
PRS Modern Eagle
PRS Modern Eagle – มันคืออะไร?
PRS Modern Eagle (ME) เป็นซีรีส์กีตาร์ระดับสูงสุดของ PRS core line ที่เปิดตัวในปี 2004 สร้างขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า เป็นการเอาความรู้ต่างๆ ในการสร้างกีตาร์แนววินเทจที่ลุงพอลได้เรียนรู้เองและทั้งจากที่ปู่ Ted McCarty ถ่ายทอดให้จนสร้างเป็นรุ่น McCarty และ Singlecut มาสร้างเป็นกีตาร์สเปคสมัยใหม่ ซาวด์ใหม่
แรกเริ่มเดิมทีกีตาร์ซีรีส์ ME มาในฟอร์แมทคล้าย McCarty คือทรง doublecut แต่ตัวหนากว่า Custom จัดไม้ท็อปลายโหดๆ มี 22 เฟรท คอโปรไฟล์หนา สเกล 25″ คอนโทรลด้วย McCarty switching สุดคลาสสิค คือ 3 way toggle 1 volume 1 tone ดึงตัดคอยล์ได้ แต่ต่อมาเริ่มมีทรง Singlecut รวมถึงมีการใช้ฟอร์แมท H-S-S ของรุ่น Studio เข้ามาเพิ่มอีก หลังๆมาผมก็เลยสรุป concept ของกีตาร์ตระกูล ME ไม่ได้ชัดเจนนัก คล้ายๆว่ามันก็เปลี่ยนสเปคไปเรื่อยๆ
แต่ สิ่งสำคัญที่เป็นมาตรฐานของ ME จนทำให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ใฝ่ฝันของสาวกลุงพอล คือ คอของมันเป็นไม้ rosewood ทั้งแท่ง แต่ต่างสายพันธุ์กันไป ขึ้นอยู่กับเป็น ME เวอร์ชันไหน ปีไหน รวมถึงอินเลย์โลโก้ Modern Eagle งามๆ บนหัวกีตาร์แทนที่ลายเซ็น เห็นแต่ไกลก็รู้ว่าเป็น PRS รุ่น ME ดูดีมีความขลัง เอาออกไปไหนต้องมีคนเหลียวมอง เสริมบารมีผู้ครอบครองยิ่งนัก
Original Modern Eagle headstock inlay
กีตาร์ในซีรีส์ Modern Eagle มีหลายรุ่นนะครับ มีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลย
Modern Eagle (2004 – 2007)
- Body : lightweight mahogany, McCarty thickness
- Top : East coast heartwood flamed maple
- Neck : Brazilian rosewood
- Neck profile : wide fat
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Brazilian rosewood
- Fingerboard inlay : green ripple abalone old school birds
- Headstock veneer : Brazilian rosewood
- Headstock inlay : green ripple abalone Modern Eagle
- Truss rod cover text : none
- Tuners : PRS Phase II locking, gold buttons
- Bridge : PRS stoptail (gold) or tremolo
- Pickups : Ralph Perucci (RP)
- Electronics – 3 way toggle, vol, push-pull tone for coil tap
- Hardware – hybrid
- Finish – nitrocellulose satin
2007 PRS Modern Eagle in yellow tiger
Body, top and neck
ME เจเนอเรชันแรกหรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆว่า ME1 เป็นจุดเริ่มต้นของกีตาร์ซีรีส์ตำนานของ PRS มันมากับลุคคลาสสิคเรียบง่ายสไตล์ McCarty แต่ให้สเปคไม้อลังการมาก เริ่มจากบอดี้มาฮอกกานีชิ้นเดียวคัดเกรดน้ำหนักเบา ความหนาเท่ารุ่น McCarty (หนากว่า Custom 24) ไม้ท็อป east coast maple ซึ่งคัดเอาไม้ส่วนที่เป็นแก่น (heartwood) ซึ่งเป็นเนื้อบริเวณแกนกลางของลำต้น มีความหนาแน่นสูงและแข็งกว่าไม้เมเปิลเกรดมาตรฐานที่เป็น sapwood ในสายการผลิตปกติ เหตุผลที่คัดเอาแก่นไม้มาทำท็อปกีตาร์รุ่นนี้ คือเพื่อให้ได้ไม้ที่ให้เสียงที่กังวาน (resonance) มากกว่าไม้ที่ใช้ปกติ มีการสูญเสียแรงสั่นจากสายน้อยลง นอกจากความแข็งแล้ว ยังคัดเอาเฉพาะที่มีลายเฟลมเกรดพิเศษซึ่ง PRS ไม่ได้ประกาศสเปคไว้ว่าเกรดไหน บอกแค่ว่า “highly figured curly maple” หรือแปลว่าไม้เมเปิลลายเฟลมจัดๆ แต่จากที่ผมตรวจสอบด้วยรหัสประจำตัวของกีตาร์รุ่นนี้ปรากฏว่า ที่จริงทางโรงงานจัดให้ลายไม้ท็อปของ ME1 เป็นเกรด 10 Top นะครับ แต่เป็น 10 Top ที่ลายจัดมาก ถ้าเราเทียบเกรดลายไม้ของ ME1 กับเกรดของปีปัจจุบัน (2018) ผมคงต้องบอกว่าลายเฟลมของ ME1 หลายตัว สวยสู้กับเกรด Private Stock ยุคนี้ได้เลย
แก่นไม้เมเปิล นอกจากมีความหนาแน่นสูงกว่าไม้เมเปิลส่วนนอกๆแล้ว ยังมีสีที่เข้มกว่าด้วย ลองดู ME ตัวนี้ ที่ไม้ท็อปเป็นจุดที่ heartwood ต่อกับ sapwood พอดี สีไม้โดยธรรมชาติของส่วน heartwood เข้มกว่า ดังนั้น เมื่อทำสีลงไปโดยระบายสีเฉลี่ยความเข้มเท่าๆกันทั้งแผ่น สีของไม้ส่วนที่เป็น heartwood ก็จะออกมาเข้มกว่า sapwood สีของ ME ตัวนี้ตามสเปคคือสี abalone ซึ่งโทนสีที่ถูกต้องตามสเปคคือโทนสีเข้มตรงกลาง
จุดต่อไปที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ คอของ ME1 เป็นไม้ Brazilian rosewood ทั้งแท่ง (ขอเรียกย่อๆว่า BRW) รวมไปถึงฟิงเกอร์บอร์ดและ headstock veneer ด้วย คอมีการอุดร่องเสี้ยนไม้ด้วย filler แต่ไม่มีการเคลือบ จึงได้ฟีลด้านๆ สากๆ ดิบๆ ไม่เหนียวมือ เล่นสบาย ไม้บราซิเลียนที่ใช้ในยุคนั้นเกรดงามมาก สีเข้ม หลายตัวเห็นลาย grain เส้นโค้งๆ วนๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของ BRW ชัดเจน ซึ่งยุคนี้ไม่มีอีกแล้วในสายการผลิต core line ปกติ โปรไฟล์คอของ ME เป็นคอหนา wide fat ไม่มีออพชันอื่น ฟิงเกอร์บอร์ดสเกล 25 นิ้ว เฟรทใหญ่ เรเดียสสิบนิ้วมาตรฐาน PRS อินเลย์นกเต็มตัววัสดุ ripple abalone สีออกโทนขาว ลายเป็นคลื่นๆ เรียบง่ายแต่ดูดี เสน่ห์ที่วัสดุจากธรรมชาติเท่านั้นที่จะให้ได้ มองขึ้นไปที่ headstock เราจะเห็นอินเลย์โลโก้นกอินทรี Modern Eagle เด่นๆ เลี่ยมด้วยวัสดุเดียวกันกับนกบนบอร์ดอยู่บน Brazilian rosewood veneer งามๆ
น้ำหนักโดยเฉลี่ยของ ME1 อยู่ระหว่าง 3.5 – 3.8 กิโลกรัม ซึ่งหนักกว่า McCarty ราวๆสามสี่ขีดทั้งๆที่ใช้โครงสร้างแบบเดียวกัน มิติเท่ากัน ผมคิดว่าคงมาจากน้ำหนักของไม้คอ BRW ที่หนักกว่ามาฮอกกานี บวกกับไม้ท็อปที่มีความหนาแน่นสูงกว่าไม้ท็อปเกรดปกติ ก็อาจมีส่วนเพิ่มน้ำหนักได้เช่นกัน แต่ถึงอย่างไรน้ำหนักสามโลกลางๆ ก็ไม่ได้ถือว่าหนักหนาอะไรครับ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติของ PRS ทรงนี้
Electronics and Hardwares
electronics ของ ME1 มากับปิคอัพรุ่น Ralph Perucci (RP) ตั้งชื่อตามชื่อของเซลคนหนึ่งของ PRS ฝาครอบปิคอัพปัดด้านเท่ๆ ME1 มากับชุดควบคุมสไตล์ McCarty ตัดคอยล์ได้ เรียบง่าย คลาสสิค แต่ดูดี volume pot มี treble bleed capacitor ช่วยรักษาย่านแหลมเอาไว้เมื่อหมุนลดวอลุ่ม
สำหรับ hardware ME1 สเปคมาตรฐานคือเป็นชุดผสมนิเกิลและทอง ลูกบิดล็อกสาย PRS Phase II เสาทองเหลือง เฟรททั้ง 22 เส้นมีความสูงเท่า Dunlop 6100 คือสูงกว่าเฟรทไซส์มาตรฐานของ PRS ส่วนบนสุดของเฟรท (crown) มีความแบนราบ (flat) มากกว่าเฟรทมาตรฐาน แต่ยังมีความกว้างเท่าเฟรทขนาดมาตรฐาน บริดจ์หรือหย่องมีให้เลือกสองแบบ ระหว่าง PRS Stoptail เสาทำจากทองเหลือง กับคันโยกที่ saddles และ tone block ทำจากทองเหลือง สีของ hardware เป็นแบบ hybrid คือผสมกันระหว่าง nickel และ gold ปุ่มคอนโทรลเป็นแบบเกลี้ยง (speed knobs) ดูวินเทจย้อนยุคตามสเปคยุคนั้น
Finish
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของ ME1 คือ กีตาร์รุ่นนี้เคลือบด้วยแลคเกอร์ไนโตรบางๆ ดูด้านๆ (แต่ก็ไม่ด้านซะทีเดียว ยังแอบมีความเงานิดๆ บางคนเรียกการเคลือบแบบนี้ว่า “กึ่งด้าน”) ที่ให้สัมผัสคล้ายกีตาร์เก่าในรูปลักษณ์กีตาร์สมัยใหม่ การเคลือบไนโตรยังเป็นการเคลือบแบบอ่อน ไม้มีโอกาสสั่นไหวมากกว่าการเคลือบด้วยอะคริลิคที่ใสเป็นกระจกแต่แข็งเป๊กแบบ core USA
Tone
