PRS Singlecut / SC โครงสร้างสไตล์ LP งานดีสไตล์ PRS – ตอนที่ 1 Singlecut VS Les Paul

คงไม่เกินเลยนักถ้าจะบอกว่า หนึ่งในดีไซน์กีตาร์ไฟฟ้าที่ให้โทนเสียงหนักแน่น เนื้อไม้มาเต็ม หวานดีดุได้ ซัสเทนยาว ก็คงหนีไม่พ้นกีตาร์ตัวตันทรงชายเว้าเดี่ยว (single cutaway) ซึ่งก็แน่นอนว่าผู้บุกเบิกก็คือกีตาร์ทรง Les Paul ของ Gibson ด้วยบอดี้ไม้มาฮอกกานีหนาๆ ปาดเว้าเพียงด้านเดียวพอให้ล้วงได้ ด้านหน้าแปะด้วยท็อปเมเปิล คอมาฮอกกานีเชื่อมกับบอดี้ด้วยกาว บริดจ์ stoptail เรียบง่ายไม่เสียเนื้อไม้ ไร้กลไกโลหะมาลดทอนพลังงานการสั่นของสายและบอดี้

กีตาร์ทรง single cutaway อยู่คู่วงการกีตาร์มายาวนานกว่าหกทศวรรษ มีศิลปินเบอร์ใหญ่มากมายนำไปใช้เล่นจนกีตาร์ทรงนี้กลายเป็นกีตาร์ทรงอมตะ แน่นอนว่ากีตาร์ทรงนี้ถูกยี่ห้ออื่นๆ นำไปทำซ้ำในแบบของตัวเองมากมายหลายแบรนด์

แต่จะเป็นยังไงถ้าผู้ผลิตกีตาร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความประณีตของงานมากที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลกอย่าง PRS จะสร้างกีตาร์ทรงนี้ในแบบฉบับของตัวเอง?

PRS Singlecut – ส่วนผสมของความหนักแน่นและความประณีต

ลุงพอล ผู้ก่อตั้งกีตาร์แบรนด์ PRS เคยกล่าวไว้ว่า แกฝันจะสร้างกีตาร์ทรงชายเว้าเดี่ยวอยู่นานหลายปี แต่ออกแบบเท่าไหร่ไม่ลงตัว ไม่ถูกใจสักที ร่างแบบลงบนกระดาษแล้วมากมายหลายแบบแต่ก็ไม่ถูกใจ แต่ในที่สุดหลังจากได้ร่วมงานกับทีมออกแบบก็ได้กีตาร์ทรงนี้ที่ลงตัว ตรงใจและเริ่มมีการนำไปใช้ในไลน์ Private Stock จนในที่สุดเมื่อช่วงต้นปี 2000 PRS ก็เปิดตัวเป็นกีตาร์ชายเว้าเดี่ยวในสายการผลิตหลักรุ่นแรก มันคือ PRS Singlecut

https://shop.guitarpoint.de/en/diverse/2000-paul-reed-smith-singlecut-amber-burst

2000 PRS Singlecut specifications

Body – thick mahogany

Top – maple

Neck – mahogany, wide fat

Scale length – 25″

Number of frets – 22

Truss rod cover – blank

Fingerboard – rosewood

Fingerboard inlays – moons or old school  abalone birds inlay

Pickups – #7

Electronics – 2 vol, 2 tone, 3 ways toggle

Tuners – vintage style, non-locking

Bridge – PRS Stoptail

PRS Singlecut ถือเป็น design ใหม่ของแบรนด์อย่างแท้จริง จากที่เคยใช้แต่ทรง double cutaway มาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ลุงพอลใช้ความรู้ที่ได้จากปู่ Ted McCarty อดีต President ของ Gibson ยุค 50s ผู้อยู่เบื้องหลังกีตาร์กิบสันในตำนานมากมายหลายตัวมาใช้ในการสร้างกีตาร์ชายเว้าเดี่ยวที่เป็นวุ้นมานานหลายปีให้เกิดขึ้นจริง ลุงพอลบอกว่า concept ของกีตาร์รุ่นนี้คือ การนำโครงสร้างของกีตาร์ Les Paul  มาต่อยอดเพิ่มเติมองค์ประกอบใหม่ๆที่ช่วยเพิ่มคุณภาพของเสียงรวมถึงความถนัดในการใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

