Gibson ซื้อ Mesa/Boogie ดีลสำคัญสะท้านวงการกีตาร์

(จากซ้าย) Cesar Gueikian CMO ของ Gibson, Randy Smith ผู้ก่อตั้ง Mesa/Boogie และ James Curleigh CEO ของ Gibson

ในเดือนมกราคม 2021 นี้ สำหรับแวดวงอุตสาหกรรมกีตาร์ของโลก คงไม่มีข่าวใดจะเป็นที่ฮือฮาเท่ากับข่าว บ. Gibson Brands ผู้ผลิตกีตาร์แบรนด์หัวแถวของโลก เข้าซื้อกิจการ บริษัท Mesa/Boogie ผู้ผลิตแอมป์กีตาร์ระดับไฮเอนด์เจ้าเก่าเจ้าดังที่มีอายุยาวนานกว่า 51 ปี

เรื่องนี้น่าสนใจมาก และในฐานะที่ผมเองเคยเขียนบทความข่าวสารช่วงที่ Gibson Brands ประสบภาวะล้มละลายระหว่างปี 2017-2018 มาก่อน การเข้าซื้อแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในวงการแอมป์ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจและน่าบันทึกไว้อย่างยิ่ง ผมจึงกลับมาเขียนบทความเกี่ยวกับ Gibson อีกครั้ง

Gibson ที่เพิ่งฟื้นจากล้มละลายเนี่ยนะ ซื้อ Mesa?

ถ้าเพื่อนๆ ยังจำได้ ผมเขียนบทความอัพเดทสถานการณ์ล้มละลายของ Gibson Brands ไว้ในช่วงปี 2018 แบบแทบจะวันต่อวัน ซึ่ง Gibson ได้ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ล้มละลายต่อศาล DeLaware ในเดือนสิงหาคมปี 2018 พร้อมยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลได้อนุมัติแผนฟื้นฟูดังกล่าวในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ส่งผลให้ Gibson Brands ได้กลับมาดำเนินกิจการอีกครั้งภายใต้เจ้าของใหม่และทีมผู้บริหารชุดใหม่ รวมทั้งการจากไปของ Henry Juszkiewics CEO คนดังคนเก่าที่ถูกปลด สังเวยการล้มละลายภายใต้การบริหารของตัวเอง

รวมบทความเกี่ยวกับสถานการณ์ล้มละลายของ Gibson Brands 2018 คลิกอ่านที่นี่ครับ

Henry Juszkiewics อดีต CEO Gibson Brands

Gibson Brands ได้เจ้าของใหม่เป็นกลุ่มทุนใหม่เป็นสถาบันการเงินหลายเจ้าซึ่งเคยมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ เช่น บริษัท Kohlberg Kravis and Roberts and Co. (KKR) และ Melody Capital ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีการตั้งทีมบริหารชุดใหม่เพื่อมาทำงานแทนชุดเก่าที่หลุดจากตำแหน่งไปพร้อมอดีต CEO คีย์แมนคนสำคัญของทีมบริหารชุดใหม่คือ James Curleigh หรือฉายา JC อดีต CEO บริษัทยีนส์ลีวายส์ ได้เข้ามานั่งแท่นบริหารด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ ซึ่งจากสองปีที่ผ่านมา ผมสังเกตว่าแนวทางผลิตภัณฑ์ของกีตาร์ Gibson นั้น เริ่มเน้นการชูจุดขายความคลาสสิคดั้งเดิมของแบรนด์เป็นหลัก มากกว่าการพยายามเสนอนวัตกรรมล้ำยุดอย่างสมัยที่ Henry ยังบริหารอยู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทีมบริหารยุคใหม่ให้ความสำคัญมากต่อเสียงเรียกร้องของลูกค้า ที่ดูจะไม่ค่อยแฮปปี้กับการเปลี่ยนแปลงแบรนด์ให้เป็นไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่สักเท่าใดนัก

แล้ว Gibson มารวมกับ Mesa ได้ยังไง ไหนเล่ามาซิ

จากการให้สัมภาษณ์ของ JC กับเว็บไซต์ guitarworld.com ทาง Gibson Brands เห็นว่า นับตั้งแต่เริ่มฟื้นฟูกิจการหลังล้มละลาย 2 ปีกว่าที่ผ่านมานี้ บริษัทฯ มีการพัฒนาสินค้าที่ดีกว่าเดิม มีมาตรฐานการผลิตที่ดีขึ้น ทางทีมบริหารก็มาคิดกันว่า จะเพิ่มเติมอะไรให้แบรนด์มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีกดี ก็มาคิดได้ว่า เมื่อบริษัทมีกีตาร์ดีๆ แล้ว มันก็ควรจะมีอะไรมาให้ลูกค้าใช้ร่วมกันให้มันครบครันใช้งานได้ ซึ่งคำตอบก็คือ ทาง Gibson Brands ต้องมีสายการผลิตแอมป์หลอดคุณภาพสูงเป็นของตัวเอง

