รีวิวกีตาร์ PRS SE McCarty 594 Singlecut

หนึ่งในกีตาร์เปิดตัวใหม่ปีนี้ของ Paul Reed Smith ที่เป็นที่สนใจมากที่สุดรุ่นหนึ่งก็คือรุ่น SE McCarty 594 ซึ่งในตระกูล SE 594 นี้ก็จะมี 3 รุ่นย่อยด้วยกันคือ SE McCarty 594 (ทรง doublecut), SE McCarty Singlecut 594 และ SE McCarty 594 Singlecut Standard (บอดี้มาฮอกกานีล้วน) ซึ่งในวันนี้ผมจะรีวิว SE McCarty 594 Singlecut ครับ

2023 PRS SE McCarty 594 family
(Photo credit: prsguitars.com)

รู้จักแต่ Custom แล้ว McCarty คืออะไร ต่างกันยังไง?

ช่วง 1980s สมัยนั้น ลุงพอลซึ่งเพิ่งก่อตั้งบริษัท PRS ได้ไม่นาน กำลังค้นคว้าหาเทคนิคการสร้างกีตาร์ที่ดีที่สุดโดยมีซาวด์กีตาร์ยุค 50s เป็นแรงบันดาลใจ แต่ลองผิดลองถูกยังไงก็ยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ระหว่างคลำหาทางออกอยู่นั้น ลุงพอลได้สังเกตว่ากีตาร์ในยุคทองเหล่านั้นมักมีชื่อบุคคลผู้หนึ่งที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตร เขาคือ Ted McCarty อดีตประธานบริษัท Gibson Company ช่วงปี 1950 – 1966 เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Gibson รุ่นอมตะมากมาย ตั้งแต่ 59 LP, SG, Flying V, Explorer, Moderne, Firebird ยัน ES-335 ซึ่งการันตีอย่างเป็นทางการด้วยสิทธิบัตรหลายใบ รวมถึงสิทธิบัตรการสร้าง humbucker ก็เป็นชื่อของ Ted McCarty ด้วย (Seth Lover เป็นลูกน้องของปู่เท็ด แต่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตร)

ลุงพอลรู้สึกสนใจคนคนนี้มากและรู้สึกอยากพูดคุยกับเขา หลังจากกล้ากลัวๆ สุดท้ายก็กลั้นใจโทรหาคุณปู่แมคคาร์ตี้ (สมัยนั้นปู่อายุประมาณ 70 ปีแล้ว) เพื่อจ้างเป็นที่ปรึกษา ซักถามข้อสงสัย และรับฟังประสบการณ์จากการสร้างกีตาร์ยุคทองของกิบสัน จากนั้นมิตรภาพระหว่างหนุ่มเจ้าของแบรนด์กีตาร์หน้าใหม่กับชายผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์กีตาร์ยักษ์ใหญ่ก็เริ่มขึ้น ปู่ Ted กลายมาเป็นพี่เลี้ยง (mentor) ให้ช่างพอล และถ่ายทอดเทคนิคการสร้างกีตาร์สมัยที่ปู่ยังคุมโรงงาน Gibson ให้ช่างพอล จนเกิดเป็นกีตาร์ PRS McCarty กีตาร์ซีรีส์โทนวินเทจตัวแรกของค่ายซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ปู่เท็ดมาจนถึงปัจจุบัน และมีกีตาร์มากมายหลายรุ่นภายใต้ชื่อนี้ รวมถึง SE McCarty 594 ที่ผมจะรีวิวด้วย

คลิปนี้เล่าความหลังมิตรภาพระหว่างลุงพอลกับปู่ Ted McCarty ครับ

อ่านความเป็นมาของซีรีส์ McCarty แบบเต็มๆ ได้ที่นี่ครับ (มีหลายตอน)

ดังนั้น SE McCarty 594 Singlecut ก็คือสมาชิกรุ่นหนึ่งของตระกูล McCarty และนี่ก็เป็นครั้งแรกของชื่อ McCarty ในสายการผลิต SE ราคาย่อมเยา

แล้วเลข 594 มันสื่ออะไรคล้ายๆ 24 (Custom 24) รึเปล่า?