ผลก็คือกีตาร์ทรงเลสพอลที่มากับอินเลย์นก บอดี้หนากว่า Custom แต่ก็บางกว่า Les Paul ทั้งในส่วนของ back และ maple top ลุงพอลให้เหตุผลว่าความหนาของกีตาร์เลสพอลนั้น ทำให้กีตาร์หนักเกินความจำเป็น กระดูกสันหลังของผู้เล่นไม่ควรต้องแบกรับน้ำหนักขนาดนั้น อีกทั้งไม้มาฮอกกานีที่ PRS นำมาใช้ก็มีน้ำหนักค่อนข้างเบาอยู่แล้ว ส่วนคอก็ใช้ไม้มาฮอกกานีตามสูตรต้นตำรับ โปรไฟล์คอหนา (wide fat) มี 22 เฟรทเพื่อความหวานและโทนเสียง bass pickup โทนวินเทจมากกว่าดีไซน์ 24 เฟรท

ในส่วนของปิคอัพ #7 (นัมเบอร์ เซเว่น) ลุงพอลบอกว่ามันถูกออกแบบมาให้มีคาแรคเตอร์เสียงที่อยู่ระหว่างปิคอัพรุ่น Dragon II กับ McCarty ปิคอัพตัว neck ให้เสียงที่สะอาด ในขณะที่ตัวใกล้ bridge มีความแรงเหมาะกับการเล่นแนวร็อก อัดเสียงแตกหนักๆ และจากที่ผมเคยมีกีตาร์รุ่นนี้ ก็มีความรู้สึกแบบนั้นจริงๆ

Hardware ของกีตาร์ Singlecut ออริจินอลนี้ ก็ชัดเจนว่าต้องการลุคและโทนเสียงแนววินเทจ เริ่มตั้งแต่ส่วนของ headstock ที่ใช้ลูกบิดแบบไม่ล็อกสาย buttons ทรงวินเทจสไตล์ Kluson แบบเลสพอล บริดจ์ PRS Stoptail ไม่มีออพชันคันโยก นอกจากนี้ยังมีออพชัน Artist Package ที่ได้ท็อปเกรด Artist + gold hardware (ตัวสีแดงของผมก็ท็อป Artist นะครับ เสียดายตอนนั้นใช้มือถือกระจอก ถ่ายไม่ชัด รูปมันนวลๆ ไม่คม) ในส่วนของงานประดับหรืออะไหล่บางอย่างก็อาจมีการปรับเปลี่ยนไปตามช่วงปีหรือตามรุ่นเฉพาะ อย่างสีแดง black cherry ตัวนี้เป็น Singlecut 20th Anniversary อินเลย์นก birds in flight กับปุ่มคอนโทรลแบบ lampshade ซึ่งเป็นสเปคเฉพาะของเวอร์ชั่นแลอง 20 ปี แต่โครงสร้างหลักเหมือนกันกับ original Singlecut ทุกประการ

สำหรับลิสต์กีตาร์ซีรีส์ Singlecut/SC ผมจะรวบรวมมาเล่าในตอนต่อๆไปครับ

PRS Singlecut -VS- Gibson Les Paul Standard – คล้ายๆ แต่ก็ไม่เหมือน

จริงอยู่ที่ว่ากีตาร์รุ่นนี้ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเลสพอลมาพัฒนาต่อ ซึ่งหากใครมองกีตาร์รุ่นนี้ผ่านๆ หรือไม่ได้ศึกษาข้อมุลรายละเอียดของมันจริงๆ อาจนึกไปว่าเหมือนเลสพอล แค่เปลี่ยนหัวกับอินเลย์

แท้จริงแล้ว PRS Singlecut มีความแตกต่างจาก Les Paul ในรายละเอียดมากมายหลายจุดนะครับ ลองไปดูกันครับ

Body shape

ถ้าเพื่อนๆ สังเกตดีๆ จะเห็นว่าส่วนโค้งของกีตาร์ทั้งสองตัวไม่เหมือนกันครับ ของเลสพอลจะมีลักษณะคล้ายวงกลมสองวงมา intersect กัน แต่ของ Singlecut จะมีการค่อยๆไล่ส่วนโค้งจากช่วงเอวขึ้นไป ทำให้ช่วงเอวของไม่คอดกิ่วเท่าของเลสพอล ลองดูรูปพวกนี้นะครับ

