PRS Singlecut / SC โครงสร้างสไตล์ LP งานดีสไตล์ PRS – ตอนที่ 2 Gibson ฟ้องร้อง PRS

จากตอนที่แล้ว ผมได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง PRS Singlecut กับ Gibson Les Paul ไปแล้ว (ใครยังไม่ได้อ่านคลิกตรงนี้ครับ) ทีนี้เรามาว่ากันต่อเกี่ยวกับคดีฟ้องร้องระหว่าง Gibson และ PRS ที่มีกีตาร์ PRS Singlecut เป็นเหตุ จนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลต่อสู้กันอยู่หลายปีกันนะครับ

โฆษณาเปิดตัว PRS Singlecut

เรื่องนี้อาจไม่เกี่ยวกับคดีโดยตรง แต่ในช่วงแรกที่เปิดตัวกีตาร์ Singlecut เมื่อต้นปี 2000 นั้น PRS ได้ลงโฆษณาชิ้นหนึ่งที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ฝั่ง Gibson และ Gibson ก็เริ่มดำเนินการทางกฎหมายในเวลาไม่กี่เดือนต่อมา ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเรื่องโฆษณาเจ้าปัญหานี้อาจเป็นชนวนเหตุอย่างหนึ่งหรือเปล่านะครับ

โฆษณาที่ว่านั้นเป็นรูปปู่ Ted McCarty อดีตประธาน (ดูแลฝ่าย operations) ของบริษัท Gibson ยุคทอง 50s และมีกีตาร์ Singlecut วางอยู่ห่างออกไปทางด้านหลัง ดูหลุดโฟกัสเบลอๆ และมีคำโปรยว่า “Ted McCarty สร้างกีตาร์ตัวตันทรงชายเว้าเดี่ยวให้โลกรู้จักเมื่อปี 1952 เราเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจาก Ted ในการสร้างกีตาร์เช่นนั้นในแบบของเรา” (Ted McCarty introduced the single-cutaway, carved top solid body to the world in 1952. We learned a lot from him while we were working on ours) ซึ่งเมื่อโฆษณานี่เผยแพร่ออกไป ทาง Gibson ก็แสดงความไม่พอใจจน PRS ต้องยกเลิกการลงโฆษณาดังกล่าวไป

สำหรับใครที่ไม่ทราบว่าอดีตประธานบริษัท Gibson มาเกี่ยวข้องอะไรกับ PRS ทั้งๆที่ก็เป็นคู่แข่งทางธุรกิจของ Gibson ก็คลิกอ่านความเป็นมาระหว่างปู่ Ted McCarty กับลุง Paul Reed Smith ได้ที่นี่ครับ มีเรื่องราวความทรงจำมากมายระหว่างลุงพอลกับปู่เท็ดให้อ่านกัน

ลำดับเหตุการณ์ Gibson ฟ้องร้อง PRS (2000 – 2006)

เพื่อให้ง่ายต่อการปะติดปะต่อเรื่องราว ผมขอสรุปสั้นๆ เรียงลำดับเหตุการณ์นะครับ

2000 ต้นปี – เปิดตัว PRS Singlecut กีตาร์ทรงชายเว้าเดี่ยวรุ่นแรกของ PRS ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากกีตาร์ Gibson Les Paul นั่นแหละ

2000/03 – Gibson ส่งจดหมายแจ้ง PRS ให้หยุดการผลิตกีตาร์ Singlecut แต่ PRS ไม่หยุด

2000/11 – Gibson ฟ้องร้อง PRS ข้อหาละเมิดเครื่องหมายการค้าจากการผลิตกีตาร์รูปทรงคล้าย Gibson Les Paul

2004/01 – ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินว่า PRS เลียนแบบสินค้าของ Gibson (Les Paul) และสั่งให้ทั้งสองบริษัทเจรจาไกล่เกลี่ยค่าเสียหายกันภายใน 90 วัน