การผสมไม้ของ ME1 น่าสนใจ เพราะใช้ไม้มาฮอกกานีหนาแต่แปะท็อปเมเปิลเนื้อแข็ง นำมาต่อเข้ากับคอ BRW ซึ่งมีความแข็งกว่ามาฮอกกานี แต่ให้โทนทุ้ม เนื้อเบสเยอะ นวล ไม่แหลม มีความ dark ซัสเทนยาว มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลายประการซึ่งยากที่จะหา tone wood สายพันธุ์อื่นใดเสมอเหมือน แต่โทนเสียงจากปิคอัพ RP ค่อนจะติดกลาง-แหลม แม้จะติดตั้งอยู่กับกีตาร์คอโรสวูดบอดี้หนาๆอย่าง ME ก็ไม่สร้างคาแรคเตอร์แนวดุดันหนักแน่นเท่าใดนัก หลายคนบอกว่าเสียงของปิคอัพรุ่นนี้ถ้าไม่รักก็เกลียดเลย ซึ่งผมคิดว่าก็อาจจะจริง
มีเพื่อนสมาชิกกลุ่มเฟสบุค PRS Club Thailand ของผมซึ่งใช้งาน ME1 มานานนับสิบปีให้ข้อมูลว่า เสียงจากคอ BRW แม้จะมีความหม่น นวล ในช่วงปีแรกๆที่เริ่มใช้งาน แต่เมื่อกาลเวลาเนิ่นนานผ่านไปราวสิบปี เขาสังเกตว่าเสียงเริ่มมีความคม เคลียร์มากขึ้น สามารถใช้งานได้กว้างขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จริงเท็จประการใดผมเองก็ไม่ทราบนะครับ เพราะไม่เคยเห็นรีวิวแบบ long term review ของกีตาร์รุ่นนี้ว่าใช้ไปนานๆแล้วเสียงจะคมขึ้น แต่ก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจครับ
Modern Eagle 20th Anniversary
- Body : lightweight mahogany, McCarty thickness
- Top : East coast heartwood flamed maple
- Neck : Brazilian rosewood
- Neck profile : wide fat
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Brazilian rosewood
- Fingerboard inlay : green ripple abalone old school birds
- Headstock veneer : Brazilian rosewood
- Headstock inlay : green ripple abalone Modern Eagle
- Truss rod cover text : ’20th’ in black
- Tuners : PRS Phase II locking
- Bridge : PRS gold anodized stoptail or tremolo
- Pickups : Ralph Perucci (RP)
- Electronics – 3 way toggle, vol, push-pull tone for coil tap
- Hardware – hybrid
- Finish – nitrocellulose satin
2005 PRS Modern Eagle 20th Anniversary
ปี 2005 – 2006 เป็นช่วงที่ PRS กำลังผลิตกีตาร์เวอร์ชันฉลองครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งแบรนด์ ดังที่เราจะเห็นอินเลย์นกบินโค้งๆ birds in flight ในรุ่น Custom 24 & 22 ที่สาวกเขาตามเก็บกัน ซึ่ง ME1 ก็ได้อานิสงส์ในโอกาสพิเศษนี้ด้วย แต่ไม่ใช่ได้อินเลย์นกเก๋ๆแบบนั้นนะครับ ME1 เวอร์ชัน 20th Anniversary มีการเพิ่มงานประดับเป็นคำว่า 20th ฟอนต์สีดำบนฝา truss rod cover สีดำ ซึ่งหากไม่เพ่งใกล้ๆ ก็คงไม่เห็น สเปคในส่วนอื่นๆ ก็เหมือน Modern Eagle ปกติ
NOS Modern Eagle (2012)
- Body : lightweight mahogany, McCarty thickness
- Top : East coast heartwood flamed maple
- Neck : Brazilian rosewood
- Neck profile : wide fat
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Brazilian rosewood
- Fingerboard inlay : ripple abalone old school birds
- Headstock veneer : Brazilian rosewood or ebony
- Headstock inlay : ripple abalone Modern Eagle
- Truss rod cover text : none
- Tuners : PRS Phase II locking, gold or ebonized
- Bridge : PRS stoptail (gold anodized or nickel) or tremolo
- Pickups : RP or 57/08
- Electronics – 3 way toggle, vol, push-pull tone for coil tap
- Knobs : speed or lampshade
- Hardware – Nickel
- Finish – nitrocellulose
- Accessories : original brown sued or paisley hard case
ปี 2007 CITES ออกข้อบังคับใหม่ที่เข้มงวดเพื่ออนุรักษ์ต้น Brazilian rosewood ที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มที โดยออกมาตรการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไม้ Brazilian rosewood เป็นส่วนประกอบ โดยผู้ผลิตสินค้าที่มีไม้ชนิดนี้ รวมถึงผู้ผลิตกีตาร์ ต้องชี้แจงที่มาของไม้บราซิเลียนทั้งที่กำลังใช้ทำกีตาร์และไม้ในสต๊อกที่มีอยู่ และหากจะส่งขายไปนอกประเทศก็ต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมงและสัตว์ป่าของอเมริกาซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลเรื่องนี้ในอเมริกาเสียก่อน ทำให้ PRS ต้องระงับการผลิตกีตาร์รุ่นนี้ไว้ชั่วคราวเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนให้เสร็จสิ้นซึ่งก็กินเวลานานถึง 5 ปี จนเมื่อ PRS เคลียร์ประเด็นดังกล่าวได้สำเร็จจึงสามารถกลับมาผลิตต่อและส่งขายได้ในปี 2012 ด้วยเหตุนี้กีตาร์ ME ล็อตที่เจอแจ๊คพ็อตจึงกลายเป็นของมือหนึ่งค้างสต๊อกที่เรานิยมเรียกว่า New Old Stock หรือ NOS นั่นเอง
เนื่องจากมันถูกระงับการผลิตกลางคัน ทำให้ NOS ME แต่ละตัวมีสเปคไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่ากีตาร์ตัวนั้นถูกสร้างไปถึงขั้นตอนไหนเมื่อปี 2007 เช่น กีตาร์บางตัวปั๊มเลขซีเรียลไปแล้วว่าปี 07 บางตัวยังไม่ได้ปั๊มก็จะได้เลข 12 บางตัวใส่ปิคอัพแล้วก็ได้ปิคอัพ RP ตามสเปคออริจินอล แต่บางตัวยังไม่ถึงขั้นตอนติดตั้งปิคอัพ พอกลับมาผลิตต่อในปี 2012 ซึ่งปิคอัพ RP เลิกผลิตไปนานแล้ว ก็จะได้ปิคอัพปีปัจจุบันแทน เช่น 57/08 นอกจากนี้สูตรแลคเกอร์ไนโตรของ ME1 ก็ต่างจากไนโตรของปีหลังๆด้วย
จุดสังเกตว่ากีตาร์ ME ตัวไหนเป็นล็อต NOS
ผมลิสต์จุดสังเกตต่างๆ ที่บ่งบอกว่า ME ตัวนั้นเป็น NOS นะครับ แต่ว่า NOS ME ละตัวก็อาจแตกต่างกันไปด้วยเหตุผลตามที่ผมได้เล่าไป มีจุดสังเกตอะไรบ้างลองดูครับ
- มีข้อความ CUSTOM BUILT FOR U.S.A ONLY เขียนไว้ด้านหลัง headstock เป็นการแสดงว่า PRS ไม่มีเอกสาร หรือ ไม่สามารถดำเนินการขอเอกสารอนุญาตส่งออกกีตาร์ ME ตัวนั้นๆ ตามข้อบังคับใหม่ของ CITES กีตาร์ก็เลยสามารถขายได้เฉพาะภายในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
- มี bird tag 2 ใบ ใบหนึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2007 อีกใบเขียนสเปคจริงที่ผลิตเสร็จเมื่อปี 2012 อย่างเช่นตัวในรูปข้างบน
- ติดปิคอัพ 57/08 หรือ 59/09 แทนที่ RP ที่เลิกผลิตไป
- headstock veneer เป็นไม้อื่นที่ไม่ใช่ Brazilian rosewood เช่น ไม้ ebony
- ใบลูกบิด (tuner buttons) เป็นสีดำ
- ปุ่มคอนโทรล (knobs) เป็นแบบยุคใหม่ที่ดูคล้ายโคมไฟ lampshade
- stoptail เป็นสีเงิน (ชุบนิเกิล) แทนที่จะเป็นสีทอง
- NOS ME บางตัวได้เคส paisley แทนที่จะเป็นเคสหนังกลับสีน้ำตาล
2012 PRS NOS Modern Eagle with 57/08 pickups and nickel-plated stoptail
ที่จริงจุดสังเกตที่ง่ายที่สุด ก็แค่พลิกดูด้านหลังว่าตรง headstock มีข้อความ USA ONLY เขียนไว้มั้ยก็เท่านั้นเอง แต่ผมเอาจุดสังเกตอื่นๆมาให้เพื่อนๆดูด้วยเพื่อเป็นความรู้ว่ามันต่างจากออริจินอลตรงไหนอีกบ้าง เพราะด้วยราคาค่าตัวแสนปลายๆ รายละเอียดจุดเล็กจุดน้อยผมว่ารู้ไว้หน่อยก็ดีครับ เงินไม่ใช่น้อยๆ
จะว่าไปแล้ว สำหรับ NOS Modern Eagle นั้น โดยโครงสร้างและสปีชีส์ไม้มันก็คือ ME1 นั่นแหละครับ แต่ต่างกันในรายละเอียดเพราะมันเหมือนเอา ME1 นั่งไทม์แมชชีนมาทำต่อในอนาคตอีก 5 ปี บางคนพอใจกับเกรดไม้สวยๆของปีเก่าและชอบเสียงของปิคอัพใหม่ ก็จะแฮปปี้กับกีตาร์ล็อตนี้ แต่บางคนบอกว่ามันไม่ออริจินอล ไม่น่าสะสม ก็จะไม่ชอบไปเลยก็มี นานาจิตตังครับ
Modern Eagle Reissue?
