รีวิวกีตาร์ PRS SE DGT

สวัสดีปีใหม่เพื่อนๆ ที่เข้ามาอ่านบทความในบล็อก moopanuwat.com แห่งนี้นะครับ โอกาสนี้ก็ขออวยพรให้เพื่อนๆ ทุกคนมีความสุขมากๆ สุขภาพจิตแจ่มใส สุขภาพกายแข็งแรง รวยๆๆ มีเงินใช้ไม่ขาดมือ มีงบซื้อกีตาร์ไม่ขาดช่วงนะฮะ

ในปี 2023 นี้ พูดถึงเครื่องดนตรีที่ผมรีวิวประจำๆ ก็มีการเปิดตัวกีตาร์รุ่นใหม่เมื่อช่วงหลังปีใหม่ไม่กี่วันที่ผ่านมา ตั้งแต่รุ่นที่หลายคนรอคอย คือ SE McCarty 594 3 รุ่นย่อย, SE Mark Holcomb เจเนอเรชันใหม่ทั้งสองรุ่นย่อย และก็ยังมี SE DGT ที่ผมกำลังจะรีวิวในบทความนี้ ยังไม่รวม Dustie Waring CE 24 Hardtail Limited Edition อีกต่างหาก คือเยอะไปหมด นี่แค่ต้นปีนะ ระหว่างปีเดี๋ยวมีมาอีก บางอย่างผมก็พอรู้ข่าววงในมาคร่าวๆ แต่ขออุบไว้ดีกว่า หุๆ

และใช่ครับ สำหรับวันนี้ผมขอเปิดศักราชใหม่แห่งการรีวิวเครื่องดนตรี ด้วยกีตาร์ PRS SE DGT สีทองหรูหราหมาเห่าตัวนี้ จะเป็นยังไงไปดูกันครับ

DGT? ชื่อนี้ไม่คุ้นหู มันเป็นไงมาไง

DGT ย่อมาจาก David Grissom Trem หรือก็คือรุ่นลายเซ็นของมือกีตาร์สาย Texas blues ซึ่งเป็นมือปืนห้องอัดระดับแถวหน้าคนหนึ่งของอเมริกา นอกจากเป็นมือกีตาร์สายบลูส์ฝีมือฉกาจแล้ว เขาผู้นี้ยังเป็นเหมือนเพื่อนคนสำคัญคนหนึ่งของลุงพอล และรู้จักคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ ที่ตั้งบริษัท ซึ่งบางครั้ง DG ก็มีส่วนช่วยพอล “ฟังเสียง” เพื่อให้ข้อคิดเห็นสำหับการพัฒนาเครื่องดนตรีบางรุ่น เช่น McCarty ด้วย และในปี 2007 DGT (core version) ก็ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในฐานะกีตาร์รุ่นลายเซ็นของมือกีตาร์ท่านนี้ ซึ่งจากที่ผมเคยลองใช้มา มันเป็นกีตาร์ที่ดีมากรุ่นนึงเลย และมีเอกลักษณ์ค่อนข้างชัดซึ่ง PRS รุ่นไหนๆ ก็ไม่เหมือน แต่รุ่นนี้ดูจะไม่เป็นที่สนใจของตลาดบ้านเราเท่าใดนัก ผมคิดว่าส่วนนึงก็คงเพราะเจ้าของลายเซ็นชื่อไม่เป็นที่รู้จักในไทย ประกอบกับหน้าตากีตาร์รุ่นนี้ที่ดูแปลกกว่าเพื่อนร่วมค่ายจนคนไม่กล้าซื้อมาเล่น ซึ่งเหตุผลข้อหลังนี้ถ้าเป็น core level ราคาแสนกว่าบาทก็พอเข้าใจได้ที่คนจะไม่มองของแปลกตาราคาสูง แต่ในปีนี้ เมื่อลุงพอลกับลุงเดฟเปิดตัว DGT เวอร์ชัน SE ผมก็มองว่าเป็นข่าวดีมากๆ เพราะเพื่อนๆ จะได้มีโอกาสลิ้มลองของดีราคาประหยัดอีกรุ่นหนึ่ง

David Grissom กับกีตาร์ PRS DGT (Core USA)
(Photo credit: www.prsguitars.com)

