รีวิวกีตาร์ PRS Swamp Ash Special

มันคืออะไร

หลายคนคงสงสัยว่า PRS หน้าตาแบบนี้มันมีด้วยเหรอ อันที่จริงมันมีมานานแล้วตั้งแต่ปี 1996 มันป็น PRS ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ได้โทนที่ค่อนไปทาง Fender มากกว่าที่รุ่น Custom 24 ทำได้ กีตาร์รุ่นนี้เป็นไอเดียของ Ralph Perucci เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายของ PRS ในขณะนั้น จะว่าไป SAS ก็เป็นอีกรุ่นที่ PRS ออกแบบมาทำตลาด segment นี้ต่อจากรุ่น CE 24 และ 22 เพราะจะว่าไปแล้ว CE ก็ยังคล้ายๆ Custom ที่เปลี่ยนคอจากมาฮอกกานีต่อกาวมาเป็นเมเปิลต่อน็อตซะมากกว่า ไม่ได้เฉพาะทางอะไรมากมาย

แต่กับ SAS ที่คือเปลี่ยนไม้บอดี้ ไม้คอ ไม้ฟิงเกอร์บอร์ด ยันภาคไฟฟ้าเลย ราคาเปิดตัว SAS ในช่วงเปิดตัวนั้นก็เท่ากันกับ CE 24 เลย แต่เพิ่มขึ้นแซง CE 24 ในเวลาต่อมา SAS ผลิตในสมัยที่โรงงาน PRS ยังไม่ซอยไลน์ผลิตแยกยิบย่อยเป็น S2 หรือ bolt on ผสมอะไหล่เกาหลีใส่กระเป๋าสะพายอย่างทุกวันนี้ ดังนั้นมันจึงเป็นกีตาร์เกรด Core แท้ๆ สเปคจัดเต็ม นะครับ

PRS SAS ผลิตระหว่างปี 1996 – 2009 ปัจจุบันกีตาร์ Special model มาในเวอร์ชัน semi hollowbody และไม่ใช้ไม้กับภาคไฟฟ้าแบบ SAS รุ่นนี้แล้ว

สเปค

  • Model: PRS Swamp Ash Special (2008 model)
  • Body: Swamp ash, 1 – 2 pieces
  • Neck: Quarter-sawn maple
    • Neck option: Flamed maple
  • Neck profile: Wide Fat
  • Fingerboard: Maple
    • Fingerboard option: Flamed maple
  • Fingerboard inlay: Moons
    • Fingerboard inlay option: Old school birds
  • Scale length: 25
  • Fingerboard radius: 10″
  • Number of frets: 22
  • Electronics:
    • 1 volume, 1 push-pull tone
    • 3 way toggle or 5 way blade pickup selector
    • Neck & bridge pickups: PRS McCarty set
    • Middle pickup: Seymour Duncan Vintage Rails
    • 3 way toggle
  • Tuners: Phase 1 or 2 locking
  • Nut: PRS composite
  • Bridge: PRS tremolo, brass block and saddles
  • Accessory: black tolex hard case
ไม้คอเมเปิลชิ้นเดียวยาวๆ ไม่ต่อกาวบริเวณใต้เฟรทแรกเหมือนรุ่นคอเมเปิลปีใหม่ๆ
ลายไม้วิ่งตรงยาวแบบ quarter sawn โครงสร้างแบบนี้แข็งแรงมาก

PRS รุ่นนี้ดูต่างจาก Custom 24 ที่หลายคนคุ้นเคยชนิดในแทบจะทุกมุมมอง เริ่มตั้งแต่บอร์ดเมเปิลขาวจั๊วะสะดุดตาที่แปะอยู่บนไม้คอเมเปิล และอย่างที่ผมบอกไปตอนต้น นี่คือกีตาร์ PRS เกรด core ฟูลสเปค ดังนั้นไม้คอถึงจะเป็น maple bolt-on ก็เป็นไม้ชิ้นเดียว เลื่อยแบบ grain ไม้ตั้งฉากหรือ quarter-sawn เพื่อความแข็งแรงสูงสุด ไม่ลดสเปคเอาไม้ flat sawn มาต่อกาวกัน เชพคอเป็นเชพ Wide Fat อวบเต็มมือเพื่อซัสเทนและโทนที่ดีที่สุด SAS ตัวนี้อินเลย์เป็นนกอบาโลน ซึ่งเป็นออพชันของ SAS เพราะสเปคมาตรฐานอินเลย์ต้องเป็นพระจันทร์เสี้ยว (Moons inlay) เฟรทมี 22 ช่องเพราะออกแบบมาในธีมวินเทจให้สัมผัสแบบสตรัท เรเดียสยังมีความเป็น PRS 10 นิ้วตามปกติ