PRS SC ตัวในรูปนี้ไม่ใช่ Singlecut ออริจินอลก็จริง แต่บอดี้ก็เชพเดียวกันครับ ผมใช้รูปนี้เพราะมุมกล้อง แสง สี ฉากหลัง มันช่วยให้สังเกตความแตกต่างได้ง่าย

http://thefretboard.co.uk/discussion/35957/les-paul-alternatives-esp-prs

ทั้งเอวทั้งสะโพกของ PRS จะดูกว้างๆกว่า LP นะครับ

http://www.rig-talk.com/forum/viewtopic.php?t=45121
https://www.lespaulforum.com/forum/showthread.php?109387-prs-singlecut-vs-les-paul/page2

Body depth

ความหนาของบอดี้และท็อปของ Singlecut รวมกันอยู่ที่ 58.19 mm. หนากว่า Custom 24 แต่ก็บางกว่าเลสพอลเล็กน้อย แม้กระนั้นโดยรวมก็ยังถือว่าเป็นกีตาร์ที่บอดี้หนารุ่นหนึ่ง เหตุผลของลุงพอลคือ เพื่อไม่ให้กีตาร์มีน้ำหนักมากจนบั่นทอนสุขภาพผู้เล่นเกินควร  และไม้ที่ PRS นำมาใช้ก็ค่อนข้างเบาอยู่แล้ว

ผมเอา PRS McCarty Singlecut 594 ทรง SC บอดี้ความหนาเต็ม รุ่นล่าสุด วางเทียบกับ Gibson Les Paul Standard Slash signature เทียบมิติให้เห็นความต่างกันชัดๆ

Number of body pieces of wood

แปลสั้นๆว่าจำนวนชิ้นไม้ที่ใช้ทำบอดี้ด้านหลัง (top ไม่นับ) ซึ่ง PRS Singlecut USA ใช้ไม้ mahogany ชิ้นเดียว ไร้รอยต่อ ซึ่งเรื่องบอดี้ชิ้นเดียวนี้ผมไม่เคยเห็น PRS บอกไว้อย่างเป็นทางการนะครับว่าเป็น one piece แต่จากที่ผมสังเกตกีตาร์ซีรีส์นี้มานาน รวมถึงเคยมีครอบครองเอง ผมก็เห็นแต่บอดี้ชิ้นเดียวมาตลอดครับ ตั้งแต่เริ่มซีรีส์นี้เมื่อปี 2000 ยันปีนี้ 2018 ในรุ่น McCarty SC 594 มันก็ยังบอดี้ชิ้นเดียวอยู่ดี และมีมาให้ตั้งแต่ระดับ core โดยไม่จำเป็นต้องไปถึง Private Stock อะไรเลย ลองดูรูปตัวอย่างนะครับ

ปี 2000

ladkorguitars.com

ปี 2007 (SC 245)

12fret.com

ปี 2018 (McCarty SC 594)

musicstorelive.com

ถ้าเพื่อนๆเจอ Singlecut USA ที่มีบอดี้หลายชิ้น รบกวนแชร์รูปให้ดูหน่อยนะครับ ผมอยากเก็บไว้เป็นข้อมูลครับ

สำหรับ Les Paul Standard 2000 ตอนนั้นยังเป็นบอดี้ชิ้นเดียว แต่ปัจจุบันมี 2 ชิ้นครับ

ตัวนี้ Les Paul Standard 2000 ด้านหลัง

12fret.com

2016 Les Paul Standard HP ครับ

gibson.com

Body contour

https://reverb.com/item/2894348-paul-reed-smith-singlecut-10-top-2000-mccarty-sunburst

ด้านหลังบอดี้ของ PRS Singlecut มีปาดเหลี่ยมบอดี้ด้านบนเป็น belly cut เพื่อให้เข้ากับสรีระของผู้เล่น ช่วยให้ตัวกีตาร์ฝั่งสายเบสเอียงเข้าหาผู้เล่นมากขึ้น เมื่อรวมกับบอดี้ที่บางกว่า ก็ช่วยให้เล่นได้ถนัดขึ้น โดยที่มวลเสียงโดยรวมยังคงความแน่นอยู่

