รีวิวกีตาร์ PRS 408

มันคืออะไร

408 คือกีตาร์แนว specialty จากแบรนด์ Paul Reed Smith ที่มากับภาคไฟฟ้าออกแบบใหม่หมดพร้อมลูกเล่นผสมได้สารพัดเสียง เปิดตัวครั้งแรกในปี 2011 พร้อมกับรุ่น Paul’s Guitar (PG), 408 maple top, 408 Standard ทั้ง 408 และ PG เป็นการพัฒนาต่อยอดจากกีตาร์รุ่น Private Stock Signature Limited ที่เปิดตัวไปก่อนหน้า

Private Stock Signature Limited ผลิต 100 ตัว (Image credit: Ladkor Guitars)

กีตาร์รุ่นนี้ดูๆไปแล้วก็แปลกใหม่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากพวก Custom หรือ McCarty ที่เราคุ้นตา จริงอยู่ 408 เป็นกีตาร์ยุคใหม่ที่ไม่เคยผลิตมาก่อน แต่แนวคิดนี้มีมาตั้งแต่ลุงพอลเพิ่งตั้งแบรนด์ PRS ในตอนนั้นแกมีแนวคิดอยากลองสร้างกีตาร์แนวแปลกๆ ใหม่ๆ นอกเหนือจากสไตล์ Custom 24 ที่เป็นรุ่นเปิดตัวแบรนด์ในยุคนั้น กีตาร์แปลกใหม่ที่ว่านั้นชื่อ The Sorcerer’s Apprentice ที่มากับปิคอัพหน้าตาประหลาดที่ลุงพอลและทีมงาน DIY ขึ้นเองโดยใช้ปิคอัพ P-90 สามตัวเป็นวัตถุดิบ และขยับคอออกไปเพื่อเพิ่มจำนวนเฟรทจาก 24 ป็น 27 อย่างไรก็ดีกีตาร์รุ่นนี้ซึ่งสร้างขึ้นเพียงสองตัว ไม่ได้ผลิตออกขายและยังเก็บไว้ที่บริษัท PRS จนถึงบัดนี้

ความ Specialty ของ 408

408 มากับปิคอัพหน้าตาประหลาด เป็น humbucker หน้าตาเบี้ยวๆ ประหลาดๆ 2 ตัว ตัวบริดจ์หน้ากว้าง 40 มิลลิเมตร ดูใหญ่กว่า humbucker ไซส์ปกติทั่วไปในท้องตลาด แต่ตัวเน็คกลับหดลงเหลือเพียง 30 มิลลิเมตร มีสวิทช์ 3 ตัว เป็น blade selector กับ mini toggles เล็กๆ 2 ตัวไว้ตัดคอยล์ ทำให้เราสามารถตัดคอยล์ humbucker 2 ตัวแยกอิสระจากกันได้ ผสมไปผสมมานับได้ 8 เสียง นับจำนวนคอยล์มี 4 อัน กลายเป็นที่มาของชื่อรุ่น 408 แต่ความพิเศษยังไม่หมดแค่จำนวนเสียง หากแต่ยังมีการเพิ่มขดลวดอีก 1,500 รอบไว้ในวงจรส่วนตัดคอยล์เอาไว้ชดเชย output เมื่อมีการสับสวิทช์ mini toggle เพื่อตัดคอยล์ทำให้เสียง single coil ที่ได้นั้นวอลุ่มไม่วูบ และฟังดูเต็ม ช่วยให้การสลับโหดไปมาระหว่าง hum กับ sing มีความเนียบ เสมอกัน ไม่มีอาการเสียงวูบหรือโดดซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกมานานของกีตาร์ humbucker ที่ตัดคอยล์ได้

ทำไมปิคอัพของมันจึงมีขนาดไม่เท่ากัน? แน่นอนว่าคนที่เพิ่งเห็นอะไรแบบนี้ครั้งแรกคงสงสัย คำตอบคือ PRS ดีไซน์ปิคอัพตำแหน่งบริดจ์ให้หน้ากว้างกว่า humbucker ปกติ เพื่อขยายพื้นที่สนามแม่เหล็กของปิคอัพตำแหน่งนี้ให้กว้างขึ้น เพื่อให้ปิคอัพรับรู้การแกว่งของสายได้มากขึ้น และเพื่อให้เสียงของปิคอัพตำแหน่งนี้มีสเตจที่ฟังดูกว้างขึ้น ไม่จิกๆ บี้ๆ อย่างที่ humbucker ตำแหน่งนี้ปกติมักเป็นกันจนหลายๆคน เลี่ยงที่จะใช้ตำแหน่งนี้เล่นเสียงคลีน (รวมทั้งผมด้วย)

