รีวิว กีตาร์ PRS SE Mark Holcomb (2016 – 2022)

เมื่อปี 2016 PRS เปิดตัวกีตาร์ SE รุ่นใหม่รุ่นหนึ่งที่แม้ดูเผินๆ จะคล้ายๆ รุ่น Custom 24 แต่แตกต่างมากมายเหลือเกินในรายละเอียด ชัดๆ ก็ตั้งแต่ลายไม้ สี อะไหล่ต่างๆ ความยาวคอ ฯลฯ กีตาร์ยุคนี้มีความเป็นโมเดิร์นมากที่สุดรุ่นนึงในไลน์ SE เอาว่ามองปราดเดียวก็รู้ว่า SE รุ่นนี้ไม่ใช่ Se Custom 24

ในสายตาของผม กีตาร์ PRS รุ่นนี้แตกต่างจากรุ่น Custom 24 แบบคนละฟีล คนละเสียง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง และเพราะเหตุนี้มันจึงเป็นกีตาร์ที่ “ถ้าไม่รักก็เกลียดเลย” ซึ่งผมเองก็เคยเป็นคนที่เกลียดบางอย่างในตัว PRS รุ่นนี้มาก่อน กีตาร์รุ่นที่ผมกำลังพูดถึงอยู่ก็คือรุ่น SE Mark Holcomb นั่นเอง

มันคืออะไร?

PRS รุ่นนี้เป็นรุ่นลายเซ็นของ Mark Holcomb มือกีตาร์วง Periphery มือกีตาร์วง Periphery วงแถวหน้าสาย djent metal ผู้สไตล์การเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ ฟอร์มคอร์ดประหลาดๆ voicing แปลกๆ แต่ดุดันมันส์ในอารมณ์ PRS Mark Holcomb เปิดตัวเป็น USA limited ในปี 2015 และต่อมา PRS ได้ผลิตรุ่นนี้แบบไม่จำกัดจำนวนในเวอร์ชัน SE ซึ่งสเปคพื้นฐานใกล้เคียงกับตัว USA อย่างมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งปิคอัพก็ใช้รุ่นลายเซ็นแท้ๆ ของ Seymour Duncan

Mark Holcomb
(Image courtesy of Sweetwater.com)

ต่อให้ไม่รู้จัก Mark หรือไม่ฟังเพลงวง Periphery มาก่อนเลย แค่อ่านจากที่ผมเล่ามาก็น่าจะเดาได้ว่ากีตาร์รุ่นนี้เป็นกีตาร์สายแรงสายเมทัล ซึ่งก็ใช่ตามนั้นครับ มันเป็น PRS ที่ดุที่สุดรุ่นนึงที่ผมเคยลองมา ไม่ใช่แค่ดุเฉยๆ แต่สัมผัส การจัดวางต่างๆ ยังไม่เหมือน PRS รุ่นไหนๆ เลยด้วย

ผมเคยเขียนเกี่ยวกับกีตาร์รุ่นนี้อยู่หลายบทความ ลองอ่านดูครับ

9 เหตุผลที่ต้องจัด PRS SE Mark Holcomb

หมัดต่อหมัด PRS Mark Holcomb USA vs. SE

PRS SE Mark Tremonti -VS- SE Mark Holcomb จัดมาร์คไหนดี?

PRS รุ่นนี้ยังมีเวอร์ชั่น 7 สายด้วย ซึ่งก็คือรุ่น SE Holcomb SVN แต่สำหรับในบทความนี้ผมจะกล่าวถึงแค่รุ่น 6 สายเท่านั้นนะครับ