Neck joint

guitar-auctions.co.uk

loviesguitars.com

PRS Singlecut ได้รับการออกแบบการเข้าคอสำหรับกีตาร์ทรงนี้โดยเฉพาะ จะสังเกตว่าส่วนฐานคอหรือ neck heel จะแตกต่างจาก Custom 24 และ Les Paul ลุงพอลบอกว่าคอแบบนี้มี tenon ที่ยาว ช่วยสร้างความแข็งแรงทางโครงสร้างที่มากกว่า ส่งผลต่อ sustain ของเสียงที่ดีกว่า

Body binding

แน่นอนว่าตรงจุดนี้ PRS Singlecut ใช้เทคนิคการทำเส้นบายดิ้งแบบ scrape binding/faux binding เนี้ยบๆ สไตล์ PRS ที่ดูเหมือนมีบายดิ้งแต่ที่จริงแล้ว ไม่มี กล่าวคือ เป็นแถบไม้เมเปิลเกิดจากการแปะเทปปิดขอบท็อปบริเวณนี้เอาไว้ในขั้นตอนการลงสีกีตาร์ สีก็โดนส่วนอื่นๆของกีตาร์ไปแต่ไม่โดนส่วนที่ถูกเทปแปะทับไว้ เมื่อสีแห้งก็แกะเทปออก เกิดเป็นแถบเนื้อไม้เมเปิลสวยงามโดยไม่ต้องใช้วัสดุติดแปะถาวร ส่วนบายดิ้งของเลสพอลที่ใช้แถบพลาสติกสีครีมมาแปะทำขอบบายดิ้ง

Cutaway scoop

Cutaway scoop หรือการปาดชายเว้าด้านล่างให้แหว่งเข้าไปเล็กน้อย เพื่ให้ล้วงง่ายขึ้น ซึ่งเป็นดีไซน์เอกลักษณ์ของกีตาร์ PRS ที่เลสพอลไม่มี

Headstock angle

http://www.ladkorguitars.com/item/gibson-120th-anniversary-les-paul-traditional-standard-peace-orange-id467
http://www.ladkorguitars.com/item/2000-prs-singlecut-pre-lawsuit-artist-package-mccarty-burst-id775

Headstock angle

headstock ของ PRS Singlecut ทำมุมไม่มาก ประมาณ 10 – 11 องศา เนื่องจากลุงพอลมองว่า ยิ่งมุมระหว่างนัทกับ headstock กว้างมากเท่าไหร่ แรงเสียดทานที่นัทยิ่งมีมาก และมีโอกาสที่สายจะเพี้ยนได้ง่ายขึ้น ในขณะที่เลสพอล (และกีตาร์ของ Gibson แทบทุกรุ่น) มากับองศาที่หักมุมมากกว่า ถึง 17 องศา

นอกจากนี้ สำหรับผมเองยังมองต่อไปอีกว่า การที่ headstock angle ทำมุมไม่มากนั้น ยังส่งผลดีต่อความแข็งแรงของตัว headstock อีกด้วย กล่าวคือมันทำให้ปริมาณของ wood grain ในเนื้อไม้วิ่งยาวต่อเนื่องจากคอไปถึงส่วนหัวมากยิ่งขึ้น เส้น grain ขาดน้อยกว่าหัวที่ทำมุมเยอะๆ ซึ่งในวงการกีตาร์มักมีความเชื่อว่าการใช้ไม้ชิ้นเดียวทำคอนั้น แข็งแรงกว่าการต่อไม้ ซึ่งนั่นก็มีส่วนถูก แต่แรงตึงของสายถูกถ่ายทอดผ่านเส้น wood grain ที่เป็นเส้นเดียวกัน ดังนั้น การตัดไม้ชิ้นเดียวมาเหลาขึ้นรูปตั้งแต่คอจรดปลาย headstock ของ Les Paul จึงมีจุดอ่อนในเรื่องความแข็งแรง เพราะเส้น wood grain ขาดจากกันเป็นจำนวนมาก

