PRS McCarty สวยอย่าง PRS วินเทจอย่าง Gibson ตอนที่ 3 (จบ)

บทความนี้เป็นตอนจบของบทความในซีรีส์ไตรภาค McCarty ของผมนะครับ โดยในตอนสุดท้ายนี้ผมจะเล่าถึงกีตาร์แมคคาร์ตี้ยุคใหม่ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2008 จนถึงโมเดลล่าสุด (2017) ส่วนกีตาร์แมคคาร์ตี้ยุคคลาสสิคที่ผลิตระหว่าง 1994 – 2008 เพื่อนๆ สามารถอ่านได้ในตอนที่ 2 นะครับ

ส่วนถ้าใครสงสัยว่าทำไมผมจึงจัดกลุ่มเป็น คลาสสิค และ ยุคใหม่ ผมได้อธิบายเหตุผลไว้แล้วในตอนที่ 2 สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1-2 คลิกลิงค์ข้างล่างนี้เลยครับ

PRS McCarty ตอน 1 – ความเป็นมาของซีรีส์แมคคาร์ตี้

PRS McCarty ตอน 2 – กีตาร์แมคคาร์ตี้รุ่นต่างๆ ตั้งแต่ปีแรกจนถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน

แล้วแมคคาร์ตี้ยุคใหม่มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

McCarty DC 245, และ McCarty Singlecut 245 limited (2009 – 2010)

https://reverb.com/item/4693859-prs-ted-mccarty-dc-245-soapbar-matteo-mist-10-top-willcutt-ltd-546

https://forums.prsguitars.com/threads/ngd-ted-mccarty-dc245.17554/

https://reverb.com/item/4693859-prs-ted-mccarty-dc-245-soapbar-matteo-mist-10-top-willcutt-ltd-546

DC 245 Soapbar เสียงคลีนไม่ธรรมดาเลยนะครับ

https://www.zzounds.com/item–PAUTMSC245SB

สเปค McCarty DC 245 และ McCarty Singlecut 245 limited (2009 – 2010)

  • Scale length – 24.5″
  • Neck – มาฮอกกานี โปรไฟล์ Wide Fat
  • Fingerboard – โรสวูด บายดิ้งสีขาว
  • Headstock – ทรง Santana แปะด้วยไม้เมเปิลลายเฟลม
  • Tuners -Kluson สไตล์วินเทจ ไม่ล็อกสาย
  • Inlay – นกเต็มตัวสไตล์ old school วัสดุ Mother of Pearl
  • truss rod cover – “Ted McCarty”
  • Bridge – Stoptail
  • Pickups – 57/08 มีออพชั่น P-90 Soapbar
  • control:
    • McCarty DC 245 – toggle 3 ทาง 1 Vol, 1 Tone ดึงปุ่ม tone ตัดคอยล์ได้ (สำหรับปิคอัพ Soapbar ตัดคอยล์ไม่ได้)
    • McCarty Singlecut 245 – toggle 3 ทาง, 2 Vol, 2 Tone

แมคคาร์ตี้ลิมิเต็ดสองรุ่นนี้มาแปลกนิดนึง เพราะใช้สเกลสั้นแค่ 24.5 นิ้ว ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำมาตั้งนานแล้วตั้งแต่แมคคาร์ตี้ตัวแรก เพราะสเกลสั้นจะให้เสียงที่หวานกว่า เรื่องแปลกต่อมาคือรุ่นนี้ใช้ headstock ของรุ่นซานตาน่าแปะด้วยเฟลมเมเปิลสีดำ ปิคอัพก็ใช้รุ่น 57/08 ตามสเปค PRS สายวินเทจในขณะนั้น มีออพชันปิคอัพ P-90 soapbar ให้เลือกด้วยทั้งสองทรง ผมรู้สึกชอบ Soapbar เสียงดีมากนะ หวาน แต่ไม่บวม

ผมมีความรู้สึกว่าลิมิเต็ดทั้งสองรุ่นนี้ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงสักเท่าไหร่นะครับ ไม่แน่ใจว่าทำไม แต่เคยเห็นคนบ่นเรื่องไม่ชอบการเอาหัวของรุ่นซานตาน่ามาใส่ในกีตาร์ทั้งสองทรงนี้ ก็แล้วแต่รสนิยมนะครับ

