ร้านกีตาร์เลิกขาย Gibson, บิดาแห่ง Reissue / Collector’s Choice ถูกไล่ออก?, ยุคทองของแบรนด์นี้จบลงแล้ว???

ตอนนี้ร้านขายกีตาร์เจ้าเก่าบางร้านในอเมริกาไม่ขายกีตาร์กิบสันแล้วนะครับ นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นเรื่องบุคคลที่เป็น “บิดาแห่ง Gibson Custom Shop” ต้องออกจากบริษัทไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ เรื่องมันเป็นมายังไง อ่านต่อไปครับ

นโยบายที่ร้านกีตาร์ ขอบาย

เรื่องนี้เป็นที่โจษจันกันตามบอร์ดกีตาร์ดังๆของต่างประเทศหลายแห่งตั้งแต่ช่วงปลายปี 2016 เนื่องจากสมาชิกบอร์ดเจอปัญหาว่า ร้านกีตาร์เจ้าประจำของตัวเองจู่ๆก็ “ไม่ขายกิบสันแล้ว” อาจยังพอมีสต๊อกเก่าเหลือบ้าง มีแต่ของมือสองบ้าง บางร้านก็เซลล้างสต๊อก

จากที่ผมค้นข้อมูลย้อนไปตั้งแต่สองสามปีที่ผ่านมา ร้านขายกีตาร์เจ้าดังๆ หลายร้านในอเมริกาและอังกฤษต่างทยอย “เลิกขาย” กีตาร์กิบสัน เนื่องจากทางบริษัทมีนโยบายใหม่ที่บังคับให้ดีลเลอร์ต้องเพิ่มจำนวนกีตาร์ต่อออเดอร์ให้มากกว่าเดิม ซึ่งแม้ไม่รู้ว่าแต่ละร้านโดนกำหนดโควต้าเพิ่มเท่าไหร่ แต่ก็หนักหนาถึงขนาดดีลเลอร์หลายเจ้า โดยเฉพาะเจ้าเล็กๆ หรือร้านที่เป็นเจ้าของเดียว สายป่านสั้น ต่างสู้ต้นทุนไม่ไหว คงเหลือแต่เจ้าใหญ่ๆ ที่มีสาขามากมายทั่วประเทศ หรือไม่ก็ร้านออนไลน์ดังๆของอเมริกา ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่เจ้าเท่านั้นที่ยังรับได้ ดีลเลอร์ใหญ่ๆที่ว่า เพื่อนๆคงพอเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างครับ เช่น

  • Guitar Center
  • Musician’s Friend
  • Sam Ash
  • Sweetwater
  • Wildwood Guitars
  • Music Villa

ส่วนดีลเลอร์ที่บ๊ายบายกิบสันแล้ว (หรือถ้ายังมีก็เป็นของค้างสต๊อก หรือของมือสอง) มีดังนี้

  • Dave’s Guitars
  • Gryphon Stringed Instruments
  • Guitar Showcase
  • Guitar Village (ร้านของอังกฤษ)
  • Gruhn Guitars
  • Rainbow Guitars

และคงมีร้านอื่นอีก แต่อาจเป็นร้านตามท้องถิ่น ไม่ใช่ร้านออนไลน์เจ้าดังที่เราคุ้นเคย

จากบทความของเว็บ musicradar.com เจ้าของร้านกีตาร์เก่าแก่ชื่อดัง George Gruhn ที่ให้สัมภาษณ์ว่าเดี๋ยวนี้การจะค้าขายกับกิบสันนั้นถือว่ายาก และก็ไม่คุ้มค่าการลงทุนด้วย

 Gibson ทำอย่างนั้นทำไม?

แน่นอนว่าทั้งโลกออนไลน์ต่างก็มีคำถามนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องแบบนี้กิบสันไม่บอกตรงๆหรอกว่าที่จริงแล้วต้องการอะไร แต่ก็มีข้อสันนิษฐานท่ี่น่าสนใจอยู่หลายประเด็นนะครับ เช่น

  • กิบสันต้องการผลักดันตลาดออนไลน์ ซึ่งจะว่าไปก็มีอยู่ไม่กี่ดีลเลอร์ที่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง และทำยอดขายออนไลน์ได้สูง แน่นอนว่าดีลเลอร์เจ้าเล็กๆ ยังไงก็ทำยอดเทียบเจ้าใหญ่ไม่ได้
  • กิบสันจงใจตั้งเงื่อนไขยากๆ เพื่อบีบให้ร้านเล็กสั่งไม่ไหว และกิบสันจะได้ยกโควต้าให้ร้านใหญ่ๆแทน (เนืองจากกำลังการผลิตมีเท่าเดิม แต่หากสามารถปรับช่องทางการจัดจำหน่ายให้ดีลเลอร์ที่ขายเก่งกว่าได้มากขึ้น ย่อมทำให้ขายออกได้เร็วกว่า และสุดท้ายกิบสันก็น่าจะได้เงินเร็วกว่า
  • กิบสันกำลังเร่งระดมเงินจำนวนเยอะๆ ตั้งแต่ปีก่อนเพราะเหตุผลบางอย่าง
  • ฯลฯ

