PRS Dragon ตัวแรกถึงตัวล่าสุด และสถิติราคาซื้อขาย

ลำดับที่ 6 : PRS Dragon 2002 (2002-2003)

                         

2003 PRS Dragon Single Cut

สเปค:

  • บอดี้มาฮอกกานีทรง Singlecut ไม่เจาะ weight relief แปะเฟลมท็อป อินเลย์ “dragons head” บนท็อปของกีตาร์และบนเฟรทที่ 22 – 15 อินเลย์ทำจากวัสดุหลายชนิด ตั้งแต่เปลือกหอยชนิดต่างๆ 12 ชนิด อบาโลนหลากสี หินสีต่างๆ 5 ชนิด งาช้างแมมมอธ mastodon ฯลฯ รวมจำนวนวัสดุ 272 ชิ้น
  • คอบราซิเลียนโรสวูดทั้งแท่งรวมถึงฟิงเกอร์บอร์ดด้วย คอเป็นโปรไฟล์ wide fat
  • side dots ทำจากอบาโลน
  • 22 เฟรท
  • Headstock: ลายเซ็นอบาโลน
  • Truss rod cover: มีคำว่า “Dragon 2002”
  • Tuners: ลูกบิดล็อกสาย PRS Phase II
  • สี: whale blue, black cherry, grey black
  • ปิคอัพ: #7 (นัมเบอร์ เซเว่น) ฝาครอบนิเกิลปัดด้าน
  • Control: สองวอลลุม สองโทน
  • PU selector: toggle สามทาง
  • บริดจ์: PRS Stoptail
  • อะไหล่ hybrid คือผสมระหว่างโครเมี่ยมกับทองตั้งแต่ลูกบิด ปิคอัพ และบริดจ์
  • น้ำหนักประมาณ 4.6 กิโลกรัม เป็น SC ที่หนักที่สุดที่เคยผลิตมา
  • จำนวนที่ผลิต 100
  • ราคาเปิดตัว: $30,000 / ราคาในไทย 999,000 บาท

PRS Dragon 2002 เป็นกีตาร์มังกรเพียงรุ่นเดียวที่เป็นทรง Singlecut ที่มากับอินเลย์หัวมังกรขนาดใหญ่ กินพื้นที่เกือบทั้งท็อปของกีตาร์ เจ้ามังกรตาดุเขี้ยวยาวตัวนี้เป็นผลงานการออกแบบของ Jeff Easley ศิลปินนักวาดภาพแนวแฟนตาซีชื่อดังของอเมริกา มีผลงานที่คนรู้จักมากที่สุดน่าจะเป็นงาน artwork จากเกมคลาสสิค Dungeons and Dragons (ใครรู้จักบ้าง ผมไม่เคยเล่นเกมนี้อะ) เรื่องอินเลย์ผมเจอของคุณหมอเอ (username Plankton แห่งเว็บกีตาร์ไทย) อธิบายไว้ละเอียดยิบพร้อมรูปประกอบ (ที่รูปเยอะเพราะเป็นกีตาร์ของคุณหมอเอง ฮ่าๆ) อ่านได้ที่ลิงค์นี้ครับ

https://www.guitarthai.com/webboard/question.asp?QID=333513

เจ้า Dragon 2002 มากับคอบราซิเลียนโรสวูดท้ั้งแท่งคล้ายกับ Dragon 2000 แต่ๆๆ ก็ไม่เหมือนซะทีเดียว ลองดูรูป headstock Dragon 2002 แต่ละรูปนี้ดูครับ สังเกตเห็นอะไรแปลกๆ มั้ยครับ?

http://tonymckenzie.com/prs-dragon-2002-review-close-up.htm

2003 PRS Dragon Singlecut #66, Whale Blue

2003 PRS Dragon Single Cut

2003 PRS DRAGON 2002 SINGLECUT #41 RED

ใช่ครับ Dragon 2002 ทุกตัวจะมีรอยต่อไม้ที่หัวส่วนปลาย ส่วนที่เอามาต่อนี้มักมีความยาวประมาณ 1/3 ของความยาวทั้งส่วนหัวกีตาร์ ซึ่งไม้ที่นำมาใช้ก็เป็นไม้บราซิเลียนนั่นแหละ แต่อาจจะเพราะ PRS ไม่มีสต็อคไม้บราซิเลียนที่มีความยาวเพียงพอสำหรับทำคอยาวจรดหัวกีตาร์ ดังนั้น ทางออกก็คือจะต้องต่อส่วนปลาย โดยส่วนใหญ่ต่อชิ้นเดียว แต่บางตัวคงจะได้ไม้มาจากส่วนริมสุดของท่อนไม้วัตถุดิบ (หมายถึงไม้แผ่นใหญ่ก่อนลงมือตัด) ก็จำเป็นต่อถึงสองชิ้นทั้งส่วนปลายและด้านข้าง อย่าง #6 ตัวข้างล่างนี้