สำหรับรุ่น DGT นั้นเป้าหมายของ PRS ก็คือมุ่งทำตลาดโทนเสียงวินเทจ/คลาสสิคร็อค/บลูส์ เป็นหลัก ซึ่งบอกได้เลยว่าทั้งเสียงและสัมผัสรวมถึงการใช้งานของรุ่นนี้ ต่างจาก Custom 24 เยอะครับ สำหรับผมคือสองรุ่นนี้ไม่สามารถใช้แทนกันได้ซะทีเดียว

ผมเคยทดสอบ DGT core USA มาแล้ว ที่อยากทดสอบเวอร์ชัน SE ในครั้งนี้ ส่วนนึงก็เป็นความอยากรู้ของผมเอง ว่าเทียบกับ Core level ที่เคยลองแล้ว ตัว SE จะสามารถเทียบชั้นได้แค่ไหน นั่นเอง

กดอ่านรีวิว PRS DGT (เวอร์ชัน Core USA) ได้ที่นี่ครับ

เกริ่นมาพอเห็นภาพ ต่อไปดูสเปคกันเลย

สเปคและสัมผัส

  • Model: PRS SE DGT
  • Body: Mahogany
  • Top:
    • Gold Top Finish: Maple with opaque finish
    • McCarty Tobacco Sunburst Finish: Maple with flamed maple veneer
  • Neck: Mahogany, 1 piece
  • Neck profile: DGT
  • Fingerboard: Rosewood, radius 10″
  • Fingerboard inlay options:
    • Gold Top Finish: Moons
    • McCarty Tobacco Sunburst Finish: Birds, plastic
  • No. of Frets: 22
  • Headstock decal: Paul Reed Smith signature with SE logo
  • Truss rod cover text: DGT
  • Tuners: PRS SE, non-locking
  • Pickups: DGT ‘S’
  • Controls: 2 volume knobs, 1 master push/pull tone knobs, 1 three-way toggle pickup selector
  • Bridge: PRS molded tremolo
  • Hardware finish: Chrome
  • Accessories included: PRS SE gigbag, adjustment tools
  • Price as tested: THB 30,800 (Gold Top), THB 32,900 (McCarty Tobacco Sunburst) as of January 2023

หยิบกีตาร์ SE DGT ขึ้นมาพิจารณา โดยรวมก็ดูเรียบร้อยตามมาตรฐาน PRS SE งานสี งานประกอบ งานเฟรทโอเค knobs ทั้งสามอันติดแน่นวางตรงไม่เบี้ยวเหมือน SE ปีใหม่ๆ บางตัวที่เคยผ่านตา เชพคอใหม่ DGT ให้ความรู้สึกคล้าย Wide Fat คือออกเชพ U เต็มๆ อุ้งมือ SE DGT ไม้คอทำจากมาฮอกกานีชิ้นเดียวนะครับ ไม่เหมือน SE Custom ที่ใช้ไม้เมเปิลชิ้นบางๆ ต่อกาว 3 ชิ้น และก็ไม่เหมือน SE 594 ที่ใช้ไม้มาฮอกกานีเหมือนกันแต่ต่อกาว 3 ชิ้น ก็ถือว่า SE DGT มีความ true to the original มากกว่า ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญต่อโทนเสียงและซัสเทนด้วย

เฉพาะสีทอง Gold Top ที่มากับอินเลย์ Moons นะครับ ส่วนสี McCarty Tobacco Sunburst จะมากับอินเลย์นก

ตัวทดสอบของผมเป็นสี Gold Top แปลว่าอินเลย์จะเป็นรูปพระจันทร์ ซึ่งดูใกล้ๆ ก็เก๋คลาสสิคดี (อินเลย์ดีไซน์นี้มีมาตั้งแต่ก่อนลุงก่อตั้งบริษัทนะครับ) ส่วนงาน finishing นี่จะว่าไปไอ้สีทองเมทัลลิคนี่ดูใกล้ๆ สวยดีเหมือนกันแฮะ

