9 เหตุผลที่ต้องจัด PRS SE Mark Holcomb

หนึ่งในกีตาร์ PRS ที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดรุ่นหนึ่งในไลน์ SE คงหนีไม่พ้น SE Mark Holcomb กีตาร์รุ่นลายเซ็นของเฮีย Mark Holcomb มือกีตาร์วง Periphery ขวัญใจสาย djent ทั่วโลก ด้วยสไตล์การเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ ฟอร์มคอร์ดประหลาดๆ voicing แปลกๆ แต่มันส์ในอารมณ์ PRS Mark Holcomb เปิดตัวเป็น USA limited ในปี 2015 และต่อมา PRS ได้ผลิตรุ่นนี้แบบไม่จำกัดจำนวนในเวอร์ชัน SE ซึ่งสเปคพื้นฐานใกล้เคียงกับตัว USA อย่างมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งปิคอัพก็ใช้รุ่นลายเซ็นแท้ๆ ของ Seymour Duncan

เว็บไซต์ Wiredguitarist.com ได้ลิสต์รายการเหตุผล 5 ข้อที่ไม่ควรมองข้ามกีตาร์รุ่นนี้ (5 Reasons You Should Need a Holcomb SE) ผมเองจากที่ได้ลองด้วยตัวเองมาก็เห็นด้วยกับที่เค้าว่ามา นอกจากนี้ผมยังมีเหตุผลของผมเพิ่มเติมด้วยครับ

เรื่องของเรื่อง ผมเองเคยแต่อ่านและดูคลิปรีวิวแต่ก็ไม่เคยจับจริงๆจังๆ จนเมื่อวานเดินผ่านร้านตัวแทน เลยแวะเข้าไปขอเขาลอง McCarty 594 แต่บังเอิญเหลือบไปเห็น SE Holcomb แล้วนึกขึ้นได้ว่ากรูยังไม่ได้ลองนี่หว่า เลยขอลองสักหน่อย อ้อ ผมไม่ได้ค่าจ้างอะไรจากการเขียนนะครับ ผมเดินเข้าไปลองเองดื้อๆ ลองแล้วรู้สึกประทับใจเป็นการส่วนตัว ก็เลยเอามาเล่าครับ

โอเค มาว่ากันต่อ มีอะไรที่ควรรู้เกี่ยวกับกีตาร์ SE รุ่นนี้บ้าง ไปดูกันเลย

1.Fingerboard radius 20″

ถือว่าไม่ปกติสำหรับแบรนด์นิยมวินเทจอย่าง PRS ที่กีตาร์สักรุ่นหนึ่งจะมีรัศมีความโค้งของฟิงเกอร์บอร์ดที่มากถึง 20 นิ้ว จากปกติที่กีตาร์เกือบทุกรุ่นของค่ายนี้จะมากับเรเดียส 10 นิ้ว การที่ SE Holcomb มีเรเดียสมากขนาดนั้น ทำให้ฟิงเกอร์บอร์ดแทบจะแบนราบ บอร์ดยิ่งแบนยิ่งทำให้ดันสายง่าย ปั่นง่าย เอื้อต่อการใช้ความเร็ว

2.ปิคอัพ Seymour Duncan เซ็ท Alpha และ Omega

 

SE Holcomb มากับปิคอัพรุ่นลายเซ็นของเฮียมาร์ค เป็นเซ็ทปิคอัพแม่เหล็ก ceramic อาท์พุทแรง 12.96k DC resistance แรงแต่ไม่แหลมบาดหูเพราะมีย่านกลางให้ใช้เหลือเฟือ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับแนว djent หรือเมทัลแขนงใดๆ ที่ดร็อปสายต่ำแถมใช้ gain หนักๆ ปิคอัพเซ็ทนี้ตอนแรกมีในเฉพาะ Custom Shop นะครับ นั่นหมายความว่า SE รุ่นนี้ได้ปิคอัพรุ่นสูงๆมาใช้ ถือว่าคุ้มค่าขาร็อกเลยทีเดียว อ้อ ที่ผมลองเล่นมา ผมว่าแก๊กตัดคอยล์ของรุ่นนี้ก็เสียงดี เด้งใช้ได้นะครับ ดีพอสำหรับใช้งานปกติทั่วไปเลยครับ ลองฟังอินโทรของคลิปนี้ดู ประมาณนี้แหละ