จากที่ผมขุดคุ้ยหารูปของ Dragon 2002 มา ผมพบว่าหัวของทุกตัวเป็นแบบนี้หมด พออ่านเจอรีวิวของคุณ Tony Mckenzie ก็เห็นตรงกัน แกว่าเห็นมากี่ตัวก็ต่อหัวแบบนี้แหละ คงจะทั้งล็อต แกบอกด้วยว่าตัวต้นแบบ (prototype) ก็ต่อหัว ส่วนอีกตัวของซานตาน่า (รูปแถวบน #53) ก็ต่อหัวเหมือนกัน สรุปก็คือเป็นเรื่องปกติของมังกรรุ่นนี้

นอกจากนี้อีกสิ่งที่เพิ่มเข้ามาและผมเองสนใจเป็นการส่วนตัว คือ ปิคอัพ #7 ที่สนใจเพราะผมเคยมีกีตาร์ซิงเกิลคัทที่ติดปิคอัพรุ่นเดียวกัน ซึ่งจากที่ได้เล่นมา เสียงแตกของตำแหน่งบริจ์นั้น หนักแน่น ตึ้บ โคตรๆ เรียกว่ากล้าท้าชนกับเลสพอลได้เลย ส่วนตัว neck ก็จะค่อนข้างอิ่มกลาง มีความเหนียวๆมากหน่อย สำหรับ #7 เซ็ทที่มากับ Dragon 2002 จะมีความพิเศษตรงที่เป็นฝาครอบนิเกิลปัดด้าน ตัดกับหมุด pole pieces สีทอง ซึ่งเป็นการผสมสีอะไหล่ที่ PRS เรียกว่า hybrid hardware

คอนโทรล เห็นคล้ายๆของเลสพอลก็จริง แต่วางตำแหน่งควบคุมต่างกันนะครับ คือของ PRS layout แบบนี้ ปุ่มวอลุ่มคือปุ่มแถวบน ปุ่มโทนอยู่แถวล่าง

อันนี้เป็นคลิปคุณหนึ่ง วินัย เทสต์ Dragon 2002 ของหมอเอครับ

ลำดับที่ 7 : PRS Dragon 20th Anniversary (2005)

http://www.pearlworks.com/our-work/prs-double-neck-dragon

https://gbratsguitars.com/products/?pid=568

สเปค:

  • บอดี้มาฮอกกานีแปะเฟลมเมเปิลมีอินเลย์ Fighting Dragons ที่ใช้วัสดุจาก green ripple, sparkle abalone, green heart abalone, brown lip, งาช้าง Mastodon, red orange spiney, MOP รวมจำนวนวัสดุอินเลย์มากถึง 863 ชิ้น
  • คอ 6 สาย: คอมาฮอกกานี โปรไฟล์ wide-fat, ฟิงเกอร์บอร์ดบราซิเลียนโรสวูด อินเลย์ส่วนหางของมังกร, 22 เฟรท, truss rod cover มีคำว่า “20th”, headstock แปะด้วยไม้บราซิเลียนโรสวูด, มีลายเซ็นบน headstock (ผมดูจากรูป น่าจะเป็น MOP ผมถามไปทาง PRS แล้ว เขาบอกว่าไม่มีข้อมูล), ลูกบิดล็อกสาย PRS Phase II  buttons ใหญ่ สีมุก (pearloid buttons)
  • คอ 12 สาย: คอมาฮอกกานี โปรไฟล์ Regular, ฟิงเกอร์บอร์ดบราซิเลียนโรสวูด อินเลย์ส่วนหางของมังกร, 22 เฟรท, truss rod cover มีคำว่า “20th”, headstock แปะด้วยไม้บราซิเลียนโรสวูด, ลายเซ็นบน headstock (อาจเป็น MOP), ลูกบิดล็อกสาย PRS Phase II  buttons เล็ก สีมุก
  • Pickups 6 สาย: รุ่น Dragon II มีฝาครอบ
  • Pickups 12 สาย: รุ่น 12-string มีฝาครอบ
  • Control: สวิทช์เลือกคอ ติดตั้งไว้ระหว่าง neck pickups ของทั้งสองคอ, 2 วอลุ่ม, 1 โทน, แต่ละคอมีสวิทช์ toggle สามทาง ของตัวเอง ติดตั้งอยู่ถัดจากบริดจ์ของคอหกสาย
  • บริดจ์ 6 สาย: PRS Stoptail
  • บริดจ์ 12 สาย: PRS 12-string Stoptail แบบปรับแซดเดิลได้
  • Hardware: gold
  • จำนวนผลิต: 50
  • ราคาเปิดตัว: $40,000

