PRS Rules of Tone – กฎการสร้างกีตาร์เสียงดี 21 ข้อ

เมื่อช่วงปี 2011 – 12 ผมจำได้ว่าลุงพอลเคยอัดคลิปเป็นซีรีส์ๆ พูดถึง Rules of Tone หรือ กฎการสร้างกีตาร์เสียงดี 21 ข้อ ซึ่งลุงแกใช้เวลาระหว่างกำลังนั่งเครื่องบินเขียนขึ้นเมื่อราวๆ ปี ค.ศ. 2001 โดยกลั่นกรองจากประสบการณ์ในการทำกีตาร์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต เมื่อเขียนเสร็จก็ส่งให้ Tom Wheeler อดีตบรรณาธิการนิยสาร Guitar Player และกูรูชื่อดังของวงการกีตาร์ผู้ซึ่งล่วงลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ช่วยดูเนื้อหาให้อีกที หลังจากผ่านการกลั่นกรองของ Tom เรียบร้อยแล้ว ลุงพอลแกก็ค่อยๆ นำกฎเหล่านี้มาปรับใช้ในการสร้างกีตาร์ของ PRS ที่ใช้คำว่าค่อยๆนำมาปรับใช้ เพราะลุงแกบอกว่าใช้เวลาเป็นทษวรรษกว่าจะปรับจนเป็น PRS อย่างทุกวันนี้

ลุงพอลแกดูจะหวงแหนเจ้า 21 ข้อนี้จนไม่ยอมบอกใคร แกเคยพูดในงาน Experience PRS 2011 ว่า ปัจจุบันเอกสารเรื่องกฎ 21 ข้อ ลุงเก็บเป็นความลับไว้เป็นอย่างดีในเซฟ และคาดว่าจะถูกเผาทิ้งเมื่อลุงตาย ฮ่าๆ

กฎเหล่านี้มีการนำไปใช้ในการผลิตกีตาร์ PRS ที่เป็น core USA เป็นหลักนะครับ ไลน์ผลิตระดับรองลงไปก็จะมีการ compromise ลดสเปคลงไปบ้างเพื่อให้ได้กีตาร์ที่ใช้งานได้แต่ขายในราคาที่ลดลง เพราะคุณภาพที่สูงก็ย่อมนำมาซึ่งต้นทุนและราคาขายที่สูงตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่า กีตาร์ PRS ไลน์ราคาถูกกว่าพวก core USA จะมีเสียงที่แย่แต่อย่างใดนะครับ PRS ทุกตัวผมว่ามีมาตรฐานขั้นต่ำที่ดีพอสำหรับการใช้งานจริง เพียงแต่มาตรฐานของ core USA มันสูงจริงๆ และละเอียดยิบย่อยแม้ในจุดที่พวกเราคงไม่คิดว่ามันจะมีความสำคัญอะไรด้วยซ้ำ

แกจะเยอะอะไรนักหนานะตาลุงพอลนี่ ลองไปดูกันครับว่าเยอะยังไงบ้าง

กฎของกีตาร์เสียงดี 21 ข้อ มีอะไรบ้าง?

เนื่องจากเอกสารเรื่องกฎ 21 ข้อนั้นถูกลุงพอลแกเก็บไว้เป็นความลับ โลกนี้จึงน่าจะมีคนสองคนเท่านั้นที่เคยเห็นซึ่งก็คือตัวลุงแกเองกับ Tom Wheeler ซึ่งก็เสียชีวิตไปแล้ว  แต่ก็ยังโชคดีที่ลุงแกมีหยิบยกบางส่วนมาพูด ผมก็พยายามรวบรวมจากสิ่งที่แกเคยพูดใน youtube ผมจับประเด็น Rules of Tone ของลุงแกได้ประมาณนี้ครับ

  1. The guitar is subtractive : กีตาร์เป็นสิ่งที่เกิดการสูญเสียพลังงานในการใช้งาน ความหมายคือ เมื่อเราดีดสายกีตาร์ พลังงานการสั่นของสายที่เกิดขึ้นจะลดลงไปจาก 100 ไปถึง 0 ไม่มีการเพิ่มขึ้น เป็นธรรมชาติของเครื่องดนตรี/อุปกรณ์ชิ้นนี้ และนิสัยของกีตาร์แต่ละตัวในการ subtract พลังงานของสาย ก็แตกต่างกันด้วย
  2. Everything that touches the strings is god : ทุกอย่างที่สัมผัสกับสายคือพระเจ้า หมายความว่า อะไหล่ทุกชิ้นที่โดนสายกีตาร์โดยตรง มีความสำคัญอย่างยิ่ง
  3. ลูกบิด (tuners) ของ PRS
  4. นัทของ PRS
  5. เฟรทของ PRS
  6. โปรไฟล์/เชพคอของ PRS
  7. บริดจ์ของ PRS

