รีวิวกีตาร์ PRS Corvette Standard 22

กีตาร์ที่มีที่มาจากสนามแข่งรถ

กีตาร์ PRS Corvette เป็นกีตาร์รุ่นพิเศษที่เกิดขึ้นจากการ collaboration ระหว่างบริษัท PRS กับ General Motors (GM) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เจ้าใหญ่ของอเมริกาเจ้าของแบรนด์รถยนต์ Chevrolet กีตาร์รุ่นนี้มีขึ้นเพื่อโปรโมทแบรนด์ PRS กับทีมแข่งรถ Chevrolet ซึ่งใช้รถ Corvette C6 Z06 (คอร์เวท ซีร์ โอ ซิกซ์) ในการแข่งขันรายการ American Le Mans ตั้งแต่ปี 2005 จะว่าไปก็เป็นเทคนิคการทำตลาดของ PRS ในช่วงนั้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในวงการอื่นๆ เช่น กีฬา ซึ่งเป็นพื้นที่ทำตลาดใหม่นอกเหนือจากให้การสนับสนุนศิลปินในแวดวงดนตรี

รถ Chevrolet Corvette C6 Z06 (ถ้าเป็นรถเวอร์ชันที่โมดิฟายใช้ลงแข่งจะใช้รหัสรุ่นว่า C6R) เป็นรถสปอร์ตตัวแรง ใช้เครื่อง V8 ปริมาตรกระบอกสูบ 7000 cc (427 ลูกบาศก์นิ้ว) ไม่มีเทอร์โบ ขับเคลื่อนล้อหลัง กำลังสูงสุด 505 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 475 ปอนด์/ฟุต ที่ 6300 รอบ/นาที อัตราเร่ง 0-100 ใน 4.6 วินาที (เกียร์กระปุก) ที่ต้องบอกข้อมูลรกสมองพวกนี้ก็เพราะตัวเลขบางตัวมันปรากฏอยู่บนกีตาร์ PRS Corvette ด้วยนั่นเองครับ

รถ Chevrolet Corvette Z06 ตัวแข่ง (C6R)
(Photo courtesy of conceptcarz.com)
โลโก้ PRS Guitars ติดอยู่ตรงสเกิร์ตข้างตัวรถ Corvette C6R
(Photo courtesy of conceptcarz.com)

PRS Corvette Standard 22 ใช้พื้นฐานโครงสร้างของกีตาร์รุ่น Standard 22 กล่าวคือบอดี้เป็นไม้มาฮอกกานีล้วนไม่มีท็อปเมเปิล คอก็ทำจากไม้มาฮอกกานีชิ้นเดียว และมี 22 เฟรท จึงเป็นที่มาของชื่อรุ่นที่มีคำว่า Standard 22 ต่อท้าย กีตาร์รุ่นนี้มีการผลิตถึง 3 ซีรีส์/เวอร์ชัน ได้แก่

  • เวอร์ชันมาตรฐาน ผลิตในโรงงานที่อเมริกา (ว่ากันตามสเปคก็เทียบเท่า Core series ในปัจจุบันนี้ แต่สมัยนั้นโรงงาน PRS ที่อเมริกายังไม่มีการแบ่งไลน์ผลิตเป็น Core/S2/Bolt-on อย่างตอนนี้ ผมเลยไม่ขอเรียก PRS รุ่นนี้ตัวที่ผลิตอเมริกาว่า core) เวอร์ชันอเมริกาผลิตช่วงระหว่างปี 2005 – 2007 คือไม่ได้จำกัดจำนวนกีตาร์ที่ผลิต แต่ก็ผลิตอยู่แค่สองปีกว่า ดังนั้นก็ถือว่ามีความแรร์อยู่ประมาณนึงเหมือนกัน
  • เวอร์ชัน Private Stock ในชื่อ Private Stock Corvette Custom 22 ที่ร้อยวันพันปีจะเห็นสักตัว แรร์สุดๆ แรร์ยิ่งกว่า Dragon
  • เวอร์ชัน SE เป็น Limited edition ผลิตเมื่อปี 2007 จำนวนจำกัด 100 ตัว อันนี้ก็ถือว่าแรร์
PRS Private Stock Corvette Custom 22
(Photo credit: loviesguitars.com)
PRS Private Stock Corvette Custom 22
(Photo credit: loviesguitars.com)
PRS Private Stock Corvette Custom 22
(Photo credit: loviesguitars.com)