PRS Dragon 20th Anniversary หรือ Doubleneck Dragon เป็นกีตาร์มังกรที่เกิดมาเพื่อฉลองครบรอบ 20 ปีการก่อตั้งบริษัท PRS อินเลย์มังกรตีกันของเจ้านี่ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานการออกแบบของ Jeff Easley ผู้ที่ออกแบบอินเลย์ของ Dragon 2002 อันโด่งดัง โดยมี Pearl Works เป็นผู้บรรจงลงมีด ลงกาว ตัด ปะ แปะ วัสดุต่างๆ 863 ชิ้นลงไปบนตัวกีตาร์ท้ั้ง 75 ตัว

Dragon 2oth Ann. ก็ยังอยู่บนพื้นฐานการวางอินเลย์ส่วนใหญ่ไว้บนท็อปของกีตาร์ โดยมีส่วนหางล้นยาวไปจนเกือบสุดฟิงเกอร์บอร์ด คอทั้งสองของเจ้านี่ทำจากไม้มาฮอกกานีนะครับ ไม่ใช่บราซิเลียนโรสวูด แต่จะมีก็ตรงฟิงเกอร์บอร์ดกับ headstock overlay ที่ยังเป็นบราซิเลียนโรสวูดอยู่

ในส่วนของปิคอัพใช้รุ่น Dragon II สำหรับคอหกสาย และรุ่น 12 String สำหรับคอสิบสองสายตรงรุ่น ฮาร์ดแวร์เปลี่ยนจากการผสมของรุ่น 2002 มาเป็นอะไหล่ทองล้วน ลูกบิดก็ยังเป็นล็อกสาย Phase II สีทองเข้าชุด

ลำดับที่ 8 : PRS Dragon 25th Anniversary (2009 – 2010)

http://www.crguitars.com/site/items/prs-25th-anniv.-dragon-preowned

สเปค:

  • บอดี้: African strip mahogany ทรงซานตาน่า แต่เพิ่มความหนามากกว่าเวอร์ชันปกติ แปะเมเปิลลายเฟลมเกรด Private Stock
  • คอ: ไม้ Madagascar rosewood ทั้งแท่ง โปรไฟล์ wide fat
  • ฟิงเกอร์บอร์ด: Madagascar rosewood หรือ Jacaranda
  • อินเลย์ Dragon 2010 เป็นมังกรแยกเขี้ยวคำราม (snarling dragon) บนฟิงเกอร์บอร์ดยาวไปจนถึง truss rod cover วัสดุอินเลย์ก็ได้แก่
  • Side dots: สีทอง
  • เฟรท: 24
  • สเกลคอ 24.5″
  • Headstock: ปะ veneer Madagascar rosewood มีอินเลย์ shadow eagle ที่ใช้วัสดุ green ripple abalone
  • Pickups: 59/09 แบบมีฝาครอบ
  • Controls: 1 วอลุ่ม 2 โทน ตามแบบกีตาร์ Private Stock Santana ของ Howard Leese
  • PU selector: blade switch สามทาง
  • Tuners: Phase II locking โดย buttons ทำจากไม้อีโบนี
  • Bridge: คันโยก
  • Hardware: hybrid
  • จำนวนผลิต: 100 ตัว