McCarty 25th Anniversary Narrowfield (2009 – 2010)

https://wildwestguitars.com/electric/2010-prs-25th-anniversary-mccarty-narrowfield-mccarty-sunburst

http://guitaraxestacy.com/?x-portfolio=25th-anniversary-prs-usa-custom-24-in-fire-red-burst

สเปค 25th Anniversary McCarty Narrowfield

  • Body – มาฮอกกานีที่หนากว่า Custom 1/8 นิ้ว
  • Top – เมเปิิล
  • Neck – มาฮอกกานี โปรไฟล์ wide fat
  • Fingerboard – Rosewood มีบายดิ้งสีขาว
  • Inlays – นก Shadow birds เลี่ยมด้วยวัสดุสังเคราะห์ banded melon
  • Scale length – 25 นิ้ว
  • Tuners – ล็อกสาย PRS Phase II
  • Pickups – PRS 57/08 Narrowfield
  • Pickup Selector – toggle 3 ทาง, 1 vol, 1 tone ไม่ตัดคอยล์
  • Headstock – แปะวีเนียร์ไม้โรสวูด มีอินเลย์นกอินทรี 25th Anniversary เลี่ยมด้วยวัสดุสังเคราะห์ banded melon
  • Truss rod cover – มีคำว่า McCarty
  • Bridge – PRS Stoptail
  • Accessories – เคส 25th Anniversary สีขาว

McCarty Narrowfield เป็นรุ่นที่ผลิตเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 25 ปีของบริษัท สเปคที่เห็นแล้วสะดุดตาก็คงหนีไม่พ้นปิคอัพ 57/08 Narrowfield หน้าตาประหลาดๆ ขนาดประมาณพวก mini humbucker โดยคอนเซพท์ของปิคอัพรุ่นนี้คือเป็น humbucker ที่ออกแบบให้หน้าแคบลงเพื่อลดพื้นที่รับรู้การแกว่งของสายให้ใกล้เคียงกับ single coil และใช้ลวดทองแดงในตำนานชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในปิคอัพ 57/08 ผลที่ได้ก็คือซาวด์ใหม่ที่อยู่ระหว่างซิงเกิลคอยล์กับฮัมบัคเกอร์ มีความ bright มากกว่าฮัมบัคเกอร์ แต่ก็ไม่จี่อย่างซิงเกิลคอยล์เพราะโดยพื้นฐานมันก็คือฮัมบัคเกอร์

ปิคอัพ 57/08 Narrowfield หายจากสายการผลิตไปพักหนึ่ง แต่ปัจจุบันกลับมาใช้ในกีตาร์ Private Stock Super Eagle ของ John Mayer

งานประดับอื่นๆ ก็เป็นไปตามสเปค 25 ปี คือนก shadow บนฟิงเกอร์บอร์ดและนก 25th Anniversary Eagle วัสดุสังเคราะห์สีขาวมีเอฟเฟคท์เงาสีดำบน headstock และเคสสีขาวสุดสวยสำหรับซีรีส์ 25 ปี

McCarty 58 / MC-58 (2010 – 2012)

http://www.mylespaul.com/threads/fs-prs-mc58-mccarty.289616/

https://forums.prsguitars.com/threads/ngd-finally-a-core-prs-in-the-house.14449/

สเปค McCarty 58 / MC58

  • Body – มาฮอกกานีที่หนากว่า Custom 1/8 นิ้ว
  • Top – เมเปิลลายเฟลม เกรด Artist
  • Neck: Mahogany โปรไฟล์ Pattern
  • Headstock – แปะวีเนียร์ rosewood
  • Fingerboard – Rosewood มีบายดิ้งสีขาว
  • Inlay – Paua heart birds เดินเส้นขอบด้วย MOP
  • Pickups – 57/08 มีฝาครอบ ปัดด้าน
  • Tuners – Phase II ebonized buttons หรือ Phase III locking
  • Truss rod cover – MC-58
  • Finish – V12
  • Bridge – PRS Stoptail เสาทองเหลือง
  • Case – Paisley