knobs 3 อันเรียงเป็นแถวกับ toggle 1 อัน เป็นเอกลักษณ์ของ PRS รุ่นนี้ แต่สิ่งที่ต้องบอกเพื่อนๆ ก่อนเลยคือ กีตาร์รุ่น DGT ไม่ว่าจะเป็นเกรด SE หรือ Core คือ knob ตัวที่อยู่ใกล้มือเรามากที่สุด (ขณะเล่น) เป็น volume knob ของปิคอัพตัว bridge นะครับ knob ตัวถัดลงไปต่างหากที่ไว้คุมความดังของปิคอัพตำแหน่ง neck ส่วน tone knob เป็นมาสเตอร์ คุมรวมทั้งสองตำแหน่ง และใช้ดึงตัดคอยล์ปิคอัพทั้งสองตำแหน่งพร้อมๆกันด้วย ปิคอัพเป็นรุ่น DGT ‘S’ มีฝาครอบเงาวับ ปิคอัพที่มีรหัส S ต่อท้ายชื่อรุ่นจะว่าไปก็คือปิคอัพเกรด SE/S2 ผลิตอินโดนีเซีย ที่จูนเสียงมาให้ตรงกับต้นฉบับตัว core USA ให้มากที่สุดนั่นเอง

พลิกดูด้านหลังก็โอเค เหมือนเดิมตามสไตล์ SE เหมือนกระทั่งลูกบิด PRS SE ที่ไม่ล็อกสาย 5555 ผมขี้เกียจจะด่าละ เบื่อ ใครอยากได้ล็อกสายก็ต้อง ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไปซื้อ SE Locking tuner มาเปลี่ยนใส่ หรือไม่ก็ใช้ Gotoh SG-381 ก็ได้เหมือนกัน ส่วนฝา cavity covers เป็นแบบแปะอยู่เหนือระนาบพื้นผิวบอดี้กีตาร์ ไม่ฝัง (recessed) ให้เสมอขอบแบบ Core level อันนี้ก็เป็นไปตามราคากีตาร์นะครับ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ไม่ได้กระทบการใช้งานหรอก อ้อ และถ้าใครยังสงสัยว่า SE รุ่นนี้ผลิตที่ประเทศอะไร คำตอบคือกีตาร์ SE ทุกรุ่นนับตั้งแต่ปี 2018 ย้ายฐานการผลิตจากเกาหลีใต้มาที่อินโดนีเซียและจีนครับ

โลโก้ DGT

สุ้มเสียง

ผมทดสอบด้วยแอมป์ Mesa Rectoverb 25 Combo แอมป์หลอดโทนวินเทจที่ผมใช้ทดสอบกีตาร์ PRS สายวินเทจอยู่ประจำ เปิดรีเวิร์บไว้หน่อยๆ พอให้ลื่นหู

เริ่มจาก Clean channel กีตาร์ SE DGT ปิคอัพตัว neck ให้ความอิ่ม อุ่น ย่านกลางมาเต็ม ละมุน แก๊ก bridge humbucker มีความป่องกลางขึ้นมาสำเนาถูกต้องอย่างที่กีตาร์สไตล์วินเทจควรจะเป็น ตำแหน่ง bridge ก็ติดป่องๆ แหลมๆ ก๊องๆ ตามสไตล์กีตาร์โทนนี้ ผมไม่ได้ใช้เวลากับแก๊กนี้มากเพราะส่วนตัวไม่ชอบใช้ bridge humbucker โดดๆ เล่นเสียงคลีน

แต่สิ่งที่ขึ้นชื่อของรุ่น DGT ที่กล่าวขวัญกันจริงๆคือเสียงตัดคอยล์ ใช่ครับ เสียงตัดคอยล์ เพื่อนๆ ไม่ได้อ่านผิด จากที่ผมทดลองดึง tone knob ขึ้นเพื่อทดสอบเสียง ก็ถือว่าทำได้ดีมาก โปร่ง เด้ง มีชีวิตชีวา ไม่ว่าตำแหน่งไหน มันเป็น SE ที่ตัดคอยล์ได้ใกล้เคียงกีตาร์สตรัทที่สุดแล้วในชั่วโมงนี้ ผมชอบตำแหน่ง neck และ middle มาก เล่นด้วยนิ้วหรือสับคอร์ดไวๆ โคตรสนุก เด้งสู้มือ มันทำได้ดีสูสีเวอร์ชัน Core เลยให้ตายเถอะ ผมใช้เวลากับตรงนี้พักใหญ่ๆ ให้แน่ใจว่า เออ SE ตัวนี้มันสูสีรุ่นพี่มันจริงๆ ไม่ได้คิดไปเอง เพราะสำหรับผมแล้วตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของ PRS รุ่นนี้

