รีวิว PRS SC 245

ผมทำกลุ่มเฟซบุค PRS Thailand มาจนถึงวันนี้ก็น่าจะเป็นเวลาราวๆ 3-4 ปีแล้ว ได้เรียนรู้รสนิยมของตลาดบ้านเราเกี่ยวกับกีตาร์ PRS สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นชัดเจนจากคนในกลุ่ม คือ ประชากรอย่างน้อย 80-90% ชอบกีตาร์แบรนด์ PRS จากทรง double cutaway และแน่นอนว่ากีตาร์ที่รู้จักและชักพาให้มาสนใจแบรนด์นี้คือรุ่น Custom 24 ผมแทบไม่เห็นใครเลยที่หลอนแบรนด์นี้จากทรงชายเว้าเดี่ยว หรือ singlecut (ขอเรียกสั้นๆ ว่าทรง SC) เพราะหลายๆ คนน่าจะติดภาพกีตาร์ทรงนี้จาก Gibson Les Paul ซึ่งเป็นต้นฉบับมากกว่านั่นเอง

PRS ทรง DC และ SC

จริงอยู่ที่แรกเริ่มเดิมที แบรนด์ PRS ทำแต่กีตาร์ทรง DC รุ่นต่างๆ มาตั้งแต่ปี 1985 กว่าจะมี SC รุ่นแรกก็ปาเข้าไปปี 2000 เมื่อลุงพอล ผู้ก่อตั้งกีตาร์แบรนด์ PRS ฝันจะสร้างกีตาร์ทรงชายเว้าเดี่ยวอยู่นานหลายปี แต่ออกแบบเท่าไหร่ไม่ลงตัว ไม่ถูกใจสักที ร่างแบบลงบนกระดาษแล้วมากมายหลายแบบแต่ก็ไม่ถูกใจ แต่ในที่สุดหลังจากได้ร่วมงานกับทีมออกแบบก็ได้กีตาร์ทรงนี้ที่ลงตัว ตรงใจและเริ่มมีการนำไปใช้ในไลน์ Private Stock จนในที่สุดเมื่อช่วงต้นปี 2000 PRS ก็เปิดตัวเป็นกีตาร์ชายเว้าเดี่ยวในสายการผลิตหลักรุ่นแรก มันคือ PRS Singlecut PRS ซึ่งก็คือทรง Singlecut รุ่นแรกที่ผลิตในไลน์ผลิตปกติอย่างเป็นทางการนั่นเอง

ว่ากันว่า PRS Singlecut ที่ออกมาช่วงต้นยุค 2000 นั้น ดีเกินหน้าเกินตายี่ห้อต้นตำรับจนนำไปสู่การฟ้องร้องละเมิดเครื่องหมายการค้าจนทำให้ศาลสั่งระงับการผลิตกีตาร์ทรง SC ทุกรุ่นในปี 2004 แต่ต่อมาทาง PRS อุทธรณ์จนชนะคดีในปี 2006 เรื่องราวของ PRS SC มีมากมายจนหลายคนอาจไม่ทราบว่ามันอยู่คู่แบรนด์นี้มาไกลแค่ไหน ผมเขียนบทความไว้เยอะหลายตอน ลองคลิกเข้าไปอ่านกันดูครับ

ผมเองเป็นคนส่วนน้อยที่เริ่มต้นความหลงไหลในกีตาร์แบรนด์ PRS จากกีตาร์ทรง SC อาจจะฟังดูแปลกไปอีกถ้าผมจะบอกว่าก็เพราะความหลงไหลกีตาร์ยี่ห้อนี้ ทรงนี้แหละ ที่พาผมให้เสพข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์นี้จนตั้งกลุ่ม PRS Thailand ที่มีสมาชิกมากกว่า 23000 คนได้ เอาล่ะ กลับมาเข้าเรื่องรีวิวของเราดีกว่า สำหรับวันนี้ผมขอนำเสนอกีตาร์ PRS รุ่นที่เป็นรักแรกพบระหว่างผมกับ PRS มันคือรุ่น SC 245 ครับ

มันคืออะไร?

