รีวิวกีตาร์ PRS SE Mark Holcomb SVN v.2 (2023)

ในบรรดากีตาร์ SE เปิดตัวใหม่หลายรุ่นในช่วงต้นปีนี้ ผมคิดว่ารุ่นที่ได้รับความสนใจสูงที่สุดรุ่นนึงคงหนีไม่พ้น SE Mark Holcomb เวอร์ชัน 2 จึงเห็นว่าน่าเขียนรีวิวไว้สักหน่อยเผื่อเพื่อนๆ ที่สนใจได้เข้ามาอ่านกันครับ

เหมือนเคยเห็น PRS รุ่นนี้ผ่านตา ว่าแต่มันคืออะไร ต่างจาก Custom 24 ยังไง?

PRS รุ่นนี้เป็นรุ่นลายเซ็นของ Mark Holcomb มือกีตาร์วง Periphery มือกีตาร์วง Periphery วงแถวหน้าสาย djent metal ผู้สไตล์การเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ ฟอร์มคอร์ดประหลาดๆ voicing แปลกๆ แต่ดุดันมันส์ในอารมณ์ PRS Mark Holcomb เปิดตัวเป็น USA limited ในปี 2015 และต่อมา PRS ได้ผลิตรุ่นนี้แบบไม่จำกัดจำนวนในเวอร์ชัน SE ถึงแม้ดูเผินๆ กีตาร์รุ่นนี้จะคล้าย SE Custom 24 เนื่องจาก SE Holcomb พัฒนามาจากพื้นฐานของรุ่นนั้น แต่แท้จริงแล้วในรายละเอียดต่างกันมากมายจนไม่สามารถใช้แทนกันได้ซะทีเดียว เอาง่ายๆ ก็เช่น SE Holcomb มากับสเกล 25.5 ดรอป C มาจากโรงงาน ไม่มีคันโยก ใช้ปิคอัพเฉพาะรุ่น เป็นต้น ยังไม่พูดถึงสีสันกับชนิดไม้ที่ต่างออกไปอีกด้วย ผมมองว่าลูกค้ากลุ่มที่เล่น SE CU24 กับ SE Holcomb นั้น แยกกลุ่มแยกสไตล์เพลงจากกันค่อนข้างชัดเจน

สเปค PRS SE Mark Holcomb SVN v.2 (2023)

  • Body : mahogany
  • Top : maple with quilted maple veneer
  • Neck : maple with satin finish
  • Neck profile : wide thin, satin finish
  • Scale length : 26.5″
  • No. of strings: 7
  • No. of frets : 24
  • Fingerboard : ebony
  • Fingerboard inlay : birds, plastic
  • Fingerboard binding : white plastic
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text : PRS signature
  • Truss rod cover text : Mark Holcomb
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : SE plate style (hardtail)
  • Pickups : Seymour Duncan Scourge (bridge, alnico 8) & Scarlet (neck)
  • Electronics : 3 way blade, 1 vol, 1 push/pull tone for coil split
  • Control knobs : knurled metal
  • Hardware : smoked nickel
  • Factory tuning : Standard
  • Factory string guage : 10-64
  • Accessories : gig bag
  • Colors : Holcomb Blue Burst

สัมผัส

ผมหยิบ SE Holcomb SVN ตัวใหม่ขึ้นมา ความรู้สึกแรกที่แปลกแยกจากพวก SE Custom ก็แน่นอน คอกว้างกว่าแบบผิดมือ แต่ก็ค่อนข้างแบนสายปั่นเล่นสบาย ด้านหลังคอมีการขัดด้านเอาไว้ช่วยให้การเคลื่อนย้ายตำแหน่งมือซ้ายเป็นไปอย่างรวมเร็วง่ายดาย ง่ายซะยิ่งกว่ารุ่นราคาหลักแสนคอเหนียวๆ อะว่ากันตรงๆ ไม่ใช่แค่กว้างกว่าแต่ช่วงคอยังยาวกว่าชัดๆด้วยเพราะเป็นสเกล 26.5 นิ้ว น้ำหนักตัวก็มากกว่ารุ่น 6 สายซัก 3-4 ขีดเห็นจะได้ สำหรับผมซึ่งมี SE SVN (ที่ไม่ใช่ Holcomb sig.) อยู่แล้วนั้น ลักษณะเฉพาะตัวที่ว่ามาทั้งหมดไม่มีอะไรแปลกใหม่ ยกเว้น ฟิงเกอร์บอร์ด ebony ของ SE Holcomb ซึ่งเรเดียส 20 นิ้วนี่มันแบนมาก แบนผิดมือ ผมไม่ชิน ฮ่าๆๆ ขอบฟิงเกอร์บอร์ดติดขอบบายดิ้งสีขาวเหมือนรุ่นก่อนหน้า ก็ดูคอนทราสต์กันกับสีกีตาร์โทน stealthy ดี แต่ส่วนตัวผมว่าถ้าไม่ตัดบายดิ้ง ปล่อยบอร์ดไม้ ebony ไว้ฉยๆ เรียบๆ น่าจะดูลงตัวกว่านี้ ผมก็มโนของผมเองไปเองนะครับ ชอบมองแล้วคิดว่าถ้าอย่างนั้นถ้าอย่างนี้ตลอดจนเป็นนิสัย