สำหรับเวอร์ชัน SE ซึ่งผลิตแค่ 100 ตัวในปี 2007 นั้น หน้าตาก็จะเป็นแบบนี้ครับ

PRS SE Corvette Limited Edition
(Photo credit: Alpha Music in Reverb.com)

สำหรับบทความนี้จะเกี่ยวกับตัว USA เวอร์ชัน mass production เท่านั้นนะครับ เนื่องจากกีตาร์ที่ใช้ทดสอบเป็นเวอร์ชันนี้

ไม่ใช่แค่ชื่อเหมือนรถ แต่ใช้สีเดียวกับรถด้วย

กีตาร์ PRS รุ่นนี้มี 6 สีหลัก และ 1 สีพิเศษสำหรับลอตลิมิเตด 50 ตัวที่สร้างฉลองแชมป์ให้กับนักขับในปี 2007 ทุกสีแมทช์โทนกับสีที่โรงงาน Chevrolet ใช้พ่นรถ Corvette Z06

รายการสีทั้งหมดมีดังนี้ครับ

เงิน Machine Silver

(Photo credit: gatormotorsport.com)
(Photo credit: ladkorguitars.com)

น้ำเงิน Le Mans Blue

(Photo credit: corvsport.com)
(Photo credit: briansguitars.com)

เหลือง Velocity Yellow

(Photo credit: corvsport.com)
(Photo credit: elderly.com)

แดง Victory Red

(Photo credit: corvsport.com)
(Photo credit: GuitarMaverick, reverb.com)

ดำ Black

(Photo credit: carsandbids.com)

ส้ม Daytona Sunset Orange

(Photo credit: ilmotors.com)
(Photo credit: Tobias Music Chicago, reverb.com)

ส่วนอันนี้สีพิเศษขาวคาดแดง เป็นสีของตัวลิมิเตด ฉลองแชมป์ปี 2007

PRS Corvette Standard Ron Fellows Limited Edition
(Photo credit: guitarscigars.net)
Ron Fellows นักขับทีม GM Racing ในรายการ American Le Mans 2006 กับกีตาร์ PRS Corvette Standard ที่ PRS ผลิตให้เป็นพิเศษมอบเป็นที่ระลึก กีตาร์ตัวนี้ทำสีแมทช์กับรถ Corvette Ron Fellows Championship Limited Edition
(Photo courtesy of motortrend.com)

สเปค

  • Model: PRS Corvette Standard
  • Construction: Double-cutaway solid body with set-in neck
  • Body: Mahogany, 1 piece
  • Neck: Mahogany, 1 piece
  • Neck profile: Wide Fat
  • Fingerboard: Rosewood
  • Fingerboard inlays: 427
    • Optional: Z06
  • Fingerboard radius: 10″
  • Number of frets: 22
  • Pickups: PRS Dragon II
  • Controls: 1 volume, 1 tone, 1 rotary pickup selector
  • Tuner: PRS Phase 2 locking
  • Nut: PRS composite
  • Bridge: PRS Stoptail
    • Optional: PRS Tremolo
  • Finishes: 6, in accordance with Corvette cars
  • Accessory: standard accessories with black tolex hard case

ตามที่ผมได้เกริ่นนำไป PRS Corvette ใช้พื้นฐานของรุ่น Standard 22 คือเป็นไม้มาฮอกกานีทั้งตัว ชื่อรุ่นเต็มๆ จึงเป็นที่มาของชื่อ Corvette Standard นั่นเอง นอกจากบอดี้มาฮอกกานีแล้ว คอก็ทำจากไม้มาฮอกกานีโปรไฟล์ wide fat อ้วนเต็มมือ ทั้งบอดี้และคอทำด้วยไม้เพียงส่วนละหนึ่งชิ้นตามสเปคการผลิตแบบ core line ยุคนั้น ฟิงเกอร์บอร์ดเป็นไม้ rosewood แต่ไม่มีอินเลย์นก เพราะไม่ใช่จุดขายของ PRS รุ่นนี้

