รีวิวกีตาร์ PRS Custom 24 ‘Floyd’

PRS เคยเป็นแบรนด์ที่หลายๆ คนมองว่าเป็นแบรนด์กีตาร์ที่ทำกีตาร์สวยและ output แรง ซึ่งนั่นเป็นภาพจำมาจากดนตรีร็อคยุค 2000s ที่มีวงร็อค/เมทัล หลายวงใช้กีตาร์ PRS ไม่ว่าจะเป็น Creed, Linkin Park, Limp Bizkit, Nickelback, 3 Doors Down, Disturbed ฯลฯ ต้องยอมรับว่ากีตาร์ PRS หลายรุ่นในยุคนั้นมักมากับปิคอัพที่แรง ดุ เพื่อตอบโจทย์ดนตรีร็อคของยุคนั้น

แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2010 ตลาดผู้ฟังเริ่มเปลี่ยนไป คนฟังเพลงแนวที่เบาลง ถึงเป็นแนวร็อคก็ไม่ใช่ร็อคแบบ nu metal ซึ่งแน่นอนเมื่อแนวเพลงในตลาดเปลี่ยน ผู้ผลิตกีตาร์เองก็ต้องปรับตัวตาม PRS จึงเข้าสู่ยุคของกีตาร์โทนวินเทจเก่าๆ หรือแนวคิดสมัยใหม่แต่ไม่ได้สร้างมาเฉพาะเจาะจงเพื่อเล่นแนวร็อค PRS ในวันนี้แทบไม่เหลือภาพกีตาร์ตัวแรงอีกต่อไป แม้แต่รุ่น Custom 24 เรือธงอดีตตัวแรง ก็ยังมากับโทนวินเทจใสๆ เอาท์พุตต่ำๆ ไว้เล่นวาไรตี้คาแรคเตอร์กลางๆ แต่ไม่มีแนวไหนเด่นชัด PRS รุ่นโซนสีแดงมีเพียงรุ่น signature ไม่กี่รุ่น เช่น Mark Tremonti, Mark Holcomb, Dustie Waring คือถ้าชอบ PRS แต่ไม่อินกับรุ่นลายเซ็นพวกนี้ก็ดูเหมือนจะไม่มีทางเลือกอื่นเลย หรือ PRS แทบจะละทิ้งสิ่งที่เคยเป็นตัวตนในยุครุ่งเรืองสุดๆ ไปเสียแล้ว?

แต่เดี๋ยวก่อน ยังมีอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับคนที่มองหากีตาร์ PRS ตัวแรงของยุคนี้ มันคือ Custom 24 ‘Floyd’ ตัวนี้นี่เอง

มันคืออะไร

มันคือกีตาร์ PRS Custom 24 เวอร์ชันปรับสเปคเพื่อสายแรงโดยเฉพาะ และเป็นกีตาร์ระดับ core USA รุ่นแรกที่มาพร้อมกับคันโยก Floyd Rose Original และปิคอัพแรงสูงที่ออกแบบมาเฉพาะกีตาร์รุ่นนี้เพียงรุ่นเดียวจากทั้งค่ายนก กีตาร์ PRS รุ่นนี้ยังเป็น “ตัวเลือกเดียว” สำหรับคนชอบซาวด์แตกดุๆ แต่ไม่ชอบรุ่น signature ที่ผมกล่าวถึงข้างต้น

แม้หน้าตาโดยรวมจะดูคล้าย core Custom 24 ทั่วไป แต่การใช้งานจริงต้องบอกเลยว่าต่างกันแบบ คนละโลก เป็นยังไงนั้น อ่านต่อไปครับ

สัมผัสและสเปคเป็นยังไง ต่างจาก core Custom 24 ทั่วไปตรงไหนบ้าง?

  • Model : Custom 24 ‘Floyd’ (2022)
  • Body : Mahogany 1 piece
  • Top : Figured maple, 10 top optional
  • Neck : Maple, quarter sawn
  • Neck profile (s) : Pattern Thin
  • Scale length : 25″
  • Number of frets : 24 medium-jumbo
  • Fingerboard : Ebony
  • Fingerboard inlay : J.Birds
  • Headstock veneer : Ebony
  • Headstock inlay : Paul’s signature
  • Truss rod cover text : Custom
  • Tuners : PRS Phase III locking
  • Bridge : Floyd Rose Original
  • Pickups : \m/ (อ่านว่า Metal), open coils
  • Electronics : 5 way blade selector, 1 Volume, 1 Tone
  • Hardware :
    • Regular figured top – nickel plated
    • 10 Top – hybrid
  • Finish : Nitro over cellulose (CAB)
  • Accessory : hardshell case

