รีวิวปิคอัพ Bare Knuckle Juggernaut และ Warpig (ceramic)

ผมเป็นคนชอบทดลองนั่นนี่กับกีตาร์และเครื่องดนตรีต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อหาคำตอบให้กับสิ่งที่ตัวเองสงสัย ตั้งแต่เปลี่ยนอะไหล่ ยันทำสีกีตาร์ทั้งตัว ทุกโปรเจคท์ที่ทำล้วนมีโจทย์บางอย่างที่ตัวเองกำหนดเป้าหมายพร้อมทั้งตั้งสมมติฐานการทดลองเอาไว้ บางครั้งได้ผลตรงตามสมมติฐาน บางครั้งไม่ตรง และบางครั้งไม่แน่ใจก็มี

ในบรรดางานโมดิฟายของผมทั้งหมด สิ่งที่ทำบ่อยๆ ด้วยความกระหายใคร่รู้ไม่เคยจบสิ้น คือ การทดลองเปลี่ยนปิคอัพกีตาร์ เพราะอะไหล่ชิ้นนี้คือ “ไมค์” ของกีตาร์ เป็นองค์ประกอบที่ต้นทางซึ่งจะมีผลต่อผลลัพธ์ปลายทางมากที่สุดชิ้นหนึ่ง ไม่ใช่แค่เสียง แต่ปิคอัพแต่ละตัวยังให้ “การตอบสนองต่อการเล่น” ที่แตกต่างกันออกไป และสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถจำลองได้ด้วยเอฟเฟคท์ ผมจึงให้ความสำคัญในการทดลองกับอะไหล่ชิ้นนี้ มากกว่าลองเปลี่ยนเอฟเฟคท์ก้อน แบบที่คนส่วนใหญ่มักจะทำกัน

สำหรับการทดลองครั้งนี้ ผมอยากเทียบเสียงปิคอัพ 7 สาย แบรนด์อังกฤษที่ผมสั่งมาลองแล้วหลายรุ่น คือ Bare Knuckle Pickups (BKP) โดยเทียบระหว่างรุ่น Juggernaut (Misha Mansoor signature) กับรุ่น Warpig (เวอร์ชั่นแม่เหล็กเซรามิค) โดยมีโจทย์ที่ว่า ผมอยากได้ปิคอัพที่ให้ย่านโลว์ที่ใหญ่ แน่น กระชับเก็บตัวไว กว่ารุ่น Juggernaut ที่ใช้อยู่ ซึ่งแม้ผมจะชอบปิคอัพรุ่นนี้ในความดุ แผด สาก ไบรท์ มากเพียงใด ก็ยังรู้สึกว่าย่านโลว์ของสาย 7 นั้น ควรมีความแน่นกว่าที่เป็นอยู่ ผมสงสัยว่าจากโจทย์ดังกล่าว BKP Warpig อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีก็เป็นได้ จึงสั่งมาลองดู

ปิคอัพ BKP Juggernaut
ปิคอัพ BKP Warpig ceramic

สำหรับคนที่ยังใหม่กับปิคอัพแบรนด์ Bare Knuckle อาจจะสงสัยเกี่ยวกับหน้าตาปิคอัพที่ดูไม่ค่อยจะเหมือนกันแม้เป็นรุ่นเดียวกัน เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากแบรนด์นี้เค้าให้เราสั่งตัด (custom order) หน้าตาปิคอัพตามแบบที่เราต้องการได้ตากหน้าเว็บ bareknucklepickups.co.uk ได้เลย โดยจะมีออพชันให้เลือก เช่น สี bobbins, สีของฝา, ชนิดของฝา, ลวดลายบนฝา (แล้วแต่รุ่น), สีของหมุด, ระยะ pole piece spacing, ความสูงของขาปิคอัพ ฯลฯ หรือถ้าไม่ชอบแบบที่เว็บมีให้ ก็สามารถพูดคุยโดยตรงทาง email เพื่อสั่งแบบเฉพาะของเราได้อีก

สเปค

ปิคอัพทั้งสองรุ่นจัดอยู่ในประเภท high output ออกแบบมาเพื่อใช้เล่นในสไตล์ร็อค-เมทัลโดยเฉพาะ สเปคของรุ่น Juggernaut จะแปลกกว่าปิคอัพปกติทั่วไปนิดหน่อย ตรงที่ตำแหน่ง bridge ใช้ทั้งแม่เหล็กชนิด alnico และ ceramic ประกบกัน ส่วน Warpig นั้นเป็นปิคอัพที่แรงที่สุดของค่าย BKP ด้วยค่า DCR ที่สูงลิ่วถึง 21.5k ที่ตำแหน่ง bridge humbucker ถึงยังไม่เคยลองก็พอจะเดาได้ว่าเสียงแตกของมันจะต้องโหดดุดันแน่นอน

