เบื้องหลังอินเลย์เทพ ของ PRS Dragon ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

วันนี้ผมขอพูดถึงเรื่องราวของอินเลย์กีตาร์ PRS ที่เพื่อนๆอาจยังไม่รู้นะครับ
 
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พูดถึงกีตาร์ PRS แล้ว สิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ นอกจากความสวยงามของลายไม้ คุณภาพการผลิต รูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงอินเลย์นกที่เสมือนเป็นลายเซ็นของแบรนด์แล้วนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่มักเป็น talk of the town ในวงการกีตาร์ ก็คือดีไซน์อินเลย์สไตล์ต่างๆ ที่สวยงามและไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงรูปนกและวัสดุจำพวกเปลือกหอยมุกกับหอยเป๋าฮื้อ (อบาโลน) ที่เราคุ้นตา แต่มาในรูปร่างแปลกๆ สีสันใหม่ๆ และวัสดุหลากชนิด ซึ่งผลงานที่เพื่อนๆอาจนึกถึงเป็นอันดับแรกก็คงหนีไม่พ้นกีตาร์ตระกูล Dragon นั่นเอง

PRS ทำกีตาร์สวยแล้ว ยังทำอินเลย์สวยๆ เองหมดเลยเหรอ?

หลายคนจึงอาจเข้าใจว่า ในเมื่ออินเลย์เทพๆพวกนี้มันอยู่กับกีตาร์ PRS มานานนับสิบๆปี ดังนั้น PRS ก็น่าจะมีความเชี่ยวชาญในการสรรค์สร้างงานศิลปะที่สวยงามละเอียดละออนี้อย่างแน่นอน แต่ความจริงคือ PRS ไม่ได้ทำอินเลย์เองทั้งหมดครับ อันนี้ผมไม่ได้เล่นมุขว่าโรงงานที่เกาหลีช่วยทำนะครับ แต่ผมกำลังหมายถึงอินเลย์ของกีตาร์ Made in USA

เพื่่อนๆ อ่านไม่ผิดหรอกครับ PRS ไม่ได้ทำอินเลย์ให้กีตาร์ของตัวเองทุกตัว รวมถึงอินเลย์ของเจ้าตัวนี้ด้วย:

 

 
 

ความใฝ่ฝันของลุงพอล

ในวัย 16 ปี ลุงพอลสมัยยังหนุ่มๆ มีความใฝ่ฝันอยากสร้างกีตาร์ที่มีอินเลย์รูปมังกร (มังกรสไตล์ยุโรปนะครับ ไม่ใช่มังกรตรุษจีนบ้านเรา) แต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีในยุคนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่งานละเอียดแบบนั้นจะปรากฏอยู่บนตัวกีตาร์ วิธีการทำอินเลย์ของยุคนั้นยังเน้นการทำด้วยมือ ซึ่งข้อจำกัดเยอะมาก ตั้งแต่วัสดุที่หายาก ยิ่งถ้าฟิกซ์สเปคว่าจะเอาแบบนั้นแบบนี้ เปลือกหอยสีนั้นสีนี้ จำนวนเท่านี้ ยิ่งยาก ยังไม่พูดถึงการสร้างงานอินเลย์ที่ต้องใช้เวลามากเพราะทำด้วยคน ดังนั้นงานในยุคนั้นก็จะไม่หวือหวามาก

หลายสิบปีต่อมา ลุงพอลได้พบกับลุง Larry Sifel ผู้ก่อตั้งบริษัท Pearl Works (เพิร์ล เวิรคส์) แห่งรัฐแมรีแลนด์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญงานด้านงานอินเลย์สำหรับเครื่องดนตรีและเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ต่างๆ ตามออร์เดอร์ ทั้งสองได้พูดคุยกันเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยียุคใหม่ที่จะปฏิวัติงานอินเลย์ของกีตาร์ยุคนั้น โดยลุงแลรีได้คิดค้นวิธีการนำเครื่อง CNC ที่จะใช้ตัดวัสดุ (เปลือกหอย) และใช้ ทำร่อง/ขุดหลุม/เซาะร่อง บนผิวไม้เพื่อวางชิ้นเปลือกหอยที่ตัดแล้ว (ผมไม่รู้ว่าไอ้การใช้เครื่องจักร “ทำร่อง” ที่ผมเรียกเองนี่ ภาษาช่างเขาเรียกว่าอะไร) นอกจากนี้ ลุงแลรียังร่วมมือกับ Chuck Erikson คู่หูทางธุรกิจที่เป็น supplier เปลือกหอยคิดค้นเทคนิคการทำเปลือกหอยซ้อนกันเป็นแผ่นบางๆ ที่เรียกว่า Abalam เพื่อให้เครื่อง CNC ของลุงแลรีสามารถตัดเป็นชิ้นละเอียดๆ ได้ (เพราะถ้าวัสดุยังเป็นเปลือกหอยที่ตัดด้วยฝีมือคน ที่แผ่นหนาบ้าง บางบ้าง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ไม่มีความเสมอต้นเสมอปลาย ก็จะไม่สามารถนำไปใช้งานกับเครื่องจักรได้) ตัวอย่างแผ่นอบาโลนลามิเนท หรือ Abalam ที่เข้ามาปฏิวัติงานอินเลย์กีตาร์นั้น หน้าตาประมาณรูปข้างล่างนี้ ซึ่งมีขนาด 240 x 140 x 1.5 มิลลิเมตรครับ

