้ำลายหกกันจนถึงทุกวันนี้
แม้ PRS จะเริ่มต้นจากการผลิตกีตาร์ hi-end ในอเมริกาและมีราคาสูง (ปัจจุบัน รุ่นเรือธงอย่าง Custom 24 ราคา ณ เดือนกันยายน 2560 อยู่ที่ประมาณตัวละหนึ่งแสนบาทต้นๆ) แต่ PRS ก็ใส่ใจความต้องการของลูกค้าซึ่งมีหลากหลายความต้องการ PRS จึงแยกไลน์ผลิตกีตาร์เป็นหลายระดับราคา เรียงลำดับราคาจากต่ำไปสูงได้ดังนี้ครับ

ไลน์ผลิตของ PRS นั้น ก็แบ่งตามระดับราคานั่นเอง โดย PRS จะไม่ใช้วิธี “แตกแบรนด์ลูก” อย่างที่ Gibson มี Epiphone, Fender มี Squier, Music Man มี Sterling นโยบายการ branding ของ PRS คือ PRS ทุกตัวคือ PRS แม้จะเป็นรุ่นราคาหมื่นกว่าบาทที่จ้างโรงงานในเอเซียผลิตให้ ก็ผ่านการคิด ออกแบบ กำหนดสเปค และตรวจสอบการผลิตจากบริษัท PRS ที่อเมริกา

PRS แต่ละช่วงราคา เรียกตามชื่อที่ผมลิสต์ให้ดังต่อไปนี้

  • SE
  • S2
  • Bolt-on
  • Core
  • Private Stock

SE

กีตาร์ในไลน์ SE (ย่อมาจาก Student Edition) เป็นรุ่นราคาประหยัดที่ผลิตในประเทศแถบเอเซีย เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และจีน ขึ้นอยู่กับปีและรุ่น แนวคิดของกีตาร์ในไลน์ผลิตนี้ก็เพื่อสร้าง PRS ในราคาหลักหมื่นบาทเพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายไม่ต้องจ่ายเป็นแสน โดยถอดแบบมาจากไลน์ Core USA ตั้งแต่สปีชีส์ของไม้ที่เป็นบอดี้มาฮอกกานี ไม้ท็อปเมเปิลแท้ (PRS SE Custom ใช้ไม้เมเปิลจริงๆ เป็นไม้ท็อป แล้วแปะวีเนียร์ทับไว้เพื่อความสวยงาม ไม่ใช่บอดี้มาฮอกกานีล้วนแล้วแปะวีเนียร์เพื่อตบตาลูกค้าดังที่หลายยี่ห้อมักทำกันในกีตาร์ช่วงราคาใกล้เคียงกัน) ฟิงเกอร์บอร์ดโรสวูด อินเลย์นก เป็นต้น แต่ด้วยความที่ต้องลดต้นทุนเพื่อให้ขายราคาหลักหมื่นได้ SE หลายรุ่นก็ต้องตัดทอนสเปคที่ไม่จำเป็นบางอย่างลงไป เช่น บอดี้บางกว่า ไม้บอดี้มาฮอกกานีต่อ 3 ชิ้นไม่ใช่ชิ้นเดียว คอเมเปิล quarter sawn ต่อไม้ตามยาว 3 ชิ้น อินเลย์นกทำจากพลาสติกไม่ใช่เปลือกหอย ปิคอัพและอะไหล่ผลิตที่เกาหลี เป็นต้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

ไลน์ผลิต SE รุ่นราคาประหยัดสุดเริ่มตั้งแต่กลุ่ม SE Standard ราคาหมื่นปลายๆ ใช้บอดี้ทำจากไม้มาฮอกกานีล้วนๆทำสีทึบ ไม่มีการแปะลายไม้ maple veneer สำหรับกีตาร์ในไลน์นี้จะเป็นพวก SE Standard 24, SE Standard 22, SE Standard 245 เป็นต้น ผมว่า กีตาร์ในกลุ่มนี้ ตัวที่ทำสีทึบก็สวยไปอีกแบบ และได้ความคุ้มค่าคุ้มราคาดีครับ

SE Standard 24 สังเกตว่าไม่มีลายเฟลม เนื่องจากบอดี้ทำจากไม้มาฮอกกานีล้วนๆ
SE Standard ไม่ใช่ SE Custom ชื่อรุ่นเขียนไว้ชัดเจนครับ