BKP Juggernaut

BKP Warpig (ceramic magnet)

การติดตั้ง

ใช้ super switดีกว่าระบบดุง Tone ตัดคอยล์เยอะครับ เปลี่ยนได้เปลี่ยน เชื่อผม

ลองเสียง

ผมใช้แอมป์ PRS Archon 50 (USA) ต่อกับตู้ PRS Archon 2×12 cabinet (ดอก Celestion V Type) เอฟเฟคท์ก็ไม่ใช้อะไรมาก แค่เปิดรีเวิร์บจาก Free The Tone ทิ้งไว้คลอๆ กับใช้ overdrive ของ JHS Sweet Tea (Moonshine V2) ตอนบูสต์แตกแอมป์

ผมอัดด้วยไมค์ Zoom ต่อกับมือถือ ไม่ผ่านการ post processing แต่งเสียงในคอมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะหลักการของผมคือการถ่ายทอดข้อเท็จจริงจาก room sound ผมได้ยินหน้าตู้อย่างไร เพื่อนๆก็ต้องได้ยินอย่างนั้น

Juggernaut มีย่านกลาง-แหลมที่เด่นกว่า แม้จะไม่แหลมแบบบาดหู แต่ก็ถือว่าให้โทนไบรท์ ย่านเบสมีพอเหมาะพอประมาณ เนื้อเสียงมีความโปร่ง ออร์แกนิค ไม่ออกพลาสติกแข็งๆ และไม่คอมเพรสเยอะเหมือนปิคอัพแรงๆ หลายตัวที่เคยลองมา เสียงแตกมีความสากเป็นลูกๆ ไม่แตกละเอียดยิบเหมือนปิคอัพ hi output คาแรคเตอร์เก่าๆ หลายๆรุ่น

Juggernaut neck humbucker ให้ความกลม อุ่น ในระดับที่โอเคเลยสำหรับปิคอัพในตลาดแนวเมทัล แม้จะรู้สึกได้ถึง compression นิดหน่อย แต่ก็ไม่ตื้อ ยังมี “อากาศ” ในเนื้อเสียงให้พอไม่รู้สึกอึดอัด และมันจะให้ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความเหนียวบูสต์

ไปกันต่อที่ Warpig ซึ่งผมเจาะจงเลือกออพชันแม่เหล็กของ bridge humbucker เป็นชนิดเซรามิคเพื่อหวังผลในเรื่องความกระชับเก็บตัวไว (tightness) ของย่านโลว์ สิ่งที่รับรู้ได้ทันทีเมื่อเทสต์ปิคอัพรุ่นนี้ในคอ์ดแรก คือมันแรงกว่า Juggernaut ใครคิดว่า Juggernaut แรงแล้ว มาเจอ Warpig ก็ต้องบอกว่าโคตรแรง โดยเป็นความแรงที่หมัดหนักเอาการเพราะพกย่านเบสมาเยอะมาก ส่วนย่านกลาง/แหลมมีพอประมาณ พอให้ไม่อับเหมือนอย่างพวก Seymour Duncan Omega set ความแรงของ Warpig รับรู้ได้ไม่ยากแม้อยู่ใน clean channel ของแอมป์ PRS Archon จากความดังที่ลั่นเอาการ โดยเฉพาะตำแหน่ง bridge humbucker

เมื่อสลับไปใช้แชนแนลแตก ผมยิ่งรับรู้ว่ามันต่างจาก Juggernaut เยอะ ด้วยริฟฟ์หัวโน้ตใหญ่ๆ พาวเวอร์คอร์ดเสียงหนักๆ ที่แม้จะไม่ค่อยมีย่านไบรท์ใสสะอาด แต่ก็ไม่ถึงกับขาดจนอับอู้อะไร ถือว่าเป็นปิคอัพที่แม้จะแรงมาก แต่คาแรคเตอร์ EQ ผมมองว่าไม่ได้แคบหรือเจาะจงเฉพาะทางเสียทีเดียวนัก

