รีวิวกีตาร์ PRS SE Hollowbody Standard Piezo

หนึ่งในกีตาร์ PRS SE ที่เปิดตัวใหม่ในปีนี้ที่มีคนถามถึงกันเข้ามาเยอะคือ Hollowbody Standard Piezo มันเป็นยังไงเดี๋ยวผมจะมารีวิวให้ฟังกันครับ

สวยดีนี่ มันเป็นยังไงเหรอ?

กีตาร์ SE รุ่นนี้ เป็นสมาชิกใหม่ของรุ่นตัวกลวงในตระกูล SE Hollowbody (ขอเรียกย่อๆ ว่า HB) ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2020 ตอนนั้นมี SE HB II เป็นสเปคไม้เมเปิลเฟลมหน้า-หลัง มีเวอร์ชันปิคอัพ magnetic+piezo กับเวอร์ชันปิคอัพ magnetic อย่างเดียว รวมถึงมี SE HB Standard ออกมาด้วย แต่ตอนนั้นตัว Standard ยังไม่มีระบบ piezo ดังนั้น SE HB Standard Piezo ที่ผมกำลังจะรีวิวนี้ก็จะว่าไปอีกอย่างคือเวอร์ชันอัพเกรดของ SE HB Standard นั่นเอง

PRS SE Hollowbody II Piezo (2020)
(Photo credit: prsguitars.com)

แล้วสเปคล่ะ

  • Model : SE Hollowbody Standard Piezo
  • Top : 3-ply laminated mahogany, with 2 f- holes
  • Back : Laminated mahogany
  • Body depth: 2.5″ (6.35 cm)
  • Side : Mahogany
  • Neck : Mahogany, multi-ply
  • Neck profile (s) : Wide Fat
  • Scale length : 25″
  • Fingerboard radius: 10″
  • Number of frets : 22
  • Fingerboard : Ebony with white plastic binding
  • Fingerboard inlay : Birds, plastic
  • Headstock veneer : Rosewood
  • Headstock inlay/logo : PRS signature with SE logo
  • Truss rod cover text : Hollowbody
  • Tuners : PRS SE, nickel
  • Bridge : PRS Stoptail with LR Baggs/PRS Piezo acoustic pickups
  • Pickups :
    • Magnetic: 58/15 LT ‘S’
    • Piezoelectric: LR Baggs/PRS Piezo
  • Electronics :
    • Magnetic controls : 3 way toggle switch, 1 Magnetic Volume, 1 Magnetic Tone,
    • Piezo controls : 1 mini toggle switch, 1 piezo volume/blend
    • Outputs : 2 separate output jacks for magnetic only and magnetic+piezo signals
  • Hardware : Nickel
  • Finish: Dog Hair, gloss
  • Accessory : SE hard case

โครงสร้าง การตกแต่ง และสัมผัส

หัวใจของกีตาร์รุ่นนี้ที่ทำให้มันต่างจากรุ่นอื่นๆ ก็คือโครงสร้างกลวงโบ๋ภายในบอดี้ของมัน มีเพียงบล็อกไม้สี่เหลี่ยมชิ้นเล็กๆชิ้นนึงที่วางอยู่บริเวณใต้บริดจ์ยึดไม้ท็อปกับไม้หลังเข้าไว้ด้วยกันเพื่อความแข็งแรงของโครงสร้าง ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่โครงสร้างแบบ semi-hollow อย่างที่หลายๆ คนติดปากเรียกกัน หากแต่เป็น full hollow แท้ๆ ดีไซน์โครงสร้างแบบนี้ก็แน่นอนว่าตกทอดมาจาก core HB ที่มีขึ้นครั้งแรกราวๆปี 1999