แรงดึงจากสายจะวิ่งเป็นเส้นตรงตาม wood grain พื้นที่ของ headstock บริเวณในกรอบสีเหลืองในรูปนี้คือส่วนที่รับแรงดึงของสายเต็มๆ ดังนั้น ยิ่งหัวกีตาร์ทำมุมมากขึ้นเท่าไหร่ เส้น wood grain ก็จะยิ่งขาดจากกันมากขึ้นเท่านั้น

http://jacksinstrumentservices.com/why-do-les-paul-headstocks-break.html

นอกจากนี้ จากการที่ headstock angle ทำมุมมากจนหัวกีตาร์เอนไปด้านหลังเยอะ ก็ยิ่งมีโอกาสที่คอจะหักได้ง่ายยิ่งขึ้นหากเกิดอุบัติเหตุทำกีตาร์ล้มหงายหลัง ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่าหลายๆคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษสำหรับกีตาร์ Gibson ทั้งนี้ผมไม่ได้บอกว่า PRS คอหักไม่เป็นนะครับ แค่จะบอกว่า Gibson มีโอกาสได้รับบาดเจ็บสาหัสสูงกว่าด้วยสาเหตุจากดีไซน์ของมัน

ที่ผมยกมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลายๆ เหตุผลว่าทำไมคอของกีตาร์ Gibson จึงหักง่าย ใครสนใจลองคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

แต่ผมก็มองว่า pressure ที่เกิดจากการทำมุมตรงนี้เยอะๆ น่าจะส่งผลดีต่อเสียงนะครับ และผมเชื่อว่าเพราะดีไซน์หัวหักมุมเยอะๆแบบนี้นี่แหละ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Les Paul มีเสียงหนักแน่น นิ่ง บาดใจชาวร็อกมาจนทุกวันนี้

String break angle

https://www.elderly.com/prs-singlecut-2001.htm

livelouder.co.uk

หรือมุมที่สายเบี่ยงทิศทางจากนัทไปหาเสาลูกบิดแต่ละเสา (เมื่อมองจากด้านหน้าตรงๆ) ยิ่งทำมุมน้อยเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสสายเพี้ยนน้อยกว่า ซึ่งเห็นได้ชัดว่า headstock ของ PRS ออกแบบมาเพื่อให้เกิดมุม string break ที่น้อยกว่าของเลสพอลอยู่แล้ว และถ้าเราดูกีตาร์ยุคใหม่ๆจะยิ่งเห็นว่าเขาพยายามออกแบบให้ทำมุมตรงนี้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย

 

Neck shape

PRS ใช้โปรไฟล์คอ wide fat ของตัวเอง ซึ่งไม่เท่ากับคอของกิบสันนะครับ ของ PRS ความกว้างที่นัท คือ 1 11/16 นิ้ว (4.2862 cm) ความหนาที่นัทคือ 28/32 นิ้ว (2.222 cm) ส่วนคอ 50s ของเลสพอล ความกว้างที่นัทเท่ากัน ความหนาที่เฟรทแรก 2.07 cm

 

Scale length

Singlecut 25 นิ้ว แต่ของ LP 24.75 นิ้ว

 

Fingerboard radius

Singlecut รวมถึงกีตาร์ร่วมสังกัดเกือบทุกรุ่น ใช้เรเดียส 10 นิ้ว (โค้งกว่า) ส่วนเลสพอล 12 นิ้ว (แบนกว่า)

 

Fingerboard binding

https://www.thegearpage.net/board/index.php?threads/ngd-2014-gibson-les-paul-traditional-in-tobacco-sunburst.1485476/

Singlecut ไม่มี แต่ของเลสพอลมี สำหรับ PRS SC ตั้งแต่ช่วง 2010 เป็นต้นมาก็เริ่มมีบายดิ้งในบางรุ่น

 

Fingerboard inlay material

แน่นอนว่าก็ต้องเป็นดีไซน์ moons หรือ birds อยู่แล้ว แต่ประเด็นคือ อินเลย์ของ PRS ใช้วัสดุเปลือกหอยแท้จากธรรมชาติ ในขณะที่อินเลย์ trapezoid ของเลสพอลทำจากพลาสติก

Nut

เป็นวัสดุสังเคราะห์สูตรเฉพาะของ PRS ที่ผสมเนื้อทองแดงในร่องนัทเพื่อความลื่น เป็นอะไหล่ที่ PRS ผลิตเอง