MC-58 เป็นแมคคาร์ตี้ยุคใหม่ปี 2010 ที่มาพร้อมด้วยปิคอัพวินเทจของช่วงปีนั้น นั่นก็คือ 57/08 ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อแมคคาร์ตี้ตัวนี้ ปิคอัพ 57/08 ให้เสียงวินเทจโทนนุ่ม ย่านกลางเยอะ แม่เหล็ก alnico 2 เอาท์พุทไม่แรง เหมาะกับบลูส์ที่ไม่แรงมากไปถึงแจ๊ซ นอกจากนี้สิ่งที่เพิ่มมาใหม่คือโปรไฟล์คอ Pattern ที่มิติใกล้เคียงกับ wide fat แต่ปรับดีเทลเล็กน้อยให้คล้ายคอในยุคที่ลุงพอลทำกีตาร์ด้วยมือ ในส่วนของอินเลย์ก็สวยเป็นพิเศษ เพราะเป็นนก puau heart เดินขอบนกด้วย MOP (paua เป็นหอยในตระกูล abalone นั่นแหละครับ แต่จะมีสีสันลวดลายมากกว่าอบาโลน) บอดี้เคลือบด้วยแลคเกอร์สูตรใหม่ V12 ที่เป็นส่วนผสมระหว่างแลกเกอร์กับอคริลิก ทำให้ได้คุณสมบัติที่แข็งและใสกว่าแลคเกอร์แบบเดิม ซึ่ง PRS จะใช้แทนที่สูตรเคลือบแบบเก่าตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นไป

ส่วนอะไหล่นั้น PRS ใส่ฝาปิคอัพแบบปัดด้านนิดๆ กำลังสวย ตัวที่ผลิตในปี 2010 จะได้ลูกบิด Phase II buttons สีดำเลียนแบบไม้อีโบนี แต่ปี 2011 – 2012 เปลี่ยนไปใช้ Phase III (โชว์เฟือง) MC-58 มากับเคส Paisley หรูหราได้ใจเหมือนกล่องใส่กีตาร์ Private Stock
ส่วนตัวผมจะชอบแมคคาร์ตี้รุ่นนี้เป็นพิเศษ มันดูลงตัวมากๆ เพราะหน้าตาเรียบง่ายสไตล์แมคคาร์ตี้ของมันแฝงไว้ด้วยฟีเจอร์เจ๋งๆมากมาย สเปคไม้สูง อินเลย์งาม ปิคอัพสวย โทนเสียงหวาน ลูกบิดสวย อะไหล่ดี กล่องโคตรหรู เป็นหนึ่งในกีตาร์ PRS รุ่นน่าเก็บไม่กี่รุ่นที่ผลิตในช่วงวิกฤตการณ์ลดสเปคของแบรนด์

ดังนั้น หากแฟนๆ PRS สายวินเทจท่านใดมีโอกาส ผมขอแนะนำอย่างยิ่งว่าน่าจัดมาครอบครองยาวๆ สักตัวนะครับ โชว์ก็ได้ ใช้งานก็ดี ไม่ผิดหวังแน่นอนครับ

30th Anniversary Vine McCarty limited (2015)

http://www.guitars-shop.de/product_info.php/cPath/2/products_id/720

https://wildwestguitars.com/electric/prs-artist-package-30th-anniversary-vine-mccarty-Charcoal-w-matching-flame-maple-neck

http://www.prsguitars.com/index.php/blog/post/missed_connections_30th_anniversary_vine_mccarty_custom_22

https://www.ebay.com/itm/172558576732?ul_noapp=true

สเปค McCarty 30th Anniversary Vine (2015)

  • Body – มาฮอกกานีที่หนากว่า Custom 1/8 นิ้ว
  • Top – เมเปิลลายเฟลม เกรด Artist
  • Neck – เมเปิลลายเฟลม เกรด Artist
  • Scale length – 25″
  • Fingerboard – อีโบนีจากประเทศกาบอง มีบายดิ้งสีขาว
  • Inlay – 30th Anniversary Vine birds นกเลี่ยมด้วย MOP ส่วนเถาวัลย์เลี่ยมด้วย paua heart กับ paua โดยเถาวัลย์เลื้อยยาวผ่าน truss rod cover ไปถึง headstock
  • Pickups – 58/15 มีฝาครอบ
  • Headstock – แปะวีเนียร์อีโบนีจากประเทศกาบอง
  • ผลิต 100 ตัว

แมคคาร์ตี้รุ่นลิมิเต็ดฉลองครบรอบ 30 ปี หน้าตาดูโมเดิร์นๆ ไม่ค่อยวินเทจอย่างที่เราเคยรู้จัก เพราะมาแนวอัดสเปคหรูหราจัดหนักตั้งแต่อินเลย์ Vine birds เลื้อยผ่านฟิงเกอร์บอร์ดอีโบนีข้ามไปถึงกลาง headstock ไม้ท็อปกับไม้คอเป็นเฟลมเมเปิลโหดๆ ผมว่านี่อาจเป็นแมคคาร์ตี้ที่หรูที่สุดรุ่นนึงที่เคยทำมาเลยมั้งครับ

