PRS – Bird inlay part 3 อินเลย์นกทำจากอะไรบ้าง

 จากตอนที่ 2 เราได้เห็นว่าดีไซน์ของอินเลย์นกที่ผลิตในแต่ละช่วงปีและแต่ละโมเดลนั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร ในตอนที่ 3 นี้ ผมขอลงรายละเอียดเกี่ยวกับวัสดุทำอินเลย์ของ PRS เอาเฉพาะวัสดุที่นำมาใช้กับกีตาร์รุ่นที่ทำขายปกติที่เรามักจะเจอเวลาหาซื้อ ไม่เน้นพวกวัสดุแปลกๆที่มีใน Private Stock หรือรุ่นพิเศษต่างๆ นะครับ

ผมขอเรียงตามเกรดของวัสดุ ไล่จากวัสดุที่มากับกีตาร์รุ่นราคาต่ำสุดก่อนครับ

พลาสติก

พลาสติก เป็นวัสดุเกรดเริ่มต้นที่ PRS นำมาใช้ทำอินเลย์นก เริ่มจาก SE  S2 จนถึง CE (เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำกว่า Core) มีสีครีมๆ มุกๆ ดูเผินๆคล้ายเปลือกหอยมุกหรือ mother of pearl (MOP) แต่ไม่มีความเงาแวววาว มองดูไม่มีมิติอย่างเปลือกหอยมุกแท้

 

วัสดุสังเคราะห์/คอมโพสิต

(1) Banded Melon

เป็นวัสดุที่มากับ Shadow birds ของ PRS รุ่นฉลอง 25 ปี banded melon เป็นวัสดุที่มาจาก reconstituted stone หรือ engineered stone ซึ่งหมายถึงหินบดละเอียดที่ถูกนำมาขึ้นรูปใหม่โดยมีตัวประสาน เช่น กาวเรซิ่นหรือซีเมนต์ ทำหน้าที่ยึดผงหินให้สามารถขึ้นรูปทรงใหม่ที่ต้องการ ผลิตภัณฑ์ที่ได้นั้นสามารถสร้างสีสันต่างๆ ได้มากมาย (ลองนึกถึงกระเบื้องสีๆ ที่ไว้ตกแต่งบ้าน) มีความแข็งเทียบเท่าหรือมากกว่าหินจากธรรมชาติ แต่ไม่เหมาะกับการใช้งานกลางแจ้งหรืองานที่มีความร้อนสูง เนื้องจากจะส่งผลเสียต่อคุณสมบัติทางเคมีของเรซิ่น

นอกจากงานอินเลย์แล้ว วัสดุ reconstituted stone ยังนิยมนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ที่ต้องการฟีลของหินอ่อนอย่างที่เราคุ้นเคยกัน

https://www.architonic.com/en/product/selected-by-materials-council-recycled-glass-reconstituted-stone/1184358#&gid=1&pid=1
http://www.finneyknives.com/reconstituted-stone-gemstone-composites

อินเลย์จาก reconstituted stone ครับ สมัยนี้เทคโนโลยีเริ่มทั่วถึง คนอื่นก็ทำงานอินเลย์สวยๆได้นะ อินเลย์ข้างล่างนี่อุคุเลเล่นะครับ

http://www.rescuepearl.com/

(2) Corian

เป็นวัสดุที่พบได้ในอินเลย์นก Ivory/brown birds, Dirt birds ของ Custom 24 ช่วงปี 2011 – 2012  Corian จัดเป็นวัสดุประเภทหนึ่งที่เรียกว่าหินสังเคราะห์ หรือ solid surface โดยเว็บไซต์ sw-siamwoodland.com ได้นิยามเจ้าหินสังเคราะห์นี้ว่า “เป็นหินประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนหินธรรมชาติ แต่ไม่มีส่วนผสมจากหินธรรมชาติ โดยมีการเพิ่มคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ ให้สามารถนำมาใช้งานได้สะดวกกว่า ซึ่งหินสังเคราะห์จะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ แร่ธรรมชาติ และอะคริลิคเรซิ่น” ข้อดีของวัสดุสังเคราะห์พวกนี้ก็คือเราสามารถเนรมิตสีสันและรูปแบบต่างๆของอินเลย์ได้หลากหลายอย่างง่ายดายกว่าวัสดุธรรมชาติซึ่งอาจมีปัญหาเรื่อง supply, quality, cost และอื่นๆ ที่จริงวัสดุประเภท solid surface ไม่ได้มีแต่ชื่อ Corian เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายชื่อตามแต่สูตรใครผลิตและตั้งชื่อ ส่วน Corian เป็นชื่อทางการค้าที่บริษัทเคมีชื่อดัง Dupont ตั้งขึ้น