อย่างไรก็ดี จากการที่ผมสังเกตอาการของมันว่า ตอบโจทย์ที่ตัวเองตั้งไว้หรือไม่ในเรื่องความแน่นของย่านเบส นั้น ก็ต้องบอกตามตรงว่า แม้ย่านโลว์ของ Warpig จะมีอยู่อย่างล้นทะลักเพียงใด แต่มันก็ยังมีความหลวมอยู่พอสมควร ผมรับรู้ได้ชัดเมื่อเล่นสาย 6-7 ว่าหัวโน้ตยังมีความบานๆ อยู่ ไม่ได้กระชับแน่นเป๊ะโมเดิร์นจ๋าเหมือนอย่างพวก SD Omega ดังนั้นคำตอบของคำถามของผม จึงเป็น “Warpig ยังไม่ตอบโจทย์” แต่แม้ย่านเบสของมันจะไม่ tight อย่างที่หวัง คอร์ดเสียงแตกหนาๆ สากๆ หางเสียงยาวๆ ของปิคอัพรุ่นนี้ก็นับเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของมัน สำหรับผมมองว่า ส่วนดีที่มันมีอยู่ก็ไม่เลวซะทีเดียว ขอแค่เราเข้าใจคาแรคเตอร์ของมันเพื่อจะใช้มันให้ถูกกับงาน ก็พอ

พูดถึงความ tight lows แล้ว จากประสบการณ์ของผมที่ลองปิคอัพแรงๆมาหลายรุ่น ณชั่วโมงนี้ ก็ยังต้องยกให้ Seymour Duncan Alpha & Omega set ยืนหนึ่งต่อไป ยังไม่มีBare Knuckle รุ่นไหนจะสามารถโค่นตำแหน่งนี้ของมันได้เลยต่อให้เป็น Ragnarok หรือ Warpig ก็ตาม ดังนั้นถ้าใครเน้นริฟฟ์หนักๆ ดร็อปสายต่ำมากๆ แต่ต้องการความแน่นกระชับเป็นตัวๆ ไม่บวมเบลอ ไม่ต้องไปหา BKP แพงๆ ให้เจ็บตัวเล่นแบบผมครับเล่น Seymour Omega set นั่นแหละดีที่สุดแล้ว 

ผมขอพูดถึงการตอบสนองของ Warpig ในการเล่นโซโล่สักหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้แชแนลแตกร่วมกับก้อน overdrive นั้น มันให้คาแรคเตอร์ที่น่าสนใจ คือมันจะมีหางโน้ตฮาร์โมนิคส์หอนๆ เพราะๆ ติดมา แถมมีความแรงที่ช่วยให้เสียงติดนิ้ว ก็ทำให้เล่นเพลินไปอีกแบบ เพลินแบบที่ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเจอจากปิคอัพรุ่นนี้ ซึ่งไม่ใช่ปิคอัพ hi output ทุกตัวจะมีบุคคลิกแบบนี้ ความฟุ้งเพราะๆ แบบนี้ทำให้ผมมองมันว่ามีความออร์แกนิคพอสมควร มีชีวิตชีวา ไม่ได้แข็งกระด้างอย่างปิคอัพแนวๆนี้หลายๆรุ่นในท้องตลาด ผมคิดซะว่าเป็นของดีที่ได้มาชดเชยความหลวมก็แล้วกัน 555 เอาจริงผมว่าเจ้า Warpig นี่ไปใช้เล่นเพลงร็อคทั่วไปได้นะ หากไม่เน้นว่าต้องการโทนสว่างมากนัก  

ส่งท้าย

จากประสบการณ์ของผมที่ลองเปลี่ยนปิกอัพมาเยอะ บอกได้อย่างหนึ่งว่า ของแบบนี้ถ้าไม่สั่งมาลองเอง+กับอุปกรณ์ของเราเอง+ในพื้นที่ควบคุมของเราเองเราจะไม่มีวันรู้เลยว่าลึกๆแล้ว มันเป็นอย่างไร อย่าไปเชื่อความเห็นเรื่องเสียงปิคอัพในอินเทอร์เน็ตมากนัก เพราะอุปกรณ์กับการรับรู้ (perception) ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องลองกับตัวเองก่อนจึงค่อยสรุปครับ

สำหรับการรีวิวเทียบเสียงปิคอัพ BKP ทั้งสองรุ่นของผมก็มีเท่านี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเพื่อนๆ ที่เข้ามาอ่านจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

เข้าร่วมกลุ่มเฟสบุค PRS Thailand คลิก ครับ