รีวิวกีตาร์ PRS SE Custom 24 Roasted Maple Limited

มีกีตาร์ Paul Reed Smith SE รุ่นหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจ ด้วยความที่มันเป้นรุ่นลิมิเต็ดและมีสเปคแปลกแยกไม่เหมือน PRS รุ่นไหนๆ มันคือรุ่น SE Custom 24 Roasted Maple Limited หรือ SE Custom 24 คอขาว อันที่จริงผมเคยรีวิวไปตร่าวๆแล้วครั้งนึง แต่ด้วยความที่ช่วงนี้งานเยอะแล้วเบลออย่างไรไม่ทราบจึงจำไม่ได้แล้วเขียนบทความซ้ำ ฮ่าๆๆ เอาเถอะ ครั้งนี้ใช้แอมป์ Mesa Recto-Verb เสียงดีกว่าดีกว่าแอมป์จำลอง Yamaha THR ที่ใช้คราวที่แล้วเยอะ ดังนั้นบทความรีวิวรอบสองนี้ผมจะถ่ายรูปให้ชัดกว่าเดิม,เขียนดีเทลให้ละเอียดกว่าเก่า, และอัดคลิปให้ดีขึ้น และที่ผมคิดว่าต้องมีเลย คือ เปรียบเทียบมันกับ SE รุ่นใกล้เคียง

มีอะไรบ้างนั้น ตามมาครับ

อะไรนะ SE Custom 24 คอขาว?

ใช่ครับ ขาวทั้งบอร์ดและคอเพราะมันเป็นไม้เมเปิล ไม่ใช่แค่เมเปิลเฉยๆนะ แต่เป็นเมเปิลผ่านการอบร้อน (roasted/torrefied maple) ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ปกติเลยกับ PRS ตระกูล SE (แต่ถ้า Core กับ Bolt on น่ะมีบ้าง) ผมคิดว่าก็เป็นการตามกระแสตลาดกีตาร์คอเมเปิลอบร้อนที่กำลังฟีเวอร์มากๆ ในช่วงนั้น มีกันตั้งแต่กีตาร์บูทีคราคาหลักแสนยันกีตาร์ราคา 2-3 หมื่น PRS ก็เลยลองชิมลางดูกับซีรีส์ SE ในชื่อ SE Custom 24 Roasted Maple Limited และเปิดตัวในปี 2018 ผลิตจากโรงงาน World Musical Instruments ที่ประเทศเกาหลีใต้ นี่น่าจะเป็น PRS SE รุ่นสุดท้ายที่ออกมาจากโรงงานแห่งนี้ หลังจากที่ PRS ย้ายฐานการผลิตเครื่องดนตรีตระกูล SE ไปที่ประเทศอินโดนีเซียและจีนแล้วในปัจจุบัน

คออบร้อน อบยังไง?

การอบร้อน (roasting, torrefication) ที่ PRS ทำกับไม้เมเปิลที่ใช้ทำคอและบอร์ดของ SE รุ่นนี้ คือกระบวนการนำไม้เมเปิลที่ผ่านการตัดแปรรูปแล้ว เข้าไปอบในเครื่องอบความร้อนสูงซึ่งมีลักษณะเป็นอุโมงค์ที่มีระบบทำความร้อนสูงมากกว่า 100 องศาเซลเซียสแต่จะมีการสูบอากาศออกให้หมดก่อนเริ่มให้ความร้อนสูง ไม้จึงไม่เกิดการลุกไหม้เนื่องจากองค์ประกอบในการเผาไหม้มีไม่ครบ (ความร้อน เชื้อเพลิง อากาศ) การอบร้อนสุญญากาศดังกล่าวใช้เวลาหลายชั่วโมง