แน่นอนว่าถึงวันนี้ทุกคนคงมองสาเหตุไปที่เรื่องเดียว คือเรื่องปัญหาทางการเงินของกิบสันที่กำลังสุกงอมได้ที่ในตอนนี้

นโยบาย “ห้ามแสดงราคา”

นอกจากนโยบายบังคับเพิ่มโควต้าออเดอร์แล้ว ในช่วงเวลานั้นผมจำได้ว่า บางครั้งผมเข้าเว็บร้านขายกีตาร์ต่างประเทศเพื่อเช็กสเปคกิบสันแล้วสังเกตว่ามีอะไรแปลกๆอยู่อย่างหนึ่ง คือกีตาร์ Gibsonไม่แสดงราคา โดยเราต้องคลิกปุ่ม “ขอทราบราคา” ซะก่อน จึงจะทราบว่ากีตาร์ตัวนั้นราคาเท่าไหร่ (ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกจะเป็นระบบอัตโนมัติตอบมาทาง email) ซึ่งก็เป็นแบบนี้หลายเว็บ ตอนนั้นผมก็ไม่เข้าใจนะว่าทำไม เพิ่งมาทราบตอนนี้ว่าเป็นนโยบายอีกอย่างหนึ่งของบริษัท ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นในบอร์ดกีตาร์ต่างประเทศไว้ว่า เนื่องจากร้านเล็กๆ มักขายในราคาที่ถูกกว่าราคาตั้งจากโรงงานไว้เยอะพอสมควร ต่างจากพวกเว็บใหญ่ๆที่ขายราคาเดียวกับราคาตั้งโรงงาน (หรือถูกกว่ากันไม่มาก) อาจเพราะเว็บใหญ่มีต้อนทุนค่าบริหารจัดการที่สูงกว่าเลยต้องฟันกำไรมากกว่า ทำให้เว็บร้านเล็กขายง่ายกว่า จน Gibson ต้องออกนโยบายอะไรบางอย่างที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่ค่อยสะดวกเวลาช็อปในเว็บร้านเล็ก ตอนนั้นผมก็จำไม่ได้นะครับว่าเว็บไหนบ้าง แต่จำได้ว่ารู้สึกรำคาญจนไม่อยากรู้ราคาไปเลย ก็เลยอ่านแต่สเปค

ตอนนี้ Gibson ยกเลิกนโยบายห้ามแสดงราคาแล้วนะครับ

 

ในอนาคต อาจ “ไม่ขายผ่านดีลเลอร์”

จากบทความของผมตอนที่แล้วที่ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ของคุณ Henry Juszkiewicz ซีอีโอกิบสัน ในเว็บ musicradar.com ที่บอกว่าพวกสาวกรุ่นเก๋าแอนตี้กีตาร์รุ่นใหม่ๆที่ใส่นวัตกรรมจนทำให้บริษัทขายกีตาร์ลำบากนั้น เขายังแสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเสียงวิจารณ์เรื่องนโยบายโควต้ามหาโหดที่สร้างความร้าวฉานกับดีลเลอร์ ว่า

“ผมมักถูกกล่าวหาว่าเกลียดดีลเลอร์ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เราพยายามทำให้ดีลเลอร์ได้ประโยชน์จากการขายสินค้าของกิบสันอยู่นะ

เรายังยึดรูปแบบการขายสินค้าหน้าร้านเหมือนเดิม และก็ยังไม่มีเว็บไซต์สำหรับขายตรงถึงมือลูกค้า แต่ก็มีความเป็นไปได้ในอนาคตที่เราจะมีระบบขายตรงถึงมือลูกค้า ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการค้าขายแบบ e-commerce”

คลิกอ่านต้นฉบับท่ี่นี่ครับ

ครับ ไม่ได้บอกว่าไม่เอาดีลเลอร์นะครับ แต่ก็แย้มๆมาแล้วว่าวันนึงอาจจะขายเองนะ เรื่องแบบนี้ไม่ต้องรอคนจีนมายึดบริษัทก่อนหรอก เจ้าของบริษัทคนปัจจุบันก็เล็งๆไว้แล้วเหมือนกัน

 

ผู้จัดการแผนก Historic ของ Custom Shop ผู้รับผิดชอบซีรี่ส์ Collector’s Choice และ Reissue ถูกไล่ออก?