นวัตกรรมนี้ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ที่พลิกโฉมศิลปะการทำอินเลย์ของกีตาร์ในยุค 90s และ PRS ก็เป็นแบรนด์หนึ่งในหลายๆแบรนด์ในวงการที่ได้อานิสงส์จากการค้นพบดังกล่าวตั้งแต่ปี 1992 มาจนทุกวันนี้ ตั้งแต่อินเลย์นกยันอินเลย์มังกร เพราะการใช้เครื่อง CNC ร่วมกับแผ่น Abalam นั้น นอกจากจะช่วยให้สร้างงานอินเลย์ละเอียดซับซ้อนเทพๆแล้ว ยังช่วยร่นระยะเวลาในการผลิตของผู้ผลิตกีตาร์ทั้งหลายได้อีกมาก จนสามารถทุ่มเทสรรพกำลังไปกับการผลิตกีตาร์ให้ผลิตได้จำนวนมากๆ ส่งไปขายได้ไวๆ ทำเงินได้เยอะๆ ส่วนเรื่องอินเลย์ก็มาออกแบบมาจ้าง Pearl Works ให้จัดการให้

 

The Inlay Supplier

PRS เป็นลูกค้าประจำของ Pearl Works มานานนับสิบปี ตลอดหลายปีที่ผ่านมา งานอินเลย์ที่ PRS ใช้บริการของ Pearl Works บ่อยที่สุดก็คงหนีไม่พ้นอินเลย์นกนั่นเอง โดยวิธีการก็คือ PRS จะส่งแผ่นไม้ฟิงเกอร์บอร์ดไปที่โรงงาน Pearl Works ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 115 กิโลเมตรเพื่อทำการเจาะร่องตื้นๆ บนเนื้อไม้ รวมทั้งตัดเปลือกหอยเป็นรูปนกชิ้นเล็กๆ ด้วยเครื่อง CNC  (ซึ่งแบบของนกนั้นทาง Pearl Works ก็ทราบอยู่แล้ว) จากนั้นทั้งหมดนี้จะถูกส่งกลับมาที่โรงงาน PRS เพื่อให้ช่างของ PRS จัดการติดเปลือกหอยเป็นอินเลย์รูปนกด้วยกาวซูเปอร์ (ถ้าเป็นที่บ้านเราก็เรียกว่ากาวตราช้าง)

ลองไปดูและฟังข้อมูลจากโรงงานโดยตรงเลยดีกว่าคร้ับ ตั้งแต่การที่ PRS ส่งแผ่นไม้ฟิงเกอร์บอร์ดเปล่าๆ ไปให้ Pearl Works ทำร่องอินเลย์ให้ (นาทีที่ 2) ไปจนถึงขั้นตอนการทากาวติดนกตรงนาทีที่ 3 ผมอยากให้สังเกตว่าอินเลย์นกในคลิปนี้เป็นสไตล์ Hollow birds ซึ่งช่างของ PRS ต้องค่อยๆ วางอินเลย์ชิ้นเล็กๆทีละชิ้นๆ ประกอบกันจนกว่าจะเป็นรูปนกกลวง ทำให้เห็นว่า แม้จะใช้วัสดุน้อยลง แต่ก็กลับใช้เวลาทำงานมากขึ้น ไม่รู้เพราะเหตุนี้หรือเปล่า กีตาร์ Core line ในปัจจุบันจึงกลับมาใช้นกแบบเต็มตัว

จากการที่ผมได้สอบถามโดยตรงไปยัง PRS ทำให้ทราบว่าทุกวันนี้ PRS มีเครื่อง CNC ตัด เจาะ ทำงานอินเลย์เองแล้วนะครับ แต่จะทำเฉพาะงานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก อย่างเช่น อินเลย์นก แต่สำหรับอินเลย์ลวดลายพิเศษต่างๆ ที่มีความซับซ้อนกว่านก ตั้งแต่พวก Private Stock ไปจนถึง limited edition อย่างพวก Vine กับ Dragon ทั้งหลายนั้น ทาง PRS ก็ต้องพูดคุยกับ Pearl Works หรือ suppler เจ้าอื่น เพื่อร่วมกันออกแบบรวมถึงกำหนดรายละเอียดต่างๆ เช่น วัสดุ จำนวน และราคาให้เรียบร้อย จากนั้น Pearl Works ก็จะทำการผลิตออกมาให้เสร็จเลย เนื่องจากอินเลย์ที่มีความซับซ้อนมากๆ นั้น โรงงานกีตาร์อย่าง PRS ไม่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงรวมถึงไม่มีเครื่องมือเฉพาะทาง จึงยกหน้าที่ส่วนนี้ให้กับ inlay artisan มือหนึ่งอย่าง Pearl Works จัดการเนรมิตให้