เขยิบขึ้นมาอีกนิดกับ SE ที่แปะไม้ท็อปเมเปิล ซึ่งช่วงราคาเริ่มตั้งแต่สองหมื่นกลางๆ ไปจนถึงห้าหมื่นกว่าบาท กีตาร์ในกลุ่มนี้ก็จะมีรุ่น SE Custom 24, SE Custom 22, SE 245, SE Hollowbody รวมถึงรุ่นลายเซ็นของศิลปินส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในไลน์นี้ เช่น SE Tremonti Custom, SE Santana, SE Orianthi, SE Mark Holcomb นอกจากนี้ PRS SE ยังมีกีตาร์โปร่งด้วยนะครับ

ในปี 2018 PRS เริ่มย้ายฐานการผลิตจากโรงงาน World Music ที่เกาหลีใต้ ไปโรงงาน Cor-Tek สาขาอินโดนีเซียและจีน ในปัจจุบัน (ปี 2020) ไม่มี SE รุ่นใดผลิตที่โรงงานเกาหลีแล้ว

เช็กปีเกิด PRS SE ของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ครับ

SE Custom 24 (ปี 2020)

S2

S2 (เอส ทู) ย่อมาจาก Stevensville 2 เป็นไลน์ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2013 เป็นรุ่นราคาเริ่มต้นสำหรับ PRS ที่ผลิตในโรงงานเมือง Stevensville รัฐ Maryland สหรัฐอเมริกา เริ่มใช้อะไหล่ดีขึ้น เช่น ลูกบิดล็อกสาย control knobs แบบ Core USA และประกอบขึ้นโดยช่างของ PRS ที่โรงงานในแมรีแลนด์เลย ราคาเริ่มต้นของ S2 อยู่ที่ประมาณสี่หมื่นปลายๆ ถึงหกหมื่นต้นๆ ดีไซน์ของ S2 ที่แตกต่างจากไลน์อื่นๆ คือ การใช้ไม้เมเปิลท็อปแท้ (สำหรับรุ่นที่ไม่ใช่ S2 Standard)  แต่ไม่เน้นลวดลายมากนัก และใช้กรรมวิธีปาดเหลี่ยมบอดี้ (bevel) โมเดลหลักๆของไลน์นี้ก็เช่น S2 Custom 22 – 24, S2 Standard 22 – 24, S2 Vela

แต่ต้องบอกเพื่อนๆไว้ก่อนว่ามีหลายสิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับ S2 ซึ่งแตกต่างจาก core line อยู่มากพอสมควรตั้งแต่นอกจรดใน รายละเอียดต่างๆ ของ S2 ผมอธิบายไว้หมดแล้ว คลิกอ่านได้ที่นี่ครับ

S2 Custom 24
ไม้ท็อปเป็นเมเปิลแท้ 2 ชิ้นต่อตรงกลาง แต่บางกว่า core และไม่ปาดโค้ง
โลโก้เป็นสติกเกอร์นูนสีทอง ลูกบิดล็อกสาย นัทคอมโพสิตแบบเดียวกับไลน์ Core
S2 Mira
S2 Custom 22 Semihollow
S2 Singlecut

Bolt-on

เป็นรุ่น USA ระดับสูงขึ้นมาจาก S2 หน้าตาดูใกล้เคียงกับ core models มากขึ้น คือใช้ไม้เมเปิลท็อปที่มีส่วนโค้งมนมากขึ้นที่เรียกว่า modified carve มีขอบไบดิ้งเหมือนกัน แต่ความหนาของท็อปและลายไม้จะเป็นเกรดเดียวกับ S2 (คือไม่เน้นลายสวย) แต่ใจความสำคัญของก็ตามชื่อ คือคอทำจากไม้เมเปิ้ลและยึดคอกับบอดี้ไว้ด้วยน็อต (bolt) มีแผ่นเพลทโลหะประกบ (คล้ายกีตาร์ Fender) อันที่จริง CE เคยอยู่ในสายการผลิตเมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อนก่อน แต่เลิกผลิตไปในปี 2009 และกลับมาผลิตใหม่ในปี 2016 เป็นต้นมาด้วยสเปคหลายอย่างที่ต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