แต่เนื่องจากในปัจจุบัน Gibson ไม่มีสายการผลิตแอมป์อยู่เลย ดังนั้น ทาง Gibson Brands จึงมองหา “มือหนึ่ง” ที่จะมาทำหน้าที่ใหญ่หลวงนี้ มือหนึ่งแห่งวงการแอมป์กีตาร์ที่มีวิสัยทัศน์ต่อยอดความสำเร็จในอดีตสู่นวัตกรรมในอนาคตเหมือนกัน ซึ่งในที่สุดทาง Gibson ก็พบแบรนด์ Mesa/Boogie ผู้ผลิตแอมป์หลอดบูทีคชื่อดังของวงการเป็นคำตอบเพียงหนึ่งเดียว

ทั้งสองบริษัทเริ่มการพูดคุยเจรจาธุรกิจ โดยมีมิตรภาพของคนในของทั้งสองค่าย ได้แก่ Cesar Gueikian ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ Gibson Brands (CMO) และ Steve Mueller ผู้จัดการทั่วไป (General Manager) ของ Mesa เป็นสะพานเชื่อมสู่การเจรจา

Randy Smith ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Mesa เล่าว่า Steve ชี้ให้เขาเห็นว่า กีตาร์ Gibson ในยุคเปลี่ยนบอร์ดบริหารใหม่นั้น พัฒนาคุณภาพดีกว่าเก่าเช่นไร มีศักยภาพขนาดไหน และ Cesar ก็ได้เปิดประเด็นสนทนากับ Randy ว่า หากทาง Gibson สนใจจะเสนอให้ Mesa สร้างแอมป์ในตำนานรุ่น GA-20 และ 40 ที่เคยผลิตเมื่อยุค 50s อีกครั้งขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ทาง Mesa สนใจหรือไม่ ซึ่งทาง Randy ก็ตอบรับด้วยความยินดี และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการเจรจาสู่การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Gibson ในที่สุด

แอมป์ Gibson GA-20 ออริจินอล

Gibson มีแผนจะทำอะไรกับ Mesa ต่อไป?

เมื่อดีลได้ข้อสรุป ตามแถลงการณ์ของ Gibson นั้น Randy Smith จะได้นั่งในตำแหน่ง Master Designer and Pioneer ของแบรนด์ Mesa/Boogie ซึ่งมีสถานะเป็นแบรนด์ลูกของ Gibson Brands นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะให้ Mesa เป็นผู้ผลิตแอมป์ระดับ Custom Shop

Randy กล่าวกับเว็บไซต์ guitarworld.com ว่า ในวัย 75 ปี เขายังทำงานอยู่ทุกวัน ยังร่วมงานกับทีมงานหลายคนที่ทำงานร่วมกันมายาวนานหลายสิบปี เขาเห็นผลงานของ JC และ Cesar แล้วรู้สึกชื่นชมในความทุ่มเทพัฒนาให้ Gibson มีคุณภาพดีกว่าที่เคย และเขามองอนาคตไว้ว่า ความร่วมมือใกล้ชิดระหว่างสองแบรนด์จะช่วยผลักดันให้แบรนด์ Mesa เติบใหญ่ยิ่งขึ้น โดยยังรักษาคุณค่าของแบรนด์เอาไว้ให้สืบทอดต่อไปให้ยาวนานสืบไป

เสียงตอบรับจากปรากฏการณ์ Gibson + Mesa

ถ้าให้พูดตรงๆ ก็ดูจะไม่ค่อยดีนัก เท่าที่ผมสำรวจความเห็นทั้งในและต่างประเทศ ชัดเจนว่าเกินครึ่งรู้สึกไม่พอใจ กังวล หรือถึงขั้นไว้อาลัยกับแบรนด์ Mesa กันเลยทีเดียว เนื่องจาก Gibson Brands ขึ้นชื่อเรื่องการลงทุนกว้านซื้อแบรนด์สินค้าดังๆ ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับเครื่องดนตรีโดยตรง มาบริหาร แล้วสุดท้ายก็ไปไม่รอดเจ๊งระนาวจนล้มละลายไปแล้วเมื่อสองปีที่ผ่านมา หลายคนกังวลว่า Gibson จะเข้ามาทำให้ Mesa เกิดความมัวหมอง เสียชื่อ หรือไม่