เมื่อช่วงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ในเว็บบอร์ดคนรัก Gibson ของต่างประเทศมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่บุคลากรคนสำคัญคนหนึ่งของกิบสันได้ออกจากบริษัทไป เขาผู้นั้นคือ Edwin Wilson หัวหน้าแผนก Historic ที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งแผนก Custom Shop เนื่องจากเป็นผู้รู้ลึกรู้จริงในเรื่องกีตาร์ Gibson ปีเก่า งานที่ Edwin ถูกมอบหมายให้ดูแลคือสายการผลิตที่เป็นสไตล์ย้อนยุคหรือ Historic reissue ต่างๆ รวมทั้งรุ่นสะสมราคาสุดโหดอย่าง Collector’s Choice ที่บ้านเราเคยฮือฮากันเมื่อสองสามปีก่อนจาก CC #1 Greeny ’59 Les Paul หรือรุ่นเลียนแบบกีตาร์ของ Gary Moore นั่นเอง

https://www.lespaulforum.com/forum/showthread.php?152398-Match-your-Historic-with-Beauty-of-the-Burst

คนคนนี้สำหรับสาวกกิบสันในต่างประเทศ ต่างนับหน้าถือตา ถึงกับมีการขนานนามเขาว่า Father of Gibson Custom Shop หรือบิดาแห่งกิบสันคัสตอมช็อป ลองไปดูคลิปนี้หน่อย จะได้รู้จักหน้าค่าตาไว้ อันนี้เว็บดังของญี่ปุ่นเขาถึงกับต้องขอสัมภาษณ์กันเลยทีเดียวเกี่ยวกับการสร้าง ’59 Les Paul

Edwin ขณะกำลังสแกน Les Paul 1958 ของจริงเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับซีรีส์ Collector’s Choice ที่บ้านแฟนคลับคนหนึ่ง เจ้าของบ้านดีใจมากที่แขกคนนี้มาเยี่ยม

Edwin กับ Les Paul Standard 1958 ของแท้

ลองคลิกลิงค์ข้างล่างนี้ดู แล้วจะเข้าใจว่าแฟนคลับ Gibson custom Shop รักคนคนนี้แค่ไหน

https://www.lespaulforum.com/forum/showthread.php?179475-Edwin-Wilson-Gibson-Custom-visits-my-home-Collectors-Choice!

ลูกค้าคนนี้ประทับใจผลงานถึงขนาดทำสายสะพายให้ Edwin เป็นการขอบคุณ

https://www.lespaulforum.com/forum/showthread.php?204129-The-end-of-an-era-here-s-to-Edwin-Wilson!!!/page3

เรื่องนี้สมาชิกบอร์ดกีตาร์ต่างประเทศ แม้แต่ในบอร์ดของ Gibson เองยังวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู แต่ไม่มีใครทราบว่าเขาลาออกเอง หรือถูกไล่ออก สำหรับแฟนคลับ Gibson Custom Shop ตัวจริงแล้ว การที่ Edwin ออกจากบริษัทถือเป็นเรื่องใหญ่ (ผมไม่รู้ว่าบ้านเรารู้เรื่องนี้ หรือตื่นตัวแค่ไหนนะครับ) เอาง่ายๆนะครับ ขนาด Joe Bonamassa ยังถึงกับโพสต์ข้อความแสดงความเศร้าที่ Edwin ออกจากกิบสัน

“Edwin คือตัวจริง เขาเป็นกูรู เป็นผู้คลั่งไคล้กีตาร์ และสำคัญที่สุดเขาเจ๋งมาก ก่อนหน้านี้ Pat Foley ที่ดูแลเรื่องกีตาร์ signature ของผมก็ออกไปคนหนึ่งแล้ว นี่ Edwin ก็ยังออกไปอีกคน ผมเชื่อว่าช่วงนี้คนใน Gibson มีการตัดสินใจอะไรแปลกๆหลายเรื่อง อย่างการที่บุคลากรระดับหัวแถวของบริษัทต้องออกไปถึง 2 คนภายในเวลา 3 ปี เป็นต้น ผมรู้มาว่า Pat ไม่ได้เป็นฝ่ายเลือกที่จะไป และผมก็คิดว่า Edwin เองก็คงไม่ต่างกันหรอก ผมคงคิดถึง Edwin กับผลงานของเขาที่ Custom Shop นะ ก็ได้แต่หวังว่าคนอื่นๆ ที่ยังอยู่ที่แผนกนี้จะยังคงเดินหน้าผลิตกีตาร์เจ๋งๆ ให้พวกเราต่อไป ผมว่ากีตาร์จาก Custom Shop เป็นกีตาร์ที่ดีที่สุดที่บริษัทเคยผลิตมา และแผนกนี้ก็ยังรับฟังเสียงจากลูกค้าจุกจิกอย่างพวกเราด้วย

ว่าแต่ ใครก็ได้ช่วยบอกผมทีเหอะ ว่าไอ้ลูกบิดอัตโนมัติของ Firebird มันใช้ยังไง?”

