PRS – Bird inlay part 1 – ทำไมต้องนก?

 

พูดถึงกีตาร์ยี่ห้อนี้แล้ว ผมเชื่อว่าเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของมัน ที่เพื่อนๆหลายคนจะนึกถึงอันดับแรกๆ คือ อินเลย์รูปนกบนฟิงเกอร์บอร์ด แต่เคยสงสัยมั้ยครับว่า ทำไมต้องนก? ทำไมถึงเป็นรูปแมว หมา ปลาทอง ไก่ชน (แบบของน้าแอ๊ด) ไม่ได้ แล้วนกแต่ละตัวมันมีความหมายอะไรไหม หรือทำไว้สวยๆเฉยๆ วันนี้ผมมีเรื่องราวเกี่ยวกับฝูงนกของลุงพอลมาเล่าครับ

 

Why birds – ทำไมต้องเป็นนกล่ะ?

คุณลุงพอลในวัยเด็กมีความสนใจเรื่องนกตามคุณแม่ซึ่งเป็นนักดูนก สองแม่ลูกมักจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับนกด้วยกันเสมอ ดูนกด้วยกันบ้าง ยืมเทปเพลงเกี่ยวกับนกจากห้องสมุดมาฟังด้วยกันบ้าง บางทีตอนกลางคืนก็เปิดหน้าต่างเพื่อฟังเสียงนกที่ออกหากินเวลากลางคืน (ถ้าทำแบบนี้ที่บ้านเรา ลุงแกคงป่วยเป็นไข้เลือดออก) ด้วยเหตุนี้ลุงพอลจึงมีความผูกพันกับสัตว์ชนิดนี้มาตั้งแต่เด็ก และเมื่อต้องออกแบบอินเลย์กีตาร์ของตัวเองจึงไม่รีรอที่จะนำเอาความผูกพันกับนกที่มีมาตั้งแต่เด็กมาถ่ายทอดรังสรรค์ในงานออกแบบกีตาร์ของตัวเอง จนได้นก 10 ตัวมาอยู่บนฟิงเกอร์บอร์ดกีตาร์ PRS ที่เราต่างคุ้นตากันดี (สำหรับกีตาร์ที่มี 22 เฟรทจะมีนก 9 ตัว และมากสุด 11 ตัว สำหรับ 20th & 30th Ann. Custom 24)

การออกแบบอินเลย์นกแต่ละตำแหน่งนั้นถือว่ามีความท้าทายอยู่ไม่น้อย เพราะต้องพยายามสื่อถึงเอกลักษณ์ของนกสายพันธุ์นั้นๆ ให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ซึ่งการสร้างอินเลย์จะว่าไปแล้วก็เหมือนการเล่นเงาให้เป็นรูปร่างต่างๆ ที่รูปร่างจะต้องถ่ายทอดอย่างชัดเจนจึงจะสื่อสารได้ว่าเป็นรูปอะไร กว่าจะปิดจ๊อบการออกแบบนกแต่ละ position ได้ ลุงแกบอกว่าก็เหนื่อยนะ เพราะอยากออกแบบให้นกแต่ละตัวมีท่าทางที่สื่อถึงคาแรคเตอร์ของนกตัวนั้น ซึ่งลุงก็ไปเรียกเพื่อนๆมาช่วยออกแบบให้ ซึ่งนกที่ปิดจ๊อบยากที่สุดก็เฟร็ทที่ 15, 17 กับ 21 ส่วนตัวสุดท้ายซึ่งเป็นนกฮูกเกาะกิ่งไม้นั้น ลุงแกบอกว่ามีคนมองว่าเหมือนเต่าบินได้ 555

กีตาร์ที่ลุงพอลถือในรูปคือกีตาร์ที่ทำให้ Peter Frampton ในปี 1976 ซึ่งตอนที่ทำกีตาร์ตัวนี้ลุงพอลอายุ 20 ปี เป็นกีตาร์ตัวแรกที่ลุงเอาดีไซน์นกมาใช้ทำอินเลย์ นกทุกตัวตัดด้วยมือจากคีย์เปียโนเก่าที่ทำจากเปลือกหอยมุก (mother of pearl) ทีละตัวๆ ต่อมาทางบริษัท PRS ติดต่อขอซื้อคืนจากแฟรมพ์ตัน เพื่อเอามาโชว์ที่พิพิธภัณฑ์ของ PRS ลุงกล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่า “เมื่อผมต้องออกแบบอินเลย์กีตาร์ของตัวเองเป็นครั้งแรก ผมไม่คิดอะไรมากมาย ก็แค่ตรงไปที่ร้านหนังสือเพื่อซื้อหนังสือคู่มือการดูนก แล้วก็เริ่มลงมือออกแบบอินเลย์เลย”