มันคือกีตาร์ PRS ทรง SC เจเนอเรชันที่สองต่อจาก original Singlecut ที่เลิกผลิตไป ตัวเลข 245 มาจากความยาวสเกล (scale length) ที่สั้นเพียง 24.5 นิ้ว คือสั้นกว่าเลสพอล string tension น้อย ให้ฟีลนิ่มมือ ถือเป็น PRS ทรง SC รุ่นแรกที่ออกแบบมาเพื่อชูจุดขายในโทนวินเทจโดยตรง

ที่จริงแล้ว กีตาร์ที่ใช้ชื่อรุ่น SC 245 มีด้วยกันหลักๆ สองเจเนอเรชัน ตัวที่ผมกำลังจะรีวิวนี้คือเจนแรกซึ่งออกมาครั้งแรกในปี 2007 สเปคต่างๆ จะคนละอย่างกับเจนสองซึ่งออกมาในปี 2013 นะครับ

คลิกอ่านเรื่องราวของ SC 245 ทั้งสองเจนได้ที่นี่ครับ

สเปค

  • Manufacturer: PRS
  • Model: SC 245 Artist Package (2008)
  • Body : Mahogany, 1 piece, Singlecut shape
  • Top : Artist grade flamed maple
  • Neck : Mahogany
  • Neck profile (s) : Wide Thin
  • Scale length : 24.5″
  • Fingerboard radius: 10″
  • Number of frets : 22, medium jumbo
  • Fingerboard : Macassar ebony
  • Fingerboard inlay : Hollow J. birds, paua
  • Headstock veneer : Macassar ebony
  • Headstock inlay/logo : Paul’s signature, paua
  • Truss rod cover text : SC 245
  • Tuners : Vintage style
  • Bridge : PRS Stoptail
  • Pickups : 245 with covers
  • Electronics : 2 Volume, 2 Tone
  • Hardware : Gold
  • Finish : polyester base coat with acrylic top coat, high gloss
  • Accessory : Artist grade, black leather hardshell case

สเปคต่างจาก Singlecut ตัว original ยังไง?

SC 245 คือกีตาร์ทรง SC รุ่นที่มาแทน Singlecut original (รุ่นที่ Gibson ฟ้องร้อง) ที่เลิกผลิตไปในปี 2007 แม้ดูเผินๆ จะคล้ายกันตั้งแต่รูปทรงด้านหน้ายันความหนาด้านข้าง แต่ 245 มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจาก SC รุ่นเก่า อย่างแรกคือความยาวสเกลหดสั้นลงจากเดิม 25 นิ้ว เหลือ 24.5 นิ้วเพื่อฟีลวินเทจคล้ายๆ Gibson Les Paul และเป็นที่มาของชื่อรุ่น ปิคอัพอัพเดทจากรุ่น #7 มาเป็นรุ่น 245 ดีไซน์เสียงมาเป็นสไตล์ PAF ในแบบฉบับของ PRS ยุค 2000s ซึ่งค่อนข้างแรงกว่าปิคอัพวินเทจทั่วไปเล็กน้อย อินเลย์นกเป็นแบบนกกลวง (Hollow J.bird) ตามสเปคของ PRS (USA) ที่ผลิตระหว่างปี 2008-2009

นอกนั้นในส่วนอื่นๆ ก็ยังคงเป็นพื้นฐานเดียวกับ original SC เช่น บอดี้ความหนาเต็ม (ไม่ลดความหนาอย่างรุ่น เช่น Singlecut Tremolo) บริดจ์แบบ stoptail ชิ้นเดียว toggle 3 ทาง คอนโทรลเป็น volume + tone อย่างละคู่ คุมแยกปิคอัพ โดยวางตำแหน่งแบบ original SC/Tremonti (เรียงไม่เหมือนเลสพอล) ลูกบิดวินเทจ นัทคอมโพสิตของ PRS

เห็นมีคำว่า Artist Package อยู่ท้ายชื่อรุ่นด้วย มันคืออะไร?

245 ตัวที่ผมใช้ทดสอบในบทความนี้เป็นสเปค Artist Package ซึ่งเป็นสเปคอัพเกรดขึ้นมาจาก 10 top อีกที จะเรียกว่าอยู่ระหว่าง 10 top กับ Private Stock (custom shop ของ PRS) ก็ว่าได้ ซึ่งส่วนที่อัพเกรดขึ้นมาก็เริ่มจากลายเฟลมของไม้ท็อปที่ถี่ แน่น คมชัด และกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอแทบจะเรียกว่าสวยผิดธรรมชาติ ไม้ฟิงเกอร์บอร์ดและ headstock veneer ก็อัพจาก rosewood เป็น MaCassar ebony ซึ่งเป็นออพชัน AP ที่มีในช่วงสั้นๆ ระหว่างปี 2008-2009 เท่านั้น วัสดุอินเลย์นกและลายเซ็นลุงพอลบนหัวกีตาร์ ใช้เปลือกหอยราคาแพงที่เรียกว่า paua ซึ่งมีเฉดสีออกเขียวมีประกายแวววับสวยงาม อะไหล่กีตาร์ทั้งตัวเป็นสีทอง เคสและหูหิ้วหุ้มหนังสีดำ