ไม้บอดี้ซึ่งเป็นส่วนที่นิยามความเป็น SAS เป็นไม้ swamp ash ตามชื่อรุ่น ไม้ชนิดนี้ให้โทนต่างจากไม้มาฮอกกานีที่ PRS ใช้ประจำ กล่าวคือไม้ SA ให้โทนย่านแหลมที่มากกว่า สว่างกว่า ไบรท์กว่า ย่านเบสน้อย และโดยธรรมชาติจะกดย่านกลางมากกว่า ตัวนี้พิเศษกว่า SAS หลายๆ ตัวที่ผมเคยเห็นมาคือมันมากับบอดี้ไม้ชิ้นเดียว (ถ้าผมดูไม่ผิด) จากปกติที่ SAS จะใช้ไม้ SA 2 ชิ้นต่อ bookmatch ตรงกลาง

ภาคไฟฟ้าและคอนโทรลดูแตกต่างจาก Custom 24 อย่างเห็นได้ชัด เริ่มจาก pickup configuration ที่มาในลักษณะ HSH ตามสไตล์ของ Special model (จริงๆ แล้วรุ่น Special มีมาหลายปีก่อนจะมี SAS คำว่า Special ในความหมายของแบรนด์ PRS คือใช้เรียกกีตาร์ไฟฟ้าหน้าตาแบบ HSH) แต่ที่จริงแล้วปิคอัพที่เห็นทั้งหมดคือ humbucker 3 ตัว ปิคอัพ humbucker 2 ตัวหัวกับท้ายนั้นคือรุ่น McCarty พร้อมภาคตัดคอยล์ ส่วนปิคอัพตัวกลางคือ Seymour Duncan Vintage Rails เป็น humbucker แบบ blade style ในไซส์เท่า single coil ถ้ามองดูใกล้ๆ จะเห็นว่ามันเป็นคอยล์ขนาดเล็กมาก คือกว้างเพียงราวๆ ครึ่งหนึ่งของปิคอัพ single coil จำนวนสองอัน วางประกบข้างกันอยู่ และเกิดเป็นปิคอัพ humbucker ที่ขนาดเท่า single coil ขึ้นมา เหตุผลก็เพื่อให้ปิคอัพรับรู้การแกว่งตัวของสายในพื้นที่เท่าๆ กับที่ปิคอัพแบบ single coil รับรู้ แต่ไม่มีเสียงจี่เนื่องจากโครงสร้างภายในเป็น humbucker ซึ่งเป็น coil cancelling โดยธรรมชาติ

คอนโทรลมี volume กับ push/pull tone อย่างละหนึ่งอัน pickup selector สำหรับ SAS ปีท้ายๆ อย่างตัวนี้เปลี่ยนจากแบบสามทางมาเป็นห้าทาง ซึ่งการเดินวงจรจะต่างกัน กล่าวคือสำหรับ SAS นี้ 5 way selector เราใช้เลือกปิคอัพคล้ายๆ กีตาร์สตรัทเลย แต่ถ้าดึง tone ขึ้นจะเป็นการตัดคอยล์ neck และ bridge humbuckers ซึ่งผมว่าแบบนี้ผมว่าสะดวกกว่าแบบเก่าที่ต้องดึง tone เพื่อคอยเปิดปิดปิคอัพตัวกลาง

ถึงจะไม่มีท็อปเมเปิล แต่ส่วนเว้าโค้งต่างๆ ก็ยังเป็น full violin carve ของแท้และดั้งเดิม ไม่ลดความหนา ไม่ลดสเปค นะครับ