กด tone ลงแล้วสับไปที่แชแนลเสียงแตก ที่ตำแหน่ง bridge humbucker สุ้มเสียงมีย่านกลางที่เด่น เบสไม่เยอะมาก การตอบสนองค่อนข้างหลวมๆ ไม่ tight ไม่อึดอัด เหมาะกับดนตรีแนว classic rock มากเป็นพิเศษแต่ไม่เหมาะกับการสับริฟฟ์เมทัลเท่าไหร่นัก ส่วนเสียงของ neck humbucker มีความอ้วนๆ อิ่ม หวาน จับคู่กับแอมป์ให้ถูกประเภทแบบ Mesa Rectoverb แอมป์คลีน หรือแตกตระกูล Marshall นี่เล่นโคตรเล่นเพลิน คาแรคเตอร์กีตาร์รุ่นนี้ชัดเจนว่านี่คือกีตาร์โทนวินเทจแบบชัดเจนไม่ต้องสงสัย ไม่เหมือนเพื่อนร่วมค่ายบางรุ่นที่ผมเองก็งงว่ามันวินเทจยังไง

สรุปในเรื่องเสียง ผมต้องบอกว่าประทับใจมาก SE DGT ทำได้ดีชนิดสูสีกับตัว Core USA เลย ตอนที่ผมลอง core DGT ความรู้สึกมันก็ประมาณนี้แหละ โดยเฉพาะเสียงตัดคอยล์ซึ่งทำได้ดีมากจริงๆ อยากให้ลอง ส่วนเสียง full humbucker ก็ต้องบอกว่าคาแรคเตอร์มันชัดมากนะว่าอิ่มอ้วนแบบวินเทจ ถ้าเข้าใจลักษณะของมันและเอาไปใช้ถูกกับงานรับรองว่า ฟิน

แต่ราคาถูกกว่าตัว Core เยอะนะ มันต้องมีอะไรต่างกันบ้างสิ ใช่มะ?

ถ้าถามว่าแล้วมันรู้สึกต่างจากตัว core version ยังไงบ้าง ผมคิดว่าเป็นเรื่อง clarity ของเสียง full humbucker ที่ตัว core จะเคลียร์กว่านิดนึง definition ดีกว่าหน่อย เสียงดีดเปล่ากังวานกว่าตามเกรดโครงสร้างและอะไหล่ และถ้าจำไม่ผิดเหมือน core DGT ซัสเทนจะยาวนิ่งกว่าเล็กน้อย แต่ความต่างทั้งมวลก็น้อยจนผมกล้าพูดได้ว่า SE DGT ยังหยิบยื่นประสบการณ์ DGT tone ในส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญได้อย่างครบถ้วนเลยทีเดียว

สรุป

ก็ต้องบอกว่า PRS SE DGT เป็นกีตาร์ที่ดีมากๆ อย่างไม่ต้องสงสัย และส่วนตัวผมจากประสบการณ์ที่ลองใช้ตัว core version มา ความแตกต่างของรายละเอียดเสียงที่แบ่งแยกสองเวอร์ชันนั้น ไม่มากเท่ากับส่วนต่างราคาที่ห่างกันถึง 4 – 5 เท่า ดังนั้นผมก็ต้องบอกตามตรงว่าเพื่อนๆ ไม่ควรมองข้าม SE DGT อย่างยิ่ง และสำหรับคนที่เน้นเล่นหวาน เล่นเพราะ เล่นคลีน ไม่เล่นแรง และต้องการกีตาร์ PRS ตัวเดียวที่ดูหล่อทั้งเสียง humbucker และ single coil SE DGT คือกีตาร์ที่คุณต้องลองครับ

ราคา ณ เดือนมกราคม 2566 สีทองอินเลย์พระจันทร์ อยู่ที่ 30800 บาท ส่วนสี McCarty Tobacco Sunburst ท็อปลายเฟลมอินเลย์นก อยู่ที่ 32900 บาท สนใจทดสอบกีตาร์ PRS SE DGT เชิญแวะไปที่ร้าน Music Collection ครับ ขอขอบคุณทางร้านที่เอื้อเฟื้อกีตาร์สำหรับทดสอบด้วยครับ (ผมไม่ได้รับค่าจ้างในการทดสอบครับ)

สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากรู้จักแบรนด์ Paul Reed Smith มากกว่านี้ ขอชวนมาเข้าร่วมกลุ่ม PRS Thailand ของผมครับ ที่นี่ยังมีอะไรเกี่ยวกับ PRS ให้อ่านให้หลอนอีกมากมาย ตามมาเลย

ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านบล็อกของผมนะครับ

หมู ภานุวัฒน์