บางคนที่ท่องเว็บหา ME1 อาจจะบังเอิญเจอเข้ากับ ME ที่ระบุว่าเป็น Modern Eagle Reissue กีตาร์ ME เวอร์ชันนี้ผลิตขึ้นตามออเดอร์ของดีลเลอร์ประเทศญี่ปุ่น มันมีสเปคที่ถอดแบบมาจาก ME1 แทบทุกประการไม่เว้นแม้แต่ปิคอัพ RP และเคสหนังกลับสีน้ำตาล แต่สิ่งที่มันไม่ใช่ก็คือ serial number และปีผลิตที่เป็นปี 2017 ดังนั้นถ้าถามว่านี่คือ ME ใช่ไหมก็คงต้องตอบว่าใช่ แต่มันเป็นตัว reissue ที่สร้างเลียนแบบ ME1 โดยใช้ไม้ของปี 2017
แล้วน่าโดนมั้ย? ในความเห็นของผมไม้ BRW ล็อตใหม่ๆ ส่วนใหญ่ลายไม้มักสู้ปีเก่าไม่ได้ อีกทั้ง ME Reissue มีราคาพอๆกับ Private Stock คือแพงกว่า ME1 มือสองไปมาก ดังนั้นผมจึงแนะนำให้หา ME1 original จะจบกว่าครับ ยกเว้นซะแต่เพื่อนๆ ซีเรียสเรื่องสปีชีส์ของไม้และต้องการของใหม่ไม่ผ่านมือใครมาก่อน ถ้าอย่างนั้นก็น่าจัด
Modern Eagle สีซีด??
สิ่งหนึ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับ ME1 คือ กีตาร์รุ่นนี้ บางตัว มีปัญหา “สีซีด” โดยสีจะค่อยๆ จางลงช้าๆ ลงไปเรื่อยๆ ซีดมากบ้าง น้อยบ้าง และบางตัวอาจซีดจนแทบจะเหลือแต่สีไม้เมเปิลธรรมชาติๆ ไปเลยก็มี และผมสังเกตว่า อาการสีซีดหายแบบนี้มักเกิดกับ ME1 สีฟ้า faded blue jean ลองดูรูปนี้นะครับ เป็นกีตาร์ตัวเดียวกันเปรียบเทียบระหว่างสีเดิมและตอนที่สีซีดจนแทบไม่เหลือสีเดิม ซึ่งเจ้าของถ่ายไว้เปรียบเทียบ
ส่วนตัวนี้ซีดจนแทบนึกว่าสีเดิมคือสีธรรมชาติ
สาเหตุที่ Modern Eagle บางตัวสีซีด จากการเก็บข้อมูลของผมเอง ผมมองว่าน่าจะมาจาก 2 สาเหตุหลัก ดังนี้ครับ
- ส่วนผสมของสีย้อม (dye) มีความคงทนต่อแสง (lightfastness) ที่ต่ำมาก แสงต่างๆ โดยเฉพาะแสงอาทิตย์ที่มีรังสี UV สามารถทำลายโครงสร้างทางเคมีของสีย้อมได้อย่างง่ายดาย ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวมีประจุไฟฟ้าเป็นตัวยึดเหนี่ยวพันธะระหว่างโมเลกุลของเม็ดสีกับตัวทำละลายของ dye ส่งผลให้การยึดเหนี่ยวของโมเลกุลสีย้อมแตกตัว และในที่สุดก็ซีดจางไปอย่างรวดเร็ว
- การใช้แก่นไม้เมเปิล (maple heartwood) ซึ่งมีความหนาแน่นสูง เนื้อแข็งพิเศษ และมีสีเข้มกว่าไม้ส่วนนอกๆ ที่มีความหนาแน่นต่ำกว่า ให้สีย้อมไม่ค่อยซึมเข้าเนื้อไม้ได้ดีนัก
แล้วถ้ามันซีดต้องทำยังไง? ถ้าจะให้ตอบแบบตามหลักการก็คือ ควรส่งกลับไปให้แผนก PRS Tech Center (PTC) ณ โรงงาน PRS สหรัฐอเมริกา จัดการ refinish ใหม่ เพราะกีตาร์ระดับนี้เราอาจไม่อยากเสี่ยงกับการหาช่าง refinish เอง ซึ่งต้องเลือกเฟ้นดีๆ สืบประวัติดีๆ และจะดีมากถ้าถามจากผู้เคยทำสี (ซึ่งคงยากที่เขาจะยอมบอกว่าทำสีกีตาร์มา ถ้าไม่สนิทกันจริงๆ) ผมเคยเห็นงานของช่างบางคนแล้วยอมรับว่า สวยมาก แต่ช่างบางคนทำแป้กก็เห็นมาแล้ว อีกประเด็นที่ควรทราบไว้หากจะทำสีใหม่ คือ สีและการเคลือบมีผลต่อเสียง สูตรเคลือบและสูตรสีที่ไม่ใช่ของ PRS ก็อาจคาดเดาผลลัพธ์ได้ยากว่าทำออกมาแล้วเสียงจะเปลี่ยนจากเดิมไปขนาดไหน
แต่สำหรับบางคน การส่งกีตาร์กลับไป refinish ในต่างประเทศ แถมเป็นกีตาร์ที่มีไม้ต้องห้ามอย่าง BRW เป็นส่วนประกอบ คงต้องคิดหนัก ไหนจะค่าส่งไปกลับ ไหนจะต้องเคลียร์เรื่องภาษีกับกรมศุลกากรว่าเราไม่ได้นำเข้านะ แค่ส่งไปซ่อม แล้วไหนจะเอกสารประกอบการส่งออกไม้ BRW อีก กีตาร์รุ่นนี้ราคามือสองก็แสนปลายๆแล้ว ถ้าบวกต้นทุนค่าทำสีและค่าส่งไปกลับคร่าวๆสัก 3-4 หมื่นบาท รวมแล้วอาจจะพอๆกับ Private Stock มือสองนะครับ
บางทีสุดท้ายอาจจะต้องยอมรับสภาพ ใช้มั้นทั้งซีดๆ ต่อไป เพราะจะว่าไปสีไม้เมเปิลล้วนๆ มันก็สวยไปอีกแบบ หรือถ้ารับไม่ได้จริงๆ ขายทิ้งก็ขายยาก ส่งกลับโรงงานก็ไม่ไหว สุดท้ายก็คงต้องพึ่งฝีมือช่างไทยนะครับ จะเคลือบด้านเคลือบเงา เอาสีอะไร เลือกเองได้เลย เหมือนชุบชีวิตใหม่ เบ็ดเสร็จอาจจบได้ในงบหลักพัน ก็ลองหาข้อมูลลึกๆ เลือกช่างดีๆนะครับ
Singlecut Modern Eagle (2006 – 2007)
- Body – mahogany
- Top – flamed maple
- Neck – Brazilian rosewood, SC neck joint
- Neck profile – wide fat
- Scale length – 25″
- Fingerboard – Brazilian rosewood
- Fingerboard inlay – ripple abalone birds
- Headstock veneer – Brazilian rosewood
- Headstock inlay – ripple abalone Modern Eagle
- Truss rod cover text – none
- Tuners – PRS Phase II locking
- Bridge – PRS tremolo
- Pickups : Ralph Perucci (RP)
- Electronics – 3 way toggle, vol, push-pull tone for coil tap
- Hardware – hybrid
- Finish – nitrocellulose satin
สำหรับเจ้าตัวนี้ มันคือ PRS Modern Eagle ที่มาในร่าง Singlecut Tremolo ซึ่งเริ่มผลิตทีหลังทรง doublecut เนื่องจากคดีความที่ Gibson ฟ้องร้องว่า PRS ทรง Singlecut ละเมิดเครื่องหมายการค้าของ Gibson จนศาลสั่งระงับไม่ให้ PRS ผลิตกีตาร์ทรงดังกล่าว แต่ต่อมา PRS ต่อสู้คดีจนเป็นฝ่ายชนะในปลายปี 2004
แน่นอนว่าความแตกต่างจาก ME1 ก็คือรูปทรง SC Tremolo แต่ทรง SC Tremolo ความหนาโดยรวมของบอดี้จะไม่เท่าพวก original Singlecut และ Tremonti อะไรพวกนั้นนะครับ เพราะเจ้า SC ME นี้ตัวบางกว่าเกือบ 1 เซนติเมตร นอกจากทรงต่างจาก ME ชายเว้าคู่แล้ว เพื่อนๆลองสังเกตตรง neck joint นะครับ ว่าการเข้าคอก็ไม่เหมือน ME คือมันเป็น joint ของทรง SC ที่ลุงพอลเคลมว่าให้ความแข็งแรงมากและเล่นง่ายกว่ากีตาร์ทรงของยี่ห้ออื่นที่ทรงคล้ายๆกัน
สำหรับสเปคของ SC ME ก้คล้ายๆกับ ME ตัวปกตินะครับคอ BRW เชพหนา ปิคอัพ RP วัสดุอินเลย์อะไรต่อมิอะไรเหมือนกันหมด
NOS Singlecut Modern Eagle (2012)
- Body – mahogany
- Top – flamed maple
- Neck – Brazilian rosewood, SC neck joint
- Neck profile – wide fat
- Scale length – 25″
- Fingerboard – Brazilian rosewood
- Fingerboard inlay – ripple abalone birds
- Headstock veneer – Brazilian rosewood or ebony
- Headstock inlay – ripple abalone Modern Eagle
- Truss rod cover text – none
- Tuners – PRS Phase II locking, ebonized buttons
- Bridge – PRS tremolo
- Pickups : covered 57/08 or covered 59/09
- Electronics – 3 way toggle, vol, push-pull tone for coil tap
- Knobs : lampshade
- Hardware – nickel
- Finish – nitrocellulose
ME SC ยังมีล็อตที่เป็น New Old Stock (NOS) ซึ่งออกมาในปี 2012 ด้วยนะครับ สาเหตุที่ต้องกลายเป็นล็อตขายช้ารวมถึงจุดสังเกตความแตกต่างจากล็อตต้นฉบับก็ตามที่ผมได้เล่าไปข้างบนน่ะแหละ สำหรับ ME SC ล็อต NOS มีอยู่ทั้งหมด 40 ตัวเท่านั้นเองนะครับ
