PRS Standard – Part 3 – รีวิว PRS Standard ปี 1987

สวัสดีครับ สำหรับบทความในซีรีส์ PRS Standard สำหรับตอนนี้ก็เดินทางมาถึงตอนที่ 3 ซึ่งผมจะมารีวิวกีตาร์รุ่นต้นตระกูล PRS Standard 24 มันคือกีตาร์รุ่น Paul Reed Smith (ชื่อรุ่นตอนนั้นคือชื่อยี่ห้อ) ผลิตปี 1987 สเปคดั้งเดิมกันแบบละเอียด รายละเอียดเป็นยังไงไปติดตามกันได้เลยครับ

Standard คือมาตรฐาน Paul Reed Smith

กีตาร์ PRS รุ่น Paul Reed Smith Guitar (ชื่อรุ่นในตอนนั้นก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Standard) คือหนึ่งในสองรุ่นที่ลุงพอลใช้ระดมทุน kick off สร้างบริษัท PRS Guitars ขึ้นมาในปี 1985 สำหรับ PRS Standard ตัวที่ผมนำมารีวิวในวันนี้ผลิตในปี 1987 ซึ่งสเปคทุกอย่างยังเป็นแบบดั้งเดิม เป็น PRS เจเนอเรชันแรกแท้ๆ สเปคตามรายการนี้ครับ

  • Model name: Paul Reed Smith Guitar/Standard (1985-1990)
  • Body : Mahogany, 1 piece
  • Top : none
  • Neck : Mahogany, 1 piece
  • Neck profile : Standard
  • Scale length : 25″
  • Number of frets : 24 medium-jumbo
  • Fingerboard : Brazilian rosewood
  • Fingerboard inlay : Moons or Birds (optional)
  • Headstock veneer : None
  • Headstock logo : Paul’s signature, silk screened
  • Truss rod cover text : none
  • Tuners : PRS Winged locking
  • Bridge : Mil-Com-PRS Tremolo, one piece cast red bronze
  • Pickups : Standard
  • Electronics : 5 way Rotary with Sweet Switch and 1 volume
  • Hardware : Nickel
  • Finish : polyurethane
  • Accessory : PRS black tolex hard shell case, adjustment tools, document
ดูใกล้ๆ จะเห็นหลุมเสี้ยนไม้ แสดงว่าทำสีมาค่อนข้างบาง งานละเอียด

ในยุค 80s ซึ่งวัตถุดิบดีๆ ยังหาไม่ยากรวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องการสงวนพันธุ์ไม้ใกล้สูญพันธุ์ยังไม่เข้มงวดดังปัจจุบัน สเปคในปีนั้นจึงจัดเต็มด้วยไม้บอดี้ทำจากมาฮอกกานีชิ้นเดียวไร้รอยต่อแกะขึ้นรูปเป็นตัวกีตาร์ มีไม้มาฮอกกานีอีกแท่งหนึ่งเป็นส่วนคอต่อกันด้วยกาว คอเป็นเชพ Standard (เปลี่ยนชื่อเป็น Regular ในเวลาต่อมา) ซึ่งตอนนั้นมีแค่เชพเดียว นัทแคบกว่าและคอปูดไปด้านหลังกว่าเชพอื่นๆ ของ PRS

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ คือ PRS ปีลึกขนาดนี้ truss rod ยังเป็นแบบ single action หรือขันคอได้ทางเดียว และองศาคอที่นัทก็เอียงทำมุมเพียง 7 องศา ซึ่งทำมุมน้อยกว่าคอ PRS ในยุคปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่ทำมุม 9 องศา

เทียบระหว่างมุม head angle ของ Standard 1987 (ซ้าย) และ McCarty Hollowbody Spruce 2004 (ขวา) ว่าหัวทำมุมไม่เท่ากัน (กล้องเป็นเลนส์ wide ถ่ายยังไงก็ไม่เหมือนตาเห็น แต่ยืนยันว่ามันเอียงไม่เท่ากันจริงๆ)