แต่ในส่วนของ neck humbucker นั้น PRS กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือออกแบบให้หน้าแคบกว่าปกติ เนื่องจากต้องการ “จำกัด” พื้นที่สนามแม่เหล็กของปิคอัพบริเวณนี้ให้น้อยลง เพราะแถวๆนี้สายจะแกว่งมากที่สุด เป็นที่มาของปัญหาเสียงบวมเบลอของ neck humbucker ที่อยู่คู่กีตาร์สไตล์ HH มาตั้งแต่เริ่ม

และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าสกรู (หมุดแถวที่เราสามารถขันตั้งความสูงได้) ของปิคอัพตำแหน่งนี้ถูกกลับด้านหันไปทางท้ายบอดี้ ทำให้หมุด slug coil (หมุดหัวเรียบๆ ที่เราตั้งความสูงไม่ได้) หันไปอยู่ฝั่งหัวกีตาร์แทน ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะเมื่อมีการตัดคอยล์ของ neck humbucker คอยล์ตัวที่ถูกเปิดใช้งานเป็น single coil คือตัว slug coil การหันคอยล์นี้ออกไปนอกสุด (ติดปลายฟิงเกอร์บอร์ด) เท่ากับย้ายมันไปรับรู้การแกว่งของสาย ณ จุดที่ช่วง swing ของสายกว้างสุด ซึ่งจะให้โทนป่องสุด นวลสุด แปลว่า แม้ PRS จะออกแบบหน้าปิคอัพ 408 ตำแหน่ง neck ให้แคบกว่าปิคอัพปกติ ก็ยังมีการย้ายคอยล์ตัวที่ตัดไปอยู่ ณ จุดที่ให้ความนวลสูงสุด เพื่อรับเอาความนวลจากสายมาชดเชยความกระชับที่เกิดจากหน้าที่แคบลงของตัวคอยล์ อาจฟังดูซับซ้อนหยุมหยิมไปหน่อย แต่ PRS เป็นแบบนี้แหละครับ คือจริงจังกับดีเทลเล็กๆ น้อยๆ เสียจนบางครั้งเราเองก็ไม่ทันสังเกตว่าเขาทำ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน PRS ได้ยกเลิกการผลิตกีตาร์รุ่น 408 และหันมาพัฒนา Paul’s Guitar เป็นหลักสำหรับกีตาร์กลุ่ม Specialty ตัวที่ผมได้ทดสอบเพื่อมาเขียนรีวิวนี้เป็นตัวท้ายๆ ที่ยังเหลือในสต๊อกของร้าน Music Collection ต้องขอขอบคุณทางร้านที่เอื้อเฟื้อกีตาร์สำหรับการทดสอบมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

สเปค

  • Model: 408
  • Body: Mahogany, McCarty thickness, 1 piece
  • Top: Figured maple
  • Body-neck construction: Set-in
  • Neck: Mahogany, 1 piece
  • Neck profile: Pattern
  • Fingerboard: Indian rosewood, 10″ radius
  • Fingerboard inlay: Abalone J.Birds
  • Fingerboard inlay material: Ivoroid outline, green select abalone center
  • Number of frets: 22, jumbo
  • Electronics: 408 pickup set, 1 three-way blade selector, 2 mini toggles for coil split, 1 volume, 1 tone
  • Tuners: Phase 3 locking
  • Nut: PRS synthetic nut
  • Bridge:
    • PRS Stoptail
    • PRS Tremolo
  • Case/bag: Hard shell case

สเปคของ 408 เป็นไปตามมาตรฐาน Core Series หรือเกรด USA ที่เราคุ้นเคยกันดี บอดี้ไม้มาฮอกกานีชิ้นเดียวแต่มีความหนาเท่ารุ่น McCarty (คือหนากว่า core Custom ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร) คอมาฮอกกานีชิ้นเดียว เข้าคอด้วยกาว และไม่ต่อไม้คอแบบพวก S2 เชพคอเป็น Pattern หรือก็คืออดีตเชพ Wide Fat ที่ถูกปรับเชพใหม่ให้ส่วนไหล่ลาดลงกว่า ทำให้เล่นง่ายขึ้น ปั่นง่ายขึ้น (แต่ตรงกลางคอยังหนาเท่า Wide Fat ตัวเลขมิติสเปคเชพคอในเว็บ PRS จึงยังหนาเท่าเดิม) ฟิงเกอร์บอร์ 22 ช่อง เรเดียส 10 นิ้วตามธรรมเนียมกีตาร์ตรานก เฟรทขนาดใหญ่กว่ารุ่น Custom ตามสไตล์ของรุ่นที่ต่อยอดมาจาก McCarty