Modern Eagle II (2008 – 2009)
- Body : mahogany, McCarty thickness
- Top : maple
- Neck : dalbergia (rosewood)
- Neck profile : wide fat
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Indian rosewood
- Fingerboard inlay : J birds – paua heart center with abalone outline
- Headstock veneer : Indian rosewood
- Headstock inlay : paua heart Modern Eagle
- Truss rod cover text : none
- Tuners : PRS Phase II locking, gold buttons
- Bridge : PRS stoptail or tremolo
- Pickups : 57/08 with brushed covers
- Electronics – 3 way toggle, vol, push-pull tone for coil tap
- Hardware – hybrid
- Finish – high gloss nitrocellulose
- Accessories : paisley hard case
2009 PRS Modern Eagle II
PRS เดินหน้าสายการผลิต Modern Eagle ต่อเป็นรุ่นที่ 2 หลังจากรุ่นที่ 1 ซึ่งใช้คอ Brazilian rosewood ถูกควบคุมการส่งออกโดยไซเตส ทำให้ PRS ต้องปรับสเปคของรุ่นที่ 2 สิ่งที่เห็นชัดเจนอย่างแรกก็คือ จะไม่มีการใช้ไม้ Brazilian rosewood อีกต่อไป แต่จะเปลี่ยนเป็นไม้บางชนิดในสกุล (genus) dalbergia ซึ่งก็หมายถึงไม้โรสวูดนั่นแหละ แต่ไม่ระบุว่าเป็นชนิดไหน (ที่แน่ๆ ไม่ใช่ BRW) คอโปรไฟล์อ้วนหนา wide fat เหมือนเดิม สเปคไม้ Body ก็ยังคล้ายเดิมคือ mahogany อย่างหนาเท่ารุ่น McCarty แปะไม้ท็อป Maple แต่ดูครั้งนี้จะไม่ได้คัดเกรดลายไม้เหมือนรุ่นแรกแล้ว และไม่ได้ระบุว่าเป็น heartwood ไว้ในสเปคแต่อย่างใด ซึ่งผมได้ email สอบถามไปยัง PRS แล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงขอสัณนิษฐานไว้ก่อนว่าไม้ท็อปของ ME II อาจไม่ใช่ heartwood อย่าง ME1 นะครับ
ฟิงเกอร์บอร์ดโรสวูด หัวกีตาร์ก็แปะวีเนียร์โรสวูดด้วยเช่นกัน อินเลย์โลโก้ Modern Eagle ที่หัวกีตาร์มีการปรับรูปแบบใหม่ โดยเปลี่ยนจาก ripple abalone สีเรียบๆของรุ่นที่แล้ว มาเป็นเปลือกหอย paua heart ที่มีสีรุ้งสวยงาม พร้อมงานละเอียดเดินเส้นขอบตัวนกด้วยเปลือกหอย ripple abalone ดูสวยงามมีลูกเล่นมากขึ้น อินเลย์นกบนฟิงเกอร์บอร์ดก็เป็นสไตล์เดียวกัน ใช้วัสดุอย่างเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า J birds
นอกจากงานประดับกับไม้ที่มีการปรับเปลี่ยนแล้ว สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปจาก ME1 อย่างชัดเจนอีกอย่างหนึ่ง คือ ME II เคลือบไนโตรแบบเงา (high – gloss nitrocellulose) ซึ่งสาวกที่ชื่นชอบงานเคลือบไนโตรด้านๆ แบบรุ่นแรก ก็อาจผิดหวังกับลุคใหม่
ปิคอัพมีการอัพเดท คือ เปลี่ยนเป็นรุ่น 1957/2008 หรือ 57/08 ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในเวลานั้น ซึ่ง PRS ใช้ลวดทองแดงสเปคเดียวกันจากเครื่องจักรเครื่องเดียวกันที่ผลิตให้ยี่ห้อ Fender กับ Gibson ในยุค 50’s ซึ่งถือเป็นยุคทองของกีตาร์วินเทจดังๆ หลายรุ่น ปิคอัพ 57/08 ที่ติดตั้งมากับกีตาร์ ME II ล็อตแรกๆ ไม่มีการแกะตัวเลขชื่อรุ่นบนฝาปิคอัพ และเรียกชื่อปิคอัพว่าเป็นรุ่น ‘Modern Eagle’ ก่อนจะได้รับการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่าเป็นรุ่น 57/08 หลังจากที่ PRS เปิดตัวปิคอัพรุ่นนี้อย่างเป็นทางการ ในส่วนของระบบไฟฟ้าก็ยังเหมือนเดิมคือ 1 volume 1 Tone ปุ่มโทนตัดคอยล์ได้ ตัวปุ่มหมุน (knobs) ได้รับการปรับสเปคใหม่ให้ดูทันสมัยมากขึ้นโดยเปลี่ยนจาก Speed กลมๆ วินเทจๆ มาเป็นทรงโคมไฟหรือที่เรียกว่า Lampshade ในส่วนของลูกบิดยังเป็นแบบล็อกสาย Phase II เฟรทก็ยังเหมือนของรุ่นที่แล้วที่มีความสูงมากกว่าเฟรทไซส์มาตรฐานของ PRS ส่วนบริดจ์ก็เหมือนเดิม คือมี Option ให้เลือกระหว่างคันโยกกับ Stoptail
สำหรับโทนเสียงของ ME II ที่ขับเคลื่อนด้วยปิคอัพวินเทจจ๋าอย่าง 57/08 นั้นมีความกลมนวลนำ ย่านกลางที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ของปิคอัพรุ่นนี้ถูกเพิ่มเติมด้วยย่านเบสจากคอโรสวูดทั้งแท่ง จากที่ผมเคยใช้กีตาร์ PRS ที่ติดปิคอัพ 57/08 มาแล้วหลายตัวก็พอจะบอกได้ว่า ปิคอัพรุ่นนี้ แม้มากับกีตาร์คอมาฮอกกานีปกติ ก็ถือว่าค่อนข้างซาวด์วินเทจและป่องย่านกลาง ไม่เหมาะกับการเอาไปอัด gain อยู่แล้ว แต่พอเอามาใส่กีตาร์ ME II ซึ่งเป็นคอโรสวูดที่ให้โทนทึมๆ เสียงมันก็จะยิ่งดาร์ค ทึม ไปกันใหญ่ แต่นั่นก็คงเป็นความตั้งใจของ PRS ที่วางตัวกีตาร์ซีรีส์ ME ให้มีโทนเสียงวินเทจ กลมนวล ไม่แหลม ไม่แรง ไม่พุ่ง
Modern Eagle II 25th Anniversary (2009 – 2010)
- Body : mahogany, McCarty thickness
- Top : maple
- Neck : Indian rosewood
- Neck profile : Pattern
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : rosewood
- Fingerboard inlay : shadow birds, synthetic
- Fingerboard binding : white plastic
- Headstock veneer : Indian rosewood
- Headstock inlay : 25th Anniversary eagle, synthetic
- Truss rod cover text : ME II
- Tuners : PRS Phase II locking, ebony buttons
- Bridge : PRS stoptail or tremolo
- Pickups : 57/08 with gold covers
- Electronics – 3 way toggle, vol, push-pull tone for coil tap
- Hardware – hybrid or gold
- Finish – satin nitrocellulose
- Accessories : 25th Anniversary hard case
2009 PRS Modern Eagle II 25th Anniversary
ช่วงปลายปี 2009 PRS ประกาศเปิดตัวกีตาร์หลายรุ่นในเวอร์ชันฉลองครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้งแบรนด์ เช่น Custom 24 , SC 245, McCarty ซึ่งงานนี้ Modern Eagle II ก็ได้รับอานิสงส์ไปกับเขาด้วย สเปคพื้นฐาน พวกไม้และปิคอัพยังเหมือน ME II ปกติ แต่มาในแพคเกจ 25th Anniversary ที่ไปเน้นที่งานประดับซะเยอะ เริ่มจากอินเลย์บน headstock เป็นนกอินทรีย์ตัวใหญ่ๆ ที่ดูคล้ายนกอินทรีของ ME แต่กไม่เหมือนซะทีเดียว มีเลข 25 ตัวเล็กๆอยู่ทางขวา เลี่ยมด้วยวัสดุสังเคราะห์ อินเลย์นกบนฟิงเกอร์บอร์ดก็เปลี่ยนใหม่เป็น “นกมีเงา” หรือที่เรียกว่า shadow birds inlay ซึ่งตัวนกจะเป็นสีขาวครีมๆ มีเอฟเฟคท์เงาสีดำซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งถ้ากีตาร์ตัวไหนได้ไม้บอร์ดสีอ่อนก็จะสังเกตเงาดำนี้ได้ แต่ถ้าตัวไหนไม้บอร์ดสีเข้ม หรือมีการลงน้ำมันรักษาเนื้อไม้บ่อยๆ จนไม้มีสีเข้ม ก็จะแทบไม้เห็นเงาดำนี้เลย วัสดุที่ใช้ทำอินเลย์นกชนิดนี้เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่เรียกว่า ‘banded melon’