มังกรรุ่นนี้ผลิตขึ้นเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 25 ปีของบริษัท ตัวกีตาร์สร้างตามแบบ PRS Howard Leese Santana Private Stock 2009 ที่ตัวหนากว่าและมีปุ่มคอนโทรลต่างจาก Santana เวอร์ชันปกติ เจ้ามังกรปีนี้มาพร้อมอินเลย์มังกร 25th Dragon ที่ดูคล้ายมังกรกำลังแยกเขี้ยวคำราม ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของ Jeff Easley เจ้าเก่า และ Pearl Works ก็รับเอาภาพร่างของเจฟไปสแกนเพื่อสร้างแบบให้เครื่อง CNC จัดการเจาะ ตัด ทำให้เจ้ามังกรมีชีวิตบนฟิงเกอร์บอร์ด

สิ่งที่พิเศษอย่างหนึ่งของรุ่นนี้คือการกลับมาของคอโรสวูดทั้งแท่ง แต่รอบนี้ไม่ใช่บราซิเลียนนะครับ เป็นโรสวูดสายพันธุ์มาดากัสการ์ ซึ่งถ้าถามว่าโทรเสียงที่ได้นั้นต่างจากบราซิเลียนโรสวูดยังไง? บางคนก็ว่าให้ย่านสูงน้อยกว่าบราซิเลียนเล็กน้อย แต่หลายๆคนก็บอกแยกความแตกต่างของเสียงแทบไม่ออก

แต่ไม่ว่ามันจะต่างจากบราซิเลียนยังไง ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้คอโรสวูดทั้งแท่งเมื่อเทียบกับมาฮอกกานี คือย่านแหลมจะลดลงไป อย่างในคลิปที่โพสต์ไว้ ปกติปิคอัพ 59/09 จะให้เสียงแหลมมากๆ แต่พอมาอยู่กับคอโรสวูดมันกลายเป็นนุ่มไปเลย บางคนอาจบอกว่าเป็นที่แอมป์หรือเปล่า แต่ผมลองหาฟังตัวอย่างมามากต่อมาก ก็สรุปได้ว่าคอโรสวูดทั้งแท่งมีผลกระทบต่อย่านเสียงแหลมจริงๆ เอาง่ายๆ ดูอย่างเฟนเดอร์นะครับ สมมติว่าเป็นรุ่นเดียวกันเป๊ะ สเปคเหมือนกันทุกอย่างแต่ต่างกันแค่ฟิงเกอร์บอร์ดเมเปิลกับโรสวูด (คอขาว VS คอดำ) เสียงที่ออกมานั้นเพื่อนๆหลายคนก็ยังสามารถแยกแยะความแตกต่างได้ และสำหรับบางคนมันต่างมากจนส่งผลต่อการเลือกซื้อได้เลย ซึ่งกรณีของเฟนเดอร์ยังเป็นแค่ “ฟิงเกอร์บอร์ดบางๆ” เองนะครับ แล้วถ้าโรสวูดทั้งคอจะสร้างความเปลี่ยนแปลงมากขนาดไหน คงพอจะนึกภาพตามไม่ยากนะครับ

สิ่งที่ผมพยายามจะบอกคือ ออพชันไฮโซบางอย่างแม้มันจะดูหล่อ แต่มันก็มีด้านบวกด้านลบในตัวของมัน ก่อนซื้อเราควรรู้จักมันและรู้จักตัวเราเองเสียก่อนว่าจะจ่ายเพิ่มเพื่ออะไร เพื่อจะใช้งานโทนเสียงของมันจริงๆ หรือแค่อยากได้เฉยๆ? เรื่องของดนตรีไม่มีถูกผิด มีแต่ความชอบและความพร้อม ผมก็เอามาฝากไว้เป็นข้อมูลครับ

Dragon รุ่นฉลอง 25 ปี ผลิต 100 ตัว ทุกตัวใช้ไม้ Madagascar rosewood ทำคอ แต่มี 60 ตัวที่ฟิงเกอร์บอร์ดเป็นไม้ Madagascar rosewood ซึ่งจะส่งขายทั่วโลก และอีก 40 ตัวใช้ไม้ Brazilian rosewood ซึ่งขายเฉพาะในอเมริกา เนื่องจากส่งออกไม่ได้เพราะไม่มีเอกสารประกอบการส่งออกไม้บราซิเลียน ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นหลังหัวของกีตา์รุ่นนี้เขียนเลข model run ว่า xx/60 แทนที่จะเป็นเลข /100