กระบวนการอบร้อนทำให้น้ำหรือความชื้นที่ซ่อนอยู่ลึกในเนื้อไม้ระเหยออกไปหมด ไม้มีความแห้งถึงเนื้อในอย่างที่เป็นไปไม่ได้ด้วยวิธีตากแห้งตามปกติ (หรืออาจต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะแห้งได้อย่างนี้) ผลก็คือไม้มีความบริสุทธิ์มากขึ้น มีเสถียรภาพมากขึ้น ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นอย่างมาก นอกจากนี้ ไม้ที่ผ่านการอบจะมีสีเหลืองแก่ๆ ทำให้ดูคล้ายไม้เก่าหรือกีตาร์วินเทจ ดูเท่ไปอีก นอกจากนี้ด้วยลักษณะเฉพาะของไม้แต่ละแผ่นที่มาจากต่างต้นกัน ทำให้สีที่ได้จากการอบมีโทนเข้ม-อ่อน ไม่เท่ากัน แม้จะผ่านกระบวนการอบที่อุณหภูมิเท่ากันและใช้เวลานานเท่ากันก็ตาม

สเปคมีอะไรน่าสนใจบ้าง

  • Body : mahogany, multi – piece
  • Top : plain maple top with quilted maple veneer
  • Neck : roasted maple with gloss finish, multi – piece
  • Neck profile : wide thin
  • Scale length : 25″
  • No. of frets : 24 medium-jumbo
  • Fingerboard : roasted maple with satin finish
  • Fingerboard inlay : black old school birds, hot stamped
  • Fingerboard binding : none
  • Headstock veneer : none
  • Headstock text : PRS SE signature
  • Truss rod cover text: Custom
  • Tuners : SE non-locking
  • Bridge : PRS-designed tremolo
  • Pickups : PRS 85/15 “S”
  • Electronics : 3 way blade, 1 vol, 1 push/pull tone
  • Control knobs : speed
  • Hardware: nickel
  • Accessories : SE grey gig bag
  • Colors : มี 5 สี – Purple Burst, Whale blue, Charcoal Burst, Sunburst, Trampas Green
ผมชอบมุมนี้แฮะ

สัมผัสและงานสร้าง

ในแง่สัมผัสนั้น ก็ไม่ต่างจาก SE Custom 24 ปกติทั่วไป คอเชพกลมบาง บอดี้บางสบายที่คุ้นเคย งานสร้างถือว่าไร้ที่ติตามมาตรฐาน SE made in Korea ที่ทุกคนไม้วางใจมากว่าสองทศวรรษ

บอร์ดขาวกับนกดำนั้นแน่นอนว่าเป็นความสวยสะดุดตาที่ไม่ม่ SE รุ่นใดจะเสมอเหมือน เมื่ละลายตาจากบอร์ดเมเปิลสีน้ำผึ้งอ่อนๆ ลงมาที่หน้าท็อปก็เจอกับไม้เมเปิลลายควิลท์งามจับตา ซึ่งปกติลายไม้ท็อปแบบนี้จะมากับกีตาร์ SE รุ่นพิเศษบางรุ่น หรือไม่ก็ SE Mark Holcomb signature เท่านั้น

ท็อปทำจากไม้เมเปิล ประดับด้วยวีเนียร์ลาย qulilted maple ทำให้ PRS SE รุ่นนี้ดูพิเศษขึ้นไปอีก

นกสีดำบนบอร์ดเมเปิลนั่น ถ้าดูใกล้ๆจะเห็นว่านั่นไม่ใช่งานฝังวัสดุ/เลี่ยม (หรือที่ผมชอบใช้ทับศัพท์ว่า “อินเลย์”) นะครับ แทนที่เค้าจะตัดพลาสติกเป็นรูปนกแล้วฝังลงไปในเนื้อไม้ฟิงเกอร์บอร์ด สำหรับ SE รุ่นนี้ทางโรงงานใช้วิธีทำให้เกิดรูปนกบนไม้แทน สังเกตในตัวนกดีๆ จะเห็นว่าลายเสี้ยนไม้ที่อยู่รอบตัวนกยังวิ่งทะลุผ่านตลอดตัวนกออกไป ไม่ได้ถูกตัดหรือขุดเพื่อฝังวัสดุอย่างที่รุ่นปกติทำกันแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เทคนิคทำรูปนกบนบอร์ดเมเปิลคล้ายๆแบบนี้ไม่ได้มีแต่ใน SE Roasted Limited นะ แต่ซีรีส์ Bolt-on ปีใหม่ๆ เช่น Silver Sky Maple, CE 24 Dustie Waring, Fiore ยันพวก Wood Library (ที่เป็นคอขาว บางตัว) ก็ทำแบบนี้