ผลงานของ inlay supplier ของ PRS

ผลงานของ Pearl Works 

ผลงานของ Pearl Works มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามเทคโนโลยีที่พัฒนาไปตามยุคสมัย มีความละเอียดลออมากขึ้น มีรูปลักษณ์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการใช้วัสดุที่หลากหลายชนิดมากขึ้นทั้งวัสดุธรรมชาติและวัสดุสังเคราะห์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย
ลูกค้าของ Pearl Works ไม่ได้มีแค่ PRS แต่ยังมี Martin, Fender, Knaggs, Taylor ต่อไปนี้คือผลงานบางส่วนของเขาที่ทำให้ PRS นะครับ

PRS Private Stock #5750 Custom 24

วัสดุอินเลย์ – MOP, paua, gold MOP, red coral, งาช้างแมมมอธ

 
 

Private Stock #4860 Angelus Blue Tortuga

วัสดุอินเลย์ ฟิงเกอร์บอร์ด: green varasite web with awabi ribbon outlines and green varasite web purfling
วัสดุอินเลย์ Headstock veneer: green varasite web, sodalite, awabi ribbon, opal

 
 
 
 

PRS 20th Anniversary Dragon Double Neck

วัสดุอินเลย์ – green ripple, sparkle abalone, green heart abalone, brown lip, งาช้าง Mastodon, red orange spiney, MOP

 
 
 

Dragon 2002

วัสดุอินเลย์ – abalone, MOP, งาช้างแมมมอธ ฯลฯ

 
 
 

มุมมองของลุงพอลต่อผลงานของลุงแลรี

 

ลุง Larry Sifel (ยืนตรงกลาง) ผู้ปฏิวัติกรรมวิธีทำอินเลย์กีตาร์
http://www.pearlworks.com/our-story/

 

ลุงแลรีเสียชีวิตเมื่อปี 2006 จากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน จะว่าไปแล้วก็คงเหมือนเป็นทั้ง business partner และเพื่อนเก่าแก่ของลุงพอลคนนึงเลยก็ว่าได้ ซึ่งในเว็บไซท์ของ Pearl Works ได้ลงบทสัมภาษณ์ของลุงพอลได้กล่าวถึงช่วงเวลาที่ได้ร่วมงานกับลุงแลรี ว่า

“Larry Sifel was a visionary in the music industry. I remember very clearly the day he came to our factory, took me to lunch, and carefully explained that he was going to take inlay into the 21st century. There was a lot of detail to his plan, but at its core was the intention for inlay to be cut by a CNC machine instead of by hand. I said, “OK, I’m in,” and we started business with him.

It played out almost exactly as he envisioned, and there’s not a month that goes by that we don’t take for granted something he did”

“แลรีเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์คนหนึ่งของวงการผลิตเครื่องดนตรี ผมยังจำวันที่เขามาหาผมที่โรงงานได้ดี เขาพาผมไปทานมือเที่ยง แล้วก็เล่าให้ผมฟังว่าเขามีแผนจะนำศิลปะการสร้างอินเลย์ไปสู่ศตวรรษที่ 21 แผนการของเขามีรายละเอียดมากมาย แต่หลักใหญ่ใจความก็คือการนำเอาเครื่อง CNC มาใช้ตัดเปลือกหอยแทนการใช้แรงงานคน ผมก็ตอบเขาไปว่า  ‘โอเค ผมสนใจ’ จากวันนั้นมาเราก็กลายเป็นคู่หูทางธุรกิจ

ผลงานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามที่เขาเคยพูดไว้แทบทุกอย่าง และจากนั้นมาไม่มีสักเดือนนึงที่ผ่านไปโดยที่เราไม่เห็นคุณค่าในผลงานของเขา”

ผลงานยุคปัจจุบันกับพาร์ทเนอร์ใหม่ Aulson Inlays

ในปี 2015 ปีครบรอบ 30 ปีการก่อตั้งบริษัท PRS อย่างที่เพื่อนๆคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าเรามีกีตาร์ฉลองสามสิบปีพร้อมอินเลย์ 30th Anniversary Birds in Flight แต่รู้หรือไม่ครับว่า ยังมีกีตาร์อีกรุ่นหนึ่งที่ทำมาฉลองครบรอบสามสิบปีด้วย มันคือ PRS Private Stock 30th Anniversary Dragon และนี่คือผลงานจากความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ใหม่ บริษัท Aulson Inlay แห่งรัฐแมรีแลนด์ (ก็บ้านเดียวกันกับ PRS และ Pearl Works นั่นแหละ)