สาเหตุที่ช่วงสองปีนั้น (และปีก่อนหน้า) PRS มีการนำเอาวัสดุสังเคราะห์มาใช้ทำอินเลย์ คุณ Shawn@PRS ซึ่งเป็นพนักงานของ PRS ให้ข้อมูลว่า ที่อินเลย์นกของรุ่น Custom 24 ในช่วงนั้นทำจากวัสดุสังเคราะห์ ก็เนื่องจากช่วงนั้นกรมประมงและสัตว์ป่าของอเมริกา (US Fish and Wildlife) มีข้อกำหนดให้กีตาร์ที่มีส่วนประกอบจากเปลือกหอยแท้ที่มีการนำเข้า (เช่น ส่งกลับมาซ่อมที่โรงงาน) และส่งออกประเทศ จะต้องมีเอกสารชี้แจงรายละเอียดมาพร้อมกีตาร์ทุกตัว ข้อมูลที่ว่ามาจากกระทู้นี้ครับ

https://forums.prsguitars.com/threads/inlay-material.1005/

ถ้าสถานการณ์ของ PRS ในช่วงนั้นเป็นไปตามที่คุณ Shawn บอก การที่จะเสียเวลาจัดการเรื่องเอกสารกับกีตาร์โมเดลที่ผลิตจำนวนมากที่สุดอย่างรุ่น Custom 24 ก็จะทำให้เพิ่มต้นทุน เสียเวลา เกิดความยุ่งยากต่อการดำเนินธุรกิจจนอาจต้องเพิ่มราคา หรือส่งไปขายได้ช้าลง ฯลฯ จนท้ายที่สุดบริษัทก็ต้องปรับตัวด้วยการเลี่ยงไปใช้อินเลย์วัสดุสังเคราะห์ดังกล่าวละมั้งครับ

วัสดุ Corian นี้ ในวงการกีตาร์นอกจากใช้ทำอินเลย์แล้ว ที่ผมเห็นมาก็มีนัทของกิบสันช่วงปี 2008 ที่ใช้วัสดุนี้ แต่ที่นิยมกันอย่างแพร่หลายคงเป็นวงการก่อสร้าง ตกแต่งอาคารอะไรพวกนี้มากกว่า โดยมักใช้ทำพื้นโต๊ะเคาเตอร์ ซิงค์ล้างจาน และงานประดับ ป้ายต่างๆ ส่วนรูปข้างล่างนี้เป็น solid surface ในรูปซิงค์ล้างจาน และตัวอย่างงานอินเลย์บนป้ายหินอ่อนเลี่ยมด้วย Corian

https://en.wikipedia.org/wiki/Solid_surface#/media/File:Solid_Surface_Top_Seamless_Integral_Kitchen_Sink.JPG
https://www.cool-signs.com/photo-gallery/

(3) Ivoroid

Ivoroid คือวัสดุที่สังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่ PRS ใช้ทำอินเลย์ที่ให้สีคล้ายงาช้างตามชื่อ เราจะพบวัสดุนี้ได้ในอินเลย์ Brushstroke birds ซึ่งจากการสอบถามไปยัง PRS ก็ได้คำตอบตามที่ผมคิดไว้จริงๆ ว่า Brushstroke birds ทำจากวัสดุสังเคราะห์

http://www.prsguitars.com/index.php/electrics/core/pauls_guitar_2018

Mother of Pearl (MOP)

