เจาะลึกกีตาร์ PRS SE รุ่นใหม่ 3 รุ่น

PRS เปิดตัวกีตาร์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ในไลน์ SE ใหม่ 3 รุ่นในงาน NAMM 2019 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กีตาร์ 3 รุ่นนั้นก็ได้แก่ SE Schizoid, SE Santana Singlecut Tremolo และ SE Paul’s Guitar รายละเอียดเป็นยังไง น่ารักน่าหลอนยังไง ไปดูกันเลย

SE Schizoid limited edition


  • Body : all mahogany
  • Neck : maple
  • Scale length : 25″
  • Neck profile : wide thin
  • Fingerboard : rosewood
  • Number of frets : 24
  • Inlays : birds, synthetic
  • Pickups : 85/15 “S”, black bobbins
  • Electronics : 3 way blade switch, 1 vol, 1 push/pull tone
  • Hardware: chrome with clear speed knobs

กีตาร์ SE Schizoid (อ่านว่า สคิด-ซอย) รุ่นนี้ เป็นรุ่นลายเซ็นของ Jakko Jakszyk มือกีตาร์วง King Crimson สเปคกีตาร์โดยพื้นฐานคล้ายกับ SE Standard 24 แต่เปลี่ยนไม้คอจากเมเปิลเป็นมาฮอกกานี กลายเป็น SE Standard ที่ใช้ไม้มาฮอกกานี 100% ตั้งแต่บอดี้ไปถึงคอ และจุดเด่นก็แน่นอน มันคือลายเพนท์บอดี้หลอนประสาทที่เรียกว่า Schizoid Man ซึ่งนำมาจากภาพปกอัลบั้ม In the Court of the Crimson King ซึ่งเป็นผลงานชุดแรกของวง King Crimson เมื่อปี 1969 นอกจากลายเพนท์เจ็บๆ แล้ว ตรง truss rod cover ก็เป็นลายเซ็นของคุณ Jakko

soundcity-music.de

ซึ่งลายเพนท์แบบนี้ไม่ใช่ว่าเพิ่งเอามาใช้ครั้งแรกนะครับ คุณ Jakko แกมี PRS P24 ลายเพนท์นี้อยู่แล้ว สำหรับคนที่ไม่ทราบว่ารุ่น P24 คือรุ่นไหน มันก็คือ PRS รุ่น 24 เฟรทคล้ายๆ Custom 24 แต่ตัวหนากว่า และติดตั้งระบบ piezo ไว้เล่นเสียงกีตาร์โปร่งนั่นเอง P24 Schizoid ที่ผมพูดถึงก็ตามคลิปนี้ครับ

นอกจากความพิเศษที่ผมกล่าวไปข้างต้น สเปคที่เหลือก็คล้ายๆ SE Standard 24 คือบอดี้แกะจากไม้มาฮอกกานีทั้งดุ้น ไม่มีท็อปเมเปิล ให้โทนเสียงย่านเบสที่หนาขึ้นและตอบสนองไวขึ้น กระชับขึ้นกว่าบอดี้แบบแปะเมเปิลทอป คอเมเปิลโปรไฟล์ wide thin บางๆ เล่นสนุก อินเลย์นกสิบตัวทำจากวัสดุสังเคราะห์ คันโยกและ saddle เป็นเหล็ก

ปิคอัพและระบบไฟฟ้าต่างๆ ก็เช่นเดียวกับ SE Standard และ SE Custom คือใช้รุ่น 85/15 “S” bobbins สีดำล้วน ถูกใจคนที่ไม่ชอบลาย zebra เนื้อเสียงถอดแบบมาจากปิคอัพรุ่น 85/15 ที่ PRS ใช้อยู่ในเกรด core USA ให้โทนวินเทจที่มีความกลมนิดๆ แต่ไม่ทู่และไม่แหลมจนบาดหู เล่นได้กว้างๆ ตัดคอยล์ได้ และมากับปุ่มคอนโทรลแบบใส (เดาว่าเพื่อไม่ให้บดบังลายเพนท์บนบอดี้) ซึ่งสำหรับ SE Schizoid เราก็จะได้โน้ตที่ฟังดูใหญ่กว่า SE Custom อีกนิดหน่อย แต่ก็อาจแลกมาด้วยย่านแหลมที่ลดลงไปเล็กน้อยเช่นกัน ซึ่งเป็นธรรมชาติของกีตาร์โครงสร้าง all mahogany ลองฟังเสียงจากคลิปเดโมนี้ครับ