นกสีดำตัดกับบอร์ดเมเปิลสีอำพัน
สังเกตที่ตัวนกดีๆ จะเข้าใจว่าทำไมผมไม่ใช้คำเรียกมัน ว่า “อินเลย์ (inlay)”

แต่ข้อสังเกตของผมก็มีด้วยเช่นกัน คือในส่วนของงานเคลือบฟิงเกอร์บอร์ดนั้นเป็นการเคลือบด้านซึ่งถือว่าทำมาดี เหมาะสมแล้ว แต่สำหรับคอผมคิดว่าไม่ควรเคลือบเงา ซึ่งถือว่าไม่ปกติเท่าไหร่นักสำหรับกีตาร์ที่ใช้ไม้เมเปิลอบซึ่งยี่ห้ออื่นๆในท้องตลาดเขาจะเคลือบด้าน (satin) กันหมด เพราะนอกจากการเคลือบด้านจะให้สัมผัสที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากกว่าแล้ว ชั้นเคลือบด้านก็ยังบางกว่าเคลือบเงา อีกทั้งการเคลือบด้านยังช่วยให้การเคลื่อนไหวของมือเป็นไปอย่างคล่องตัว

อะไหล่บนตัวกีตาร์ก็เกรด SE ปกติ ลูกบิด designed by PRS ที่ไม่ได้ผลิตจากโรงงาน PRS ปิคอัพ 85/15 ‘S’ ที่ผลิตจากโรงงาน Jin Ho ที่เกาหลี ฝา knob แบบ Speed สีดำกลมเกลี้ยงที่ผมชื่นชอบ เพราะผมว่า knob บ้านๆแบบนี้ ใช้งานจริงแล้วคล่องตัวยิ่งกว่า PRS Lampshade หรูๆ ซะอีก ชุดคันโยกแซดเดิลทองเหลืองบล็อกเหล็กตามมาตรฐานของซีรีส์ เฟรทนิเกิลขนาด medium jumbo เรเดียสสิบนิ้วที่คนเล่น PRS ทุกคนคงคุ้นเคยกันดี สรุปว่าทุกอย่างก็เป็นไปตาม PRS SE ที่หลายคนน่าจะรู้จักกัน เหมือนเดิม

และแน่นอน SE รุ่นนี้ก็มากับกระเป๋า SE Gigbag อย่างดีพร้อมก้านคันโยกและอุปกรณ์เซ็ทอัพเบื้องต้นใส่มาให้ด้วย

เสียง

เหมือนหลายคลิปที่ผ่านมา ผมเลือกใช้แอมป์ Mesa Recto-Verb 25 Combo ในการทดสอบ เพราะมันเป็นแอมป์ที่เสียงออกโทนวินเทจอุ่นๆ และเพราะหมดทั้งคลีนและแตก และก็เซ็ท EQ ไว้ค่อนจะกลางๆ บวก Treble ไว้แค่บ่ายโมง ผมชอบให้แอมป์ติดสว่างกว่าปกตินิดๆ หน่อย เป็นความชอบส่วนตัว

Clean channel

เริ่มจากคลีน แก๊ก neck humbucker ความรู้สึกของผมคือ มันมีหัวโน้ตที่ค่อนข้างใส ย่านโลว์ไม่ใหญ่มากเลยทำให้เสียงแก๊กนี้ฟังดูเปิด สว่าง ขึ้นมาหน่อย แก๊ก humbucker อีกสองแก๊กก็ออกไปทางใสขึ้น แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรซะจนเปลี่ยนมันจาก SE Custom 24 ที่ผมรู้จักไปเป็นสิ่งอื่น