บริษัท Aulson Inlay ก่อตั้งเมื่อปี 2012 เป็นธุรกิจของครอบครัว Aulson Meyers ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านงานอินเลย์ทั้งเครื่องดนตรีและเฟอร์นิเจอร์ ลูกค้าของบริษัทนี้ก็กลุ่มเดียวกันกับลูกค้า Pearlworks นั่นแหละครับ (วนเวียนกันอยู่แถวนี้แหละ แสดงว่าบริษัทที่มีความพร้อมด้านนี้คงมีไม่มากนัก) นอกจาก PRS ก็มี C. F. Martin, Knaggs, Sadowsky, ผลงานของ Aulson Inlays ก็จะมีประมาณนี้ครับ

PRS 30th Anniversary Dragon

 
 
 
 
 

Private Stock #5041 Tree of Life

 
 

 
 

ชมตัวอย่างผลงานของ Aulson Inlay (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกีตาร์ PRS กับ Martin) ได้ที่นี่ครับ http://www.aulsoninlay.com/home.html


อ้าว แล้วระหว่าง PRS กับ Pearl Works ล่ะ ยังไงต่อ?

แม้ PRS จะหันมาใช้บริการของ Aulson ตั้งแต่ปี 2015 แต่ก็ยังใช้บริการกับ Pearl Works เจ้าเก่าอยู่บ้าง ดังจะเห็นได้จาก PRS Guitar of the Month ประจำเดือนเมษายน 2016 – Private Stock DGT Birds of a Feather ที่ Pearl Works จัดการเลี่ยมชิ้นไม้ ziricote รูปนกหลายหลากท่วงท่าลงบนบอร์ดเมเปิลเฟลมใหญ่ๆ โหดๆ ลองดูครับ ดูนกบินอย่างอิสระมีชีวิตชีวา สวยมากๆ

 

สรุป

เบื้องหลังของอินเลย์เทพของ PRS (รวมทั้งกีตาร์แบรนด์แถวหน้าอีกหลายเจ้า) ที่แท้เขาก็ใช้วิธีหามือปืนรับจ้างจัดการเรื่องนี้ให้ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีเครื่องไม้เครื่องมือที่สามารถสร้างชิ้นงานที่ละเอียดเกินวิสัยที่มนุษย์จะสามารถทำได้ และสำคัญที่สุดคือสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคนี้ที่ต้องการความแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร

ตอนที่ผมรู้เรื่องนี้ครั้งแรกผมก็อึ้งไปเหมือนกันเพราะเข้าใจผิดมาตลอดว่า PRS ทำอินเลย์มังกรเอง แต่ก็เข้าใจได้ไม่ยากครับ เพราะการสร้างผลิตภัณฑ์แบบนี้เป็นเรื่องปกติของโลกยุคนี้ไปแล้ว ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างหรือมีเครื่องไม้เครื่องมือและแรงงานที่เก่งเฉพาะทางเพื่อผลิตส่วนประกอบเองทุกชิ้น สิ่งที่ต้องทำก็แค่หาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาทำหน้าที่ตรงนี้ให้ แล้วก็จ่ายค่าตอบแทนเป็นคราวๆ ไป แม้ปัจจุบันนี้ PRS จะเริ่มลงทุนเครื่อง CNC ทำงานอินเลย์เองบ้างแล้ว แต่ถ้ามีออเดอร์หินๆ ก็ต้องยกหน้าที่ให้ PW หรือ Aulson ทำให้อยู่ดี แต่เมื่อใดที่เครื่องไม้เครื่องมือต้นทุนถูกลงและผู้ผลิตกีตาร์มี know how ในเรื่องนี้มากขึ้น เมือนั้นเราคงมีโอกาสเห็นอินเลย์แปลกๆ ใหม่ๆ มากับกีตาร์ระดับ mainstream มากขึ้น

เรื่องอินเลย์ของ PRS ผมยังมีมานำเสนอต่ออีกนะครับ ขอบคุณเพื่อนๆที่ติดตามครับ

*******************************************************

ผมสร้างกลุ่มเฟสบุคแชร์ความรู้เกี่ยวกับกีตาร์ PRS เปิดรับสมาชิกไม่อั้นจร้าา
ไม่มี PRS ก็ไม่เป็นไร เข้ามาอ่านเก็บเกี่ยวข้อมูลได้ครับ
https://web.facebook.com/groups/346587559155557/