วัสดุอินเลย์นกที่เรียกว่า paua abalone ซึ่งมีเฉพาะสเปคระดับ AP เท่านั้นครับ
อินเลย์นกของ PRS ไม่ได้เหมือนกันหมดนะครับ มันมีเกรดของมัน

สรุปง่ายๆ Artist Package ก็คือการอัพเกรดสเปคของกีตาร์ PRS นั่นเอง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกให้ทราบไว้นิดนึงเกี่ยวกับ AP คือ รายละเอียดสเปคที่ถูกอัพเกรดนั้นมีการอัพเดทเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยนะครับ ไม่ใช่ว่า AP ปีนั้นจะได้ไม้สเปคเดียวกับอีกปีเสมอไป ตัวเคสของ AP ปีเก่ากับปีใหม่ก็ต่างออพชันกัน อันนี้เป็นเรื่องที่มือใหม่ PRS มักไม่เข้าใจ

สเปคและสัมผัส

สำหรับผมที่ผ่านประสบการณ์กับ PRS SC มาหลายตัวและครอบครอง SC 594 อยู่แล้ว เรื่องทรงที่หนา เต็ม แน่นกว่ารุ่น Custom นั้นไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อะไร แต่สิ่งที่ไม่ชินมือสำหรับผมเมื่อจับ SC 245 Artist Package ตัวนี้คือเชพคอมันบางผิดกับ SC 594 ของผมค่อนข้างมาก นั่นเพราะตัวนี้มากับออพชันเชพคอ Wide Thin ซึ่งบางเท่ากับคอของ Custom 24 แต่มาในบอดี้ SC ซึ่งเราจะพบได้ไม่บ่อยนักสำหรับกีตาร์รุ่น 245 เนื่องจากเป็นรุ่นที่มักมาเป็นคอเชพอ้วน (Wide Fat) เป็นส่วนใหญ่ ที่บอกว่าไม่ชินคอ Thin นั้น ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยเล่น PRS คอเชพนี้นะครับ แต่เพราะไม่ได้จับนานแล้ว และทุกตัวที่ผมมีตอนนี้ล้วนเป็นรุ่นเชพคอหนาทั้งหมด

ในส่วนของบอดี้ที่ว่าหนากว่า Custom 24 นั้น ถ้าจะชี้ชัดกว่านั้นก็คือหนากว่าประมาณ 1 เซนติเมตรนิดๆ แต่ยังก็ไม่หนาเท่า Gibson Les Paul นะครับ ลองดูรูปที่ผมวาง PRS SC 594 (594 ตัวหนาเท่า 245) เทียบกันกับ Gibson LP Standard Slash จะเห็นว่าเลสพอลหนากว่านิดหน่อย 245 บอดี้ด้านหลังมีการปาด belly cut ไว้ค่อนข้างลึก ช่วยให้แนบลำตัวขณะเล่นได้พอดีเพื่อความถนัด เสียงดีดเปล่าดังกังวานดี น้ำหนักอยู่ที่ราวๆ 3.9 กิโลกรัม

แม้ทรง SC ดูจากด้านหนา้จะคล้ายๆเลสพอล แต่มีความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งที่หลายคนไม่ทราบ คือการเข้าคอ (neck joint) ของ PRS SC เกือบทุกรุ่นรวมถึงรุ่น 245 มีการออกแบบให้ neck heel มีความโค้งลงไปหาฝั่งชายเว้า และระนาบของตัว heel ก็ต่ำกว่าระนาบของบอดี้ด้านหลัง เมื่อมี heel ที่ไร้สันเหลี่ยมมุมฉาก บวกกับดีไซน์ขุดชายเว้าด้านหน้าท็อปเป็นหลุมลงไป (PRS scooped cutaway) ทำให้ PRS รุ่นนี้สามารถใช้เล่นแบบล้วงถึงเฟรทในๆ ได้อย่างสบายมากยิ่งขึ้น แม้แต่ผู้ใช้กีตาร์เลสพอลเองหลายคนก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า PRS SC เล่นง่ายกว่าจริงๆ