บางคนคงสงสัยว่าตัวเลข 594 ในชื่อรุ่นบอกอะไร มันก็คือความยาวสเกล 24.594 นิ้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลุงพอลวัดได้จาก Gibson Les Paul ปี 1958 ของจริงที่ซื้อมาวิเคราะห์เพื่อสร้าง McCarty 594 ซึ่งก็น่าแปลกใจว่าความยาวสเกลของกีตาร์ Les Paul ที่แท้จริงในยุคแรกนั้นคือ 24.594 ไม่ใช่ 24.75 อย่างที่ Gibson ผลิตขายอยู่ในปัจจุบัน แต่เอาเถอะ นั่นไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ผมจะรีวิว ฮ่าๆ

แต่สำหรับกีตาร์ Custom 24 ตัวเลข 24 นั้นหมายถึงจำนวนเฟรทที่มี 24 ช่อง ง่ายๆ แค่นั้นเลย ลุงพอลเป็นช่างทำกีตาร์ เป็นนักออกแบบ เป็นมนุษย์ข้อมูล แกชอบตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ของแกเป็นตัวเลข อย่างเช่นกีตาร์รุ่น 513 ก็หมายถึง 5 คอยล์ 13 เสียง หรือ 277 ที่เป็นตัวเลขความยาวสเกลของบาริโทน SE 277 ลุงแกบอกว่าตั้งชื่อแบบนี้มันเชื่อมโยงกับตัวผลิตภัณฑ์ดี ผมก็พอเขาใจมุมมองมนุษย์ข้อมูลที่จะคิดอย่างนั้นเพราะตัวผมก็เป็นคล้ายๆกันในบางครั้ง แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า การตั้งชื่อแบบอิง data มันไร้ชีวิตชีวา ขาดเสน่ห์ และไม่เป็นที่จดจำของคนทั่วไปนะ จริงๆ น่าจะคิดชื่อสวยๆ ที่สื่อความหมายแฝงมาเรียกอะไรแบบนี้จะดีกว่า

เอ้า ออกทะเลไปไกลละ กลับมาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่าครับ

สเปค SE McCarty Singlecut 594

  • Model: PRS SE McCarty Singlecut 594
  • Body: Mahogany, thick
  • Top: Maple with flamed maple veneer
  • Neck: Mahogany, 3 piece
  • Neck profile: Pattern Vintage
  • Fingerboard: Rosewood, radius 10″
  • Fingerboard inlay: Birds, plastic
  • No. of Frets: 22
  • Headstock decal: Paul Reed Smith signature with SE logo
  • Truss rod cover text: McCarty 594
  • Tuners: Vintage
  • Pickups: 58/15 LT ‘S’
  • Controls: 2 volume knobs, 2 push/pull tone knobs, 1 three-way toggle pickup selector on upper bout
  • Bridge: PRS 2 piece stoptail
  • Hardware finish: Chrome and unfinished brass
  • Accessories included: PRS SE gigbag, adjustment tools
  • Price as tested: THB 34,300 (as of January 2023)

กีตาร์รุ่นนี้บอดี้ทำจากไม้มะฮอกกานีหนาๆ หนากว่ารุ่นคัสตอมชัดเจนท็อปแปะด้วยไม้เมเปิ้ลประดับความสวยงามด้วยวีเนียร์ลายเฟลม (ตัวที่ผมลองลายจัดจ้านใช้ได้) ส่วนคอก็ทำจากไม้มะฮอกกานี (ไม่เหมือน SE Custom 24 ที่ทำตากไม้เมเปิล) เชฟ Pattern Vintage ค่อนข้างเต็มมือ โครงสร้างของคอประกอบด้วยไม้สามชิ้นต่อกาวตามยาว ฟิงเกอร์บอร์ดทำจากไม้โรสวูดเรเดียส 10 นิ้วตามธรรมเนียมปกติของ PRS เดินขอบบายดิ้งสีครีมดูหรูหราสง่างามแบบเดียวกับเวอร์ชัน core อินเลย์นกวัสดุพลาสติกตามปกติของ SE series ส่วนใหญ่