กีตาร์ PRS กับกฎเสียงดี 21 ข้อ

เราลองมาดูกันว่าส่วนไหนของกีตาร์ PRS ที่สร้างขึ้น/ปรับปรุง ให้เป็นไปตามกฎกีตาร์เสียงดี ตามกฎ 21 ข้อนั้นบ้าง ผมอ้างอิงตามคลิปที่ลุงแกอัดเป็นซีรีส์เรื่อง Rules of Tone พร้อมเสริมเนื้อหาในส่วนที่ลุงแกไม่ได้ลงลึกไปถึง เพื่อให้เพื่อนๆ เห็นภาพชัดเจนขึ้นนะครับ

ลูกบิด (Tuners)

PRS มีการใช้งานอยู่หลายรุ่น ทั้งแบบล็อกสายและไม่ล็อกสาย แต่ในปัจุบันกีตาร์ที่ผลิตใน Core line จะใช้ลูกบิดล็อกสายหมดแล้ว (ไม่เว้นแม้แต่รุ่นวินเทจอย่าง McCarty, SC หรือรุ่นเอาใจขาแจ๊สอย่าง Hollowbody) สำหรับลูกบิดล็อกสายรุ่นล่าสุดคือ PRS Phase III ซึ่งเสาร้อยสายทำจากวัสดุทองเหลือง ด้านหลังเปิดโชว์เฟืองทองเหลือง ใบลูกบิด (buttons) เป็นวัสดุอลูมิเนียม ซึ่งลูกบิดรุ่นนี้ได้ Gotoh เป็น supplier (PRS ไม่ได้ผลิตลูกบิดเอง แต่ถือสิทธิบัตรลูกบิดดีไซน์ของตัวเอง แล้วจ้าง supplier เช่น Schaller, Gotoh, Jin-Ho ผลิตให้)

ลูกบิดเสาทองเหลืองของ PRS เป็นยังไง? ดูตัวอย่างชัดๆ จาก PRS Modern Eagle ของผมนะครับ สีทองๆที่เสาร้อยสายนั่นคือสีธรรมชาติของทองเหลืองนะครับ ไม่ใช่สีชุบ

PRS brass tuner posts

มีใครสงสัยอย่างผมมั้ยครับ ว่าทำไมลูกบิดรุ่นที่สามของ PRS core USA ด้านหลังต้องเปิดโชว์เฟือง? ผมก็เคยสงสัยนะว่ามันต้องส่งผลอะไรต่อเสียงแน่เลย เพราะปกติลุงพอลแกจะจุกจิกกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเสมอ ซึ่งจากคลิปของลุงพอลออกมาตอบเอง คำตอบก็คือ 1) เปิดแล้วลุงรู้สึกว่าสวยขึ้น และ 2) ดูคล้ายลูกบิดกีตาร์วินเทจสมัยก่อน

จะสวยหรือไม่สวย มันคงเป็นเรื่องนานาจิตังนะครับ ถ้านี่เรียกว่าสวย มันคงสวยตรงที่โชว์เฟืองทองเหลือง

แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ได้จากการเปิดโชว์เฟือง คือการลดปริมาณโลหะที่จะดูดกลืนพลังงานการสั่นของสายลงไป แม้จะเพียงนิดๆหน่อยๆ แต่ก็เป็นความละเอียดเกินมาตรฐานของลุงพอลและแบรนด์ PRS ที่พยายามรีดเค้นเอาประสิทธิภาพสูงสุดจากตัวกีตาร์ออกมาจากทุกอณู ข้อดีอีกอย่างคือน้ำหนักเบาลงนิดหน่อย อย่างไรก็ดี ทั้งสองเื่องนี้เป็นความคิดของผมเองซึ่งลุงพอลไม่เคยพูดออกมานะครับ มันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของกฎ 21 ข้อ หรืออาจจะไม่เกี่ยวเลยก็เป็นได้

พูดถึงลูกบิด Phase III ในปี 2016 PRS เปิดตัวกีตาร์รุ่น McCarty 594 และ McCarty Singlecut 594 ทั้งสองรุ่นเป็นกีตาร์วินเทจรุ่นเรือธงของค่ายที่มากับการปรับโฉมหลายส่วน หนึ่งในนั้นคือลูกบิดล็อกสาย ซึ่งเป็นลูกบิด Tweaked Phase III หรือแปลได้ว่า ลูกบิด Phase III ที่มีการปรับแต่งเพิ่มประสิทธิภาพ โดยจะมีการติด set screw ตัวเล็กๆ ไว้ที่บริเวณปลอกชาฟท์ลูกบิด สกรูตัวเล็กๆพวกนี้จะช่วย “จับ” แกนชาฟท์เอาไว้ไม่ให้เฟืองตัวหนอนที่ปลายแกนชาฟท์ไปกดติดกับเฟืองทองเหลืองของเสาร้อยสายแน่นเกินไป เพื่อลดการสูญเสียพลังงานของสายกีตาร์ที่ถ่ายทอดมาทางลูกบิดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยที่เรายังสามารถใช้งานลูกบิดได้ตามปกติ set screws ตัวเล็กๆที่ว่าอยู่ตรงที่ลูกศรสีส้มชี้นะครับ

อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นการปรับปรุงในจุดที่เล็กโคตรๆ แต่ลุงพอลแกมองว่าส่วนเล็กๆก็มีความสำคัญ แกก็พยายามอุดช่องโหว่เล็กๆพวกนี้ให้หมด ผมเห็นครั้งแรกก็งงนะครับกับการปรับปรุงในจุดเล็กๆ ซึ่งมันเล็กชนิดที่ว่าไม่บอกก็คงไม่เห็น

แต่ก็เหมือนกับของทุกอย่างในจักรวาล มันย่อมมีด้านบวกและลบเสมอ ลูกบิดแบบเปิดโชว์เฟืองก็ย่อมเปิดรับฝุ่นละออง ความสกปรกต่างๆ อย่างเต็มที่เพราะไม่มีสิ่งป้องกัน ดังนั้นใครมี PRS ปีใหม่ๆ ที่มากับลูกบิด Phase III ควรระมัดระวังเรื่องความสะอาดด้วยนะครับ

นัท

PRS ให้ความสำคัญมากในเรื่องของวัสดุนัท และคิดค้น+ผลิตนัทของกีตาร์ที่ผลิตในอเมริกาเอง โดยลุงพอลแกบอกว่านัทที่ PRS คิดค้นขึ้นนั้น นอกจากมีความลื่น (self-lubricated) เพื่อเสถียรภาพของการตั้งสายที่ช่วยให้ไม่เพี้ยนง่ายแล้ว ตัวของนัทเองยัง “มีเสียงดี (rings well)” อีกด้วย ดังที่เห็นในคลิปที่แกโยนนัทหลายอันลงบนโต๊ะเพื่อให้เราฟังเสียงว่านัทแต่ละวัสดุมีการให้เสียงที่แตกต่างกัน ถ้าอันไหนเสียงทึบๆนั่นคือมีการดูดกลืนพลังงานมาก และจะส่งผลลบต่อ “ระบบของกีตาร์” โดยรวมมากขึ้น เสียงก็แย่ลงตามไปด้วย

สิ่งที่ลุงแกไม่ได้บอกในคลิปคือวัสดุที่ใช้ทำนัท เรื่องนี้ผมได้ข้อมูลจากทาง PRS โดยตรงว่า นัทของ PRS USA นั้นเป็นวัสดุคอมโพสิทที่มีส่วนผสมของผงตะไบสัมฤทธิ์ (bronze filing infuse) อยู่ในเนื้อนัทด้วย ซึ่งถ้าเพื่อนๆที่มีกีตาร์ PRS USA ลองสังเกตในร่องนัทดูก็อาจจะเห็นวัสดุวาวๆ คล้ายใยโลหะเล็กๆ อยู่ในนั้น

เฟรท

เฟรทของกีตาร์ PRS เป็นวัสดุนิเกิล ลุงบอกว่ามีการเปลี่ยนยี่ห้อเฟรทที่ใช้ในกีตาร์ PRS อยู่หลายครั้งเพื่อหาเจ้าที่ให้สเปควัสดุที่ดีที่สุด มีความแข็งมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ผมขอเติมคำพูด ว่า “โดยไม่ยอมเปลี่ยนไปใช้ stainless steel” ฮ่าๆๆ) ผมคิดว่าก็คงเพื่อให้ได้เสียงที่ยังมีความ organic, vintage แต่มีความทนทานนั่นเอง แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเกี่ยวกับเฟรทก็คือกาวซูเปอร์ที่ใช้ช่วยยึดเฟรท โดย PRS ใช้กาวยี่ห้อ Nexen ซึ่งขั้นตอนการใช้กาวซูเปอร์ติดใต้เฟรทนี้ลุงบอกว่าไม่ใช่ผู้ผลิตกีตาร์ทุกแบรนด์ที่จะเสียเวลาทำแบบนี้ และแบรนด์ที่ใช้กาวติดเฟรทก็ไม่ได้ใช้กาวซูเปอร์แบบ PRS เสมอไป

เฟรทที่ใช้ในกีตาร์ PRS core USA มีหลายแบบนะครับ แตกต่างกันไปตามรุ่นของกีตาร์ เช่น ถ้าเป็น Custom 24 ก็จะเป็นไซส์ medium-jumbo กลางๆ ไม่ใหญ่มาก สไลด์นิ้วสนุกหน่อย ถ้าเป็น DGT จะใช้เฟรทไซส์ jumbo เป็นต้น