ผมหยิบมันขึ้นมา มันก็คือ core Custom 24 ตัวนึง ด้วยคอแบนๆ ที่หลายคนคุ้นเคย สเกล 25 นิ้ว, เฟรท 24 ช่อง, และเรเดียสบอร์ด 10 นิ้ว ที่เหมือนเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ น้ำหนักประมาณ 3 กิโลกลางๆ ก็ปกติสำหรับ PRS รุ่นนี้ สัมผัสที่มืออาจคุ้นเคย ส่วนที่ถือว่าใหม่สำหรับกีตาร์ PRS USA ปีปัจจุบันที่หลายคนยังไม่ทราบ คือมันพ่น finish เป็นแบบไนโตรสูตรเฉพาะโรงงาน PRS ซึ่งจะให้ความรู้สึกหนึบๆ มือเล็กน้อย PRS CAB nitro finish ให้ความใส บาง อ่อนตัวกว่าสูตรเคลือบที่ผ่านๆมา ช่วยให้ไม้สั่นได้สะดวกขึ้น ดีดเปล่ากังวานขึ้นนิดหน่อย และให้ฟีลไปทางกีตาร์วินเทจมากกว่าเดิม

สัมผัสจากสายตามีอะไรแปลกออกไป ด้วยหัวกีตาร์ที่ปะหน้าด้วยวีเนียร์ไม้ ebony สีดำเข้มคอนทราสต์กับอินเลย์ลายเซ็นลุงพอล เช่นเดียวกับอินเลย์นก J.Birds บนฟิงเกอร์บอร์ด ebony สีดำสนิท ซึ่ง core Custom 24 รุ่นปกติไม่ใช้ไม้ชนิดนี้ คอกีตาร์ถูกพ่นสีทึบทับไว้ แต่ก็ทราบอยู่ว่าไม้ที่ใช้ทำคอ PRS core รุ่นนี้คือไม้เมเปิลหนึ่งชิ้น ผมนึกย้อนไปถึงปีแรกของการเปิดตัว PRS รุ่นนี้ ที่สเปคไม้คอเป็นเมเปิลลายเฟลมไม่ทำสีทึบ แต่ในปีต่อๆมาก็ลดลงเหลือเป็นคอเมเปิล quarter sawn ไร้รอยต่อแทน (แบบเดียวกับคอ CE ปีเก่าๆ) ฝา TRC อลูมิเนียมสกรีนคำว่า Custom ลูกบิดล็อกสาย Phase 3 ยังใช้อยู่เหมือน core Custom ปกติ แต่เพิ่มมาด้วย locking nut เนื่องจากเป็นกีตาร์ติดคันโยก Floyd Rose คือล็อกสายสองชั้นเลย

headstock veneer ปะไม้ ebony ไม่เหมือน core Custom รุ่นปกตินะครับ
ฟิงเกอร์บอร์ดก็ ebony

คันโยก Floyd Rose ที่ใช้เป็นเกรด Original ไม่ใช่ Series 1000 อย่างรุ่น SE Floyd Custom หรือ CE 24 Dustie Waring ก็ตามราคากีตาร์แหละ แสนกลาง-แสนปลาย ถ้าใช้คันโยกเกรดตัวถูกคงโดนด่าเละ

นอกจากคันโยก Floyd Rose Original แล้ว ส่วนสำคัญที่ผมมองว่าเป็นวัตถุดิบหลักที่ทำให้กีตาร์รุ่นนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ ปิคอัพ ด้วยปิคอัพรุ่น \m/ (อ่านว่า เมทัล) ที่ค่ายนกพัฒนาเพื่อติดตั้งกับ PRS รุ่นนี้โดยเฉพาะเพียงรุ่นเดียว ปิคอัพรุ่นนี้แตกต่างจากพวก 85/15 ที่ติดตั้งมากับ core Custom ตัวปกติแบบสุดขั้ว ค่า DCR ตำแหน่งบริดจ์ 15.7k และ 8.5k สำหรับตำแหน่งเน็ค ทั้งสองตำแหน่งใช้แม่เหล็ก ceramic ซึ่งเป็นสิ่งที่ PRS ไม่เคยทำมาก่อน ปิคอัพรุ่นนี้ตัดคอยล์ได้เพราะทำมาเพื่อใส่กีตาร์ Custom ซึ่งใช้ซีเลคเตอร์ 5 ทาง ตัว bobbins สีดำถูกออกแบบให้มีขนาดฟิตเต็มช่องติดตั้งในบอดี้พอดี ชนิดที่ไม่เหลือที่ว่างให้ใส่ฝาลงไปได้เลย และหน้าปิคอัพก็มีความโค้งเล็กน้อยรับกับเรเดียสของฟิงเกอร์บอร์ด 10 นิ้วของ PRS เรียกว่าเป็นปิคอัพของ PRS ที่ดีไซน์มาเพื่อใส่กีตาร์ของ PRS และผลิตในโรงงานของ PRS ในอเมริกา