ฟิงเกอร์บอร์ดเป็นไม้ Brazilian rosewood ซึ่งปัจจุบันถูกขึ้นบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) หมายความว่าตอนนี้มันได้กลายเป็นไม้ต้องห้าม ไม่สามารถนำเข้าหรือส่งออกเพื่อการค้า ทำให้ PRS Guitar/PRS Standard เวอร์ชันแรกเป็นอะไรที่เหนือมาตรฐานของกีตาร์ PRS ในสายการผลิตปัจจุบัน

อินเลย์ฟิงเกอร์บอร์ดมีให้เลือกสองแบบ ระหว่าง Moons inlays หรืออินเลย์พระจันทร์เสี้ยว (คลิกอ่านเรื่องราวของ PRS Moons inlay ได้ที่นี่) กับอินเลย์นกซึ่งอันหลังนี้ต้องจ่ายเพิ่ม เรเดียสฟิงเกอร์บอร์ด 10 นิ้ว มีเฟรท 24 ช่องแต่ยังไม่มีเลข 24 ในชื่อรุ่น ผมคิดว่าคงเพราะลุงพอลเองในตอนนั้นก็คงคิดอยู่แค่เรื่องดิ้นรนตั้งบริษัทให้ได้ก่อน ยังมองไม่ถึงอนาคตของแบรนด์ว่าจะไปในทิศทางไหน ยังไม่ต้องพูดถึงว่าในอนาคตจะงอกรุ่นแบบไหน ทรงไหน มีจำนวนกี่เฟรทเท่าไหร่ ฯลฯ

อะไหล่บนตัวมันก็มีความเป็น original PRS แบบออริจินอล เริ่มจากชุดลูกบิดล็อกสาย Phase 1 หรือที่เรียกกันว่า Winged tuners ผลิตโดยบริษัท Schaller ของประเทศเยอรมนีตะวันตก (ปี 1987 เยอรมนียังแบ่งประเทศออกเป็นฝั่งตะวันตกและตะวันออก) ซึ่งด้านหลังลูกบิดจะสแตมป์ไว้ชัดเจนว่า Made by Schaller W. Germany ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์โลกที่ผมว่าเท่มากเมื่อมันมาอยู่บนตัวกีตาร์ ลูกบิดล็อกสายเจเนอเรชันแรกของ PRS นี้ออกแบบโดย Eric Pritchard หนึ่งในทีมงานของลุงพอลยุคแรกเริ่ม Eric ใช้แนวคิดกลไกการทำงานของ cam locking มาใช้ โดยมีชิ้นส่วนหน้าตาคล้ายๆ ปีกอันเล็กๆ ไว้จับบิดเพื่อให้ cam หนีบสายเข้าที่ โดยในขั้นตอนการ prototyping นั้น Eric ใช้ลูกบิด Schaller ซึ่งไม่ล็อกสายมาดัดแปลงติด cam ที่เสาจนเกิดเป็นลูกบิดกีตาร์แบบ cam lock ขึ้นมา ซึ่งเมื่อพิมพ์เขียวลูกบิด Phase 1 เป็นพื้นฐานการออกแบบบนลูกบิดของ Schaller เมื่อถึงเวลาต้องสั่งผลิตแบบ mass production ทาง บ. PRS ก็เลือกใช้บริการ บ. Schaller ของเยอรมนีเป็น supplier อยู่นานมากกว่ายี่สิบปี

ลูกบิด Schaller M6 ซึ่งเป็น modification platform ก่อนพัฒนาไปเป็นลูกบิด PRS Phase I
(Photo credit: schaller.info)

ระบบคันโยกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ tuning stability อันเลื่องชื่อของแบรนด์ PRS นั้น ก็ได้ทีมงานที่ชื่อ John Mann มาช่วยออกแบบให้ เกิดเป็นระบบคันโยกที่แก้ไขจุดอ่อนของคันโยกปัญหาเยอะของบริษัทเจ้าดังในยุคนั้น มาเป็นคันโยกที่แซดเดิลไม่ไถลออกด้านข้าง ติดตั้งก้านคันโยกได้สะดวกไม่ต้องหมุนเกลียว ตัวฐานและ tone block ถูกหล่อขึ้นเป็นชิ้นเดียวกันด้วยทองเหลืองแดง (red brass) และแซดเดิลที่ทำจากทองเหลืองชุบนิเกิล ชุดคันโยกชิ้นเดียวแบบนี้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของโทน PRS ยุคแรกเริ่ม และเลิกใช้ไปราวๆ ช่วงปี 2000

แต่อะไหล่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของ tuning stability ของ PRS คือ นัท โดย PRS สร้างนัทของตัวเองขึ้นตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทด้วยวัตถุดิบไนลอนผสมเทฟลอนเพื่อความลื่นในการเคลื่อนตัวผ่านร่องนัทของสายกีตาร์ นอกจากนี้ลุงยังออกแบบให้หัวกีตาร์ทำมุมเอียงไปด้านหลัง (headstock angle) เพียง 7 องศา เมื่อมุมเอียงน้อย แรงกดสายลงก็น้อย ความเสียดทาน (friction) ก็น้อยตาม เมื่อปรับแบบ ผลคือ tuning stability ที่ดีขึ้น

ปิคอัพเป็นรุ่น Standard set ตอกตัว T (treble pickup) ไว้ใต้ base plate ตำแหน่งใกล้บริดจ์และตัว B (bass pickup) ที่ตำแหน่ง neck วัดค่า DC resistance ได้ 10.13k ที่ตำแหน่ง treble และ 8.47k ที่ตำแหน่ง bass ภาคไฟฟ้าเป็นแบบดั้งเดิมของ PRS ประกอบด้วย pickup selector แบบหมุน (Rotary) 5 แก๊กซึ่งแต่ละแก๊กมีรูปแบบการผสมเสียงที่แปลกเฉพาะตัว ดังนี้ (อ้างอิงตำแหน่งตามปุ่ม knob นะครับ)

  • position 10 : bridge (treble) humbucker
  • position 9 : คอยล์นอกของทั้ง 2 humbucker ต่อวงจรขนาน ให้เสียงโทน Telecaster
  • position 8 : คอยล์ในของทั้ง 2 humbucker ต่อวงจรอนุกรม เสียงหนาๆ คล้ายๆ humbucker
  • position 7 : คอยล์ในของทั้ง 2 humbucker ต่อวงจรขนาน ให้โทนเสียงคล้าย Strat
  • position 6 : neck (bass) humbucker

ควบคุมระดับเสียงด้วย volume 1 อัน และมีสวิทช์อันเล็กๆ ที่เรียกว่า Sweet Switch อีกอันนึง สวิทช์ตัวนี้ทำหน้าที่เป็น filter ชนิดหนึ่ง สับลงจะเป็นการปล่อยสัญญาณผ่านเต็ม แต่สับขึ้นจะเหมือนเป็นการหมุน tone ไปที่ศูนย์ ซึ่งเสียงเป็นอย่างไรนั้นผมจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไปครับ

ขึ้นชื่อว่ารุ่น Standard แปลว่าทำสีโดยใช้สีสเปรย์พ่นทึบ ไม่ใช่สีย้อมลายไม้ หรือให้อธิบายแบบไทยบ้านๆ ก็คือกีตาร์ PRS รุ่นนี้จะไม่มีปัญหาฝ้าขึ้นใต้ชั้นสี อุปกรณ์คู่ตัวก็มีเคสไม้หุ้ม tolex สีดำที่ PRS ใช้มาตลอดสำหรับกีตาร์เกรด Core Series

เสียง PRS ปี 87 จัดว่าเด็ดมั้ย

PRS เป็นแบรนด์กีตาร์ที่มีอายุมากว่า 4 ทศวรรษ มีการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างกีตาร์ อะไหล่ รวมถึงโทนเสียงของปิคอัพมาตลอด สำหรับการรีวิวครั้งนี้เราจะไปฟังเสียง PRS ต้นตำรับ แท้ๆ กันครับ