MOP หรือเปลือกหอยมุก มีสีออกโทนขาว(ขาวแบบขาวมุก ซึ่งมีความเงาวาว) เค้าใช้เปลือกด้านในมาทำอินเลย์นะครับ อินเลย์นกที่ทำจาก MOP จะพบในกีตาร์รุ่นค่อนข้างเก่า โดยเฉพาะที่ยังเป็นนก Old school ถ้าเป็นรุ่นใหม่ๆ ที่ผมเห็นก็คือพวก Core 30th Anniversary (ถูกดาวน์เกรดจากนกอบาโบนเวอร์ชั่นมาตรฐาน ผมคิดว่าอาจเป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้นกสไตล์ birds in flight หรือไม่ก็เป็นการตลาดที่กระตุ้นให้ลูกค้าที่อยากได้ออพชันจัดเต็มนก birds in flight ที่เป็นอบาโลนด้วย ต้องอัพงบประมาณไปจัด Private Stock 30th Anniversary)

 
 
 
ในการจะนำเปลือกหอยมาเลี่ยมอินเลย์เป็นรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่าไร้ข้อจำกัดจนแทบจะเหมือนกับการวาดภาพลงไปบนไม้เลยนั้น เราไม่สามารถจะตัดเปลือกหอยทีละชิ้นๆ แล้วมานั่งเลือกว่าชิ้นไหนสามารถแปะลงไปบนชิ้นงานได้ เนื่องจากการใช้กรรมวิธีโบราณแบบนั้นมีข้อจำกัดมากมาย เช่น ขนาด มิติ โทนสี ความหนา ปริมาณที่ supplier สามารถจัดส่งได้ รวมทั้งความต้องการกีตาร์พรีเมี่ยมพวกนี้ท่ีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้น อินเลย์เปลือกหอยที่อุตสาหกรรมผลิตกีตาร์ใช้ในปัจจุบัน จึงมาจาก “เปลือกหอยลามิเนท” เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเกิดจากการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ตัดเปลือกหอยให้เป็นแผ่นบางเฉียบแล้วเอามาเรียงต่อกัน จากนั้นก็วางซ้อนกันหลายๆชั้น จนได้ความหนาที่ต้องการ โดยใช้กาวเรซิ่น อีพ็อกซี่ หรือสารเคมีอื่นๆเป็นตัวประสาน ขึ้นอยู่กับสูตรเฉพาะของ supplier แต่ละเจ้า จะว่าไปแล้วลักษณะโครงสร้างแบบนี้ก็คล้ายๆกับกีตาร์โปร่งที่เป็นไม้ลามิเนทที่เพื่อนๆคงคุ้นเคยกันดีนั่นแหละครับ หลักการก็คือซ้อนกันเป็นชั้นๆโดยมีตัวประสานให้วัสดุทุกชั้นติดกันเข้าไว้
 
แผ่นเปลือกหอยลามิเนทที่ว่า หน้าตาเป็นแบบนี้ครับ โดยจะมีหลากหลายขนาด หลายความหนา และหลายราคาให้เลือกตามความเหมาะสมของการใช้งาน ในรูปตัวอย่างนี้เป็นแผ่น mother of pearl จากหอยมุกน้ำจืดครับ
 
 
 
 
 เมื่อผ่านกระบวนการ ออกแบบ ตัด ติด ต่างๆนาๆ ก็จะออกมาเป็นผลงานสวยๆ แบบนี้ครับ
 
 

แต่ก็ยังมีวัสดุเปลือกหอยที่เจาะจากเปลือกหอยโดยไม่แปรรูปเป็นแผ่นบางๆ แปะทับกันอย่างลามิเนท (MOP blank) ขายอยู่นะครับ ส่วนจะเลือกใช้แบบลามิเนทหรือแบบแผ่น solid นั้น ขึ้นอยุ่กับความเหมาะสมของงานที่จะนำไปใช้

 
 
Abalone และ Paua
เปลือกอบาโลน ซึ่งบ้านเรารู้จักกันดีในนาม “หอยเป๋าฮื้อ” ที่เค้าเอามากินกันนั่นแหละครับ โดยธรรมชาติเปลือกหอยเป๋าฮื้อมีหลายสายพันธุ์ หลากเฉดสี ทั้งเขียว ม่วง ชมพู ฯลฯ นิยมเอามาทำเครื่องประดับและตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ (ผมเคยเห็นโต๊ะหมู่บูชาที่ประดับด้วยอบาโลนด้วยนะ) จัดเป็นวัสดุเกรดมาตรฐานของ Core line ตั้งแต่แรกเริ่ม และหายไปในช่วง 2010 – 2012 จนในปี 2013 จึงนำ abalone กลับมาใช้ใหม่จนถึงปัจจุบัน (2018)
 
