เคราะห์ซ้ำกรรมซัด – Gibson ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,500 ล้าน

ในขณะที่ Gibson กำลังดิ้นรนหาทางเคลียร์หนี้ก้อนมหึมา 16,000 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในปลายเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ซึ่ง Gibson ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการขายทรัพย์สินบางส่วน เช่น อาคารโรงงานทำกีตาร์ ES ที่เมมฟิส, ตึกเก่าโรงงานเปียโน Baldwin รวมไปถึงขายแบรนด์ลูกบางแบรนด์ (ประเดิมด้วย CakeWalk) เพื่อหาเงินสดมารักษาสภาพคล่องต่อลมหายใจในการดำเนินกิจการ ซึ่งก็ยังมีอีกหลายอย่างที่กำลังเร่งดำเนินการ ก่อนจะถึงเวลาใช้หนี้ซึ่งเหลือไม่ถึงสองเดือน

คลิกที่นี่เพื่ออ่านเกี่ยวกับประเด็น Gibson ใกล้ล้มละลายครับ

แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่ากิบสันอาจจะมีหนี้เพิ่มอีกพันกว่าล้านบาท จากการถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายโดย supplier รายหนึ่งที่เพื่อนๆ อ่านแล้วคงร้องอ๋อ

 

หนี้ก้อนเดิม Gibson ก็กระอักอยู่แล้ว ยังมีใครมาฟ้องอีก?

โจทย์ผู้ยื่นฟ้องร้อง Gibson คือ บริษัท Tronical GmbH ของเยอรมนี บริษัทนี้ก็คือผู้คิดค้นระบบลูกบิดอัติโนมัติในนาม Min-ETune ซึ่ง Gibson ก็สั่งซื้อมาติดตั้งในกีตาร์บางรุ่นอยู่หลายปี ก่อนจะสั่งให้ผลิตให้โดยปั๊มแบรนด์ใหม่ ชื่อ G-Force เมื่อปี 2015

Wall Street Journal รายงานว่า Tronical ยื่นฟ้องกิบสันต่อศาลในเมือง Hamburg ที่เยอรมนี 2 ข้อหา ได้แก่ “ค้างชำระค่าลิขสิทธิ์การใช้ลูกบิด G-Force” กับข้อหา “ค้างชำระค่าวิจัยและพัฒนาลูกบิดดังกล่าว” โดยมีมูลค่าความเสียหาย 23 ล้านเหรียญและ 27 ล้านเหรียญตามลำดับ รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 50 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 1,574 ล้านบาท

Chris Adams ผู้ก่อตั้งบริษัท Tronical ที่กล่าวว่า Gibson ค้างชำระเงินตั้งแต่ปี 2015 แล้ว จากตอนนั้นที่มูลค่าความเสียหายยังไม่สูงนัก เมื่อเวลาผ่านไปความเสียหายก็ทวีคูณขึ้น (ไม่แน่ใจว่าเค้าคำนวณค่าลิขสิทธิ์อย่างไรนะครับ อาจคิดตามจำนวนกีตาร์ที่นำลูกบิดนี้ไปติดตั้ง หรืออาจคิดเหมาเป็นรายปี)

บางคนอาจสงสัยว่าก็สั่งซื้อแล้วยังมีค่าลิขสิทธิ์อะไรอีก คำตอบก็คือ Tronical ยังเป็นเจ้าของนวัตกรรมนี้ ยังถือครองสิทธิบัตรลูกบิดอัตโนมัตินี้และมีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ในฐานะเจ้าของผลงานได้เต็มที่นะครับ เพียงแต่ Tronical ต้องปั๊มยี่ห้อ G-Force ให้ตามที่กิบสันสั่งเฉยๆ แต่ไม่ได้ขายสิทธิบัตรให้แต่อย่างใด ซึ่งราคาค่าลิขสิทธิ์ก็ได้มีการตกลงกันไว้แล้วเป็นลายลักษณ์อักษร

เรื่องราวก่อนจะมาถึงจุดนี้

ที่จริงสองบริษัทนี้มีประเด็นกล่าวหากันไปมานานแล้ว เริ่มจาก

  • ปี 2014 Tronical ร้องเรียนว่า Gibson จ่ายค่าลูกบิดช้าหลายครั้ง
  • ธันวาคมปี 2017 Gibson ฟ้องร้องต่อศาลในรัฐ Tennessee ของอเมริกา ว่า Tronical  จัดส่งสินค้า (ลูกบิด) ไม่ครบตามออร์เดอร์แถมไม่คืนเงินค่าส่วนต่าง ซึ่ง Gibson ได้จ่ายเงินค่าลูกบิดไปแล้ว 2.2 ล้านเหรียญ (ค่าลูกบิดไม่เกี่ยวกับค่าลิขสิทธิ์นะครับ)
  • ปลายเดือนธันวาคมปีเดียวกัน Tronical ฟ้องร้อง Gibson ว่า ค้างชำระค่าลิขสิทธิ์และค่าวิจัย และล่าสุดก็ได้ออกแถลงการณ์ เพิ่มตัวเลขมูลค่าความเสียหายไปถึง 50 ล้านเหรียญในเดือนนี้

 

แล้ว Gibson ว่ายังไง?