นอกจากเรื่องความหรูหรา ในส่วนของปิคอัพก็อัพเดทใหม่เป็น 58/15 เป็นปิคอัพสายวินเทจ มี mid range แต่เน้นขายความเคลียร์ ชัดเจน ไม่ทู่ ปิคอัพรุ่นนี้มาแทนที่ 57/08 ที่ถูกเฟดออกไป ซึ่งอันนั้นจะออกโทนกลมๆ นวลๆ

McCarty (2015 – ปัจจุบัน)

http://www.lkg-guitars.de/gitarren/paul-reed-smith-prs-usa-modelle/paul-reed-smith-prs-mccarty-2015-mccarty-tobacco-sunburst-mit-top-10-decke/#!prettyPhoto

สเปค McCarty (2015)

  • Body – มาฮอกกานี ความหนามากกว่า Custom 1/8 นิ้ว
  • Neck – มาฮอกกานี โปรไฟล์ Pattern
  • Scale – 25″
  • Headstock – แปะวีเนียร์ rosewood
  • Fingerboard – Rosewood มีบายดิ้งเลียนแบบสีกระดูก (faux bone)
  • Inlay – J. Birds วัสดุอบาโลนเดินขอบสีขาว
  • Pickups – 58/15 มีฝาครอบ
  • PU selector – 3 way toggle, 1 vol, 1 tone ดึงโทนตัดคอยล์ได้
  • Tuners – Phase III locking
  • Truss rod cover – McCarty
  • Bridge – PRS Stoptail หรือ PRS Adjustable Stoptail

ปี 2015 นอกจาก McCarty รุ่น 30 ปีสุดไฮโซแล้ว เรายังมีแมคคาตี้เวอร์ชันคลาสสิคที่คุ้นเคยอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่อัพเดทก็เป็นไปตามสเปคกีตาร์ PRS สายวินเทจปี 2015 นั่นก็คือปิคอัพ 58/15 อินเลย์นก J. birds อบาโลนตามอย่างพวกรุ่น Custom ระบบไฟฟ้าก็ตามแบบฉบับแมคคาร์ตี้ที่มีมายาวนาน 20 กว่าปี ก็คือ toggle สามทาง, 1 vol, 1 tone ตัดคอยล์ได้ แต่มีข้อสังเกตนิดนึงตรงบริดจ์ คือสำหรับปี 2015 ยังเป็น stoptail แบบปรับไม่ได้ แต่ปีถัดมาจนถึงปัจุบันจะเปลี่ยนเป็นแบบปรับได้ที่มีแซดเดิลและเสาทำจากทองเหลือง

McCarty 594 และ McCarty Singlecut 594 (2017 – ปัจจุบัน)

http://www.guitars-shop.de/product_info.php/products_id/735/language/en

http://www.lkg-guitars.de/gitarren/paul-reed-smith-prs-usa-modelle/paul-reed-smith-prs-mccarty-594-2017-modell-orange-tiger/#!prettyPhoto


สเปค McCarty 594 และ Mccarty Singlecut 594

  • บอดี้หนากว่า McCarty มาตรฐานเล็กน้อย ความหนาบอดี้รวมประมาณ 2 นิ้ว
  • Scale length – 24.594
  • Neck – Pattern Vintage
  • Tuners – Phase III รุ่นปรับปรุง (tweaked Phase III tuners)
  • Nut – กระดูก
  • Fingerboard – โรสวูดคัดเกรดสีเข้มๆ ขอบบายดิ้งสีกระดูก
  • Inlay – นก Old school เลี่ยมด้วย MOP
  • Headstock – แปะวีเนียร์ rosewood
  • Truss rod cover – McCarty 594
  • Pickups – 58/15 LT
  • PU selector – 3 way toggle วางไว้ตรงเขาด้านบน, 2 vol, 2 tone เรียงปุ่มคอนโทรลให้วอลุ่มอยู่แนวตั้งเหมือน Gibson และสามารถดึงปุ่ม Tone เพื่อตัดคอยล์ได้
  • Bridge – PRS two piece stoptail บริดจ์สองชิ้น แซดเดิลและเสาทำจากทองเหลือง ส่วน tailpiece ทำจากอลูมิเนียม

ในรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ถือเป็นแมคคาร์ตี้รุ่นที่มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเพื่อให้ได้เสียงที่ใกล้เคียงกับกิบสันยุคทอง 50s ลุงพอลได้พูดถึงจุดมุ่งหมายของการสร้างกีตาร์สายวินเทจของ PRS ซึ่งสรุปได้ว่า “PRS จะสร้างกีตาร์วินเทจที่ดีหรือดียิ่งกว่ากีตาร์วินเทจแบรนด์อื่นที่คนนิยมเล่นกัน กีตาร์วินเทจของ PRS จะให้โทนเสียงที่เปิด เนื้อเสียงเต็ม มีความเป็นวินเทจแท้ๆ โดยมีการนำเทคนิคสมัยใหม่มาใช้เพื่อกำจัดจุดบกพร่องต่างๆ ที่มักพบในกีตาร์วินเทจทั่วไป”

จุดเริ่มต้นของ McCarty 594

ลุงเล่าถึงที่มาของจุดมุ่งหมายดังกล่าวว่า วันหนึ่งระหว่างที่ลุงไปเปิด clinic และพบปะกับแฟนคลับที่ร้านกีตาร์แห่งหนึ่งในชิคาโก ลุงเล่าให้แฟนๆในร้านฟังเกี่ยวกับประสบการณ์ของลุงที่เคยเล่นกีตาร์วินเทจของจริงปี 57, 59, 61 ฯลฯ ในตอนนั้นมีแฟนคลับคนหนึ่งยกมือและลุกขึ้นพูดว่า “พอล กีตาร์ปีเก่าขนาดนั้นพวกเราไม่เคยเล่นหรอก กีตาร์วินเทจที่พวกเราเล่นกันอยู่ทุกวันนี้มันเป็นกีตาร์ที่ทำเลียนแบบกีตาร์เก่า (reissue) แค่นั้นเอง พวกเราไม่รู้หรอกว่าคุณกำลังพูดถึงอะไรอยู่” จากวันนั้น ลุงเก็บคำพูดนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจว่า ในเมื่อความเป็นจริงคือลูกค้าที่เล่นกีตาร์ reissue ไม่เคยสัมผัสกีตาร์ปีเก่าของจริง ดังนั้นก็แทบไม่มีใครรู้เลยว่าของเก่าแท้ๆ นั้นมันเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้ก้าวต่อไปของกีตาร์สายวินเทจของ PRS จะไม่ทำกีตาร์สายวินเทจที่แค่ดูคล้ายกีตาร์เก่า แต่จะลงลึกปรับปรุงในรายละเอียดต่างๆ ให้เป๊ะที่สุด เพื่อให้ได้กีตาร์สายวินเทจที่ดีจากภายใน ดีพอจนเสียบตรงเข้าแอมป์ได้ไม่ต้องเอาไปผ่านระบบจำลองเสียง modelling หรือ synthesizer ใดๆ และกล้าท้าชนกับกีตาร์วินเทจอื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาด

DNA ของกีตาร์รุ่นนี้ เริ่มจากชื่อ 594 ซึ่งมาจากการใช้ความยาวสเกล 24.594″ เท่า Gibson ยุค 50s เป๊ะ ทั้งในเวอร์ชัน doublecut และ singlecut คือสั้นกว่า 25″ ของแมคคาร์ตี้ส่วนใหญ่ แต่ก็ยาวกว่า 24.5″ ของรุ่นลิมิเต็ดบางรุ่นอยู่ 2.38 มิลลิเมตร

คอเป็นมาฮอกกานีที่มาพร้อมโปรไฟล์ใหม่ Pattern Vintage เป็นคอหนา (Pattern) ที่ปรับใหม่ให้มีลักษณะเป็นทรง V เล็กน้อย โดยให้ส่วนหนาสุดของคออยู่ค่อนไปทางสายต่ำๆ หรือที่เรียกว่าคอ “อสมมาตร (asymmetrical neck)” นั่นเอง ส่วนนัทเปลี่ยนจากวัสดุสังเคราะห์สีดำของ PRS มาเป็นนัทกระดูกเพื่อโทนเสียงวินเทจสัสๆสไตล์ 50s มองลงไปตามฟิงเกอร์บอร์ดเราจะเห็นอินเลย์นกเต็มตัว Old school ย้อนยุคที่เลี่ยมด้วย green ripple abalone เกรดดีติดสีรุ้งนิดๆ