2004/07 – ศาลชั้นต้นตัดสินว่า PRS ละเมิดเครื่องหมายการค้าของ Gibson ด้วยการเลียนแบบกีตาร์ Les Paul และศาลมีคำสั่งให้ PRS หยุดการผลิตและจำหน่ายกีตาร์รุ่น Singlecut ทำให้ PRS ต้องนำชิ้นส่วนกีตาร์รุ่นนี้ที่ยังผลิตไม่เสร็จเก็บยาวๆไว้ในซองกันกระแทกด้วยความหวังว่าสักวันจะได้นำกลับออกมาผลิตต่อให้เสร็จ มาถึงจุดนี้หลายคนก็คิดว่า Singlecut คงไม่รอดแล้ว พร้อมๆกับการปั่นกระแสราคากีตาร์ Singlecut pre-lawsuit เนื่องจากดูท่าทางกำลังจะกลายเป็นตำนานและจะเป็นกีตาร์หายากมีมูลค่าเพิ่ม

2004/12 – PRS ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลดังกล่าว ขอให้ทบทวนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้หยุดผลิตและจำหน่ายกีตาร์รุ่นนี้

2005/09

  • ศาลอุทธรณ์ US Court of Appeal for the Sixth Circuit พิพากษายกคำร้องของ Gibson ที่อ้างว่า “ดีไซน์ของ PRS Singlecut มีความคล้ายคลึงกับ Gibson Les Paul เมื่อมองกีตาร์ Singlecut ผ่านม่านควันในคอนเสิร์ต หรือนำมาวางคู่กับ Gibson Les Paul ในร้านขายกีตาร์ อาจสร้างความสับสนได้” โดยศาลให้เหตุผลว่า “มีแต่ผู้บกพร่องทางสติปัญญาเท่านั้นที่ไม่สามารถแยกแยะกีตาร์สองรุ่นนี้” (only an idiot would confuse the two products at point of sale) จึงถือว่า PRS พ้นข้อกล่าวหาว่าละเมิดเครื่องหมายการค้าของกิบสัน
  • PRS เผยแพร่คำพิพากษาของศาล และประกาศเดินหน้าผลิตกีตาร์ Singlecut ทันทีในวันที่ 12 กันยายน 2005 ซึ่งรวมถึง Singlecut เวอร์ชันฉลองครบรอบ 20 ปีด้วย (ตัวสีฟ้าทางซ้ายในรูป)
  • Gibson ยื่นคำร้องขอให้ศาล Sixth Circuit ทบทวนคำตัดสินอีกครั้ง แต่ศาลปฏิเสธ
  • Gibson ไม่ยอมจบ และดำเนินการขั้นสุดท้ายโดยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงอเมริกา (Supreme Court) ขอให้พิจารณาคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ Sixth Circuit
https://forums.prsguitars.com/threads/ngd-20th-anniversary-singlecut.21755/

2006/06 – ศาลสูง Supreme Court มีคำตัดสินให้ยกคำร้องของ Gibson โดยให้ยืนตามคำตัดสินของศาล US Court of Appeal for the Sixth Circuit เป็นอันสิ้นสุดกระบวนความอันยาวนานกว่าหกปีของสองยักษ์ใหญ่วงการกีตาร์อเมริกา

2007 – PRS ยกเลิกการผลิตกีตาร์ Singlecut ออริจินอล แล้วเปิดตัวกีตาร์ทรงชายเว้าเดี่ยวในชื่อใหม่ คือซีรีส์ SC ประเดิมด้วยรุ่น SC 245 และ SC 250 จากนั้นซีรีส์ SC ก็มีกีตาร์รุ่นใหม่ๆ เปิดตัวต่อมาอีกหลายรุ่นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

Pre-lawsuit Singlecut

จากเหตุคดีดราม่าดังกล่าวที่ทำให้ PRS ต้องระงับการผลิตกีตาร์ Singlecut ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม 2004 – กันยายน 2005 ทำให้เกิดคำเรียก PRS Singlecut ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2000 ถึงก่อนการถูกศาลชั้นต้นสั่งระงับการผลิต ว่า ‘pre-lawsuit’ และบ้างก็อ้างว่ากีตาร์ล็อตนั้นเป็นกีตาร์ที่น่าเก็บกว่าล็อตที่กลับมาเริ่มผลิตใหม่ช่วงปลายปี 2005 ความเชื่อนี้ส่งผลให้กีตาร์ Singlecut ที่ผลิตช่วง pre-lawsuit เป็นที่ต้องการและมีราคาขายต่อที่สูงกว่าล็อตใหม่ โดยเฉพาะในช่วงที่คดียังไม่ถึงที่สุดนั้น ราคากีตาร์รุ่นนี้เพิ่มสูงขึ้นมากเนื่องจากคนกลัวว่า PRS จะไม่มีโอกาสกลับมาผลิตกีตาร์ทรงนี้และอาจกลายเป็นของหายาก แม้ในวันนี้ผู้ขายกีตาร์ Singlecut ล็อตก่อนถูกสั่งระงับการผลิต ต่างก็ยังใช้คำว่า pre-lawsuit ในการโพสต์ขาย