ลำดับที่ 9: PRS Dragon 30th Anniversary

https://www.pinterest.com/pin/435652963937933770/?lp=true

http://www.prsguitars.com/press_files/prs_dragon_detaila.jpg

http://www.martinmusicguitar.com/paul-reed-smith-private-stock-30th-anniversary-dragon-35-of-40.html

สเปค:

  • บอดี้: African ribbon mahogany แปะท็อปเมเปิลเกรด Private Stock ซึ่งแกะขึ้นรูปในสไตล์ดั้งเดิม (pre-factory carve)
  • Body inlay: มังกร 30th Anniversary บนตัวกีตาร์ช่วง lower bout ใช้วัสดุอินเลย์จำนวน 285 ชิ้นซึ่งได้แก่  หยก, azurite, lapis, pyrite, อบาโลน และ MOP
  • คอ: มาฮอกกานี โปรไฟล์ regular ที่ขึ้นรูปในสไตล์ pre-factory สมัยที่ยังใช้มือทำกีตาร์ คือตรง heel จะมีขนาดเล็กกว่าคอ custom 24 เวอร์ชันปกติ
  • ฟิงเกอร์บอร์ด: Madagascar rosewood มีอินเลย์ส่วนหางเรียวๆ ของมังกร พาดยาวไปถึงเฟรทที่ 11
  • 24 เฟรท (เพราะมันเป็น Custom 24)
  • Headstock: แปะไม้วีเนียร์ Madagascar rosewood มีอินเลย์นก Private Stock eagle เลี่ยมด้วย green ripple abalone ที่อุ้งตีนนกมีแบนเนอร์คำว่า 30th Anniversary
  • Tuners: ลูกบิดล็อกสาย PRS Phase III ที่มี buttons ที่ทำจากไม้ Madagascar rosewood
  • Pickups: 85/15
  • Control: toggle 3 ทาง, 1 วอลุ่ม, 1 โทนที่ดึงได้ แต่ไม่ใช่ตัดคอยล์นะครับ ดึงเพื่อเปิดใช้งาน Sweet Switch  ได้เสียงคล้ายๆ Sweet Switch ของ Custom 24 ยุค 90s
  • Bridge: คันโยก PRS tremolo
  • Hardware: hybrid
  • สี: Tiger Eye (สีออกน้ำตาลๆ) กับ Nightshade (น้ำเงิน)
  • จำนวนผลิต: 40

PRS Dragon ตัวล่าสุด ฉลองครบรอบ 30 ปีของแบรนด์ กลับมาใช้รูปแบบอินเลย์บนตัวกีตาร์เหมือนรุ่น 2000, 2002, 2005 อีกครั้ง และคราวนี้ก็ได้ดีไซน์เนอร์เจ้าเก่า Jeff Easley มาออกแบบอินเลย์ให้ แต่ผู้รับผิดชอบงานอินเลย์คราวนี้เปลี่ยนเป็น Aulson Inlay

กีตาร์มังกรตัวนี้เป็นคร้้งแรกที่ใช้ Custom 24 เป็นพื้นฐาน ไม้บอดี้เป็น African Ribbon Mahogany ที่มีลายไม้เป็นเส้นตรง สวยไปอีกแบบ คอมาฮอกกานี ฟิงเกอร์บอร์ด Madagascar rosewood จุดที่น่าสังเกตก็ตรงคอที่ทำในสไตล์ pre factory  ย้อนยุคไปสมัยที่ลุงพอลยังผลิตกีตาร์ด้วยมือเป็นหลัก ซึ่งสามารถทำให้ตรงส่วน heel สั้นลง เล็กลงกว่าคอเวอร์ชันปัจจุบัน เหตุผลที่ heel สองแบบมีขนาดต่างกัน คุณ Ed Roman ช่างทำกีตาร์อเมริกันคนหนึ่งวิเคราะห์ว่าการที่ PRS ยุคที่ทำด้วยเครื่องจักรต้องมี heel ยาวขึ้นก็เพื่อช่วยให้เครื่อง CNC จับชิ้นงานได้ง่ายและมั่นคงขึ้น เอื้อต่อการผลิตจำนวนมากๆ ด้วยความเร็ว

ฟีเจอร์อื่นๆที่น่าสังเกตก็คือปุ่มโทนของมันที่ดึงได้ แต่ไม่ใช่เพื่อการตัดคอยล์อย่างที่เราคุ้นเคย แต่เป็นการเปิดวงจร Sweet Switch เพื่อทำเสียงเลียนแบบสวิทช์อันเล็กๆ ที่มากับ Custom 24 ยุค 90s