3. สี Holcomb Burst

https://www.andertons.co.uk/guitar-dept/electric-guitars/modern-body-guitars/prs-se-mark-holcomb-in-holcomb-burst-pse-mhhb-1

SE Mark Holcomb มากับสีเฉพาะ Holcomb Burst เป็นสีคล้ายๆ Charcoal burst แต่มีสีม่วงอมชมพูคั่นระหว่างสีหลักกับสีขอบ เกิดเป็นสีเอกลักษณ์เฉพาะของรุ่นนี้ (ทั้ง SE และตัว USA limited) สวยงามแปลกตาไม่ซ้ำ SE รุ่นไหนๆ มองแต่ไกลรู้เลย โฮลคอมบ์นี่หว่า

4. 25.5″ scale length

กีตาร์รุ่นนี้ใช้สเกลคอ 25.5 นิ้ว แปลกแยกจากกีตาร์ร่วมสังกัดส่วนใหญ่ที่มากับสเกลสั้นกว่า เช่น 25″ หรือ 24.5″ การมีสเกลที่ยาวกว่าทำให้มีแรงตึงมากกว่า ซึ่งแรงตึงสายที่มากกว่าปกตินี้จะไปช่วยชดเชยความหย่อนตัวที่จะเกิดขึ้นเมื่อดร็อปดร็อปสายต่ำ ทำให้มีโอกาสเล่นโทนต่ำๆได้มากกว่า PRS รุ่นอื่นๆ ซึ่งก็แน่นอน เป็นสิ่งที่ออกแบบมาเพื่อขาร็อกขาแรงทั้งหลาย

5.การผสมไม้

กีตาร์รุ่นนี้มากับบอดี้มาฮอกกานีตามธรรมเนียมของค่ายนี้ แต่คอป็นไม้เมเปิล ทำให้เสียงมีความไบรท์ มีความเคลียร์ มีความพุ่ง ตอบสนองเร็วกว่าคอมาฮอกกานี เป็นผลดีต่อการเล่น low tune & high gain

 

ที่ผ่านไปเป็นเหตุผล 5 ข้อของ wiredguitarist.com ต่อไปผมขอเพิ่มเติมตามความเห็นของผมนะครับ

6.Ebony fingerboard

https://store.guitarvaultusa.com/PRS_SE_Mark_Holcomb_Holcomb_Burst_p/mhhb2-2017.htm

ความพิเศษอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่งของรุ่นนี้ คือการใช้ไม้ ebony ทำฟิงเกอร์บอร์ด ไม้ชนิดนี้เพื่อนๆคงทราบดีอยู่แล้วว่า นอกจากความสวยงาม ดำ เรียบสนิท เสี้ยนไม้ละเอียดยิบแล้วนั้น ยังส่งผลดีต่อการเล่น เพราะช่วยให้ลื่นนิ้ว สไลด์สนุก ปั่นสบาย และยังมีคุณสมบัติสำคัญด้านเสียง คือช่วยให้เสียงคม ไบรท์ เล่นออกมาชัดถ้อยชัดคำ ยิ่งจับคู่กับคอ maple ยิ่งลงตัว

ถ้าเป็น PRS รุ่นที่ผลิต USA การจะได้คอเมเปิลผสมกับบอร์ด ebony  นั้น ในไลน์ SE เท่าที่ผมนึกออกก็จะมี SE Mike Mushok Baritone แต่นั่นมันคือบาริโทน ไม่ใช่กีตาร์ปกติ นอกจากนี้คงต้องขยับไปรุ่น USA ซึ่งก็จะมี Floyd Custom 24, Custom 24 Floyd หรือไม่ก็ต้องสั่งออพชันเป็น Artist Package แต่เดี๋ยวนี้ที่ผมเห็นบ่อยสุดคงเป็นกีตาร์ในกลุ่ม Wood Library นู่นเลย ซึ่งกีตาร์ PRS USA ทั้งหมดที่ผมว่าไปเป็นกีตาร์ระดับราคาแสนกลางๆ หรือสูงกว่า ดังนั้น ในแง่ของความคุ้มค่า ผมจึงมองว่า SE Mark Holcomb ให้สเปคคอมาคุ้มมากๆครับ