ปิคอัพเป็นรุ่น 58 / 15 LT ‘S’ มีฝา หรือเรียกอีกอย่างก็คือรุ่นนี้ถอดแบบโทนมาจากปิกอัพตัว core 594 ที่มาของชื่อรุ่นก็อ้างอิงโทนมาจาก Gibson ปี 1958 ซึ่ง PRS เปิดตัวครั้งแรกในปี 2015 ส่วนคำว่า LT ย่อมาจาก Low Turn หมายถึง เป็นเวอร์ชั่นที่ พันลวดจำนวนรอบต่ำกว่า 58/15 เวอร์ชั่นแรกนิดหน่อย เอาท์พุตเลยลดตามเพื่อความโปร่งสะอาด สามารถตัดคอยล์ได้ด้วยการดึง tone knobs 2 อันขึ้น ทำให้สามารถผสมเสียงได้ 8 แบบเท่าพวก Custom 24-08 แต่น่าแปลกใจที่ PRS ไม่ค่อยย้ำเรื่องนี้เลย เหมือนกลัว 24-08 จะขายยากหรืออย่างไรไม่ทราบ ฮ่าๆ อ้อ ปิคอัพ SE และ S2 มีฐานการผลิตในเอเชียนะครับ

ลูกบิด เป็นแบบวินเทจคล้ายตัว core คือทรงและใบสีงาช้างเหมือนกันเลย แต่ต่างกันที่เสาของ SE 594 ไม่ได้ทำจากทองเหลือง แต่ถึงกระนั้นผมคิดว่าน่าจะมาจากผู้ผลิตเดียวกัน เพราะ core 594 ล็อตที่ใส่ลูกบิดวินเทจปัจจุบันก็ติดลูกบิด Jinho ของเกาหลีมาให้ ซึ่งว่าตามตรงก็คือลดเกรดจาก Gotoh ที่เคยใช้มาตลอดถึงราวๆ ช่วงปี 2012 ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรถ้าลูกบิดของ SE 594 จะแชร์อะไหล่จาก suppler เจ้าเดียวกัน เพื่อเซฟต้นทุนเพราะจะได้สั่งผลิตอะไหล่ล็อตใหญ่แจกจ่ายไปทุกไลน์ผลิต

บริดจ์ เป็นแบบสองชิ้นเหมือนของ core 594 แล้วเป็นครั้งแรกของ SE series ที่ใช้อะไหล่ชุดนี้ซึ่งดีมาก แซดเดิลทรงสี่เหลี่ยมคางหมูยอดเรียวคล้ายของ Gibson แต่ทำจากทองเหลือง เสาบริดจ์และเสา tailpiece ก็ทำจากทองเหลือง พูดถึง tailpiece PRS 2 ชิ้นนี่ผมชอบอยู่อย่าง คือเราเอาสายออกได้ทันทีแค่ยกสายขึ้นจากร่อง ช่วยให้การเปลี่ยนสายเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว

ส่วนฝา knobs ก็ยังใช้แบบ speed อยู่ ซึ่งส่วนตัวผมว่าฝากลมๆ บ้านๆ แบบนี้ใช้งานจริงคล่องยิ่งกว่าฝา PRS Lampshade ของตัว core/S2 ซะอีก แต่คนก็นิยมเปลี่ยนใส่ Lampshade กัน ซึ่งผมก็พอเข้าใจเหตุผลแหละ

speed knob กลมๆ เชยๆ นี่แหละ สำหรับผมคือสุดยอดแล้ว SE ทุกตัวที่ผมมีถึงจะโมดิฟายยังไงผมก็ไม่เคยแตะต้องอะไหล่ส่วนนี้เลย

พลิกมาด้านหลังก็จะเห็นไม้คอและบอดี้ที่มีการต่อไม้เอาไว้ตามปกติของเกรด SE ซึ่งจะหวังให้ใช้ไม้ส่วนละชิ้นอย่าง core series ตัวละแสนกว่าบาทก็คงยาก แต่ถึงอย่างไรก็ต้องชมเชยว่าก็ยังอุตส่าห์เลือกใช้ไม้มาฮอกกานีตรงตามสเปคของ 594 เวอร์ชันต้นฉบับ ไม่กั๊กเหมือน SE หลายๆ รุ่น ที่ชัดๆ เลยก็ SE Custom, SE Silver Sky, SE Mark Tremonti และ SE Floyd Custom 24 ที่ใช้ชนิดไม้ไม่ตรงต้นฉบับ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่ามีผลต่อเสียงพอสมควรเลยนะ

