PRS McCarty สวยอย่าง PRS วินเทจอย่าง Gibson ตอนที่ 1

เพื่อนๆ เคยสังเกตมั้ย ว่ามีกีตาร์ PRS รุ่นนึงที่ทรงเหมือน Custom 22 แต่ว่าลูกบิดสไตล์วินเทจเหมือน Gibson SG หรือ Les Paul ปีเก่าๆ บริดจ์เป็น Stoptail และ toggle 3 ทาง

พูดแค่นี้บางคนอาจนึกไม่ออก แต่เชื่อมั้ยว่าเพื่อนๆ อาจเคยเห็นผ่านตามาบ้าง หรือแม้แต่เคยได้ยินเสียงมาแล้วก็ได้นะครับ

fancarabao.com

http://www.siamdara.com/entertain/music/1033404/album/201603261140756

กีตาร์รุ่นนั้นคือ PRS McCarty (แมคคาร์ตี้) ซึ่งเริ่มผลิตตั้งแต่ปี 1994 ผ่านกาลเวลาผ่านการปรับปรุงตามยุคสมัยเรื่อยมาจนถึงวันนี้ (2018) ก็เป็นเวลากว่า 24 ปีผ่านไปแล้ว กีตาร์รุ่นนี้สำคัญยังไงจึงมีสายการผลิตที่ยาวนานขนาดนี้? เรื่องนี้มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจหลายอย่างอยู่นะครับ ผมจะเล่าให้ฟังครับ

แมคคาร์ตี้ ชื่อนี้สำคัญไฉน?

ช่วง 1980s สมัยนั้น ลุงพอลซึ่งเพิ่งก่อตั้งบริษัท PRS ได้ไม่นาน กำลังค้นคว้าหาเทคนิคการสร้างกีตาร์ที่ดีที่สุดโดยมีซาวด์กีตาร์ยุค 50s เป็นแรงบันดาลใจ แต่ลองผิดลองถูกยังไงก็ยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ช่างพอลหาข้อมูลโดยการค้นหาจากรายการสิทธิบัตรนวัตกรรมในหมวดกีตาร์ไฟฟ้าที่สำนักงานสิทธิบัตร (Patent Office) เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ตให้ค้นข้อมูลง่ายๆ เหมือนสมัยนี้

ระหว่างไล่เปิดแฟ้มข้อมูล ลุงพอลได้สังเกตว่ารายชื่อเจ้าของสิทธิบัตรนวัตกรรมของกีตาร์ไฟฟ้าแทบทั้งหมดมีอยู่เพียง 2 ชื่อหลักๆ คนแรกคือ Leo Fender ซึ่งไม่มีใครไม่รู้จักชื่อผู้ก่อตั้งแบรนด์กีตาร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเจ้านี้หรอก แต่ประเด็นคือมันมีอีกชื่อนึง คือ Theodore McCarty ตอนนั้นช่างพอลงงมาก ว่า หมอนี่เป็นใครกัน แต่ดูจากผลงานยาวเหยียดที่มีกับแบรนด์กีตาร์ Gibson ยันการเป็นผู้คิดค้นปิคอัพชนิด humbucker ด้วย แปลว่าคนคนนี้ต้องไม่ธรรมดาแน่นอน

เขาคือ Ted McCarty อดีตประธานบริษัท Gibson Company ช่วงปี 1950 – 1966 เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Gibson รุ่นอมตะมากมาย ตั้งแต่ 59 LP, SG, Flying V, Explorer, Moderne, Firebird ยัน ES-335 ซึ่งการันตีอย่างเป็นทางการด้วยสิทธิบัตรหลายใบ รวมถึงสิทธิบัตรการสร้าง humbucker ก็เป็นชื่อของ Ted McCarty ด้วย (Seth Lover เป็นลูกน้องของปู่เท็ด แต่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตร)

ลุงพอลรู้สึกสนใจคนคนนี้มากและรู้สึกอยากพูดคุยกับเขา หลังจากกล้ากลัวๆ สุดท้ายก็ได้แรงยุจากเพื่อนร่วมงาน ช่างพอลก็เลยกลั้นใจโทรหาคุณปู่แมคคาร์ตี้ (สมัยนั้นปู่อายุประมาณ 70 ปีแล้ว) เพื่อจ้างเป็นที่ปรึกษา ซักถามข้อสงสัย และรับฟังประสบการณ์จากการสร้างกีตาร์ยุคทองของกิบสัน จากนั้นมิตรภาพระหว่างหนุ่มเจ้าของแบรนด์กีตาร์หน้าใหม่กับชายผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์กีตาร์ยักษ์ใหญ่ก็เริ่มขึ้น