นอกจากอินเลย์เปลี่ยนแล้ว ก็ยังมีเส้นบายดิ้งสีขาวรอบฟิงเกอร์บอร์ด และ truss rod cover มีการฉลุคำว่า ‘ME II’ จากเดิมที่ไม่เคยมี ในส่วนของการเคลือบสำหรับรุ่น 25 ปียังเปลี่ยนจากไนโตรเงาวับ เป็นไนโตรด้าน และมาพร้อมกับเคสสีขาวตามมาตรฐานกีตาร์รุ่นฉลอง 25 ปี
Modern Eagle III 25th Anniversary (2010)
- Body : mahogany, McCarty thickness
- Top : maple
- Neck : dalbergia
- Neck profile : Wide Fat or Pattern
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : dalbergia
- Fingerboard inlay : shadow birds, synthetic
- Fingerboard binding : white plastic
- Headstock veneer : Indian rosewood
- Headstock inlay : 25th Anniversary eagle, synthetic
- Truss rod cover text : ME III
- Tuners : PRS Phase II locking, ebony buttons
- Bridge : PRS stoptail or tremolo
- Pickups : three PRS 57/08 Narrowfield
- Electronics – 5 way blade, 1 vol. 1 tone
- Hardware – gold
- Finish – satin nitrocellulose
- Accessories : 25th Anniversary hard case
กีตาร์ ME รุ่นฉลอง 25 ปียังมีตัวนี้อีกตัวนะครับ มันคือ Modern Eagle III ที่นอกจากจะเป็นสมาชิกลำดับที่ 3 ของตระกูล ME แล้ว เจ้านี่ยังมากับปิคอัพ 3 ตัว แปลกตากว่า ME รุ่นก่อนๆที่เคยมีมา โดยปิคอัพทั้งสามตำแหน่งเป็นรุ่น 57/08 Narrowfield (NF) ซึ่่งก็คือ 57/08 ที่ออกแบบใหม่ บีบหน้าให้แคบลงเพื่อโฟกัสการรับการสั่นของสายกีตาร์ให้แคบลงและได้โทนเสียงคล้ายปิคอัพ soapbar คือท้ังหวานและใส แต่ไม่จี่เนื่องจากโครงสร้างมันก็ยังเป็น humbucker ปิคอัพสามตัวนี้มากับชุดควบคุมเป็น blade switch 5 ทาง มี volume และ tone อย่างละปุ่ม ลองฟังเสียงหวานๆ สไตล์ soapbar ของปิคอัพ NF ที่มากับคอโรสวูดดูนะครับ หวาน เพราะ นุ่มนวลกำลังดี ไม่อ้วนจนบวมย่านกลาง
ในส่วนโครงสร้างมีการอัพเดทเล็กน้อย คือล็อตที่ผลิตช่วงปลายปี 2010 โปรไฟล์คอจะเปลี่ยนจาก Wide Fat เป็น Pattern ซึ่งมีความกว้างและหนาเท่าคอ WF นั่นแหละ แต่ปาดตรงไหล่คอให้บางลง ไม่เป็นทรง D เหมือนเก่า ทำให้เล่นง่ายขึ้นสำหรับคนมือเล็ก
ME III ตามสเปคระบุว่าเป็นไนโตรเคลือบด้าน แต่ผมเห็นรูปกีตาร์บางตัวก็ดูเหมือน high gloss nitro ก็มี ส่วนพวกงานประดับ อินเลย์วัสดุสังเคราะห์ต่างๆ ก็เหมือนตัว 25th ME II รวมทั้งเคสสีขาวฉลองครบรอบ 25 ปี ก็มีเหมือนกันนะครับ
Modern Eagle limited (2010)
- Body : ribbon mahogany
- Top : Private Stock grade flamed maple
- Neck : Madagascar rosewood
- Neck profile : wide fat
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Madagascar rosewood
- Fingerboard inlay : Modified Celtic
- Headstock veneer : Cocobolo
- Headstock inlay : Pual’s signature
- Truss rod cover text : none
- Tuners : PRS Phase II locking with gold buttons
- Bridge : PRS stoptail
- Pickups
- treble : 57/08 with brushed cover
- middle : 57/08 Narrowfield
- bass : 57/08 Narrowfield
- Electronics – 5 way blade, vol, push-pull tone for coil tap on treble humbucker
- Hardware – hybrid
- Finish – V12
- special features
- limited 100 guitars built
- Paul’s hand-signed on backplate of each guitar
Rory Hoffman มือกีตาร์ผู้พิการทางสายตา กับโซโล่คันทรีเทพๆ ด้วยกีตาร์ ME ltd.
ปี 2010 PRS เข็นกีตาร์ ME ออกมาหลายรุ่น แต่คงไม่มีรุ่นไหนจะแปลกไปกว่า Modern Eagle limited อีกแล้ว ด้วยไม้คอและบอร์ดที่ใช้ไม้ Madagascar rosewood บอดี้มาฮอกกานีมากับไม้ท็อปเมเปิลลายเฟลมเกรด Private Stock ซึ่งเป็นเกรดไม้สูงที่สุดของ PRS อินเลย์ modified Celtic ซึ่งเป็นอินเลย์คล้ายๆของกีตาร์ Private Stock บางรุ่น แต่ออกแบบใหม่ให้มีขนาดใหญ่ตรงเฟรท 12 และย่อส่วนเหลืออันเล็กๆ ประมาณ dot inlay ในตำแหน่งอื่นๆ วัสดุที่ใช้เป็นเปลือกหอยอบาโลนกับวัสดุสังเคราะห์ ที่ headstock เป็นลายเซ็น ไม่มีโลโก้ ME อย่างรุ่นอื่นๆ ทำให้คนที่ไม่รู้จักรุ่นนี้มาก่อนไม่มีทางรู้เลยว่านี่คือ Modern Eagle
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของ ME td. ที่เห็นได้ชัดนอกจากอินเลย์ คือ ชุดปิคอัพ 3 ตัวสไตล์ H-S-S ซึ่ง PRS เรียกฟอร์แมทกีตาร์ทรง Custom ที่มากับปิคอัพ configuration นี้ว่า Studio ปิคอัพสามตัวนี้ประกอบด้วย 57/08 ที่ตำแหน่ง treble (บริดจ์) ส่วนตัวกลางกับ bass เป็นรุ่น 57/08 Narrowfield โทนเสียงคล้ายปิคอัพ soapbar คือท้ังหวานและใส แต่ไม่จี่ ปิคอัพสามตัวนี้มากับ blade switch 5 ทาง มี volume และ tone อย่างละปุ่ม โดยปุ่ม tone ดึงตัดคอยล์สำหรับปิคอัพ 57/08 treble ได้
ME Ltd. มากับการเคลือบแบบ V12 กึ่งไนโตรกึ่งอะคริลิค บางแต่ใสดุจแก้ว กีตาร์รุ่นนี้ผลิตแค่ 100 ตัว ทุกตัวจะมีลายเซ็นจากมือลุงพอลบนฝา back plate (พร้อมฝาสำรองที่ไม่มีลายเซ็น) เคสคู่ตัวของรุ่นนี้เป็น paisley เหมือน ME ตัวอื่นๆที่ผลิตในช่วงเดียวกัน
Modern Eagle Quatro (2010 – 2013)
- Body : mahogany, McCarty thickness
- Top : Artist grade flamed maple
- Neck : Indian rosewood
- Neck profile : Pattern
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Indian rosewood
- Fingerboard inlay : J birds – paua heart center and MOP outline birds
- Headstock veneer : Indian rosewood
- Headstock inlay : paua heart center and MOP outline Eagle
- Truss rod cover text : Quatro
- Tuners
- 2010 – 2011 : PRS Phase II locking with ebony buttons
- 2011 – 2012 : PRS Phase III locking
- Bridge : PRS stoptail or tremolo
- Pickups : 53/10 with brushed covers
- Electronics – 3 way toggle, vol, push-pull tone for coil tap
- Hardware – hybrid
- Finish – V12
2011 PRS Modern Eagle Quatro












Structure, Aesthetics, and electronics