http://www.prsguitars.com/index.php/blog/post/the_story_of_the_prs_bird_inlays
 

แล้วมีนกอะไรบ้าง

เนื่องจากการออกแบบนกของลุงพอลนั้น เกิดจากความตั้งใจและมีที่มาที่ไปชัดเจน ไม่มโน ดังนั้น อินเลย์รูปนกทุกตัวจึงออกแบบตามนกที่มีอยู่จริง และมีชื่อตามจริงทั้งหมด

แล้วนกอะไรหน้าตาเป็นยังไงบ้าง ผมรวบรวมไว้ให้ตามนี้ครับ ไล่จากเฟรท 3 นะครับ

เฟรท 3: เหยี่ยวเพเรกริน (Peregrine falcon)

เฟรท 5: เหยี่ยวทุ่ง (Marsh Hawk)

 

เฟรท 12: เหยี่ยวคูเปอร์ (Coopers Hawk)

เฟรท 15: เหยี่ยวไคท์ (Kite hawk)

เฟรท 17: นกกระจอกบินโฉบ (Sparrow Landing)

เฟรท 19: นกโต้คลื่นสีคล้ำ (Storm Petrel)

เฟรท 21: เหยี่ยวบินโฉบ (Hawk Landing)

เฟรท 24: นกฮูกสครีทเกาะกิ่งไม้ (Screech Owl On A Branch) 

 
 
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนแบบรายตัว ลองดูตามรูปประกอบแบบบ้านๆ ที่ผมทำไว้ตามนี้เลยครับ 
 
 
 

ซึ่งก็แน่นอนว่าเขาจดสิทธิบัตรไว้แล้ว ชื่ออย่างเป็นทางการคือ PRS Bird Inlay Position Markers มีผลทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524)

 

   http://www.prsguitars.com/index.php/blog/post/the_story_of_the_prs_bird_inlays

 

เป็นยังไงกันบ้างครับกับเรื่องราวของฝูงนกบนฟิงเกอร์บอร์ดกีตาร์ PRS ส่วนตัวผมชอบตรงที่ลุงพอลแกเอาสิ่งที่ชอบจากงานทั้งสองอย่างที่ไม่ได้เกี่ยวกันเลยมารวมไว้ด้วยกันแล้วลงมือทำมันออกมาด้วยความตั้งใจ ไม่คิดเยอะ เจอปัญหาอะไรก็หาเพื่อนๆมาช่วยแก้ปัญหากันไป เอาจริงๆลุงแกก็ไม่ได้เทพถึงขนาดสร้างทุกอย่างได้โดยลำพังคนเดียวนะครับ แต่น่าจะเป็นคนที่กล้าคิดกล้าทำและแก้ปัญหาต่างๆได้ดีซะมากกว่า

ดูเรื่องราวของแกแล้วผมก็นึกถึงตัวเองเหมือนกันนะ เพราะผมเป็นคนคิดเยอะ คิดนาน เรื่องอะไรถ้าไม่มั่นใจตรงจุดไหนผมก็มักจะเอาแต่คิดๆๆ แต่ไม่ลงมือทำ อาจจะเพราะกังวลกับความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น กลัวคนล้อ หรือกลัวคำติเตียนผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

แต่พอเวลาผ่านไปเมื่อโตขึ้นผมเริ่มคิดได้ว่า คนเราคงไม่มีใครทำอะไรแล้วไม่เคยผิดพลาดเลย การเอาแต่หลบอยู่ใน safe zone ไม่ได้ช่วยอะไร ตรงกันข้าม การกล้าลงมือทำแล้วเผชิญกับอุปสรรคมากกว่า ที่อาจช่วยให้เราได้อะไรใหม่ๆ อาจเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือสุดท้ายถ้ามันไม่สำเร็จจริงๆ อย่างน้อยผมก็สามารถบอกตัวเองได้ว่า ได้ทำแล้วนะ ก็จะได้หายคาใจ ได้ปลดล็อกตัวเองจากพันธนาการในใจ และได้รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง

เรื่องอินเลย์นี้ยังไม่จบ ไว้วันหลังผมจะมาเล่าต่อนะครับ

อ้างอิง
http://www.prsguitars.com/index.php/blog/post/the_story_of_the_prs_bird_inlays