เสียง

Clean channel

ผมเริ่มเทสต์ด้วยแชนแนลคลีนของแอมป์ Fender Super Sonic ไร่เสียงจากแก๊ก neck ในโหมด humbucker เป็นเสียงแรก ได้ยินสุ้มเสียงจากปิคอัพ McCarty neck อุ่นๆ หวานๆ ที่ผมคุ้นเคย แต่ครั้งนี้ต่างออกไปด้วยย่านกลางที่ definition ดีขึ้น เป้นตัวขึ้น ชัดถ้อยชัดคำมากขึ้น ผสมย่านสูงคมๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา แต่ไม่มากจนเสียคาแรคเตอร์เด่นของปิคอัพ McCarty ซึ่งสำหรับผมที่ใช้กีตาร์ PRS McCarty มาเยอะก็รู้สึกว่า เออ มันก็ฟังดูดีไปอีกแบบนะนี่

ต่อมาที่เป็นการผสมแบบตัดคอยล์สารพัดแบบ SAS ตัวนี้ผสมเสียงตัดคอยล์ได้หลายแบบมาก อธิบายไม่หมด เพราะตัวนี้เป็นเวอร์ชันสั่งลาปีท้ายๆ ก่อนเลิกผลิตซึ่งจะให้ pickup selector แบบ 5 ทางแทนที่ดีไซน์เก่า 3 ทาง มันจะผสมเสียงได้เยอะมาก เอาเป็นว่าดูตามคลิปแล้วเลือกเอาเองนะครับว่าชอบแบบไหน ซึ่งโทนโดยรวมก็คม ชัด ใสเป็นประกายประดุจแก้ว และใช่ มันชัดกว่าโทนตัดคอยล์ของ McCarty เพราะไม้และโครงสร้างต่างกัน ผมสังเกตว่าความคม ใส ของ SAS ที่ทดสอบด้วยเสียงคลีน เป็นความใสที่ค่อนย่านกลางข้างแน่นๆ เด้งแต่ไม่ป๊อง ไม่ค่อยโปร่ง ออกโทนเหล็กๆ หน่อย แต่ผมคิดว่าสายฟิวชัน สายฟิงเกอร์ ฟังก์ น่าจะโอเคอยู่

จากที่ผมทดสอบครั้งนี้ ว่ากันตามตรงแล้วเสียงตัดคอยล์ PRS รุ่นนี้แม้จะฟังดูดี ใสสะอาดกริ๊บ แต่ก็ยังจำลองธรรมชาติของกีตาร์แนวสตรัทได้ไม่ดีเลิศเท่ารุ่น DGT กับ 513 และผมรู้สึกว่าเสียงตัดคอยล์ของ SAS จะฟังดูดีมากถ้ามี gain ช่วยเพิ่มมิติและความเหนียว โดยเฉพาะตัดคอยล์ที่ตำแหน่ง neck กับ neck + middle เป็นอะไรที่ผมอยากให้ลองมาก

Lead Channel

ผมเปิดแชแนลเสียงแตกโดยปรับ Gain ทั้งสองไว้ที่บ่ายสาม (ผมใช้ gain เยอะเป็นปกติอยู่แล้วไม่ว่าเล่นกีตาร์อะไร) ใช้ปิคอัพ bridge humbucker เมื่ออัดเกนเข้าไป โทนหลักที่ผมรู้สึกได้ มันคือโทนแตกของกีตาร์ McCarty เหนียวๆ หนาๆ เอาท์พุตไม่แรงแต่เนื้อดี ย่านกลางเปิดๆ หน่อยสไตล์วินเทจ pick attack ออกดีเป็นเอกลักษณ์ของปิคอัพ PRS รุ่นนี้อยู่แล้ว ถึงแม้จะบอกว่าออกโทน McCarty ค่อนข้างชัดเจน แต่ก็มีความเคลียร์มาช่วยฝห้เป็นโทนวินเทจที่ note definition ดี เล่นกับดนตรีร็อคสมัยใหม่ได้สบาย ผมคิดว่าได้ใช้แอมป์ที่โมเดิร์นกว่า Fender รุ่นนี้หรือมีเสียงแตกที่ดุดันทันสมัยกว่านี้ เจ้า SAS จะสามารถโชว์ทีเด็ดได้อีก