7.Wide Thin neck profile

กีตาร์รุ่นนี้ใช้โปรไฟล์คอที่บางที่สุดของ PRS SE เป็นความบางที่ยังได้เนื้อและไม้เนื้อเสียง ไม่ได้บางเฉียบอย่างพวกกีตาร์สายปั่นอย่าง Ibanez RG แต่ยังคงเล่นง่ายมากๆ ครับ

8.Satin-finished neck

https://store.guitarvaultusa.com/PRS_SE_Mark_Holcomb_Holcomb_Burst_p/mhhb2-2017.htm

นอกจากฟิงเกอร์บอร์ด ebony ที่ช่วยเรื่องการเล่นแล้ว คอกีตาร์รุ่นนี้ยังเคลือบด้าน (satin finish) ไม่เหนียมมืออย่างการเคลือบเงา (gloss) ทำให้เล่นได้คล่องแคล่ว รูดมันส์ และแน่นอนว่าเป็นผลดีต่อการใช้ความเร็ว แต่แม้จะเล่นไม่เร็ว มันก็ช่วยให้การเคลือนไหวของมือเราหลังคอ เป็นไปอย่างสะดวกสบายมากขึ้นอยู่ดี การเคลือบด้านที่ว่านี้จะเคลือบเฉพาะคอ ในบริเวณที่มือเราต้องสัมผัสในขณะเล่นเท่านั้นนะครับ แต่ส่วนของบอดี้และ headstock ยังเป็น gloss ตามปกติ ซึ่งก็เก๋ไปอีกแบบ

การเคลือบคอด้านเป็นสิ่งที่ผมคิดมานานแล้วว่าเป็นสิ่งที่ควรมีเป็นมาตรฐาน เพื่อประโยชน์สูงสุดของการใช้งาน แต่อาจจะด้วยความต้องการของตลาดที่ส่วนใหญ่ลูกค้าจะห่วงความสวยมากกว่า เรื่องนี้เลยเป็นได้แค่ custom specs ที่จะมากับกีตาร์บางรุ่นที่ชูจุดขายเรื่อง playability มากกว่าความสวยหรือลุควินเทจ

9.Plate style fixed bridge

บริดจ์หรือหย่องของ SE Holcomb มีความแตกต่างจากของ SE Custom (รวมทั้ง core Custom 24) ตรงที่มันมากับ fixed bridge คือไม่มีคันโยก การใส่สายก็ใส่ทะลุจากด้านหลังออกมาเลย ง่ายๆ ไม่เจาะบอดี้เยอะ ไม่มีสปริง ไม่มีบล็อกโลหะ ไม่ต้องดูแลอะไรกันมากมาย ไม่ต้องห่วงเรื่องสายเพี้ยน (เพราะ SE ไม่มีลูกบิดล็อกสาย และใช้นัทคนละอย่างกับ USA) ที่สำคัญ จากการที่ผมลองของจริงมา ผมสังเกตว่าซัสเทนกีตาร์รุ่นนี้ยาวได้ใจ เชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก fixed bridge เพราะพลังงานการสั่นของสายจะไม่สูญเสียไปกับกลไกคันโยกอย่างพวก CU24

ไฮไลท์สำคัญที่หลายคนอาจไม่ทราบหรือไม่ได้สังเกต คือ บริดจ์แบบ plate style นี้ยังช่วยเรื่องความสบายในการเล่นมากกว่า PRS Stoptail  เพราะการวางสันมือขวานั้นสามารถวางได้ต่ำเตี้ยเท่ากับบริดจ์คันโยก ผมไม่รู้ว่าผมรู้สึกแบบนี้ไปเองคนเดียวหรือเปล่า แต่จากที่ผมมี PRS มา ทั้ง Custom 24 (tremolo) และ Singlecut กับ McCarty (Stoptail) ผมต้องยอมรับตามตรงว่าในแง่ของความถนัดแล้ว บริดจ์แบบคันโยกเล่นถนัดกว่า และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมันต่ำเหมือนบริดจ์คันโยก มันก็สามารถเซ็ท action ให้ต่ำเตี้ยเรี่ยฟิงเกอร์บอร์ดได้อย่างง่ายดาย ถูกใจขาร็อกขาปั่นยุคใหม่นักแล