SE Schizoid ผลิตจำนวนจำกัด 1000 ตัว เท่านั้นนะครับ ถ้าอยากได้ต้องไวหน่อย ของน่าจะมาไทยไม่มาก

SE Santana Singlecut Tremolo

  • Body : all mahogany, singlecut shape
  • Neck : mahogany
  • Neck profile : wide fat
  • Scale length : 24.5″
  • Fingerboard : rosewood
  • Number of frets : 24
  • Inlays : birds, synthetic
  • Pickups : TCI “S”, black bobbins
  • Electronics : 3 way toggle switch, 1 vol, 1 tone
  • Hardware: chrome
  • Available color (s) : Egyptian gold only

เพื่อนๆอาจสงสัยว่าทำไม PRS รุ่น SE Santana จึงมีทรง singlecut ด้วย? ที่มาของรุ่นนี้คือมันถอดแบบมาจากกีตาร์ Private Stock (custom shop ของ PRS) ที่สร้างให้ลุงซานต้า ต่อมาลุงแกได้ลอง Paul’s Guitar เวอร์ชันสอง ที่มากับปิคอัพ TCI ในงาน Experience PRS 2018 แล้วลุงเกิดชอบ ลุงเลยขอให้ทาง PRS ผลิตปิคอัพรุ่นดังกล่าวในเวอร์ชัน SE และติดตั้งลงในกีตาร์ทรง Singlecut Tremolo รุ่นใหม่ไลน์ SE ของแก

PRS Private Stock McCarty Singlecut เวอร์ชันพิเศษ 24 เฟรท สร้างขึ้นเพื่อลุงซานต้าโดยเฉพาะ
Photo source: guitardisorder.com

สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าปิคอัพ TCI มีจุดเด่นอย่างไร? TCI ย่อมาจาก Tuned Capacitance and Inductance หมายถึงปิคอัพที่ทำงานร่วมกับระบบไฟฟ้าที่ถูกจูนมาเฉพาะรุ่น เช่น ค่าประจุไฟฟ้า (capacitance) และค่าการนำไฟฟ้า (inductance) เพื่อให้ได้สุ้มเสียงผลลัพธ์ที่ผู้ออกแบบต้องการ PRS ใช้แนวคิดในการออกแบบปิคอัพและวงจรไฟฟ้าในกีตาร์รุ่นใหม่ๆหลายรุ่น นับตั้งแต่ Paul’s Guitar 2019 และ Silver Sky ซึ่งเวอร์ชัน S ของ SE Santana SC นี้ควบคุมด้วย togge 3 ทาง 1 volume 1 tone ไม่ตัดคอยล์

ณ วันที่เขียนบทความนี้ ผมยังไม่เคยลองปิคอัพ TCI เพราะของยังไม่เข้าไทย แต่จากการที่มันเกิดมาเพื่อแทนที่ปิคอัพ Narrow 408 ซึ่งผมเคยใช้ปิคอัพรุ่นนี้บ่อยๆ ตอนเล่น Paul’s Guitar เวอร์ชันแรก ที่ร้านของตัวแทนไทย ผมคิดว่า TCI S ของ SE Santana SC Trem นี้ ก็ควรจะมีจุดเด่นคล้ายกันในเรื่องความชัดเจน (clarity) แบบโน้ตต่อโน้ตแยกจากกัน โดยที่ยังมีความกลมกล่อมและไม่แหลมบาดหู ซึ่งผมสัมผัสฟีลแบบนี้จากค่าย PRS มาตั้งแต่ปี 2015 และส่วนตัวมองว่า โทนเสียงที่เน้นความชัดเจนแต่แอบหวานนี่แหละ คือโทนเสียงลายเซ็นของค่าย PRS ยุคปัจจุบัน

อ่านเรื่องราวการเปิดตัว new Paul’s Guitar ในงาน Experience ได้ที่นี่ครับ

กลับมาที่สเปคของ SE Santana SC Trem กันต่อ บอดี้และคอของมันเป็นไม้มาฮอกกานีล้วนๆ ไม่มีเมเปิลปน และนอกจากปิคอัพใหม่แล้ว เมื่อพูดถึงทรง singlecut เพื่อนๆคงนึกถึง รุ่น SE Tremonti และ SE 245 นะครับ แต่ SE Santana SC Trem มีข้อแตกต่างจากสองรุ่นนั้นครับ คือ SE Santana SC Trem บอดี้จะบางกว่าสองรุ่นนั้นนะครับ ไม่ได้หนาถึงสองนิ้วกว่าแบบ SE Tremonti ตรงนี้ก็จะช่วยในเรื่องความสบายในการเล่นและเซฟน้ำหนักลงไปได้อีกหน่อย