PRS SE ผลิตโดยโรงงาน Cort มาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว จะผลิตที่อินโดนีเซียหรือจีนก็ว่ากันไปแล้วแต่รุ่น ดังนั้นไม่ต้องถามเลยว่ารุ่นนี้ผลิตเกาหลีมั้ย เพราะจะเป็นคำถามที่เชยมากครับ

นอกจากนี้ฝา cavity covers ต่างๆ ก็จะวางในลักษณะแปะไว้บนระนาบบอดี้ง่ายๆ ไม่ฝังราบลงไปเสมอระนาบผิวบอดี้แบบ core series ซึ่งอันนี้จากที่ผมทดสอบใช้งาน ไม่มีผลต่อการใช้งานครับ

คอและบอดี้ต่อไม้ส่วนละ 3 ชิ้น แต่ถ้าเป็น core series จะใช้แค่ส่วนละ 1 ชิ้น

แต่ผมมีข้อสังเกตจุดนึงเกี่ยวกับคุณภาพการผลิตกีตาร์ตัวทดสอบตัวนี้ คือผมสังเกตว่าตรงจุดที่ชายเว้าต่อกับลายเฟลมท็อปนั้น ขอบวีเนียร์ยังเหลือสีไม้เมเปิลธรรมชาติขาวๆ ไว้ ดูแล้วคงเพราะเค้าย้อม(stain) สีมาไม่ทั่ว หรือคนตรวจงาน (QC) ไม่ดูให้ดีก่อนผ่านชิ้นงาน สังเกตรูปด้านล่างนี้ตรงเหลี่ยมชายเว้านะครับ จะเห็นเส้นขาวๆ ที่คั่นระหว่างโซนลายเฟลมกับบอดี้มาฮอกกานีด้านหลัง มันคือจุดที่ทาสีย้อมไม้ไปไม่ถึง

เผื่อนึกภาพตามไม่ออกว่าอะไรคือชั้นวีเนียร์ อะไรคือชั้นท็อปเมเปิล ลองดูรูปตอนผมทำงานสี SE SVN ส่วนที่เรียกว่าวีเนียร์เมเปิลกก็คือแผ่นลายเฟมบางๆ ด้านบน ที่ผมกำลังจะวางแปะลงไปบนส่วน maple top ของกีตาร์ PRS SE ตัวนี้ เวลาผมทาสีผมก็ต้องทาให้ถึงบริเวณขอบแผ่นวีเนียร์บางๆนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นมันจะเหลือขอบวีเนียร์ด้านข้างเป็นสีไม้ขาวๆ แบบ SE594 ตัวนี้ มันจะเหมือนเน้นให้คนเห็นชั้นวีเนียร์ว่าที่เห็นลายๆ ด้านหน้าไม่ใช่ลายแท้ของไม้ท็อป ซึ่งอันนี้ผมจะแจ้งไปทาง PRS เพื่อปรับปรุงการผลิตต่อไป

รูปตอนผมจะติดวีเนียร์แผ่นใหม่ให้SE SVN ชิ้นที่มีลายเฟลมแผ่นบางๆ กว้างๆ นั่นแหละคือชั้นวีเนียร์ลายเฟลม แปะทับชั้น plain maple top ลายเห่ยๆ ไว้ เพื่อความสวยงาม

สัมผัส

สัมผัสแรกที่ผมกำคอยกมันขึ้นมาวางบนขาขวา คือเชพคอนั้นใกล้เคียงกับคอ SC 594 core ของผมมากๆ คือใหญ่ๆ แต่ไหล่ลาดลง ไม่ออกเชพ U สายเล่นง่ายดันสายง่ายเพราะสเกลสั้น น้ำหนักตัวเบากว่า core SC 594 อาจจะด้วยปริมาณเนื้อไม้ที่น้อยกว่า core กับแผ่น top wood ของ SE ที่บางกว่าด้วย ความรู้สึกตอนทำท่าเล่นก็จะแตกต่างจากเวอร์ชันต้นฉบับนิดนึง คือมันจะคอมแพคท์ๆ แขนขวาชิดลำตัวผมมากขึ้นนิดหน่อย งานเฟรทโอเค นัทไม่หนีบสาย (อย่างน้อยก็ตัวที่ผมทดสอบ) ฝา knobs ติดแน่นไม่หลุดตอนใช้งาน