ถึงตรงนี้อาจมีคนสงสัยว่า แล้ว CU24 Floyd เวอร์ชั่น SE ล่ะ ได้ปิคอัพแบบตัวอเมริการึเปล่า ก็ต้องตอบว่าไม่ได้นะครับ เพราะเวอร์ชัน SE แชร์ปิคอัพตัวเดียวกันกับ SE Custom 24 ซึ่งเป็นปิคอัพเอาท์พุตต่ำ

เสียง

เพื่อให้เข้ากับสไตล์ของกีตาร์รุ่นนี้ ผมเลือกใช้แอมป์ PRS Archon (v.2) ในการทดสอบ เริ่มจากแชแนลคลีน EQ และ Gain เที่ยง เริ่มจากแก๊ก neck humbucker รู้สึกได้ถึงย่านกลางแหลมที่พุ่งออกมา ย่านโลว์ไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่แต่ซาวด์โดยรวมก็ไม่ถึงกับแห้ง และจะด้วยความที่มันไม่ค่อยมีย่านโลว์ หรือเพราะปิคอัพ Metal สร้างด้วยแม่เหล็กเซรามิค หรือฟิงเกอร์บอร์ดที่ทำจากไม้ ebony ก็ตาม ผมจัดให้เสียงคลีนของกีตาร์รุ่นนี้อยู่ในโซน “แข็ง” คือ EQ ย่านกลางมีเต็ม (ค่อนไปทางแหลม) ไม่บี้นะครับ แต่คมๆ โน้ตแยกกันชัดเจน ห้วนๆ แข็งๆ

แต่ความเคลียร์คมเป็นพิเศษแบบนี้ก็ช่วยให้แก๊กตัดคอยล์ที่ตำแหน่ง 2 กับ 4 ฟังดูลงตัวไปอีกแบบนะ ผมว่า มันทำให้เราได้เสียง single coil ที่ใสเป็นแก้ว เด้ง คม ชัดแจ๋วในสไตล์โมเดิร์น จริงอยู่ว่ามันก็เป็นซิงเกิลคอยล์ที่ใสๆ แข็งๆ ไม่อวบอิ่ม ห่างไกลจากอะไรแนวๆ “Mayer tone” แบบขาวกับดำ แต่มันทำให้การตีคอร์ดไวๆ ฟังก์ รวมถึง fingerpicking มีความสนุก กระชับ

ข้อสังเกตที่สำคัญอีกอย่าง คือ ปกติแล้วแอมป์อาร์คอนเป็นแอมป์ที่แชแนลคลีน มัน “คลีนจริงๆ” คือค่อนข้างยากที่มันจะ break up ในแชแนลคลีน แต่ด้วยกีตาร์ PRS Floyd ทำให้แชแนลคลีนของอาร์คอนมีความแตกให้ได้ยินค่อนข้างชัด และยิ่งชัดขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อไล่ pickup selector ลงไปถึงตำแหน่งบริดจ์ ทั้งหมดที่ผมจะบอกคือ PRS Custom รุ่นนี้ไม่ใช่แค่เอา core Custom 24 มายัดคันโยกทื่อๆ โง่ๆ เฉยๆ แต่มันยังแรงมากๆ อีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้แหละ ที่ core Custom 24 ตัวปกติ ไม่มี

มาถึงแชแนลเสียงแตก ผมสับ blade selector ไปที่ตำแหน่งหลังสุด แอมป์อาร์คอนถูกเซ็ททุกอย่างไว้เที่ยงตรง โทนเสียงแตกที่ได้นั้นสาก คม ไบรท์ โน๊ตแยกเป็นตัวชัดเจนดีมาก หรืออาจพูดอีกอย่างว่ามันไม่ได้มีคาแรคเตอร์ที่ออกไปทางหนาเหนียวมากนักแต่จะเป็นโทนแตกสไตล์โมเดิร์นที่เน้นความ articulate ชัดถ้อยชัดคำซะมากกว่า ไม่บอกก็รู้ว่าปิคอัพตัวนี้แรงมากๆ และความแรงนี้ก็เป็นข้อได้เปรียบช่วยให้เล่นติดนิ้วได้ง่าย ไม่ต้องออกแรงเยอะ