ลองดูรูปนี้เพื่อให้เห็นภาพ สังเกตตรง neck joint นะครับว่าระยะห่างจาก joint ไปถึงขอบบอดี้ ไม่เท่ากัน

นอกจากนี้คอของ SE Santana SC ก็เป็นเชพหนาตามที่เป็นมาตลอด รวมถึงสเกลสั้นแค่ 24.5 แต่ดันซอยจำนวนเฟรทไป 24 ช่อง ซัดไปสอง octave เต็มๆ ได้กีตาร์คอสั้นดันสายสนุกแต่มีโน้ตให้ใช้แบบครบๆ บอร์ดโรสวูดกับอินเลย์นกก็มาพร้อมลายเซ็นลุงพอลบน headstock ซึ่งถือเป็นมาตรฐานกีตาร์ SE ยุคปัจจุบัน

อ้อ มีชื่อลุงซานต้าเขียนไว้บน truss rod cover ด้วยนะครับ กันคนไม่รู้ว่าเป็น signature ใหม่ของลุง ฮ่าๆ

สำหรับคนที่สนใจ ข่าวดีคือ signature ทรงใหม่ของลุงซานต้าไม่ได้จำกัดจำนวนผลิต แต่จะมีแค่สีทองอียิปต์สีเดียว ซึ่งผมว่าก็ดูหรูไปอีกแบบนะครับ

SE Paul’s Guitar

มาถึงตัวสุดท้าย ซึ่งผมมองว่านี่คือไฮไลท์ของ PRS SE ปี 2019 นี่เลย มันคือ SE Paul’s Guitar นั่นเอง

  • Body : mahogany
  • Top : maple with new carving style
  • Neck : mahogany
  • Neck profile : wide fat
  • Scale length : 25″
  • Fingerboard : rosewood
  • Number of frets : 22
  • Inlays : birds, abalone
  • Pickups : TCI “S” in black bobbins and new pickup rings style
  • Electronics : 3 way main toggle switch with 2 mini toggle for separate coil splitting, 1 vol, 1 tone
  • Tuners : vintage style with black buttons
  • Bridge : aluminum stoptail with brass studs and brass inserts
  • Available color (s) : แดง fire red, ฟ้าน้ำทะเล aqua, เหลืองอำพัน amber

SE ตัวนี้ถอดแบบมาจากกีตาร์รุ่นที่ลุงพอลใช้เองเป็นประจำ มันถูกอัดสเปคมาแบบที่ผมเองยังนึกไม่ถึงว่า PRS จะกล้ายัดมาในไลน์ SE ซึ่งเป็นไลน์ผลิตที่เน้นขายราคาประหยัด สเปคพื้นฐานคล้าย SE Custom 22 stoptail คือบอดี้มาฮอกกานีท็อปเมเปิลแปะวีเนียร์ลายเฟลม แต่สำหรับรุ่นนี้ไม้ท็อปเมเปิลได้รับการดีไซน์ส่วนโค้งเว้าใหม่ให้ดูละม้ายคล้ายตัว USA มากขึ้น สังเกตบริเวณขอบท็อป เทียบกับ SE ตัวอื่นๆ นะครับ

นอกจากขอบท็อปใหม่ไฉไลกว่า SE ตัวไหนๆในสารบบแล้ว ความพิเศษต่อไปที่เห็นชัดๆคือ อินเลย์ฟิงเกอร์บอร์ดซึ่งอัพเกรดจากวัสดุพลาสติกเป็นเปลือกหอยอบาโลนหรือหอยเป๋าฮื้อสีรุ้งจัดๆ สวยงามสะดุดตา เป็นงานเกรดเดียวกับกีตาร์โปร่ง PRS รุ่นท็อป SE A50E ซึ่งเป็นสเปคที่ไม่เคยมีมาก่อนใน SE ไฟฟ้ารุ่นไหนๆเลยเช่นกัน ลองดูรูปข้างล่างนี้ครับ ส่วนไม้คอ เจ้านี่ก็พิเศษอีก เพราะใช้ไม้มาฮอกกานี แทนที่จะเป็นเมเปิลอย่าง SE Custom