หากแต่ความพิเศษของกีตาร์รุ่นนี้คือลายอินเลย์บนฟิงเกอร์บอร์ดกับโลโก้ cross flags บนบอดี้กีตาร์ โดยเฉพาะอินเลย์บนบอร์ดนั้นมีอยู่ 2 แบบ แบบมาตรฐานคือเป็นเลข 427 ซึ่งหมายถึงปริมาตรกระบอกสูบของรถ Z06 ที่วัดได้ 427 ลูกบาศก์นิ้วหรือราวๆ 7,000 cc (คนอเมริกันนิยมวัดปริมาตรของเหลวในแบบ Imperial เช่น ลูกบาศก์นิ้ว ออนซ์ แกลลอน ฯลฯ) ส่วนอีกแบบเป็นลายโลโก้ชื่อรุ่นรถพร้อมเลขแรงม้าฝูงใหญ่ 505HP ซึ่งลายนี้เป็นออพชัน มีน้อยกว่า และน่าเก็บกว่าแบบแรก วัสดุอินเลย์หลักๆเป็น mother of pearl ร่วมกับวัสดุสังเคราะห์

อินเลย์ลาย Z06 เป็นออพชันที่ต้องจ่ายเพิ่ม และน่าเก็บกว่า 427

กีตาร์ไฟฟ้าธีมรถสปอร์ต ก็ควรติดปิคอัพแรงๆ มันถึงจะเข้ากันจริงมั้ย ทาง PRS ก็เลยติดปิคอัพรุ่น Dragon II เดินวงจรกับซีเลคเตอร์แบบ Rotary 5 ทาง บริดจ์มาตรฐานใช้ stoptail ส่วนตัวทดสอบมากับออพชันคันโยก ติดลูกบิดล็อกสาย PRS Phase II เสาทองเหลือง

– ฝา clear speed knob ใสแจ๋ว ใช้เป็นมาตรฐานของกีตาร์รุ่นนี้ ทุกสี
– บริดจ์สเปคมาตรฐานคือ Stoptail ส่วนคันโยกแบบตัวนี้เป็นออพชันเสริม หายากกว่า

ฝา truss rod cover ไม่เขียนชื่อรุ่นใดๆ ซึ่งผมคิดว่าก็ไม่จำเป็นต้องเขียน ส่วนนัทคอมโพสิตสูตรเฉพาะของ PRS ก็ผลิตในโรงงาน PRS เอง

ลูกบิดล็อกสาย PRS Phase 2

เสียง

https://youtu.be/2G7FfA9XA34

Clean channel

ผมเริ่มทดสอบด้วยเสียงคลีนของแอมป์ Fender Super Sonic combo หมุน rotary selector ไปเริ่มที่ตำแหน่งเลข 6 (neck humbucker) และจะไล่ไปจนถึงตำแหน่ง 10 (bridge humbucker) ที่ตำแหน่ง 6 ปิคอัพ Dragon II Bass ให้เสียงที่กลมแต่แน่น คาแรคเตอร์มีความดาร์คและคอมเพรสพอสมควร ในความรู้สึกของผมมันไม่ได้ฟังวินเทจอะไรนัก เพราะย่านกลางไม่ป่อง ไม่บวม ไม่เปิดเท่าไหร่ เอาตรงๆ ค่อนจะโมเดิร์น ราวกับออกแบบมาเพื่อเล่น high gain ซะด้วยซ้ำ