อันนั้นช่างมัน แต่สิ่งที่ผมชอบที่สุดของตระกูล Holcomb นอกเหนือจากสเกลที่ยาวกว่า PRS ตัวอื่น คือ บริดจ์ ครับ ผมชอบความเรียบง่ายของ hardtail ที่ไม่มีกลไกคันโยกอะไรให้วุ่นวายแถมเพิ่มน้ำหนักกีตาร์เพื่อสิ่งที่ผมไม่คิดจะใช้ในการเล่นกีตาร์อย่างคันโยก ดรอปสายก็สบายสายไม่พากันเพี้ยนตามกัน ดูแลรักษาก็ง่ายไม่จุกจิก คนส่วนใหญ่อาจมองว่ามีคันโยกไว้ก่อน เผื่อใช้ แต่ผมเห็นตรงกันข้ามแบบชิ้นเชิง ว่าของที่ “เผื่อใช้” เอาจริงๆ คือเราก็ไม่ใช้ แถมในกรณีของกีตาร์นั้นทุกสิ่งทุกอย่างในตัวมันคือ give and take เสมอ จะได้บางอย่างมาก็ต้องแลกด้วยบางอย่างไป สำหรับผมที่ไม่ค่อยเล่นคันโยกอยู่แล้วนั้น การไม่มีมันซะเลยแต่แรก เป็นสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า ได้อะไรมากกว่าจากการไม่มี อย่างคำฝรั่งที่ว่า less is more

ลูกบิดยังเป็น PRS Designed ที่ผลิตในเอเชีย ไม่ล็อกสาย ไม่มีเสาทองเหลือง ซึ่งก็ อืม ไม่อยากใช้คำว่าผิดหวังนะ แต่ PRS ควรทบทวนได้แล้ว ถึงใช้ไม้ ใช้ปิคอัพดียังไง แต่ก็ไม่น่ากั๊กลูกบิดซึ่งเป็นอะไรที่คู่แข่งเขาใช้เป็นมาตรฐานทั้งวงการ โดยเฉพาะกีตาร์ราคาหลักสี่หมื่นบาทยิ่งไม่น่ามีข้อแก้ตัว ก็ได้แต่บ่นอย่างเบื่อๆ นะครับ ส่วนถ้าเพื่อนๆ อยากได้ลูกบิดล็อกสายที่ใ่กันได้พอดีมาเปลี่ยน ผมแนะนำ Gotoh SG381 ครับ ผลิตญี่ปุ่น ใส่ได้ งานดี และถ้าจำไม่ผิดมีแยกขายเป็นลูกเดี่ยวๆด้วย จะได้ซื้อ 7 ลูกมาใส่ได้ อันที่จริงลูกบิดล็อกสายของ PRS SE ก็มี แต่เค้าขายเป็นชุด 6 สายอย่างเดียว ไม่แยก ดังนั้นสำหรับ 7 สายก็ไป Gotoh ดีกว่าครับ

ส่วนอื่นๆ มองดูก็โอเคไม่มีอะไรสะดุดตา หรือถ้าจะมีให้สะดุดบ้างก็คงเป็นแอคชันของโรงงานที่เซ็ทมาค่อนข้างสูงกว่าที่ผมเซ็ทให้ SVN ของตัวเอง สีใหม่ Holcomb Blue Burst ก็สวยดี สีแปลกๆ แบบนี้ดูเข้ากันอย่างลงตัวกับลายไม้ quilted maple แต่ส่วนตัวผมอยากให้เค้าทำสีโชว์ขอบบายดิ้งมากกว่า ฝา knobs 2 อันติดแน่นดี รวมๆ ผมไม่มีปัญหาอะไรที่ซีเรียส

