Gibson ยื่นขอล้มละลายแล้ว – CEO คนใหม่ ชื่อ Joe Bonamassa???

 

ตลอดหลายเดือนแห่งการดิ้นรนหนีล้มละลายของ Gibson สารพัดความพยายามที่ได้ทำลงไป ทั้งขายอาคาร ขายที่ดิน ขายแบรนด์ลูกบางแบรนด์ โละพนักงาน Custom Shop จนถึงวิ่งหาสถาบันการเงินเพื่อขอกู้ฉุกเฉิน ฯลฯ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่พบทางออก ในขณะที่กำหนดชำระหนี้หุ้นกู้หมื่นกว่าล้านในวันที่ 23 กรกฎาคม ก็ใกล้เข้ามาทุกทีๆ

ล่าสุด เว็บไซต์ Bloomberg และอีกหลายสื่อดังรายงานข่าวใหญ่ Gibson ตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายที่เมือง Delaware ของอเมริกาขอสถานะเป็นบริษัทล้มละลายและขอฟื้นฟูกิจการตามบทบัญญัติที่ 11 (Chapter 11) ของกฎหมายล้มละลายของอเมริกา ที่มีสาระสำคัญในการให้สิทธิ์ลูกหนี้ได้สามารถบริหารบริษัทต่อไปโดยต้องมีแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ อ่านรายละเอียดคร่าวๆ ของ Chapter 11 ได้ที่นี่ครับ

 

อยากปลดหนี้ก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน

การยื่นขอล้มละลายดังกล่าวของ Gibson เกิดจากการที่ Gibson ประสบความสำเร็จในการเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่ทั้งหลายเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินกับบริษัทต่อไป แลกกับการถ่ายโอนความเป็นความเป็นเจ้าของกิจการ หรือพูดง่ายๆ คือ ยอมให้เจ้าหนี้เป็นเจ้าของบริษัทเพื่อแลกกับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยที่อำนาจความเป็นเจ้าของของเจ้าหนี้จะแทนที่ผู้ถือหุ้นที่มีอยู่เดิม ซึ่งหนึ่งในผู้ถือหุ้นที่ว่านั้น ก็คือท่านซีอีโอ Henry Juszkiewicz ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด (จะเรียกว่าอดีตเจ้าของบริษัทก็ได้) ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า 36% นั่นเอง

เจ้าหนี้ที่ว่าก็คือสถาบันการเงินต่างๆ ที่เคยซื้อหุ้นกู้จาก Gibson เมื่อราวๆปี 2014 ซึ่งก็ได้แก่ KKR-affiliated funds, ธนาคารเพื่อการลงทุน PJT Partners Inc. และ Paul, Weiss, Rifkind, Wharton & Garrison LLP โดยเจ้าหนี้เหล่านี้จะอนุมัติเงินกู้เพิ่มอีก 135 ล้านเหรียญ (ประมาณ 4,300 ล้านบาท) เพื่อให้ Gibson ใช้เป็นทุนดำเนินธุรกิจต่อไป นอกจากอัดฉีดเงินกู้เพิ่มสภาพคล่องแล้ว เจ้าหนี้ (หรือเจ้าของใหม่) จะสั่งลดการลงทุนในกลุ่มธุรกิจเครื่องเสียง โดยเฉพาะแบรนด์ Phillips ที่ Gibson ซื้อกิจการมาเมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นการลงทุนที่ล้มเหลวจนต้องมีวันนี้ เป็นการลดภาระที่ไม่สร้างผลกำไรต่อบริษัท

หากใครติดตามอ่านเรื่องราว Gibson ก่อนล้มละลายก็คงจำได้ว่า บรรดาเจ้าหนี้ส่งสัญญาณว่าไม่ต้องการให้คุณเฮนรี่บริหาร Gibson ต่อไปและจะไม่ให้เงินช่วยเหลือใดๆ หากคนคนนี้ยังมีอำนาจเป็นเจ้าของบริษัทอยู่ ซึ่งในตอนแรกคุณเฮนรี่ก็มีท่าทีต่อต้าน แต่เมื่อไม่สามารถหาตัวช่วยอื่นเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินก้อนโตนี้ได้ สุดท้ายก็จบลงด้วยการยกบริษัทให้เจ้าหนี้ไป

 

อนาคตของซีอีโอเฮนรี่

เว็บไซต์ nashvillescene.com กล่าวว่า ข้อตกลงระหว่าง Gibson และเจ้าหนี้ระบุว่า หลังจากศาลมีคำสั่งให้บริษัทมีสถานะล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้จะยังคงให้คุณเฮนรี่อยู่กับบริษัท Gibson ต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้การถ่ายโอนความเป็นเจ้าของกิจการเป็นไปอย่างราบรื่น (ตามข่าวใช้คำว่า to facilitate a smooth transition) โดยเจ้าหนี้จะให้คุณเฮนรี่และคู่หู David Berryman ประธานบริษัทในขณะนี้ ได้ทำงานต่อไปอีก 1 ปีในฐานะ “ที่ปรึกษา” ของเจ้าหนี้ โดยพวกเขาจะได้รับเงินชดเชยประมาณ 7 ล้านเหรียญ แต่ ณ ตอนนี้ทาง Gibson ยังไม่เปิดเผยว่า การอยู่ต่อของคุณเฮนรี่นั้น เจ้าหนี้จะให้ควบตำแหน่ง CEO ต่อไปหรือไม่

 

Joe Bonamassa ว่าที่ซีอีโอคนใหม่???

