คลิป กว่าจะมาเป็น PRS Silver Sky ตอนที่ 1+2

 

PRS ปล่อยคลิป Reach for the Sky เบื้องหลังการสร้าง PRS Silver Sky กีตาร์รุ่นลายเซ็นของ John Mayer (ผมขอเรียกย่อๆว่า JMSS นะครับ เห็นใจด้วยครับ ผมมันพวกจิ้มดีด ฮ่าๆๆ) ที่ผมคงไม่ต้องเล่าว่าวันเปิดตัวรุ่นนี้วงการกีตาร์ทั่วโลกช็อกกันขนาดไหนนะครับ

ทีแรกผมว่าจะไม่เขียนละนะเพราะได้เขียนอธิบายไปหมดแล้วในบทความตอนเปิดตัว แต่ไปๆมาๆ มาคิดดูอีกทีลองเขียนดูหน่อยดีกว่า เผื่อบางคนอาจไม่ได้อ่านหรืออาจไม่เห็นภาพ หรือมีสาวกออเจ้าจอห์นยังอยากเสพเรื่องราวของกีตาร์รุ่นนี้อีก (ยังมีจริงง่ะ?) ผมเลยเอาคลิปมาขยายความให้ครับ

PRS บอกว่าจะมีคลิปทั้งหมด 4 ตอน แต่ ณ วันที่ผมเขียนบทความนี้ ปล่อยมาแล้วสองตอน มีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย

 

ตอนที่ 1/4

rough cut, body cut และ body routing

 

ในคลิปนี้จะเริ่มตั้งแต่เลือกไม้อัลเดอร์ที่ยังเป็นแผ่นๆ มาประกบกัน ซึ่งในส่วนของบอดี้จะมีตั้งแต่ 2 – 3 ชิ้น ตามที่ผมเคยบอกไว้แล้วในบทความวันเปิดตัว พนักงานของ PRS จะนำไม้แผ่นพวกนี้มาประกบกัน ติดกาว เมื่อกาวแห้งสนิทแล้วก็จะนำไปเข้าสู่การ rough cut ผมไม่ทราบว่าภาษาช่างไทยเรียกว่าอะไร แต่ผมขออธิบายว่ามันก็คือการตัดไม้สี่เหลี่ยมให้เป็นเค้าโครงหยาบๆ ของบอดี้กีตาร์ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนที่ละเอียดขึ้นต่อๆไปนั่นเอง

ถัดจาก rough cut ก็จะเข้าสู่การปาดขอบ ปาดมุมโดยเครื่อง CNC เพื่อทำบอดี้ให้เป็นทรงกีตาร์มากขึ้น จากนั้นจึงเจาะ body routing ให้ได้โพรงสำหรับติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆภายในตัวกีตาร์ ทั้งนี้ขอบอกว่า โพรงในตัวกีตาร์ JMSS ไม่มีการเคลือบชิลด์กันสัญญาณรบกวนนะครับ เหตุผลที่ลุงพอลบอก คือ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ไม้ได้หายใจได้ แต่ส่วนตัวผมคิดว่าอีกเหตุผลนึงที่ PRS กล้าที่จะไม่ shield ในโพรงบอดี้ ก็เนื่องจาก PRS เคลมว่า ระบบไฟฟ้าของ JMSS มีอัตราส่วนระหว่างสัญญาณเสียงต่อ noise ที่สูง (high signal to noise ratio) แม้ปิคอัพเซ็ทนี้เป็น single coil แท้ๆ ไม่ใช่ noiseless ก็ตาม พูดง่ายๆ คือมันยังมี noise บ้างตามธรรมชาติของ single coil ซึ่งมักเป็นปัญหาโลกแตกของพวกกีตาร์วินเทจที่สร้างด้วยกรรมวิธีเก่าแก่ แต่ เมื่อเทียบกับสัญญาณเสียงที่มีมากกว่าความจี่แล้วก็ถือว่าใช้ได้ อาจพูดได้ว่า PRS ไม่ทิ้งจิตวิญญาณของความวินเทจ แต่ได้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาของกีตาร์วินเทจ ผู้ใช้งานจะได้รับเสียงวินเทจโดยไม่ต้องวุ่นวายกับปัญหาเดิมๆ ซึงเป็นการผสมผสานระหว่าง tradition + innovation ตามโจทย์ที่จอห์นได้กำหนดไว้  นี่ยังไม่พูดถึงการนำลูกบิดล็อกสายมาใช้ด้วยนะครับ คาดว่าตอนต่อๆไปเขาคงฉายภาพลูกบิดนี้ด้วย