มีการนำปิคอัพสายวินเทจรุ่นใหม่ล่าสุดของปี 2017 มาใช้ คือรุ่น 58/15 LT ย่อมาจาก low turn หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นเซ็ท 58/15 ที่ถูกลดจำนวนรอบการพันลวด แต่ความเป็นจริงก็คือ ปิคอัพ 58/15 LT คือการนำปิคอัพ 58/15 ตำแหน่ง neck จำนวนสองตัวมาจับคู่เป็นเซ็ทเดียวกัน ดังนั้น คำว่า low turn จึงหมายถึงจำนวนรอบที่พันลวดเฉพาะของปิคอัพตัวบริดจ์น้อยกว่าปิคอัพตัวบริดจ์ของเซ็ท 58/15 เวอร์ชันที่เปิดตัวเมื่อปี 2015 ซึ่งก็ทำให้เอาท์พุทที่ตำแหน่งบริดจ์ลดลง แต่มีเสียงที่หวานขึ้น มีคาแรคเตอร์ใกล้เคียงกับ neck pickup มากขึ้น นอกจากนี้ เจ้าปิคอัพรอบต่ำเซ็ทนี้ยังมาพร้อมกับชุดคอนโทรลใหม่ เป็น 3 way toggle 2 vol 2 tone ที่ถูกย้ายตัว toggle ไปอยู่ตรงเขาด้านบน และเรียงปุ่มใหม่ให้วอลุ่มอยู่แนวตั้ง พูดตรงๆ ก็เหมือนกิบสันน่ะแหละ PRS ให้เหตุผลว่าเพื่อให้สามารถหมุนวอลุ่มทั้งตัวหน้าและหลังพร้อมกันได้ในครั้งเดียว แต่ถึงจะพยายามทำให้เหมือน 50s Les Paul ยังไง PRS ก็คือ PRS ก็ยังใส่ push-pull pots ที่ปุ่มโทนทั้งสองปุ่มเพื่อให้ตัดคอยล์แยกทีละปิคอัพได้

ในส่วนของฮาร์ดแวร์ ไฮไลท์คงเป็นลูกบิดล็อกสาย PRS Phase III เวอร์ชันอัพเกรด หรือที่ PRS เรียกว่า tweaked Phase III tuners โดยจะมีการติด set screw ตัวเล็กๆ ไว้ที่บริเวณปลอกชาฟท์ลูกบิด สกรูตัวเล็กๆพวกนี้จะช่วย “จับ” แกนชาฟท์เอาไว้ไม่ให้เฟืองตัวหนอนที่ปลายแกนชาฟท์ไปกดติดกับเฟืองทองเหลืองของเสาร้อยสายแน่นเกินไป เพื่อลดการสูญเสียพลังงานของสายกีตาร์ที่ถ่ายทอดมาทางลูกบิดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นการปรับปรุงในจุดที่เล็กโคตรๆ แต่ลุงพอลแกมองว่าส่วนเล็กๆก็มีความสำคัญ แกก็พยายามอุดช่องโหว่เล็กๆพวกนี้ให้หมด ผมเห็นครั้งแรกก็ทึ่งนะครับกับการปรับปรุงในจุดเล็กๆ ซึ่งมันเล็กชนิดที่ว่าไม่บอกก็คงไม่เห็น แต่จากที่ผมติดตามแบรนด์นี้มา ก็เห็นเค้าทำแบบนี้อยู่หลายครั้ง แล้วมักจะทำเงียบๆ ไม่บอกด้วยนะ ต้องสังเกตเอาเอง

McCarty 594 ถือเป็นการยกเครื่องกีตาร์ซีรีส์แมคคาร์ตี้ครั้งสำคัญ มีการปรับเปลี่ยนหลายอย่างตามที่ผมได้บอกไป แต่ผมยังติดใจอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือ ทำไม PRS ยังทำ McCarty เวอร์ชันมาตรฐาน (ปัจจุบันคือโมเดล 2015) เอาไว้ หรือกำลังดูการตอบรับของตลาด แต่เท่าที่ผมติดตามมา เสียงตอบรับของ 594 ถือว่าดีมากๆ และได้รับการพูดถึงมากกว่า McCarty 2015 ผมก็คิดนะว่า PRS มีแผนจะยุบไลน์การผลิตตัวใดตัวหนึ่งที่ขายได้น้อยกว่ามั้ย ก็คงต้องรอดูกันต่อไปนะครับ