โปรไฟล์/เชพคอ

ลุงพอลพูดถึงเรื่องของโปรไฟล์คอ/neck shape ในคลิปวิดีโอชุดกฎ 21 ข้อด้วย แกเล่าถึงโปรไฟล์คอปัจจุบันของกีตาร์ PRS ซึ่งปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี CNC ซึ่งหลักการก็คือการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ในคลิปคือ SolidWorks) ช่วยออกแบบเชพคอแลัวสั่งเครื่อง CNC ให้ตัด-เหลา-เจาะไม้ ให้ได้รูปทรงตามที่ออกแบบไว้ เพื่อให้มีความเที่ยงตรงเสมอต้นเสมอปลาย (consistency) รวมทั้งสามารถผลิตได้ปริมาณมากในเวลาอันสั้น (อันหลังนี้ลุงไม่ได้พูด ผมพูดเอง เพราะมันคือเรื่องจริง ฮ่าๆ) จากเดิมในอดีตที่ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์และเครื่อง CNC การทำคอแต่ละชิ้นต้องเหลาไปวัดไป ทำให้ล่าช้าและมีความคลาดเคลื่อนสูง หลังจากได้คอท่ีออกแบบในคอมแล้วขึ้นรูปด้วยเครื่องจักรแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเก็บงานละเอียดด้วยมือคนต่อไป

โดยส่วนตัวผมก็เห็นว่า สำหรับขั้นตอนการผลิตที่ต้องการความเสมอต้นเสมอปลายเป๊ะๆทุกชิ้นงานนั้น การใช้เครื่องจักรมีความเหมาะสมกว่าใช้มือ เราต้องดูความเหมาะสมของงานด้วยว่าโจทย์ของงานต้องการอะไร ควรใช้เครื่องมือใด ไม่ใช่เอะอะก็แฮนด์เมดๆๆ นี่มันยุค 2018 แล้วครับ ผมเชื่อว่าถ้าเมื่อ 60 ปีที่แล้ว มีเทคโนโลยี CNC อย่างทุกวันนี้ โรงงาน Gibson และ Fender ก็คงใช้มันไม่ต่างกับวันนี้หรอก

การใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบ นอกจากจะช่วยให้มีความเสมอต้นเสมอปลายแล้ว ยังทำให้ PRs สามารถกำหนดรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้อย่างแม่นยำ เช่น อัตราส่วนระหว่างไม้ฟิงเกอร์บอร์ด/คอ ควรอยู่ที่เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ taper ของคอรวมถึงฟิงเกอร์บอร์ดว่าควรเรียวลงเท่าไหร่อย่างไร ฯลฯ ความละเอียดแม่นยำของโครงสร้างยิ่งมีสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อคุณภาพของงานในส่วนอื่นๆมากขึ้นด้วย เช่น งานวางเฟรท งาน CNC อินเลย์ฟิงเกอร์บอร์ด เป็นต้น เป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่เมื่อมารวมกัน ย่อมส่งผลต่อคุณภาพเสียงในท้ายที่สุด

บริดจ์ (หย่อง)

PRS ระดับ core USA ใช้ทองเหลืองเป็นวัสดุหลักของบริดจ์มานานแล้ว ลุงพอลบอกว่าโลหะชนิดนี้ให้เสียงที่ไพเราะ (rings well) ในตัวมันเอง และวัสดุที่ให้เสียงที่ไพเราะเมื่อถูกกระทบ ก็มักให้เสียงที่ไพเราะเมื่อนำมาทำเครื่องดนตรีเช่นกัน

บริดจ์ของ PRS ที่มีทองเหลืองเป็นส่วนประกอบ ส่วนใหญ่ก็จะมากับกีตาร์ระดับ core USA แล้วมีอะไรบ้างเอ่ย

บริดจ์แบบคันโยก ส่วนที่เป็นทองเหลืองก็ได้แก่ตัว tone block, saddle, สกรูปรับสูงต่ำของ saddle, รวมถึงสกรูปรับ intonation ตรงท้าย saddle ด้วย โดยชิ้นส่วนที่อยู่บนตัวกีตาร์จะมีการชุบ (plating) nickel silver สีเงินวาวๆ เอาไว้ บางคนจึงอาจไม่รู้ว่าที่จริงทำจากทองเหลือง

สำหรับชุดคันโยกของ CE 24 (รุ่นใหม่ ที่มีอินเลย์นก), S2 Custom จนไปถึง SE จะใช้ชุดคันโยกดีไซน์คล้ายกันแต่ทำจากเหล็ก (steel) ไม่ใช่ทองเหลืองนะครับ

yustech.blogspot.com

บริดจ์แบบ PRS stoptail แบบชิ้นเดียว ที่เพื่อนๆคงเคยเห็นจนเป็นอะไหล่คุ้นตาประจำกีตาร์ยี่ห้อ PRS บางรุ่นนั้น ตัว stoptail ทำจากอลูมิเนียม แต่เสา (stud) ทำจากทองเหลือง ซึ่งเสาทองเหลืองนี้แรกเริ่มเดิมที PRS มีการชุบ nickel silver เพื่อให้ดูกลมกลืนกับตัว stoptail ที่เป็นอลูมิเนียมชุบสีเดียวกัน แต่ราวๆปี 2008 PRS เริ่มใช้เสาทองเหลืองที่ไม่ชุบในจุดที่เสาสัมผัสกับ stoptail เพื่อให้โลหะทั้งสองส่วนได้สัมผัสกันอย่างเต็มที่ เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ PRS ไม่มองข้าม