 

มีข่าวลือว่า Joe Bonamassa มือกีตาร์บลูส์ร็อกชื่อดังของยุคนี้ จะซื้อกิจการ Gibson แต่ข่าวนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการนะครับ ส่วนตัวผมคิดว่าถ้า Joe แกเป็นเจ้าของจริงๆ เราคงเห็นกีตาร์ Gibson ทุกไลน์มีความเป็นวินเทจมากขึ้น อะไรๆแนวนวัตกรรมคงหายไปเยอะ ด้วยความเป้นนักอนุรักษ์นิยมที่มีอย่างเต็มเปี่ยมของน้าโจ แต่ คำถามของผมคือ โจจะไปเอาเงินขนาดนั้นมาจากไหน? จริงอยู่ว่าแกก็เป็นศิลปินที่คงร่ำรวยพอสมควร แต่ผมไม่คิดว่าแกจะมีถึงขนาดซื้อแบรนด์ Gibson ได้โดยลำพัง ความเป็นไปได้ที่จะมีโจอยู่ใน Gibson ในมุมมองของผม คือ การที่เจ้าหนี้ Gibson ในตอนนี้ จ้างแกมาเป็นที่ปรึกษาด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือให้มีตำแหน่งแห่งหนสำคัญบางอย่างในบริษัท อะไรทำนองนั้นมากกว่า เหตุผลหนึ่งที่ผมมองอย่างนั้น เพราะจากที่ติดตามงานของแกมา ได้เห็นมุมมองต่างๆของแก ผมคิดว่า แกเหมาะจะเป็นศิลปิน หรือให้คำปรึกษาในสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญ มากกว่าจะเป็นผู้ประกอบการครับ

https://www.weekendnotes.com/joe-bonamassa-national-tour/

 

อีกหนึ่งสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้น คือ การกลับมาของ Edwin Wilson บิดาแห่งแผนก Gibson Reissue และผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญของกีตาร์ซีรีส์ Collector’s Choice ให้เหล่าสาวกได้หลอนกัน ผมเชื่อเหลือเกินว่าหากชายผู้นี้กลับมาอยู่กับ Gibson จะสามารถเรียกศรัทธาจากแฟนๆ Custom Shop ได้อย่างมากมายเลยทีเดียว

คลิกอ่านเรื่องราวที่เป็นเหมือนตำนานชายผู้เป็นเสมือนของฮีโร่ของสาวก Gibson ได้ที่นี่ครับ

https://www.lespaulforum.com/forum/showthread.php?179475-Edwin-Wilson-Gibson-Custom-visits-my-home-Collectors-Choice!

ส่งท้าย

ลุ้นกันมาพักใหญ่ สุดท้ายคุณเฮนรี่ก็ลงเอยแบบนี้ ผมว่าแบบนี้ก็เหมือนกับเจ้าหนี้ของ Gibson ได้จ่ายเงินซื้อบริษัทนี้ไปเรียบร้อย จากเดิมที่ตั้งใจแค่จะลงทุนเอาส่วนแบ่งกำไรจากไอเดียขายหูฟังเครื่องเสียง hi end คุณเฮนรี่ ไปๆมาๆ ได้เป็นเจ้าของบริษัทไปซะงั้น

แล้วเจ้าของใหม่จะให้ตำแหน่งบริหารสำคัญอย่าง CEO ต่อไปหรือไม่? จากในข่าว ณ ตอนนี้ก็คือยังไม่มีคำตอบ แต่ดูจากรูปการณื ส่วนตัวผมคิดว่าคงยากแล้วครับ เพราะเจ้าหนี้เขายี้แกมาตั้งนานแล้ว อย่างดีคงให้ทำงานให้ไปอีกสักระยะ เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เมื่อการถ่ายโอนเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ผมคิดว่าเจ้าหนี้อาจไม่ต้องการ CEO ชื่อ Henry Juszkiewicz อีกต่อไป

โฉมหน้าของแบรนด์กีตาร์ Gibson จะเป็นอย่างไรต่อไป? ณ ตอนนี้ผมเองก็ไม่ทราบได้นะครับ แต่แอบหวังว่าจากนี้ไปเราอาจได้เห็นสินค้าแบรนด์ Gibson ที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ลูกค้าเข้าถึงได้มากขึ้นโดยเฉพาะลูกค้าระดับล่าง-กลาง ผมอาจจะโลกสวยไปหน่อยก็ได้นะครับ ผมแค่คิดว่าถ้าผมเป็นเจ้าหนี้ที่จ่ายเงินลงทุนซื้อกิจการไปแล้ว ผมต้องหาทางพัฒนาสินค้าให้ขายได้มากขึ้น ต้องทำให้ดีกว่าเจ้าของเดิม ซึ่งเจ้าของเดิมทำอะไรไว้อย่างไหนไม่โอเคก็คงต้องเปลี่ยนต้องปรับปรุง กีตาร์ Gibson ยุคหลังเฮนรี่อาจออกแนววินเทจตั้งแต่รุ่นราคาไม่กี่หมื่น หรืออาจเลิกใช้ลูกบิดอัตโนมัติไปเลยก็ได้ ใครจะรู้

ส่งท้ายด้วยคลิปนี้ อาจไม่เกี่ยวอะไรกับ Gibson แต่ตอนนี้ผมกำลังนึกถึงเพลงนี้ในหัวครับ Wind of Change

ไม่มีอะไร ก็แค่รู้สึกว่าชื่อเพลงนี้มันกำลังเข้ากับบรรยากาศน่ะครับ


กลุ่มเฟสบุค PRS แอดเข้ามากันได้ คลิกที่นี่ครับ

กด Like page ของผมได้ที่นี่จ้า