McCarty 594 Soapbar และ McCarty Singlecut 594 Soapbar limited (2017)

http://www.prsguitars.com/index.php/blog/post/behind_the_scenes_boscoe_france_the_mccarty_594_soapbars

คลิปนี้เป็นการเปรียบเทียบความต่างของเสียง ระหว่าง 58/15 LT กับ SD Antiquity P-90 ด้วยกีตาร์ทรงเดียวกัน

สเปค McCarty 594/Singlecut 594 Soapbar

  • บอดี้หนากว่า McCarty มาตรฐานเล็กน้อย ความหนาบอดี้รวมประมาณ 2 นิ้ว
  • Scale length – 24.594
  • Neck – Pattern Vintage
  • Tuners – Phase III รุ่นปรับปรุง (tweaked Phase III tuners)
  • Nut – กระดูก
  • Fingerboard – โรสวูดคัดเกรดสีเข้มๆ ขอบบายดิ้งสีกระดูก
  • Inlay – นก Old school เลี่ยมด้วย green ripple abalone
  • Headstock – แปะวีเนียร์ rosewood
  • Truss rod cover – McCarty 594
  • Pickups – Pickups – PRS/Seymour Duncan Antiquity P-90
  • PU selector – 3 way toggle, 2 vol, 2 tone เรียงปุ่มคอนโทรลให้วอลุ่มอยู่แนวตั้งเหมือน Gibson ไม่มีตัดคอยล์
  • Bridge – PRS two piece stoptail บริดจ์สองชิ้น แซดเดิลและเสาทำจากทองเหลือง ส่วน tailpiece ทำจากอลูมิเนียม
  • จำกัดช่วงเวลาเปิดรับออเดอร์ แต่ไม่จำกัดจำนวนผลิต

หลักๆก็คือเป็นเวอร์ชัน Soapbar ของ 594 นั่นเอง ซึ่งใช้ปิคอัพ Antiquity P-90 ของซีมัวร์ดันแคนซึ่ง PRS ใช้ของซีมัวร์สำหรับแมคคาร์ตี้โซพบาร์มานานแล้ว ในส่วนของคอนโทรลก็หน้าตาเหมือน 594 (และกิบสัน ฮ่าๆๆ) แต่ปุ่มโทนจะไม่มีตัดคอยล์แล้วนะครับ เพราะมันเป็นซิงเกิลคอยล์อยู่แล้ว

เสียง เท่าที่ฟังเปรียบเทียบ P-90 เหมือนจะอยู่ตรงไหนสักแห่งระหว่าง LT ที่ตัดคอยล์ กับ เปิดเต็ม มีความหวานค่อนไปทางฮัมบัคเกอร์หน่อยนึงแต่ก็ไม่อ้วนเท่า ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างนึงเหมือนกันครับ ถึงหน้าตาจะเชยแต่เสียงหวานดีนะ

 

McCarty รุ่นอื่นๆ นอกสายการผลิตหลัก

ที่ผมลิสต์ไปทั้งหมดเป็นกีตาร์ที่อยู่ในสายการผลิตปกติ แต่ในความจริงก็อาจมีออเดอร์พิเศษที่สั่งสเปคนอกมาตรฐาน นอกช่วงเวลาการผลิต ซึ่งอะไรก็เป้นไปได้ถ้ามีเงิน 555

แมคคาร์ตี้สายแปลกอย่างแรกคือ มีคันโยก ซึ่งก็นับว่าเป็น rare item นะครับ เจอไม่บ่อย McCarty with tremolo ใครมีนี่ เจ๋งเลย

ตัวนี้ปี 1997 ครับ ถ้าไม่เห็นชื่อรุ่นตรง truss rod cover เราคงเข้าใจว่ามันเป็น Custom 22 เป็นแน่แท้ 555 อ้อ สังเกตลูกบิดนะครับ ถ้า PRS USA ตัวไหนติดคันโยกเขาก็จะให้ลูกบิดล็อกสายคู่กันไปเลย

https://reverb.com/item/182716-prs-mccarty-with-tremolo-1997-natural-burst

ตัวนี้ปี 2007 ลูกบิดล็อกสายก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เป็น Phase II

 