พวกสวิทช์ต่างๆของ PRS มีอะไรบ้าง ผมจะรวบรวมให้ในโอกาสต่อๆไปนะครับ

ราคาขายต่อของกีตาร์ตระกูล Dragon 

ผมรวบรวมสถิติการซื้อขายของกีตาร์ตระกูลมังกรในสกุลเงิน US Dollar (ยกเว้น Dragon 2002 ผมใช้สกุลบาทไทย เพราะตัวนี้เรามีข้อมูลชัดเจนในไทย) ตั้งแต่ Dragon I  เท่าที่มีข้อมูลในอินเทอร์เน็ต โดยใช้ราคาจากโพสต์ที่อยู่ในสถานะ “ขายแล้ว” ส่วนตัวไหนโพสต์ขายอยู่แต่ยังขายไม่ออกผมคิดว่าไม่เอามาใส่จะดีกว่า เพราะมันอาจเป็นไปได้ว่าราคาที่เขาโพสต์นั้นไม่ใช่ราคาที่ตลาดจะรับได้ (ตอนนี้มี Dragon II สองตัวนะครับที่ยังลงขายอยู่ ตัวนึง $16,999 อีกตัวคอเฟลมเมเปิล ราคา $22,000) หากปีไหนมีมังกรรุ่นเดียวกันโพสต์ขายมากกว่าหนึ่งตัว ผมก็ใช้ราคาของตัวที่ขายแพงที่สุด

ราคาซื้อขายผมใส่ไว้เป็นตัวเลขสีแดง ของกีตาร์แต่ละรุ่น แต่ขอบอกว่าข้อมูลพวกนี้มีน้อยมากๆ อาจจะเพราะกีตาร์พวกนี้มีจำนวนน้อย คนไม่ค่อยปล่อย หรือมีการขายตามหน้าร้านโดยไม่ขึ้นเว็บก็ไม่ทราบได้นะครับ หนำซ้ำบางเว็บโพสต์ว่าขายแล้วแต่ดันไม่โชว์ราคาและปีที่ขาย มันก็กลายเป็น invalid data ผมก็เอามาใช้อ้างอิงไม่ได้ ที่ยังไม่พบข้อมูลคือราคาเปิดตัวของ Dragon II ครับ ถ้าใครทราบช่วยคอมเมนท์บอกด้วยครับ รบกวนขอ link อ้างอิงด้วยนะครับ

ส่วนตัวเลขตัวเลขสีน้ำเงิน เป็นตัวเลขราคาเปิดตัวตามด้วยราคาที่บวกอัตราเงินเฟ้อที่ผมคำนวณไว้แบบคร่าวๆ ใช้เรท 3% ต่อปีตามที่เรานิยมใช้ในการประเมินทรัพย์สินทั่วไป ผมทำตัวเลขเงินเฟ้อไว้เพื่อใช้เปรียบเทียบค่าของเงินว่า ราคาของมังกรแต่ละรุ่นในวันเปิดตัว เทียบเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ของค่าเงินในแต่ละปี (ซึ่งถ้าจะขายก็ต้องบวกกำไรเข้าไปอีก) ถ้าใครไม่เข้าใจคำว่าอัตราเงินเฟ้อ ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ๆตัวเรา ก็คือราคาข้าวตามสั่ง ข้าวราดผัดกระเพราสมัย 15-20 ปีก่อนจานละ 20-25 บาท แต่ตอนนี้เป็นยังไงครับ ข้าวร้านเดิม ได้เท่าเดิม แต่ราคาเพิ่มเป็น 40 บาท

คลิกไอคอนตรงมุมบนขวาเพื่อดูแบบเต็มจอนะครับ

จากตารางสรุปได้ว่า มีมังกรตัวเดียวที่ทำราคาขายต่อได้สูงกว่าราคาเปิดตัว+เงินเฟ้อ นั่นก็คือ Dragon I ส่วนที่เหลือทั้งหมดราคาขายต่อจะต่ำกว่าราคาเปิดตัว นี่ยังไม่พูดถึงต้นทุนเมื่อรวมกับอัตราเงินเฟ้อ และต่อให้เป็นรุ่นคอบราซิเลียนก็ราคาตก ผมไม่แน่ใจว่าเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง แต่ในเมื่อตลาดได้ตัดสินออกมาแบบนี้ก็แปลว่าการซื้อกีตาร์ PRS Dragon มือหนึ่งแล้วปล่อยขายต่อ มีโอกาสเจ๊งสูงมาก