รวมๆ รู้สึกดีที่ฟีลไม่หนีตัว core มากนัก SE ตัวนี้มันดูดีเกินราคาเลยแหละ

เสียง

ผมใช้แอมป์ Mesa Rectoverb 25 combo ซึ่งผมใช้ทดสอบกีตาร์ที่ไม่แรงเพื่อให้แมทช์กับดีไซน์ของกีตาร์ที่สุด ผม EQ ไว้กลางๆ เริ่มจากแชนแนล Clean โน้ตแรกที่เข้าหูคือเสียงที่คุ้นเคยกับที่ตัวเองเล่น core 594 มาหลายต่อหลายตัว มันคือเสียงคลีน McCarty 594 ใสๆ โปร่งๆ ย่านกลางแหลมมากกว่าย่านโลว์อย่างได้สมดุลไม่ป่องบวมย่านกลางจนผมรู้สึกรำคาญอย่างปิคอัพโทนวินเทจของ PRS รุ่นที่แล้วๆมาบางรุ่น พูดตรงๆ ก็ 57/08 กับ 59/09 (ความเห็นส่วนตัวนะครับ) คลีนจากปิคอัพ 58/15 LT เป็นคลีนวินเทจแบบ งงๆ มีความอุ่นอย่างโทนวินเทจแต่เหมือนออกแบบให้เมีการตอบสนองแบบสมัยใหม่ คือพอมันค่อนไปทางสมดุลไม่โด่เด่ย่านใดมากไป เราก็ใช้มันไปทำอย่างอื่นต่อได้ง่าย ปรับง่าย เป็นมิตรกับการใช้งานแบบวาไรตี้มากกว่า ความสมดุลนี้มีทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะตัว bridge (ซึ่งไม่แหลมแปร๋นออกมามาก) กับตัว neck (กลมกล่อมละมุน โปร่ง แต่ไม่บวม โน้ตเป็นตัวดีมาก) แต่ข้อสังเกตก็คือเอาท์พุทมันต่ำมากๆ จึงเหมาะเป็นพิเศษกับการเล่นแบบไล่ไดนามิคเสียงแตกด้วยการเพิ่ม-ลดวอลุ่มบนตัวกีตาร์

สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างนึงคือ เสียงตัดคอยล์ อันนี้ยอมรับว่าแปลกใจ เพราะผมใช้ core 594 มารู้สึกว่าเสียงตัดคอยล์ก็ โอเค ดีกว่าเสียงตัดคอยล์ PRS สมัยก่อนๆ แต่ยังห่างชั้นกับพวกรุ่นที่ออกแบบมาตั้งใจขายภาคตัดคอยล์อย่าง DGT, SE DGT แต่เจ้า SE SC 594 นี่มาแปลก ผมรู้สึกว่าเสียงตัดคอยล์มันโปร่ง เด้ง มีความใกล้เคียงสตรัทมากกว่าตัว core 594 ที่ผมใช้อยู่ซะอีก มันดีแบบหายใจรดต้นคอ SE DGT ที่ผมเพิ่งลองเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้าเลยทีเดียว อันนี้คือเซอร์ไพรส์มาก ผมไม่แน่ใจว่าลุงพอลแอบวางยาอะไรใน SE รุ่นนี้ ถ้าถอดแบบจาก core level จริงทำไมมันฟังดูดีกว่า? หรือผมอ้างอิงจาก core 594 เวอร์ชันที่ยังไม่จูนด้วยกระบวนการ TCI เลยไม่รู้ว่า core 594 TCI-tuned เค้าตัดคอยล์เด้งเพราะกว่าเวอร์ชันไม่ TCI? ทั้งหมดคือปริศนาที่ผมเองก็ยังไม่มีโอกาสพิสูจน์ แต่บอกได้ ณ ตอนนี้ว่า SE SC 594 ตัดคอยล์แจ่มเว่อร์ เอาเป็นว่าจะเอามันไปเล่นฟังก์หรือฟิวชันก็ไหวนะ เห็นหน้าตาคล้ายๆเลสพอลงี้ก็เหอะ