ไม้ท็อปและไม้หลังขึ้นรูปด้วยวิธีอัดไม้แผ่นบางๆ เข้าด้วยกันหลายๆ ชั้นหรือที่เราคุ้นหูว่า laminated wood คล้ายๆ กีตาร์ตระกูล Gibson ES นั่นเอง แตกต่างจาก core HB ที่ขึ้นรูปด้วยการเอาแผนไม้แท้ๆ ตันๆ มาเข้าเครื่อง CNC กัดไม้จนเป็นรูปร่าง การขึ้นโครงแบบ SE HB นี้ช่วยเซฟต้นทุนการสร้างมากกว่าเอาไม้แท้ดุ้นโตๆ มากัดขึ้นรูป และข้อดีอีกอย่างที่ผมสงสัยคือมันน่าจะช่วยลดโอกาสเกิดเสียงหอนหรือ feedback ได้ดีกว่า รวมถึงน่าจะให้ความแข็งแรงของโครงสร้างที่มากกว่าไม้แท้ด้วย แต่ข้อสังเกตที่เป็น side effect ของ SE HB ที่ค่อนข้างชัดเจนเมื่อเทียบกับ core HB หลายๆ ตัวที่ผมจับมา คือ SE HB น้ำหนักมากกว่าพอสมควร อาจจะเพราะมิติกว้างยาวของบอดี้ SE HB ที่มากกว่า core อยู่นิดหน่อยด้วยก็เป็นได้ เอาเถอะ ถึงอย่างไรขึ้นชื่อว่า PRS Hollowbody ไม่ว่าจะ SE หรือ core series มันก็น้ำหนักเบากว่ารุ่นตัวตันอยู่ดี

ถึงแม้ไม้ท็อปและหลังจะทำจากไม้มาฮอกกานีไม่มีลายเฟลมเลิศหรูอะไรอย่างเมเปิล แต่ถ้ามองใกล้ๆ ก็จะเห็นลายเสี้ยนไม้มาฮอกกานีดูสวยดิบๆ เท่ไปอีกแบบ ขอบมุมบอดี้ทั้งฝั่งท็อปและหลังติดขอบบายดิ้งพลาสติกสีขาวตลอดแนว ความหนาของบอดี้วัดจากท็อปบริเวณใต้บริดจ์ไปถึงด้านหลังคือประมาณ 2.5 นิ้วหรือราวๆ 6.35 เซนติเมตรซึ่งเป็นส่วนต่างที่มากกว่าของ SE Custom 24 ถึงราวๆ 17 เซนติเมตร แต่ความหนาของบอดี้ SE HB ก็ไม่เป็นปัญหาในการเล่นแต่อย่างใด เพราะมีการออกแบบส่วน contour ลาดโค้งแบบเดียวกับไวโอลิน เรื่องความสบายในการเล่นนี้ผมยืนยันได้เพราะตัวเองก็ใช้ PRS Hollowbody อยู่เหมือนกัน

Mahogany (laminated) back ลายเกรนสวยมาก

ส่วนของไม้คอเป็นไม้มาฮอกกานี เชพ Wide Fat ค่อนข้างเต็มมือ เล่นสบายสำหรับคนชอบกีตาร์คอใหญ่แบบผม โครงสร้างของคอเป็นไม้หลายชิ้น (ปกติ SE 3 ชิ้น) ต่อกาวตามยาว แบบเดียวกับ SE 594 ที่เปิดตัวพร้อมกันในปีนี้ ฟิงเกอร์บอร์เป็นไม้ ebony ซึ่งเป็นสเปคปกติของกีตาร์ตระกูล SE HB อยู่แล้ว มีงานเดินขอบบายดิ้งพลาสติกสีขาวสวยๆ ดูคอนทราสต์กับบอร์ด ebony ยาวจรดส่วนหัว หล่อเหลาคมเข้มสุดๆ headstock ก็แปะวีเนียร์ไม้ rosewood เอาไว้ ซึ่งเรียกว่าสเปคเฉพาะของหัวกีตาร์ตระกูล SE HB เลยที่แปะ headstock veneer ด้วยไม้ต่างชนิดจากไม้ฟิงเกอร์บอร์ด

หัวแปะวีเนียร์ด้วยไม้ต่างชนิดจากฟิงเกอร์บอร์ด ซึ่ง core HB จะไม่ทำแบบนี้

เฟรทมี 22 ช่องตามมาตรฐานของกีตาร์ทรงนี้ เรเดียสโค้ง 10 นิ้วก็ตามปกติของกีตาร์แบรนด์ PRS อีกเช่นกัน

ส่วนอินเลย์นกเป็นวัสดุพลาสติกสีขาวๆ ซึ่งก็เป็นปกติอยู่แล้วสำหรับ SE HB Standard ที่ไม่ได้ treatment เป็นนกอบาโลนเหมือน SE HB II Piezo ลอตเปิดตัว (แต่ลอต 2023 ก็ดาวน์เกรดวัสดุลงมาเป็นพลาสติกเหมือน SE HB Standard แล้วครับ)

