รีวิวกีตาร์ PRS DGT (David Grissom Tremolo)

ผมจับกีตาร์ PRS มาหลายต่อหลายตัว เล่นมาก็หลายรุ่น แต่มีอยู่บางรุ่นที่ผมอยากลองมานานแต่ก็หาลองไม่ได้สักทีเนื่องจากบ้านเราไม่ค่อยมีคนใช้กัน หนึ่งในจำนวนนั้นคือรุ่น DGT หรือ David Grissom Tremolo รุ่นลายเซ็นของมือกีตาร์สายบลูส์ร็อคท่านหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกา

มันคืออะไร?

DGT หรือ David Grissom Tremolo รุ่นลายเซ็นของมือกีตาร์สายบลูส์ร็อคจากรัฐเท็กซัส David มีความสนิทสนมกับลุง Paul Reed Smith และพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องโทนเสียงกีตาร์กันบ่อยจนลุงพอลเคยให้ฉายา David ว่าเปรียบเสมือนหูของลุงเอง

กีตาร์รุ่นนี้เปิดตัวหลังจากที่ PRS หยุดการผลิตรุ่น McCarty เวอร์ชันเก่าในปี 2008 ในตอนนั้นว่ากันว่า DGT จะมาแทน original McCarty แต่หลังจาก PRS กลับมาเปิดตัว McCarty 58 ในปี 2011 ก็เป็นที่แน่ชัดว่า PRS จะยังทำตลาดรุ่น McCarty ต่อไป ไม่เกี่ยวกับ DGT

สเปค

  • Model : DGT (David Grissom Trem), 2022 Specs
  • Body : Mahogany, McCarty thickness, 1 piece
  • Top : Figured maple
  • Neck : Mahogany
  • Neck profile (s) : DGT
  • Scale length : 25″
  • Number of frets : 22, Dunlop 6100
  • Fingerboard : Indian rosewood
  • Fingerboard inlay : Moons or Birds
  • Headstock veneer : None
  • Headstock inlay/logo : PRS Signature, Gold Metal Sticker
  • Truss rod cover text : DGT
  • Tuners : PRS Tweak Phase III locking, Faux Bone Buttons
  • Bridge : PRS Gen 3 Tremolo
  • Pickups : DGT
  • Electronics : 3 way toggle switch, 2 Volumes, 1 Tone, clear speed knobs
  • Hardware : Nickel
  • Finish : PRS Gloss Nitro
  • Accessory : Hardshell case

DGT ถูกสร้างโดยมีรุ่น McCarty เป็นพื้นฐาน ดังนั้นโครงสร้างตัวกีตาร์ก็จะคล้ายๆกัน เริ่มจากบอดี้ที่หนาเท่ากัน (คือหนากว่ารุ่น Custom ราวๆสองสามมิล) คอเชพใหญ่กว่าของ Custom เฟรทก็ใหญ่กว่า Custom เพราะใช้ของ Dunlop เบอร์ 6100 และแน่นอนว่ามี 22 เฟรท ไม่ใช่ 24 ส่วนความยาวสเกลก็ 25 นิ้ว เรเดียส 10 นิ้วเท่า original McCarty แม้จะถูกวางตัวเป็นรุ่นสายวินเทจ แต่ก็ยังตามรอยต้นแบบ ไม่ออกทางกิบสันจ๋าอย่างรุ่น 245 หรือ McCarty 594 แต่อย่างใด

แม้มี McCarty เป็นต้นแบบ แต่ก็มีความเฉพาะตัวหลายอย่างใน PRS รุ่นนี้ เช่นใบลูกบิดที่เป็นวัสดุสังเคราะห์ผิวสัมผัสคล้ายกระดูก หัวกีตาร์เวอร์ชันปัจจุบัน (โมเดล 2020) ไม่แปะวีเนียร์ ซึ่งต่างจาก Core โมเดลปัจุบันทุกรุ่น นอกจากนี้ DGT ยังเป็น PRS Core model เพียงรุ่นเดียวในปัจจุบันที่ยังมากับอินเลย์บอร์ดรูปพระจันทร์เป็นสเปคมาตรฐาน ส่วนอินเลย์นกนั้นเป็นออพชันที่ต้องจ่ายเพิ่ม คือเหมือนกับ PRS ยุค 80s – 2000s ยังไงยังงั้นเลย