เมื่อสับ selector ไปที่ neck humbucker ก็ได้โทนลี้ดหวานๆ เหนียวๆ วินเทจแต่ออกสว่างๆ ย่านกลางอิ่มเพราะ แต่ยังเก็บตัวดี ปั่นเร็วๆ ก็ยังฟังดูเป็นตัวดี ไม่ค่อยรก เสียงมีความเหน่อๆ นิดๆ สไตล์ McCarty แต่ผิดกันที่ note definition อาจจะดีกว่า McCarty พอสมควร ถือว่าเป็น PRS ที่เล่นสนุกมากๆ ผมชอบตรงความชัดใสแต่ไม่แข็งของมันนี่แหละ จะว่าไปคาแรคเตอร์เคลียร์ๆ ใสๆ และไม่แรงมากแบบ SAS นี่ สมัยนี้ก็ฮิตอยู่นะ ดูๆไปแล้วเหมือนกีตาร์มันมาก่อนกาลซัก 20 กว่าปียังไงยังงั้นเลย

My side note

ตัวนี้บอดี้เป็นไม้ชิ้นเดียว ซึ่งถือว่าค่อนข้างหายาก

มีเรื่องหนึ่งที่ผมสงสัยมาตลอดเกี่ยวกับ PRS รุ่นนี้ (และจะว่าเป็นความกังวลก็ได้) คือ บอดี้ swamp ash จะทำให้โทนติดคาแรคเตอร์ ‘กดย่านกลาง (mid-scoop)’ หรือเปล่า? ที่พูดแบบนี้เพราะผมเคยลอง PRS บางตัวที่ใช้ไม้แบบเดียวกันแล้วรู้สึกผิดหวังกับโทนกดย่านกลางแบบ จัดๆ กดจนผมรู้สึกอึดอัด PRS รุ่นนั้นผมขึ้นบัญชีดำไว้เลยว่าสวยซะเปล่า เสียงไม่ผ่าน แต่สำหรับ SAS ไม่มีอาการเช่นนั้นเลย การผสมไม้ ash กับคอเมเปิลและปิคอัพ McCarty ถือเป็น combination ที่ดีเลิศ เพราะผลที่ได้คือมันช่วยปรับย่านกลางเหน่อๆ ของปิคอัพ McCarty ให้คมขึ้น ชัดขึ้น เคลียร์ขึ้น ช่วยยกระดับ McCarty tone ที่เป็นตำนานของแบรนด์ PRS ที่ดีอยู่แล้ว ให้ดีขึ้นไปอีกขั้น

เหมาะกับใคร

  • ก่อนอื่นเลย ต้องเริ่มจากกล้าเปิดใจรับดีไซน์ใหม่ๆ กล้าลองอะไรนอกจาก Custom 24, Custom 24 แล้วก็ Custom 24 เพราะกีตาร์แบรนด์ PRS ยังมีอะไรที่น่าสนใจไม่แพ้ Custom 24 อีกมากมายหลายรุ่นครับ
  • ชอบโทนสว่างๆ ตอบสนองค่อนข้างไว ให้คาแรคเตอร์แบบวินเทจ แต่ก็ค่อนข้างจุกจิกกับย่านกลาง คือต้องเพราะแต่ไม่บวม
  • ชอบกีตาร์ที่ให้โทนหลากหลายในตัวเดียว โดยเฉพาะโทนตัดคอยล์
  • ถนัดคอ 22 เฟรทอวบๆ เนื้อๆ

แต่ไม่เหมาะกับใคร?

  • คนที่ชอบโทนอุ่นอ้วน ย่านโลว์เยอะๆ หรือโทนหม่นๆ
  • คนที่เล่นแต่คอเชพบางๆ
  • คนที่ชอบกีตาร์ high output หรือเป็นสายเมทัล
  • คนที่ยังติดภาพว่า เล่น PRS ต้องมีลายไม้เมเปิล หรือยังไม่กล้า move on ออกจาก Custom 24

ส่งท้าย

รีวิวกีตาร์ PRS Swamp Ash Special ก็จะมีประมาณนี้นะครับ ก็ถือเป็น PRS ที่น่าสนใจมากๆ รุ่นนึง และเป็นที่ชื่นชอบกันมากในต่างประเทศแต่คนไทยไม่ค่อยรู้จักกัน ใครสนใจอยากทดสอบก็แวะไปที่ร้าน Music Inn Thailand รามคำแหง 24 ได้ครับ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ ถ้าถูกใจบทความหรือเห็นว่าคลิปมีประโยชน์ก็ฝากกด like กด share เพื่อเป็นกำลังใจด้วยครับ ขอบคุณครับ

เข้ากลุ่ม PRS Thailand คลิกที่นี่เลยจ้า

-หมู ภานุวัฒน์-

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น