ตรงบรรทัด SP Order เป็นหลักฐานยืนยันว่าคันโยกต้องสั่งพิเศษ เพราะไม่อยู่ในสายการผลิตปกติ

https://reverb.com/item/2309831-paul-reed-smith-prs-mccarty-trem-2007-honeyburst

 

นอกจากนี้ ก็ยังมี McCarty สายแปลกที่ดีลเลอร์ใหญ่ๆ บางเจ้าที่สั่งทำพิเศษนอกปีการผลิต อย่างที่ญี่ปุ่นก็จะมีดีลเลอร์ชื่อ Korg Import Division (KID) ที่มักสั่งทำ PRS รุ่นนอกฤดูกาลผลิต อย่าง McCarty Korina ญี่ปุ่นนี่แหล่งรวมดารากีตาร์เลยนะ กำลังซื้อเขาสูงจริง ดราก้อนหลายตัวผมก็เจอโพสต์ขายอยู่ที่ญี่ปุ่นนี่แหละ ผมว่าถ้าใครที่มีกำลังมากพอ แล้วอยากสอย PRS สวยๆ ลองเสิร์ชหาตามเว็บญี่ปุ่นนะครับ เผลอๆเจอทีเด็ดยิ่งกว่าตลาดอเมริกาอีก ลองดูตัวนี้เป็นตัวอย่างครับ McCarty Korina KID limited 2016 บอดี้ไม้ชิ้นเดียว เมเปิลท็อปเฟลมโหดๆ ราคาตัวละสองแสนกว่าบาท และที่เจ๋งๆกว่านี้ยังมีอีกเยอะที่แดนปลาดิบ

https://info.shimamura.co.jp/guitar/e-guitar/eg-paul-reed-smith/428697/

บางทีก็มีแมคคาร์ตี้ limited edition ที่หลงไปเป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์อื่น อย่างเช่นตัวนี้ โคตร rare โคตรคูลลล มันคือ McCarty Sprayer’s Choice Platinum Bird!!

https://reverb.com/item/9043606-2009-prs-mccarty-rare-one-of-a-kind-sprayer-s-choice-seafoam-green-finish-w-platinum-bird

เป็น McCarty รุ่นลิมิเต็ดแบบโคตรลิมิเต็ดที่เกิดจากการที่ PRS เปิดโอกาสให้ช่างพ่นสีกีตาร์เก่งๆ สามารถพ่นสีอะไร ลายอะไรก็ได้บนตัวกีตาร์ ซึ่งก็จะได้กีตาร์สีสันลวดลายแปลกๆ จำนวนไม่มากออกมา สำหรับลายนก hollow bird ตัวโตๆบนบอดี้แบบนี้มีไม่ถึงสิบตัว แต่ซีรีส์ Sprayer’s Choice ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กีตาร์ McCarty เท่านั้นครับ ยังมีรุ่นอื่นเข้าร่วมโครงการด้วย แต่ผมก็เอามาฝากครับ เผื่อใครเจอจะได้รู้ว่ามันเจ๋งนะเออ ไม่หรูหราแต่หายากยิ่งกว่าดราก้อนอีกนา

 

ส่งท้าย

สำหรับบทความซีรีส์แมคคาร์ตี้ของผมก็จะมีประมาณนี้นะครับ หวังว่าเพื่อนๆ คงได้ประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ผมใช้เวลาเขียนบทความซีรีส์แมคคาร์ตี้นานเกินสัปดาห์ เพราะมีข้อมูลหลายอย่างเหลือเกินที่ต้องหา หลายประเด็นไม่แน่ใจก็ต้องถาม PRS อยู่หลายสิบคำถาม และก็ไม่ได้คำตอบครบทุกเรื่องนะครับ บางเรื่องเขาก็ไม่มีคำตอบ (ข้อมูลประวัติกีตาร์ในเว็บ PRS เองก็ไม่ละเอียด และไม่ได้อัพเดทเลยตั้งแต่ปี 2006-2007) ผมก็จะไม่กล่าวถึงสิ่งที่ไม่มีข้อมูลยืนยันละกันครับ ยังไงถ้าเพื่อนๆพบข้อผิดพลาดก็บอกผมได้นะครับ จะได้ปรับแก้ให้มีความเที่ยงตรงมากขึ้นครับ

ขอบคุณที่อดทนอ่านจนถึงบรรทัดนี้นะครับ ฮ่าๆๆ

– หมู –

****************