soundaffectpremier.com

นอกจากนี้ยังมีบริดจ์แบบ adjustable stoptail ด้วยนะครับ บริดจ์แบบนี้ sadlle ทั้ง 6 รวมทั้ง intonation screws เป็นทองเหลืองและสามารถปรับเขยิบไปหน้า-หลัง เพื่อตั้ง intonation ได้ เราจะพบกีตาร์บางรุ่นที่มากับบริดจ์แบบนี้ เช่น PRS Tremonti USA บางตัว Tremonti Baritone บางทีก็มากับกีตาร์บริดจ์ piezo เช่น  Hollowbody, P245, P24 limited เป็นต้น

gbratsguitars.com

ความซีเรียสของลุงพอลเรื่องโลหะทองเหลืองยังไม่หมดแค่นี้ เพราะยังมีบริดจ์ stoptail อีกเวอร์ชันหนึ่งซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่ามันมี มันคือบริดจ์ PRS Stoptail with brass inserts หรือหมายถึงบริดจ์แบบ stoptail ของ PRS นี่แหละ แต่มีการ “แทรกทองเหลือง” เข้าไว้ในตัวบริดจ์บริเวณที่สายสัมผัสกับบริดจ์ด้วย (บริเวณที่ทำหน้าที่เป็น saddles) บริดจ์แบบนี้ถูกติดตั้งมากับกีตาร์รุ่น Paul’s Guitar นะครับ

https://reverb.com/au/item/5000453-prs-stoptail-bridge-2016-nickle-brass-brass-string-guide-inserts-brass-posts

ส่วนบริดจ์อีกแบบซึ่งตอนนี้ PRS มีการนำมาใช้เฉพาะกับกีตาร์ระดับ core USA คือ บริดจ์สองชิ้น (PRS 2 piece stoptail) เจ้าบริดจ์ที่ว่านี้ ตัว stoptail ทำจากสังกะสี saddles ทำจากทองเหลืองเปลือยๆ หน้าสัมผัสสายกว้างเป็นพิเศษ เอียงรับมุมพาดสาย สามารถตั้ง intonation ได้ ส่วน tailpiece ทำจากอลูมิเนียม ทั้งสองชิ้นติดตั้งอยู่บนเสา 4 ต้นที่ทำจากทองเหลือง ดูวัสดุที่ใช้ก็คล้ายๆ บริดจ์ ABR-1 ของ Gibson นะครับ การมี tailpiece วางอยู่ในระนาบต่ำกว่า saddles ช่วยให้เกิดมุมหักสาย (string break angle) และเกิดแรงกดของสายผ่าน stoptail ลงไปบอดี้กีตาร์ และถ่ายทอดการสั่นสะเทือนของสาย (string vibration) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เผื่อใครนึกภาพตามไม่ออก ลองดูรูปนี้นะครับ balloon สีฟ้าผมใช้อธิบายวัสดุแต่ละจุด สีเหลืองอธิบายแนวสายและมุมที่เกิดจากการหักเลี้ยวของสาย (string break angle) ส่วนสีแดงหมายถึงพลังงานการสั่นของสาย (string vibration) ที่ถ่ายทอดลงบอดี้กีตาร์ผ่านเสาทองเหลืองทั้ง 4 ต้น

Original picture source: https://forums.prsguitars.com/threads/2-piece-bridge-and-tail-was-something-changed.26419/

ปิคอัพ

เรื่องของปิคอัพนี้ แม้ลุงพอลไม่เคยเอามาพูดว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Rules of Tone แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่า มันต้องมีเรื่องเกี่ยวกับสูตรลับการสร้างปิคอัพรวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน ผมจึงสรุปทุกอย่างเกี่ยวกับวิวัฒนาการของปิคอัพ PRS มาให้เพื่อนๆอ่านพอให้เห็นภาพว่า มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่ตั้งบริษัท จนถึงราวๆปี 2009 ปิคอัพของ PRS ส่วนใหญ่จะค่อนข้างแรง มีย่านแหลมชัด เช่น HFS, Dragon, Dragon II, #7, #6 และแทบไม่มีเลยที่ให้โทนกลมๆ อู้ๆ วินเทจจริงๆจังๆ และต่อให้เป็นรุ่นที่มากับกีตาร์สายวินเทจ อย่าง SC 245 original ก็ยังเป็นปิคอัพที่แอบมีความแหลม ความพุ่ง ความแรง