และแน่นอน ในเมื่อมันถอดแบบมาจาก Paul’s Guitar USA โมเดลล่าสุดซึ่งใช้ปิคอัพ TCI เจ้านี่ก็เลยได้ปิคอัพ TCI “S” หรือเป็นเวอร์ชัน SE ด้วย ซึ่ง TCI S ของเจ้านี่ต่างจากของ SE Santana SC Trem ตรงที่ pickup ring ได้รับการออกแบบใหม่ให้มีขอบโค้งดูใกล้เคียงเวอร์ชัน USA แต่ตัว bobbins ของปิคอัพ TCI “S” ยังเป็นขนาดปกตินะครับ ไม่ได้บีบหน้าแคบและปรับเรเดียสโค้งอย่างเวอร์ชัน USA

สังเกตขอบบนและล่างของ pickup ring นะครับ มันถูกออกแบบมาให้โค้งกว่าของกีตาร์ปกติทั่วไป

ส่วนรูปข้างล่างนี้เป็น TCI เวอร์ชัน USA ครับ

รูปนี้คือปิคอัพ TCI เวอร์ชัน USA ซึ่งหน้าจะแคบกว่าปิคอัพที่เราคุ้นเคยกัน อีกทั้งหน้าปิคอัพยังโค้งรับเรเดียสของฟิงเกอร์บอร์ด นอกจากนี้หมุดแถวที่เป็นสกรูของตัว neck ก็ยังถูกพลิกกลับด้านหันไปทางบริดจ์อีกด้วย ซึ่งนอกจาก Paul’s Guitar USA แล้ว ก็ยังมี PRS 408 อีกรุ่นที่ใช้ดีไซน์แบบนี้

แต่จุดเด่นจริงๆ ของปิคอัพเซ็ทนี้ คงเป็นเรื่องของฟังก์ชันมากกว่า โดย TCI “S” ของเจ้านี่ทำงานโดยมี mini toggle ตัวเล็กๆ สองตัว ทำหน้าที่ตัดคอยล์ของ humbucker ทั้งสองตำแหน่งแยกอิสระโดยการสับสวิทช์ (ขึ้น = single coil, ลง = humbucker) เราจะตั้งไว้เป็นหน้า sing หลัง hum, หน้า hum หลัง sing, sing คู่ ฯลฯ ก็ได้ทั้งนั้น ซึ่งนับรวมได้ 8 เสียง ความพิเศษแท้จริงของระบบ selector แบบนี้ คือเมื่อตัดคอยล์จะมีการสูญเสียวอลุ่มน้อยมากๆ และยังได้โทนเสียง single coil ที่มีเนื้อมากกว่าระบบตัดคอยล์ทั่วไป

ซึ่งจากประสบการณ์ของผมที่เคยลอง Paul’s Guitar USA มาแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าระบบไฟฟ้าของมัน “สุด” จริงๆ ในเรื่องความชัดเจนและการตัดคอยล์ ผมสามารถสลับโหมดไปมาระหว่าง hum และ sing โดยไม่รู้สึกถึงความต่างเรื่องความดังเลย สิ่งที่เปลี่ยนไปเมื่อสับสวิทช์ mini toggle ก็มีแค่โทนเสียงเท่านั้น โดยเสียงตัดคอยล์จะใสขึ้น แต่เป็นความใสแบบมีเนื้อ ไม่บี้ไม่เบาลงอย่างระบบตัดคอยล์อื่นๆ ที่ผมเคยเจอมา

ณ ตอนนี้ผมเองก็ไม่กล้าฟันธงว่าเวอร์ชัน SE ถ้าเทียบกันตัวๆ จะทำได้ใกล้เคียงตัว USA ขนาดไหนนะครับ เพราะของยังไม่เข้าไทย แต่จากคลิปที่ลองฟังดู บวกกับที่ผมเคยเล่นตัว USA มาก่อน ก็มีลุ้นว่าเจ้า SE Paul’s Guitar นี่ ท่าจะเจ๋งดี