หมุนเดินหน้าไปตำแหน่ง 7 ซึ่งเป็นการผสมคอยล์ให้ออกแนวกีตาร์สตรัท ก็ให้ความคมใสดี ใช้นิ้วดีดก็มีความเด้งสู้มือใช้ได้ ส่วนตัวผมคิดว่ามันก็โอเคสำหรับการเล่นสไตล์สับคอร์ดฟังก์สนุกๆ กระชับๆ ไวๆ หรือแนววาไรตี้ใดๆ ที่ไม่ได้อินว่าเสียงต้องวินเทจละมุนอะไร

ไปต่อที่แก๊กกลางซึ่งเป็นการผสมคอยล์ในสองอันเข้าด้วยกันในแบบอนุกรม หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นมันก็คือการต่อวงจรคอยล์ 2 อันเพื่อสร้าง humbucker ขึ้นมาอีกตัวหนึ่งนั่นแหละ โทนที่ได้ก็หนากว่าแก๊กเมื่อกี้อย่างเห็นได้ชัด มันมีความอุ่นหนามากขึ้นแต่ก็มีความโปร่งของย่านกลางด้วย ไม่ได้ฟังดูตื้อๆ เหมือนแก๊กหมายเลขหก ผมว่าซาวด์แก๊กกลางนี่อาจจะโอเคกว่าแก๊ก neck ด้วยซ้ำ จะว่าไปกีตาร์ตัวนี้กับการต่อวงจรแบบนี้ก็คงเหมือนเรามีปิกอัพ humbucker สามตัวให้เลือกใช้ PRS รุ่นเก่าที่มากับ Rotary selector มันก็ดีงี้แหละ สวิทช์ 5 ทางแบบปัจจุบันผสมเสียงแบบนี้ไม่ได้

ไปต่อที่แก๊กหมายเลข 9 ซึ่งเป็นการจำลองโทนของกีตาร์ Fender Telecaster มันมีความแหลม บีบๆ จิก คม ไบรท์ กดกลางค่อนข้างเยอะ ส่วนตัวผมไม่รู้จะใช้อะไรกับเสียงโทนนี้เหมือนกันก็เลยไม่รู้จะคอมเมนท์ว่าอะไร หมุนไปแก๊กสุดท้าย ก็ตามที่คาดนั่นแหละ ไม่มีอะไรผิดคาดหรอก ปิคอัพตำแหน่งนี้มันก็จะแหลมแหลมโด่ๆ แปร๋นๆ หน่อย เสียงแบบนี้เป็นอะไรที่ผมไม่คิดจะใช้เล่นกับเสียงคลีนอยู่แล้ว ผมก็เทสต์ให้ฟังไปอย่างนั้นเองแต่ไม่รู้จะคอมเมนท์อะไรเหมือนกัน บอกตามตรง ฮ่าๆๆ

Lead channel

สลับไปแชนแนลเสียงแตก ผมเริ่มทดสอบด้วยครับตำแหน่งใกล้ bridge เปิดเกนที่แอมป์ราวๆ บ่ายสาม เสียงแตกที่ได้มีความแผดสว่างสากเกรี้ยวกราดดุดันแต่ก็มีความเปิดของย่านกลางที่ฟังดูดีมากมันไม่ได้กดย่านกลางหรือสร้างความอึดอัดให้หูผมเลยแม้แต่น้อย ต้องบอกว่านี่เป็นปิคอัพ high output ที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งจากค่ายนก และสำหรับคนที่ชอบใช้ gain เยอะ ผมแนะนำปิคอัพตัวนี้เป็นพิเศษ