รายละเอียดอีกจุดหนึ่งที่ SE HB Standard แตกต่างจาก SE HB II (รุ่นบอดี้เมเปิล) คือขอบโพรง f hole บนท็อปที่ไร้สิ่งประดับขอบมุม เรียบง่ายแต่สวยงามมีเสน่ห์แบบเดียวกับ core HB ราคาหลักแสน ผมชอบแบบนี้มากกว่าของ SE HB II ที่ติดเส้นบายดิ้งที่ขอบโพรง f hole ผมเข้าใจว่า PRS พยายามออกแบบให้รุ่น SE HB II ดูมีดีเทล ดูมีอะไรมากกว่า SE HB Standard แต่งานประดับที่มาจากไหนก็ไม่รู้แบบที่แม้แต่ core series เขายังไม่มีกัน มันดูเกินๆ เหวอๆ แปลกๆ จนแลดูเหมือนของปลอมไปเลย ไม่รู้ PRS คิดว่าสวยมั้ยกับการแต่งอะไรเกินๆ ให้กับ SE HB II แต่ผมว่าเป็นดีไซน์ที่ไม่ค่อยโอ ในทางตรงกันข้าม SE HB Standard กลับดูแพงกว่าซะงั้นทั้งๆ ที่ไม่ได้ใส่อะไรเยอะเลย

SE HB Standard (ขวา) ขอบโพรง F hole ไม่มีขอบบายดิ้งขาวๆ ซึ่งผมว่าแบบนี้ดูดี ดูแพง และดูเหมือนตัว core HB มากกว่า SE HB II (ซ้าย) ซะอีก
(Photo credit: guitarworld.com)

ภาคไฟฟ้าและการควบคุม

กีตาร์ SE HB รุ่นนี้มีภาคไฟฟ้า 2 ระบบ คือระบบปิคอัพแม่เหล็กของ PRS กับระบบ piezo ที่ PRS ออกแบบร่วมกับบริษัท LR Baggs สำหรับปิคอัพแม่เหล็กเป็นรุ่น 58/15 LT ‘S’ ซึ่งเป็นปิคอัพโทนวินเทจเอาท์พุตต่ำสไตล์ที่ PRS ทำตลาดอยู่ในปัจจุบัน ปิคอัพ LT เวอร์ชัน SE ผลิตในเอเชียและแชร์ร่วมกับกีตาร์ PRS S2 หลายรุ่นด้วย ปิคอัพเวอร์ชัน S นี้ก็ถอดแบบมาจากปิคอัพเวอร์ชัน core ที่ผลิตในโรงงานที่อเมริกานั่นเอง

ระบบปิคอัพแม่เหล็ก (58/15 LT ‘S’) ควบคุมด้วย magnetic volume, magnetic tone และ toggle 3 ทางตัวหลัก ระบบไฟฟ้าปิคอัพปกตินี้มี 3 เสียงตามจำนวนแก๊กสวิทช์ ไม่สามารถตัดคอยล์ได้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากแผง PCB ของวงจร preamp ของ HB ซึ่งมีขนาดใหญ่ประมาณฝ่ามือ กินพื้นที่ไปถึงบริเวณใต้ Tone pot ทำให้เราไม่สามารถยัด push/pull tone pot ซึ่ง housing หนาและต้องการพื้นที่ทางลึกเยอะกว่า pot แบบไม่ดึงตัดคอยล์ได้ เรื่องนี้ผมเคยพยายามพิสูจน์โดยลองใส่ push/pull Tone pot ของ CTS ด้วยตัวเองดูแล้ว ไม่สำเร็จ เพราะพื้นที่ว่าง (clearance) ไม่พอ ยัดไม่เข้า จะสลับตำแหน่ง knob ก็กลัวจะงง control layout ตอนเล่น PRS ตัวอื่นๆ ไปๆ มาๆ ก็ใช้ 3 เสียงตามที่มีมาจากโรงงาน ซึ่งจะว่าไปตัวเองก็ไม่ได้ใช้ซาวด์ตัดคอยล์สักเท่าไหร่อยู่แล้ว เลยไม่ใช่ปัญหา