ไปต่อที่เสียงแตกของแชนแนล Lead ของแอมป์ Rectoverb กันดีกว่า อย่างว่า คลีนดี เสียงแตกก็จะดีตาม ด้วยโทนวินเทจที่บาลานซ์ย่านมาดีมากเป็นต้นทุนอยู่แล้ว ทำให้เสียงแตกที่ได้มีเนื้อที่ชัดเจน มี clarity สูง เป็นโทนวินเทจสมูธๆ ที่ไม่มีย่านกลางบวมๆ ให้ผมหงุดหงิดรำคาญแบบตอนใช้ปิคอัพ 59/09 อัดเกน และเนื่องจากมันถูกดีไซน์โทนมาให้มี definition ที่ดี ไม่มีย่านล้นๆท่วมๆ การใช้ neck humbucker เล่นโซโล่ก็จะออกไปในโทนสะอาดๆ มากกว่าข้นเหนียว ถ้าใครชอบเหนียวๆ แนะนำว่าต้องมีก้อน overdrive ข้นๆ โทน 808 อะไรแบบนี้ช่วย (clean booster อาจไม่พอ push amp) ซึ่งผมมองว่าอันนี้ดี กีตาร์ออกแบบมาเปิดโอกาสให้เราเติมนั่นเติมนี่ทีหลังได้ ไม่วินเทจจ๋าเฉพาะเจาะจงมาจน cut หรือ add อะไรทีหลังลำบาก ผมถึงเคยบอกว่านี่คือโทนวินเทจที่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยนะ ไม่ได้วินเทจแก่ๆ บลูส์หางโน้ตทู่ๆ อะไรพรรณนั้นเลย ต้องลองเองแล้วจะเข้าใจ (เลือกใช้แอมป์ให้เข้ากับกีตาร์ด้วยนะครับ)

สรุปเรื่องเสียงผ่านฉลุย ดีเกินคาด แม้แต่ในมุมมองคนมี core 594 อย่างผมเองก็ตาม SE SC 594 เป็นกีตาร์ที่เล่นได้กว้าง วาไรตี้สบายบรื๋อ ไม่ได้วินเทจอะไรจริงจังอย่างหน้าตามันเลย

และอย่างที่ผมเคยพูดไปหลายครั้ง ไม่ว่าใน blog แห่งนี้หรือในกลุ่ม PRS Thailand และผมก็จะย้ำตรงนี้ดังๆ อีกที ว่า “ไม่มี PRS Singlecut ตัวไหนจะเสียงเหมือนกีตาร์ Gibson Les Paul” ถ้าเพื่อนๆ จะซื้อ PRS ทรงนี้ ต้องเข้าใจก่อนเลยว่ามันไม่เหมือนกันไม่ว่าจะเสียงหรือสัมผัส “อย่าหากล้วยในสวนส้ม” นะครับ เตือนแล้วนะ

เรื่องคาใจของผมกับ PRS 594

เนื้อหาตรงนี้ไม่มีอะไร แค่อยากแชร์ความรู้สึกของผมที่มันอัดอั้นเกี่ยวกับ PRS ตระกูลนี้และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง คือแม้ PRS จะออกตัวมาตลอดว่านี่คือรุ่นเรือธงสายวินเทจ แต่จากใจผมนะ จากที่ลองกีตาร์โทนเก่ามาหลายตัวทั้ง Gibson Fender หรือแม้แต่รุ่นร่วมค่ายนกอย่าง Silver Sky ผมแทบไม่รู้สึกว่า 594 เป็นวินเทจอย่างชาวบ้านชาวช่องเลย ใช่ มันไม่แรง ใช่ มันมีความนุ่มนวล และใช่ หน้าตามันดูไปทางกิบสันมากกว่า PRS แต่ที่ SE 594 ทำผมงงคือ มันมีคาแรคเตอร์เสียงที่เนี้ยบเกินไป เพอร์เฟคท์เกินไป สะอาดเกินไป จัดย่านไว้เป็นระเบียบเกินไป บาลานซ์เกินไป ฯลฯ มากกว่าจะมีอะไรขาดๆ เกินๆ อย่างกีตาร์วินเทจแท้ๆ หรือนี่คือโทนที่ลุงพอลค้นพบจากกีตาร์ Les Paul 1958 ตัวนั้น??? ไม่รู้สิครับ ผมไม่เคยเล่นกิบสันปี 1958 ซะด้วย แม้แต่ PRS ก็ไม่เคยทำคลิป (เพราะอาจมีปัญหาทางข้อกฎหมาย) แล้วใครจะไปรู้ว่าเสียง 594 ตรงตามต้นฉบับจริงๆ?