PRS Modern Eagle Quatro (ขอเรียกสั้นๆว่า MEQ) (quatro อ่านว่า “ควอโตร”) เป็นกีตาร์ในซีรีส์นกอินทรีทันสมัยลำดับที่ 4 ตามชื่อ Quatro ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกสที่แปลว่า “ลำดับที่ 4” MEQ เปิดตัวในปี 2010 โดยพื้นฐานก็ยังใช้โครงสร้างคล้ายๆกับ ME รุ่นอื่นๆ คือบอดี้มาฮอกกานีความหนารวมท็อป เท่ากับรุ่น McCarty ไม้เมเปิลท็อปของ MEQ มีการคัดเกรดเป็นระดับ Artist grade ที่สูงกว่า 10 top ไม้คอถ้าว่ากันตามสเปคเป็นไม้สกุล dalbergia ซึ่งลุงพอลได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซท์ musicradar.com ว่า ที่จริงมันก็คือ Indian rosewood นั่นเอง และก็ตามสูตรการทำกีตาร์คอโรสวูดของ PRS ที่จะมีการใช้ filler สีดำอุดร่องเสี้ยนไม้แล้วขัดกระดาษทรายเก็บงานละเอียดอีกที โปรไฟล์คอของ MEQ มีการอัพเดทจาก Wide Fat เป็น Pattern ซึ่งมีความหนาและกว้างเท่ากัน แตกต่างกันที่ช่วงไหล่ของเชพ Pattern ถูกเหลาให้เรียวลง ไม่ออกทรง D เต็มมืออย่าง Wide Fat ดังนั้นคนที่ขยาดกับคอ Wide Fat มา ผมขอบอกว่าคอ Pattern เล่นง่ายกว่ามากนะครับ แม้ตัวเลขความหนาจะเท่ากันก็ตาม
มองไล่ขึ้นไปบน headstock ของ MEQ เราจะสังเกตเห็นว่าไม้ที่นำมาทำ headstock veneer มีสีสันลวดลายม้วนๆ โค้งๆ สีพื้นออกแดงๆ ดูไม่เหมือนไม้โรสวูด นั่นเพราะมันเป็นไม้ cocobolo นั่นเอง อินเลย์นกอินทรีทันสมัยตัวใหญ่ก็มีการอัพเดทวัสดุเล็กน้อย คือถ้าดูเผินๆมันจะคล้ายๆของ ME II เนื่องจากใช้เปลือกหอยลายจัดๆ paua heart มาเลี่ยมในส่วนของตัวนกเหมือนกัน แต่ตรงวัสดุที่ใช้เดินเส้นขอบตัวนกเปลี่ยนจาก green abalone มาเป็นเปลือกหอยมุกหรือ mother of pearl (MOP) แทน มองไล่ลงมาเห็นป้าย truss rod cover มีคำว่า Quatro บ่งบอกชัดเจนดูไม่สับสนปนเปเหมือนรุ่น 1 กับรุ่น 2 เลื่อนสายตาผ่านนัทผสมผงโลหะสูตรเฉพาะของ PRS ลงมาเราจะเจอฟิงเกอร์บอร์ด Indian rosewood เกรดดีเสี้ยนไม้เรียบสีโทนดำเข้มๆ อินเลย์นกบนบอร์ดมีการอัพเดทใหม่ ใช้วัสดุเช่นเดียวกับอินเลย์บน headstock ดูสวยงาม นกแบบนี้เกรดสูงกว่านกมาตรฐานของพวก custom 24 นะครับ นอกจากอินเลย์สวยๆแล้ว MEQ ยังมีบายดิ้งสีขาวติดให้ตลอดขอบฟิงเกอร์บอร์ดเช่นเดียวกับพวกรุ่น 25 ปี ส่วนจำนวนเฟรทก็ 22 เป็นเฟรทไซส์ใหญ่ตามสเปคของรุ่น McCarty ซึ่งใหญ่กว่าของ Custom 24 เหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยน
มาถึงส่วนของ “ไมค์” ของกีตาร์รุ่นนี้กันบ้าง จากที่ PRS เปิดตัวปิคอัพธีมย้อนยุคที่ตั้งชื่อเป็นตัวเลขปี ค.ศ. 5 นั่น 5 นี่ 5 นู่น ตั้งแต่ปี 2008 สำหรับปี 2010 ก็มีการเปิดตัวปิคอัพ 1953/2010 หรือเรียกสั้นๆ 53/10 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากปิคอัพของกีตาร์ Telecaster ปี 1953 และใช้ลวดทองแดงชนิดเดียวกันตามปิคอัพเทเลของปีนั้น แต่พันรอบจำนวนน้อยกว่าปิคอัพรุ่น 57/08 นิดหน่อย จึงได้ปิคอัพโทนวินเทจที่เอาท์พุทต่ำที่สุดรุ่นหนึ่งของค่าย ลุงบอกว่ามันคล้ายกับปิคอัพ 57/08 ที่ถูกลดย่านแหลมของปิคอัพตัว treble ลงไปนิดหน่อย เพื่อให้ได้โทนเสียงที่นุ่มละมุนในทุกๆตำแหน่งสวิทช์ ปิคอัพรุ่นนี้ตัดคอยล์ได้ตามมาตรฐาน ME นะครับ ซึ่งก็ควบคุมด้วย McCarty electronics ปุ่ม knobs สไตล์ lampshade เหมือนที่ใช้ต้ังแต่ ME II เป็นต้นมา
สำหรับอะไหล่ ไล่จากลูกบิด MEQ ล็อต 2010 ยังเป็นลูกบิด Phase II ด้านหลังปิดเฟือง ใบลูกบิดเป็นสีดำ (ebony buttons) เสาทองเหลือง แต่ตั้งแต่ปี 2011 PRS ทยอยปรับสเปคลูกบิดใหม่เป็น Phase III โชว์กลไกเฟืองทองเหลือง ลูกบิดโลหะสีทอง ส่วนบริดจ์ก็เหมือนเดิม คือมีทั้งแบบ Stoptail และคันโยกให้เลือก สีก็เป็นแบบผสมนิเกิล – ทอง (hybrid hardware)
ในส่วนของงานเคลือบ MEQ ไม่เคลือบไนโตรแล้วนะครับ เป็น ME รุ่นเดียวที่เคลือบแบบ V12 ซึ่ง PRS ให้ข้อมูลว่าเป็นสูตรที่อยู่ระหว่างไนโตรบางๆ กับอะคริลิคที่ใสอย่างแก้ว ทำให้ได้สารเคลือบแบบใหม่ที่บางๆ คล้ายไนโตร แต่ก็ใส แข็ง แบบอะคริลิค ก็ดูสวยดี และที่สำคัญ V12 ไม่เป็นฝ้า แต่สำหรับสาวกรุ่นเก๋า การที่ MEQ ไม่เคลือบไนโตรก็ดูจะเป็นอะไรที่ขัดใจอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ยังไม่พูดถึงไม้คอที่ไม่ใช่บราซิเลียนอีก แต่มันก็ช่วยไม่ได้นะครับ เพราะตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา ตั้งแต่ CITES บรรจุให้ไม้ BRW อยู่ในภาคผนวก 1 ซึ่งมีการควบคุมการส่งออกอย่างเข้มงวดนั้น การจะเอาไม้ชนิดนี้มาทำกีตาร์ไม่จำกัดจำนวนอย่าง ME1 มันเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป แถมประชากรต้นไม้ชนิดนี้ก็ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง จึงไม่แปลกอะไรที่ตั้งแต่ปี 2008 (ME II) เป็นต้นมา เราจะเจอแต่ dalbergia หรือ Indian rosewood ซึ่งมี supply มากกว่า สามารถผลิตได้เยอะกว่า แถมส่งออกง่ายกว่า ไม่ต้องขออนุญาตให้วุ่นวายนั่นเอง
ความงามทั้งหมดที่ว่ามานี้ของ MEQ ถูกจัดวางมาในเคส paisley สวยหรู เป็นเคสแบบเดียวกับที่ใช้สำหรับกีตาร์ Private Stock ในยุคนั้น
Tone
อย่างที่ผมบอก คอกีตาร์ที่ทำจากไม้โรสวูดทั้งดุ้นช่วยเพิ่มย่านเบสให้ใหญ่กว่ามาฮอกกานี เพิ่มซัสเทนให้ยาวขึ้นอย่างผิดหูผิดตา แต่ในขณะเดียวกันมันก็แอบลดย่านแหลมลงอย่างรู้สึกได้ ซึ่งกรณีของ MEQ ก็ไม่มีข้อยกเว้น และยิ่งมากับปิคอัพวินเทจเอาท์พุทต่ำแสนต่ำอย่าง 53/10 ด้วย โทนที่ได้ก็จะทุ้มๆ กลมๆ ไม่พุ่ง ดาร์ค ไม่แรง และคงจะไม่เหมาะเท่าไหร่ถ้าจะเอามันไปอัด gain แรงๆ แต่จะโทษมันก็ไม่ได้นะครับ เพราะอย่างที่ผมบอกไปตั้งแต่ต้น กีตาร์ ME เขาออกแบบมาให้โทนกลม ทุ้ม นุ่มนวล เน้นฟังรายละเอียดเสียงจากไม้มากกว่าจะเอาไปร็อกหนักๆ
ME ตัวไหนน่าเก็บสุด และราคาขายต่อ ME รุ่นต่างๆ
แต่ถ้าเพื่อนๆอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ME1 original เป็น ME ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด เพราะมันเป็นรุ่นรวมความ “สุด” หลายอย่าง เริ่มตั้งแต่คอบราซิเลียนทั้งแท่งรวมทั้งบอร์ด บอดี้มาฮอกกานีคัดเกรด ไม้ท็อปเมเปิล heartwood เป็นส่วนแก่นไม้เนื้อแข็งกว่าปกติแถมคัดลายอย่างโหด อะไหล่ hybrid gold anodized สีทองติดทนลอกยากกว่าอะไหล่ทองเกรดปัจจุบัน และที่ขาดไม่ได้เลยคืองานเคลือบ satin nitrocellulose แบบด้าน ช่วยขับความงามของลายไม้ให้เด่นขึ้น ดูวินเทจมีราศีแต่ไม่มีปัญหารอยฝ้า ทั้งหมดนี้ทำให้ราคามือสองของ ME1 ในบ้านเราเริ่มต้นที่ราวๆ 175,000 บาท และอาจพุ่งไปถึงสองแสนต้นๆ ถ้าลายเด่น สีสวย แต่ถ้าตัวที่สีซีดแล้วราคาก็อาจตกไปอยู่ราวๆ 150,000 บาท ซึ่งสำหรับเราๆ ท่านๆ แม้เป็นราคาสภาพสีซีด ME1 ก็ไม่ใช่ของถูกอยู่ดี สำหรับตัว NOS ราคาก็ใช่ย่อย ก็ใกล้เคียงกับ ME1 original