สังเกตช่วงต่อคอกับบอดี้นะครับ ไม่เหมือนของ Gibson นะ

อีกส่วนหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือลักษณะการวาง control knobs ของกีตาร์รุ่นนี้ซึ่งวางในสไตล์เดียวกับ original SC/Tremonti กล่าวคือ knobs คู่หน้า ในคุมวอลุ่มและโทนของ neck pickup ส่วนคู่หลังก็ใช้คุม bridge pickup ใครยังไม่เก็ท ลองดูรูปนี้ที่ผมวาง 245 เทียบกับ 594 (594 วางเลย์เอาท์แนวเดียวกับกิบสัน) สังเกตที่ชุดคอนโทรลนะครับ

knobs สไตล์ original SC แต่ละอัน จัดวางหน้าที่ตามนี้นะครับ จะต่างจากของกิบสัน

สัมผัสด้านการดีดการเล่น ด้วยสายชุด 10-46 ให้ความรู้สึกนิ่มมือ เล่นสบาย ดันสายง่ายจนอาจดันเลย pitch ได้ง่ายๆหากไม่คุ้นมือ เป็นสัมผัสสไตล์วินเทจที่เล่นง่ายแสนสบาย และเป็นสูตรของโทนอุ่นๆ เหนียวๆ หวานๆ สเกลสั้นแบบนี้หากต้องการดรอปสายต่ำๆ เราก็สามารถอัพขนาดสายให้ใหญ่ขึ้นได้สบาย เพราะสเกลคอมีความอ่อนตัวเยอะ รองรับ string tension ได้อีกไกล

เสียง

ผมทดสอบด้วยแอมป์ Mesa Triple Crown 50 head ออก cabinet PRS Archon 2 x 12 closed back มี delay และ reverb นิดหน่อย เสียง clean ที่ตำแหน่ง neck มีความอุ่น อ้วน หวาน ค่อนข้างออกไปทางวินเทจ แต่คุมย่านกลางได้ค่อนข้างดี คือมันเป็นตัว ไม่บวมตุ่ยอย่างปิคอัพปีใหม่ๆ บางรุ่นของ PRS ผมคิดว่าความคมชัดส่วนนึงได้มาจากไม้ฟิงเกอร์บอร์ดที่อัพเกรดมาเป็นไม้ ebony ด้วย ไม้ยิ่งแข็ง เสียงยิ่งคม ปิคอัพตำแหน่ง bridge มีย่านกลางแหลมเด่นๆ ค่อนข้างคมกว่าปิคอัพวินเทจหลายๆ ตัวที่เคยใช้มา หรือถ้าจะให้พูดอีกอย่างก็คือ ปิคอัพ 245 set เป็นปิคอัพสไตล์วินเทจที่ซ่อนความโมเดิร์นไว้ก็ว่าได้

เสียงแตกผมว่าน่าสนใจมาก ความอิ่มอ้วนเก็บย่านกลางดีของปิคอัพตำแหน่ง neck นั้นช่วยให้เสียงแตกจากแอมป์ TC-50 ฟังดูกลมกล่อมแต่ชัดเจนในเวลาเดียวกัน โซโล่เหนียว หวาน ใช้เล่นพวกบลูส์หวานๆ หรือขยับไปบลูส์ร็อคนี่เหมาะมากๆ และทุกครั้งที่ปิ๊คสัมผัสลงไปโดนสาย เสียงปิ๊คจะดังออกมาค่อนข้างชัดเจนตลอดซึ่งส่วนตัวผมชอบมาก มันทำให้กีตาร์ดูมีชีวิตชีวามากกว่าแค่ดีดๆๆแล้วก็ดังออกมาเป็นโน้ต เรื่องการถ่ายทอดอาการของปิ๊คนี่ผมคิดว่าเป็นเอกลักษณ์ของปิคอัพ PRS รุ่นเก่าๆ หลายรุ่นเลย และส่วนตัวผมก็ชอบโทนและการตอบสนองของปิคอัพ PRS รุ่นปีเก่าๆ หลายรุ่น แต่ผมรู้สึกว่าคุณสมบัติเหล่านี้ หายไป จากปิคอัพรุ่นปีใหม่ๆ