ผมทดสอบด้วยแอมป์ PRS Archon 50 (6L6) ออก cabinet PRS Archon 2×12 อัดสดแบบ room mic ทุกอย่างใน signal chain เป็นระบบอนาล็อกง่ายๆ ไร้การจำลองดิจิทัลใดๆ หน้าตู้ผมได้ยินอะไร เพื่อนๆ ก็จะได้ยินสิ่งเดียวกันจริงๆ

Clean

ผมเริ่มการทดสอบด้วยแชแนลคลีนของแอมป์อาร์คอน 50 ที่แก๊กหมายเลข 6 (neck humbucker) เสียงก็ฟังชัดเจนว่าเป็นโทน humbucker อ้วนๆ หนาๆ มันเป็นความหนาแบบไม่วินเทจหรือบวมมากมาย กลางๆ ค่อนจะแข็งด้วยซ้ำถ้าจะว่ากันตรงๆ แต่ก็ดีอย่างตรงที่โน้ตค่อนข้างเป้นตัวดีแม้จะเติมเกนจากก้อน overdrive เข้าไป

แก๊กถัดมา (หมายเลข 7) ซึ่งเป็นแก๊กผสมสองคอยล์ให้โทน singlecoil 2 อันที่กรุ๊งกริ๊งเล่นสนุก ผมชอบเสียงแก๊กนี้ตอนผสมกับ overdrive เป็นพิเศษ มันเล่นเพลินมาก แต่น่าสังเกตว่าระดับวอลุ่มมีอาการวูบลงไปกว่าแก๊ก neck humbucker ชัดเจน อาจจะหายไปครึ่งหนึ่งเลย นั่นก็คงเพราะเป็น single coil 2 ตัวที่ต่อแยกกันโดยไม่มีการชดเชย output หรือ tap coil แค่บางส่วนอย่างที่ PRS ทำอยู่ในกีตาร์รุ่นใหม่ๆ บางรุ่น

แก๊กหมายเลข 8 หรือแก๊กกลาง อันนี้เป็นการผสม single coil 2 อันจากสองตำแหน่งในแบบอนุกรม พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆ คือการต่อให้มันกลายเป็น humbucker นั่นแหละ เพียงแต่มันไม่ใช่ทั้ง neck หรือ bridge แต่เป็น humbucker ในทางอิเล็กทรอนิกส์ เสียงที่ได้ก็หนาๆ ผมไม่รู้จะเปรียบกับอะไร เอาเป็นว่าเป็น humbucker ที่ซาวด์ไม่เหมือนแก๊ก neck และ bridge ผมเคยเจอข้อมูลว่าแก๊กนี้เป็นการพยายามจำลองโทนของกีตาร์ Gibson ก็อาจจะใช่มั้ง ไม่รู้ดิ ที่ผมใช้ Gibson มามันก็ไม่ใช่โทนนี้อะ 555

แก๊กหมายเลข 9 อันนี้แปลกมาก คือเสียงมันคล้ายๆตอนเราเหยียบ wah wah ค้างไว้ โดยถ้าผมสับ sweet switch ตำแหน่งลง ผมว่ามันฟังคล้ายๆ ตอนเหยียบ wah ไปทางด้านหน้า (ฝั่งปลายเท้า) ในขณะที่ถ้าสับ sweet switch ขึ้น ซาวด์จะตรงกันข้าม คือคล้ายกับตอนผมเหยียบ wah กดลงมาฝั่งส้นเท้า (คนที่ใช้ wah wah น่าจะพอนึกเสียงตามออก) ด้วยความรู้ทางดนตรีอันแสนจำกัดของผม ผมก็ไม่ทราบว่าเค้าทำแบบนี้ไว้เพื่อเล่นดนตรีแนวไหน แต่ก็เอาเป็นว่าก็เล่าไปตามจริงที่หูผมได้รับฟัง ให้เพื่อนๆ รู้เป็นข้อมูลไว้ครับ