ส่วนความแพงรองลงมาเป็นกลุ่มของ Singlecut Modern Eagle ทั้งออริจินอลที่ราคาเริ่มต้นที่แสนเจ็ดกว่าๆ เพราะสเปคและความสวยที่ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่า ME1 และ NOS ที่ราคาเริ่มต้นประมาณ 160,000 บาท แม้สเปคถ้าว่ากันตามสเปคแล้ว SC ME นั้นต่างจาก ME1 ที่ทรง อย่างอื่นเหมือนกัน แต่อาจจะด้วยทรง doublecut ของ ME1 เป็นที่นิยมมากกว่า ราคาเลยสูงกว่าตัว SC ก็เป็นได้ และอาจพูดได้ว่า ME กลุ่มที่ราคาสูงที่สุด (ไม่นับตัว Private Stock) คือตัวที่ผลิตในช่วงปี 2004 – 2007 นะครับ
ถัดลงมาผมคิดว่าเป็น ME II ที่ราคามือสองของต่างประเทศไม่รวมค่าส่งและภาษีนำเข้าไทย อยู่ที่ราวๆ 145,000 บาท ซึ่งก็มีหลายเหตุผลที่ทำให้ ME II มีราคาขายต่อที่ต่ำกว่า ME1 หลายหมื่น อย่างแรกสุดเลยก็คือ ไม้คอของ ME II ไม่ใช่บราซิเลียน ไม้ท็อปแม้จะมีคำโปรยจากดีลเลอร์เจ้าใหญ่ๆว่าเป็น ‘Modern Eagle grade’ แต่หลายตัวที่ผมเห็นบอกได้เลยว่าค้านสายตามาก ตัวที่ลายถลอกๆ มีเยอะไปหมด แต่ก็ยังดีที่มีงานเคลือบไนโตรมาช่วยไว้ แม้จะไม่ด้านอย่างรุ่นพี่ตัวต้นฉบับ ก็ยังดูหรูกว่าเคลือบ poly ของ Custom 24 ในยุคเดียวกัน
ถ้าสามตัวข้างต้นยังแพงไป ลำดับต่อไปผมคิดว่าเป็น ME III 25th ซึ่งราคาก็ย่อมเยา (?) ลงมาอีกหน่อย อย่างตัวสี charcoal ลายสวยๆในเว็บ reverb.com ในรูปนี้สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 130,000 บาท ถามว่าทำไมรุ่นนี้ถูกกว่าตัวอื่นเยอะ ผมคิดว่าคงเป็นเพราะลุคที่ดูแปลกตาของปิคอัพ 57/08 Narrowfield 3 ตัว แถมวัสดุนก shadow birds สไตล์ 25 ปีที่เป็นวัสดุสังเคราะห์ก็อาจทำให้มันทำราคายากสักหน่อย แม้ลายไม้และงานเคลือบ satin nitro จะไม่ขี้เหร่ก็ตาม
ลำดับต่อไป อ้างอิงจากราคาต่ำสุดที่ผมเสิร์ชเจอประมาณ 120,000 บาท แต่ราคาแกว่งแรงไปถึงสองแสนบาท มันคือ Modern Eagle limited นั่นเอง สาเหตุที่ราคา swing มากขนาดนี้ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งก็คงเพราะกีตาร์รุ่นนี้มันมีความน่าสนใจที่รุ่นอื่นๆไม่มี อย่างอินเลย์ Modified Celtic ที่ให้ความรู้สึกเฉียดใกล้ Private Stock เข้าไปอีกนิดนึง ไม้ท็อปเกรดสูงสุด และไม้คอ Madagascar rosewood ซึ่งไม่มีใน ME หรือแม้แต่ PRS คอโรสวูดตัวอื่นๆก็ไม่ค่อยเจอ แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความที่มันเป็น ME ที่ดูไม่เหมือน ME ไม่มีโลโก้สัญลักษณ์นกอินทรีบนหัว และยังมาใน format H-S-S ก็เลยดูแปลกตา ไม่ใช่อะไรที่เป็น “พิมพ์นิยม” สร้างความสับสนกับตลาด จะตีราคาขายต่อก็ยาก
ตัวที่ผมค้นเจอราคาต่ำสุดคือ Quatro ตัวสี black gold burst งามๆในรูป สนนราคาที่อเมริกาเพียง 90,000 บาทเท่านั้น (ตัวนี้ขายแล้ว) ราคา MEQ มือสองดูจะแกว่งไม่แรง อย่างมากก็ราวๆ 120,000 บาท จะแพงกว่านี้คงไม่เหมาะ ในเมื่อราคามือหนึ่งที่อเมริกาอยู่ที่ประมาณ 140,000 บาท
ถามว่าทำไมราคา MEQ จึงดูไม่แรงเมื่อเทียบกับ ME รุ่นอื่นๆ? ผมคิดว่าคงเพราะมันมีความโมเดิร์น ดูไม่เก่า และดูใกล้เคียงกับรุ่น McCarty 58 มากเกินจนอาจทำให้ราศีความเป็น ME ดูจืดจางลงไป พูดตรงๆ ถ้าเอาตารางสเปคมาเทียบกันระหว่าง McCarty 58 กับ MEQ เราจะเห็นว่ามันก็เหมือนเอา McCarty 58 มาใส่คอโรสวูด แปะโลโก้บนหัว แล้วก็เปลี่ยนปิคอัพนั่นเอง แต่อย่างไรก็ดี MEQ เป็นกีตาร์ PRS ที่สวยมากๆ รุ่นหนึ่งเลยนะครับ ถ้ามองมุมมองแบบคนทั่วไปที่ไม่รู้ความเป็นมาของซีรีส์ ME ก็จะชอบหน้าตาของมันได้ไม่ยาก แต่สำหรับแฟนๆ PRS รุ่นเก๋าส่วนใหญ่ก็จะมองหา ME1 มากกว่า
PRS Modern Eagle Quatro
PRS McCarty 58


Private Stock Modern Eagle V Limited Edition (2019)
- Body : ribbon mahogany
- Top : Private Stock grade flamed maple
- Neck : flamed maple
- Neck profile : Pattern
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Brazilian rosewood
- Fingerboard inlay : Old school birds inlaid with solid ripple abalone
- Headstock veneer : rosewood
- Headstock inlay : Private Stock Eagle inlaid with ripple abalone
- Truss rod cover text : none
- Tuners : PRS tweaked Phase III locking with Brazilian rosewood buttons
- Bridge : PRS Gen III Trem with locking saddles
- Pickups
- treble : TCI
- middle : Narrow Singlecoil
- bass : TCI
- Electronics
- 5 way blade for primary PU position selection
- 2 mini toggle switches located next to blade switch for neck and bridge humbucker coil splitting
- 1 mini toggle next to volume for potensiometer selection either 250k or 500k
- 1 volume
- 1 tone – pull out to activate both bass and treble pickups
- Hardware – hybrid
- Finish – Hi gloss nitro
- special features
- limited 120 guitars built
- Sophisticated electronics
- special PS colors










ปลายปี 2019 กีตาร์ ME series กลับมาใหม่ในรุ่นที่ 5 หลังจากที่หายไปกว่า 7 ปี กลับมาคราวนี้ในชื่อ Modern Eagle V หรือ MEV (V คือเลข 5 เขียนแบบโรมัน) และผลิตจำนวนจำกัดในเกรด Private Stock
MEV เป็น ME ที่ไม่น่าเชื่อว่ามันคือ ME เนื่องจากมันไม่ใช้ไม้โรสวูดมาทำคอ แต่กลายเป็นไม้เมเปิลลายเฟลมที่ทำสีแมทช์กับท็อป แต่ยังดีที่ฟิงเกอร์บอร์ดยังเป็นไม้ Brazilian rosewood ฝังอินเลย์นกที่ทำจากเปลือกหอย ripple abalone แบบ solid คือตัดออกมาจากเปลือกหอยทั้งชิ้น ไม่ใช่วัสดุ Abalam ที่เป็นเปลือกหอยเฉือนบางๆ แล้วผ่านกรรมวิธีอัดกาวเรซิ่นเพื่อเซฟต้นทุน ที่หัว MEV ไม่มีโลโก้ ME แต่ถูกแทนที่ด้วยโลโก้ของแผนก Private Stock แทน




ส่วนบอดี้ก็ตามสูตร คือมาฮอกกานีลายริบบิ้นชิ้นเดียวไร้รอยต่อ ไม้ท็อปลายเฟลมเกรด PS สวยจัดๆ
แต่ไฮไลท์จริงๆของ MEV คือระบบไฟฟ้าที่ซับซ้อน เริ่มจากปิคอัพ 3 ตัว ประกอบด้วยฮัมบัคเกอร์หน้าแคบรุ่น TCI (Tuned Capacitance and Inductance) ที่ตำแหน่ง bass และ treble ซึงเป็น PU ที่มากกับกีตาร์ Paul’s Guitar รุ่นสอง ส่วนปิคอัพตัวกลางเป็น Narrow Singlecoil เป็นซิงเกิลคอยล์ที่ออกแบบขึ้นใหม่เพื่อใส่ใน MEV โดยเฉพาะ มีหน้าแคบกว่า single coil ทั่วไป และถูกติดตั้งค่อนไปทาง bass humbucker แทนที่จะอยู่ตรงกลาง เพื่อให้เสียงที่ได้มีความนุ่มนวลมากขึ้น control knobs ก็มี volume + tone knob อย่างละปุ่ม