แต่ในปี 2008 PRS ได้สิทธิ์ในการซื้อลวดจาก supplier รายหนึ่งที่ New England ซึ่งเป็นเจ้าเดียวกันกับที่ผลิตลวดทองแดงส่งโรงงาน Gibson และ Fender ในยุค 50s ซึ่งเป็นยุคทองของวงการกีตาร์ PRS ก็เริ่มนำลวดดังกล่าวมาผลิตปิคอัพโทนวินเทจของตัวเอง และเปิดตัวปิคอัพ theme ชื่อรุ่นเป็นตัวเลข ค.ศ. ในปี 2008 โดยเลขสองตัวแรกหมายถึงปีที่ปิคอัพต้นฉบับเกิดขึ้น และเลขสองตัวหลังหมายถึงปี ค.ศ. ที่ PRS จำลองปิคอัพต้นฉบับที่ว่านั้นขึ้น เช่นรุ่น 1957/2008 (เรียกย่อๆ 57/08) ก็จะหมายถึง ปิคอัพ ที่จำลองเสียงกีต้าร์ในตำนานรุ่นหนึ่งเมื่อปี 1957 แต่ PRS เอามาจำลองเสียงและผลิตปิคอัพรุ่นจำลองเสียงนี้ออกขายในปี 2008

ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2008 ที่มีการเปิดตัวปิคอัพซีรีส์ใหม่ซึ่งประเดิมด้วยรุ่น 1957/2008 (57/08) PRS ก็ค่อยๆ ทยอยยกเลิกการผลิตปิคอัพรุ่นยุคเฟื่องฟูไปแทบจะหมดเกลี้ยง แล้วแทนที่ด้วยปิคอัพแรงต่ำโทนเสียงวินเทจ ชื่อรุ่นเป็นเลข ค.ศ. เกือบจะทั้งหมด ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ทำเอาสาวกบางส่วนเบือนหน้าหนี PRS ไปเลยก็มี ผมจึงสงสัยว่าสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเพราะเจ้ากฎกีตาร์เสียงดีนี้หรือเปล่า?

จนถึงวันนี้ โทนเสียงของกีตาร์ PRS ที่สาวกรุ่นเก่า (รวมทั้งผม) เคยรู้จักในยุค nu metal ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คือชัดเจนว่าเน้นขายโทนเสียงวินเทจ ย่านกลางเยอะขึ้น เอาท์พุทต่ำลง ดุน้อยลง ดีเทลดีขึ้น มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ลุงพอลบอกว่า เสียงจากปิคอัพใหม่ๆ ที่พันขึ้นด้วยลวดที่ว่านี้ ให้เสียงที่มีความเป็น “3 มิติ” มีมิติ มีความลึก นอกจากใช้ลวดใหม่แล้ว PRS ยังพัฒนาการเคลือบลวด (wire coating) แบบใหม่เพื่อใช้ในปิคอัพปีใหม่ๆเหล่านี้ด้วย

ปิคอัพธีมวินเทจที่ว่าก็ไล่ตั้งแต่

  • DGT
  • 57/08
  • 57/08 Narrowfield
  • 59/09
  • 53/10
  • 58/15 และเวอร์ชัน LT
  • 85/15

ลุงพอลเล่าถึงที่มาของลวดทองแดงที่ PRS ได้มาครับ ลวดที่ว่านี้ไม่ได้ใช้พันปิคอัพทุกรุ่นของ PRS USA นะครับ เฉพาะรุ่นที่ลิสต์ไว้ข้างบน รวมถึงปิคอัพของ Paul’s Guitar และ 408

และ PRS ก็เปลี่ยนมาขายเสียงวินเทจอุ่นนวลแบบนี้มาสิบปีแล้ว คงเหลือเพียงปิคอัพรุ่น signature ของ Mark Tremonti และรุ่น \m/ (อ่านว่า metal) ที่มากับ Floyd Custom 24 เท่านั้น ที่ยังโหด ดุดัน เอาท์พุทแรง ส่วนปิคอัพรุ่นตำนานอย่าง HFS ก็ยังมีการนำกลับมา ติดตั้งในกีต้าร์รุ่นใหม่ๆบ้าง แต่ไม่มาก เช่น Custom 24 ปี 2013 และ S2 Vela Vernon Reid limited

รูปทรงของ pickup bobbins

เรื่องนี้ลุงพอลหยิบยกขึ้นมาพูดในคลิปวีดีโอชุดกฎกีตาร์เสียงดีด้วย สำหรับคนที่ไม่ทราบว่าเจ้าสิ่งนี้คืออะไร pickup bobbins ก็คือตัวโครงที่มีไว้พันลวดทองแดงและให้แท่งแม่เหล็กใช้เป็นที่ยึดเพื่อประกอบกันให้เป็นปิคอัพกีตาร์ไฟฟ้า ผมไม่รู้ว่าเจ้าสิ่งนี้มันมีชื่อภาษาไทยมั้ย เพราะเสิร์ชหาไม่เจอ ถ้าใครนึกภาพ pickup bobbins ไม่ออก ดูรูปนี้เลยครับ