ครับ ตอนท้ายน้าโจแกเหน็บเรื่องลูกบิด G Force ของกิบสันน่ะ คลิกอ่านต้นฉบับที่นี่ครับ

http://www.therockpit.net/2016/Joe-Bonamassa-Live-Review-2016.php

ผมว่า ที่น้าโจออกความเห็นว่า Pat กับ Edwin ไม่ได้เลือกที่จะไป นั่นแปลว่า เขากำลังสื่อความหมายว่า สองคนนี้ ถูกไล่ออก ใช่หรือเปล่า?

และก็เช่นเคย Gibson ไม่เคยออกมาชี้แจงใดๆ (ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรเพราะเป็นเรื่องภายใน) แต่แน่ละ เหล่าแฟนๆตัวยงของ Custom Shop ก็ตั้งสมมติฐานกันไปต่างๆ นานา เช่น

  • Edwin อาจถูกไล่ออกเพราะทำผลงานไม่เข้าตาผู้บริหารหลายโปรเจคท์ หนึ่งในนั้นคือซีรี่ส์ Collector’s Choice อีกทั้งด้วยสภาพทางการเงินของบริษัทที่ในตอนนั้นก็ส่อเค้าไม่ดีอยู่แล้ว แผนก Custom Shop จึงถูกคาดหวังจากระดับบริหารว่ายิ่งต้องทำกำไรเพื่อช่วยกอบกู้สถานการณ์ของบริษัท
  • ค่าจ้างของเขาสูงมากและเป็นภาระทางการเงินของบริษัท ในขณะที่กีตาร์ในไลน์ Historic นั้น อยู่ตัวแล้ว ไม่จำเป็นต้องจ้างระดับหัวกะทิบริษัทก็ผลิตกีตาร์ลักษณะนี้เองได้ ถึงไม่มีเขา บริษัทก็ขายกีตาร์กลุ่มนี้ได้อยู่ดี
  • Edwin แค่อยากออกจากงานไปทำที่อื่น
  • ฯลฯ

บางคนบอกว่า Edwin นั้นยิ่งใหญ่กว่าบริษัท Gibson เสียอีก การเสียเขาไปก็ไม่ต่างอะไรกับการสิ้นสุดของยุครุ่งเรืองยุคที่สองของแบรนด์นี้ (ยุคแรกคือช่วง 50s ที่ปู่ Ted McCarty เป็นประธานบริษัท เป็นยุคของ 1959 Les Paul) บางคนถึงกับบอกว่าอยากให้เป็น CEO Henry Juszkiewicz มากกว่าที่ออกไปจากบริษัท เพราะคุณเฮนรี่ยิ่งอยู่ไปอะไรๆก็ยิ่งแย่ลงทุกทีๆ

 

ส่งท้าย

ก็ถือว่าเก็บเอามาฝากเผื่อใครไม่ทราบนะครับ อาจไม่ใช่ข้อมูลใหม่แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะว่าไปก็น่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบันซึ่งคนนอกอย่างพวกเราไม่รู้แน่ชัดว่าความวุ่นวายภายในบริษัทมันเกิดจากอะไรขึ้นกันแน่ ผมเองสนใจในประเด็น Edwin เป็นพิเศษเพราะการที่คนที่มีคุณูปการต่อบริษัทขนาดนี้ต้องออกไปโดยที่น่าจะไม่ได้เต็มใจมันต้องเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร ขนาดศิลปินเบอร์ต้นๆ ยังบ่นเสียดาย

และอีกสิ่งที่เห็นคือ สำหรับแฟนๆ Gibson แล้ว การเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างเป็นประเด็นอ่อนไหวเสมอ แม้แต่การที่มีบุคลากรออกจากบริษัทก็อาจกระทบกระเทือนความรู้สึก (แฟนๆบางคนประกาศแบนสินค้า Gibson ไปเลยก็มีนะครับ หลังทราบข่าว Edwin)

ก็เอามาฝากไว้เพื่อนๆ เผื่อสนใจครับ