ลุงพอลเล่าว่า ตอนนั้นลุงถามทุกอย่างที่อยากรู้เกี่ยวกับการทำกีตาร์ของกิบสันในยุค 50 เช่น ใช้กาวอะไรแปะท็อป พันปิคอัพยังไง ติดกาวอะไรที่เฟร็ท ฯลฯ บรรยากาศในการพูดคุยบางทีก็ออกจะตลกๆหน่อย เพราะลุงพอลบอกว่าเวลาปู่เท็ดพูด แกจะเหมือนคนง่วงนอนและคอตกตลอดเวลา ปู่จะพูดช้าๆ ค่อยๆนึกคำตอบ แต่บางทีก็ใช้เวลานึกเป็นวัน ถ้านึกออกตอนกลับบ้านแกก็จะโทรมาบอกลุงพอลทีหลัง (ก็นะ ตอนนั้นปู่แกอายุ 70 แล้ว)

ลุงเล่าด้วยว่า ครั้งที่สามที่พบกัน ลุงก็สัมภาษณ์ปู่ไปอย่างเคย แล้วจู่ๆปู่แกก็ทำท่าหงุดหงิดขึ้นมา ลุงพอลถามว่าเป็นอะไร ปู่เท็ดตอบว่าแกทำงานที่ Gibson เป็นสิบๆ ปี ไม่เห็นมีใครสนใจอยากถามอยากคุยกับแกเรื่องพวกนี้เลย คนที่นั่นสนใจเพียงแค่ว่าทำอย่างไรจะทำกำไรจากการขายกีตาร์ให้ได้มากที่สุดเท่านั้น ยุคนั้นตอนที่กีตาร์เลสพอลออกมาช่วงแรกๆ ที่ขายไม่ค่อยได้พวกเขาก็ให้เอาไปเก็บเข้ากรุเหมือนเลสพอลของแกไม่มีค่า แล้วให้ทำกีตาร์แนวโมเดิร์นอย่าง Flying V, Explorer, Moderne ออกมาขายแทน

ลุงบอกว่าทีแรกตั้งใจจ้างมาเป็นที่ปรึกษา ไปๆมาๆ ปู่เท็ดก็เริ่มเป็นเหมือนครู เป็นพี่เลี้ยง เป็นเพื่อน เป็นบุคคลสำคัญยิ่ง และเป็นผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ของ PRS ผมคิดว่ามิตรภาพในฐานะเพื่อนระหว่างผู้สร้างทั้งสองคนนี้ ส่วนนึงคงมาจากการเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน ไม่ใช่แค่นายจ้าง-ลูกจ้าง ในมุมมองของการลงทุน

ปู่เท็ด แมคคาร์ตี้ มีเบื้องหลังที่น่าสนใจนะครับ คือเรารู้กันว่าแกคิดค้น ประดิษฐ์กีตาร์รุ่นตำนาน เป็นเทพเจ้าแห่งนวัตกรรมกีตาร์แห่งยุคนั้นและมีสิทธิบัตรเป็นชื่อตัวเองมากมาย แต่ทราบหรือไม่ครับว่า ปู่เท็ดไม่ใช่นักดนตรีและไม่เล่นกีตาร์ตั้งแต่ก่อนเข้ามารับงานในบริษัท Gibson ปู่จบวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Cincinnati แต่ทำงานในบริษัทกิบสันโดยการรับฟังข้อคิดเห็นจากนักกีตาร์ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาสร้างผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าโดยใช้ทักษะความรู้สายวิศวกรรมที่ปู่มีอยู่ ในวงการกีตาร์มักชื่นชมปู่เท็ดกับปู่ ลีโอ เฟนเดอร์อยู่เสมอในมุมที่ว่าคนเราบางครั้งไม่จำเป็นต้องเก่งตรงสาย ก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนมากมายบนโลกใบนี้ได้ ในวันนั้นใครจะคิดล่ะครับว่าวิศวกรกับช่างซ่อมวิทยุจะกลายเป็นตำนานยิ่งใหญ่ผู้สร้างโลกกีตาร์ของพวกเราให้สวยงามจนถึงวันนี้

ปู่เท็ดจากไปเมื่อปี 2001 ด้วยวัย 91 ปี

PRS McCarty ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง PRS และ Gibson