สำหรับ paua เป็นหอยอบาโลนอีกชนิดหนึ่งที่พบได้แถบประเทศนิวซีแลนด์ ให้สีสันโทนรุ้งคล้ายอบาโลน แต่มีโทนสีเข้ม ชัด เด่นสะดุดตา ส่วนใหญ่มักมากับโทนสีเขียว paua หายากกว่า ราคาแพงกว่าอบาโลนเกรดปกติ อินเลย์ของค่าย PRS ที่เลี่ยมด้วย paua นิยมใช้สีโทนเขียวๆ รุ้งๆ เมื่อมองกับหลายๆมุมแสงตกกระทบจะรู้สึกถึงความมีมิติและสวยงามอย่างน่าประหลาดของวัสดุจากธรรมชาติชนิดนี้
 
อันนี้นก J. birds วัสดุอบาโลนเดินเส้นขอบ ivoroid จาก Custom 24 ปี 2013 ตัวเก่าของผมเอง
 
 
ส่วนเปลือกหอยสีเข้มๆ จัดๆ งามๆ นี่คือ paua นะครับ อบาโลนว่าสวยแล้ว แต่ paua นี่ สวยเด่นขึ้นไปอีกขั้น
 

 

 
 
อันนี้เป็นแผ่น laminate abalone ขนาด 240 x 140 และบางเพียง 1.5 มิลลิเมตร
 
 
 
 
และเช่นเดียวกัน ทางด้านอบาโลนเขาก็มีแบบเป็นแผ่นเปลือกหอยโซลิดหนาๆ ขายด้วยเหมือนกัน ซึ่ง PRS ใช้ abalone blank สำหรับทำอินเลย์ของกีตาร์ระดับ Private Stock
 

http://swanksshellinlay.com/shelldescriptions/index.htm

 

ขั้นตอนการผลิตอินเลย์นก

นับตั้งแต่ช่วงต้นยุค 90 กับการมาถึงของเทคโนโลยี CNC ทำงานอินเลย์สำหรับงานไม้ PRS ก็จ้างบริษัททำงานอินเลย์ในอเมริกาให้ทำอินเลย์นกให้เพื่อตัดความยุ่งยากของขั้นตอนนี้ออก ประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น จนกระทั่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีนี้มีราคาต่ำลง ต่ำจนถึงจุดที่แม้แต่กีตาร์ผลิตที่จีนหรือเกาหลีก็สามารถมีงานประดับอินเลย์สวยๆได้ ทาง PRS ก็มีการลงทุนสั่งซื้อเครื่องจักรผลิตอินเลย์นกของตัวเองในโรงงานที่อเมริกา แต่จะทำเฉพาะอินเลย์นกหรือแพทเทิร์นอื่นใดที่ใช้ประจำ ใช้จำนวนมาก ในสายการผลิตปัจจุบันนะครับ ถ้าเป็นอินเลย์ที่ซับซ้อน ใช้วัสดุหลายหลาย หรือนานๆ จะทำที ก็ยังจ้างบริษัทมืออาชีพด้านนี้ให้ผลิตให้อยู่ดี