สเปค

เอาล่ะ มาดูสเปค SE Holcomb (v.1) กันดีกว่า

  • Body : mahogany
  • Neck : maple with satin finish
  • Neck profile : wide thin
  • Scale length : 25.5″
  • No. of frets : 24 jumbo
  • Fingerboard : ebony
  • Fingerboard inlay : birds, plastic
  • Fingerboard binding : white plastic
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text
    • 2016 : SE Mark Holcomb
    • 2017 – present : PRS signature
  • Truss rod cover text
    • 2016 : PRS
    • 2017 – present : Mark Holcomb
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : SE plate style (hardtail)
  • Pickups : Seymour Duncan Omega (bridge) and Alpha (Neck)
  • Electronics : 3 way blade, 1 vol, 1 push/pull tone
  • Control knobs : knurled metal
  • Hardware
    • 2016 : nickel
    • 2017 – present : smoked nickel
  • Factory tuning : dropped C (D A F C G C)
  • Factory string guage : 10-52
  • Accessories : gig bag
  • Colors : Holcomb Burst

จะสังเกตว่ามีหลายอย่างไม่เหมือน SE Custom 24 ที่ชัดเจนที่สุดคือสี Holcomb Burst ท็อปเมเปิลแปะวีเนียร์ลายควิลท์ ซึ่งเรื่องลายนี่ผมเจอหลายตัวที่สวยระดับ Artist Package หรือแม้แต่ Private Stock ได้เลย บอร์ด ebony คอเมเปิลทำสีดำทึบและมีการ “ขัดให้ด้าน” ซึ่งแน่นอนว่า PRS เกือบทุกรุ่นไม่ทำแบบนี้

ส่วนสำคัญที่สุดที่ผมว่าเป็นหัวใจสำคัญของ SE รุ่นนี้คือ “ความยาวสเกล” ที่ยืดออกไปจากเดิม 25 นิ้ว เป็น 25.5 เพื่อเพิ่ม string tension รองรับการจูนสายเบอร์ 10-52 เป็น dropped C ได้อย่างพอดีๆ ไม่ย้วยไป ไม่ตึงเกิน รัศมีความโค้งของฟิงเกอร์บอร์ด 20 นิ้ว หรือถูกเพิ่มเป็นสองเท่าจาก PRS รุ่นอื่นๆ ตามที่เจ้าของลายเซ็นเค้ารีเควสท์มาเพราะถนัดบอร์ดแบนๆ บริดจ์เป็นแบบ hardtail คือดูเผินๆ คล้ายบริดจ์คันโยกแต่ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่ามันไม่มีรูใ่ก้านคันโยก นั่นแปลว่ามันเป็นเป็น fixed bridge นั่นเอง

และสเปคเชิงโครงสร้างแบบนี้แหละที่มีเฉพาะรุ่นนี้ เราไม่สามารถซื้อ PRS รุ่น SE Custom 24 หรือรุ่นอื่นใดมาเปลี่ยนปิคอัพแล้วหวังว่าจะให้ผลลัพธ์เดียวกัน

แต่ไฮไลท์สำคัญที่หลายคนกล่าวขวัญถึงกีตาร์รุ่นนี้คงหนีไม่พ้นขุมพลังชุดปิคอัพ Seymour Duncan Omega และ Alpha set ด้วยแม่เหล็ก ceramic DCR ตำแหน่ง Bridge 12.96k และ 8.02k ที่ตำแหน่ง Neck

สัมผัส

สิ่งแรกที่รู้สึกทันทีว่ากีตาร์รุ่นนี้ไม่เหมือน PRS Custom 24 นะ คือ เมื่อวางบนขาในท่าเตรียมเล่น ผมรู้สึกได้ว่าคอกีตาร์ยาวกว่าคอ PRS ทั่วไปเนื่องจากความยาวสเกลที่เพิ่มมากกว่าปกติซึ่งผมมองว่าเป็น feature ที่สำคัญที่สุดของกีตาร์รุ่นนี้ เฟรทแรกอยู่ห่างจากตัวผมออกไปจากปกติพอสมควรแต่ไม่เป็นปัญหา คอด้านหลังที่ขัดด้านมาจากโรงงานนั้นให้สัมผัสที่ยอดเยี่ยมเพราะไม่มีความเหนียวหนึบมือให้รำคาญเวลาเล่นเร็วๆ