ในฐานะแอดมินกลุ่ม PRS Thailand ผมมักถูกสมาชิกกลุ่มถามหลายครั้งว่า McCarty 594 นี่เสียงเป็นยังไง? ซึ่งผมจะรู้สึกลำบากใจทุกครั้งในการอธิบายลักษณะของโทน (พอๆ กับเมื่อถูกถามโทนของ Custom 24 เวอร์ชันปิคอัพ 85/15) เพราะคาแรคเตอร์มันไม่ชัด ค่อนไปทางเนี้ยบ แต่สมองผมไม่ฟังว่ามันเป็นวินเทจ ผมก็ได้แต่อธิบายว่า “มันก็วินเทจสไตล์ PRS ไม่วินเทจจ๋า เล่นได้กว้างๆ” อะไรประมาณนี้

ส่วนตัวผมคิดว่า ที่จริง PRS ควรจะเลิกอ้างอิงประวัติศาสตร์ของโทนยี่ห้ออื่นและสร้าง “โทนของตัวเองจริงๆ” ได้แล้ว และควรเลิกเสียทีกับการเอาปี ค.ศ. ที่แบรนด์อื่นเขาสร้างประวัติศาสตร์ไว้มาตั้งเป็นชื่อรุ่นปิคอัพของตัวเอง (1957/2008 อิงโทน Gibson, 1959/2009 อิงโทน Gibson, 1953/2010 อิงของ Fender และ 1958/2015 อ้างอิง Gibson) เพราะยังไงเขาก็คือเขา เราก็คือเรา ไม่มีทางเลียนแบบได้เหมือนกัน 100% ยิ่งโหนคนอื่นยิ่งดูตลกยิ่งเหมือนคนไม่มั่นใจตัวเอง ผมคิดว่าเรื่องโทนของ PRS นี่ ผมว่ายุค 90-2000s PRS ยังดูมีอัตลักษณ์ เป็นตัวของตัวเอง และดูมีเสน่ห์กว่าทุกวันนี้มากนัก อันนี้ความในใจของผมนะ แต่คนอื่นไม่คิดอะไรก็แล้วแต่

เห็นมีรุ่น SE DGT ที่เปิดตัวปีนี้ด้วย สนใจอยู่เหมือนกัน แต่ว่ามันต่างจาก SE SC 594 ยังไง?

(Photo credit: Music Collection Thailand)

ถ้าให้สรุปแบบรวบรัด ผมคิดว่า SE DGT มีคาแรคเตอร์ที่ ‘vintage right out of the box tone’ คือดึงออกมาจากกระเป๋า เสียบแอมป์ ดีดปุ๊บรู้เลย วินเทจนี่หว่า กลมๆ อ้วนๆ โซโล่เหนียว หวาน fluid เต็มๆ มีความ muscular ในเนื้อเสียงแตก ชัดเจนรู้ว่าจะเอาไปใช้อะไร ไม่ต้องบรรยายอะไรมาก