https://www.ultimate-guitar.com/forum/showthread.php?t=1142826

สำหรับเรื่องนี้ ลุงพอลเคยให้ความเห็นผ่านสื่อต่างประเทศไว้ว่า กีตาร์รุ่นนี้จะล็อตก่อนหรือล็อตหลังคดีความ ก็ไม่มีอะไรต่างกัน เพราะใช้สเปคเดียวกัน แม้แต่พนักงานผลิตก็ทีมเดียวกัน แม้แต่ตัวแกเองยังแยกแยะไม่ออกว่าตัวไหนล็อตไหน

ทำไม Gibson ต้องฟ้อง PRS?

เพื่อนๆ คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในจักรวาลวงการกีตาร์ไฟฟ้านั้น การถูกเลียนแบบทรงกีตาร์โดยเฉพาะทรงสตรัทและเลสพอลนั้นเหมือนเป็นเรื่องปกติ และถ้าเพื่อนๆได้อ่านบทความ Singlecut ตอนที่ 1 ของผมที่ได้ชี้จุดแต่งต่างของ Singlecut จาก Les Paul ที่มีมากมายทั่วตัวกีตาร์แล้ว ก็คงพอเข้าใจว่ากีตาร์ PRS Singlecut ถือว่าต่างจากเลสพอลหลายจุด ตรงข้ามกับแบรนด์อื่นๆ หลายร้อยหลายพันแบรนด์ทั่วโลกที่ทำเหมือนเลสพอลจนเรียกได้ว่าต่างจากต้นฉบับก็แค่ชื่อยี่ห้อบน headstock เท่านั้นเอง แต่ Gibson ก็แทบไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องแบรนด์เหล่านั้นแต่อย่างใด (มีบ้าง แต่ไม่มาก และก็ที่ฟ้องไป เท่าที่ผมทราบ ก็แพ้คดี) ผมไม่ขอยกตัวอย่างยี่ห้อที่ว่าทำเหมือนนะครับ ไม่อยากพาดพิง แต่เพื่อนๆคงรู้ดีอยู่แล้ว เพราะกีตาร์ที่ก๊อปทรงนี้มีตั้งแต่ราคาหลักพันยันแสน และมีขายตั้งแต่ในร้านกีตาร์ตามต่างจังหวัดยันร้านหรูในห้างกลางกรุง

หรือที่แท้เรื่องนี้ก็เป็นแค่เกมเตะตัดขาทางธุรกิจหรือไม่? แม้แต่ในเว็บบอร์ดต่างประเทศหลายแห่งก็มองว่าที่แท้กิบสันก็แค่กลัวว่าคนจะหันไปเล่น Singlecut หมดจนกระทบยอดขายเลสพอล เลยฟ้องศาลเผื่อกฎหมายจะช่วยกำจัดคู่แข่งตัวฉกาจได้ อันนี้เป็นตัวอย่างความเห็นของผู้คนในโลกออนไลน์นะครับ เพื่อนๆคิดอย่างไรก็แชร์ความเห็นกันได้ครับ

สำหรับความคิดของผมคือ ถ้าผมเป็น Gibson ผมไม่มีอะไรต้องกังวล ในเมื่อโดยเนื้อแท้นั้นกีตาร์สองรุ่นนี้มีความแตกต่างกันอย่างมาก ลูกค้าที่เข้าใจจะรู้ว่าถ้าอยากได้เสียงเลสพอลก็ต้องซื้อเลสพอล เพราะ Singlecut ยังไงซะมันก็ให้เสียงแบบนั้นไม่ได้ และเพื่อนๆก็คงเห็นว่า จากปี 2000 จนถึงวันนี้ กีตาร์ที่ครองใจมหาชนคนชอบทรงนี้ ก็ยังเป็น Gibson Les Paul อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แม้ Gibson จะไม่ชนะคดี แม้ PRS จะยังผลิตกีตาร์ทรงนี้อยู่ก็ตาม เพราะระหว่างสองตัวนี้ไม่มีใครแทนที่ใครได้ นั่นเอง