ผมสลับไปใช้ตำแหน่ง neck humbucker เพื่อเล่นโซโล่ ตำแหน่งนี้พี่เคยฟังดูแข็งตอนคลีน กลับฟังดูลงตัวอย่างมากเมื่อเป็นเสียงแตก คือมันมีความกลมแต่ชัด หวานพอประมาณแต่ไม่บวมไม่ทู่ เล่นเร็วๆ โอเคมาก โทนแบบนี้อาจไม่เหมาะกับทุกแนวดนตรีแต่ผมมองว่าถ้าใช้จุดเด่นของมันให้เป็น มันก็สุดยอดในแบบของมันเลยแหละ 

ถึงแม้กีตาร์รุ่นนี้จะแรง แต่ขึ้นชื่อว่าแบรนด์นก เรื่องไดนามิคไม่เคยพลาด คือการตอบสนองต่อน้ำหนักการดีดนั้น แม่นยำ ดีดเบาแตกเบา ดีดแรงแตกหนัก เทสต์ gain dynamic ด้วยการหมุนวอลุ่มก็พบว่าช่วงคลีนไม่กว้างเท่าพวก 85/15 แต่ถ้าฝึกจนชินผมคิดว่าไม่มีปัญหา

กีตาร์รุ่นนี้เหมาะกับใคร

แน่นอน มันต้องเหมาะกับคนที่ใช้เสียงแตกเยอะ และเป็นแตกที่ตอบสนองแม่นยำชัดเจนสไตล์โมเดิร์น ไม่ใช่แตกคลาสสิกร็อคย่านกลางป่องๆ ร่วมสมัยอะไรแบบนั้น แรงๆ คมๆ เล่นริฟฟ์สนุกแบบนี้เอาไปเล่นพวก Metallica นี่สบายเลย นอกจากสายแรง สายสับคอร์ดเด้งๆ แนวฟังก์ หรือคันทรีเด้งๆ ก็พอเนียนได้อยู่

ส่วนตัวผมชอบโทนเสียงแตกของ CU24 Floyd มากกว่าของ CE 24 Dustie Waring และ SE Mark Holcomb เพราะส่วนตัวชอบกีตาร์โทนไบรท์แต่สองรุ่นนั้นแม้ความแรงจะพอๆกัน แต่โทนออกทึม ดาร์ค ซึ่งผมไม่ค่อยชอบ อีกอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เปลี่ยนปิคอัพกีตาร์มามากต่อมาก ผมมองว่าถ้ากีตาร์ออกโทนสว่างแล้วเราอยากจะทำให้ทึมน่ะ มันง่าย แต่ถ้ากีตาร์ให้โทนหม่นมาตั้งแต่เกิด จะเปลี่ยนให้มันไบรท์ใสนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยเพราะย่านความถี่พวกนั้นไม่ได้มีอยู่แต่แรก ทั้งนี้เรื่องความชอบไม่มีถูกผิดนะครับ หูใครหูมัน

และถ้าถามว่าเจ้านี่ไม่เหมาะกับใคร? ก็คงไม่เหมาะกับคนที่ชอบซาวด์วินเทจหรือใช้เสียงแตกเหนียวๆอ้วนๆ สไตล์ classic rock คือมันก็ใช้เล่นได้ เรี่ยวแรงล้นเหลือเกิน requirements ของงานเลยแหละ แต่มันอาจจะกระด้างหูไปหน่อย ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าเค้าไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการนี้

ส่งท้าย

รีวิวกีตาร์ PRS Custom 24 Floyd USA ก็จะมีประมาณนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่กำลังมองหา PRS แรงๆ สักตัวอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

ทั้งนี้ผมเองต้องขอออกตัวไว้ด้วยว่าผมเล่นไม่เก่งนะ ผมไม่ใช่นักดนตรีอาชีพ ผมเล่นและอัดคลิปไว้เพื่อบันทึกให้เพื่อนๆ ฟังเพื่อเป็นข้อมูลเท่านั้น ขอให้เพื่อนๆ อ่าน ดู ฟัง รีวิวของผมเพื่อ ‘เก็บข้อมูล’ มากกว่าเพื่อความบันเทิง แล้วจะได้อะไรที่ Youtuber คนอื่นๆ ไม่ค่อยนำเสนอครับ

ผมตั้งกลุ่มเฟสบุค PRS Thailand ให้ตามไปหลอนกันต่อด้วย สนใจคลิก ตามมาเลยจ้า

ขอบคุณที่ติดตามครับ

-หมู ภานุวัฒน์-