ที่จริงพวกเราก็คงทราบกันอยู่แล้วว่ามันแทบไม่มีหรอกกีตาร์มือหนึ่งที่ขายต่อได้กำไร แต่ด้วยความที่ซีรีส์มังกรมันมีความพิเศษ แตกต่างจากกีตาร์ที่เราๆท่านๆเคยซื้อกันมากมาย ผมเลยสำรวจข้อมูลเรื่องราคาดูว่าจะมีอะไรต่างกับกีตาร์ตัวละหมื่นสองหมื่นไหม ซึ่งผลก็เป็นอย่างที่เห็น

อย่างที่ผมเคยบอกไว้ เรื่องของดนตรีมันไม่มีถูกผิด การซื้อกีตาร์จะว่าไปแล้วก็มีตัวแปรอารมณ์ความรู้สึกประกอบการตัดสินใจอยู่ด้วย มากน้อยแล้วแต่คน คำแนะนำของผมสำหรับกีตาร์มังกรคือ ถ้าจะซื้อมือหนึ่ง ขอให้แน่ใจว่ารักจริง ไม่คิดขายต่อ หรือถ้าไม่เดือดร้อนเรื่องงบประมาณก็จัดเลยครับ มันคือที่สุดของกีตาร์ PRS แล้ว รักชอบตัวไหนก็ลองกลับขึ้นไปอ่านข้างบนดูครับ แต่ถ้าไม่อยากเจ็บตัว และ/หรือ อยากทำกำไร การซื้อมือสองในราคาสมเหตุสมผลคงเสี่ยงน้อยกว่าเยอะครับ

ส่งท้าย

สำหรับลิสต์กีตาร์ของผมก็จะมีประมาณนี้นะครับ ใช้เวลาเขียนนานเกินคาดไปมาก ตอนก่อนเขียนตอนแรกก็คิดว่าคงไม่มีอะไรมั้ง คงแค่ลิสต์กีตาร์ตามลำดับแล้วก็สรุปสเปคแค่นั้นม้้ง (เพราะพูดตรงๆ ผมไม่ได้ตั้งใจเขียนเรื่องนี้แต่แรก ผมจะเขียนเรื่องอื่นแต่เห็นว่าบทความก่อนพูดถึงเรื่องอินเลย์มังกรไว้แล้ว เลยน่าจะมีลิสต์กีตาร์มังกรไว้สักหน่อย)

แต่ไปๆมาๆ ยิ่งรู้ยิ่งไม่เข้าใจ ยิ่งอ่านยิ่งมีคำถาม ข้อมูลลึกๆ ละเอียดๆ ก็หายาก มีหลายประเด็นผมต้องถามไปทาง PRS โดยตรงเลยเพราะเสิร์ชไม่เจอคำตอบจริงๆ ซึ่งบางประเด็นแม้แต่ PRS เองก็ไม่มีคำตอบนะครับ นอกจากนี้ก็เว็บใหม่ใช้ WordPress ที่ปรับยังไงก็ไม่ลงตัว ไม่ถูกใจเสียที (ผมยิ่งโง่เรื่องเว็บเรื่องเขียนโปรแกรมอะไรพรรค์นี้อยู่ด้วย) จะเรียกว่าแก้ตัวก็ได้ครับ แหะๆ ใช้เวลานานนานไปหน่อยก็ขอโทษเพื่อนๆด้วยนะครับ

และผมยังมีอะไรจะเขียนอีกเยอะนะครับ สำหรับวันนี้ขอขอบคุณที่ติดตามและทนอ่านจนจบนะครับ 555

 – หมู –

ข้อมูลอ้างอิงกีตาร์มังกรและนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์ MIM: http://www.prsguitars.com/index.php/blog/post/prs_in_musical_instrument_museums_dragons_vines_exhibit

ผมตั้งกลุ่ม FB ชื่อกลุ่ม “PRS ซื้อ ขาย แชร์ความรู้” ผมจะใช้กลุ่มนี้เป็นพื้นที่โพสต์บทความด้วย ถ้าเพื่อนๆสนใจก็เชิญนะครับ https://www.facebook.com/groups/346587559155557