ดึง Tone pot ขึ้นเพื่อตัดคอยล์ ก็เหมือน SE Custom ตัดคอยล์อะ วอลุ่มก็วูบลงไปพอสมควร แม้จะไม่วูบมากเพราะ PRS ปีใหม่ๆ มีการต่อ capacitor ไว้ที่ Tone pot เพื่อ bypass สัญญาณบางส่วนออกไปเมื่อมีการใช้งานระบบตัดคอยล์ ซึ่งในคลิปผมได้ดึงๆกดๆ Tone pot แล้วดีดให้ฟังกันสดๆ ว่าวอลุ่มตัดคอยล์ก็ไม่ได้ตกวูบวาบมากนะ แต่ในเรื่องการรักษาระดับวอลุ่มเมื่อตัดคอยล์นี่ ถึงอย่างไรก็คงสู้พวก 24-08 หรือ Paul’s Guitar ไม่ได้ ส่วนคาแรคเตอร์เสียงตัดคอยล์ก็ปกติอย่างที่เคยลองตัวคอดำมา คือฟังรู้ว่าตัดคอยล์นะ แต่ก็ธรรมดาๆ ไม่ได้รู้สึกโปร่ง ใส เด้ง หรือมีคาแรคเตอร์พิเศษอะไรดังเช่นตอนที่ลองรุ่นตระกูล 24-08 ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจว่า 24-08 มันถูกออกแบบระบบไฟฟ้ามาเพื่อการนั้นเลยจริงๆ

Lead channel

เป็นเสียงแตกมากกว่าที่ผมรู้สึกว่าเป็นจุดเด่นของ SE คอขาวนี่ เพราะซาวด์แตกมีความสะอาดขึ้นมาประมาณนึง โดยเฉพาะกับแอมป์ Recto-Verb ที่ให้โทนไปทางวินเทจอุ่นๆ ย่านโลว์และกลางอิ่มเอิบ เจ้าคอขาวก็ช่วยให้การเล่นรู้สึกสนุกขึ้นมาได้พอสมควรเลย เนื่องจากฟิงเกอร์บอร์ดเมเปิลช่วยลดย่านโลว์ จึงทำให้ไม่ว่าเล่นคอร์ดหรือโซโล่ด้วย neck humbucker ก็ฟังดูเคลียร์ใช้ได้ โอเค มันคงไม่ clear cut ได้เท่าพวก 24-08

ชักสนใจ ว่าแต่ ถ้าเทียบกับ SE Custom 24 คอดำ (บอร์ดโรสวูด) แล้วต่างกันยังไง?

แน่นอน ความต่างแรกก็ตามชื่อรุ่น คือไม้เมเปิลที่ใช้ทำคอรวมถึงฟิงเกอร์บอร์ดนั้น ผ่านกระบวนการอบในเตาอบสุญญากาศความร้อนสูงที่เคลมว่าสร้างเสถียรภาพของไม้ให้มีความต้านทานความเปลี่ยนแปลงจากสภาพอุณหภูมิและความชื้น แปลว่าเวลาเราเอากีตาร์ที่ผ่านกระบวนการ heat treatment แบบนี้มา โอกาสที่มันจะบิด งอ เพราะความชื้นหน้างาน จนคอเล่นไม่ได้จนเสียงาน ต่ำกว่าปกติ ซึ่งอันนี้ก็เป็นข้อมูลตามหลักวัสดุศาสตร์ แต่ผมเองก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ในเรื่องนี้นะครับ เนื่องจากไม่ใช่นักดนตรีอาชีพที่ต้องทัวร์ข้ามประเทศ แค่เล่าสู่กันฟัง แต่ผมก็อยากบอกว่า ตลอดเวลาสิบกว่าปีที่รู้จัก PRS SE Custom มา ไม่เคยมีสักครั้งที่จะพบ PRS SE Custom ตัวไหนมีอากาศคอบิด งอ โก่ง ทำกลุ่มมาหลายปีจนมีสมาชิกสองหมื่นกว่าคน ก็ไม่เคยมีสักคนที่จะทักมาบ่นเรื่องคอ SE Custom มีปัญหา