ไปต่อกันที่ระบบที่สองซึ่งเป็นระบบของ piezoelectric ซึ่งออกแบบมาไว้ใช้เล่นเสียงกีตาร์โปร่งไฟฟ้า รายละเอียดและวิธีใช้งานมีดังนี้ครับ

  • ระบบ PRS/LR Baggs Piezo for Hollowbody ประกอบด้วย piezo saddle 6 อันติดตั้งอยู่บน stoptail bridge ไว้รับการสั่นสะเทือนจากสายกีตาร์ทั้งหก แล้วส่งสัญญาณต่อไปยังวงจร preamp ที่ติดตั้งอยู่ภายในบอดี้ เพื่อทำหน้าที่แยก/ผสมสัญญาณจากทั้งสองแหล่ง วงจร preamp ต้องมีไฟฟ้าจากแบตเตอรี 9 โวลท์เลี้ยงระบบ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถใช้งานเสียงกีตาร์โปร่งจากระบบ piezo ได้ รังแบตเตอรี่ก็อยู่ข้างๆ รูแจ๊ค
  • มีแจ๊ค output 2 รู 1) รู MAG ไว้ใช้ส่งสัญญาณจากปิคอัพ 58/15 ออกไปที่แอมป์สำหรับกีตาร์ไฟฟ้า โดยไม่ผ่านวงจร preamp และ 2) รู MIX/PIEZO ซึ่งส่งสัญญาณรวมทั้งสองแหล่งออกไปพร้อมกัน เราสามารถปรับบาลานซ์ของวอลุ่มแต่ละสัญญาณได้ด้วย volume ทั้งสองอันที่มีมาให้ เมื่อเราเสียบแจ๊คที่รูนี้ระบบ preamp จะทำงาน และมีการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ตลอดเวลาที่เสียบแจ๊คคาไว้ไม่ว่าเราจะใช้งานอยู่หรือไม่ก็ตาม ดังนั้นผมขอแนะนำให้ถอดแจ๊คออกทุกครั้งเมื่อใช้เสร็จ และหากเราไม่ได้จะใช้งานเสียงกีตาร์โปร่ง ก็ไม่ควรเสียบแจ๊ครูนี้นะครับเพราะจะเปลืองแบตโดยใช่เหตุ ให้เสียบรู MAG แทนเพื่อให้ระบบ bypass วงจร preamp ไปซะ
  • แต่ถ้าเราใช้สายสัญญาณ 2 เส้นเสียบแจ๊คทั้ง 2 รูพร้อมๆกันเพื่อใช้งานแยกแอมป์กีตาร์ไฟฟ้ากับกีตาร์โปร่งหรือจะส่งสัญญาณโปร่งไป DI อะไรก็ตาม Piezo volume knob จะเปลี่ยนหน้าที่กลายเป็นตัว blender ที่ใช้หมุนเพื่อปรับสัดส่วนสัญญาณทั้ง 2 แหล่ง ซึ่งจะสะดวกและเสียงดีกว่าการใช้รู MIX มากเพราะแยกประเภทแอมป์และสามารถควบคุมสมดุลเสียงได้เพียงการหมุน blender เพียงที่เดียว ศิลปินหลายท่านที่ใช้กีตาร์ PRS สองระบบใช้ setup แบบแยกสัญญาณออกกันเยอะ

แต่ถึงแม้ SE HB ติด Piezo จะใช้งานสัญญาณสองระบบคล้ายๆกับ core HB ก็ตาม แต่ลักษณะการแยกสัญญาณไม่เหมือนกันนะครับ ของ core รูที่แยกสัญญาณเดี่ยวจะเป็นสัญญาณ piezo ดูจากรูปตัวอย่าง Hollowbody Spruce Piezo ของผมก็ได้ ลักษณะการเดินวงจรแบบนี้ทุกครั้งที่ผมหยิบมันมาใช้ใช้งานเสียงปิคอัพแม่เหล็กปกติผมต้องเสียบผ่านรู MIX/MAG แปลว่าผมจะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เสมอเพราะต้องใช้ช่องทางสัญญาณผ่าน preamp เสมอแม้จะเล่นแค่เสียง magnetic pickups ก็ตาม ซึ่งระบบ piezo ที่ออกแบบใหม่สำหรับ SE ก็จะได้เปรียบกว่าระบบของ core ที่ผมใช้อยู่ตรงนี้แหละ