คลิกอ่านความเป็นมาของ PRS CE Series ตั้งแต่เริ่มต้นปี 1988 จนถึงปัจจุบันแบบเจาะลึก ว่าทำไม PRS bolt-on รุ่นนี้จึงเป็นรุ่นยอดนิยมรุ่นหนึ่งของแบรนด์ได้ ที่นี่ครับ

ปัจจุบันไลน์ผลิต Bolt-on ของอเมริกาไม่ได้มีเพียง CE เท่านั้น แต่ยังนับรวมถึงรุ่น signature ที่ใช้วิธีเข้าคอแบบนี้ด้วย นั่นก็คือ Silver Sky ของ John Mayer ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2018 รวมถึงรุ่นโหด CE 24 Dustie Waring ของมือกีตาร์วง Between The Buried And Me อีกด้วย

PRS ไลน์ผลิต Bolt-on และราคาศูนย์ไทย

  • CE 24 77,700 บาท
  • Silver Sky 86,000 บาท
  • CE Dustie Waring 89,000 บาท
  • Fiore
CE 24 โมเดลปัจจุบัน
ไม้ท็อปหนาเท่า S2 Custom แต่ปาดเคิร์ฟเล็กน้อยเพื่อความสวยงาม
คอเมเปิล เข้าคอด้วยสกรู คือคอนเซพท์ที่ไม่เคยเปลี่ยนของ CE
หัวไม่ทำสีและไม่แปะวีเนียร์ของ CE 24 โชว์ให้เห็นว่าคอเป็นไม้เมเปิล
PRS Silver Sky (John Mayer signature), Maple Fingerboard
PRS Fiore เปิดตัวปี 2021

Core

ไลน์ผลิต Core (คอร์) คือรุ่นระดับมาตรฐานต้นตำรับของ PRS มีความสวยงามสมราคา ใช้ไม้เมเปิ้ลท็อปเกรดดีเลือกเกรดลายได้ มิติความหนาความโค้งต่างๆ เป็นไปตามสเปคออริจินอลเข้าคอแบบ set neck อะไหล่เกรดมาตรฐาน USA ไม่มีเกาหลีปนเหมือนพวก S2, Bolt on พูดง่ายๆ มันคือ PRS ที่ทำให้ทุกคนรู้จักและอยากได้กีตาร์แบรนด์นี้

พวกรุ่นเรือธงสร้างชื่อที่อยู่ในไลน์นี้ก็พวก Custom 24, Custom 22, Floyd 24, Hollowbody, McCarty, SC 245, SC 594 พวกรุ่นลายเซ็นเวอร์ชั่นออริจินอล เช่น Tremonti, DGT, Santana รวมถึงรุ่นที่มีปิคอัพหรือการจัดวางระบบไฟฟ้าแหวกแนวอย่างพวก 509, 513, 408, Paul’s Guitar ก็มีจุดเริ่มต้นจาก Core line

ตัวอย่าง PRS Core model รุ่นต่างๆ

ในไลน์ผลิต Core นั้น ก็ยังแบ่งประเภท ย่อยลงไปอีก ดังนี้

  • regular หรือไลน์ Core เกรดมาตรฐาน
  • 10 Top (เท็นท็อป)
  • Artist Package (อาร์ทิสท์ แพ็คเกจ)
  • Wood Library (วูด ไลบรารี)

Core regular เป็นเกรดมาตรฐานตามสเปคบนหน้าเว็บของ PRS ลายไม้ท็อปสวยกลางๆ ไม่ได้คัดสวยอะไร อะไหล่ ปิคอัพ เป็นไปตามมาตรฐาน core USA ที่เป็นที่รู้จักกันมากว่า 35 ปี ราคา PRS Custom 24 เกรด regular Core นั้น มือหนึ่งออกห้าง ณ ปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 133,000 บาท ตัวอย่าง Custom 24 เกรด Core regular ตามนี้ครับ

ลายเซ็นบนหัว Core Custom โมเดลปัจจุบัน เป็นงานฝังอินเลย์ ไม่ใช่สกรีนหรือสติกเกอร์
ลูกบิดล็อกสาย Phase III ของเกรด Core โมเดลปัจจุบัน
บอดี้มาฮอกกานีชิ้นเดียวไร้รอยต่อ tone block ทำจากทองเหลือง