สำหรับขั้นตอนการผลิตอินเลย์นกในโรงงานของ PRS มีดังนี้ครับ

  • นำไม้ฟิงเกอร์บอร์ดที่เตรียมขนาดกว้างยาวไว้แล้ว มาเข้าเครื่อง CNC เพื่อเจาะช่องว่างเป็นรูปนก เครื่อง CNC ของ PRS สามารถเจาะฟิงเกอร์บอร์ดได้ครั้งละ 12 แผ่นพร้อมๆกัน
  • นำแผ่นอินเลย์ (ชนิดลามิเนต) ทากาว (ชนิดใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย) แล้วแปะลงบนแผ่นไม้อัด (particle board) แล้วกดให้แผ่นลามิเนตติดกาวอยู่ตัวแน่นด้วย clamp ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง
  • เมื่อแผ่นอินเลย์ลามิเนตติดกาว ผ่านเวลารอจนติดแน่นดีแล้ว นำไปเข้าเครื่อง CNC ถึงตรงนี้เราก็จะเห็นว่าเหตุผลที่ต้องมีแผ่นไม้อัดประกบแผ่นอินเลย์ลามิเนตไว้อีกชั้นหนึ่งนั้น ก็เพื่อยึดลามิเนตให้ติดแน่นอยู่กับที่ ให้เครื่อง CNC สามารถทำงานได้อย่างสะดวกแม่นยำนั่นเอง
  • หลังจากตัดเสร็จก็จะเหลือเป็นรูปนกค้างอยู่กับแผ่นไม้อัด อัดแน่นเต็มพื้นที่ พนักงานก็จะนำแผ่นนี้ไปแช่ในน้ำอุ่น เมื่อกาวติดแผ่นลามิเนตซึ่งมีน้ำเป็นตัวทำละลาย มาเจอกับน้ำอุ่นเข้า กาวก็จะเสื่อมสภาพละลายหลุดไปเหลือแต่ชิ้นอินเลย์นกสะอาดๆ เมื่อผึ่งชิ้นอินเลย์จนแห้งก็จะนำไปเก็บสต๊อกแยกตามแต่ละชนิดของนก
  • แต่สำหรับอินเลย์ที่เป็นพลาสติก (เช่นของ S2 และ CE เวอร์ชั่นปัจจุบัน) นั้น จะตัดแผ่นพลาสติกให้เป็นรูปนกด้วยแสงเลเซอร์ในขั้นตอนเดียวเลย
  • เมื่ออินเลย์นกเปลือกหอยตัดและผึ่งพร้อมใช้แล้ว ก็จะนำมา “ฝัง” ลงในแผ่นฟิงเกอร์บอร์ดที่ถูกเจาะรอไว้แล้ว ขั้นตอนนี้ต้องทำด้วยมือคนเพราะเป็นงานละเอียด เมื่อวางนกลงไปจนครบ พวกมันจะถูกราดด้วยกาวซูเปอร์ (กาวชนิดเดียวกับกาวตราช้าง)
  • นำแผ่นฟิงเกอร์บอร์ดที่หยอดกาวยึดนกและปล่อยแห้งแล้ว ไปติด side dots และปาดเรเดียสหน้าบอร์ด ซึ่งรอยกาวและวัสดุส่วนเกินต่างๆ จะถูกกำจัดทิ้งในขั้นตอนการปาดหน้าบอร์ดนี้ไปโดยปริยาย


ส่งท้าย

วัสดุทำอินเลย์นกที่ PRS ใช้กับกีตาร์รุ่นหลักๆ ก็จะมีประมาณนี้นะครับ ซึ่งที่จริง PRS ยังมีวัสดุแปลกประหลาดอีกมากมายหลายสิบชนิดให้เลือก แต่นั่นจะมีเฉพาะกีตาร์ระดับ Private Stock นะครับ ถึงอัพเกรดเป็น Artist Package อย่างมากก็ยังได้แค่อบาโลน แต่สำหรับผมคิดว่าแค่ PRS Custom เวอร์ชันมาตรฐาน model year ที่ทำอินเลย์นกอบาโลนก็สวยมากมายพอใจแล้วครับ

บทความซีรีส์ Bird inlay ของ PRS เนื้อหาหลักๆ คิดว่าน่าจะมีประมาณนี้นะครับ คงพอทำให้เพื่อนๆรู้ความเป็นมา สไตล์นกในแต่ละช่วงปี และวัสดุที่ใช้ ให้เพื่อนๆ เอาไปใช้ตอนดูของจริงสนุกๆ บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

 แต่เรื่องราวเกี่ยวกับอินเลย์ของ PRS ยังมีอีกนะครับ ซึ่งบทความต่อๆไปผมจะเล่าถึงมุมอื่นๆของอินเลย์ PRS แบบเจาะลึกลงรายละเอียด รับรองว่าน่าสนใจไม่แพ้เรื่องอินเลย์นกครับ ไว้ผมมีเวลาจะกลับมาเขียนต่อครับ
 

ขอบคุณเพื่อนๆ ที่ติดตามครับ

 

ผมตั้งกลุ่ม FB ชื่อ PRS ซื้อ ขาย แชร์ความรู้ ผมจะใช้กลุ่มนี้เป็นพื้นที่โพสต์บทความด้วย ถ้าเพื่อนๆสนใจก็เชิญนะครับ

https://www.facebook.com/groups/346587559155557