อนาคตของ Gibson และ Mesa นับจากนี้

แม้จะมีข้อกังวลต่างๆ อย่างที่ได้เล่าไปข้างต้น แต่ส่วนตัวผมคิดว่าเราน่าจะมองยาวๆ เพราะอย่าลืมว่า Gibson ยุคนี้คือยุคใหม่ มีทีมผู้บริหารใหม่ และจากที่ผมสังเกตผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ คิดว่าแบรนด์เองก็มีการเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตมาพอสมควร

ผมคิดว่า ประเด็นที่น่าสนใจ มีดังนี้

  • แนวโน้มผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Mesa คงต้องดูกันต่อไปว่า Gibson จะเปลี่ยน Mesa/Boogie ไปในทิศทางไหน ซึ่งส่วนตัวผมเชื่อว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะถ้า Mesa ยังทำทุกอย่างเหมือนเดิม กำลังการผลิตเท่าเดิม คุณภาพเท่าเดิม ต้นทุนเท่าเดิม โดยไม่เพิ่มผลกำไรให้ Gibson แล้ว Gibson จะลงทุนซื้อแบรนด์เข้ามาทำไม? นอกจากจะตั้งให้ Mesa เป็น Amplifier Custom Shop ของ Gibson แล้ว ก็ยังมีอีกหลายความเป็นไปได้ที่เราก็ต้องติดตามต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางใดทางหนึ่งกับผลิตภัฑ์ของ Mesa บ้างไม่มากก็น้อย ความเป็นไปได้ที่ว่า เช่น
    • จะมีการลดคุณภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้สามารถขายในระดับ mass production หรือไม่?
    • จะมีการเปิดสายการผลิตแอมป์ Mesa ในประเทศที่ค่าแรงต่ำ เช่น เกาหลีและจีน หรือไม่? หากคำตอบคือ ใช่ แล้ว…
      • Gibson จะใช้แบรนด์ Mesa แต่แตกไลน์เกาหลี/จีน ขึ้นมา, หรือตั้งแบรนด์ใหม่ขึ้นมา โดยแปะคำว่า by Mesa/Boogie เอาไว้, หรือตั้งแบรนด์ใหม่โดยไม่ใช้คำว่า Mesa เลย เพียงแต่ใช้ทีมออกแบบของ Mesa?
      • เราจะเชื่อมั่นคุณภาพของ Mesa เกรดราคาประหยัด ได้แค่ไหน?
      • แต่หากมองแง่บวก เราก็อาจมีตัวเลือกแอมป์กีตาร์ที่น่าสนใจในราคาที่เอื้อมถึงได้ ขึ้นมาในวงการ เพราะอย่าลืมว่า สินค้าของ Mesa ณ ปัจจุบันนี้นั้น ราคาสูงเกินเอื้อมสำหรับลูกค้าส่วนใหญ่ สมมติว่า Gibson บันดาลให้มีแอมป์ยี่ห้อใหม่ Messi by Mesa (ผมคิดยี่ห้อเล่นๆ ให้ใช้ฟอนต์เดียวกันเลยเอ้า) ที่ออกแบบโดย Mesa แต่ผลิตในจีน มีสเปคหลอด โทนเสียง หรือกระทั่งหน้าตาที่คล้าย Mesa รุ่น Mark V แต่สนนราคาประมาณ 2x,xxx บาท!!! เออ มันก็เข้าท่าไปอีกแบบนะ คนที่อยากสัมผัสโทนเมซ่าแต่ทุนทรัพย์ไม่อำนวย ก็จะมีโอกาสซื้อหาได้จากการทำการตลาดลักษณะนี้
  • แนวโน้มกลไกตลาด ผมคิดว่าจากนี้ไป ตลาดซื้อขายอุปกรณ์ Mesa มือสอง จะมีการประดิษฐ์คำว่า ผลิตก่อน Gibson เทคโอเวอร์ หรือคำพูดประมาณว่า pre-Gibson อะไรทำนองนี้ เพราะไม่ว่าอนาคตด้านคุณภาพการผลิตจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ Mesa ที่บริหารเองทำเองขายเองมา 50 กว่าปีนั้น มีความเหนียวแน่น ถ้าเป็นวงการรถยนต์แบรนด์ Mesa/Boogie คงเปรียบประหนึ่งรถ Mercedes-Benz แต่อยู่ดีๆ เกิดมีเจ้าของคนใหม่มาซื้อบริษัทไป