ebay.com

ปิคอัพของ PRS ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแบรนด์ ก็ใช้ bobbins หน้าแบนๆ ขอบโค้งๆ แบบเดียวกับชาวบ้านชาวช่องมาตลอด แต่ในปี 2012 มีการปลี่ยนทรง pickup bobbins เป็นแบบสี่เหลี่ยมฟิตพอดีกรอบปิคอัพบนตัวกีตาร์ นอกจากฟิตพอดีกรอบแล้ว ยังมีหน้า bobbins ที่โค้งเล็กน้อยตามเรเดียสของฟิงเกอร์บอร์ด ปิคอัพแบบนี้แม้ PRS ไม่ได้ตั้งชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีแฟนๆเรียกมันว่า square bobbins, squabbins หรือ contoured bobbins

square bobbins นอกจากฟิตพอดีช่อง cavity แล้ว ยังมีหน้าโค้งรับเรเดียสของฟิงเกอร์บอร์ด จึงช่วยให้ระยะห่างระหว่างสายและหมุดปิคอัพมีความสม่ำเสมอมากกว่าปิคอัพหน้าแบนๆ ของยี่ห้ออื่นๆ ช่วยให้เสียงที่ออกมาจากแต่ละสายมีความสมดุล เป็นความละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ PRS ไม่มองข้าม

นอกจากการเล่นกับหน้า bobbins ที่โค้งรับเรเดียสฟิงเกอร์บอร์ดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ PRS ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ ความกว้างของหน้า bobbins คือถ้าต้องการให้ย่านเบสมี focus มีความชัด ลดความเบลอ ก็จะออกแบบให้ปิคอัพมีหน้าที่แคบกว่าปกติเพื่อจำกัดการรับรู้การแกว่งตัวของสายให้แคบลง ตัวอย่างปิคอัพแนวคิดแบบนี้ก็เช่นปิคอัพรุ่น 57/08 Narrowfield และ Narrow 408 ที่อยู่ในกีตาร์รุ่น 408 และ Paul’s Guitar เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม หาก PRS อยากเพิ่มย่านเบสให้ใหญ่ขึ้น เสียงหนาขึ้น ก็จะขยายหน้าปิคอัพให้กว้างกว่าปกติ ดังเช่นปิคอัพ 408 Treble ที่มากับกีตาร์รุ่น 408 นั่นเอง และไม่ใช่แค่ บีบ-ขยายหน้าปิคอัพนะครับ แต่เรื่องความโค้งรับเรเดียสของสายนั้น ก็ยังเป็นไปตามมาตรฐานเหมือนเดิม

https://www.prsguitars.com/index.php/electrics/core/408_2018

กีตาร์ PRS รุ่นแรก ที่สร้างตามกฎกีตาร์เสียงดี 21 ประการ

อย่างที่ลุงพอลบอกไว้ ว่าแม้กฎพวกนี้จะเขียนไว้นานแล้ว แต่การนำไปใช้ในการผลิตกีตาร์จริงๆ กลับค่อยๆทยอยทำ และใช้เวลาสิบกว่าปีกว่าจะ apply ได้หมดทุกข้อ ซึ่งกีตาร์ PRS core USA ในปัจจุบันได้ผลิตภายใต้กฎทั้ง 21 ข้อครบแล้ว แต่เพื่อนๆ สงสัยมั้ย ว่ากีตาร์รุ่นไหนคือรุ่นแรก?

คำตอบคือรุ่น Private Stock Signature ซึ่งต่อมาได้แตกหน่อกลายเป็นรุ่น 408 และ Paul’s Guitar ลุงพอลเคยกล่าวว่ากีตาร์ในกลุ่มนี้เกิดจากประสบการณ์ของแบรนด์ที่สะสมมานานนับสิบปี เป็นกีตาร์ที่ให้นิยามสุ้มเสียงของแบรนด์ PRS ยุคใหม่ได้ดีที่สุด ปิคอัพและระบบไฟฟ้าแบบนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ ไม่อยู่บนพื้นฐานกีตาร์วินเทจยี่ห้อไหนปีไหนทั้งสิ้น แต่เป็นคาแรคเตอร์เสียงแบบใหม่ที่ให้ความเคลียร์ ดุได้ หวานได้ ไม่ว่าจะในโหมด humbucker หรือ single coil ล้ำๆที่ตัดคอยล์แล้ววอลุ่มไม่ตก เนื่องจากเมื่อสวิทช์ตัดคอยล์ทำงาน ระบบจะตัดคอยล์ที่มีหัวสกรู (screw coil คือคอยล์ที่หมุดเป็นสีทองในรูปข้างล่าง) ออกไป แล้วเติมลวด 1500 รอบเข้ามาในวงจรเพื่อชดเชยคอยล์ที่ถูกตัดออก จึงได้เสียง single coil เนื้อๆ โดยวอลุ่มไม่ต่างจากโหมด humbucker เลย ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผมเคยเล่น 408 และ Paul’s Guitar มา ก็เป็นดังนั้นจริงๆ มันไปได้หมดเลย แต่ที่ผมชอบเป็นพิเศษคงเป็นระบบตัดคอยล์ของกีตาร์ในกลุ่มนี้ มันค่อนข้างหวานใกล้เคียงกับเสียงปิคอัพ soapbar อย่างไรบอกไม่ถูก