ความเสถียรของคอ PRS SE Custom นั้นก็เนื่องมาจากโครงสร้างคอที่ประกอบด้วยไม้เมเปิลที่เลื่อยแบบ quarter sawn เกรนไม้ตั้งฉาก 3 ชิ้นยาวๆ ต่อกาวติดกันตามแนวนอน คนที่มีความรู้เรื่องงานไม้จะทราบกันดีว่า จุดที่กาวต่อไม้นั้น หากทำอย่างถูกต้องแล้วจะแข็งแรงยิ่งว่าส่วนที่เป็นไม้ชิ้นเดียวไร้รอยต่อเสียอีก ยิ่งต่อ 3 ชิ้นโอกาสบิดเบี้ยวนั้นเกิดขึ้นยากมาก เพราะไม้แต่ละชิ้นจะคานแรงกระทำซึ่งกันและกัน ดังนั้นผมจึงมองว่าโครงสร้างคอของ SE Custom เดิมๆ มันดีอยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องใช้เทคนิคทางวัสดุศาสตร์ใดๆ มาช่วยจากที่ทำอยู่แต่เดิม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การอบไม้คอของ SE Custom Roasted Limited นั้น จะกระทำไปด้วยการตลาดหรืออย่างไรก็สุดแท้แต่ มันก็เป็นเรื่องที่ไม่เสียหาย ราคาก็ไม่ได้ชาร์จอะไร ใครใคร่ซื้อก็ซื้อได้ไม่เสียหาย เก๋ๆ ดีไปอีกแบบ

ส่วนคาแรคเตอร์เสียงมันต่างจาก SE CU24 ตัวคอดำปกติ แต่ถึงมันจะมีความต่างก็ต่างแค่นิดหน่อย โทนโดยรวมก็ยังอยู่ในคาแรคเตอร์ของ SE CU24 อยู่ดี เป็นโทนซึ่งแต่ไหนแต่ไรก็ไม่ใช่กีตาร์ที่ให้ย่านโลว์เยอะอะไรอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าถามผมว่าซาวด์คอขาวลิมิเต็ดต่างจากตัวคอดำปกติแต่ไหน ตอบว่าไม่มากครับ คือเบสน้อยลงนิดหน่อย แต่เป็นความต่างคล้ายๆเวลาเราปรับหน้าแอมป์โดยลด Bass ลงซักขีดสองขีด เราเลยได้ยินย่านกลางกับแหลมเคลียร์ขึ้นอีกหน่อย แต่มันไม่ได้เปลี่ยนคาแรคเตอร์โดยรวมของแอมป์นั้นแต่อย่างใด เจ้า SE คอขาวตัวนี้ก็ประมาณนั้นแหละ พูดง่ายๆอีกแบบนึงคือ มีคาแรคเตอร์ที่ใหม่แต่ไม่ถึงกับแปลกแยกจากฝูง ถ้าใครที่กลัวว่าซาวด์ของเจ้าคอขาวนี่จะเพี้ยนจากสมการของ PRS ไป ก็สบายใจมาก มันไม่ได้เปลี่ยนขนาดนั้น

ไม่ต่างจากคอดำมากงั้นรึ… แล้ว ถ้าอยากได้ PRS SE ทรง Custom แต่ซาวด์ไม่ Custom ซะทีเดียว ยังมีตัวเลือกอะไรอีกบ้าง?

อยากได้ SE ทรง Custom แต่เสียงต่างจาก Custom ใช่มั้ย งั้นก็นี่เลย

  • SE Standard 24 ถ้าอยากได้ความกระชับเป็นตัวมากกว่านี้อีกนิด และงบประมาณมีค่อนข้างจำกัด
  • SE Custom 24-08 ถ้าต้องการ wood combination อย่าง SE CU24 คอดำ แต่เพิ่มลูกเล่น 8 เสียง กับคาแรคเตอร์คมๆ
  • SE Standard 24-08 ลูกเล่น 8 เสียง ที่มาพร้อมความคม และราคาที่ยากเกินห้ามใจ
  • SE Paul’s Guitar ตัวท็อป SE solidbody ด้วยความคม ลูกเล่น 8 เสียง ลายไม้สุด สเปคสุดของ SE แถมส่วนใหญ่น้ำหนักเบา
  • SE Custom 22 Semihollow ความเด้ง ป๊อง ดีดดิ้นสนุกสนาน แถมตัวเบาโหวง ของดีที่หลายคนมองข้าม
  • SE Mark Holcomb โหด ดุ ที่สุดแห่งความแรงและความกระชับ มันคืออสูรร้ายแห่ง PRS SE