10 Top คือการอัพเกรดไม้ท็อปให้สวยขึ้นกว่า regular ซึ่ง PRS ให้คำนิยามของเท็นท็อปว่า ลายไม้จะต้องชัดเจนทั่วแผ่นโดยไม่มีจุดบอด ทั้งนี้ สำหรับ 10 top ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมาจะมีการอัพเกรดงานชุบสีอะไหล่โลหะ จากเดิมนิเกิลล้วน ให้เป็นนิเกิลผสมทอง (คือใช้ทั้งอะไหล่สีเงินและสีทองปนกัน) ซึ่ง PRS เรียกการผสมสีอะไหล่แบบนี้ว่า hybrid hardware ราคาศูนย์ไทย core Custom 24 10 Top ณ ปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 144,000 บาท ตัวอย่าง Core 10 top โมเดลปัจจุบัน ดังนี้ครับ

10 Top
สังเกตสีอะไหล่ของ 10 top ปีใหม่ๆนะครับ

Artist Package (AP) คือการอัพเกรดสเปคขึ้นไปอีกระดับเหนือกว่า 10 Top คือลายไม้ท็อปสวยกว่า อะไหล่สามารถสั่งเป็นสีทองล้วนๆได้ แต่เนื่องจาก AP คือการอัพเกรดแบบ “มาเป็นแพ็ค” ดังนั้น AP จึงมีอะไรมากกว่าไม้ท็อปกับอะไหล่ทอง เช่น

  • มีออพชันไม้คอเป็นลายเฟลม
  • หรือแม้แต่ออพชันเปลี่ยนไม้คอเป็น Indian rosewood ทั้งแท่ง
  • ฟิงเกอร์บอร์ดเปลี่ยนเป็นไม้ที่แพงกว่า Indian rosewood ได้ (เช่น ebony)
  • วัสดุอินเลย์นกอัพเป็นเปลือกหอย paua ได้
  • เคสเปลี่ยนจากหุ้ม tolex สีดำเรียบๆ เป็นหุ้มผ้า paisley
  • ปิคอัพเปลี่ยนไปใช้เซ็ทอื่นที่ไม่ตรงรุ่นกับตัวกีตาร์ได้
  • และอีกหลายออพชัน ขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละปีของโรงงาน และความสามารถในการเจรจาต่อรองของดีลเลอร์แต่ละเจ้า

ลองดูตัวอย่าง core Custom 24 Floyd Artist Package สี Autumn Sky ตัวนี้ อัพไม้ท็อปเป็นเกรด AP อัพไม้คอจาก plain maple เป็นคอเฟลม อัพอินเลย์นกเป็น paua J. Birds รวมทั้งลายเซ็นบน headstock ก็เปลี่ยนวัสดุตามอินเลย์นกด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การอัพเกรดของ AP จะไม่เว่อร์วังถึงขั้นออกแบบอินเลย์ใหม่ ใช้ไม้หายากพิสดารมาทำคอเหมือนพวก Private Stock นะครับ ด้วยข้อจำกัดของช่วงราคา AP ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 160,000+ (ขึ้นอยู่กับออพชัน) ก็จะเป็นอะไรที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่าง 10 top กับ Private Stock

Wood Library (WL) อันนี้ไม่เชิงว่าเป็นเรื่องของการอัพเกรดซะทีเดียว เพราะความหมายของ WL คือการเปิดโอกาสให้ดีลเลอร์สามารถจัดสเปคผลิตกีตาร์ไลน์ Core ตามที่ตัวเองต้องการได้ โดย PRS จะเตรียมไม้ชนิดต่างๆ ทั้งแบบที่มีใน regular Core และชนิดแปลกๆ ที่ไม่มีใน regular Core เอาไว้ในคลังเก็บไม้ที่เรียกว่า “ห้องสมุดไม้ (Wood Library)” ดีลเลอร์ที่ต้องการสั่งผลิต WL ไปขาย ต้องส่งคนเข้ามาเลือกไม้เพื่อจัดสเปคเอง มันจะสวยอย่าง AP หรือจะเรียบๆอย่าง regular มันก็เป็นไปได้ทั้งหมด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโจทย์ที่ดีลเลอร์คิดไว้ รวมทั้งสต๊อคไม้ของ WL ที่ PRS มี ณ ขณะนั้น จึงสรุปได้ว่า เราไม่สามารถฟันธงลงไปว่า WL สูงกว่า AP หรือแม้แต่ 10 Top ต้องดูเป็นรายตัวอีกที และเช่นกัน ราคาของ WL แต่ละตัว แต่ละล็อต ก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสเปคที่จัด