อันนี้ถ่ายจาก Hollowbody Spruce Piezo ของผมเอง สังเกตว่าแจ๊คระบุชื่อไว้ต่างจากของ SE HB นะครับ

เสียง

ผมทดสอบด้วยแอมป์ Mesa Rectoverb 25 combo แอมป์วินเทจที่ผมใช้ทดสอบ PRS รุ่นสไตล์ไม่แรงอยู่เป็นประจำ เสียงคลีนคอร์ดแรกที่ตำแหน่ง neck pickup ให้ย่านกลางต่ำที่อ้วน ใหญ่ เด่นกว่าย่านแหลมอย่างเห็นได้ชัด และไม่ว่าสับไปแก๊กไหนก็ออกโทนนี้ มันช่วยให้แก๊กหลังสุดมีโทนที่มีความสมูธนุ่มหู ไม่แปร๊นออกมาให้สะดุ้งอย่างที่กีตาร์ส่วนใหญ่มักเป็นกันสำหรับเสียงคลีน โทนโดยรวมผมรู้สึกว่าค่อนข้างเหมาะไปในทางแจ๊สเพราะนุ่ม กลม ทุ้ม แต่ก็เป็นโทนแจ๊สที่มีความสะอาด เนี้ยบอย่าง PRS จะไม่เหมือนโทนแบบ Gibson ES ผมคิดว่าส่วนนึงก็เพราะทั้งความยาวสเกลของ PRS ที่มากกว่า รวมถึงไม้บอร์ดและภาคไฟฟ้าที่ต่างกัน

เสียง piezo ทดสอบไวๆ ด้วยแอมป์ของกีตาร์ไฟฟ้าแชแนลคลีนตัวเดิม ต้องบอกว่าหลับตาฟังก็นึกว่ากำลังฟังกีตาร์โปร่งไฟฟ้ายังไงยังงั้นเลย ใส คม ได้ยินเสียงปิ๊คและอาการของนิ้วชัดทุกอณู ชัดจนผมไม่กล้าเล่นอะไรแผลงๆ เพราะจะได้ยินความผิดพลาดหมด ฮ่าๆ แต่ก็อย่างที่บอกไป “เสียงเหมือนกีตาร์โปร่งไฟฟ้าออกแอมป์” นะครับ ไม่ใช่ว่าเหมือนกีตาร์โปร่งดีดเปล่า นึกถึงพวก Music Man Petrucci อะไรแบบนั้นก็ได้ มันใช้งานแบบนั้น มันไม่ได้จำลองธรรมชาติทางอคูสติกได้เหมือนกีตาร์โปร่งจริงๆ หรอก

ไปต่อที่เสียงแตก ด้วยย่านกลางต่ำที่มีมาให้แบบอิ่มอุ่น ทำให้เสียงแตกมีน้ำหนัก หนา อ้วนกว่า HB รุ่นบอดี้เมเปิลพอสมควรแต่ยังมีความเป็นตัวของโน้ตดีอยู่ ไม่อุดอู้ นี่ขนาดใช้เสียงแตกของแอมป์แนววินเทจเล่นยังอิ่มหนาได้ใจขนาดนี้ ถ้าเปลี่ยนเป็นแอมป์ high gain นี่ผมว่าคงฟังไม่ออกเลยว่ากำลังใช้กีตาร์ตัวกลวงเล่น พูดถึงความแรงของปิคอัพ แม้ PRS จะบอกว่านี่เป็นปิคอัพ low output แต่จากการทดสอบ ด้วย clarity ที่สะอาด เนี้ยบ ชัดทุกย่านที่ลุงพอลออกแบบมา ทำให้แม้เราอัดเกนที่แอมป์ก็ยังมีความชัดของโน้ตดีเยี่ยม ไม่อ้วนเบลออย่างกีตาร์แนวแจ๊สส่วนใหญ่เป็นกันตอนอัดเกน ผมมองว่า PRS HB รุ่นนี้ยังไปได้อีกไกลมากกว่าคำว่าวินเทจครับ

กีตาร์ PRS SE Hollowbody Standard Piezo เหมาะกับเรามั้ยนะ?