ความเสียหายจากกคดีความ

อย่างที่ผมบอกไป แม้ในทางกฎหมาย PRS คือผู้บริสุทธิ์ แต่ในทางธุรกิจ PRS ก็ได้รับความเสียหาย เพราะแม้ PRS จะชนะคดี แต่ธุรกิจก็สะดุด เสียเวลา เสียโอกาส เสียค่าดำเนินการทางคดี ค่าทนาย ฯลฯ ไปอย่างไม่ควรจะเสีย และแม้ PRS ประกาศว่าจะกลับมาผลิต Singlecut ทันทีในวันที่ศาลมีคำพิพากษาให้เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่แท้จริงแล้วในทางปฏิบัติ PRS ต้องมานั่งไล่เช็กว่าออเดอร์ Singlecut ที่ยังค้างส่งมอบอยู่มีอีกเท่าไหร่ ต้องใช้เวลาเท่าไหร่กว่าจะไล่เคลียร์ออร์เดอร์ให้ครบ ไหนจะกีตาร์บางส่วนที่ต้องส่งให้สื่อสำนักต่างๆ นำไปรีวิว ไหนจะต้องคัดตัวสวยๆปออกงาน NAMM 2006 ที่ใกล้จะมาถึงในตอนนั้น และยังต้องลดการผลิตกีตาร์ไลน์อื่นๆ เพื่อทุ่มสรรพกำลังการผลิตไปที่ Singlecut (เพราะจำนวนพนักงานและเครื่องจักรยังมีเท่าเดิม) ซึ่งก็แปลว่าบริษัท PRS อาจเสียประโยชน์ที่ควรได้รับจากการขายกีตาร์ไลน์อื่นๆ ซึ่งอาจทำเงินได้มากกว่า เช่น Custom 24 โดยใช่เหตุ

จำนวน pre-lawsuit PRS singlecut

คุณ Dave Burrluck คอลัมนิสต์แห่งเว็บ musicradar ได้รวบรวมตัวเลขจำนวนกีตาร์ทรง Singlecut ที่ผลิตเสร็จและส่งขายทันก่อนถูกศาลสั่งระงับ (ศาลชั้นต้นเหมาหมดว่ากีตาร์ทรงประมาณนี้ของ PRS ต้องถูกระงับทั้งหมด) ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 5,090 ตัว แบ่งออกเป็น:

  • Singlecut สเปคมาตรฐาน 1,091 ตัว
  • 10 top 1,657 ตัว
  • Artist Package 371 ตัว
  • Singlecut Brazilian limited 250 ตัว
  • Singlecut Tremolo 1,035 ตัว
  • Tremonti 635 ตัว
  • Tremonti Tribal 51 ตัว (จากทั้งหมด 100 ที่ต้องผลิต เมื่อคดีสิ้นสุดก็กลับมาผลิตต่อจนครบ)

PRS Singlecut Tremolo 20th Anniversary Artist Package

https://sumally.com/p/1518246

PRS Mark Tremonti Tribal limited ใน MV เพลง One Last Breath สมัยยังเป็นวง Creed ครับ

ส่งท้าย

สำหรับเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับคดีความระหว่างสองค่ายที่มีกีตาร์ทรง Singlecut เป็นชนวนเหตุนั้น ก็จะมีประมาณนี้นะครับ เพื่อนๆมีมุมมองสำหรับเรื่องนี้ยังไงก็แชร์ความคิดเห็นกันมาได้นะครับ

ตอนต่อๆไปผมจะลงรายละเอียดกีตาร์ Singlecut/SC รุ่นต่างๆครับ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ


กดอ่านตอนต่อไป PRS Singlecut/SC มีรุ่นอะไรบ้าง (ตอนแรก) ได้ที่นี่ครับ

กลุ่มเฟสบุค PRS แอดเข้ามากันได้ คลิกที่นี่ครับ

กด Like page ของผมได้ที่นี่จ้า