ในส่วนของเรเดียสแบนแต๊ดแต๋ 20 นิ้วนั้น ส่วนตัวผมไม่รู้สึกบวกหรือลบกับมัน เพราะตอนเล่น PRS รุ่นอื่นๆของตัวเอง ก็ฝึกริฟฟ์ด้วยเรเดียส 10 นิ้วมาตลอด ไม่ได้รู้สึกว่าต้องการให้มันแบนกว่านี้ ครั้นมาเล่นที่แบนกว่า (ซึ่งโฆษณาว่าช่วยการเล่นได้มากกว่า) ผมก็เล่นได้ไม่ต่างกัน หรือบางทีอาจเพราะผมเล่นไม่เก่งเทพถึงขั้นที่จะบอกได้ว่ารายละเอียดพวกนี้ ส่งผลกระทบ/สร้างความแตกต่าง ในการเล่น ตรงไหนอย่างไร ผมจึงขอไม่ออกความเห็นในประเด็นนี้นะครับ บอกได้แค่ว่า มันแบนกว่ารุ่นอื่นเยอะแล้วกัน

Ebony fretboard, 20″ radius, 25.5″ scale length

knobs โลหะหนามสีดำ ที่หลายคนบอกว่าดูเท่ ดูร็อค ดูเมทัล นั้น เอาตรงๆผมว่า ใช้งานลำบากกว่า speed knobs บ้านๆนะ เพราะอย่างแรกคือ น้ำหนักมากกว่า อีกอย่างคือ มันไม่ค่อยเกาะนิ้วเราเท่าไหร่แม้จะออกแบบมาให้ผิวเป็นปุ่มหนามๆ ปุ่มๆ ยิ่งเมื่อเจอ pot taper ของ SE ซึ่งบางครั้งก็ค่อนข้างหนืด knobs โลหะแบบนี้ยิ่งไม่เหมาะเอาซะเลยในแง่การใช้งาน ดังนั้นส่วนนี้ผมจึงไม่ค่อยชอบเท่าไหร่

และเชื่อหรือไม่ ผมเองในฐานะสายโมสุดโต่งคนนึง ซึ่งเปลี่ยนอะไหล่มาแหลกลาญแล้วทั้ง SE และ Core ฝา knobs ชนิดที่ผมเลือกใช้กับ SE มันก็คือฝา speed เดิมๆ จากโรงงานนั่นแหละ ไม่ได้เปลี่ยน ต่อให้มีแบบอื่นที่สวยกว่า ดูแพงกว่า ผมก็ไม่เปลี่ยน เพราะ speed knobs กลมๆ เกลี้ยงๆ นี่แหละคือสุดยอดแล้วในแง่ของการใช้งานครับ

SE SVN ของผมที่โมยับทั้งตัวตั้งแต่เปลี่ยนอะไหล่ยันแปะลายใหม่พร้อมทำสี ทั้งตัว ผมโมแทบไม่เหลืออะไรเดิมเลย แต่สังเกตว่าฝา volume knob เดิมๆ ยังอยู่ ผมเก็บไว้ใช้งานต่อ เพราะมันดีที่สุดแล้ว