เสียง

ผมทดสอบด้วยแอมป์ PRS MT15 (Mark Tremonti signature) ตัวแรงตอบสนองว่องไว cab เป็น PRS Archon 1×12 closed back ดอก Celestion V Type การปรับหน้าตู้ต่างจากตอนลองกีตาร์ 6 สาย คือกดย่าน bass ลดจากเที่ยงไปสิบโมง เพิ่ม treble ไปบ่ายสองเพราะกีตาร์ 7 สายให้ย่านโลว์ต่ำกว่ากีตาร์หกสายเยอะ เริ่มเทสต์เสียงคลีน มันให้ความรู้สึกคุ้นเคย คือหัวโน้ตเบสตู้มๆ นำย่านอื่นมาก่อนเลย และเป็นโลว์ที่กระชับ ถึงลูกใหญ่มากก็ยังเป็นตัวดีแม้ที่ตำแหน่ง neck humbucker ก็ยังเก็บตัวสวยเป็นระเบียบ ที่ตำแหน่ง bridge humbucker มีความรู้สึกว่ามันแหลมปนกลางป๊องๆ ออกมา แต่ก็เป็นความแหลมที่ติดดาร์คๆ หม่นๆ และนิ่งกริ๊บจนเหมือนมีคอมเพรสเซอร์ในตัว ตามสไตล์ Holcomb tone ทดสอบเสียงตัดคอยล์พบว่าวอลุ่มไม่ดร็อปมากแม้จะรักษาระดับได้ไม่ดีเท่าพวก DGT หรือ 594 โทนตัดคอยล์ก็ยังไม่ทิ้งกลิ่น Holcomb tone คือหัวโน้ตติดย่านเบสลูกใหญ่ๆ และนิ่ง เต็ม ซัสเทนยาวตามความแรงของปิคอัพ ผมอธิบายความรู้สึกนี้ไม่ถูก โทนมันไม่เหมือน Omaga set ซะทีเดียว แต่คาแรคเตอร์บางอย่างก็ยังใกล้เคียงกันมาก

ลองเสียงแตกกันบ้างดีกว่า เผื่อผมจะเห็นภาพอะไรชัดเจนขึ้น ซึ่งกเป็นตามนั้นจริงๆ ผมเข้าใจเกี่ยวกับ new Holcomb SVN มากกว่าตอนใช้เสียงคลีนเยอะ เสียงแตกที่ bridge humbucker นั้น แรงมาก สาก เนื้อเกนค่อนข้างหยาบไม่แหลกละเอียด ย่านกลางมาค่อนข้างเยอะกว่า SE Holcomb ตัวเก่า มันเป็นความแผดกร้าวที่มีความเปิดมากขึ้น loose ขึ้นนิดหน่อย พูดอีกอย่างนึงคือ new Holcomb SVN มันดุดันอย่างมีความ organic ไม่ออกสังเคราะห์ๆ พลาสติกๆ เหมือนตัวเก่า แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องบอกว่ามันยังมีความกระชับใช้ได้อยู่นะครับ ไม่ใช่ว่าพอกลางมาเยอะแล้วบวมย้วย ไม่ใช่เลย มันยังจัดว่ากระชับ ตอบสนองไว มีกลิ่น Holcomb tone เต็มๆ เพียงแต่มันไม่ปุบปับฉับไวเท่ารุ่นก่อน นี่คงเป็นผลจากการเปลี่ยนแม่เหล็กจาก ceramic มาเป็น alnico 8 เป็นแน่แท้

ส่วนที่ตำแหน่ง neck humbucker ก็มีความกลม เนื้อเบสเยอะแต่เก็บตัวดีไม่บวมเลย (ซึ่งคาแรคเตอร์แบบนี้คนที่เป็นสายวินเทจจะบอกว่าแข็ง) ส่วนตัวผมโอเคนะ ผมว่ามันเหมาะกับการเล่น gain เยอะๆ ดี มันจะยังชัดเป็นเม็ด ไม่บวมเละง่ายๆ

ผมดูแล้ว new SE Holcomb นี่เริ่มออกแบบให้มาทางออแกนิค เป็นธรรมชาติ ฟังสบายหูขึ้น เป็นมิตรกับการใช้งานที่วาไรตี้มากขึ้น แต่ยังมีความดุดันและความกระชับพอสมควรตามแบบฉบับ Holcomb tone ผมคิดว่าการอัพเดทครั้งนี้น่าจะเป็นที่สนใจของทั้งแฟนกลุ่มเดิมและลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่ไม่ได้ชอบโทนเสียงรุ่นก่อนซักเท่าไหร่

แล้วเสียงมันต่างจากรุ่นเก่ายังไงบ้าง?