เว็บไซต์ bizjournals.com เสนอข่าวว่า ทาง Gibson ออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า การฟ้อร้องของ Tronical แท้จริงเป็นเพียงการสร้างกระแส (public relations stunt) เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นที่ Tronical กำลังถูก Gibson ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่จัดส่งลูกบิดให้ตามออร์เดอร์ นอกจากนี้ ทาง Gibson อ้างว่าได้จ่ายเงินค่าวิจัยและพัฒนาที่ Tronical กำลังฟ้องร้องไปแล้วเป็นเงินจำนวน 13.5 ล้านเหรียญ แต่ Tronical ไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ของ Gibson ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาได้

ดูๆ แล้วก็ฟ้องกลับกันไปมา สาดโคลนใส่กันอะครับ

 

ย้อนรอยลูกบิดออโต้

ลูกบิดออโต้นี้กิบสันเริ่มนำมาใช้กับกีตาร์หลายๆรุ่น เริ่มเปิดตัวจากกีตาร์ซีรีส์ลิมิเต็ดไฮเทค Gibson Robot เมื่อปี 2007 จนถึง ในปี 2015 Gibson ประกาศว่าจะติดตั้งลูกบิดเทพนี้ (ตอนนั้นสั่งผลิตเป็นชื่อ G-Force แล้ว) เป็นสเปคมาตรฐานบนกีตาร์ทุกรุ่นพร้อมทั้งขึ้นราคากีตาร์ด้วย แต่ดูจะไม่เป็นที่ยอมรับของลูกค้าส่วนใหญ่ เลยยอมถอยกลับไปนำเสนอในรูปแบบออพชันเสริมสำหรับกีตาร์เกรด High Performance แทนตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา เรื่องนี้เป็นยังไงผมคงไม่ต้องอธิบายมั้ง แฟนๆกิบสันน่าจะจดจำกันได้

และถึงตรงนี้ถ้าใครยังนึกภาพสิ่งที่เรียกว่าลูกบิดอัตโนมัติไม่ออก หน้าตามันเป็นแบบนี้

ดูจากด้านหน้าจะสังเกตยากนิดนึง ถ้าไม่เขียนบอกไว้บน truss rod cover

https://www.zzounds.com/item–GIBLPCS15

 

และใช้งานแบบนี้นะครับ ในคลิปเป็น Les Paul Standard 2015 ผลิตในปีที่ Gibson ประกาศว่าจะยัดเจ้าลูกบิดนี้ลงกีตาร์ทุกรุ่น

 

รูปนี้ Gibson Les Paul Robot 2007 ใครจำได้บ้างครับ ผมเห็นครั้งแรกถึงกับร้อง ว้าวว

https://www.gbase.com/gear/gibson-robot-guitar-limited-edit-2007-blue-si

 

Gibson จะใช้ลูกบิดอัตโนมัติไปทำไม ถ้าใช้ไปก็มีแต่ปัญหา?

ถ้าเพื่อนๆติดตามบทความผมมาตลอด ก็คงนึกคำตอบได้ไม่ยาก ที่ Gibson โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ออกแนวนำนวัตกรรมไฮเทคทั้งหลายมาใช้ ก็เนื่องจากวิสัยทัศน์ของ CEO คุณ Henry Juszkiewicz (เฮนรี่ จัสคูวิซ) ที่ต้องการปฏิรูปกีตาร์ Gibson ให้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มีความน่าสนใจ ตอบโจทย์ลูกค้าสมัยใหม่ ซึ่งแกก็เคยพูดออกสื่ออยู่เสมอ

CEO Henry Juszkiewicz กับ Gibson Firebird X กีตาร์ไฮเทคที่มาพร้อมระบบจูนสายอัตโนมัติของ Tronical

gearnews.com

ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็น Gibson ปีใหม่ๆ มักจะมากับฟีเจอร์ล้ำๆ ตั้งแต่ลูกบิดอัตโนมัติ ลูกบิดล็อกสาย ระบบ electronics สารพัดพิษตั้งแต่ตัดคอยล์ยันบายพาส ฯลฯ ซึ่งในแง่การพัฒนามันก็ดูน่าสนใจ ส่วนตัวผมชอบ Les Pual Standard ยุคหลังที่มากับฟีเจอร์ใหม่ๆ นะ แต่เสียงตอบรับจากลูกค้า Gibson ที่มีต่อเลสพอลยุคหลังนี้เป็นยังไง อันนี้เพื่อนๆคงมีคำตอบในใจกันอยู่แล้ว

 

ก้าวต่อไประหว่าง Gibson และ Tronical

การดำเนินการทางกฎหมายต่างๆก็คงต้องเดินต่อไปนะครับ แต่การฟ้องศาลที่คู่กรณีอยู่คนละประเทศอันนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่ากระบวนการทั้งหลายจะกินเวลานานขนาดไหนเหมือนกัน ผมหวังว่าบางทีทั้งสองบริษัทอาจสามารถใกล่เกลี่ยยอมความกันได้ เพราะถึงอย่างไรก็เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจมานาน

แต่ผมอยากบอกคุณ Chris ซีอีโอของ Tronical ว่า ถ้ารอได้ก็รอไปก่อนเถอะครับ ตอนนี้ 16000 ล้าน ที่จะครบกำหนดจ่ายอีกไม่ถึงสองเดือนข้างหน้า Gibson ยังหน้ามืดวิ่งเจรจาเจ้าหนี้ไม่สำเร็จเลยสักราย ไอ้พันกว่าล้านนี่คงต้องรอไปอีกสักพักนะครับ

เอ้า จะยังไงก็สู้ๆนะครับ Gibson และคุณเฮนรี่

 


กลุ่มเฟสบุค PRS แอดเข้ามากันได้ คลิกที่นี่ครับ

กด Like page ของผมได้ที่นี่จ้า