อะไหล่และงานประดับต่างๆ ก็จัดมาครบๆ ตามมาตรฐาน core USA ยุคนี้ อย่างชุดลูกบิด PRS Phase 3 ตัวนี้ปี 2019 ได้อัพเกรดชุดคันโยกเป็นรุ่นที่ 3 อินเลย์นกตัดจากเปลือกหอยอบาโลนตัดเส้นขอบตัวนกด้วยวัสดุ Ivoroid ฝา knobs แบบ PRS Lampshade ที่ทุกคนชื่นชอบ (ยกเว้นผม)

สัมผัสและเสียง

ความรู้สึกแรกเมื่อโอบกอดน้อง 408 ไว้ในอ้อมตัก คือฟีลสัมผัสแบบ McCarty ที่คอค่อนข้างอวบสั้น ตัวค่อนข้างหนา โดยรวมเต็มไม้เต็มมือกว่า Custom 24 แม้ไม่เต็มเท่ารุ่น McCarty 594 ก็ถ้าจับกีตาร์ยี่ห้อนี้มามากพอก็จะบอกได้ว่า 408 มิติทางกายภาพมันไม่เหมือน Custom

Clean Tone

ผมทดสอบเสียงด้วยแอมป์ Mesa Mark V 90 combo ในโหมด 45 วัตต์ เล่นเสียง clean ในโหมด humbucker เริ่มจากตัว neck full humbucker เสียงที่ได้นั้น เป็นเสียง neck hum ที่ชัดเจนเหลือเกิน คือมีความกลมอย่างที่ neck hum เขามีกัน ไม่ได้บางอะไร แต่ ย่านกลางป่องๆ เกินๆ ที่มักเจอจากกีตาร์ทั่วไปนั้น เจ้า 408 นี่แทบไม่มีเลย

ส่วนตำแหน่ง bridge full humbucker นั้น เสียงคลีนที่ได้ จริงอยู่ว่ามันเป็นโทนของปิคอัพตำแหน่งนั้นซึ่งก็ต้องไม่กลมอย่างตำแหน่ง neck นั่นแหละ แต่ความพิเศษที่สัมผัสได้ คือ bridge humbucker ของ 408 ไม่ออกโทน แบบ แป๊วๆ แป๊งๆ ก๊องๆ แหลมๆ บางๆ อย่างที่เรามักจะเจอกันปกติสำหรับกีตาร์ HH ทั่วไป (รวมถึงกีตาร์ของ PRS เองหลายรุ่น) จนหลายคน (รวมทั้งผม) เลี่ยงที่จะใช้ตำแหน่งนี้เล่นคลีน แต่เชื่อหรือไม่ว่า 408 bridge humbucker ผมใช้เล่นเสียงคลีนได้สบายมาก เปิด hum เต็มมันก็ยังฟังดูดีอยู่ ผมว่าตรงนี้แหละไฮไลท์สำคัญที่แยก PRS 408 ออกจากกีตาร์ในท้องตลาดทั่วไป รวมถึง Paul’s Guitar ด้วย

ต่อไปผมทดสอบเสียงตัดคอยล์ ก็ อย่างที่คิดไว้เลยสำหรับ PRS 408 ซึ่งเกิดมาพร้อมกับ PG เจเนอเรชันแรก คือคุณสมบัติการตัดคอยล์วอลุ่มไม่ดร็อป ที่มาพร้อมกับโทน single coil แน่นๆ เต็มๆ ย่านกลางโฟกัสไม่บวม ย่านเบสหัวใหญ่ๆ ไม่บางเหมือนเสียงตัดคอยล์ทั่วไป

เสียงตัดคอยล์ 408 เบสใหญ่แค่ไหน? เอาเป็นว่าที่ตำแหน่ง neck นั้นมีความใกล้เคียงกับ Mayer tone อย่างเหลือเชื่อ ติดแค่ว่าของ 408 มีความ cut through กว่า ชัดกว่า ไฮไฟกว่าเท่านั้นเอง PRS รุ่นนี้เป็นอะไรได้เยอะกว่าที่คิดนะ ส่วนเสียงตัดคอยล์สองตำแหน่งหน้าหลังเมื่อเปิดพร้อมกันก็เด้งพอประมาณ ด้วยความไฮไฟคมชัดของ single coil สองตัวที่เปิดใช้งานพร้อมกันนั้นเอาไปสับคอร์ดฟังก์เหมาะมาก เพราะเคลียร์ตามมือดีเหลือเกิน