สรุป เทียบกับ SE Holcomb ตัวที่แล้ว ผมว่าตัวใหม่นั้น:

  • โทนมีความสว่างขึ้น ไบรท์ขึ้นนิดนึง
  • เปิดขึ้น เริ่มบานๆ มีความ note blooming เพิ่มขึ้นมา ไม่รัดแน่น (จนอาจรู้สึกอึดอัด) เท่าตัวเก่า
  • ความกระชับไม่มากเท่าเก่า มันหลวมนิดๆ ตามชนิดแม่เหล็กที่เปลี่ยนชนิดไป อันนี้คือสิ่งที่ต่างแน่ๆ ชัดเจน
  • ความแรงพอๆ กัน ยังไงก็ยังจัดว่าดุมาก

ถ้าดูคลิปที่ผมเคยเทสต์ตัวเก่า (6 สาย) เทียบกับตัวใหม่ แอมป์เดียวกันเลย จะรู้เลยว่า ตัวใหม่การตอบสนองไม่คมเท่า แต่จะออกบานๆ ฟูๆ เต็มๆหูมากกว่า พูดถึงความกระชับที่ลดลงนี่ ส่วนตัวผมว่ามันฟังดูดีขึ้นนะ คือดู organic เหมือนเสียงกีตาร์ธรรมชาติขึ้นมาหน่อย อย่างไรก็ตาม ผมยังจัดว่านี่ยังเป็นปิคอัพที่ “กระชับ” อยู่ดีนะครับ อันนี้คือเสียง V.1 ถึงจะต่างจำนวนสายกับ tuning แต่ในเรื่องคาแรคเตอร์การตอบสนองนั้นแยกแยะได้ไม่ยาก ที่สำคัญผมอัดสดหน้าตู้ ไม่มีการแต่งเสียงในคอม อันนี้คือของจริงสดๆ แน่นอนครับ

แล้วจัดรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ดีล่ะ?

มันต่างกันครับ แม้แต่ตัวผมเองก็ยากที่จะฟันธงว่าตัวเองชอบอันไหนมากกว่ากัน

  • บางสไตล์ดนตรีผมว่าโทนแบบ new Holcomb ก็เหมาะดี เช่น แนวร็อคตลาด วาไรตี้ ยันเมทัลทั่วไป อะไรที่ต้องการความแรงควบคู่กับฟีลเปิดๆ หน่อย
  • แต่ถ้าต้องการความกระชับสุดขีดและการตอบสนองที่แม่นยำว่องไวแบบ pinpoint accuracy สับริฟฟ์เร็วแค่ไหนก็ได้ยินชัดทุกเม็ด หัวโน้ตเป้งๆ แต่คืนตัวไวโคตรๆ ถ้าอยากสุดทางนั้นก็ต้องเล่นรุ่นเก่า

ณ วันที่ผมเขียนบล็อกนี้อยู่ ได้ข่าวว่าทาง Seymour Duncan จะยังผลิตปิคอัพ Omega Alpha ขายต่อไปนะครับ ไม่ได้ทำ Scourge Scarlet มาแทนที่ ส่วนสองรุ่นหลังนี้ก็จะมีขายเป็นอะไหล่เร็วๆนี้เช่นกัน ก็น่าจะสบายใจกันได้ว่าถึงกีตาร์จะเปลี่ยนเวอร์ชันไป แต่ตัวปิคอัพเก่าก็ยังจะมีขายเป็นอะไหล่ให้ได้ลิ้มลองอยู่ แต่ส่วนตัวผมว่าจะให้ได้ผลลัพธ์ที่ครบถ้วนตามที่เขาออกแบบไว้จริงๆ ก็ควรจะซื้อ SE Holcomb เวอร์ชันแรกทั้งตัวไปเลย จบกว่า ถ้าใครหามือหนึ่งก็รีบหน่อย เพราะมันเลิกผลิตแล้ว

สรุป

ก็หวังว่าที่ผมบรรยายไปจะมี keyword สักคำสองคำที่ช่วยเพื่อนๆ ตัดสินใจเลือกได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ขอขอบคุณร้าน Music Collection เอื้อเฟื้ออุปกรณ์ทดสอบแบบอัดสดบ้านๆ (ผมไม่ได้รับค่าจ้างในการรีวิวครับ ทุกบทความผมอยากเขียนของผมเอง) สำหรับคนที่สงสัยเรื่องราคา ค่าตัว SE Holcomb SVN 2023 อยู่ที่ 42,700 บาท (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2023) ส่วนรุ่น 6 สายนั้นของยังไม่เข้าในช่วงเวลาที่ผมเขียนบล็อกนี้ แต่ทราบจากทางร้านตัวแทนจำหน่ายมาว่าน่าจะเข้าในช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ครับ ผมเดาว่าราคาก็จะต่ำกว่าตัว 7 สายอยู่ราวๆ 3-4 พันบาท ยังไงรอดูเวลาของมาอีกทีดีกว่า

สำหรับใครที่อยากหลอนต่อกับกีตาร์และเครื่องดนตรีอื่นๆของแบรนด์ Paul Reed Smith ฏ้สามารถตามเข้าไปร่วมกลุ่ม PRS Thailand ได้ มีอะไรให้ดูอีกเยอะ ตามมาเลยครับ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ

-หมู ภานุวัฒน์-