ผมวิเคราะห์ไปตามข้อมูลที่ได้รับนะครับ แต่ในส่วนการเล่นจริงๆ รีวิวผู้ใช้จริง ณ วันนี้ยังไม่มี เพราะกีตาร์ยังไม่ได้เริ่มส่งมอบในอเมริกาด้วยซ้ำ ไอ้คำว่า high signal to noise ratio ของจริงๆเนื้อเสียงจะดังกว่าเสียงจี่แค่ไหนนั้น ถึงวันที่ลูกค้าได้รับกีตาร์จริง เราก็คงรู้กันครับ

 

ตอนที่ 2/4

Neck, fingerboard, small birds inlay, frets

 

ในตอนที่สองนี้เป็นการนำเสนอเบื้องหลังการสร้างในส่วนของคอ และส่วนประกอบต่างๆบนคอ เริ่มจากการนำคอที่ใช้ไม้เมเปิลซึ่งผ่านการ rough cut ต่างๆนาๆ จนเป็นรูปเป็นร่างแล้ว มาขัดๆถูๆ เก็บรายละเอียดเตรียมพร้อมสำหรับการแปะฟิงเกอร์บอร์ด

โครงสร้างของคอผมได้เขียนไว้ในบทความก่อนแล้วว่าใช้กรรมวิธี scarf joint ซึ่งเป็นกรรมวิธีการต่อคอของ S2 และ CE24 เจเนอเรชั่นปัจจุบัน scarf joint ที่ว่า หน้าตาเป็นอย่างไรนั้น ลองดูตัวอย่างจากรุ่น CE24 ปีปัจจุบันซึ่งถูกสร้างด้วยกรรมวิธีเดียวกันครับ

 

https://forums.prsguitars.com/threads/scarf-joints-on-new-ce24s.28476/

ผมขอไม่อธิบายลงลึกเรืองการต่อคอที่นี่นะครับ เพราะเรื่องมันยาวและผมเคยอธิบายไว้นานแล้ว ถ้าใครต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติมและดูรูปประกอบคำอธิบายขั้นตอนการทำคอกรรมวิธีใหม่นี้ สามารถคลิกอ่านได้ที่นี่ครับ 

เรื่องการต่อ scarf joint เขาไม่ได้บอกไว้ในเว็บไซต์หรอกนะครับ แต่ผมได้ข้อมูลมาจากผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ PRS ที่โพสต์สเปคละเอียดยิบ ซึ่งผมก็แปลกใจที่รูปในเว็บไซต์ของ PRS นั้น โอเค หลบมุมกล้องรอยต่อรอยใหญ่ตรงใกล้ๆหัวหมดทุกรูป แต่ตรง neck heel ซึ่งปกติจะเห็นรอยต่อไม้อีกชิ้นนั้น กลับไม่มีรอยต่อ (คือดูเป็นไม้ชิ้นเดียว) เรื่องนี้รายละเอียดที่แท้จริงเป็นอย่างไร ผมจะมาอัพเดทภายหลังนะครับ ตอนนี้ยังติดต่อทาง PRS ไม่ได้ แต่ความเห็นของผมคือมั่นใจว่าใช้กรรมวิธี scarf joint อย่างแน่นอน เพราะ JMSS เป็นกีตาร์ที่ผลิตตามมาตรฐาน CE24 ที่ค่อนข้างลดต้นทุนต่างๆที่ไม่จำเป็นออกประมาณหนึ่ง ดังนั้น การใช้ไม้คอชิ้นเดียวเหมือนรุ่นสูงอย่าง Custom 24 Floyd จึงไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง

ใครอยากอ่านสเปคละเอียด ลองเข้าไปที่เว็บนี้ดูครับ ดูกระทู้แรกสุดเลย

http://forums.prsguitars.com/threads/the-official-silver-sky-thread.29556/

กลับมาในส่วนของฟิงเกอร์บอร์ด เราจะเห็นขั้นตอนการนำอินเลย์นก small birds ซึ่งทำจากวัสดุพลาสติกชนิดหนึ่ง (ผมเคยถามเขาแล้วว่าพลาสติกนี้มีชื่อเฉพาะมั้ย เขาบอกว่าไม่ทราบ) ซึ่งตัดเป็นตัวนกเรียบร้อยแล้ว วางลงในแผ่นฟิงเกอร์บอร์ดไม้ Indian rosewood ที่มีช่องที่เครื่อง CNC เจาะรอไว้ จากนั้นจึงนำฟิงเกอร์บอร์ดไปติดเข้ากับคอ แล้วเอาไปฝนให้ได้รัศมีความโค้ง (เรเดียส)  7.25 นิ้ว ซึ่งเป็นเรเดียสที่โคตรโค้งออกแบบมาเฉพาะของกีตาร์รุ่นนี้ เสร็จแล้วก็ลงเฟรต และเก็บรายละเอียดต่างๆซึ่งคุณภาพของงานก็คงเป็นที่ร่ำลือในวงการอยู่แล้ว ขั้นตอนสุดท้ายในส่วนของคอตามในคลิปนี้คือการติดโลโก้ลายเซ็นสีดำที่ headstock ซึ่งจะเห็นว่าเป็นงานสกรีนนะครับ (ผมเรียกถูกมั้ยครับ)

 

ส่งท้ายเบื้องหลังตอนที่ 1+2

จากขั้นตอนการสร้างทั้งหมดที่ผมได้นำเสนอไปนั้น เป็นกรรมวิธีที่ PRS ใช้ผลิตกีตาร์ CE 24 อยู่ก่อนแล้วนะครับ ที่ PRS ทำเช่นนี้ก็เพราะเป็นกีตาร์ bolt on เหมือนกัน และเป็นการคุมมาตรฐานการผลิตให้อยู่ในระดับเดียวกับ CE24 (ไม่เกินแปดหมื่นบาท ตามราคา ณ เดือนมีนาคม 2018) ซึ่งก็ทำให้ได้ PRS USA ที่ราคาไม่แพงเป็นแสนอย่าง Core Custom แต่ยังคงประสิทธิภาพการใช้งานที่ดี เน้นฟังก์ชั่นตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ แต่ได้น้ำเสียงถูกใจคนชอบโทนเก่า ตามสไตล์กีตาร์สายวินเทจของแบรนด์นี้

ถ้าคลิปตอนใหม่ออก ผมจะมานำเสนอต่อไปครับ

 

*************************************************************************

สนใจติดตามบทความข่าวสารต่างๆจากผม กด Like page ตรงโลโก้เฟสบุคด้านบนเลยจ้า

 

แต่ถ้าสนใจลงลึกกีตาร์ PRS ผมมีกลุ่ม FB คนรักกีตาร์ PRS ให้เข้าไปอ่านด้วยนะครับ ผมตั้งกลุ่มเอง เขียนเอง ไม่ได้ค่าสปอนเซอร์

แต่ถ้าใครจะเป็นสปอนเซอร์ อันนี้ก็ยินดีครับ อิอิ

https://www.facebook.com/groups/346587559155557/