สรุป

เจ้านี่เหมาะกับใคร

  • คนที่ชอบคาแรคเตอร์ของกีตาร์ฟิงเกอร์บอร์ดเมเปิล – ใส สว่าง สะอาด เบสไม่กระแทกมาก
  • อยากได้คาแรคเตอร์เสียงแตกที่สะอาดกว่า SE Custom คอดำ นิดนึง แต่ก็ยังต้องการคาแรคเตอร์ครอบจักรวาลแบบ SE Custom 24 รุ่นมาตรฐาน
  • คนที่ชอบลุคแบบนี้ มองว่าไม่โหลไม่ซ้ำใคร เอาไปเล่นไหนก็เท่
  • คนชอบสเปค ทั้งคออบร้อนที่สมัยนี้เป็นที่นิยม อินเลย์นกสีดำ และวีเนียร์ท็อปลายควิลท์
  • คนที่ชอบความลิมิเตด อยากได้ SE ที่ผลิตในเกาหลี แถมจะเอาหัวลายเซ็นด้วยอีกต่างหาก

แต่ไม่เหมาะกับ…

  • คนที่รู้สึกว่า ย่านของ SE CU24 คอดำปกติมันก็โอเคอยู่แล้ว
  • คนที่หวังจะได้ซาวด์แบบ Polyphia หรือซาวด์ที่กัดๆ เหล็กๆ มีความ percussive เยอะๆ มีความ articulate แบบขั้นสุดจากคอและบอร์ดเมเปิลอบร้อน ซึ่งเจ้า SE คอขาวนี่ อาจทำให้หลายคิดไปแบบนั้นด้วยสเปคและหน้าตา แต่ผมเสียใจด้วยที่จะบอกว่าความจริงแล้วมันไม่ใช่เลย SE Custom 24 Roasted Limited มันก็ยังอยู่ในข่ายซาวด์ PRS SE Custom ตามปกตินี่แหละ ถ้าอยากได้ความ articulation คมๆ ชัดๆ ขนาดนั้น แนะนำดูรุ่น SE Custom 24-08 หรือ SE Standard 24-08 จะเหมาะกว่าครับ

สรุปสั้นๆสำหรับเจ้า SE Custom 24 Roasted Maple Limited คือ โทนเปลี่ยนนิดหน่อย ใสขึ้นแต่ไม่หนีจากคอดำมาก แต่ถึงอย่างไรก็ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะเป็นรุ่นลิมิเตด คอเท่ สเปคไม่เหมือนรุ่นไหนๆ ลายก็สวย แถมเป็นรุ่นสุดท้ายที่ผลิตเกาหลี ถ้าใครที่ไหนๆ กำลังจะสอย SE Custom 24 คอดำอยู่แล้ว (โดยไม่คิดจะมองตระกูล 24-08) ผมว่าลองเจ้าคอขาวนี่สักหน่อยก่อนตัดสินใจก็ดีนะครับ ราคาไม่หนีกันมาก SE Roasted Maple Limited ราวๆ 28000 บาท ส่วน SE CU24-08 อยู่ที่ประมาณสามหมื่นนิดๆ

ส่งท้าย

หวังว่าที่ผมอธิบายข้อมูลไปจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ในการเลือกกีตาร์ PRS SE ไม่มากก็น้อยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่าน และขอขอบคุณร้าน Music Collection สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ที่เอื้อเฟื้อกีตาร์สำหรับทดสอบครับ

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจกีตาร์และเครื่องดนตรีแบรนด์ Paul Reed Smith สามารถติดตามไปเก็บข้อมูลกันต่อได้ที่กลุ่มเฟสบุค PRS Thailand ของผมได้ คลิกเลยจ้า