PRS DGT อินเลย์พระจันทร์
ตัวที่ผมลองมากับอินเลย์นก J. Birds เช่นเดียวกับ Core Custom 24 เวอร์ชันปัจจุบัน

สเปคที่เป็นเอกลักษณ์ต่อมาของ PRS รุ่นนี้ที่หลายคนคงสะดุดตามากที่สุด คือ control layout แปลกที่เป็น knobs 3 อันใช้งานร่วมกับ Toggle switch วอลุ่มสองอันหน้าเป็นวอลุ่มสำหรับปิคอัพ neck และ bridge แยกจากกัน แต่การจัดวางจะงงๆ นิดนึง คือวอลุ่มตัวหน้าใช้คุม bridge PU ส่วนอันกลางคุม neck PU ส่วน Tone นั้นเป็น master คุมทั้งหมดพร้อมกัน และสามารถดึงขึ้นได้เพื่อตัดคอยล์ ซึ่งต้องบอกเลยว่า เสียงตัดคอยล์ของมันนั้น สุดมาก และแน่นอน สเปคมาเฉพาะรุ่นขนาดนี้ ปิคอัพเขาก็ต้องใช้ของตัวเองโดยเฉพาะเช่นกัน เจ้านี่จึงมากับปิคอัพ DGT set ฝาปัดด้านสุดหรูดูแพง น่าสังเกตว่าสำหรับโมเดลล่าสุดนี้ นอกจากจะใช้สเปคย้อนยุคไม่แปะวีเนียร์หัวกีตาร์แล้วแล้ว ยังเปลี่ยนฝา knobs จาก PRS Lampshade (ทรงโคมไฟ 12 เหลี่ยม) กลับไปใช้แบบฝากลมเกลี้ยง (Speed knobs)

DGT โมเดลล่าสุด ย้อนยุคกลับไปใช้ knobs แบบ Speed

นอกจากสเปคเฉพาะของรุ่น ตัวที่ผมลองซึ่งเป็นโมเดลล่าสุดก็ยังมีการอัพเดทอะไหล่บางส่วนตามยุคสมัยถึงไม่เกี่ยวกับรุ่นนี้ หลักๆก็คือชุดลูกบิดล็อกสาย Phase III ซึ่งอัพเกรดเป็นเวอร์ชัน ‘ปรับปรุง (Tweaked)’ ที่ยกมาจากของรุ่น McCarty 594 ลูกบิดเฟสสามเวอร์ชั่นล่าสุดนี้มีสกรูตัวหนอนเล็กๆ ฝังไว้ตรงโคนปลอกก้านลูกบิด เจ้าสกรูเล็กๆ นี้ช่วย “จับ” แกนหมุนสายเอาไว้ เพื่อลดแรงกดจากใบลูกบิดไม่ให้กระทำต่อชุดกลไกลูกบิดมากเกินไป ผลที่ได้คือมีการสูญเสีย vibration energy จากสายมาทางใบลูกบิดน้อยลง เสียงอคูสติกออกเต็มขึ้น และที่สำคัญ ช่วยเบาแรงของเราขณะหมุนใบลูกบิดตั้งสาย ซึ่งจากที่ผมเคยใช้ PRS มาหลายตัว ลูกบิดแบบล่าสุดนี้ดีกว่าลูกบิด PRS ทุกรุ่นที่เคยมีมาอย่างเห็นได้ชัด

ตัวอย่างชุดลูกบิด PRS Tweaked Phase 3 ของผมซึ่งแกะออกมาจากกีตาร์ McCarty 594

นอกจากลูกบิดรุ่นปรับปรุงที่ได้อัพเกรดใหม่ ชุดคันโยกก็ยังอัพเดทเป็นตัวล่าสุดด้วย คือเป็นคันโยกเจเนอเรชัน 3 (PRS Gen 3 Tremolo) จุดสังเกตหลักๆ คือมีการขุดร่องยาวๆ 12 ร่องบนผิวฐานคันโยก ร่องเล็กๆพวกนี้อยู่ตรงใต้ปลายสกรูตั้งความสูงแซดเดิลพอดี เหตุผลที่ต้องมีร่องพวกนี้ก็เพื่อให้ vibration ที่สายส่งผ่าน saddle แต่ละตัว ถูกถ่ายลงบอดี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เป็นรายละเอียดเล็กน้อยที่ลุงพอลไม่มองข้าม อันที่จริงชุดคันโยกรุ่นสามไม่ใช่ของใหม่ซะทีเดียวนะครับ เพราะเปิดตัวตั้งแต่ปี 2016