จุดเด่น

แม้หน้าตามันจะออกไปทางแนวแจ๊ส บลูส์ แต่อย่าให้หน้าตาของมันมาหลอกคุณครับ เพราะที่จริงแล้วมันใช้งานได้กว้างกว่านั้น คำว่ากว้างของผม ไมใช่เพราะมี 2 ระบบ แต่ผมหมายถึงโทนและการตอบสนองของภาค magnetic pickups ที่ค่อนข้าง EQ มากลางๆ ไม่ได้วินเทจจ๋าหรือแก่อะไรมาก มันยังมีความสะอาดเนี้ยบสไตล์ PRS อยู่เต็มเปี่ยมแม้จะไม่ได้แรงอะไร คาแรคเตอร์แบบนี้ผมคิดว่ามันเข้ากันกับทั้แอมป์หลอดและระบบจำลองแอมป์ดิจิทัลของยุคนี้ได้เป็นอย่างดีเลย สำหรับเสียงกีตาร์โปร่งถ้าคนที่ได้ใช้งานมันก็คงถูกใจเสียงของมันแน่นอน เพราะฟังดูดีมาก บางทีผมว่าถ้าจะเอาไปเล่นโฟล์คแบบมีแอมป์โปร่งใช้ที่ร้าน หรือเล่นวาไรตี้เบาๆ กีตาร์รุ่นนี้ตัวเดียวก็อาจเพียงพอต่อการใช้งาน

นอกจากนี้ด้วยน้ำหนักที่ค่อนข้างเบากว่ารุ่นตัวตัน กับเสียงอคูสติกในตัวมันเองที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัว เป็นจุดเด่นทงกายภาพที่น่าสนใจนอกเหนือจากหน้าตาหล่อๆ ของมัน ผมแนะนำว่าต้องไปลองจับตัวเป็นๆ แล้วจะเก็ทครับ

แต่…

ถ้าจะมีอะไรที่ต้องทราบไว้สักหน่อยก่อนตัดสินใจ ก็สรุปได้ราวๆ นี้ครับ

  • มันไม่มีระบบตัดคอยล์ และท้าทายพอควรถ้าจะโมดิฟายให้ตัดคอยล์ได้ (รวมถึงผมไม่ใจว่าปิคอัพ LT S ที่ติดมากับ SE HB รุ่นนี้มีสายตัดคอยล์มาให้หรือไม่) ดังนั้นถ้าเพื่อนๆ มีความจำเป็นต้องใช้ซาวด์ตัดคอยล์ หรือใช้เล่นอะไรป๊องๆ ฟังก์ๆ เช่นนั้นก็ไม่เหมาะ
  • ไม่มีคันโยก
  • ค่าตัวครึ่งแสนก็ถือว่าสูงมากสำหรับ SE ตัวนึง แต่อย่าลืมว่า ในเรตราคานี้ ไม่มี PRS ตัวไหนที่ให้ได้อย่างมัน

ส่งท้าย

สำหรับรีวิวของผมก็จะมีประมาณนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่สนใจ PRS รุ่นนี้อยู่บ้างไม่มากก็น้อยครับ

แล้วก็สำหรับใครที่อยากไปต่อกับ PRS ขอเชิญเข้าร่วมกลุ่มเฟสบุค PRS Thailand ครับ ที่นี่ผมเป็นแอดมินกลุ่มเอง มีอะไรให้อ่านให้ติดตามเพียบ คลิกเลยครับ

กีตาร์ SE Hollowbody Standard Piezo ราคา ณ วันที่ทดสอบ (เดือนกุมภาพันธ์ 2566) คือ 53,900 บาทมีเคสแข็งคู่ตัวให้ (ไม่ใช่กระเป๋าอย่าง SE รุ่นอื่นๆ) กีตาร์รุ่นนี้ผลิตโดยโรงงาน Cor-Tek (คอร์ท) ในประเทศจีน ที่เดียวกันเดียวกับกีตาร์โปร่ง PRS SE นั่นแหละ สำหรับใครที่ห่วงว่าคุณภาพการผลิตยุคย้ายโรงงานมันจะเนี้ยบเท่าสมัยผลิตในเกาหลีมั้ยก็ขอแนะนำให้ทดสอบอย่างละเอียด ดันทุกสาย ลองทุกแก๊ก ดีดทุกเฟรท เช็กทุกฟังก์ชัน เพื่อความสบายใจครับ ทั้งนี้ขอขอบคุณร้าน Music Collection สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวชั้นสาม เอื้อเฟื้อกีตาร์ในการทดสอบด้วยครับ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ

-หมู ภานุวัฒน์-