Lead Tone

ส่วนเสียงแตก ผมใช้ bridge full humbucker เป็นหลัก เสียงที่ได้นั้นมีความเคลียร์ แต่ไม่แน่นมากเท่า Paul’s Guitar v.1 จะว่าไปคาแรคเตอร์ริธึ่มเสียงแตกแบบ 408 bridge humbucker นี่ ผมเล่นเพลินๆ ได้ทั้งวันไม่อึดอัด เอาท์พุตมีความแรงปานกลาง ไม่ดุมากแต่ก็ไม่เฉื่อยจนต้องเหนื่อยอัดเกนแอมป์ เสียงแตกตัว neck humbucker ก็เป้นไปตามคาแรคเตอร์เสียงคลีน คือมีความกลมแบบ neck PU นะ แต่มันไม่บวมย่านกลาง ไม่เบลอ ไม่ท่วม เป้นคาแรคเตอร์ที่โคตรถูกจริตมือกีตาร์สมัยใหม่ที่ไม่ค่อยปลื้มอะไรเก่าๆ ทำนอง PAF style และมันเหมาะเป็นพิเศษสำหรับสาย high gain ที่ต้องการเสียงโซโล่ที่เป็นตัว ปั่นแล้วเคลียร์ ไม่รก

ผมอัดคลิปไว้ ตามนี้ครับ

สรุป

PRS 408 เป็นกีตาร์หัวสมัยใหม่ที่ออกแบบภาคไฟฟ้าใหม่ตั้งแต่ในวงจรยันตัวปิคอัพภายนอก มันให้คาแรคเตอร์เสียงและการตอบสนองที่มีความเจ๋งเฉพาะตัวอย่างที่ PRs รุ่นอื่นๆ ไม่มี ผมขอสรุปรวบรัดสำหรับคนที่กำลังมองรุ่นนี้อยู่ ดังนี้ครับ

PRS 408 เหมาะกับใคร?

  • คนที่ต้องการ PRS รุ่นที่มีเรนจ์เสียงที่เล่นได้กว้างจริงๆ ไม่ใช่เยอะแค่จำนวนเสียงหรือจำนวนเฟรท เพราะเจ้านี่ทำได้ดีตั้งแต่ตั้งแต่คลีนใสๆ คลีนใหญ่ๆแบบเมเยอร์โทน ยัน modern rock คมๆ
  • คนที่ชอบคาแรคเตอร์ที่เสมอต้นเสมอปลายไม่มีอะไรหายหรือดรอปไม่ว่า hum หรือ sing แนะนำเป็นพิเศษสำหรับคนที่เล่นอาชีพหรือเล่นในห้องอัด
  • เน้นความเคลียร์ ชัด ไม่อ้วนไม่ว่าแต่อย่าบวมป่อง โดยเฉพาะตัว neck humbucker แต่ก็เป็นความชัดที่ยังอยากให้มีความ organic ในตัว ไม่ใช่ชัดแบบแข็งๆ บี้ๆ อย่างปิคอัพ active บางรุ่น
  • เล่นเสียงแตกแบบเพลงร็อกทั่วไป หรือถ้าเป็นเมทัลก็เป็นเพลงที่ไม่ใช่คาแรคเตอร์แบบ mid scoop ไม่เน้นความตึ้บของ palm muting มากนัก
  • คนที่อยากมี PRS ไว้ทั้งใช้ทั้งเก็บยาวๆ สักตัว เพราะรุ่นนี้เลิกผลิตแล้ว

แต่ไม่เหมาะกับใคร?

  • สายวินเทจ สาย PAF ที่ชอบความป่อง ความเหนียว ความ mellow tone ความแจ๊ส
  • คนที่เล่นเมทัลกระแทกๆ เน้นริฟฟ์ตึ้บๆแน่นๆ เป็นหลัก
  • คนที่ชอบโมดิฟายกีตาร์ด้วยการเปลี่ยนปิคอัพ

หวังว่าข้อมูลทั้งหมดที่ผมเขียนไป จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ความตั้งใจของผมที่ทำ blog นี้ ก็เพื่อให้ข้อมูลกับชุมชนคนรัก PRS ได้รู้อย่างที่ผมรู้ และใช้ข้อมูลนี้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการของตัวเองมากที่สุด สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากรู้จก PRS มากกว่านี้ก็สามารถตามไปเข้ากลุ่ม PRS Thailand ของผมได้นะครับ

ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านครับ