ตัวอย่าง PRS Gen 3 Tremolo (รูปจาก hiendguitars.com)

สัมผัส

คงต้องบอกว่าสำหรับคนที่จับ PRs McCarty มามากแบบผม เมื่อจับ DGT มาไว้ข้างเอวครั้งแรกมันคือความคุ้นเคยคล้ายๆ ตอนที่เอา McCarty มาวาง บอดี้แน่นๆ คอ 22 เฟรทเรเดียสสิบ แต่เมื่อเอื้อมมือซ้ายไปกำคอ ก็เริ่มรู้สึกถึงความแปลกแยกแตกต่าง ด้วยเชพคอที่ แม้จะถือว่าใหญ่ แต่ช่วงไหล่ของคอกีตาร์รุ่นนี้มีความเรียวบางอย่างน่าแปลกใจ มันไม่เหมือนคอ PRS รุ่นไหนเลยที่ผมเคยจับมา จึงทำให้การเล่นเป็นไปอย่างง่ายดาย มือขวาที่ปกติเคยวางไว้บนบริดจ์แบบ Stoptail ของ McCarty มาตอนนี้มันกลายเป็นคันโยกแบนๆ ต่ำๆ จะว่าไปผมรู้สึกว่า DGT เหมือนเป็น McCarty ที่มีความคล่องตัวมากขึ้น แอบไปทาง Custom มากขึ้นนิดนึง

คอนโทรลต่างๆ แม้เมื่อมองจากด้านหน้าจะดูพิลึกจาก PRS ทุกรุ่น แต่เมื่ออยู่ในท่านั่งพร้อมเล่นก็ไม่ได้ใช้ยากอะไร แค่จำไว้ว่าวอลุ่มตัวหน้าสุด มันใช้คุมความดังของปิคอัพตัวหลังสุด ก็พอ 555 สำหรับ Speed knob ที่ไม่น่าเชื่อว่ามันจะยังมีใน core PRS ค.ศ. 2022 นั้น หลายคนคงรู้สึกว่ามันอยู่ผิดที่ผิดทางรึเปล่า แต่สำหรับผมผู้ซึ่งชื่นชอบ Speed knobs มากกว่า Lampshade เป็นการส่วนตัวมาแต่ไหนแต่ไร คงต้องบอกว่านี่คือโบนัส เพราะผมรู้สึกมาตลอดว่า ไอ้ Speed knob กลมๆ บ้านๆ นี่แหละ เวลาใช้นิ้วเกี่ยวหมุนวอลุ่ม มันกระชับกว่า แน่นกว่า การใช้งานจริงเร็วกว่า Lampshade อย่างรู้สึกได้

สัมผัสอีกอย่างที่แตกต่างจาก PRS core ปีเก่าๆ คือกีตาร์ปีใหม่ใช้สารเคลือบแบบไนโตร ซึ่งจะรู้สึกเหนียวมือกว่าสารเคลือบแบบปีก่อนๆ เล็กน้อย มองดูใกล้ๆจะเห็นว่าสูตรเคลือบไนโตรใหม่นี้ บาง ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับกีตาร์เก่า/กีตาร์รีลิค มากขึ้น

เสียง

จากที่ทดสอบทั้งคลีนและแตกของแอมป์ Mesa Rectoverb 25 combo โดยทดสอบทั้ง humbucker mode และตัดคอยล์ มันทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่มักอ่านเจอตามฟอรั่มออนไลน์ต่างประเทศเกี่ยวกับกีตาร์ PRS DGT ขึ้นมาทันที คือโทนเสียง single coil ที่ได้จากการตัดคอยล์นั้นมีความใกล้เคียงกับเสียงซิงเกิลคอยล์จากกีตาร์สไตล์สตรัทอย่างมาก ซึ่งจากที่ผมลองก็ต้องยืนยันตามนั้น เสียงตัดคอยล์มีวคมาเด้งสู้มือ ใส โปร่ง วอลุ่มก็ไม่ดรอปมากด้วย เล่นฟังก์เล่นป๊อปใสๆ เวิร์คสุดๆ