2011 PRS Private Stock Signature limited

willcuttguitars.com

2013 PRS Paul’s Guitar

protocolguitarworks.com

ส่งท้าย

ผมเองเห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดที่ว่า วัสดุและโครงสร้างของกีตาร์มีผลต่อเสียงไม่มากก็น้อย และวัสดุคุณภาพสูงก็ยิ่งช่วยลดการ “สูญเสีย” พลังงาน/เนื้อเสียง/ซัสเทน ฯลฯ อะไรก็ตามแล้วแต่จะเรียก ผมเห็นด้วยว่ากีตาร์ที่ดี โดยเฉพาะกีตาร์ราคาสูง ควรใส่ใจในการคัดเลือกวัสดุที่ดีมานำเสนอ และคำว่าคุณภาพสูงนี่แหละ เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมรักแบรนด์ PRS มาจนทุกวันนี้ แม้หูผมไม่อาจได้ยินทุกดีเทลจากวัสดุดีๆ ที่ PRS ประเคนให้มาทั้งหมด แต่อย่างน้อยมันทำให้ผมรู้สึกดีในแง่ว่า ถึงจะจ่ายมากหน่อย แต่ผมก็ตอบได้ว่าผมจ่ายไปเพื่ออะไร ผมได้อะไรมา และผมชี้ได้ทุกจุดว่ามันมีดีกว่าตัวอื่นอย่างไร

ที่จริงยังมีอีกหลายจุดที่อาจจะมีอยู่ในกฎของลุงแก เช่น ความหนาของไม้ แหล่งของไม้ การอบไม้ อะไหล่ในระบบไฟฟ้า การเคลือบ ฯลฯ ซึ่งเราไม่มีทางรู้ยกเว้นซะแต่จะมีซักวันที่ลุงแกนึกครึ้มบอกเอง ถ้าวันนั้นมีจริงผมจะนำมาเล่าให้เพื่อนๆฟังนะครับ ฮ่าๆ

ส่วนตัวผมมองกฎ 21 ข้อนี้ว่า เป็นเรื่องของหลักคุณภาพของการผลิตกีตาร์ให้มีคุณภาพสูงมากกว่าการผลิตกีตาร์ให้เสียงดี เพราะผมคิดว่า คำว่า เสียงดี เป็นความเห็นส่วนบุคคล กีตาร์ที่คนนึงบอกว่าเสียงดี อาจจะฟังดูเฉยๆ สำหรับอีกคนก็เป็นได้ เราเพียงแค่พอจะบอก ‘ลักษณะ’ บางอย่างของเสียงกีตาร์แต่ละตัวที่ได้ยิน เช่น ตัวนี้เสียงติดแหลมนะ ตัวนี้ย่านต่ำเยอะนะ ตัวนั้นบวมกลางไปหน่อยนะ ตัวนั้นซัสเทนยาวนะ แต่เราไม่สามารถหาคำจำกัดความของคำว่า ‘เสียงดี’ ได้เลย กฎ 21 ข้อของลุงพอลอาจสร้างกีตาร์ที่ซัสเทนดี มีการสูญเสียพลังงานของสายน้อยกว่าหลายๆยี่ห้อ มีมาตรฐานการผลิตที่สูง แต่เมื่อผลิตเป็นตัวกีตาร์ออกมาแล้วคนจะชอบเสียงหรือไม่นั้น สุดท้ายก็อยู่ที่คนฟัง

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ผมคิดว่าก็อยู่ที่อุปกรณ์ต่างๆ ที่เราเอากีตาร์ไปต่อ รวมถึงการเล่นของเราเองด้วย ถ้าแอมป์เสียงห่วย เอฟเฟคท์เสียงบี้ๆ ก็คงช่วยได้ยากนะครับ

เรื่องราวเกี่ยวกับ PRS 21 Rules of Tone เท่าที่ผมรวบรวมจากที่ลุงพอลพูด รวมทั้งจากที่สกัดจากความคิดของผมเองก็มีประมาณนี้นะครับ ซึ่งในส่วนที่ผมคิดเองมันอาจจะใช่หรือไม่ใช่ rules ของลุงแกจริงๆก็เป็นได้ แต่ก็อยากนำเสนอมุมมองไว้ครับ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ

เข้าร่วมกลุ่มเฟสบุค PRS Club Thailand ของผมได้ที่นี่ครับ มีทั้งสาระความรู้ ความหลอน ของซื้อของขายเกี่ยวกับ PRS ครับ

(กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ผมตั้งขึ้นเอง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเพจ PRS ของตัวแทนจำหน่ายของไทยนะครับ)