และนอกจากนี้ สำหรับบริดจ์แบบ hardtail นั้น แม้ไม่รู้สึกต่างอะไรจากบริดจ์แบบคันโยกเมื่อผมวางสันมือลงไป แต่สิ่งที่ต่างแน่ๆ ในการเล่น คือสายจะมีความแข็งมากกว่า เนื่องจากไม่มีสปริงช่วยผ่อนแรง แต่ก็จะมีเสถียรภาพมากกว่าคันโยก สายเพี้ยนน้อยกว่า เวลาจูนสายหรือสายขาดเส้นหนึ่งก็แทบไม่ส่งผลกระทบกับสายอื่นๆที่เหลือ เพราะแต่ละสายต่างแยกกันอยู่ ไม่ได้วางอยู่บน tone block กับสปริงร่วมกัน แต่ถ้าใครจะถามว่า hardtail bridge ซัสเทนสั้นยาวต่างจาก tremolo ยังไง? อันนี้ผมบอกได้ว่า เมื่อดีดเปล่าๆ กีตาร์จะมีแรงสั่นสะเทือนที่ค่อนข้างแรงทั้งตัวตั้งแต่ปลายหัวจรดท้ายบอดี้ ส่วนตัวผมคิดว่าบริดจ์ hardtail มีส่วนช่วยในเรื่องนี้ แต่ถ้าถามถึงซัสเทนเมื่อเล่นออกแอมป์ ผมก็ไม่สามารถฟันธงได้นะครับว่า hardtail จะช่วยให้เสียงค้างยาวได้นานกว่าคันโยก เนื่องจากกีตาร์รุ่นนี้ใช้ปิคอัพที่แรงกว่า Custom 24 และแรงกว่ามาก และตัวปิคอัพเองก็มีผลเยอะในเรื่องซัสเทน ดังนั้นการทดสอบนี้จึงไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนซะทีเดียวครับ

เสียง

รายละเอียดอุปกรณ์ที่ผมใช้ทดสอบ และการ setup

  • กีตาร์ PRS SE Mark Holcomb ตั้งสาย dropped D (ที่จริง PRS รุ่นนี้ dropped C มาจากโรงงาน แต่ลูกค้าคนก่อนหน้าน่าจะตั้งสายใหม่ ซึ่งผมก็ขี้เกียจตั้งใหม่ทั้งคอ ก็เลยใช้ไปตามนั้น 555)
  • แอมป์ PRS MT15 (Mark Tremonti signature) แชนแนล 2 (ผมไม่ทดสอบเสียง clean)
  • ปรับหน้าแอมป์ Lead Gain เที่ยง, Bass 11 โมง, Mid เที่ยงครึ่ง, Treble บ่าย 3, Presence บ่าย 2
  • ตู้ MT 1×12
  • สัญญาณแห้งๆ ไม่ใช้เอฟเฟคท์

จาก setup ที่ผมบอกไปข้างต้น ผมเริ่มเทสต์ด้วยปิคอัพตำแหน่ง bridge (SD Omega) เสียงที่ได้นั้นเกินจะบรรยาย แตกแรงมากถึงมากที่สุด ย่านโลว์มาเยอะมาก มากแบบจุกหน้าอก มากจนต้องลด Bass ที่หน้าแอมป์เหลือ 11 โมง (ตอนแรกผมตั้งไว้เที่ยง-บ่ายโมง) ย่านโลว์นั้นใหญ่ และแน่นจนไม่น่าเชื่อว่านี่ปิคอัพตำแหน่ง bridge บนกีตาร์ปกติไม่ใช่บาริโทน แต่นอกจากย่านเบสหนักๆ แล้ว สิ่งที่สุดยอดมากอีกอย่างคือ ความกระชับ (tight) เก็บตัวดีเลิศ ของย่านกลาง คือมันเปิด/ปิด ฉับไวมาก เมื่อนำคุณลักษณะเหล่านี้มารวมกัน เล่นผ่านแอมป์ high gain มันจึงกลายเป็นกีตาร์สำหรับเล่นริฟฟ์ชั้นเลิศ และผมต้องบอกตามตรงว่าในชีวิตเล่น PRS และโมดิฟายมาไม่รู้กี่ตัว ไม่เคยมี PRS รุ่นใดที่ใช้เล่นริฟฟ์ได้เหมาะเจาะเท่ารุ่นนี้เลย เพราะทุกอย่างที่เล่นออกมานั้น ทั้งใหญ่และเร็วแถมดุดัน อธิบายยาก แต่ความรู้สึกคือ โคตรสะใจ