Control knobs layout

การเรียงปุ่มคอนโทรลต่างๆ ของ Singlecut วางตามตำแหน่งของปิคอัพ (หากมองในแนวตั้ง) แต่สำหรับ SC สายวินเทจรุ่นปัจจุบัน (SC 594) จะเรียงอย่าง Les Paul นะครับ

Toggle switch plate

Singlecut ไม่มีป้ายกลมๆอันนี้ไว้บอกตำแหน่งการเลือกปิคอัพ แต่ถ้าไม่มีเขียนบอกจะมีใครเลือกปิคอัพไม่ถูกมั้ยครับ

Pickguard

Singlecut ไม่มีสิ่งนี้ และไม่เคยมีในสายการผลิต core line SC ตลอด 18 ปีที่ผลิตมา

Bridge

soundpure.com

Singlecut original เป็น PRS Stoptail ชิ้นเดียว เสาทำจากทองเหลือง (ชุบโครเมี่ยมก็จริง แต่เนื้อในเป็นทองเหลือง) ขณะที่เลส พอลจะเป็นแบบสองชิ้น Stoptail + Tune o Matic ที่เราคุ้นเคยกันดี อันนี้ส่วนตัวผมมองว่าเลสพอลน่าจะถ่ายทอด string vibration ได้มากกว่าบริดจ์ดีไซน์ชิ้นเดียวของ PRS อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี 2010 PRS SC บางรุ่นก็ใช้แบบสองชิ้นกันแล้ว

Finishes

Singlecut เจเนอเรชั่นแรกก็เคลือบบอดี้ตามสูตร PRS ยุค 2000s คือชั้นล่าง (basecoat) เคลือบ polyurethane ส่วนชั้นบนสุด (topcoat) เป็น acrylic urethane ส่วน Les Paul เป็นไนโตร (แลคเกอร์) ซึ่ง PRS Singlecut ยุคแรกนี้ก็หนีไม่พ้นปัญหา finish ขึ้นฝ้านะครับ ต้องระวังเรื่องการเก็บรักษาหน่อย

Pickups

กีตาร์ PRS Singlecut มากับปิคอัพ #7 ที่แม้จะให้โทนเสียงหนักแน่น ดุดัน หวานได้ แต่ก็มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างจากเลสพอลพอสมควร ยิ่งถ้าเคยใช้ของจริงมา จะสามารถพูดได้เลยว่าเสียงมันคนละอย่างจริงๆ ไม่มีใครเหมือนใคร รีวิวเสียงอ่านได้ในหัวข้อถัดไปครับ

ที่จริงคงมีจุดแตกต่างมากกว่านี้ ลุงพอลเคยบอกว่ากีตาร์รุ่นนี้มีข้อแตกต่างจากเลสพอลมากกว่า 30 อย่าง แต่แกก็ไม่เคยลิสต์ออกมาชัดๆหรอก สิ่งที่เพื่อนๆได้อ่านไปทั้งหมดได้จากการสังเกตและเก็บข้อมูลของผมเอง ใครมีอะไรนำเสนอเพิ่มเติมก็คอมเมนท์ไว้ได้นะครับ

แล้วเสียงล่ะ เป็นยังไง?

โทนเสียงจากปิคอัพ #7 ให้โทนทุ้มแน่นกว่า Custom 24 อย่างเห็นได้ชัด ผมไม่แน่ใจว่าเป็นผลที่ได้จากตัวปิคอัพหรือตัวกีตาร์มากกว่ากัน เนื้อเสียงของตำแหน่ง bass pickup ค่อนข้างป่องๆ mid range ค่อนข้างเยอะ เมื่อเปิด gain กลางๆ ผมจะนึกถึงโทนแนว Santana อย่างไม่น่าเชื่อ pick attack ไม่ค่อยมี มันนวลไปหมด โทนโดยรวมสำหรับตำแหน่งนี้ผมคิดว่าไปทางหวานมากกว่าดุ แต่สำหรับ treble pickup นั้นคาแรคเตอร์จะเปลี่ยนไปราวกับไม่ใช่ปิคอัพเซ็ทเดียวกัน คือมันค่อนข้างแรง แผด มีความดุดันแบบมีเนื้อเบส มีความตึ้บ กระแทกกระทั้น แม้จะไม่ใช่ฟีลเดียวกับ Les Paul เป๊ะๆ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็น PRS ที่ใส่เสียงแตกได้ดุดันที่สุดรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว ปิคอัพเซ็ทนี้มี electronics เป็น 2 volume, 2 tone มีสวิทช์ toggle สามทางวางอยู่ด้านบนคล้ายเลสพอล แต่ vol & tone นั้นวางตำแหน่งต่างกัน คือถ้าเรามองทั้งสี่ปุ่มในแนวตั้ง ปุ่มคู่ขวาใช้ควบคุม bass pickup ส่วนปุ่มทางซ้ายก็คุม treble pickup คือวางตามตำแหน่งของปิคอัพนั่นเอง อ้อ สำหรับ PRS Singlecut original ยังตัดคอยล์ไม่ได้นะครับ