แต่ SE 594 นั้นต่างออกไป โทนของมันมี EQ ที่ค่อนข้างราบเรียบ สมดุลย่านมากกว่า SE DGT ไม่ป่องกลาง ไม่อ้วน (ทั้งๆ ที่ทรงเหมือนจะมีเนื้อเบสเยอะ) เสียงมี note clarity ดีกว่า DGT ชัดเจน มันแยกโน้ตเคลียร์ซะจนเล่นโซโล่ไม่เหนียวติดนิ้วหากมี gain ไม่พอหรือไม่มีก้อน od เหนียวๆมาช่วย แต่ผมมองว่าคาแรคเตอร์แบบนี้มีความโมเดิร์น คือในเมื่อมันไม่เด่นทางใดทางหนึ่งมากไป เราก็สามารถเติมย่าน เติมเกน เติมนั่นนี่ลงไปได้เยอะ สะดวกในการใช้งานแบบวาไรตี้กว้างๆ ก็อย่างที่ผมบอกไว้ในหัวข้อที่แล้วแหละ 594 เป็นโทนวินเทจที่แฝงคาแรคเตอร์แบบโมเดิร์นบางอย่างไว้ ซึ่งส่วนตัวผมว่ามันเวิร์คสำหรับมือกีตาร์สมัยนี้

พูดได้อีกอย่างว่าแม้ทั้งคู่จะถูก PRS มุ่งหมายให้ทำตลาดโทนวินเทจเหมือนกัน แต่ทั้งคู่ต่างก็มีเอกลักษณ์ในโทนเสียงที่ต่างกันพอสมควร และผมคิดว่าถ้าเพื่อนๆ ได้มีโอกาสลองเทียบทั้งสองรุ่นตัวเป็นๆ ด้วยตัวเอง ก็จะเข้าใจได้ไม่ยากเลยครับ

สรุป PRS SE SC 594 เหมาะกับใคร?

จากที่ผมทดลองมา กีตาร์ PRS SE McCarty Singlecut 594 เหมาะกับคนที่:

  • เน้นคลีนหรือแตกแบบไม่เมทัลจ๋า เป็นสายวาไรตี้ตั้งแต่บลูส์ คันทรี ฟังก์ ป๊อป ร็อค จนถึงฮาร์ดร็อค
  • ชอบโทนค่อนข้างวินเทจแต่ก็ไม่ใช่สายวินเทจแบบฝักใฝ่จริงจังแบบต้องทู่ต้องบวมต้องฟังดูเก่าอะไร แต่ยังต้องการ clarity ที่ดีเฉกเช่นกีตาร์สมัยใหม่
  • ชอบใช้เสียงตัดคอยล์ ซึ่งผมขอยืนยันว่า SE 594 ตัดคอยล์ดีกว่า SE Custom 24 เยอะครับ
  • ถนัดกีตาร์คออ้วน หรือพร้อมเปิดใจกับเชพคอ 594 ที่ใหญ่แต่เล่นง่าย
  • ไม่เล่นดรอปสายต่ำมาก เพราะเป็นกีตาร์สเกลสั้น
  • มีความเข้าใจสัจธรรมเป็นอย่างดี ว่า PRS Singlecut เสียงไม่เหมือน Gibson Les Paul และไม่สามารถใช้แทนกันได้

แต่อาจไม่เหมาะหรือต้องไปลองก่อนตัดสินใจ สำหรับคนที่:

  • ต้องการกีตาร์แรงๆ หรือเป็นสายเมทัลสมัยใหม่
  • ต้องการกีตาร์ 24 เฟรท
  • ต้องการใช้คันโยก
  • นิยมเล่นแต่คอเชพบางๆ และจะไม่ใช้ PRS ที่คออวบกว่าเชพ Thin
  • drop สายต่ำเป็นนิจ

ส่งท้าย

ก็หวังว่าข้อมูลจากการทดสอบของผมจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่สนใจกีตาร์ PRS รุ่นนี้อยู่บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ขอบคุณร้าน Music Collection สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวอำนวยความสะดวกอุปกรณ์ทดสอบ (ผมไม่ได้รับค่ารีวิวครับ เขียนด้วยใจรัก เขียนฟรีไม่มีค่าจ้างทุกบทความ) ราคากีตาร์ PRS SE McCarty 594 Singlecut ณ วันที่รีวิว อยู่ที่ 34,300 บาท

กลุ่ม PRS Thailand ยินดีต้อนรับเพื่อนๆ ที่สนใจเกี่ยวกับ Paul Reed Smith สนใจคลิกเลยครับ