สับไปที่ตำแหน่ง neck (SD Alpha) จริงอยู่ ว่าปิคอัพตำแหน่งนี้มันจะมีย่านกลางกลมๆ นวลกว่าตำแหน่ง bridge ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นสำหรับเจ้า Alpha แต่มันก็มีอะไรที่ไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขาอยู่นะ คือแม้มันจะชัดเจนว่าเออก็กลมๆ แต่มันไม่ได้กลมมาก ไม่ได้หวานมาก ย่านกลางพอมี ไม่ mid scopp แต่ไม่บวมป่อง และถึงเล่นเสียงแตกก็ไม่ได้เหนียวมาก ทั้งหมดนี้ผมเรียกว่าความกระชับ คือแม้จะเป็นตำแหน่ง neck แต่ก็ถูกออกแบบให้มีคาแรคเตอร์กระชับเก็บตัวไวตามตำแหน่ง bridge (Omega) ส่วนหนึ่งก็มาจากการเจาะจงเลือกใช้แม่เหล็กชนิด ceramic มาใช้ในตำแหน่งนี้ ซึ่งปิคอัพส่วนใหญ่จะไม่ทำแบบนี้กัน เพราะจะให้เสียงที่คลีนที่คมแต่แข็ง ซึ่งกรณีของ SD Alpha ก็ไม่มีข้อยกเว้น พูดถึงความแน่นของ SD Alpha นี่ ถ้าถามว่า มันแน่นแค่ไหน? ก็แน่น กระชับ ยิ่งกว่าปิคอัพตำแหน่ง bridge ของพวกสไตล์วินเทจหรือแม้แต่สไตล์ high output หลายๆ ตัวที่เคยลองมาก็แล้วกัน เอาเป็นว่าผมสามารถเล่นริฟฟ์ด้วย SD Alpha ได้โดยไม่รู้สึกว่ามันมีอาการบวมพร่าให้รำคาญเลย คือแน่นเบอร์นั้นเลย นี่พูดถึงตำแหน่ง neck นะครับ

เสียงตัดคอยล์ (ไม่ได้อัดไว้ในคลิป) มีความป๊องขึ้นจมูก ถ้าเล่นด้วยเสียงแตกมันจะดึงต่อดๆ ตึ่ดๆ ก็เสียงแบบสาย djent metal เค้าใช้เล่นริฟฟ์ให้มีอาการ percussive นั่นแหละครับ ถ้าถามว่าทั้ง humbucker และตัดคอยล์นี่ เอาไปใช้เล่นแนวทั่วไปไหวไหม? ก็ใช้ได้ครับ เพียงแต่มันจะกระชับชัดเจน คมไปหมด จริงอยู่ว่ามันฟังดูก็ไม่พลาสติกเท่าพวกปิคอัพ active บางตัว แต่ก็ไม่มีความกลมกล่อมอะไรอย่างปิคอัพสายวินเทจ

น่าจัดมั้ย?

จัดเลย ถ้า…

  • ชอบใช้ gain เยอะ หรือใช้แอมป์แตกแรงอยู่แล้วเป็นปกติ
  • ชอบเล่นริฟฟ์
  • ชอบเล่น Periphery, Monument และวงเมทัลอื่นๆ เทือกๆนี้ที่ต้องการความแรงและกระชับเพื่อให้รับกับความเร็วในการเล่น
  • ชอบเล่นกีตาร์ดรอปสายต่ำ เช่น C หรือต่ำกว่า เพราะถ้าตั้ง E standard สายจะตึงมือกว่า PRS รุ่น Custom
  • ไม่ใช้คันโยก หรือมีตัวอื่นให้โยกอยู่แล้ว