ความแปลกใหม่ของกีตาร์ SE รุ่นนี้ยังไม่หมด จุดต่อไปที่ผมต้องขอเน้นเลย คือ PRS ให้บริดจ์หรือหย่องวัสดุแบบเดียวกับ Paul’s Guitar USA! ซึ่งตัว tailpiece เป็นอลูมิเนียม เสาเป็นวัสดุทองเหลืองแท้และโชว์หัวเสาทองเหลืองดิบๆไม่ชุบนิเกิล (คิดว่าคงเพื่อลดต้นทุนการ finish ฟรุ้งฟริ้งที่ไม่จำเป็นลงไป แต่ยังได้เนื้อในวัสดุเหมือนตัว USA) บริเวณ saddle มีการตอกฝังแท่งทองเหลืองเข้าไปเพื่อสร้างโทนเสียงหางโน้ตใสๆ ที่ลุงพอลแกชอบนักชอบหนา (สังเกตจุดสีทองๆ 6 จุดตรงที่สายเริ่มสัมผัสกับบริดจ์ มันคือสีของหมุดทองเหลืองนะครับ ไม่ใช่การแต้มสีหลอกๆ) กรรมวิธีดังกล่าวเรียกว่า press-fit ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าบริดจ์ stoptail เวอร์ชันปกติอย่างไม่ต้องสงสัย นับเป็นการใส่ใจในรายละเอียดของกีตาร์รุ่นล่างๆ ที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เรียกว่าเราได้อะไหล่เกรด USA ในกีตาร์ SE

สำหรับสเปคส่วนอื่นๆ ก็มีลูกบิดสไตล์วินเทจ ใบลูกบิดแบบ Kluson แต่เป็นสีดำ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผมเคยลองโมดิฟายลูกบิดกีตาร์โปร่งมาหลายแบบ ผมคิดว่าลูกบิดสไตล์เรียบง่ายกลไกน้อยเนื้อวัสดุน้อยแบบนี้มีผลดีต่อเสียงนะครับ คือเสียงจะเคลียร์ขึ้น สะอาดขึ้น ซึ่งจะว่าไปก็แปลกนะครับ เพราะถ้าเป็นผู้ผลิตยี่ห้ออื่น การจะอัพเกรดสเปคลูกบิดกีตาร์ไฟฟ้าเนี่ย สิ่งที่เขาทำกันคือเปลี่ยนเป็นลูกบิดล็อกสาย ซึ่ง PRS กลับทำตรงกันข้าม เพราะนอกจากไม่ล็อกสายแล้วยังย้อนยุคกลับไปใช้ลูกบิดวินเทจซะงั้น เหตุผลคืออะไร? ส่วนตัวผมก็คิดว่าเรื่องเสียงนี่ละ


อ่านมาถึงตรงนี้คงพูดได้เต็มปากว่า SE Paul’s Guitar คือพัฒนาการก้าวหน้าไปอีกขั้นของแบรนด์ PRS เป็นพัฒนาการที่เน้นรายละเอียดเรื่องเสียงอย่างแท้จริง PRS ใช้เวลาปีเต็มๆในการพัฒนาระบบไฟฟ้าของเจ้านี่ จูนค่าต่างๆ ตามคอนเซพท์ของ TCI จนลงตัว ได้ซาวด์ใกล้เคียงตัวอเมริกา และผมคงปฏิเสธไม่ได้ว่า SE Paul’s Guitar คือกีตาร์ที่ผมอยากลองของจริงมากที่สุดในบรรดา SE โมเดล 2019 ทั้งหมด ราคาของเจ้านี่ ทาง PRS ตั้งไว้ที่ $999 ราคาขายตอนเข้าไทยผมว่าคงแถวๆ สามหมื่นกลางๆ

ส่งท้าย

ผมคิดว่า ไลน์ SE ของค่าย PRS มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆทุกปีๆ จนเริ่มทำให้เส้นแบ่งระหว่าง SE กับ core USA ดูจะบางลงไปทุกทีๆ ยิ่งทำให้ต้องติดตามว่า SE รุ่นอื่นๆในอนาคตจะมีหน้าตาอย่างไร? อาจจะมากับอินเลย์นกอบาโลนเป็นมาตรฐานเลยมั้ย? อาจจะมีตัวกลวงมั้ย? แต่ไม่ว่า PRS จะเข็นอะไรออกมา ผมก็จะนำมาเสนอให้เพื่อนๆ ด้วยเนื้อหาแบบเจาะลึกแบบนี้ต่อไปแน่นอนครับ

ผมมีกลุ่มเฟซบุค PRS Club Thailand (ไม่เกี่ยวข้องกับเพจของตัวแทนนะครับ) ที่นี่เป็นชุมชนคนรักกีตาร์คอนก เรามีทั้งความรู้ ความหลอน เทคนิคโมดิฟาย และตลาดซื้อขายทั้งมือหนึ่งมือสอง สนใจคลิกเลยคร้าบ