Lead

สลับแชแนลแอมป์ไปที่ Lead ปรับ EQ กลางและแหลมให้ติดสว่างๆ หน่อยตามสไตล์ ผมเล่นริฟฟ์กับโซโล่ด้วยแก๊กหมายเลข 10 ก็มันส์ใช้ได้ แตกดุดันสมเป็นกีตาร์จากยุค 80s ดี เนื้อเสียงแตกค่อนไปทางหนา ย่านเบสมาเยอะพอสมควร ผมคิดว่าไม่เยอะเท่า HFS แต่ส่วนตัวก็จัดให้มันอยู่ในกลุ่มปิคอัพโทนทุ้มมากกว่าแหลมเหมือนๆ กัน ที่ Gain ระดับ 6 ของแอมป์อาร์คอน ปิคอัพ Standard T ทำหน้าที่ได้น่าพอใจ อาจไม่เคลียร์ใสเท่าพวก SE CE standard แต่ได้ความหนาและแรงส่งเป็นจุดแข็ง แนวเพลงที่ผมคิดว่าลงตัวหน่อยก็คงเป็นสไตล์ร็อควาไรตี้ค่อนไปทางแนวร็อคยุค 2000s

แก๊ก 7 ที่ผมชอบก็ฟังดูโอเคขึ้นสำหรับเสียงแตก ที่ว่าโอเคขึ้นเพราะเหมือนว่าผมมี gain จากแอมป์มาเติม ช่วยให้เสียงไม่ฟังดูหายวูบเหมือนตอนเล่นคลีน ผมคิดว่าแก๊กนี้ใน Lead channel ช่วยเติมเต็มในการเล่นโซโล่เพราะแก๊กนี้ให้ความคมชัดที่ดีกว่า full humbucker นิดหน่อยแถมมี output ที่ต่ำกว่า ช่วยให้ lead lines ฟังดูเคลียร์ขึ้น

สำหรับแก๊กสุดท้ายที่ผมลองกับเสียงแตกแล้วรู้สึกโอเค คือแก๊ก 6 (neck humbucker) ผมรู้สึกว่า Standard B ฟังดูดีมากขึ้นเมื่อเล่นเสียงแตก เพราะจากที่แอบแข็งๆ ในเสียงคลีนมันกลายเป็นลงตัวพอดีก็ตอนนี้แหละ เป็นเสียงแตกที่เหมาะกับการโซโล่เสียงแตกมาก เหมือนจะนัวแต่ก็ยังมีความกระชับประมาณหนึ่ง เหมือนจะวินเทจแต่ก็ไม่อ้วนจนโน้ตเบลอ มาถึงตอนนี้ผมเชื่อว่าปิคอัพ PRS เซ็ทแรกเริ่มนี้เค้าออกแบบไปตามความต้องการของยุคสมัย ตามตลาดเครื่องดนตรียุคนั้นจริงๆ แหละ ถ้าเข้าใจและเลือกใช้มันให้ถูกงาน ก็โอเค

ข้อสังเกต

อย่างไรก็ดี ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับ dynamic หรือน้ำหนักในการตอบสนอง (ไม่รู้ผมแปลไทยถูกไหม) ของปิคอัพ Standard set คือผมชอบเปิดแชแนลแตกแอมป์โดยปรับตามที่ชอบที่สุดแล้วปล่อยทิ้งไว้ (set-and-forget) แล้วปรับปริมาณความแตกจากหนักไป crunch หรือลงไปถึง low gain tone โดยการหมุนวอลุ่มบนตัวกีตาร์โดยไม่สลับแชแนลแอมป์ (เว้นเสียแต่ตั้งใจจะเล่นคลีน 100% จะลองก้อน หรือจะรีวิวเสียงกีตาร์ ผมถึงจะใช้แชแนล Clean) ซึ่งปิคอัพแพงๆ ยุคปัจจุบันมักมีคุณสมบัติในเรื่องนี้ แต่สำหรับ Standard set นั้นกลับแทบทำไม่ได้เลย แม้ผมจะลดวอลุ่มแทบจะถึงศูนย์ เสียงเบาลง แต่ความแตกยังอยู่ คือเบาวอลุ่มแล้วคลีนขึ้นมานิดเดียว ทำให้ผมไม่สามารถใช้งานในสไตล์ที่ตัวเองถนัดได้ ต้องอาศัยการเปลี่ยนแชแนลของแอมป์เอา ผมเดาว่าเพราะอุตสาหกรรมกีตาร์ยุค 80 ดนตรีร็อคแนว shredding กำลังครองตลาด คนซื้อกีตาร์ไม่สนใจไดนามิคอะไร สนใจกันแค่คลีนกับแตก ผู้ผลิตก็พลอยมองข้ามตาม กีตาร์ที่โมเดิร์นในตอนนั้นอย่าง PRS เลยดีไซน์โทนออกมาแบบนี้ อะไรยังงี้ละมั้ง