อันนี้เป็นตัวอย่าง Wood Library Custom 24 จากดีลเลอร์เจ้าดังใกล้บ้านเราครับ

ปิคอัพ 57/08 อินเลย์นก ripple abalone Old School birds ไม่มีในสเปคปกติของปีปัจจุบัน ต้องเป็น WL เท่านั้น
บอดี้ไม้ swamp ash อีกหนึ่งออพชันจาก Wood Library

WL เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในต่างประเทศและในบ้านเรา เนื่องจากความแปลกใหม่ของการผสมไม้ รวมทั้งความสวยงามจากไอเดียสร้างสรรค์ที่แต่ละดีลเลอร์งัดมาป้ายยาสาวกลุงพอลนั่นเอง จนมีบางคนเรียก PRS Wood Library ว่าเป็น Private Stock ราคาประหยัด

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ PRS Wood Library สามารถคลิกเข้าไปอ่านได้ที่นี่ครับ

Private Stock

Private Stock (ไพรเวท สต๊อค) ไลน์ที่เป็นที่สุดของแบรนด์ หรืออีกนัยหนึ่งมันก็คือแผนก Custom Shop ของ PRS ก็ว่าได้ กีตาร์ในไลน์การผลิตนี้จะรับทำตามออเดอร์ของลูกค้าเป็นหลักซึ่งมักจะมีความแปลกแหวกแนว อาจเลือกใช้ไม้แตกต่างจากสเปคปกติของรุ่นนั้นๆ บางทีก็ใช้วัสดุประดับแปลกๆ ทำ inlay ตามใจฉัน ใช้เลย์เอาท์การวางคอนโทรลแปลกๆ จัดวาง/ผสมปิคอัพตามใจลูกค้า ใช้สเกลไม่ตรงรุ่น เพิ่มจำนวนสาย บลาๆๆๆ PS แต่ละตัวจึงมีความ unique เฉพาะตัวจนแทบไม่ซ้ำกัน

นอกจากรับทำตามออเดอร์ของลูกค้าแล้ว แผนก PS ยังผลิตกีตาร์เป็นล็อตเล็กๆ จำนวนจำกัดออกมาเป็นบางโอกาส ซึ่งอาจจะเป็นตระกูล Dragon ปีใหม่ๆ หรือรุ่นลายเซ็นให้กับศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ บางคนด้วย เช่น John Mayer Super Eagle, Al Di Meola, Dweezil Zappa เป็นต้น

ด้วยความที่ PS เป็นกีตาร์ระดับสูงที่สุดของแบรนด์ที่ได้ชื่อว่าเป็นที่สุดอยู่แล้วในเรื่องมาตรฐานการสร้างกีตาร์ ราคาเริ่มต้นของกีตาร์ในไลน์ผลิตนี้จึงอยู่ที่ประมาณ 300,000 กว่าบาท และสามารถบวกขึ้นไปได้เรื่อยๆ จนเกินหนึ่งล้านบาท ขึ้นอยู่กับออพชันที่เลือกและการออกแบบของลูกค้า

เบส แอมป์ และสินค้าอื่นๆ

นอกจากกีตาร์แล้ว PRS ยังมีเบสและแอมป์ด้วย ทั้งระดับ SE, Core, และ PS แต่รุ่นสินค้ายังมีไม่มากนัก และผมก็สังเกตว่าไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจสินค้าทั้งสองกลุ่มนี้ของ PRS เท่าไหร่นัก เพราะดูเหมือนหลายแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาดเบสและแอมป์ต่างก็ขยันพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์ลูกค้าอยู่ตลอดอยู่แล้ว ซึ่งสำหรับ PRS ผมคิดว่าคงต้องขยันทำตลาดกว่านี้หน่อย

สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากทำความรู้จักแบรนด์ PRS มากกว่านี้ แนะนำอ่านบทความนี้ดูครับ ผมเขียนอธิบายว่าทำไมอินเลย์บนฟิงเกอร์บอร์ดของกีตาร์ยี่ห้อนี้
https://www.moopanuwat.com/2018/01/16/prs-bird-inlay-part-1-%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%81/

และผมก็ตั้งกลุ่ม facebook สำหรับแชร์ความรู้เกี่ยวกับกีตาร์ PRS รวมถึงเป็นตลาดซื้อขายด้วย สนใจคลิกครับ