ผมไม่เคยอัดเสียงของมันตอนที่มันยังอยู่กับผม แต่ผมมีคลิปของกีตาร์ตัวเดียวกัน ที่คุณเกม (แชมป์ Overdrive #8) เคย demo เอาไว้ครับ ในคลิปอาจฟังดูเบสไม่ตึ้บเท่าไหร่เพราะแอมป์ของแกไม่ใช่ hi gain แถมเป็น open back cabinet แต่ถ้าจัดคู่กับแอมป์แตกแรงๆ กับตู้ closed back ดอก Celestion Vintage 30 ของผมชุดนั้น ดุเดือดครับขอบอก

อีตา Greg Guitars ขาเดโม

อันนี้อิมโพรไวส์บลูส์ร็อกด้วยแอมป์ Cornford Roadhouse 30 ซาวด์

อยากบอกให้รู้ไว้ ถ้าสนใจ PRS ทรง Singlecut

ผมมีสิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกสำหรับคนที่กำลังมองหา PRS ทรงนี้ ผมใช้คำว่า “ทรงนี้” เพื่อเหมารวมทั้งรุ่นที่ชื่อ Singlecut  และ SC ทุกรุ่น คือผมยอมรับว่าตอนที่ซื้อ Singlecut 20th มา ในใจลึกๆแอบหวังว่าผมจะสามารถทำให้มันเสียงคล้ายเลสพอลได้ ซึ่งโอเค เสียงมันก็หนักจริงๆ แต่ก็ขาดคาแรคเตอร์บางอย่างของเสียงเลสพอล สรุปผมก็ต้องผิดหวังในเรื่องเสียง แต่ก็ขายไปเพราะสาเหตุที่แย่กว่านั้น คือ คอ wide fat ใหญ่เกินไปสำหรับผม เล่นนานๆแล้วรู้สึกล้า ยิ่งอยู่ด้วยกันนานวันยิ่งรู้ว่าเหมาะสำหรับเก็บสะสมมากกว่าเป็นกีตาร์ใช้งาน

ส่วนตัวผมเชื่อว่า เป็นไปได้ยากที่ PRS Singlecut/SC จะให้เสียงเหมือน Les Paul โดยธรรมชาติ (คือ ไม่พึงการ modelingหรือใช้อุปกรณ์อื่นใดช่วย) เพราะถ้าเราไล่ดูความแตกต่างทางโครงสร้างทั้งหลาย ตลอดจนถึงปิคอัพ เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันไม่เหมือนเลสพอล ซึ่งก็คงไม่ผิดอะไรที่ PRS ทรงนี้จะมีโทนเสียงที่เป็นคาแรคเตอร์ของมัน และยิ่งไปกว่านั้น จากที่ผมสังเกต ติดตามเก็บข้อมูลกีตาร์ทรงนี้ของ PRS ผมยิ่งรู้สึกว่า ยิ่งนับวัน คาแรคเตอร์เสียงของ PRS SC ดูจะยิ่งห่างไกลคำว่า ‘หนักแน่น’ ออกไปทุกทีๆ จากจุดเริ่มต้นปี 2000 ที่คอนเซพท์คือกีตาร์ทรงชายเว้าเดี่ยวที่มีทั้งความวินเทจและเสียงตึ้บๆแน่นๆสไตล์โมเดิร์น ในช่วงสิบปีให้หลังมานี้ มันกลายเป็นออกวินเทจเสียงกลมๆ นวลๆ หรือไม่ก็เคลียร์ๆแบบมีย่านกลาง แต่ไม่ค่อยมีย่านเบส กลายเป็นกีตาร์วินเทจที่ขายรายละเอียดของเสียงมากกว่าขายความหนักแน่น