Standard เทียบกับ 85/15 ต่างกันยังไง?

PRS 30th Anniversary Custom 24 กีตาร์ปีแรกที่ติดปิคอัพรุ่น 85/15

PRS เคยมีปิคอัพรุ่น 85/15 ซึ่งติดมากับกีตาร์ Core Custom 24 และรุ่นอื่นๆ หลายรุ่นที่ผลิตในช่วงปี 2015-2024 โคย PRS เคลมว่าเป็นการออกแบบโทนในแบบที่เคยทำในปี 1985 (หมายถึงปิคอัพรุ่น Standard นั่นแหละ) อ่านถึงตรงนี้แล้ว มีใครสงสัยมั้ยครับว่า ถ้าเทียบกับรุ่น Standard แท้ๆ นี่มันเหมือนหรือต่างกันยังไงบ้าง?

หลังจากลอง Standard ตัวนี้อยู่นานหลายวัน ผมคิดว่ามันมีลักษณะบางอย่างของโทนที่คล้ายกัน กล่าวคือ ทั้งคู่มีคาแรคเตอร์โทนแบบกลางๆ จะวินเทจก็ไม่ใช่ จะเมทัลก็ไม่ถึง ตอนผมลองปิคอัพ 85/15 หลายต่อหลายครั้งผมก็สงสัยทุกครั้งว่า PRS ยุคเก่าๆ มันซาวด์กลางๆ ไม่เจาะจงแนว อย่างนี้จริงๆ เหรอ? และตอนนี้ผมก็รู้แล้วว่า ใช่ตามนั้น

ในเรื่องของ output นั้นผมรู้สึกว่า Standard set แรงกว่า 85/15 นิดหน่อย อัดเกนสนุกกว่านิดนึง แต่ 85/15 set เหนือกว่าในเรื่องไดนามิคของการตอบสนองหนัก-เบา รวมถึง note definition ในเสียงแตกที่เคลียร์ชัดกว่านิดหน่อย มีการตอบสนองแบบกีตาร์สมัยใหม่มากกว่า นอกจากนี้ในส่วนของวิธีต่อวงจรก็คนต่างกัน ทั้ง Standard set และ 85/15 ใช้สวิทช์คนละอย่าง ต่อให้โทนเหมือนกันแต่ถึงยังไงก็ผสมคอยล์ต่างกัน ยังไงเสียงผสมคอยล์ก็ต้องต่างกัน สรุปว่า คล้ายกันมากในคาแรคเตอร์โทน แต่ต่างในรายละเอียด

ส่งท้าย

สำหรับการรีวิว PRS Standard 1987 original ก็จะมีเท่านี้ หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ทั้งนี้ผมขอขอบคุณ คุณตู่ Gibsonman ที่ใจดีเอื้อเฟื้อให้ผมยืมกีตาร์ PRS รุ่นหายากตัวนี้เพื่อการทดสอบมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

สนใจ สงสัย หาซื้อ ลงขาย เครื่องดนตรี PRS ขอเชิญแวะมาที่นี่เลยครับ กลุ่ม PRS Thailand ที่เดียวครบ