ถ้าเพื่อนๆ สงสัยว่าเทียบกับเสียงตัดคอยล์ของพวก Custom 24, McCarty, McCarty 594, Paul’s Guitar ฯลฯ แล้วเป็นอย่างไร ผมก็ต้องบอกตามตรงว่า DGT ดีกว่าเยอะครับ เพราะฟังดูมันสมจริงกว่า ตอบสนองคล้าย single coil จริงๆมากกว่า ถ้าจะมี PRS รุ่นไหนที่พอเทียบชั้นในเรื่องนี้ได้ ผมนึกออกแค่ 513 เพียงรุ่นเดียว แต่อันนั้นตัดคอยล์ก็เกิดเสียงจี่ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นในการใช้งานจริงผมว่า DGT จะเหนือกว่า 513 ในเรื่องความเงียบ

PRS 513

ส่วนเสียงในโหมด full humbuckers นั้น ให้โทนอ้วน อิ่มย่านกลาง มีความวินเทจสไตล์ PRS ยุค 2000s คือไม่สะอาดใสแบบ 594 ของยุคนี้ แต่มันเป็นความอุ่นอ้วนที่เหมาะไปทางบลูส์เก่าๆ เกนน้อยถึงปานกลาง หรือคล่าสสิคร็อคก็โอเค แต่ที่น่าจะไม่เหมาะคือแนวเมทัลใหม่ๆ ที่ใช้เกนเยอะและต้องการการตอบสนองไว เนื่องจากคาแรคเตอร์ปิคอัพของ DGT มีความเหนียว ย่านกลางอ้วน เพื่อใช้กับแนวที่ผมได้บอกไป ไม่ได้ออกแบบมาให้แรงหรือกระชับอย่างปิคอัพแนวเมทัลสมัยใหม่ ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดอะไรของกีตาร์รุ่นนี้นะครับ อยู่ที่เราต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับงานมากกว่า

คลิป ผมลองเสียง DGT ครับ สังเกตว่าผมจะวนเวียนอยู่กับเสียงตัดคอยล์นานมาก เพราะผมรู้สึกจริงๆว่าการตัดคอยล์คือจุดแข็งของ PRS รุ่นนี้

สรุป

PRS David Grissom Tremolo งานเนี้ยบตามแบบฉบับ PRs Core USA มากับสุ้มเสียงอุ่นอ้วนเหมาะกับแนวบลูส์และคลาสสิคร็อค แต่มันยังซ่อนอาวุธลับมาในรูปแบบบของเสียงตัดคอยล์ที่ยอดเยี่ยมสุดๆ

เหมาะกับใคร? – สายวินเทจ สายบลูส์ร็อค คนที่อยากได้ PRS ที่เล่นแนวที่ว่ามา พร้อมๆกับเล่นโทนสตรัทได้แบบ ดีเลิศ พร้อมๆกัน และมีกำลังทรัพย์พอสู้กับค่าตัวระดับ PRS Core USA ได้ เนื่องจากกีตาร์รุ่นนี้ไม่มีเวอร์ชั่นราคาประหยัด

ไม่เหมาะกับใคร? – คนที่ต้องการความแรง ความกระชับ การตอบสนองแบบดนตรีเมทัลยุคใหม่ คนที่ต้องใช้กีตาร์ 24 เฟรท

ราคา ณ เดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 168,000 บาท สนใจติดต่อร้าน Music Collection และขอขอบคุณทางร้านที่เอื้อเฟื้อกีตาร์ PRS DGT ให้ผมได้ทดสอบด้วยครับ

สำหรับคนที่สนใจกีตาร์ PRS ตามไปหลอนกันต่อได้ที่กลุ่ม PRS Thailand กันได้ครับ มี PRS แจ่มๆ มาให้ชมทุกวัน คลิกเลย