 

สรุป

เพื่อนๆอ่านแล้วคิดยังไงครับ เริ่มสนใจกีตาร์รุ่นนี้บ้างหรือยัง ถ้าอ่านตรงไหนแล้วรู้สึกว่าไม่น่าเชื่อหรือคาใจอย่างไรก็ไปหาลองได้นะครับ อย่างน้อยถึงไม่ซื้อผมก็คิดว่า PRS รุ่นนี้ควรค่าแก่การเสียเวลาไปลองครับ มันมีดีแตกต่างจาก PRS ตัวอื่นๆ หลายอย่าง ตามที่ผมได้บอกเล่าไป

ถ้าถามว่า ข้อดีข้อไหนสำคัญที่สุด เพื่อนๆจะตอบว่าอะไรครับ?

ผมไม่แน่ใจว่าผู้คนส่วนใหญ่เขาชอบตรงไหนมากที่สุดในบรรดาข้อดีทั้งหมดของกีตาร์รุ่นนี้ที่ผมและ Wiredguitarist.com ได้ลิสต์มา แต่สำหรับผมเอง นับตั้งแต่ครั้งแรกที่รู้จักรุ่นนี้ ผมให้ความสนใจกับ plate style fixed bridge มากที่สุด เพราะผมมองว่ามันเป็นองค์ประกอบทางโครงสร้างที่สำคัญอย่างมาก และผมเคยพูดมานาน พูดมาตลอด ว่าอยากให้ Custom 24 มีออพชัน fixed bridge ให้เลือกซะที เพราะผมแทบไม่ใช้คันโยกเลย และผมเชื่อว่าเจ้าของ CU24 อีกมากมายก็แทบไม่เคยใช้คันโยก

ผมขอสรุปสั้นๆว่า ในมุมมองของผมผมมองว่า ใจความสำคัญของ PRS SE Mark Holcomb ไม่ใช่แค่เรื่องของเสียง แต่เป็นความสบายในการเล่นมากกว่า คอบาง คอเคลือบด้าน ฟิงเกอร์บอร์ดลื่นๆ แถมเรเดียสแบนยิ่งกว่า Ibanez ในสารบบของ PRS มันก็มีรุ่นนี้รุ่นเดียวครับที่ให้ความสำคัญกับความสบายของผู้เล่นจริงๆจังๆ ขนาดนี้ ถ้าเพื่อนๆเล่นๆไปแล้วเกิดเบื่อโทนปิคอัพ Alpha & Omega เพื่อนๆก็แค่เปลี่ยนปิคอัพ กีตาร์มันก็เปลี่ยนเสียงไปละ แต่ความเล่นง่ายของมันไม่เปลี่ยน โครงสร้างเหล่านี้ยังคงเดิม ผมจึงมองว่า มีรุ่นนี้ไว้ถึงอย่างไรก็คุ้มครับ โครงสร้างมันมาดีมากๆแล้ว ขาดเหลืออะไรเราก็ต่อยอดเองได้

ก็น่าจะมีเท่านี้มั้งครับ ทีแรกกะเขียนเล่าสั้นๆว่าไปลองรุ่นนี้มา ไหงสุดท้ายก็ยาวเป็นหน้าอีกละ ฮ่าๆ ก็ถือว่าเป็นแหล่งข้อมูล เผื่อใครกำลังสนใจรุ่นนี้อยู่ ผมหวังว่าที่ผมเขียนมามันคงมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยครับ

ข้อมูลของ PRS SE Mark Holcomb 2018 specs: http://www.prsguitars.com/index.php/electrics/se/se_mark_holcomb_2018


กลุ่มเฟสบุค PRS Club Thailand แอดเข้ามากันได้ คลิกที่นี่ครับ

กด Like page ของผมได้ที่นี่จ้า