ผมจึงอยากบอกไว้ชัดๆ ตรงนี้ สำหรับเพื่อนๆที่กำลังสนใจ PRS ทรงชายเว้าเดี่ยว ว่า อยากให้เพื่อนๆ ทำความเข้าใจก่อนว่า PRS ทรงนี้แม้จะดูคล้าย Les Paul แต่ไม่มีตัวไหนเลยที่เสียงเหมือน Les Paul ถ้าเพื่อนๆซื้อมาด้วยหวังว่ามันจะดุๆ เบสแน่นๆ กัดๆ (bite) อย่าง Les Paul เป๊ะๆ สิ่งที่เพื่อนๆจะได้รับ คือความผิดหวังครับ

จากประสบการณ์ ผมคิดว่า Singlecut ปี 2000-2006 นี่แหละ เสียงดุสุดในบรรดา PRS ทรง SC ทั้งหมด

และข้อสำคัญอีกอย่าง ผมอยากให้เพื่อนๆ ทำการบ้านให้ดีก่อนซื้อ เพราะกีตาร์ PRS SC แต่ละรุ่นย่อย แต่ละปี อาจมีการเปลี่ยนสเปคปิคอัพ สเกล electronics  ซึ่งเสียงก็อาจต่างกันอย่างมาก และกีตาร์ทรงนี้ของ PRS มันมากับปิคอัพหลายรุ่นเหลือเกิน เช่น #7, #6, 57/08, 245, 250, RP, 58/15 ยังไม่รวมพวกสั่งพิเศษอีกที่ไม่รู้ผสมปิคอัพอะไรมา

จะเล่น PRS ต้องระวังเรื่องปิคอัพให้ดีครับ ยี่ห้อนี้เขาเปลี่ยนไปเรื่อย เราต้องเข้าใจสเปคแต่ละรุ่น แต่ละปี แต่ละปิคอัพเสียก่อน ไม่เหมือน Gibson ที่คาแรคเตอร์ชัดแทบจะทุกรุ่นทุกปีทั้งค่าย ฟังปีไหนก็รู้สึกได้ว่า เออ เสียง Gibson ว่ะ เรื่องนี้ผมเองแม้ไม่ใช่แฟน Gibson ก็ต้องยอมรับโดยดีว่า ถ้าพูดถึงเอกลักษณ์ของเสียงแล้ว Gibson รักษาความเสมอต้นเสมอปลายได้ดีกว่า PRS ครับ

อ่านมาถึงตรงนี้ ขาแรง ขาร็อกคนไหนที่ยังอยากได้ PRS SC เสียงแตกหนักแน่นโดยกำเนิด (ไม่ใช่แรงเพราะเอฟเฟคท์หรือแอมป์ช่วย) แต่เลือกไม่ถูกว่าจะเล่นรุ่นไหนดีเพราะฟังผมพูดจนเสียขวัญ งั้นผมก็พอจะบอกได้ว่าก็ยังมี SC ที่ทำออกมาเอาใจขาแรงอยู่บ้างแม้จะไม่มากนัก หนึ่งในนั้นคือ Singlecut original ที่ผมนำมาเล่าในวันนี้นี่แหละ ซึ่งมันก็ดีพอจนทำให้ Gibson อยู่เฉยไม่ได้ ต้องฟ้องร้องว่า PRS Singlecut เลียนแบบ Les Paul ซึ่งเรื่องราวคดีความเป็นมาอย่างไรนั้นผมจะเล่าในตอนต่อๆไป พร้อมๆกับลิสต์กีตาร์ตระกูล Singlecut/SC ทั้งหมดเท่าที่ผมมีข้อมูลครับ

ขอบคุณเพื่อนๆที่ติดตามอ่านนะคร้าบ


กดอ่านตอนต่อไป Gibson ฟ้องร้อง PRS ได้ที่นี่ครับ

กลุ่มเฟสบุค PRS แอดเข้ามากันได้ คลิกที่นี่ครับ

กด Like page ของผมได้ที่นี่จ้า