สวิทช์ตัวหลักที่ไว้เลือกปิคอัพเป็น blade 5 ทาง มี toggle ตัวเล็กสองตัว ติดตั้งถัดจาก blade switch ทำหน้าที่ตัดคอยล์ humbucker ทั้งสองตัวโดยไม่มีการเสียระดับวอลุ่ม เทคโนโลยีแบบเดียวกับ Paul’s Guitar และ 408 มีสวิทช์ตัวเล็กอีกตัวติดตั้งอยู่ข้าง volume knob ไว้เลือกค่า pot ระหว่าง 250k หรือ 500k ถ้าเลือก 250 ก็จะได้โทนนวลๆ แต่ถ้า 500 ก็จะใสชัดกว่า
Tone knob ของ MEV สามารถดึงขึ้นได้ แต่ไม่ได้เป็นการดึงเพื่อตัดคอยล์เพราะเรามี mini toggle 2 อันทำหน้าที่ตัดคอยล์อยู่แล้ว แต่เจ้า push-pull Tone นี้มีไว้เพื่อเปิดใช้งานปิคอัพตัว bass และ treble พร้อมกัน เบ็ดเสร็จ MEV สามารถผสมเสียงปจากการเลือกปิคอัพได้ 17 เสียง แต่เนื่องจากมันยังเลือกค่า volume pot ได้ 2 ค่า ดังนั้นเมื่อเอา 17 เสียงคูณด้วยค่า pot 2 ออพชัน ก็จะได้ 17 x 2 = 34 เสียง!!! (ต้องขอบคุณ PRS ที่ไม่ติดตั้งระบบ piezo pickups มาด้วย ไม่งั้นคงกลายเป็น 68 เสียง…)


สำหรับอะไหล่บนตัว MEV นั้นก็พิเศษ ลูกบิดล็อกสายใช้ Phase 3 locking แต่เป็นเวอร์ชันโมดิฟายแบบเดียวกับรุ่น McCarty 594 (2016 -2019) ใบลูกบิดทำจากไม้ Brazilian rosewood สวยงามมีดีเทล บริดจ์เป็นคันโยกรุ่นล่าสุด Gen III Tremolo ซึ่งแซดเดิลล็อกปุ่มปลายสายเอาไว้
MEV แม้จะเป็นกีตาร์ที่ทั้งสวยและเสียงดี มีหลายเสียง เป็นที่ฮือฮาของแฟนๆ PRS แต่อีกมุมหนึ่งก็อดคิดไม่ได้ว่ามันดูไม่เป็น ME ที่เรารู้จักตั้งแต่ปี 2004 เลยแม้แต่น้อย สำหรับผมเองที่เป็นเจ้าของ MEQ อยู่แล้วก็มอง MEV ว่าเป็น PS รุ่นหนึ่งซะมากกว่า
อย่างไรก็ดี ถ้ามองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของ ME ที่สร้างขึ้นภายใต้คอนเซพท์ของการสร้างซาวด์ใหม่ๆ มีความทันสมัย ถ้าเช่นนั้นแล้ว การใช้ไม้และระบบไฟฟ้าของ MEV นี้ คือ “ซาวด์ใหม่ของปี 2019” ที่ PRS ต้องการนำเสนอ การจะรัก MEV ได้นั้น เราต้องวางทุกอย่างที่เคยรู้และรักเกี่ยวกับ ME รุ่นที่ผ่านมาทุกรุ่น ให้หมด แล้วเรียนรู้ความ modern ของปี 2019 ใหม่หมด
แต่ไม่ว่าจะชอบมันอย่างไร การที่มันผลิตเป็นเกรด Private Stock จำนวนแค่ 120 ตัวกับราคาเริ่มต้น 289,000 บาท นั้น การจะได้มามันก็ไม่ง่ายแน่นอน
Experience 2020 PRS Modern Eagle V


ขอขอบคุณร้าน Music Collection เอื้อเฟื้อกีตาร์สำหรับทดสอบครับ
- Body : Mahogany
- Top : 10 top flamed maple
- Neck : flamed mahogany
- Neck profile : Pattern
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Honduran rosewood
- Fingerboard inlay : Old school birds inlaid with solid ripple abalone
- Headstock veneer : rosewood
- Headstock inlay : Small Eagle inlaid with ripple abalone
- Truss rod cover text : Experience PRS 2020
- Tuners : PRS tweaked Phase III locking with faux bone buttons
- Bridge : PRS Gen III Trem with locking saddles
- Pickups
- treble : TCI
- middle : Narrow Singlecoil
- bass : TCI
- Electronics
- 5 way blade for primary PU position selection
- 2 mini toggle switches located next to blade switch for neck and bridge humbucker coil splitting
- 1 mini toggle next to volume for potensiometer selection either 250k or 500k
- 1 volume
- 1 tone – pull out to activate both bass and treble pickups
- Hardware – hybrid
- Finish – Hi gloss
- special features
- limited 200 guitars built
- black paisley hardshell case
- ราคาของตัวแทนจำหน่ายในไทย 195,000 บาท
มันคือ MEV เวอร์ชั่นลดสเปคลงมาในเกรด core จากเดิมที่เปิดตัวในเวอร์ชั่น Private Stock สำหรับ core MEV นี้ทาง PRS แพลนไว้ว่าจะเปิดตัวในงาน Experience PRS ปี 2020 ที่จะจัดขึ้นที่โรงงาน แต่ต้องยกเลิกงานไปเพราะโดนพิษ COVID-19
งาน Experience PRS เป็นยังไง มีกีตาร์เด็ดๆ ที่ร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในงานนี้บ้าง คลิกอ่านที่นี่ครับ
EXP MEV ปรับสเปคจาก PS ลงมาเป็นอะไรที่ผมว่าคล้ายๆ Wood Library บอดี้ยังเป็นมาฮอกกานีแต่ไม่ได้ใช้ไม้เลื่อยลายตรงแบบ PS ไม้ท็อปลดจากลายเฟลมโหดๆของ PS มาเป็น 10 top ที่ผมสังเกตว่าโรงงานดูจะตั้งใจคัดลาย เพราะดู EXP MEV หลายๆตัวลายเฟลมสวยไม่ค้านสายตาเหมือน core 10 top หลายๆตัวที่ผลิตในช่วงปีหลังๆมานี้
จุดที่พิเศษที่สุดของมันผมว่าเป็นไม้คอ เพราะมันใช้ไม้มาฮอกกานีลายเฟลมมาทำคอ ตัวลายมีลักษณะเป็นคลื่นกลมๆ ดูลักษณะไม่เหมือนลายเฟลมของไม้เมเปิล ไม้มาฮอกกานีแบบนี้หาได้จากบางประเทศในแถบอเมริกาใต้ และหายากกว่าไม้เมเปิลลายเฟลมมากนัก ปกติเราจะมีโอกาสครอบครองไม้ชนิดนี้ใน PRS ระดับ Wood Library เท่านั้น ถ้าขยับไป PS ลายไม้จะยิ่งชัดแทบไม่ต่างจากเมเปิลลายเฟลม
ความแตกต่างจาก PS MEV ในจุดอื่นๆ ก็ยังมีโลโก้ small eagle ฝังไว้บนหัวกีตาร์เพื่อบ่งบอกว่านี่คือกีตาร์ที่สร้างมาเพื่องาน Experience PRS ฝา truss rod cover แกะโลโก้งาน Experience 2020 ใบลูกบิดวัสดุกระดูกเทียม


ในส่วนของระบบไฟฟ้าก็เป็นระบบ 34 เสียงเหมือนเวอร์ชัน PS ทุกประการ ผมลองของจริงแล้วก็ต้องบอกว่า มันสวยมาก มันดูพิเศษ เสียงของมันค่อนไปทางโมเดิร์นที่มีความกระชับ คลีนกลมหวานไม่บาดหู ชัด ใส ไม่ว่าจะเป็น hum หรือ single มวลเสียงมันมาเต็มเสมอ การตัดคอยล์ให้ความเด้ง ป๊อง ในขณะที่เสียงแตกจาก hum ฟังออกว่าเอาท์พุตกลางๆ ไม่แรงมาก มีความกระชับเก็บตัวดี ไม่บวมบานฟุ้งจนเสียงแตกฟังดูเละแบบที่กีตาร์เอาท์พุตต่ำทั่วไปมักเป็นกัน มันเป็นกีตาร์ที่เล่นได้กว้าง เป็นกีตาร์แนววาไรตี้ตัวจริงแบบไม่ต้องสงสัย
EXP MEV ผลิตจำกัด 200 ตัว ร้าน Music Collection ตัวแทนจำหน่ายในไทย ได้โค้วต้าจำหน่ายมา 3 ตัว ราคา 195,000 บาท
ส่งท้าย
สรุปว่าเรามีกีตาร์ในซีรีส์ ME อย่างเป็นทางการนับจากปี 2004 – 2019 จำนวน 5 รุ่น (ถ้าไม่นับพวก special edition ยิบย่อยรวมถึง ME ล็อตที่สั่งทำขึ้นใหม่โดยดีลเลอร์) แต่ไม่ว่าสเปคของกีตาร์ PRS ซีรีส์นี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือมันเป็นกีตาร์เกรดสูงของค่ายนกและเป็นซีรีส์ที่ชื่อชั้นเป็นที่กล่าวขาย ดูขลังดูมีบารมีกว่ารุ่น mass production ทั่วไป จึงไม่แปลกที่จะมีคนอยากมี ME ไว้สักตัว
ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับกีตาร์ซีรีส์ Modern Eagle ของ PRS ก็จะมีประมาณนี้นะครับ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ บ้าง ไม่ว่าจะอ่านเพื่อเป็นความรู้หรืออ่านเพื่อเป็นความหลอนก็ตาม ฮ่าๆๆ ขอบคุณที่ติดตามครับ
****************************************