กีตาร์ในซีรีส์ McCarty โมเดลแรกเปิดตัวเมื่อปี 1994 ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ปู่เท็ดผู้มีคุณูปการต่อ PRS เอกลักษณ์ที่ทำให้กีตาร์ซีรีส์ McCarty ต่างจากกลุ่ม Custom มีดังนี้

  • บอดี้มาฮอกกานี หนากว่า Custom 1/8 นิ้ว
  • คอมาฮอกกานีโปรไฟล์หนา เข้าคอด้วยกาว
  • บริดจ์ stoptail
  • 22 เฟร็ท
  • ปิคอัพโทนเสียงวินเทจ และมีฝาครอบ
  • PU selector toggle 3 ทาง ส่วนใหญ่มี 1 วอลุ่ม 1 โทน และดึงปุ่มโทนตัดคอยล์ได้

https://reverb.com/item/2591842-paul-reed-smith-mccarty-1994-mccarty-burst

นอกจากกีตาร์รุ่น McCarty โมเดลมาตรฐานตามรูปข้างบน PRS ก็ยังผลิตกีตาร์สายวินเทจอีกหลายรุ่นและตั้งชื่อให้มีคำว่า McCarty นำหน้าชื่อจริง (เช่น McCarty Archtop, McCarty Hollowbody, McCarty 245 ฯลฯ) เพื่อเป็นการยกย่องปู่เท็ดที่มาช่วยติวเข้มลุงพอลให้สร้าง PRS สายวินเทจ และเพื่อบอกเป็นนัยๆ ว่า กีตาร์รุ่นที่มีชื่อนี้นำหน้า เป็นกีตาร์สายวินเทจนะ แต่การที่ PRS ตั้งชื่อแบบนั้นก็ทำให้กีตาร์ที่มีคำว่า McCarty มีมากมายหลายรุ่นหลายรูปแบบ ซึ่งก็สร้างความสับสนอยู่เหมือนกันว่าตกลงไอ้กีตาร์ในซีรีส์แมคคาร์ตี้มันมีกี่แบบกี่รุ่นย่อยกันแน่

ส่งท้ายตอนที่ 1

เรื่องของลุงพอลกับลุงเท็ดทำให้ผมนึกถึงตอนที่ลุงพอลออกแบบอินเลย์นกครั้งแรก ผมมองว่าลุงพอลก็ไม่ใช่คนเก่งไปทุกเรื่องนะ แต่แกไม่อีโก้ แกทำตัวเหมือนน้ำที่ไม่เต็มแก้วตลอดเวลา แม้ว่าแกจะเป็นนักสร้างนักสู้ แต่ถ้าเจอปัญหาที่ตัวเองแก้ไม่ได้หรือขาดความชำนาญเฉพาะทางแกก็รู้จักหาคนช่วย ซึ่งสำหรับผมเองก็รู้สึกแปลกใจนะ ที่คนคนนึงกล้าตั้งแบรนด์กีตาร์ได้โดยที่ตอนนั้นตัวเองก็ไม่ได้รู้ทุกสรรพสิ่งของวงการ อาจจะเพราะจังหวะของชีวิตแกเป็นแบบนั้น เป็นช่วงขาขึ้นที่ศิลปินดังเริ่มใช้กีตาร์ของแกเยอะขึ้น ออร์เดอร์ลูกค้าก็มากขึ้น จนมีเครดิตดีพอที่จะชักชวนนักลงทุนกลุ่มนึงให้ลงทุนตั้งร้านผลิตกีตาร์ได้ ถ้าวันนั้นลุงมัวรอให้ตัวเองรู้แจ้งทุกอย่างเสียก่อน ลุงอาจเสียโอกาสสร้างแบรนด์ให้ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ก็เป็นได้

คงจะจริงที่เขาว่ากันว่า ไม่มีใครรู้ทุกอย่างมาตั้งแต่เกิด หากแต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การลงมือทำและรู้จักพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลามากกว่า

สำหรับความเป็นมาก่อนจะเกิดกีตาร์ในซีรีส์ McCarty ก็มีเท่านี้นะครับ ตอนต่อไปผมจะพูดถึงกีตาร์รุ่นต่างๆ ในซีรีส์นี้ตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นไป ซึ่งขอบอกเลยว่ากว่าจะถึงวันนี้ กีตาร์ซีรีส์ McCarty มีเยอะหลายรุ่นมากๆ

อ่านต่อตอนที่ 2 คลิกที่นี่จ้า

#############################################################

Facebook group แชร์ข้อมูล PRS คลิกเลยจ้า
https://web.facebook.com/groups/346587559155557/