เสียงแตกของตำแหน่ง bridge ก็เล่นสนุก มันมีย่านกลางป่องนิดๆ ค่อนไปทางแหลมตามปกติของปิคอัพโทนวินเทจ มีความดิบสากพอสมควร แต่ไม่ออกเป็นก้อนๆ ลูกๆ แบบ Gibson Les Paul เอาท์พุทค่อนข้างแรงกว่าวินเทจทั่วไปนิดหน่อย ทำให้การเล่นคอร์ดหรือปั่นเป็นไปด้วยความสนุก มีแรงเหลือเฟือสำหรับใช้งานตั้งแต่ป๊อปร็อค คลาสสิคร็อค ฮาร์ดร็อค ยันเมทัล แต่ถึงอย่างไรด้วยความที่พื้นฐานมันคือแนว Gibson PAF มันก็จะออกไปทางหลวมมากกว่ากระชับนะครับ จะเอาไปลุย modern metal, djent metal อะไรเบอร์นั้นเห็นทีจะไม่ค่อยเหมาะ (ยกเว้นถ้าใช้ setup แบบ digital modelling)

ผมทดสอบซ้ำอีกครั้งด้วยแอมป์ตัวเดิม แต่เปลี่ยน cab เป็น Mesa Rectifier 2×12 horizontal คาแรคเตอร์ก็จะเปลี่ยนไปตรงที่มีความกระชับขึ้น การตอบสนองคมขึ้น ริธึ่มกระแทกกระทั้นดุดันขึ้น สนุกไปอีกแบบ

ถ้าถามว่ามันเหมือนเสียงของ Gibson Les Paul มั้ย สำหรับหูและประสาทสัมผัสของผมบอกว่า ก็มีกลิ่นอาย PAF อยู่ แต่ไม่เหมือนซะทีเดียว ที่ชัดๆ เลยคือ PRS มีความสุภาพกว่า ไม่ออกคำรามขุ่นๆ เหมือนทรงต้นฉบับ ซึ่งผมก็ต้องบอกใครก็ตามที่มอง PRS SC ว่า จากที่ผมลองมาแทบจะครบทุกรุ่น ยังไม่เคยเจอ SC ตัวไหนให้โทนเหมือนกิบสันจริงๆ แม้แต่ตัวเดียว ยังไง PRS ก็คือ PRS

ผมแนะนำว่ากีตาร์รุ่นนี้ น่าเอาไปใช้กับแอมป์สไตล์ Marshall คือแอมป์ที่ใช้หลอดพาวเวอร์เบอร์ EL34 มันจะลงตัวมาก เพราะจะได้คาแรคเตอร์ไบรท์ สว่าง เปิด airy จากแอมป์เข้ามาช่วยขับคาแรคเตอร์ของกีตาร์ให้ชัดเจนขึ้นไปอีก แต่ก็ไม่ใช่ว่าแอมป์สไตล์ Rectifier/6L6 ทั้งหลายจะใช้ไม่ได้นะครับ กีตาร์รุ่นนี้ก็ไปได้หมดแหละ ผมแค่คิดว่าเพื่อ best result ถ้าสามารถเลือกแอมป์ให้ตรงแนวกัน มันก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดตามที่เขาออกแบบกีตาร์เอาไว้

PRS SC 245 ตัวนี้เหมาะกับใคร?

  • คนที่ชอบ PRS ทรง SC
  • คนที่มี PRS ทรง DC อยู่แล้ว แต่อยากลองอะไรใหม่ๆ หรือมี PRS ตระกูล Custom อยู่แล้ว แต่อยากได้ทรงอื่นไปเติมเต็ม โดยที่ยังไม่ทิ้งความดุดันมากนัก
  • คนถนัดเล่นกีตาร์เลสพอล ที่อยากสัมผัสโทน PAF สนุกๆ ในแบบฉบับของ PRS ปีเก่า
  • คนเคยใช้เลสพอลมานาน แต่เริ่มไม่อยากใช้เพราะร่างกายชักจะแบกน้ำหนักไม่ไหว
  • คนเล่นเพลงแนวบลูส์ร็อค คลาสสิคร็อค หรือคนที่ใช้เสียงแตกโทน Marshall
  • คนที่เน้นภาคโซโล่หวานๆ และมีความดุดันในตัว
  • คนที่ไม่เน้นใช้เสียงตัดคอยล์ และไม่ได้เล่นถึงเฟรทที่ 23 – 24

ส่งท้าย

ก็หวังว่าการรีวิวนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังสนใจกีตาร์ PRS นะครับ ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านกันครับ

ถ้ายังหลอนกีตาร์ PRS อยู่ก็ตามมาครับ กลุ่ม PRS Thailand รอท่านอยู่ คลิกเลย