ลองหมุนโรตารีกลับไปที่ตำแหน่ง neck humbucker อืม ก็เป็นอย่างที่คิดแฮะคือมีความกลมเก็บตัวดีกระชับชัดเจนออกไปในทางโมเดิร์นดีพอสำหรับก็เป็นอย่างที่คิดแฮะ คือมีความกลมเก็บตัวดีกระชับชัดเจนออกไปในทางโมเดิร์นดีพอสำหรับการใช้งานทั่วไปที่ที่ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ถามความรู้สึกผมว่าอันนี้เรียกว่าเสียงเพราะไหม? ก็ต้องตอบว่าเฉยๆ ความรู้สึกส่วนตัวผมว่าปิคอัพตำแหน่งนี้ควรมีความเปิดโปร่ง มีความ relaxing สบายหู เล่นโซโลแล้วมีความหวานมากกว่านี้ แต่นั่นก็แค่ความชอบส่วนตัวของผมนะครับ สำหรับคนที่ชอบให้ปิคอัพตำแหน่ง neck มีความกระชับมากๆ จะเพื่อการปั่นหรืออะไรก็แล้วแต่ คาแรคเตอร์แบบนี้ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่าแบบย่านกลางอิ่มๆ หรือบวม เรื่องนี้จะให้ดีต้องลองเองครับ

My side note on PRS Dragon II pickups

For some reasons ผมรู้สึกว่าปิ๊กอัพรุ่นนี้มันน่าจะ จับคู่กันใหม่จะดีไหมนะ ผมหมายถึงว่าปิคอัพที่ตำแหน่ง neck เหมือนจะมีอะไรต่างจากตำแหน่ง bridge มากไปนิด กล่าวคือ ในขณะที่ปิคอัพตำแหน่ง bridge มีความเปิด สว่าง ให้เสียงแตกที่เพลิดเพลินในการเล่น high gain มากมาย แต่ตำแหน่งใกล้คอกลับให้ความรู้สึกหม่นๆ แข็งๆ กระชับเก็บตัวซะอย่างนั้น อย่างไรก็ดี โดยรวมปิคอัพชุด Dragon II ก็เข้าขากันในแง่ความแรงและมีบุคลิกเกรี้ยวกราดสมชื่อ และนี่คงเป็นจุดร่วมที่ PRS ออกแบบให้มันทั้งสองตำแหน่งเกิดมาคู่กัน

น่าเล่นมั้ยรุ่นนี้

PRS Corvette Standard 22 เป็นกีตาร์ที่มีดีทั้งในแง่รูปลักษณ์และโทนเสียง ยังไม่พูดถึง story ของรุ่นซึ่งก็นับเป็นอีกก้าวของการเติบโตของแบรนด์ PRS ในยุค 2000s ยิ่งเมื่อพิจารณาว่า นี่คือ core level ดีๆ ตัวนึงเลย มันไม่ลดสเปคความหนาไม้ ไม่ต่อไม้ในส่วนโครงสร้างสำคัญ ไม่ผสมอะไหล่เกาหลี สีไม่เป็นฝ้า และมีเคสคู่ตัวให้ คือมันครบทุกอย่าง ผมแทบมองไม่เห็นอะไรที่จะปฏิเสธความน่าเก็บของ PRS รุ่นนี้ และทั้งหมดที่ว่ามา มากับค่าตัวในหลัก core มือสองตัวนึง มันก็ไม่ได้ไกลเกินเอื้อมอะไรสำหรับคนวัยทำงานหลายๆ คน

ส่วนที่ผมบ่นว่าไม่ชอบปิคอัพตัว neck เอาตรงๆ ก็ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะมันก็ไม่ได้แย่อะไรมาก ผมยังโอเคกับมันมากกว่าปิคอัพอีกหลายๆ รุ่นของ PRS ด้วยซ้ำ ยิ่งสำหรับคนใช้แอมป์หลอดเกนเยอะแบบผม neck humbucker ที่เก็บย่านกลางดี ยังมีประโยชน์กว่า ใช้งานจริงได้มากกว่าพวกปิคอัพวินเทจย่านกลางป่องๆ ด้วยซ้ำ ปิคอัพ Dragon II คือปิคอัพที่คนชอบกันมากที่สุดรุ่นนึงแล้วจากค่ายนก สายร็อคสายวาไรตี้ไม่ผิดหวังครับ

ส่งท้าย

สำหรับรีวิว PRS Corvette Standard 22 ก็จะมีประมาณนี้ หวังว่าเพื่อนๆ จะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ

ติดตามข่าวสารและซื้อขาย PRS ได้ที่กลุ่ม PRS Thailand ครับ คลิกโลดดด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น