ไปลองให้แน่ใจก่อนนะ ถ้า…

  • เป็นสายวินเทจ ใช้เสียงแตกน้อย ไม่เล่นเมทัล
  • หรือเป็นสายใช้เกนเยอะ แต่ชอบโทนสว่าง เปิดๆ ที่สำคัญ ไม่ชอบให้ย่านโลว์เด่นกว่าย่าน highs
  • เน้นเสียงคลีนหวานเพราะๆ ออแกนิกๆ หรือแตกอ่อนหวานๆ
  • อยากได้เสียงตัดคอยล์ที่ฟังเพราะ เต็ม ไม่ขึ้นจมูก
  • ใช้คันโยกบ่อย

อย่างที่ผมได้บอกไปในตอนต้น ว่ากีตาร์รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ถ้าไม่รักก็เกลียดเลย กล่าวคือมันมีคาแรคเตอร์เฉพาะตัวชัดเจน มันถูกออกแบบมาให้รองรับแนวที่เจ้าของลายเซ็นเล่นในทุกองคาพยพ ปรับใหม่ยันความยาวคอและบริดจ์แบบ fixed ซึ่งเป็นการปรับดีไซน์ในเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่แค่ปรับสเปคนิดๆ หน่อยๆ แล้วลงปิคอัพใหม่เหมือนอย่างหลายๆ รุ่นที่ผ่านมา ดังนั้น เมื่อกีตาร์มีเป้าหมายในการใช้งานชัดเจนในตัวของมันเอง ผู้เล่นก็ต้องเข้าใจเรื่องนี้ก่อนแล้วถามตัวเองว่า จะเอามันไปใช้งานอย่างไร ถ้าใช้งานตรงตามที่เค้าออกแบบไว้ อย่างนั้นก็เพอร์เฟคท์ และผมต้องย้ำเลยว่านี่คือ PRS ที่ใช้ริฟฟ์มันส์ที่สุดแล้วและจบได้ในตัวของมันเอง

ผมเองในฐานะเป็นคนที่เล่น PRS มานานและเน้นใช้ในสไตล์ high gain เป็นหลัก ก็ต้องยอมรับตามตรงว่า นับตั้งแต่ได้ลองครั้งแรกเมื่อตอนเปิดตัวใหม่ๆ ผมก็ไม่ชอบกีตาร์รุ่นนี้เท่าไหร่นักทั้งๆ ที่อะไรๆ มันก็ดูเหมือนจะถูกออกแบบมาเหมาะสมตรงตามการใช้งานของตัวเอง หลักๆ ที่ผมไม่ค่อยชอบรุ่นนี้คงเป็นเรื่องเสียงของมัน กล่าวคือผมไม่ชอบซาวด์กีตาร์ที่มีย่านโลว์เยอะและเมื่อก่อนผมก็ไม่ค่อยเล่นริฟฟ์ จนมาช่วงหลังๆ นี้ จะด้วยลองตั้งดรอปสายเล่นบ่อยหรืออย่างไรก็มิทราบได้ ดันมาเล่นริฟฟ์คิดลูกริฟฟ์เยอะขึ้น ผมใช้กีตาร์หลายแบบหลายตัวดรอปสายจนค้นพบว่า scale length ที่เหมาะสม สำคัญต่อการเล่นสไตล์นี้มากเพียงใด แล้วจู่ๆ PRS รุ่นนี้ก็กลับมาอยู่ในความสนใจของตัวเองขึ้นมาซะอย่างนั้น

ส่งท้าย

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณร้าน Music Collection สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวที่เอื้อเฟื้ออุปกรณ์ทดสอบ (ผมไม่ได้ค่าตอบแทนในการรีวิวนะครับ) สำหรับใครที่สนใจก็สามารถแวะไปทดลองได้ ราคา ณ เดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 34,300 บาทครับ

สนใจกีตาร์และเครื่องดนตรีแบรนด์ Paul Reed Smith สามารถตามเข้าไป join group PRS Thailand ของผมได้ คลิกเลย