โดยเจ้าของเดิมลดบทบาทเป็นลูกจ้างระดับสูง มันก็ย่อมต้องกระทบความเชื่อมั่นเป็นธรรมดา และก็ช่วยไม่ได้อีกเช่นกัน ถ้าหากคนจะต้องการแต่สินค้าของ Mesa ล็อตที่ผลิตก่อนถูก take over เพราะมีความเชื่อมั่นว่าของเก่านั้นดีกว่า เรื่องความเชื่อมั่นของ Mesa ภายใต้ร่มเงา Gibson นั้น ผมคิดว่าต้องใช้เวลาสร้าง แต่จะนานแค่ไหนนั้นก็ต้องดูต่อไปว่าคุณภาพสินค้าช่วงตั้งต้น เป็นอย่างไร ต่างจากตอนเป็นตัวของตัวเองแค่ไหน แต่ในระยะยาวผมเชื่อว่า ด้วยชื่อ Mesa ยังไงซะก็ขายได้
  • สิ่งที่อาจจะเกิดในไทย อันนี้สำคัญ และผมสังเกตว่าชุมชนคนดนตรีบ้านเราเหมือนจะไม่ทันนึกถึงเรื่องนี้ นั่นคือ โอกาสการเปลี่ยนแปลงตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ Mesa/Boogie ในไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้ ตัวแทนจำหน่ายของแบรนด์ Mesa ในไทย กับแบรนด์ Gibson เป็นคนละเจ้ากัน แต่เมื่อ Mesa กลายเป็นเพียงแบรนด์ลูกของ Gibson ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า ทาง Gibson จะมีนโยบายเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ Mesa ในต่างประเทศ ให้เป็นเจ้าเดียวกันกับตัวแทนจำหน่ายเดิมของ Gibson เพื่ความสะดวกคล่องตัวในการดีลธุรกิจ รวมถึงเพื่อประสิทธิภาพในการจัดโปรโมชั่นต่างๆ ที่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลองคิดเล่นๆ นะครับ เราเดินเข้าร้านตัวแทน Gibson มีแอมป์ Mesa ทุกรุ่นให้ลอง อยากซื้อกีตาร์ Music Man John Petrucci เอ้า มีแอมป์ Mesa JP-2C วางรออยู่ข้างๆ เลย สะดวกมาก (เพราะตัวแทนจำหน่าย Gibson ในไทย เป็นตัวแทนจำหน่ายของ MM ด้วย) แถมเผลอๆ มีโปรโมชันซื้อเป็นเซ็ท Gibson + Mesa ได้ราคาพิเศษอีก ฯลฯ คือมันจะทำอะไรได้สะดวกขึ้นมาก ถ้าทุกอย่างอยู่ในร้านเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่าทาง Gibson ก็อาจจะเล็งๆ อยู่ และก็อดคิดไม่ได้อีกเช่นกันว่า ตัวแทนจำหน่าย Gibson ในไทยก็น่าจะมองเรื่องนี้เป็นโอกาสสำคัญในการต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าวันใด Gibson เกิดอยากบุกแอมป์ตลาดล่างจริงๆ ซึ่งมีสเกลตลาดที่ใหญ่มากขึ้นมา เม็ดเงินที่เข้าร้านตัวแทนใหม่จะเพิ่มขึ้นขนาดไหน

ส่งท้าย

ทั้งหมดที่เล่ามา แม้บางคนอาจยังรู้สึกทึ่งว่ามันเป็นไปได้อย่างไร แต่ความจริงก็คือมันได้เกิดขึ้นแล้ว และลูกค้าอย่างเราๆ ท่านๆ ก็คงเปลี่ยนแปลงแย้งอะไรเขาไม่ได้ เราก็ทำได้เพียงจับตาดูกันต่อไป

ไหนๆ ก็เข้ามาอ่านกันละ ขอเชิญเพื่อนๆ แวะมาเยี่ยมชมและเข้าร่วมกลุ่มเฟสบุค PRS Thailand ของผมหน่อยครับ เรามีกีตาร์สวยๆ จากแบรนด์ Paul Reed Smith มาให้ชมกันแทบไม่เว้นวัน มีการแชร์ความรู้และประสบการณ์การใช้งาน รวมถึงมีโพสต์ซื้อขายกีตาร์ PRS ลองเข้ามาขำๆดูก่อนครับ ไม่แน่อีกซักพักได้เสียตังค์ไม่รู้ตัว อิๆ คลิกเล้ยยย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น